ดาวน์โหลดบทความ ดาวน์โหลดบทความ

เราต่างก็มีเรื่องต้องตัดสินใจทุกวัน ทุกอย่างที่พูดหรือทำเป็นผลมาจากการตัดสินใจไม่ว่าจะโดยตั้งใจหรือไม่ก็ตาม ในการตัดสินใจที่ถูกต้องทั้งเรื่องเล็กและเรื่องใหญ่ไม่มีสูตรสำเร็จตายตัว ฉะนั้นสิ่งที่เราสามารถทำได้ดีที่สุดก็คือมองจากหลายมุมให้มากที่สุดเท่าที่จะเป็นไปได้แล้วจากนั้นค่อยเลือกทำในสิ่งดูเหมาะสมและลงตัวที่สุดในตอนนั้น แต่ถ้าเราต้องตัดสินใจเรื่องใหญ่ เราก็อาจต้องรู้สึกหวาดหวั่นกับผลของการตัดสินใจนั้น อย่างไรก็ตามมีวิธีการง่ายๆ ที่เราสามารถทำได้เพื่อลดความกลัวลงอย่างเช่น คิดสิว่าอะไรจะเป็นผลที่เลวร้ายที่สุดจากการตัดสินใจครั้งนี้ สร้างตารางการตัดสินใจ และทำตามสัญชาตญาณของตนเอง ถ้าอยากรู้ว่าขั้นตอนการตัดสินใจมีอะไรบ้าง ก็ลองอ่านขั้นตอนการตัดสินใจด้านล่างนี้ดู

ส่วน 1
ส่วน 1 ของ 3:

รู้ว่าตนเองกลัวอะไร

ดาวน์โหลดบทความ
  1. การเขียนถึงสิ่งที่ตนเองกลัวอาจช่วยให้เราเริ่มต้นเข้าใจสิ่งที่กลัวนั้นและตัดสินใจได้ดีขึ้นในท้ายที่สุด เริ่มเขียนว่าตนเองต้องตัดสินใจเรื่องอะไร อธิบายและเขียนทุกอย่างที่สร้างความกังวลให้ราเมื่อต้องตัดสินใจเรื่องนี้ ระบายความกลัวออกมาโดยไม่ตัดสินตนเอง [1]
    • ตัวอย่างเช่น อาจเริ่มเขียนด้วยการถามตนเองว่า “ฉันจะต้องตัดสินใจเรื่องอะไรบ้างและฉันกลัวว่าเหตุการณ์อะไรจะเกิดขึ้น ถ้าตัดสินใจผิด”
  2. พอเขียนถึงเรื่องที่เราต้องตัดสินใจและเหตุผลที่กลัวการตัดสินใจครั้งนี้แล้ว คราวนี้จะเพิ่มรายละเอียดมากขึ้นอีกหน่อย เขียนสิว่าจะเกิดเหตุการณ์อะไรที่เลวร้ายที่สุด เมื่อตัดสินใจเลือกในแต่ละทาง การบีบให้ตนเองคิดว่าจะเกิดอะไรขึ้นบ้างเมื่อตัดสินใจผิดพลาดอาจทำให้เรากลัวน้อยลงได้ [2]
    • ตัวอย่างเช่น ถ้าต้องตัดสินใจเลือกระหว่างทำงานแบบเต็มเวลาหรือทำงานแบบไม่เต็มเวลาเพื่อจะได้มีเวลาอยู่กับลูกมากขึ้น คิดสิว่าเหตุการณ์ที่เลวร้ายที่สุดอันเกิดจากการเลือกแต่ละทางมีอะไรบ้าง
      • ถ้าเลือกที่จะทำงานเต็มเวลาต่อไป ผลที่เลวร้ายที่สุดคือเราจะพลาดช่วงพัฒนาการสำคัญของลูกและเมื่อเขาเริ่มโตขึ้น ลูกจะขุ่นเคืองเราที่ไม่มีเวลาดูแลเขา
      • ถ้าเราเลือกจะทำงานแบบไม่เต็มเวลาต่อไป ผลที่เลวร้ายที่สุดอาจเป็นเรามีรายได้ไม่พอกับรายจ่ายของแต่ละเดือน
    • ใคร่ครวญให้ดีว่าผลร้ายนั้นจะเกิดขึ้นจริงๆ หรือเปล่า เราอาจ “คิดตีโพยตีพายเกินเหตุ” หรือมองเรื่องต่างๆ ไปในทางเลวร้ายไว้ก่อนโดยไม่มีได้ตรึกตรองให้ดี ใคร่ครวญผลร้ายที่เราเขียนลงไปและคิดให้ดีว่าอะไรเป็นปัจจัยที่ทำให้เกิดผลเลวร้ายแบบนั้น ผลร้ายนั้นมีโอกาสเกิดขึ้นหรือเปล่า [3]
  3. ใคร่ครวญดูสิว่าผลของการตัดสินใจจะคงอยู่ถาวรไหม. พอเราคิดถึงผลร้ายที่จะตามมาหมดทุกอย่างแล้ว ต่อไปลองคิดสิว่าการตัดสินใจนี้สามารถเปลี่ยนแปลงแก้ไขได้หรือไม่ การตัดสินใจส่วนใหญ่สามารถเปลี่ยนแปลงแก้ไขได้ ฉะนั้นก็อาจเบาใจได้ว่าถ้าหากเราไม่ชอบการตัดสินใจเลือกหนทางใดหนทางหนึ่ง เราสามารถเปลี่ยนแปลงเพื่อแก้ไขสถานการณ์ในภายหลังได้ [4]
    • ตัวอย่างเช่น ถ้าเราตัดสินใจเลือกทำงานแบบไม่เต็มเวลาเพื่อจะได้มีเวลาอยู่กับลูกมากขึ้น แต่ถ้าทำตามการตัดสินใจนี้ไปแล้วเกิดปัญหามีรายได้ไม่พอรายจ่าย ก็ให้เปลี่ยนการตัดสินใจมาเลือกทำงานแบบเต็มเวลาแทน
  4. อย่าคิดว่าตนเองต้องตัดสินใจเรื่องใหญ่เพียงลำพัง ขอความช่วยเหลือจากเพื่อนที่เราไว้ใจหรือสมาชิกในครอบครัวหรืออย่างน้อยให้พวกเขารับฟังปัญหาของเราหน่อยก็ได้ ลองเล่ารายละเอียดเรื่องที่ต้องตัดสินใจรวมทั้งเรื่องที่ตนเองกลัวว่าจะเกิดขึ้นให้พวกเขาฟัง เราอาจรู้สึกดีขึ้นที่ได้ระบายความกลัวออกไปและเพื่อนหรือครอบครัวอาจมีคำแนะนำดีๆ และช่วยยืนยันการตัดสินใจของเราได้ [5]
    • อาจลองไปพูดกับใครสักคนที่อยู่นอกสถานการณ์นั้นและมีความเห็นที่เป็นกลาง นักบำบัดเป็นบุคคลที่เราสามารถเข้าไปพูดคุยได้และอาจได้มุมมองที่มีประโยชน์ต่อการตัดสินใจด้วย
    • เราอาจค้นหาและปรึกษาคนที่ประสบอยู่ในสถานการณ์เดียวกันทางอินเตอร์เน็ต ถ้ากำลังตัดสินใจระหว่างเลือกทำงานแบบเต็มเวลากับงานแบบไม่เต็มเวลาเพื่อจะได้มีเวลาอยู่กับลูกมากขึ้น เราอาจตั้งกระทู้ปัญหาตามฟอรัมที่เกี่ยวข้องกับการเป็นพ่อแม่ เราน่าจะได้ยินเรื่องราวของผู้คนที่เคยตัดสินใจเรื่องเดียวกันนี้และอาจมีใครสักคนบอกเราว่าตัวเองนั้นจะทำอย่างไร ถ้าหากอยู่ในสถานการณ์เดียวกับเรา
    โฆษณา
ส่วน 2
ส่วน 2 ของ 3:

ใคร่ครวญการตัดสินใจ

ดาวน์โหลดบทความ
  1. ถ้าเรามีอารมณ์ความรู้สึกอย่างใดอย่างหนึ่งมากเกินไป เช่น รู้สึกดีใจมากเกินไปหรือกลัวมากเกินไป อารมณ์ความรู้สึกในตอนนั้นอาจมีผลกระทบต่อความสามารถในการตัดสินใจอย่างมีเหตุผล เมื่อต้องตัดสินใจเรื่องใดๆ ก็ตาม สิ่งที่ควรทำคือพยายามทำจิตใจให้สงบมากที่สุดเท่าที่จะทำได้ก่อน ถ้าจิตใจเรายังวุ่นวายอยู่ อย่าเพิ่งตัดสินใจทำอะไรลงไปจนกว่าจะสามารถคิดได้อย่างกระจ่างอีกครั้ง [6]
    • ลองสูดหายใจเข้าลึกๆ เพื่อช่วยให้จิตใจสงบลง ถ้ามีเวลามากกว่านี้ หาห้องที่เงียบสงบและฝึกหายใจเข้าลึกๆ สัก 10 นาที
    • ในการหายใจเข้าลึกๆ ให้วางมือไว้ที่ท้องบริเวณใต้กระดูกซี่โครงและวางมืออีกข้างไว้ที่อก เมื่อสูดหายใจเข้า จะรู้สึกว่าท้องและอกขยายออก! [7]
    • ค่อยๆ หายใจเข้าทางจมูกอย่างช้าๆ สูดหายใจเข้าจนกระทั่งนับถึง 4 จดจ่อกับลมหายใจและรู้สึกถึงปอดที่ขยายตัวออก
    • กลั้นลมหายใจ 1-2 วินาที
    • ผ่อนลมหายใจออกทางจมูกหรือปาก ผ่อนลมหายใจออกจนกระทั่งนับถึง 4
    • ฝึกหายใจเข้าลึกๆ สักนาทีละ 6-10 ครั้ง เป็นเวลา 10 นาที
  2. เราจะตัดสินใจได้ดีขึ้นเมื่อมีข้อมูลมากพอที่จะทำให้ตัดสินใจได้อย่างถูกต้อง การตัดสินใจโดยเฉพาะอย่างยิ่งในเรื่องที่สำคัญมากควรอยู่บนหลักเหตุผล ฉะนั้นค้นคว้าข้อมูลในเรื่องที่เกี่ยวข้องกับการตัดสินใจครั้งนี้ให้มากที่สุดเท่าที่จะทำได้ [8]
    • ตัวอย่างเช่น ถ้ากำลังตัดสินใจว่าจะทำงานแบบเต็มเวลาต่อไปหรือเปลี่ยนมาทำงานแบบไม่เต็มเวลาแทนเพื่อจะได้มีเวลาดูแลลูกมากขึ้น ก่อนตัดสินใจเราจะต้องรู้ก่อนว่าแต่ละเดือนเรามีค่าใช้จ่ายภายในคอบครัวเท่าไร เราจะต้องคำนึงถึงด้วยว่าตนเองจะมีเวลาให้ลูกมากสักแค่ไหน บันทึกข้อมูลเหล่านี้รวมทั้งข้อมูลอื่นๆ ที่เกี่ยวข้องกับการตัดสินใจครั้งนี้ด้วย จะได้ช่วยให้เราตัดสินใจได้ดีขึ้น [9]
    • เราต้องใคร่ครวญถึงทางเลือกอื่นๆ ด้วยและรวบรวมข้อมูลเกี่ยวกับทางเลือกต่างๆ นั้น ตัวอย่างเช่น เราอาจขอนายจ้างว่าเราสามารถทำงานจากที่บ้านอย่างน้อยอาทิตย์ละสองสามวันได้ไหม
  3. ใช้วิธีถามตนเองว่าทำไม “5 ครั้ง” เพื่อให้เข้าใจปัญหา. การถามตนเองว่า “ทำไม” ถึง 5 ครั้งจะช่วยให้เรารู้ต้นตอของปัญหาและรู้ว่าตนเองนั้นตัดสินใจเรื่องต่างๆ ด้วยเหตุผลที่สมควรหรือไม่ [10] ตัวอย่างเช่น ถ้าเรากำลังตัดสินใจเลือกระหว่างทำงานเต็มเวลาต่อไปหรือเปลี่ยนไปทำงานแบบไม่เต็มเวลาเพื่อที่จะได้มีเวลาอยู่กับครอบครัวมากขึ้น เราอาจถามตนเองว่าทำไมดังนี้
    • “ทำไมฉันถึงจะเปลี่ยนมาทำงานแบบไม่เต็มเวลา” เพราะฉันไม่ค่อยได้เห็นหน้าลูก “ทำไมฉันถึงไม่ค่อยได้เห็นหน้าลูก” เพราะฉันอยู่ทำงานจนดึกดื่นเกือบทุกคืน “ทำไมฉันถึงอยู่ทำงานจนดึกดื่นเกือบทุกคืน” เพราะฉันต้องเขียนรายงานฉบับใหม่และงานนี้ก็ใช้เวลามาก “ทำไมถึงต้องใช้เวลาทำงานนี้มากขนาดนั้น” เพราะฉันพยายามทำงานให้ออกมาดีที่สุดและหวังว่าจะได้รับการเลื่อนตำแหน่ง “ทำไมฉันถึงอยากได้รับการเลื่อนตำแหน่ง” เพราะจะได้มีรายได้เพิ่มขึ้นและเลี้ยงดูครอบครัวได้อย่างสบาย
    • ในกรณีนี้เมื่อได้ถามตนเองว่าทำไมไปห้าคำถามแล้ว ก็จะเห็นว่าตนเองควรลดชั่วโมงการทำงานลง แต่เราก็อยากได้รับการเลื่อนตำแหน่งอยู่ดี ในเมื่อมีความต้องการสองอย่างที่ขัดแย้งกันเช่นนี้ ก็ต้องมีการค้นคว้าหาข้อมูลเพิ่มเติมเพื่อที่จะได้ตัดสินใจได้ดียิ่งขึ้น
    • คำถามว่าทำไมห้าคำถามนี้ยังชี้ให้เห็นด้วยว่าปัญหานี้อาจอยู่แค่ชั่วคราว สาเหตุที่เราต้องอยู่ทำงานจนดึกเพราะเรายังไม่ชำนาญงาน ลองคิดสิว่าถ้าเราชำนาญงานมากขึ้นแล้ว เราจะต้องใช้เวลาทำงานมากขนาดนี้ไหม
  4. ก่อนอื่นเราควรใคร่ครวญดูว่าการตัดสินใจของเรามีผลกระทบต่อตนเองอย่างไร โดยเฉพาะอย่างยิ่งในฐานะคนคนหนึ่งการตัดสินใจเรื่องนี้มีผลกระทบต่อความเป็นตัวเราอย่างไร ค่านิยมและเป้าหมายของเราคืออะไร การตัดสินใจที่ไม่สอดคล้องกับ “ค่านิยมส่วนตัว” (เช่น ไม่ตรงกับความเชื่อหลักของเรา) จะทำให้เราไม่มีความสุขและคับข้องใจ [11] [12]
    • ตัวอย่างเช่น ถ้าค่านิยมหลักของเราหรือบางสิ่งที่อยู่ส่วนลึกในตัวตนของเรานั้นคือความทะเยอทะยาน การเปลี่ยนมาทำงานแบบไม่เต็มเวลาอาจไมสอดคล้องกับค่านิยมหลักเพราะเราจะไม่สามารถไล่ตามความทะเยอทะยานอยากได้เลื่อนตำแหน่งและกลายเป็นบุคคลชั้นแนวหน้าของบริษัทได้
    • บางครั้งค่านิยมหลักก็อาจขัดแย้งกับค่านิยมอื่น ตัวอย่างเช่น เรามีความทะเยอทะยานและความรักครอบครัวเป็นค่านิยมหลัก เราอาจต้องให้ความสำคัญกับค่านิยมหนึ่งมากกว่าอีกค่านิยมหนึ่งเพื่อให้ได้ข้อสรุปของการตัดสินใจ การเข้าใจว่าค่านิยมของตนนั้นคืออะไรจะช่วยให้เราตัดสินใจเลือกหนทางที่เหมาะสมมากขึ้น
    • เราควรใคร่ครวญอีกด้วยว่าปัญหาหรือการตัดสินใจนี้จะมีผลกระทบต่อผู้อื่นอย่างไรบ้าง ผลลัพธ์อันไม่น่าพอใจที่อาจเกิดขึ้นจะมีผลกระทบต่อคนที่เรารักหรือเปล่า ระหว่างการตัดสินใจคำนึงถึงผู้อื่นด้วยโดยเฉพาะอย่างยิ่งถ้าเราแต่งงานหรือมีลูกแล้ว
    • ตัวอย่างเช่น การตัดสินใจเปลี่ยนมาทำงานแบบไม่เต็มเวลาอาจเป็นผลดีกับลูกเพราะเรากับลูกจะได้มีเวลาอยู่ด้วยกันมากขึ้น แต่มีผลเสียต่อเราเพราะอาจต้องละทิ้งความใฝ่ฝันที่จะได้เลื่อนตำแหน่งไปและอาจมีผลกระทบกับทั้งครอบครัวเพราะรายได้ลดลง
  5. ถึงแม้ตอนแรกอาจเห็นว่ามีแค่ทางเลือกทางเดียวเท่านั้น แต่ความจริงแล้วไม่ใช่เลย ถึงในสถานการณ์นั้นเราดูเหมือนจะทำอะไรไม่ได้มากนัก แต่ก็ให้พยายามเขียนทางเลือกที่เรามีอยู่ทั้งหมดออกมา อย่าพึ่งคิดว่าทางเลือกที่มีดีหรือไม่ดีจนกว่าจะเขียนครบหมดทุกอย่าง เขียนทางเลือกของเราทั้งหมดที่มีออกมา ถ้าคิดไม่ออกว่ามีอะไรบ้าง ร่วมระดมความคิดกับครอบครัวหรือเพื่อนก็ได้ [13]
    • เราไม่จำเป็นต้องเขียนลงกระดาษเท่านั้น แค่นึกและจดจำไว้ในหัวก็ได้เหมือนกัน!
    • เราสามารถขีดฆ่าทางเลือกที่ไม่เข้าท่าได้ในภายหลัง แต่บางครั้งความคิดอันแปลกพิสดารอาจทำให้เราคิดวิธีแก้ปัญหาสุดสร้างสรรค์ออกอย่างคาดไม่ถึงก็ได้
    • ตัวอย่างเช่น เราอาจหางานประจำแบบที่ไม่มีการทำงานล่วงเวลา เราอาจจ้างแม่บ้านมาช่วยจัดการงานภายในบ้าน เราอาจหาเวลาอยู่กับครอบครัวมากขึ้น เราอาจตั้ง “ช่วงเวลานั่งทำงานร่วมกันในครอบครัว” ในตอนเย็น ทุกคนในครอบครัวจะได้มานั่งทำงานของแต่ละคนด้วยกันในห้องเดียวกัน การทำแบบนี้จะช่วยให้รู้สึกใกล้ชิดกันมากขึ้น
    • ผลการวิจัยยังชี้ให้เห็นว่าการมีทางเลือก “มากเกินไป” อาจทำให้สับสนและทำให้ตัดสินใจยากมากขึ้น [14] พอเขียนทางเลือกที่มีออกมาหมดแล้ว ตัดทางเลือกที่เป็นไปไม่ได้ทิ้งไป พยายามให้เหลือทางเลือกแค่ห้าทางพอ
  6. ทำตารางเพื่อประเมินผลดีและผลเสียที่อาจเกิดขึ้นจากการตัดสินใจ. ถ้าปัญหานี้มีความซับซ้อนและเห็นว่ามีผลลัพธ์ที่เป็นไปได้มากมายจนน่าสับสน ลองทำตารางเพื่อเป็นแนวทางในการตัดสินใจ จะใช้ไมโครซอฟต์เอ็กเซลทำตารางหรือวาดตารางลงในกระดาษเองก็ได้ [15]
    • ในการสร้างตารางเปรียบเทียบกำหนดให้แถวแรกของตารางเป็นชื่อทางเลือกแต่ละทางเลือกที่เรากำลังพิจารณา ภายในแถวแต่ละแถวให้สร้างแถวย่อยลงไปอีกแล้วใส่หัวข้อผลดีและผลเสียของแต่ละทาง โดยใช้เครื่องหมาย + แทนผลดีแลtเครื่องหมาย – แทนผลเสีย
    • อาจให้คะแนนทางเลือกแต่ละทางด้วยก็ได้ ตัวอย่างเช่น ในหัวข้อใหญ่ “เปลี่ยนไปทำงานแบบไม่เต็มเวลา” เราอาจให้คะแนน +5 ในข้อดีที่เราเขียนว่า “จะได้กินข้าวกับลูกทุกเย็น ในทางกลับกันเราอาจให้คะแนน -20 ในข้อเสียที่เราเขียนว่า “รายได้ลดไปเกือบ 30,000 บาท ”
    • หลังจากทำตารางนี้เสร็จแล้ว นำคะแนนต่างๆ มาบวกกันและดูสิว่าทางเลือกไหนที่มีคะแนนสูงสุด แต่พึงระลึกไว้เสมอว่าในการตัดสินใจเราอาจไม่สามารถใช้วิธีนี้เพียงวิธีเดียวได้
  7. ผู้คนที่มีความคิดสร้างสรรค์อาจไม่รู้ว่ามีวิธีนี้ด้วย แต่มีหลายครั้งที่ความคิด การตัดสินใจ และหนทางแก้ปัญหาปรากฏออกมาตอนที่ผู้คนไม่คิดอะไรหรือคิดอย่างค่อยเป็นค่อยไป กล่าวให้ชัดก็คือวิธีการแก้ปัญหาที่สร้างสรรค์และเป็นไปตามหลักเหตุผลหรือความคิดต่างๆ มาจากสภาวะไม่คิดของจิตใต้สำนึก นี้คือสาเหตุว่าทำไมผู้คนถึงนั่งสมาธิ
    • การถามและรวบรวมข้อมูลหรือความรู้ก่อนการตัดสินใจนั้นสำคัญ แต่ถ้าเราอยากให้เกิดการตัดสินใจที่สร้างสรรค์และเป็นไปตามหลักเหตุผลจริงๆ เราก็ต้องหยุดคิดก่อนหรืออย่างน้อยคิดให้ช้าลง การฝึกสมาธิแบบอานาปานสติเป็นวิธีหนึ่งที่ไม่มีรูปแบบตายตัว สามารถทำให้จิตใจของเราสงบได้และได้ปล่อยให้ความคิดอันสร้างสรรค์และเป็นไปตามหลักเหตุผลไหลผ่านเข้ามา การฝึกสมาธิแบบนี้ไม่จำเป็นต้องใช้เวลามาก แค่สามารถรับรู้ลมหายใจเข้าออกของตนเองขณะทำภารกิจประจำวันอย่างเช่น ทำกับข้าว แปรงฟัน เดิน เป็นต้น ก็ถือว่าเป็นการฝึกสมาธิแล้ว ถ้าอยากรู้วิธีการและรายละเอียดมากกว่านี้ ลองหาบทความเกี่ยวกับการฝึกสมาธิแบบอานาปานสติอ่านดู
    • ลองมาดูตัวอย่างนี้ นักดนตรีท่านหนึ่งมีความรู้และข้อมูล (เครื่องดนตรี) เกี่ยวกับการทำดนตรีอย่างเช่นการเล่นเครื่องดนตรี การร้องเพลง การเขียนเพลงเป็นต้น แต่ความฉลาดเชิงสร้างสรรค์จะเกิดขึ้นกับนักดนตรี เมื่อได้ใช้เครื่องมือต่างๆ เหล่านั้นสร้างสรรค์ผลงาน ความรู้เกี่ยวกับดนตรี การร้องเพลง หรืออะไรก็แล้วแต่ซึ่งเกี่ยวข้องนั้นสำคัญก็จริงแต่ความฉลาดในการสร้างสรรค์ผลงานเป็นตัวทำให้เกิดบทเพลงขึ้นมา
  8. แยกแยะความแตกต่างระหว่างการตัดสินใจตามแรงกระตุ้นและการตัดสินใจตามหลักเหตุผลได้. ในการตัดสินใจแบบแรกแรงกระตุ้นมักจะหายไปหลังจากผ่านไปสักพักแล้ว ตัวอย่างเช่น อยู่ๆ อยากกิน อยากซื้อ อยากเที่ยว พอผ่านไปสักพักความรู้สึกเหล่านี้หายไป แต่การตัดสินใจตามหลักเหตุผลจะยังคงอยู่ในจิตสำนึกนาน อาจเป็นหลายวัน หลายสัปดาห์ หรือหลายเดือน
    • การตัดสินใจตามหลักเหตุผลบางครั้งก็อาจมาในรูปแบบการตัดสินใจตามแรงกระตุ้น แต่ให้รู้ตัวว่าเรายังคิดจะตัดสินใจอย่างนั้นอยู่หรือเปล่าหลังจากเวลาผ่านไป นี้คือเหตุผลว่าทำไมถึงควรตั้งคำถามกับตนเองหลังจากรวบรวมข้อมูลแล้ว เพราะการทำแบบนี้จะช่วยให้เราตัดสินใจตามหลักเหตุผลมากยิ่งขึ้น
    • ลองทดสอบด้วยการเปรียบเทียบการกระทำหลังสูดหายใจเข้าลึกๆ กับการกระทำไปตามแรงกระตุ้นดูสิ
    โฆษณา
ส่วน 3
ส่วน 3 ของ 3:

ตัดสินใจ

ดาวน์โหลดบทความ
  1. บางครั้งการถอยออกมาจากการตัดสินใจก็สามารถช่วยให้เรารู้ทางเลือกที่เหมาะสมได้ คิดสิว่าเราจะบอกอะไรกับเพื่อนผู้แสนดีที่กำลังดิ้นรนหาทางออกในเรื่องเดียวกัน เราจะแนะนำให้เพื่อนตัดสินใจว่ายังไง เราจะพยายามเสนออะไรบ้างเพื่อให้เพื่อนตัดสินใจแบบนั้น ทำไมเราถึงให้คำปรึกษาเขาแบบนี้ [16]
    • พยายามแสดงบทบาทสมมติเป็นเพื่อนของตนเอง นำเก้าอี้ว่างมาวางไว้ตรงกันข้ามกับตนเองแล้วแสร้งว่าเรากำลังพูดกับคนอื่นอยู่
    • ถ้าไม่อยากนั่งคุยกับตนเองคนเดียว ลองเขียนจดหมายให้คำแนะนำตนเอง เริ่มต้นจดหมายว่า “ถึง ___ ฉันได้ใคร่ครวญสถานการณ์ที่นายประสบอยู่แล้วและฉันคิดว่าสิ่งที่ดีที่สุดสำหรับนายก็คือ ____” เขียนอธิบายมุมมองของตนเอง (ในฐานะคนนอก) ไปเรื่อยๆ
  2. การหาเหตุผลมาคัดค้านเหตุผลเดิมจะช่วยให้เรารู้ว่าแท้จริงแล้วเรารู้สึกอย่างไรกันแน่ เพราะการทำแบบนี้บีบให้เราคิดตรงข้ามและโต้เถียงเพื่อหาเหตุผลมาหักล้างราวกับความคิดนั้นเป็นของเราเอง ถ้าข้อโต้แย้งนี้เริ่มทำให้เราเข้าใจอะไรได้มากขึ้น แสดงว่าเรามีข้อมูลใหม่ให้ต้องพิจารณาแล้ว [17]
    • เวลาหาเหตุผลมาคัดค้านเหตุผลเดิม เราต้องพยายามโต้แย้งเหตุผลดีๆ ทุกเหตุผลเพื่อให้ได้ทางเลือกที่ชอบมากกว่า ถ้าเราหาเหตุผลมาคัดค้านเหตุผลเดิมได้ง่าย แสดงว่าที่จริงแล้วเราต้องการเลือกทางอื่น
    • ตัวอย่างเช่น ถ้าเรากำลังโอนเอียงไปทางการอยู่กับลูกให้มากขึ้น ทั้งๆ ที่ตัวเราเองก็บอกว่าตนเองนั้นใช้เวลาช่วงสุดสัปดาห์อยู่กับลูกตลอด เวลาพักร้อนก็อยู่กับลูก เราอาจบอกตนเองอีกด้วยว่าเงินและโอกาสก้าวหน้าในหน้าที่การงานที่เราจะสูญเสียไปนั้นคุ้มค่ากับการได้มีโอกาสกินข้าวเย็นกับครอบครัวบ้างเพราะการได้กินข้าวกันพร้อมหน้าจะมีผลดีกับลูกมากกว่าการทำงานล่วงเวลาสองชั่วโมงทุกคืน แต่ทั้งเงินและการเลื่อนตำแหน่งก็ยังเป็นสิ่งที่เราต้องการ จึงต้องนำความต้องการนี้มาพิจารณาด้วย
  3. การตัดสินใจเลือกเพราะรู้สึกผิดเป็นเรื่องปกติ แต่การรู้สึกผิดไม่ช่วยให้เรามีการตัดสินใจที่ดี โดยปกติความรู้สึกผิดจะทำให้เราเข้าใจเหตุการณ์และผลลัพธ์คลาดเคลื่อน จึงมองทั้งสองสิ่งนี้ (หรือบทบาทของตนเองในทั้งสองสิ่งนี้) ได้ไม่กระจ่าง [18] ความรู้สึกผิดมักจะเกิดในผู้หญิงทำงานที่ต้องเผชิญกับความกดดันทางสังคมเป็นพิเศษ ให้ต้องทั้งทำงานและดูแลครอบครัวไปพร้อมกัน [19]
    • การตัดสินใจทำสิ่งต่างๆ เพราะรู้สึกผิดยังอาจเป็นผลเสียอีกด้วยเพราะทำให้เราตัดสินใจทำในสิ่งที่ไม่สอดคล้องกับค่านิยมของตนเอง [20] [21]
    • วิธีหนึ่งที่จะรู้ตัวว่าตนเองตัดสินใจเพราะรู้สึกผิดหรือเปล่าคือมีคำว่า “ควร” หรือ “ต้อง” ไหม [22] ตัวอย่างเช่น เราอาจรู้สึกว่า “พ่อแม่ควรอยู่กับลูกตลอดเวลา” หรือ “พ่อแม่ที่บ้างานต้องเป็นพ่อแม่ที่ไม่ดี” นี้เป็นคำพูดที่ตัดสินคนจากภายนอกไม่ใช่ค่านิยมของเรา
    • ฉะนั้นถ้าอยากรู้ว่าการตัดสินใจของเรามาจากความรู้สึกผิดหรือเปล่า พยายามถอยกลับมามองสถานการณ์ “ตามความเป็นจริง” รวมทั้งสิ่งที่ค่านิยมส่วนตัวของเรา (ความเชื่อหลักที่เราใช้ในการดำเนินชีวิต) บอกว่าเหมาะสม ลูกๆ ไม่มีความสุขเลยเพราะเราทำงานเต็มเวลาหรือ หรือรู้สึกแบบนั้นเพราะผู้อื่นบอกว่าเรา “ควร” รู้สึกแบบนี้
  4. วิธีที่จะทำให้เราตัดสินใจได้ดีที่สุดคือเมื่อหมดวันลองคิดว่าเราจะรู้สึกอย่างไรในอีกสองสามปีข้างหน้า เราจะคิดกับตัวเองอย่างไรเมื่อมองในกระจก เราจะอธิบายหลานของตนเองอย่างไร ถ้าเราไม่ชอบผลของการตัดสินใจนี้และเกรงว่าผลลัพธ์นั้นจะคงอยู่นาน เราอาจต้องกลับมาคิดหาหนทางใหม่ [23]
    • ตัวอย่างเช่น คิดว่าในอีก 10 ปีข้างหน้าเราจะเสียใจที่ตัดสินใจเปลี่ยนไปทำงานแบบไม่เต็มเวลาไหม ถ้าเป็นอย่างนั้นเพราะอะไร ถ้าเราทำงานเต็มเวลามา 10 ปีเราจะบรรลุเป้าหมายอะไรบ้างที่เราไม่สามารถทำได้ถ้าเลือกที่จะทำงานแบบไม่เต็มเวลาเป็นระยะเวลาเดียวกัน
  5. เราอาจรู้สึกได้เองว่าควรตัดสินใจเลือกทางไหน ฉะนั้นถ้าทำตามวิธีที่แนะนำมาแล้วไม่ได้ผล ก็ควรลองเชื่อสัญชาตญาณตนเองดู ผลการวิจัยได้แสดงให้เห็นว่าผู้คนที่ตัดสินใจทำสิ่งต่างๆ จากความรู้สึกของตนมักจะพอใจในการตัดสินใจของตนเองมากกว่าผู้คนที่ประเมินการตัดสินใจอย่างละเอียด [24] [25]
    • ถามตนเองสิว่าอยากทำอะไร ถ้าเรามีสัญชาตญาณว่าการตัดสินใจเลือกทางไหนทำให้เรารู้สึกมีความสุขที่สุด เราก็ควรจะเลือกทางนั้น ความไม่แน่นอนและการไม่รู้ว่าอะไรจะเกิดขึ้นทำให้เราตัดสินใจได้ยาก
    • การใช้เวลาใคร่ครวญอย่างเงียบๆ สักครู่ช่วยให้เราสัมผัสถึงสัญชาตญาณของตนเองได้
    • ยิ่งได้ตัดสินใจมากเท่าไร สัญชาตญาณของเราก็ยิ่งแม่นยำและเฉียบคมมากขึ้นเท่านั้น [26]
  6. การคิดวางแผนรับมือไว้ล่วงหน้าอาจช่วยให้เราเบาใจหากเกิดผลร้ายขึ้น เตรียมแผนสำรองไว้รับมือสถานการณ์ที่เลวร้ายที่สุด ถึงแม้เราอาจไม่มีโอกาสใช้แผนนี้ก็ตาม แต่การมีแผนสำรองไว้จะช่วยให้เราพร้อมรับมือสถานการณ์ที่เลวร้ายได้มากขึ้น คนที่อยู่ในตำแหน่งผู้นำมักจะมีแผนสำรองอยู่เสมอเพราะความผิดพลาดมีโอกาสเกิดขึ้นได้ตลอด การมีแผนสำรองก็สามารถนำมาใช่ในการตัดสินใจเรื่องเล็กน้อยได้เช่นกัน [27]
    • การมีแผนสำรองยังช่วยให้เราสามารถแก้ปัญหาเฉพาะหน้าได้ดีหรือมีโอกาสถอยกลับมาตั้งหลักได้ ความสามารถในการปรับตัวให้เข้ากับสถานการณ์ต่างๆ มีผลต่อความสามารถในการตัดสินใจโดยตรง
  7. เลือกตามที่ตนเองตัดสินใจ.ไม่ว่าเราจะตัดสินใจเลือกทางไหน ก็จงเตรียมตัวรับผิดชอบผลของการตัดสินใจที่จะตามมาด้วย ถ้าสิ่งต่างๆ ไม่เป็นไปตามที่คาดไว้ อย่างน้อยการตัดสินใจโดยพยายามพิจารณาอย่างละเอียดถี่ถ้วนก็ยังดีกว่าไม่ใส่ใจอะไรเลย อย่างน้อยเราก็บอกกับตนเองได้ว่าเราทำดีที่สุดแล้ว จงตัดสินใจเสียและเตรียมรับผลลัพธ์ที่จะตามมาด้วย [28]
    โฆษณา

เคล็ดลับ

  • ไม่มีทางเลือกไหนสมบูรณ์แบบ พอเราได้ตัดสินใจไปแล้ว ให้ทำตามการตัดสินใจนั้นด้วยความเต็มใจ อย่าไปเสียใจกับสิ่งที่เลือกและอย่าไปพะวงกับหนทางอื่นที่เราไม่ได้เลือก
  • ถ้าเรามีเวลาตัดสินใจมาก อาจลองใคร่ครวญทางเลือกทุกทางอย่างเท่าเทียมกัน ความจริงแล้วทางเลือกแต่ละทางอาจมีข้อดีข้อเสียแตกต่างกัน ถ้าเราได้เห็นว่ามีทางเลือกหนึ่งที่ดีกว่าทางเลือกก่อนหน้านี้อย่างเห็นได้ชัด เราก็ค่อยตัดสินใจเลือกทางนั้น
  • พึ่งระลึกไว้ว่าเราอาจมีข้อมูลไม่พอที่จะตัดสินใจในเรื่องๆ หนึ่ง ถ้าไม่สามารถจำกัดขอบเขตทางเลือกของเราได้ ให้หาข้อมูลเพิ่มเติมอีก แต่บางครั้งข้อมูลที่เราต้องการก็ไม่มีให้ค้นหาเหมือนกัน ฉะนั้นให้กลับมาทบทวนข้อมูลที่มีอยู่อีกครั้ง แล้วเดินหน้าตัดสินใจเลย
  • หลังจากที่ได้ตัดสินใจไปแล้ว อาจมีข้อมูลสำคัญอันใหม่ชี้ให้เราเปลี่ยนแปลงแก้ไขการตัดสินใจบางส่วนหรือกลับไปตัดสินใจใหม่ทั้งหมด ถ้าเกิดกรณีแบบนี้ขึ้น ให้กลับไปเริ่มขั้นตอนการตัดสินใจใหม่อีกครั้ง เราต้องมีการยืดหยุ่นเพื่อผลลัพธ์ที่ดี
  • ถ้าเราต้องรีบตัดสินใจในไม่ช้าหรือต้องตัดสินใจเรื่องที่ไม่ค่อยสำคัญนัก ต้องมีกำหนดเวลาในการตัดสินใจด้วย เพราะถ้าใช้เวลาคิดมากเกินไป ก็จะคิดจน “ไม่เป็นอันทำอะไร” ถ้ากำลังตัดสินใจว่าจะเช่าหนังเรื่องหนึ่งมาดูช่วงสุดสัปดาห์นี้ ก็อย่าเสียเวลาหนึ่งชั่วโมงไปกับการเขียนชื่อหนังออกมาเสียจนละเอียดยิบเลย
  • ถ้าคิดมากเกินไป เราอาจคิดอะไรได้ไม่ชัดเจน ฉะนั้นอย่าคิดมาก
  • อย่ารีรอให้ตนเองมีทางเลือกก่อนแล้วค่อยตัดสินใจ นักวิจัยพบว่าการรีรอให้ตนเองมีทางเลือกก่อนจะทำให้ผลการตัดสินใจออกมาแย่ [29]
  • เขียนข้อดีข้อเสียของแต่ละทางด้วย! อาจเขียนทางเลือกทุกอย่างที่มีลงไป ตัดทางเลือกลงจนกระทั่งเหลือสองตัวเลือก จากนั้นค่อยมาถกกันกับผู้อื่นเพื่อหาทางเลือกที่เหมาะสมที่สุด
  • พึงระลึกไว้ว่าพอมาถึงจุดหนึ่งความไม่แน่ใจจะเริ่มทำให้เราตัดสินใจไม่ทำอะไรเลย นี้อาจเป็นการตัดสินใจที่แย่ที่สุดก็ได้
  • ประสบการณ์ทุกอย่างคือการเรียนรู้ การได้ตัดสินใจเรื่องสำคัญจะทำให้เราได้เรียนรู้ที่จะเผชิญกับผลลัพธ์และได้รู้จักความผิดหวัง เราจึงเติบโตขึ้นและปรับตัวได้มากขึ้น
โฆษณา

คำเตือน

  • อย่ากดดันตนเองมากนัก เพราะจะทำให้ทุกอย่างแย่ลงเท่านั้น
  • อยู่ให้ห่างจากคนที่ทำตัวดูเหมือนชอบกำหนดว่าอะไรดีที่สุดสำหรับเรา คิดว่าตนเองรู้ดีกว่าเราและคิดว่าเราไม่รู้อะไร ถึงแม้คำชี้แนะของคนพวกนี้ “อาจ” ถูก แต่ถ้าคนพวกนี้ไม่สนใจความรู้สึกหรือปัญหาของเรา พวกเขาก็ทำไม่ถูกเช่นกัน อีกทั้งอยู่ห่างจากคนที่ดูถูกความเชื่อของเราด้วย
โฆษณา
  1. http://www.cms.gov/Medicare/Provider-Enrollment-and-Certification/QAPI/downloads/FiveWhys.pdf
  2. https://www.psychologytoday.com/blog/dont-delay/201004/are-your-goals-value-congruent
  3. http://www.mindtools.com/pages/article/newTED_85.htm
  4. http://www.kent.ac.uk/careers/sk/decisionmaking.htm
  5. http://gbr.pepperdine.edu/2010/10/great-leaders-are-great-decision-makers/
  6. http://www.kent.ac.uk/careers/sk/decisionmaking.htm
  7. http://lifehacker.com/four-tricks-to-help-you-make-any-difficult-decision-987762341
  8. https://www.ideals.illinois.edu/bitstream/handle/2142/29170/useofdevilsadvoc1036schw.pdf?sequence=1
  9. http://www.ncbi.nlm.nih.gov/pmc/articles/PMC3490329/
  10. http://www.workingmother.com/research-institute/what-moms-choose-working-mother-report
  11. https://www.psychologytoday.com/blog/dont-delay/201004/are-your-goals-value-congruent
  12. http://www.wire.wisc.edu/yourself/selfreflectknowyourself/Yourpersonalvalues.aspx
  13. http://www.cci.health.wa.gov.au/docs/ACFE3E6.pdf
  14. http://www.forbes.com/sites/mikemyatt/2012/03/28/6-tips-for-making-better-decisions/
  15. Timothy D. Wilson et al., “Introspecting about Reasons Can Reduce Post-Choice Satisfaction,”Personality and Social Psychology Bulletin, 19 (1993): 331–339.
  16. http://gbr.pepperdine.edu/2010/10/great-leaders-are-great-decision-makers/
  17. http://www.forbes.com/sites/mikemyatt/2012/03/28/6-tips-for-making-better-decisions/
  18. http://www.forbes.com/sites/mikemyatt/2012/03/28/6-tips-for-making-better-decisions/
  19. http://www.forbes.com/sites/mikemyatt/2012/03/28/6-tips-for-making-better-decisions/
  20. http://www.nytimes.com/2008/02/26/science/26tier.html

เกี่ยวกับวิกิฮาวนี้

มีการเข้าถึงหน้านี้ 15,196 ครั้ง

บทความนี้เป็นประโยชน์กับคุณไหม

โฆษณา