ดาวน์โหลดบทความ ดาวน์โหลดบทความ

โรคอีสุกอีใสเป็นการติดเชื้อพบได้ทั่วไป ซึ่งเป็นโรคที่ไม่รุนแรงสำหรับเด็กและผู้ใหญ่ที่มีสุขภาพแข็งแรง (ในปัจจุบันอาจพบโรคนี้ได้น้อยลงเพราะมีวัคซีนป้องกันแล้ว) โรคอีสุกอีใสอาจสร้างปัญหาได้ในคนที่มีโรคบางอย่างหรือมีภูมิคุ้มกันบกพร่องเพราะผู้ป่วยเป็นโรคนี้จะมีแผลเล็กๆ ตามผิวหนังซึ่งอาจก่อให้เกิดอาการคัน เจ็บแสบ พุพองและตกสะเก็ด อาจมีไข้และปวดหัวร่วมด้วย ขั้นตอนที่เรามีนี้จะช่วยให้คุณดูแลโรคอีสุกอีใสได้อย่างถูกต้องและบรรเทาอาการเจ็บปวดเหล่านี้ได้

วิธีการ 1
วิธีการ 1 ของ 3:

การดูแลเด็กและผู้ใหญ่ที่มีสุขภาพดีอยู่แล้ว

ดาวน์โหลดบทความ
  1. เมื่อคุณหรือลูกหลานป่วยเป็นโรคอีสุกอีใส มักมีไข้ร่วมด้วย การสู้กับไข้และอาการปวดหัวต่างๆ เราสามารถใช้ยาแก้ปวดลดไข้ที่เรามีตามบ้าน เช่น พาราเซตามอล อะเซตามิโนเฟน ต้องอ่านฉลากข้างขวดก่อนใช้ยาเสมอ ถ้าไม่แน่ใจว่ายาที่มีนั้นปลอดภัยหรือไม่ ห้ามให้ผู้ป่วยหรือกินเองก่อนปรึกษาเภสัชกรหรือแพทย์เด็ดขาด
    • ห้าม กินยาแอสไพรินหรือยาที่มีแอสไพรินเป็นส่วนประกอบเพื่อใช้ลดไข้หรืออาการอื่นๆ ของโรคอีสุกอีใส เพราะการกินแอสไพรินขณะที่เป็นโรคนี้ อาจทำให้เป็นโรคเรย์ซินโดรม ซึ่งส่งผลกระทบต่อตับและสมองจนอาจถึงขั้นเสียชีวิตได้ [1]
    • ปรึกษาหมอว่าใช้ยาไอบูโพรเฟนได้หรือไม่ เพราะการใช้ยานี้กับผู้ป่วยบางคนอาจส่งผลที่เป็นอันตรายต่อผิวหนังและเกิดการติดเชื้อเพิ่มอีก [2] [3]
  2. อาการหลักของโรคอีสุกอีใสคืออาการคันอย่างมากตามตุ่มอีสุกอีใส ในหลายครั้งอาการคันนั้นคันจนแทบจะทนไม่ไหวและสร้างความทรมานให้กับผู้ป่วย เมื่ออาการเหล่านี้เกิดขึ้น สามารถกินยาแก้แพ้ที่มีขายตามร้านขายยาได้ เช่น เบนาดริล ไซร์เทก แคลริติน เพื่อช่วยลดอาการคันตามผิวหนัง ควรปรึกษาแพทย์สำหรับปริมาณยาที่ควรกินในเด็ก ยาแก้แพ้เหล่านี้ช่วยให้คุณหลับง่ายขึ้นในเวลากลางคืนได้ด้วย
    • ถ้าคุณหรือลูกของคุณทรมานมากๆ กับแผลตามตัว ให้พบแพทย์เพื่อให้จ่ายยาแก้แพ้ที่แรงกว่ายาตามร้านขายยาทั่วไป [4] [5]
  3. การดื่มน้ำให้เพียงพอสำคัญมากสำหรับคนที่เป็นอีสุกอีใส เพราะผู้ป่วยเป็นโรคนี้มักมีอาการขาดน้ำ ควรดื่มน้ำปริมาณมากทุกวัน รวมถึงอาจจะดื่มเกลือแร่ด้วยก็ได้
  4. อาการเจ็บในช่องปากอาจเกิดขึ้นในผู้ป่วยอีสุกอีใส ซึ่งแผลในปากอาจสร้างความรำคาญและความเจ็บปวดให้กับคุณได้ หากคุณกินอาหารแข็งๆ ลองกินอาหารอ่อนๆ เคี้ยวง่ายๆ เช่น ซุปอุ่นๆ ข้าวโอ๊ต พุดดิ้งหรือไอศกรีม ถ้าเจ็บแผลในช่องปากมาก ให้หลีกเลี่ยงอาหารเค็ม เผ็ด เปรี้ยวและร้อนจัด
  5. ถ้าคุณหรือลูกป่วยเป็นอีสุกอีใส ให้อยู่บ้านมากเท่าที่จะมากได้ อย่าไปทำงานหรือไปโรงเรียนเพราะคุณคงไม่อยากแพร่เชื้อไวรัสอีสุกอีใสให้ใครใช่มั้ย เชื้ออีสุกอีใสแพร่ได้ง่ายมากผ่านทางอากาศหรือผ่านการสัมผัสตุ่มอีสุกอีใส นอกจากนี้คุณคงไม่อยากให้อาการของโรคที่เป็นอยู่มันแย่กว่าเดิมเพราะต้องเจอเชื้อโรคและผู้คนมากมายหรอก
    • ทันทีที่แผลเริ่มตกสะเก็ดและแห้งดีแล้ว เชื้อไวรัสอีสุกอีใสจะไม่สามารถแพร่เชื้อได้อีก แผลนี้มักจะใช้เวลาประมาณ 5-7 วันถึงจะแห้ง [8] [9]
วิธีการ 2
วิธีการ 2 ของ 3:

การดูแลตุ่มอีสุกอีใส

ดาวน์โหลดบทความ
  1. สิ่งสำคัญที่สุดสำหรับอีสุกอีใสคือห้ามเกาตุ่มอีสุกอีใสเด็ดขาด การเกาจะทำให้อาการแย่ลง มักทำให้ระคายเคืองมากกว่าเดิมและอาจติดเชื้อได้ ถ้าเกามากเกินไป แผลจะกลายเป็นแผลเป็นเมื่อโรคอีสุกอีใสหาย
  2. แม้ว่าต้องห้ามเกาแผล แต่ในความเป็นจริงมักหลีกเลี่ยงได้ยาก ในเมื่อคุณหรือลูกที่ป่วยเป็นอีสุกอีใสมีแนวโน้มว่าต้องเกา ก็แนะนำให้ตัดเล็บให้สั้นและฝนให้เรียบ ถ้าหากเล็บยาวและไปเกาแผลจะทำให้แผลเปิด หายยาก เกาแล้วเจ็บและติดเชื้อได้ [11]
  3. ถ้าตัดเล็บสั้นแล้วก็ยังเกาบ่อยๆ อยู่ ให้ลองใส่ถุงมือดู อาจจะช่วยไม่ให้เกิดแผลได้ เพราะการเกาตุ่มอีสุกอีใสโดยใส่ถุงมือจะช่วยให้เกิดการระคายเคืองน้อยกว่าเพราะนิ้วได้รับการคลุมไว้แล้ว
  4. ผิวของผู้ป่วยอีสุกอีใสอาจมีเหงื่อและระคายเคืองมาก เพื่อหลีกเลี่ยงอาการระคายเคือง อย่าใส่เสื้อผ้าที่รัดแน่น ให้ใส่เสื้อผ้าหลวมๆ ทำจากผ้าฝ้ายเป็นหลักเพราะผ้าฝ้ายจะระบายอากาศได้ดี ไม่ทำให้ผิวระคายเคืองและใส่สบาย
    • อย่าใส่ผ้าแข็งๆ เช่น ผ้ายีนส์ ผ้าขนสัตว์ [13]
  5. ผิวอาจจะระคายเคืองและร้อนได้ง่าย ซึ่งอาจเกิดจากตุ่มแผลและอาการมีไข้ ให้หลีกเลี่ยงสถานที่ที่ร้อนชื้นเพราะจะทำให้ผู้ป่วยรู้สึกร้อนกว่าเดิมและคันผิวหนังได้ ผู้ป่วยจึงไม่ควรออกจากบ้านไปเจออากาศร้อนชื้น และอยู่ภายในบ้านที่มีอุณหภูมิเย็นสบาย
    • หลีกเลี่ยงกิจกรรมที่ทำให้อุณหภูมิร่ายกายเพิ่มสูงขึ้นและทำให้เหงื่อออก [14]
  6. โลชั่นคาลาไมน์เป็นทางเลือกที่ดีเพื่อช่วยรักษาอาการคันและตุ่มแผล ทาบ่อยเท่าที่ต้องการหากคันและเจ็บแผลจนทนไม่ไหว โลชั่นนี้จะช่วยบรรเทาอาการคันและทำให้สบายผิวมากขึ้น [15]
    • คุณอาจจะใช้เจลเย็นชนิดอื่นก็ได้ อาจจะใช้ครีมหรือน้ำมันที่มีส่วนผสมของไฮโดรคอร์ติโซนทาลงบนตุ่มที่แดงคันหรืออักเสบติดต่อกันหลายวันก็ได้
    • ห้ามใช้โลชั่นที่มีส่วนผสมของเบนาดริล การทาโลชั่นที่มีเบนาดริลบ่อยๆ อาจเป็นพิษต่อร่างกายเพราะผิวหนังจะดูดซึมตัวยาเข้าสู่กระแสเลือดได้ [16] [17]
  7. การอาบน้ำเย็นหรือน้ำอุ่นกลางๆ จะช่วยบรรเทาอาการคันตามผิวหนังได้ อย่าใช้สบู่ที่อาจทำให้แผลระคายเคือง ถ้าผู้ป่วยมีไข้สูง ต้องแน่ใจว่าน้ำจะไม่ทำให้ไข้ทรุดหรือทำให้หนาวสั่น
    • ใส่ข้าวโอ๊ตดิบ ผงฟู หรือฟองอาบน้ำข้าวโอ๊ตลงไปในอ่างอาบน้ำ เพื่อบรรเทาแผลและลดการระคายเคืองผิว [18]
    • เมื่ออาบน้ำเสร็จ ให้หาโลชั่นหรือมอยซ์เจอไรเซอร์บำรุงผิวก่อนทาโลชั่นคาลาไมน์ [19]
    • ใช้ผ้าประคบเย็นแปะตรงบริเวณที่คันในระหว่างการอาบน้ำก็ได้
วิธีการ 3
วิธีการ 3 ของ 3:

การช่วยผู้ป่วยที่มีอาการรุนแรง

ดาวน์โหลดบทความ
  1. หากผู้ป่วยอายุมากกว่า 12 ปี หรือต่ำกว่า 6 เดือน ต้องไปพบแพทย์. โรคอีสุกอีใสจะลุกลามหากไม่ได้รับการรักษาที่ถูกต้องในผู้ป่วยอายุต่ำกว่า 12 ปี ถ้าผู้ป่วยอายุเกิน 12 ปี ก็ต้องไปพบแพทย์ทันทีเมื่อมีตุ่มหนองขึ้นตามตัว เพราะอาจะมีอาการแทรกซ้อนรุนแรงตามมาได้
    • แพทย์อาจจะจ่ายยาอะไซโคลเวียร์ให้คุณ ซึ่งเป็นยาต้านไวรัส ให้ไปพบแพทย์ใน 24 ชั่วโมงแรกที่ตุ่มอีสุกอีใสแรกขึ้นมาเพราะยาตัวนี้จะได้ผลที่ดีสุดใน 24 ชั่วโมง ยา1 เม็ดปริมาณ 800 มิลลิกรัมต้องกินวันละ 4 เม็ด เป็นเวลา 5 วัน แต่ปริมาณยาที่กินในแต่ละวันอาจต่างกันไปตามอายุและขนาดตัวของผู้ป่วย [20]
    • ยาต้านไวรัสอาจมีประโยชน์มากโดยเฉพาะกับผู้ป่วยเด็กที่เป็นโรคหืดและโรคผิวหนัง
  2. ในบางสถานการณ์คุณอาจจะต้องพบแพทย์ ไม่ว่าคุณจะอายุเท่าไหร่ก็ตาม หากมีไข้เกิน 38 องศาเซลเซียส มีผื่นแดงรุนแรง มีหนองไหลหรือผื่นใกล้ดวงตาหรือในตา มีอาการงุนงง ตื่นยาก เดินไม่สะดวก คอแข็งตึง ไออย่างหนัก อาเจียนบ่อย หายใจลำบาก ให้รีบพบแพทย์ทันที
  3. ถ้าคุณตั้งครรภ์และเป็นโรคอีสุกอีใส คุณมีโอกาสติดเชื้อทุติยภูมิและอาจส่งเชื้อไวรัสไปสู่ลูกในท้องได้ แพทย์อาจให้ยาอะไซโคลเวียร์ให้ แต่ต้องได้รับการบำบัดรักษาอิมมูโนโกลบินด้วย การรักษานี้เป็นการนำแอนติบอดี้จากผู้ที่มีสุขภาพแข็งแรงมาฉีดให้กับคนที่เสี่ยงจะได้รับเชื้ออีสุกอีใสชนิดที่รุนแรง
  4. หลายคนที่เป็นโรคอีสุกอีใสอาจจะต้องการการดูแลพิเศษจากแพทย์ ถ้าคุณเป็นโรคที่เกี่ยวข้องกับภูมิคุ้มกัน ภูมิคุ้มกันบกพร่อง มีเชื้อเอชไอวี กำลังรักษาโรคมะเร็ง ใช้สเตียรอยด์หรือใช้ยากดภูมิคุ้มกันอื่นๆ คุณต้องรีบพบแพทย์โดยด่วน แพทย์อาจฉีดยาอะไซโคลเวียร์ให้คุณ แต่ภาวะภูมิคุ้มกันบกพร่องอาจทำให้ร่างกายต่อต้านยาอะไซโคลเวียร์
    • ถ้าคุณต่อต้านยานั้น แพทย์จะให้ยาฟอสคาร์เน็ตแทน ซึ่งปริมาณการกินและระยะเวลาที่ให้ยาก็จะขึ้นกับอาการแต่ละคน [23]

เคล็ดลับ

  • โรคอีสุกอีใสป้องกันได้ด้วยการฉีดวัคซีน ปรึกษาแพทย์หากคุณยังได้รับวัคซีนไม่ครบ การป้องกันโรคอีสุกอีใสย่อมดีกว่าการรักษาในภายหลังนะ
  • พบแพทย์หากไม่แน่ใจว่าคุณหรือลูกเป็นอีสุกอีใสหรือเปล่า
  • แจ้งแพทย์หากคุณคิดว่าตนเองหรือลูกเป็นโรคอีสุกอีใส เพราะโรคนี้เป็นเชื้อไวรัสติดต่อได้


เกี่ยวกับวิกิฮาวนี้

มีการเข้าถึงหน้านี้ 22,122 ครั้ง

บทความนี้เป็นประโยชน์กับคุณไหม