ดาวน์โหลดบทความ
ดาวน์โหลดบทความ
ภาวะเสียงอื้อในหูคือการที่ได้คุณได้ยินเสียงวิ้งๆ หรือเสียงหึ่งๆ ในหู การได้ยินเสียงดัง ขี้หูอุดตัน ปัญหาเกี่ยวกับหัวใจและหลอดเลือด ยาที่แพทย์สั่ง และความผิดปกติของต่อมไทรอยด์ล้วนเป็นสาเหตุของภาวะเสียงอื้อในหูได้ทั้งสิ้น คุณควรไปพบแพทย์เพื่อเข้ารับการวินิจฉัยอย่างถูกต้อง และวางแผนการรักษาร่วมกับแพทย์ ในหลายกรณีภาวะเสียงอื้อในหูไม่สามารถกลับไปเป็นเหมือนเดิมได้ แต่ก็มีวิธีที่ช่วยลดความรุนแรงด้วยกันหลายวิธี เช่น เครื่องกำเนิดเสียง เครื่องช่วยฟัง และยาสามารถช่วยกลบเสียงวิ้งๆ หรือเสียงหึ่งๆ ในหูได้ งานวิจัยในสาขาภาวะเสียงอื้อในหูนั้นยังคงมีการพัฒนาต่อไปเรื่อยๆ และคุณก็สามารถรักษาด้วยการบำบัดเชิงทดลองได้เช่นกัน
ขั้นตอน
-
ใช้เครื่องกำเนิดเสียงกลบเสียงวิ้งๆ หรือเสียงหึ่งๆ ในหู. เครื่องกำเนิดเสียงช่วยกลบเสียงวิ้งๆ หรือเสียงหึ่งๆ ในหูได้ด้วยเสียงสีขาว (เสียงรบกวนที่ไพเราะและน่าฟัง) เสียงที่ช่วยผ่อนคลาย หรือเพลงสบายๆ ตัวอย่างเครื่องกำเนิดเสียงก็เช่น อุปกรณ์เล็กๆ ที่เสียบไว้ในหู หูฟังสวมศีรษะ และเครื่องกำเนิดเสียงสีขาว นอกจากนี้คุณก็สามารถลองใช้อุปกรณ์ในบ้าน เช่น เครื่องปรับอากาศ เครื่องฟอกอากาศ พัดลม หรือโทรทัศน์ที่เปิดเสียงเบาๆ ได้เช่นกัน [1] X แหล่งข้อมูลอ้างอิง
- แม้ว่าการบำบัดด้วยเสียงอาจจะไม่ได้รักษาภาวะเสียงอื้อในหู แต่มันก็ช่วยให้ไม่รู้สึกถึงอาการมากนัก ทำให้คุณมีสมาธิมากขึ้น และช่วยให้คุณนอนหลับได้
- อุปกรณ์บำบัดเสียงตามมาตรฐานทางการแพทย์อาจมีราคาแพงและประกันสุขภาพก็ไม่ได้ครอบคลุมค่าใช้จ่ายในส่วนนี้ ถ้าคุณอยากได้วิธีแก้ปัญหาในราคาที่ยอมเยากว่า ให้หาเสียงธรรมชาติหรือเสียงเพลงสบายๆ ที่ช่วยผ่อนคลายผ่านบริการสตรีมมิงเพลงหรือวิดีโอ
- เสียงที่มีความถี่สม่ำเสมอและโทนเสียงกลางๆ เช่น เสียงสีขาว (ที่เป็นเหมือนเสียง “ซู่” แบบสม่ำเสมอ) นั้นมีประสิทธิภาพมากกว่าเสียงที่มีความเข้มต่างกัน เช่น เสียงคลื่น [2] X แหล่งข้อมูลที่เชื่อใจได้ PubMed Central ไปที่แหล่งข้อมูล
-
จัดการกับการสูญเสียการได้ยินและกลบเสียงอื้อในหูด้วยเครื่องช่วยฟัง. ถ้าคุณสูญเสียการได้ยิน เครื่องช่วยฟังสามารถกลบเสียงวิ้งๆ หรือเสียงหึ่งๆ ในหูได้ด้วยการเพิ่มความดังของเสียงที่อยู่ข้างนอก ให้แพทย์เจ้าของไข้ส่งตัวคุณไปที่นักโสตสัมผัสวิทยาหรือผู้เชี่ยวชาญด้านการได้ยิน พวกเขาสามารถช่วยให้คุณเลือกเครื่องช่วยฟังที่เหมาะกับคุณได้ [3] X แหล่งข้อมูลอ้างอิง
- ถ้าคุณไม่ได้สูญเสียการได้ยิน คุณก็สามารถใช้เครื่องช่วยฟังหรืออุปกรณ์ช่วยฟังชนิดฝังที่กระตุ้นประสาทการได้ยินหรือกลบเสียงวิ้งๆ และเสียงหึ่งๆ ด้วยเสียงสีขาว
- ในประเทศไทย หากแพทย์วินิจฉัยแล้วว่าประสาทหูเสื่อมและมีความจำเป็นต้องใช้เครื่องช่วยฟัง คุณสามารถเบิกเครื่องช่วยฟังได้โดยไม่มีค่าใช้จ่าย ไม่ว่าคุณจะใช้สิทธิประกันสุขภาพของภาครัฐแบบใดก็ตาม
-
ปรึกษาแพทย์เรื่องยาต้านอาการซึมเศร้าและยาคลายวิตกกังวล. ยาที่ออกฤทธิ์ต่อจิตประสาทสามารถลดความรุนแรงของอาการ ช่วยบรรเทาอาการนอนไม่หลับที่เกิดจากภาวะเสียงอื้อในหู และทำให้คุณรับมือกับภาวะเสียงอื้อในหูได้ง่ายขึ้น ยาเหล่านี้เหมาะกับภาวะเสียงอื้อในหูอย่างรุนแรงที่กระตุ้นให้เกิดความเครียด ความวิตกกังวล และอาการซึมเศร้ามากที่สุด [4] X แหล่งข้อมูลอ้างอิง
- ความเครียด ความวิตกกังวล และอาการซึมเศร้าอาจทำให้ภาวะเสียงอื้อในหูแย่ลงได้ อารมณ์เหล่านี้และภาวะเสียงอื้อในหูอาจสร้างความสัมพันธ์ที่เป็นวงจร หรืออาจจะไปกระตุ้นและทำให้อาการของแต่ละฝั่งแย่ลง ถ้าคุณได้รับผลกระทบที่เป็นวงจรเช่นนี้ แพทย์ก็อาจจะแนะนำยาต้านอาการซึมเศร้าหรือยาคลายวิตกกังวลให้คุณ
- ยาต้านอาการซึมเศร้าและยาคลายวิตกกังวลอาจทำให้เกิดผลข้างเคียงที่ไม่พึงประสงค์ เช่น ตาพร่า ปากแห้ง คลื่นไส้ ท้องผูก หงุดหงิดง่าย และความต้องการทางเพศลดลง บอกให้แพทย์ทราบเกี่ยวกับผลข้างเคียง อาการใหม่ๆ หรืออาการแปลกๆ ที่เกิดขึ้น เช่น อาการซึมเศร้า ความคิดเรื่องฆ่าตัวตาย หรือพฤติกรรมก้าวร้าว
-
หานักบำบัดที่มีความรู้ด้านการจัดการกับภาวะเสียงอื้อในหู. นักบำบัดสามารถช่วยให้คุณรับมือกับภาวะเสียงอื้อในหูและจัดการกับผลกระทบที่มีต่อคุณภาพชีวิตของคุณได้ โดยทั่วไปการบำบัดมักจะทำควบคู่กับการรักษาภาวะเสียงอื้อในหูในรูปแบบอื่น เช่น การใช้ยารักษาหรือการบำบัดด้วยเสียง [5] X แหล่งข้อมูลอ้างอิง
- ลองค้นหานักบำบัดที่มีประสบการณ์และผู้เชี่ยวชาญด้านสาธารณสุขอื่นๆ ในอินเทอร์เน็ต
-
สอบถามแพทย์เรื่องการบำบัดเชิงทดลอง. ขณะนี้ยังไม่พบวิธีการรักษาภาวะเสียงอื้อในหู แต่ก็ยังมีการทำวิจัยอยู่เรื่อยๆ เพราะฉะนั้นคุณก็ควรเปิดรับการบำบัดเชิงทดลอง การกระตุ้นสมองและเส้นประสาทด้วยอิเล็กทรอนิกส์และแม่เหล็กอาจช่วยแก้ไขการส่งสัญญาณเส้นประสาทที่ไวเกินไปจนทำให้เป็นภาวะเสียงอื้อในหู เทคนิคเหล่านี้ยังอยู่ในขั้นตอนของการพัฒนา เพราะฉะนั้นให้สอบถามแพทย์หรือผู้เชี่ยวชาญด้านการได้ยินว่า มีการทดลองแบบไหนที่เหมาะกับคุณหรือไม่ [6] X แหล่งข้อมูลอ้างอิง
- อาจจะมียาตัวใหม่ออกมาในอนาคตอันใกล้ เพราะฉะนั้นให้ขอให้แพทย์หรือผู้เชี่ยวชาญด้านการได้ยินคอยแจ้งข่าวสารเกี่ยวกับการบำบัดรูปแบบใหม่ที่เกิดขึ้นให้คุณ [7] X แหล่งข้อมูลอ้างอิง
โฆษณา
-
จำกัดการได้ยินเสียงดังๆ. การได้ยินเสียงดังๆ อาจไปกระตุ้นและทำให้อาการแย่ลงได้ ใส่ที่อุดหูหรือที่ปิดหูกันหนาวถ้าคุณทำงานในสภาพแวดล้อมที่เสียงดัง เวลาที่คุณใช้เครื่องมือกล ขณะตัดหญ้า เวลาดูดฝุ่น หรือเมื่อคุณทำกิจกรรมใดก็ตามที่ส่งเสียงดัง [8] X แหล่งข้อมูลอ้างอิง
-
ออกกำลังกายอย่างน้อยวันละ 30 นาที. ยิ่งถ้าเป็นการออกกำลังกายแบบคาร์ดิโอเป็นประจำจะยิ่งช่วยได้มาก คุณควรออกไปเดิน วิ่ง ปั่นจักรยาน และว่ายน้ำ เพราะนอกจากจะมีประโยชน์ต่อสุขภาพโดยรวมแล้ว การออกกำลังกายยังช่วยเสริมการไหลเวียนของเลือด ซึ่งอาจจะช่วยบรรเทาภาวะเสียงอื้อในหูที่เกี่ยวข้องกับปัญหาหัวใจหรือการไหลเวียนของเลือดด้วย [9] X แหล่งข้อมูลอ้างอิง
- นอกจากนี้วิถีชีวิตที่กระฉับกระเฉงยังดีต่อสุขภาพจิตด้วย
- ถ้าคุณไม่ได้ออกกำลังกายเป็นประจำ ให้ปรึกษาแพทย์ก่อนเริ่มกิจวัตรการออกกำลังกายใหม่ โดยเฉพาะอย่างยิ่งถ้าคุณมีประวัติเรื่องปัญหาสุขภาพ
-
ฝึกสมาธิและเทคนิคการผ่อนคลาย. ความเครียดจะยิ่งทำให้อาการของภาวะเสียงอื้อในหูแย่ลง เพราะฉะนั้นให้หายใจลึกๆ และผ่อนคลายถ้าคุณเริ่มรู้สึกกระวนกระวาย วิตกกังวล หรือรับไม่ไหว หายใจเข้าช้าๆ นับถึง 4 ค้างลมหายใจไว้นับถึง 4 แล้วหายใจออกนับถึง 4 ควบคุมการหายใจต่อไปสัก 1-2 นาที หรือจนกว่าคุณจะรู้สึกสบายใจ [10] X แหล่งข้อมูลอ้างอิง
- จินตนาการภาพทิวทัศน์ที่สงบขณะที่คุณหายใจ เช่น นึกถึงชายหาดหรือความทรงจำในวัยเด็กที่ทำให้คุณรู้สึกอุ่นใจ
- พยายามหลีกเลี่ยงสถานการณ์และผู้คนที่ทำให้เกิดความเครียดให้ได้มากที่สุด ถ้าคุณมีเรื่องต่างๆ ที่ต้องรับผิดชอบมากมายอยู่แล้ว อย่าเพิ่งรับหน้าที่มาใหม่หรือแบกรับสิ่งต่างๆ มากจนเกินไป
- การเข้าคลาสโยคะหรือศิลปะการต่อสู้ก็ช่วยให้เรามีสติและผ่อนคลายมากยิ่งขึ้น นอกจากนี้การเข้าคลาสยังมีเรื่องของการเข้าสังคมมาเกี่ยวข้องด้วย ซึ่งจะช่วยให้คุณมีทัศนคติโดยรวมที่ดีขึ้น
-
หลีกเลี่ยงคาเฟอีน แอลกอฮอล์ และ นิโคติน . ลองลดปริมาณเครื่องดื่มแอลกอฮอล์และจำกัดการบริโภคชาและกาแฟที่มีคาเฟอีน น้ำอัดลม และช็อกโกแลต เพราะสารเหล่านี้อาจส่งผลต่อการไหลเวียนเลือดและทำให้อาการของภาวะเสียงอื้อในหูแย่ลง โดยเฉพาะอย่างยิ่งนิโคตินที่อันตรายมากเป็นพิเศษ เพราะฉะนั้นถ้าจำเป็นให้ขอคำแนะนำจากแพทย์เรื่องการเลิกผลิตภัณฑ์ยาสูบ [11] X แหล่งข้อมูลอ้างอิง
- นอกจากนี้การลดคาเฟอีนยังมีประโยชน์กับคุณด้วย หากคุณนอนไม่หลับเพราะภาวะเสียงอื้อในหู
โฆษณา
-
ไปพบแพทย์เพื่อให้ได้รับการวินิจฉัยที่ถูกต้อง. อาการของภาวะเสียงอื้อในหูก็คือการได้ยินเสียงวิ้งๆ หรือเสียงหึ่งๆ ในหู แต่จริงๆ แล้วมันก็คืออาการ แต่ไม่ใช่โรคโดยตัวมันเอง เพราะฉะนั้นให้นัดตรวจสุขภาพเพื่อหาสาเหตุที่ซ่อนอยู่ แพทย์สามารถตรวจร่างกายและการได้ยินให้คุณได้ [12] X แหล่งข้อมูลอ้างอิง
- สิ่งที่อาจเป็นสาเหตุของภาวะเสียงอื้อในหูได้แก่ การได้ยินเสียงดัง ขี้หูอุดตัน ปัญหาเกี่ยวกับหัวใจและหลอดเลือด ยาที่แพทย์สั่ง และความผิดปกติของต่อมไทรอยด์
-
ให้แพทย์ส่งตัวไปหาแพทย์เฉพาะทางหากจำเป็น. แม้ว่าคุณอาจจะไปหาแพทย์อายุรกรรมหรือผู้ให้บริการสาธารณสุขขั้นต้นเพื่อรักษาภาวะเสียงอื้อในหู แต่พวกเขาก็อาจจะส่งตัวคุณไปหานักโสตสัมผัสวิทยา ซึ่งเป็นผู้เชี่ยวชาญด้านการได้ยิน หรือแพทย์หูคอจมูก (ENT) ผู้เชี่ยวชาญเหล่านี้จะสามารถวางแผนการจัดการกับภาวะเสียงอื้อในหูในระยะยาวได้
-
แจ้งให้แพทย์ทราบหากคุณต้องสัมผัสกับเสียงดังบ่อยๆ. การสูญเสียการได้ยินที่เกิดจากเสียงดังนั้นเป็นสาเหตุของภาวะเสียงอื้อในหูที่พบได้ทั่วไป คุณจะยิ่งมีความเสี่ยงต่อภาวะเสียงอื้อในหูมากขึ้นหากคุณทำงานในโรงงาน ทำงานในเขตก่อสร้างหรือใช้เครื่องมือกล ไปคอนเสิร์ตเป็นประจำ เป็นนักดนตรี หรือได้ยินเสียงระเบิด [13] X แหล่งข้อมูลอ้างอิง
- การบอกให้แพทย์ทราบเรื่องที่คุณสัมผัสกับเสียงดังมาก่อนจะช่วยให้แพทย์ตัดประเด็นเรื่องปัญสุขภาพอื่นๆ ออกไปได้
-
ปรึกษาแพทย์เรื่องยาที่คุณรับประทาน. มีตัวยากว่า 200 รายการที่เป็นสาเหตุหรือทำให้ภาวะเสียงอื้อในหูแย่ลง เช่น ยาปฏิชีวนะ ยารักษาโรคมะเร็ง ยารักษามาลาเรีย และยาขับปัสสาวะ ถ้าคุณรับประทานยาตัวใดตัวหนึ่งอยู่ ให้สอบถามแพทย์ว่าสามารถลดปริมาณหรือหาตัวยาอื่นที่มีผลข้างเคียงน้อยกว่านี้ได้ไหม [14] X แหล่งข้อมูลที่เชื่อใจได้ American Academy of Family Physicians ไปที่แหล่งข้อมูล
-
ให้แพทย์ชะล้างหูหากคุณมีขี้หูสะสมอยู่มาก. ขี้หูที่สะสมอยู่จะไปอุดตันช่องหูและทำให้เกิดการสูญเสียการได้ยิน ความหงุดหงิด และภาวะเสียงอื้อในหู ถ้าจำเป็น ให้แพทย์ชะล้างช่องหูโดยใช้ยาหยอดหรืออุปกรณ์ดูดชนิดพิเศษ [15] X แหล่งข้อมูลอ้างอิง
- อย่าพยายามชะล้างหูเองโดยไม่ปรึกษาแพทย์ก่อน คุณอาจจะรักษาด้วยตัวเองได้ เช่น หยดเบบี้ออยล์หรือไฮโดรเจนเพอร์ออกไซด์ด้วยที่หยดยา แต่คุณควรรักษาด้วยวิธีการเหล่านี้ก็ต่อเมื่อแพทย์อนุญาตเท่านั้น
- อย่าใช้สำลีพันก้านทำความสะอาดหู เพราะอาจทำให้หูระคายเคืองและยิ่งเป็นการดันขี้หูให้เข้าไปอยู่ในช่องหู
-
รักษาโรคความดันโลหิตสูงหรือปัญหาหลอดเลือดหากจำเป็น. แพทย์จะจ่ายยารักษาภาวะเสียงอื้อในหูที่เกี่ยวข้องกับความดันโลหิตสูงหรือปัญหาการไหลเวียนอื่นๆ ให้คุณ รับประทานยาตามแพทย์สั่ง และสอบถามแพทย์ว่า คุณจำเป็นต้องปรับเปลี่ยนเรื่องอาหารการกินหรือการดำเนินชีวิตหรือไม่ [16] X แหล่งข้อมูลที่เชื่อใจได้ MedlinePlus ไปที่แหล่งข้อมูล
- เช่น คุณอาจจะต้องจำกัดการบริโภคเกลือ ใช้สมุนไพรแห้งหรือสดแทนเกลือเวลาทำอาหาร หลีกเลี่ยงขนมรสเค็ม และอย่าเติมเกลือในอาหาร นอกจากนี้แพทย์ก็อาจจะแนะนำให้คุณลดการบริโภคไขมันและออกกำลังกายให้มากขึ้นด้วย
-
รับประทานยาที่รักษา ความผิดปกติของไทรอยด์ ถ้าจำเป็น. ภาวะเสียงอื้อในหูเกี่ยวข้องกับทั้งภาวะต่อมไทรอยด์ทำงานเกิน หรือภาวะความผิดปกติของฮอร์โมนที่มีมากเกินไป และภาวะพร่องไทรอยด์ฮอร์โมน หรือภาวะต่อมไทรอยด์ทำงานต่ำ แพทย์จะตรวจดูอาการบวมหรือก้อนนูนที่ต่อมไทรอยด์ ซึ่งจะอยู่ในลำคอ และสั่งตรวจเลือดเพื่อตรวจการทำงานของต่อมไทรอย์ ถ้าแพทย์พบปัญหา แพทย์ก็จะจ่ายยาที่ไปควบคุมระดับฮอร์โมนไทรอยด์ให้ [17] X แหล่งข้อมูลที่เชื่อใจได้ PubMed Central ไปที่แหล่งข้อมูล
- ยารักษาโรคไทรอย์มักจะต้องรับประทานเวลาเดียวกันทุกวันและรับประทานตอนท้องว่าง ถ้าคุณต้องรับประทานยารักษาโรคไทรอยด์ คุณต้องปฏิบัติตามคำสั่งของแพทย์อย่างเคร่งครัด
โฆษณา
ข้อมูลอ้างอิง
- ↑ https://www.nidcd.nih.gov/health/tinnitus
- ↑ https://www.ncbi.nlm.nih.gov/pmc/articles/PMC2686891/
- ↑ https://www.ata.org/managing-your-tinnitus/treatment-options/hearing-aids
- ↑ https://www.ata.org/managing-your-tinnitus/treatment-options/drug-therapies
- ↑ https://www.nidcd.nih.gov/health/tinnitus
- ↑ https://www.ata.org/managing-your-tinnitus/treatment-options/experimental-therapies
- ↑ https://www.ata.org/managing-your-tinnitus/treatment-options/drug-therapies
- ↑ https://www.nidcd.nih.gov/health/tinnitus
- ↑ https://www.betterhealth.vic.gov.au/health/conditionsandtreatments/tinnitus
- ↑ https://www.ata.org/managing-your-tinnitus/treatment-options/general-wellness
- ↑ https://www.betterhealth.vic.gov.au/health/conditionsandtreatments/tinnitus
- ↑ https://www.asha.org/public/hearing/tinnitus/
- ↑ https://www.nidcd.nih.gov/health/tinnitus
- ↑ https://www.aafp.org/afp/2004/0101/p120.html
- ↑ https://www.tinnitus.org.uk/ear-wax
- ↑ https://medlineplus.gov/tinnitus.html
- ↑ https://www.ncbi.nlm.nih.gov/pmc/articles/PMC4948427/
โฆษณา