ดาวน์โหลดบทความ ดาวน์โหลดบทความ

แรงกระตุ้นทางอารมณ์นั้นเกิดจากประสบการณ์ที่ไม่ดีในอดีต เมื่อเกิดขึ้นในสถานการณ์ที่เหมือนกับประสบการณ์ที่ไม่ดี อารมณ์ที่รุนแรงก็จะได้รับการกระตุ้น และปฏิกิริยาที่เกิดขึ้นโดยไม่ทันตั้งตัวอาจทำให้เกิดการระเบิดทางอารมณ์ที่ทำให้เราเสียใจภายหลัง ถ้าปล่อยไว้มันอาจจะหลอกหลอนและควบคุมเราต่อไป ข่าวดีก็คือมีวิธีที่เราจะรับมือกับแรงกระตุ้นทางอารมณ์เหล่านี้และลดปฏิกิริยาที่ไม่ดีของเราได้

วิธีการ 1
วิธีการ 1 ของ 5:

ระบุแรงกระตุ้นทางอารมณ์

ดาวน์โหลดบทความ
  1. บางครั้งอารมณ์ที่รุนแรงก็เกิดขึ้นโดยที่เราไม่รู้ว่าอะไรกระตุ้นมันขึ้นมา แต่การสังเกตปฏิกิริยาของตัวเองอย่างใกล้ชิดสักระยะจะทำให้คุณสามารถเรียนรู้ได้ว่าอะไรคือสิ่งที่มากระตุ้นอารมณ์ ซึ่งจะทำให้คุณจัดการกับมันได้ดีขึ้น
  2. เขียนว่าคุณรู้สึกอย่างไร ปฏิกิริยาของคุณเป็นอย่างไร คุณอยู่ที่ไหนเมื่ออารมณ์ได้รับการกระตุ้นขึ้นมา คุณอยู่กับใคร และตอนนั้นคุณกำลังทำอะไรอยู่ การเขียนบันทึกเป็นเครื่องมือที่ยอดเยี่ยมที่ช่วยให้คุณได้ติดตามแรงกระตุ้นของตัวเอง ทบทวนรายการและระบุอารมณ์ที่มากระตุ้นปฏิกิริยาที่รุนแรงและเข้มข้น หรือที่รู้จักกันในชื่อว่าปฏิกิริยา "สู้หรือหนี" จากความรู้สึกเหมือนถูกคุกคามจากสิ่งใดสิ่งหนึ่ง [1]
  3. ตระหนักว่าอารมณ์นั้นเกิดขึ้นเพื่ออะไรและมันทำงานอย่างไร. อารมณ์ช่วยให้เราสื่อสารกับคนอื่น อารมณ์เตรียมใจเราให้พร้อมและกระตุ้นให้เราทำอะไรบางอย่าง และอาจทำให้เราเข้าข้างตัวเอง บางครั้งอารมณ์ก็เกิดขึ้นจากเหตุการณ์ภายนอก แต่ก็เกิดขึ้นจากเหตุการณ์ภายในได้เช่นกัน เช่น ความคิดหรือแม้แต่อารมณ์อื่นๆ [2] อารมณ์หลัก 6 อารมณ์มีดังต่อไปนี้ :
    • ความรัก [3]
    • ความสุข [4]
    • ความโกรธ [5]
    • ความเศร้า [6]
    • ความกลัว [7]
    • ความละอาย [8]
  4. ร่างกายของคุณจะตอบสนองต่ออารมณ์ เช่น หัวใจของคุณเต้นเร็วเวลาที่คุณรู้สึกกลัว เมื่อคุณโกรธ ร่างกายของคุณจะตึงหรือรู้สึกร้อน การรับรู้ถึงสัญญาณในร่างกายของคุณจะทำให้คุณสามารถระบุอารมณ์ที่คุณกำลังรู้สึกได้ ทำให้คุณสามารถรับรู้และควบคุมอารมณ์ได้ก่อนที่มันจะควบคุมคุณ [9]
    โฆษณา
วิธีการ 2
วิธีการ 2 ของ 5:

หลีกเลี่ยงหรือเปลี่ยนแรงกระตุ้น

ดาวน์โหลดบทความ
  1. นิสัยเก่าๆ นั้นยากที่จะเปลี่ยน และแรงกระตุ้นทางอารมณ์ก็เป็นหนึ่งในนั้น เพื่อหลีกเลี่ยงและเปลี่ยนแรงกระตุ้น คุณจะต้องแทนที่นิสัยและกิจกรรมเก่าๆ ด้วยนิสัยและกิจกรรมใหม่ๆ [10] นอกจากนี้คุณยังต้องหลีกเลี่ยงสถานการณ์ที่ทำให้เกิดแรงกระตุ้นด้วย [11]
    • เช่น ถ้าคุณรู้จักใครที่มีพฤติกรรมก้าวร้าวเวลาที่เขาเมา และมักจะกระตุ้นอารมณ์ของคุณมากมายมหาศาล ให้อยู่ห่างจากคนๆ นั้นเวลาที่เขาดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์
    • ถ้าการไม่มีเงินพอที่จะจ่ายบิลทำให้คุณเกิดแรงกระตุ้น ให้ลองดูว่ามีค่าใช้จ่ายส่วนไหนที่คุณสามารถตัดออกไปได้บ้าง
    • หลีกเลี่ยงเครื่องดื่มแอลกอฮอล์และยาเสพติด เพราะถ้าคุณเจอแรงกระตุ้นขณะที่อยู่ใต้อิทธิพลของสารเหล่านี้ คุณจะไม่มีแรงควบคุมอารมณ์และอารมณ์ที่เดือดพล่านสักเท่าไหร่
  2. บางครั้งการปิดสวิตช์อารมณ์ก็ช่วยให้คุณใจเย็นลงได้ก่อนจะกลับไปข้องเกี่ยวกับสถานการณ์นั้นอีกครั้ง คุณสามารถใช้เวลานี้คิดถึงอารมณ์ที่คุณกำลังประสบอยู่และคิดว่าจะรับมือกับอารมณ์ด้วยวิธีที่เป็นบวกได้อย่างไร เช่น ถ้าคุณโกรธใคร และคุณก็ไม่อยากพูดหรือทำอะไรที่ทำให้เขาเจ็บปวด คุณก็สามารถปิดสวิตช์อารมณ์ได้ แล้วคิดว่าคุณควรจะตอบโต้คนๆ นั้นอย่างไรหรือควรจะตอบโต้หรือไม่ [12]
  3. การอยู่ห่างจากแรงกระตุ้นนั้นได้ผลในระยะสั้น แต่อาจจะไม่ได้ผลในระยะยาว เช่น ถ้าคุณพบว่าคนเยอะๆ ทำให้คุณเกิดแรงกระตุ้นทางอารมณ์ คุณก็อาจจะตอบโต้ด้วยการเลี่ยงคนเยอะๆ แต่ถ้าเป็นอย่างนี้ ชีวิตสังคมของคุณก็จะค่อนข้างแคบ เพื่อเอาชนะสิ่งนี้ ให้คุณลองพาตัวเองเข้าไปอยู่ในสถานการณ์ที่กระตุ้นอารมณ์ทีละเล็กละน้อย และค่อยๆ พาตัวเองไปอยู่ในสถานการณ์นั้นในระดับที่คุณรับมือได้ ทำจนกว่าคุณจะสามารถจัดการกับอารมณ์ของตัวเองได้และทำให้สถานการณ์นั้นไม่กลายเป็นแรงกระตุ้นอีกต่อไป
    โฆษณา
วิธีการ 3
วิธีการ 3 ของ 5:

รับมือกับแรงกระตุ้นที่ไม่อาจหลีกเลี่ยงได้

ดาวน์โหลดบทความ
  1. ระบุว่าตัวเองต้องการผลลัพธ์แบบไหนจากแรงกระตุ้นทางอารมณ์ และคุณจำเป็นต้องทำอะไรบ้างเพื่อให้ได้ผลลัพธ์นั้น ถ้าคุณจ่ายบิลไม่ไหว ให้โทรศัพท์หาเจ้าหนี้และวางแผนการชำระเงิน ถ้าแรงกระตุ้นมาจากสิ่งต่างๆ ที่ถาโถมเข้ามาเพราะคุณไม่มีเวลาทำกับข้าวก่อนไปประชุมผู้ปกครอง ให้สั่งอาหารมาแทน [13]
  2. เวลาที่เราประสบกับอารมณ์เชิงลบ เราก็มักจะสนับสนุนอารมณ์เชิงลบด้วยการตอบสนองเชิงลบ ถ้าคุณปลีกตัวออกมาเวลาที่คุณรู้สึกเศร้าและเหงา คุณก็จะยิ่งเพิ่มความเศร้าและความเหงาให้ตัวเองเข้าไปใหญ่ เพื่อเปลี่ยนความรู้สึกเศร้าและความรู้สึกเหงา ให้คุณอยู่กับเพื่อนๆ และใช้เวลาในสถานการณ์ทางสังคมที่ปลอดภัย พยายามทำกิจกรรมที่กระตุ้นอารมณ์ตรงกันข้าม [14]
  3. สร้างประสบการณ์เชิงบวกที่นำไปสู่ความทรงจำเชิงบวก. ไม่ใช่ทุกแรงกระตุ้นจะเป็นแรงกระตุ้นเชิงลบเสมอไป ประสบการณ์ที่น่าพึงใจสามารถกระตุ้นความทรงจำที่ดีบางอย่างได้ กลิ่นคุกกี้อบหอมๆ อาจทำให้เรานึกถึงช่วงวันหยุดที่บ้านคุณยาย การฟังเพลงรักเก่าๆ อาจช่วยให้เรานึกถึงตอนที่เราเดตกันครั้งแรก
  4. ใช้ทักษะควบคุมอารมณ์หรือความอดทนต่อความทุกข์ในการอดทนต่อความรู้สึกที่ไม่น่าพึงใจ. คุณสามารถลงมือตอบสนองต่อความรู้สึกที่ไม่น่าพึงใจเหล่านั้นโดยไม่ทำให้อะไรๆ แย่กว่าเดิม อันที่จริงมันอาจจะดีกับตัวคุณเองก็ได้ วิธีที่คุณสามารถทำได้ก็เช่น :
    • เบี่ยงเบนอารมณ์ของตัวเองเพื่อให้คุณอดทนต่อความรู้สึกที่ยากลำบากได้มากขึ้น
    • ทำกิจกรรม/งานอดิเรก เช่น ถักไหมพรม วาดรูป หรือไปดูหนัง
    • เสียสละเวลาของตัวเอง ทำงานอาสาสมัคร ช่วยเหลือผู้อื่น หรือทำสิ่งดีๆ
    • สร้างอารมณ์ตรงกันข้าม ทำในสิ่งที่ทำให้เกิดอารมณ์อื่นๆ ที่ไม่ใช่อารมณ์เดียวกับที่คุณกำลังประสบอยู่ เช่น ดูหนังตลกหรืออ่านหนังสือตลกๆ
    • ผลักสถานการณ์นั้นออกไปและเดินหนีออกมา หรือไม่ให้มันมากวนใจคุณ
    • ใช้ความคิดเพื่อเบี่ยงเบนอารมณ์ เช่น อ่านหนังสือ วางแผนทำอะไรดีๆ หรือนับ 1 ถึง 10
    • ใช้ประสาทสัมผัส เช่น ถือน้ำแข็ง ไปนวด หรืออาบน้ำอุ่น
    • ฝึกทำให้ใจเย็นลงด้วยตนเอง ทำให้ประสาทสัมผัสทั้ง 5 นิ่งขึ้นด้วยการสร้างความรู้สึกที่ดีและสบายให้กับประสาทสัมผัสทั้ง 5 [15]
  5. หาทางทำให้ตัวเองอดทนต่อความทุกข์ใจในปัจจุบันให้ได้ ฝึกการนึกภาพ มองหาความหมาย สวดมนต์ ผ่อนคลาย และในแต่ละช่วงเวลาให้คุณสนใจแค่สิ่งใดสิ่งหนึ่ง หรือออกไปพักผ่อนช่วงสั้นๆ ให้กำลังใจตัวเอง คุณเข้มแข็งกว่าที่คุณรู้ และคุณก็กำลังต่อสู้เพื่อเปลี่ยนแปลงตัวเอง
    โฆษณา
วิธีการ 4
วิธีการ 4 ของ 5:

จัดการกับอารมณ์ของตัวเอง

ดาวน์โหลดบทความ
  1. มองสถานการณ์จากหลายๆ มุมมอง อย่ามองว่ามันเป็นอุปสรรค แต่ให้มองว่ามันเป็นโอกาสที่คุณจะได้พัฒนาตัวเอง เช่น ถ้าคุณไม่มีความสุขกับงานที่ทำ ให้บอกตัวเองว่าคุณมีพลังมากพอที่จะเปลี่ยนแปลงสิ่งที่คุณไม่ชอบ มองงานที่คุณทำอยู่ว่าเป็นสนามฝึกซ้อม และเป็นที่ๆ คุณจะสร้างเรซูเมเพื่อที่เวลาที่คุณมองหางานใหม่ จะได้มีคนอยากได้คุณมากขึ้น [16]
  2. บางครั้งแรงกระตุ้นทางอารมณ์ก็เป็นผลมาจากการไม่กำหนดขอบเขตและไม่ได้ให้คนอื่นรู้ว่าขอบเขตที่ว่านี้คืออะไร ขอบเขตจะบอกคนอื่นได้ว่าพวกเขาทำอะไรได้ไม่ได้ และยังเป็นการกำหนดเงื่อนไขว่าคุณจะทำและไม่ทำอะไรด้วย [17]
  3. ร่างกายก็เหมือนเครื่องจักร ถ้าเราขับรถที่ไม่มีน้ำมันหรือไม่ได้เปลี่ยนน้ำมัน สุดท้ายเครื่องก็ต้องดับอยู่ดี ถ้าเราไม่สนใจร่างกายของเรา ร่างกายของเราจะไม่เพียงแค่ดับเท่านั้น แต่การทำแบบนี้ยังมีผลต่ออารมณ์ของเราในทางที่ไม่ดีอีกด้วย เพราะฉะนั้นเราจึงต้องดูแลตัวเอง เราจะต้อง :
    • รักษาอาการป่วยทางกาย ถ้าคุณป่วย คุณอาจจะรู้สึกเศร้า โกรธ หรือคับข้องใจ เพราะฉะนั้นให้เข้ารับการรักษาและพักผ่อนเพื่อให้หายจากอาการเจ็บปวด
    • รับประทานอาหารให้สมดุล อย่ารับประทานมากเกินไปและอย่ารับประทานน้อยเกินไป อาหารที่สมดุลทำให้อารมณ์สมดุล นอกจากนี้การเลือกอาหารที่ถูกต้องก็ยังทำให้อารมณ์เป็นบวกมากขึ้นได้ [18]
    • นอนหลับพักผ่อนให้สมดุล เข้านอนให้เป็นเวลาและนอนหลับให้เพียงพอทุกคืน [19]
    • ออกกำลังกาย การออกกำลังกายหนักๆ 20 นาทีต่อสัปดาห์นั้นช่วยให้อารมณ์ของคุณสมดุลได้ [20]
  4. เวลาที่คุณประสบกับความรู้สึกเชิงบวก ให้คุณใช้เวลาสัมผัสประสบการณ์ที่น่าพึงใจช้าๆ ดื่มด่ำไปกับความดีงาม ความสนุกสนาน และความสบายใจ [21] ทำในสิ่งที่ทำให้คุณรู้สึกดี (อย่างน้อย) วันละ 1 อย่าง เพราะคุณจะได้สร้างพลังความเข้มแข็งไปพร้อมๆ กับเพิ่มความสามารถในการดื่มด่ำกับอารมณ์ที่ดีมากยิ่งขึ้น
    • หัวเราะ
    • เดินเล่นในสวนสาธารณะ
    • ขี่จักรยาน
    • อ่านหนังสือ [22]
  5. ทำให้ชีวิตมีคุณค่าด้วยการสร้างการเปลี่ยนแปลงเล็กๆ ทุกวัน. เมื่อระยะเวลาผ่านไปคุณจะรู้สึกถึงเหตุการณ์ที่เป็นบวกมากยิ่งขึ้น พยายามทำโปรเจ็กต์ในฝันให้สำเร็จ สร้างความเปลี่ยนแปลงในหน้าที่การงาน หรือพัฒนาตนเองทีละเล็กละน้อยทุกวัน ทำในสิ่งที่ทำให้คุณรู้สึกว่าตัวเองมีความสามารถและควบคุมสถานการณ์ได้ วิธีนี้ช่วยควบคุมอารมณ์ของคุณและเป็นการให้ความคิดเห็นเชิงบวกต่อความหมายของการมีชีวิตอยู่ด้วย [23]
    โฆษณา
วิธีการ 5
วิธีการ 5 ของ 5:

ขอความช่วยเหลือ

ดาวน์โหลดบทความ
  1. พูดคุยกับคนในครอบครัวและเพื่อนๆ ถึงสถานการณ์ที่สร้างแรงกระตุ้นและความรู้สึกของคุณ. บางครั้งการพูดคุยก็ช่วยลดแรงกระตุ้นทางอารมณ์และเสริมสร้างความเข้าใจได้จริงๆ ครอบครัวและเพื่อนๆ รู้จักคุณมากกว่าใคร พวกเขารู้ว่าเมื่อไหร่ที่คุณจะเกิดแรงกระตุ้น เพราะฉะนั้นพวกเขาจึงช่วยให้กำลังใจคุณในช่วงเวลาเหล่านั้นได้ [24]
    • ขอให้พวกเขาปลอบใจและทำให้คุณใจเย็นลง ความเอาใจใส่เล็กๆ น้อยๆ นั้นช่วยลดอารมณ์ที่ถูกกระตุ้นได้มาก
    • ถ้าอารมณ์ที่ถูกกระตุ้นนั้นเกิดจากความรู้สึกไม่ปลอดภัย เพื่อนๆ หรือครอบครัวสามารถช่วยคุณได้ เช่น ถ้าคุณรู้สึกกลัวที่จะไปไหนมาไหนคนเดียว พวกเขาก็อาจจะไปห้างหรือไปสวนสาธารณะเป็นเพื่อนคุณได้
  2. มีที่ปรึกษา นักสังคมสงเคราะห์ นักจิตบำบัดดีๆ หลายคนที่ช่วยเหลือคนที่มีปัญหาด้านการจัดการอารมณ์และการรับมือกับแรงกระตุ้น คนที่ได้รับการฝึกอบรมมาโดยเฉพาะสามารถช่วยให้คุณระบุแรงกระตุ้น และสอนเทคนิคในการรับมือกับแรงกระตุ้นเหล่านั้นได้
  3. ผู้เชี่ยวชาญที่พร้อมเอาใจใส่เหล่านี้อาจมีเครื่องมือที่สามารถช่วยให้คุณจัดการกับอารมณ์ที่รุนแรง หรืออาจจะแนะนำใครสักคนที่สามารถช่วยคุณได้ ผู้นำทางจิตวิญญาณหรือพระอาจให้คำแนะนำทางจิตวิญญาณเพื่อช่วยเหลือในช่วงเวลาที่คุณกำลังพยายามจัดการกับอารมณ์ของตัวเอง หากจำเป็นแพทย์อาจสั่งยาที่ช่วยบรรเทาอารมณ์อย่างความเครียดและโรคซึมเศร้า
  4. หาหนังสือแนว Self-Help ดีๆ เกี่ยวกับอารมณ์และแรงกระตุ้น. การจัดการความโกรธและการควบคุมอารมณ์อาจเป็นจุดเริ่มต้นที่ดี หนังสือเกี่ยวกับความบอบช้ำทางจิตใจก็สามารถช่วยให้คุณระบุที่มาของแรงกระตุ้นได้ แต่ถ้าคุณสามารถระบุสาเหตุเบื้องหลังแรงกระตุ้นได้แล้ว ก็ให้อ่านหนังสือเกี่ยวกับเรื่องนั้น เช่น ถ้าแรงกระตุ้นของคุณมีที่มาจากความสัมพันธ์ที่มีการใช้ความรุนแรง ก็ให้มองหาหนังสือเกี่ยวกับความรุนแรงและการใช้กำลังในครอบครัว
  5. กลุ่มสนับสนุนมักช่วยให้คุณจัดการและเข้าใจอารมณ์ของตัวเอง สมาชิกในกลุ่มบางคนอาจจะเคยเผชิญหน้ากับแรงกระตุ้นเดียวกันกับคุณมาก่อน จึงสามารถให้คำแนะนำที่เป็นประโยชน์กับคุณได้ ค้นหากลุ่มสนับสนุนในอินเทอร์เน็ต ขอให้ที่ปรึกษาหรือนักบำบัดช่วยคุณหากลุ่มสนับสนุนในพื้นที่ของคุณ
    โฆษณา

เกี่ยวกับวิกิฮาวนี้

มีการเข้าถึงหน้านี้ 1,177 ครั้ง

บทความนี้เป็นประโยชน์กับคุณไหม

โฆษณา