ดาวน์โหลดบทความ ดาวน์โหลดบทความ

ถ้าคุณตัดสินใจได้แล้วว่าจะเลี้ยงกระต่ายไว้นอกบ้าน ไม่ว่าจะเลี้ยงนอกบ้านตลอดหรือแค่บางครั้งบางคราวก็ตาม ก็ต้องเตรียมตัวและเรียนรู้ข้อควรระวังบางอย่าง ถึงจะดูแลกระต่ายให้มีความสุขและสมบูรณ์แข็งแรงได้ กระต่ายถ้าเลี้ยงนอกบ้านต้องมีที่อยู่ที่กินกว้างขวาง ปลอดภัย แห้ง สะอาด ไม่ร้อนหรือหนาวเกินไป อาหารและน้ำครบถ้วนสมบูรณ์ ที่สำคัญคือไม่อยู่โดดเดี่ยวห่างไกลเจ้าของและเพื่อนกระต่ายด้วยกัน มาดูวิธีทำชีวิตเจ้าก้อนขนของคุณให้ดี๊ดี โดดเด้งดึ๋งดั๋งไปนานๆ กันเถอะ!

วิธีการ 1
วิธีการ 1 ของ 2:

ดูแลยังไงให้ถูกใจกระต่าย

ดาวน์โหลดบทความ
  1. ตัดสินใจให้แน่ๆ ว่าอยากเลี้ยงกระต่ายนอกบ้านหรือในบ้าน. สมัยก่อนคนที่เขาเลี้ยงกระต่าย เขาก็เลี้ยงไว้นอกบ้านกันทั้งนั้น โดยให้มันอยู่ในคอก หรือ “hutch” คือกรงกระต่ายแบบยกพื้น ยิ่งคุณเห็นกระต่ายป่าทั่วไปมันก็อยู่กันได้ โดดเด้งไปมามีความสุข ก็เหมาเอาเองว่าปล่อยๆ ไว้กระต่ายเลี้ยงของคุณก็คงอยู่รอดปลอดภัยดี แต่จริงๆ แล้วมันก็มีข้อควรระวังอยู่หลายเรื่องเหมือนกัน
    • มีผู้เชี่ยวชาญบางพวกออกมาเตือนว่าหัวเด็ดตีนขาดก็อย่าเอากระต่ายเลี้ยงไปไว้นอกบ้านเด็ดขาด เพราะกระต่ายเลี้ยงหรือกระต่ายบ้านน่ะสูญเสียสัญชาตญาณสัตว์ป่าและทักษะในการหาอาหารตามธรรมชาติไปหมดแล้ว ไม่ใช่สิ่งมีชีวิตที่สามารถอยู่รอดปลอดภัยด้วยตัวเองได้ โดยเฉพาะถ้าต้องเผชิญกับสถานการณ์ตึงเครียด หรือถูกจู่โจมโดยสัตว์นักล่าและอื่นๆ [1]
    • ส่วนอีกพวกแย้งว่าไม่เป็นไรหรอก ถ้าคุณจะเอากระต่ายเลี้ยงไปรับลมนอกบ้านบ้างช่วงตอนกลางวัน เพราะสว่างโร่ขนาดนั้นสัตว์นักล่าที่ไหนจะโผล่มา เรื่องนี้ถือว่าสำคัญมาก เพราะกระต่ายบ้านอาจช็อคตายได้แค่เห็นหน้าสัตว์นักล่า เพราะฉะนั้นถึงจะมีรั้วรอบขอบชิดก็ยังอันตรายอยู่ดี ในกรณีที่หมาแมวเพื่อนบ้าน หรือสัตว์อื่นๆ โผล่มาด้อมๆ มองๆ [2]
    • แต่ผู้เชี่ยวชาญอีกส่วนก็บอกว่า ถ้าคุณเตรียมการมาอย่างดีและคอยดูแลเอาใจใส่ จะเลี้ยงกระต่ายไว้นอกบ้านทั้งวันทั้งคืนก็ไม่เป็นไรหรอก ทั้งนี้ทั้งนั้นก็ขึ้นอยู่กับการตัดสินใจของเจ้าของอย่างคุณนั่นแหละ
  2. ถึงเป็นกระต่าย แต่ไม่ใช่ว่าเอะอะก็ให้กินแต่แครอท. กระต่ายในการ์ตูนอย่าง Bugs Bunny อาจจะวันๆ แทะแต่แครอทได้ไม่เห็นเป็นไร แต่น้องต่ายตัวจริงของคุณบอกเลยว่าต้องให้กินหญ้าเยอะๆ แล้วเสริมด้วยอาหารอื่นๆ ให้หลากหลาย
    • อาหารหลักของกระต่ายควรเป็นหญ้า หาซื้อได้ทั่วไปตามร้านขายอาหารสัตว์ เรียกได้ว่าต้องมากถึง 75% ของอาหารทั้งหมดเลยทีเดียว [3]
    • ในแต่ละวันให้คุณเสริมด้วยผักใบเขียวและอาหารเม็ดสำหรับกระต่าย (rabbit pellets) สัก 1 กำมือ จะได้เพิ่มสารอาหารที่จำเป็น อย่าลืมผักต่างๆ (แครอทจะมาก็ตอนนี้แหละ) กับผลไม้ผสมกันไปล่ะ [4]
  3. ปกติกระต่ายจะจัดแจงหาจุดขับถ่ายของตัวเองในกรง 1 - 2 จุด (ปล่อยให้น้องต่ายเลือกตามที่สบายใจเลย แล้วคุณค่อยเอากระบะทรายไปวางทับจุดนั้นๆ) แต่ก็เป็นหน้าที่เจ้าของอย่างคุณ ที่ต้องคอยรักษาความสะอาดเพื่อความสุขและสุขภาพที่แข็งแรงของน้องต่าย
    • พยายามทำความสะอาดคร่าวๆ ให้ได้ทุกวัน ประมาณว่าเก็บเศษหญ้าแห้งหรือสิ่งสกปรกต่างๆ ทิ้ง แล้วค่อยทำความสะอาดใหญ่แบบหมดจดอย่างน้อยทุก 1 - 2 เดือน โดยเปลี่ยนที่หลับที่นอนของกระต่ายๆ และอื่นๆ ตามสมควร [5]
    • อย่าปล่อยพวกขี้เลื่อยรองกรงให้สกปรกหรืออับชื้น เพราะเดี๋ยวแมลงวันจะมาเป็นฝูง ตามมาด้วยหนอนที่อาจทำให้กระต่ายติดเชื้อ เป็นโรค “fly strike” ที่ร้ายแรงถึงชีวิตได้ [6]
  4. กระต่ายตามธรรมชาติเป็นสัตว์สังคม พอวิวัฒนาการมาเป็นกระต่ายบ้านก็ใช่ว่านิสัยนั้นจะหายไป เพราะฉะนั้นถ้าคุณคิดเลี้ยงกระต่าย ต้องมีเวลาใกล้ชิดกันบ้าง และควรหาเพื่อนมาเลี้ยงรวมกันอีกสักตัวสองตัว
    • แวะไปคุยกับน้องต่ายบ้าง อย่างน้อย 1 - 2 ครั้งต่อวัน ใช้เวลาด้วยกันหน่อย จะอุ้ม หรือปล่อยให้น้องต่ายวิ่งเล่นนิดๆ หน่อยๆ ก็ได้ (ควรปล่อยในห้องปิดอย่างห้องน้ำ หรือ “ที่วิ่งเล่น” ในสนามแบบมีรั้วรอบขอบชิด)
    • กระต่ายส่วนใหญ่ชอบอยู่รวมกันเป็นหมู่ เพราะงั้นจะลองหาเพื่อนมาเพิ่มให้น้องต่ายของคุณก็ได้ พยายามเลือกที่อายุและขนาดเท่าๆ กันนะ อย่าลืมทำหมันด้วย โดยเฉพาะถ้าเลือกเลี้ยงตัวผู้ตัวเมียคู่กันน่ะ คุณก็รู้ว่ากระต่ายขึ้นชื่อเรื่องอะไร! [7]
  5. กระต่ายนั้นเกิดมาเพื่อกระโดดโลดเต้นโดยแท้ เป็นสัตว์ที่สุดแสนจะแอคทีฟ เพราะงั้นต้องให้เวลาน้องต่ายของคุณได้วิ่งเล่นออกกำลังกายแบบ "ปล่อยฟรี" อย่างน้อย 3 ชั่วโมงต่อวัน [8]
    • แต่ "ปล่อยฟรี" ที่ว่า ก็ไม่ได้หมายความว่าทิ้งๆ ขว้างๆ ตามมีตามเกิดอยู่ตัวเดียวในสนามนะ ระวังแมวข้างบ้านจะคาบหายไปไม่รู้ตัว เวลาน้องต่ายวิ่งเล่นคุณต้องคอยคุมเข้มอยู่ตลอด หรือจัดที่จัดทางให้มี "กรงวิ่งเล่น" แบบมีรั้วรอบขอบชิด ที่กว้างขวางทั้งรอบข้างและด้านบน
    • นอกจากนี้กระต่ายยังเป็นสัตว์ที่อยากรู้อยากเห็น ชอบสมาคม แถมฉลาดเป็นกรด เพราะฉะนั้นยิ่งเล่นยิ่งได้ประโยชน์ (คุณเองก็เหมือนกัน!) เกมที่น่าสนใจก็เช่น "โบว์ลิ่งกระต่าย" (ให้น้องต่ายวิ่งชนพินโบว์ลิ่งพลาสติก) "คาบของ" (คุณขว้างให้น้องต่ายไปเก็บมาเร็ว!) และ "ปราสาทกระดาษลัง" (รับรองว่าพังไม่เหลือดี) เป็นต้น [9]
    • ของเล่นโปรดของกระต่ายคือกระดาษ กระดาษลัง พลาสติกแข็ง แล้วก็พวกของเล่นไม้แบบไม่ต้องทาสี เพราะจะเป็นพิษกับกระต่าย ไม้อื่นๆ พวกไม้เชอร์รี่ ไม้เรดวู้ด หรือไม้พีช ก็ควรหลีกเลี่ยงเหมือนกัน [10]
    โฆษณา
วิธีการ 2
วิธีการ 2 ของ 2:

เลี้ยงกระต่ายนอกบ้านยังไงให้ปลอดภัย

ดาวน์โหลดบทความ
  1. การเลี้ยงกระต่ายแบบทิ้งขว้างห่างไกลคนใน “hutch” หรือกรงยกพื้นแคบๆ น่ะมันหมดยุคแล้ว บ้านกระต่ายสมัยใหม่ต้องแห้ง สะอาด อากาศถ่ายเท ทำเลดี ปลอดภัย และกว้างขวางถึงจะดี
    • สมัยนี้บ้านกระต่ายจะเป็น “hutches” เพราะมีหลายชั้นและ/หรือหลายห้อง เลี้ยงทีเดียวได้หลายตัวเลย หรือคุณจะสร้างบ้านให้น้องต่ายเองก็ได้ โดยหาแปลนตามในเน็ต แต่ต้องแน่ใจว่าบ้านกระต่ายของคุณจะแข็งแรงปลอดภัยในทุกสภาพอากาศนะ [11]
    • ยกตัวอย่างเช่น คุณอาจจะสร้างคอกสำหรับออกกำลังกาย (หรือที่เรียกว่า “rabbit run”) ให้น้องต่ายได้ใช้วิ่งเล่นประจำวัน โดยเป็นโครงไม้ รั้วตาข่ายกันกระต่ายออก แล้วก็บุด้วยไม้อัดทั้งบนและล่าง คอกนี้อย่างน้อยต้องมีขนาด "กว้าง x ยาว x สูง" เท่ากับ "32 นิ้ว x 8 ฟุต x 32 นิ้ว" น้องต่ายจะได้มีที่พอจะกระโดดโลดเต้นไปมา [12]
  2. อย่างที่บอกไป กระต่ายเลี้ยงหรือกระต่ายบ้านสามารถช็อคตายได้ง่ายๆ แค่เห็นหน้าสัตว์นักล่าตัวอื่น เพราะฉะนั้นต้องแน่ใจได้ว่า "สัตว์ในไม่ให้ออก สัตว์นอกไม่ให้เข้า"
    • ถ้าเป็นกระต่ายป่า จะกินแหลกทั้งแปลงดอกไม้และผักสวนครัวของคุณ อันนี้ก็กรณีเดียวกัน ถ้าคุณปล่อยให้กระต่ายบ้านได้วิ่งเล่นตามใจในสนามหญ้าที่มีรั้วรอบขอบชิดละก็ ยังไงก็ต้องระวังเรื่องพืชมีพิษต่างๆ แถมยังต้องคอยระวังสายไฟของคุณให้ดี อย่าเผลอให้อยู่ในระยะขบเคี้ยวล่ะ [13]
    • พูดถึงพืชต่างๆ ที่อาจเป็นพิษต่อกระต่าย เอาจริงๆ ก็ยาวเป็นหางว่าว เพราะฉะนั้นต้องศึกษาและระวังให้ดี ตัวอย่างพืชพวกนี้ก็เช่น ว่านหางจระเข้ บีโกเนีย หัวแดฟโฟดิล ลิลลี่อีสเตอร์ แล้วก็เจอเรเนียม เป็นต้น
  3. บ้านหรือกรงกระต่ายที่อยู่ข้างนอกต้องระวังเรื่องความชื้นเป็นพิเศษ ความชื้นทำให้อะไรๆ สกปรก พอสกปรกแล้วก็เกิดโรค เช่นโรค “fly strike” ที่บอกไปด้านบน [14]
    • หลังคากรงกระต่ายต้องทนแดดทนฝน จะใช้ไม้อัด แผ่นสังกะสี กระทั่งแผ่นพลาสติกหรือผ้าใบก็ได้ ที่สำคัญคือต้องหมั่นซ่อมบำรุงหลังคาอยู่ตลอด ถ้าเก่าก็เปลี่ยนใหม่ซะ ฝนจะได้ไม่รั่ว
    • ช่วงหน้าฝน ฝนตกหนักและลมแรง ให้ย้ายกระต่าย (ใส่กรงเดินทางหรือกรงสำรอง) ไปอยู่ที่ที่แห้งสะอาด เช่นตามระเบียง โรงรถ ห้องใต้ดิน หรือในตัวบ้านก็ได้ เพราะฟ้าร้องฟ้าผ่าลมกรรโชกอาจทำให้กระต่ายตกใจกลัวจนช็อคตาย ยังไงเอามาไว้ใกล้ตัวก่อนดีกว่า
  4. ถ้าคุณเคยดูสารคดี จะพอรู้ว่ากระต่ายป่ามักหลบร้อนตามเงาไม้ ไม่ก็ขุดรูหนีร้อนซะเลย บางทีตามบ้านคนก็ไม่เว้น นั่นก็เพราะกระต่ายชอบอยู่เย็นๆ แบบไม่แคร์ฤดูยังไงล่ะ [15]
    • ให้คุณย้ายกรงหรือบ้านกระต่ายไปไว้ในที่ร่ม และ/หรือสร้างหลังคาเพิ่ม ไม่ก็คลุมด้วยผ้าด้วยตาข่ายอะไรก็ว่าไป แต่ต้องระวังให้อากาศถ่ายเทสะดวก กระต่ายจะได้ไม่ร้อนจนเป็นอันตราย
    • คุณอาจจะเอาน้ำใส่ขวดแล้วเอาไปแช่แข็งก็ได้ จากนั้นเอาไปบุพื้นกรงแล้วคลุมด้วยฟาง กระต่ายจะได้มีพื้นเย็นๆ เอาไว้คลายร้อน
    • อากาศร้อนเมื่อไหร่ อย่าลืมเปลี่ยนน้ำใหม่ให้กระต่ายตลอด
  5. ถ้าบ้านกระต่ายของคุณแข็งแรงมั่นคงและติดตั้งฉนวนกันความร้อนเรียบร้อย หนาวหน่อยน้องต่ายก็อย่าได้แคร์ แต่ทางที่ดีย้ายน้องต่ายมาไว้ในบ้านคุณก่อนจะดีกว่า อย่างน้อยแค่ตอนกลางคืนก็ยังดี โดยเฉพาะช่วงปลายปีน่ะ [16]
    • ก่อนจะเข้าหน้าหนาว ให้รีบซ่อมกรงกระต่ายซะก่อน ระวังเรื่องรอยรั่วหรือจุดอับชื้นเป็นพิเศษ ชื้นเฉยๆ ว่าแย่แล้ว ถ้าทั้งชื้นทั้งหนาวละก็อันตรายแน่
    • บุพื้นเพิ่มเพื่อความอบอุ่น โดยเอาหนังสือพิมพ์มาบุตามพื้นตามผนัง เอาแผ่นพลาสติกมาคลุมรั้วตาข่าย แล้วคลุมตัวบ้านด้วยผ้าใบหรือผ้าห่มตอนกลางคืน แต่ถึงจะป้องกันลมหนาวและเพิ่มความอบอุ่น แต่อย่าลืมเรื่องอากาศถ่ายเทด้วยล่ะ [17]
    • หรือจะซื้อฮีตเตอร์ทำความร้อนสำหรับบ้านกระต่ายมาก็ได้ แต่ต้องซ่อนพวกสายไฟให้พ้นทาง หรือจะใช้แผ่นทำความร้อนสำหรับกระต่ายก็ได้ แต่วิธีแบบบ้านๆ ก็คือเอาขวดพลาสติกใส่น้ำอุ่น (น้ำร้อนนี่ห้ามเด็ดขาด ที่สำคัญปิดฝาให้สนิทล่ะ) ไปรองใต้พื้นกรง ทำซ้ำหลายๆ ครั้งต่อวัน
    • ยิ่งอากาศหนาว ก็ยิ่งต้องหมั่นไปทักทายน้องต่ายของคุณ คอยดูไม่ให้น้ำกินเย็นเกินไป (หรือมีเกล็ดน้ำแข็ง สำหรับคนที่อยู่ในจังหวัดหนาวๆ หน่อย) และคอยเติมอาหารอย่าให้ขาด กระต่ายจะได้มีแรงสู้กับอากาศหนาว [18]
    โฆษณา

คำเตือน

  • ถ้าอากาศเลวร้ายเกินทน หรือน้ำเข้ากรงกระต่าย ต้องรีบย้ายกระต่ายเข้าบ้านคุณหรือย้ายไปไว้ในที่ที่ปลอดภัย
  • เวลากระต่ายตื่นตูมจะโดดสูงจนอาจเจ็บตัว ร้ายหน่อยก็หัวใจวายไปเลย
  • ถึงคุณจะเอากระต่ายเข้าบ้าน ก็ต้องคอยระวังอันตรายอื่นๆ อย่างสายไฟอยู่ดี
โฆษณา

เกี่ยวกับวิกิฮาวนี้

มีการเข้าถึงหน้านี้ 34,256 ครั้ง

บทความนี้เป็นประโยชน์กับคุณไหม

โฆษณา