ดาวน์โหลดบทความ ดาวน์โหลดบทความ

ถึงการร้องไห้จะเป็นเรื่องธรรมชาติ เวลาอารมณ์แปรปรวนหรือตอนพบเจอเรื่องราวต่างๆ ในชีวิต บางเวลารู้ทั้งรู้ว่าร้องไห้แล้วผิดกาลเทศะหรือไม่เหมาะสมแต่ก็ห้ามไม่อยู่ หรือคุณอาจตกอยู่ในสถานการณ์ที่ต้องปลอบประโลมคนอื่นที่เขากำลังเศร้าโศกเสียใจ ไม่ว่าจะแบบไหนเราก็มีวิธีห้ามน้ำตาทั้งจากภายนอกหรือเริ่มจากในใจคุณมาฝากกัน

วิธีการ 1
วิธีการ 1 ของ 5:

สั่งกายไม่ให้ร้องไห้

ดาวน์โหลดบทความ
  1. บางคนถ้ากะพริบตาเร็วๆ ถี่ๆ จะกระจายน้ำตาให้ย้อนกลับไปในท่อน้ำตาได้ น้ำตาก็ไม่เอ่อล้นกลับออกมา แต่บางคนก็ใช้วิธีถ่างตา ไม่กะพริบ น้ำตาจะได้ไม่ไหลออกมา เพราะเกร็งกล้ามเนื้อรอบดวงตาไว้ อันนี้ก็ต้องลองทำดู ว่าคุณอยู่ในจำพวกไหน [1]
  2. ก็ท่อน้ำตายาวจากข้างจมูกจนถึงหัวตานู่น เพราะงั้นถ้าบีบสันจมูกกับข้างจมูกไว้แล้วหลับตาให้แน่น ก็ช่วยบล็อกท่อน้ำตาได้เหมือนกัน (วิธีนี้จะได้ผลสุดๆ ถ้ารีบทำก่อนน้ำตาไหล) [2]
  3. มีงานวิจัยที่ชี้ว่ายิ้มแล้วทำให้อารมณ์ จิตใจเข้มแข็ง แถมคนอื่นมองมาก็สบายตาสบายใจ ที่สำคัญคือยิ้มต้านเศร้า ห้ามน้ำตาได้ ทำให้คุณเลิกร้องไห้ได้ง่ายขึ้น [3]
  4. อีกวิธีเรียกสติ หยุดอารมณ์หวั่นไหวรุนแรง ก็คือสาดน้ำเย็นๆ ใส่หน้าตัวเองซะเลย นอกจากช่วยให้ใจเย็นลงแล้ว ยังกระตุ้นให้กระปรี้กระเปร่า มีสติมากขึ้นด้วย [4] หรือจะหยดน้ำเย็นๆ ใส่ข้อมือและแตะที่หลังหูก็ได้ แถวนั้นมีเส้นเลือดใหญ่อยู่ใต้ผิวหนังบางๆ พอดิบพอดี ถ้าทำให้เย็นลง ทั้งตัวคุณก็จะสบายสงบลงได้ [5]
  5. มีงานวิจัยแสดงให้เห็นว่าชาเขียวมี L-Theanine ที่ช่วยผ่อนคลายลดความตึงเครียดให้คุณได้ แถมมีสติรู้ตัว จดจ่ออยู่กับอะไรตรงหน้าได้มากขึ้น เพราะงั้นคราวหน้าถ้าดราม่าน้ำตานองเมื่อไหร่ ให้รีบชงชาเขียวดื่มสักแก้วเลย [6]
  6. หัวเราะนี่แหละยาวิเศษ เป็นวิธีบำบัดแบบง่ายๆ แถมไม่เสียสตางค์ ทั้งสุขภาพดีได้แถมลดอารมณ์เปลี่ยวชวนเศร้าและซึม หาอะไรขำๆ ฮาๆ มาสร้างเสียงหัวเราะให้ตัวเองหน่อย ผ่อนคลายให้สบายใจเลย [7]
  7. บ่อยครั้งที่คุณน้ำตาแตกเพราะตึงเครียดสะสมยาวนาน วิธีนี้จะช่วยให้กล้ามเนื้อของคุณได้ผ่อนคลาย จิตใจก็สงบ จะว่าไปก็เป็นเหมือนพฤติกรรมบำบัด เพราะช่วยให้คุณรู้จักร่างกายตัวเองดีขึ้น ว่าเป็นยังไงเมื่อเครียดเกร็ง รวมถึงเมื่อสงบและผ่อนคลาย ให้คุณไล่จากนิ้วเท้าขึ้นมา เกร็งกล้ามเนื้อไปทีละส่วน ครั้งละ 30 วินาที ไล่ขึ้นมาเรื่อยๆ จนถึงส่วนหัว บอกเลยว่าวิธีนี้ยังมีข้อดีเรื่องทำให้คุณนอนหลับสนิทขึ้น ไม่กระสับกระส่ายอย่างที่เคย [8]
  8. เขาวิจัยกันมาแล้ว ว่าบางทีความรู้สึกสิ้นหวัง ไร้ทางสู้ นี่แหละที่ทำให้คุณร้องไห้อยู่บ่อยๆ ถ้าเบื่อจะร้องไห้แล้ว ลองเปลี่ยนจากคน passive มา active กุมชีวิตตัวเองหน่อย เริ่มจากเรื่องง่ายๆ อย่างลุกขึ้นยืนเลย แล้วเดินไปมารอบๆ ห้อง หรือแค่กำมือแล้วคลายออกก็ได้ บีบมือนิดๆ ด้วยจะได้บริหารกล้ามเนื้อ และย้ำเตือนร่างกายให้รู้ว่าคุณนี่แหละคุม ถ้าลุกได้ เดินได้ กำมือได้ แล้วทำไมจะหยุดร้องไห้เองไม่ได้ [9] .
  9. อาการเจ็บปวดทางกายจะช่วยเบี่ยงเบนความสนใจจากความเจ็บปวดทางจิตใจ ก็ทำให้คุณกลั้นน้ำตาได้ จะหยิกตัวเอง (ตรงเนื้อนิ่มๆ ระหว่างนิ้วโป้งกับนิ้วชี้ หรือที่แขนก็ได้) กัดลิ้น หรือใครมีขนขา ก็ล้วงกระเป๋าแล้วแอบดึงให้เจ็บเลย [10]
    • แต่ถ้าทำจนฟกช้ำดำเขียวหรือถึงขั้นบาดเจ็บแล้วยังไม่ได้ผลก็เปลี่ยนวิธีเถอะ เรามีให้เลือกกันตั้งหลายแบบ
  10. หมายถึงปลีกตัวจากสถานการณ์ที่ทำให้เจ็บช้ำน้ำใจ อย่างถ้าทะเลาะกับใครจนเสียน้ำตา ก็รีบขอตัว (อย่างสุภาพ) ออกมาจากตรงนั้นสักพัก นี่ไม่ใช่การหนีปัญหา การปลีกตัวทำให้คุณได้มีเวลาตั้งตัวปรับอารมณ์ และลบอารมณ์รุนแรงอันเกิดจากการทะเลาะเบาะแว้ง ระหว่างนี้ก็ลองทำวิธีต่างๆ ที่เราบอกไปพลางๆ ตอนกลับเข้าไปในห้องนั้นใหม่จะได้ไม่หลุดร้องไห้ออกมา และสนทนากันต่อไปได้ จุดประสงค์ของวิธีนี้คือตั้งสติ ควบคุมอารมณ์ให้ได้ [11]
    โฆษณา
วิธีการ 2
วิธีการ 2 ของ 5:

สั่งใจไม่ให้ร้องไห้

ดาวน์โหลดบทความ
  1. ถ้าอยากสั่งใจไม่ให้ร้องไห้ เวลารู้สึกว่าบ่อน้ำตาจะแตกเมื่อไหร่ ให้รีบสั่งตัวเองว่าตอนนี้ร้องไม่ได้นะ ให้ผ่านตอนนี้ไปก่อน แล้วเดี๋ยวอยากร้องก็ร้องให้เต็มที่เลย หายใจเข้าลึกๆ แล้วทำใจแข็งกดก้อนสะอื้นนั้นลงไป ตอนแรกก็คงยากเป็นธรรมดา แต่ถ้าหมั่นจับอารมณ์ตัวเองเรื่อยๆ แล้วฝึกร่างกายให้ชินกับการทำตัวให้ถูกที่ถูกเวลา นั่นแหละที่จะแก้ปัญหาบ่อน้ำตาแตกผิดที่ผิดทางในระยะยาวให้คุณได้
    • แต่ไม่ใช่ว่าพอสบโอกาสก็ไม่ร้องเอาแต่เก็บกดไว้นะ เพราะแบบนั้นเสียสุขภาพจิตแย่ แถมอีกหน่อยอาจกลายเป็นคนวิตกจริตหรือซึมเศร้าแทน พยายามหาโอกาสปลดปล่อยอารมณ์ในทางสร้างสรรค์อยู่เสมอ [12]
  2. นี่แหละวิธีแต่เก่าก่อนที่ใช้คลายเครียด ต้านเศร้า และลดกังวลได้เสมอ ไม่ต้องไปดั้นด้นหาพระอาจารย์ที่ไหนคุณก็นั่งสมาธิได้ แค่หามุมสงบ หลับตา แล้วเพ่งสมาธิจับลมหายใจ หายใจเข้าลึกๆ ยาวๆ และหายใจออกช้าๆ เช่นกัน แล้วคุณจะพบว่าสารพัดเรื่องลบๆ ได้มลายหายไปแทบจะในทันที [13] [14]
  3. เลิกสนใจอารมณ์แย่ๆ แล้วหันไปหาเรื่องดีๆ แทน อะไรก็ได้ที่แค่คิดก็มีความสุขหรือทำเอาฮาลั่น จะเป็นคลิปน้องเหมียวตกเก้าอี้ก็ได้ หรือจะนับวันรอเรื่องดีๆ ที่กำลังจะมาถึง ถ้าคุณเป็นนักแก้ปัญหา จะแก้สมการยากๆ หรือคิดหาโครงการใหม่ย่อมๆ ก็ช่วยได้เหมือนกัน แต่ถ้าทำแล้วไม่ได้ผล ให้จินตนาการว่ากำลังอยู่ในสถานที่สงบเงียบแทน แล้วเพ่งสมาธิไปที่รายละเอียดยิบย่อยของโลกแห่งความสุขของคุณ [15] แบบนี้เป็นการบังคับสมองให้เกิดความรู้สึกอื่นแทนความเศร้า โกรธ หรือกลัว
  4. ดนตรีช่วยคุณคลายเครียดได้เยอะเลย เปิดเพลงคลอเบาๆ จะทำให้คุณสงบจิตใจลง ส่วนเพลงไหนเนื้อหาดีๆ ให้กำลังใจ ก็ทำให้คุณมั่นใจพร้อมสู้ได้อีกครั้ง เลือกเพลงที่ใช่สำหรับคุณ แล้วทำ playlist ย้อมใจซะเลย [16]
  5. เพ่งความสนใจไปที่ตัวคุณในปัจจุบัน อาหารที่คุณเคี้ยวอยู่รสชาติเป็นยังไง ลมพัดต้องผิวคุณเย็นสบายหรืออบอุ่น คุณขยับตัวแล้วเสื้อผ้าที่เสียดสีกับร่างกายรู้สึกยังไง ถ้าคุณรู้ตัวตื่นทุกขณะจิต ใส่ใจทุกสัมผัสของตัวเอง จะทำให้คุณลืมเครียดไปเลย และเห็นว่าปัญหาที่กำลังเผชิญไม่ได้หนักหนาอย่างที่คิดเลย [17]
  6. เรามักร้องไห้เพราะรับไม่ไหวกับเรื่องแย่ๆ ในชีวิต หรือเพราะปัญหามันหนักหนาเกินทน ลองหายใจเข้าลึกๆ ดู แล้วลองคิดดูว่าปัญหานั้นอาจเล็กน้อยไปเลยถ้าเทียบกับปัญหาอื่นที่คุณเคยพบพานมา หรือรู้สึกดีใจที่เรื่องราวมันไม่เลวร้ายไปกว่านี้ เตือนตัวเองด้วยว่ามีอะไรบ้างที่คุณรู้สึกดีใจที่ได้มาที่เป็นอยู่ อาจจดบันทึกไว้ด้วยก็ได้ เพื่อย้ำเตือนในภายหลังว่าคุณก็โชคดีกว่าหลายๆ คน และว่าคุณเคยผ่านหลากหลายอุปสรรคมาแล้ว และคุณก็จะผ่านไปได้อีกครั้ง [18]
    โฆษณา
วิธีการ 3
วิธีการ 3 ของ 5:

ขุดลึกถึงต้นตอ

ดาวน์โหลดบทความ
  1. คุณอยากร้องไห้เพราะเครียดหรืออารมณ์บางอย่าง หรือเพราะเหตุการณ์และใครบางคนที่พบเจอใช่ไหม? ต้นตอที่ว่าเป็นอะไรที่คุณสามารถปลีกตัวหรือหลีกเลี่ยงได้หรือเปล่า?
    • ถ้าคำตอบคือ "ใช่" ก็ต้องหาวิธีหลีกเลี่ยงหรือจำกัดการพบเจอสิ่งนั่นๆ อาจเป็นเรื่องที่พอทำได้ อย่างตัดบทเวลาต้องคุยกับเพื่อนร่วมงานปากไม่ดีนานๆ หรืออย่าพยายามดูหนังเศร้าเคล้าน้ำตาหรือเน้นความรุนแรง
    • แต่ถ้าคุณบอกว่า "ไม่" ก็ให้ลองไปพบนักจิตบำบัดเพื่อหาวิธีรับมือต่อไป โดยเฉพาะคนที่เกิดอารมณ์ลบๆ ชวนน้ำตาแตกเพราะขัดแย้งกับครอบครัวหรือคนรู้ใจ
  2. ถึงการเบี่ยงเบนความสนใจไปจากอารมณ์ดังกล่าวจะช่วยให้คุณห้ามน้ำตาได้ในเวลาที่ยังไม่สมควร แต่พออยู่ในระยะปลอดภัยเพียงลำพัง ก็ควรปล่อยตัวเองให้สัมผัสกับอารมณ์นั้นอย่างเต็มที่บ้าง มองลึกเข้าไปในใจคุณ วิเคราะห์เจาะลึกความรู้สึกที่เกิดขึ้น หาสาเหตุให้เจอ และสุดท้ายคือหาทางแก้ไข ถ้าเอาแต่กลบเกลื่อนความรู้สึกหรือพยายามเก็บกดมันไว้เรื่อยๆ สุดท้ายจะมีแต่เสีย ยิ่งรู้สึกมากขึ้น ก้าวไม่พ้นสักที ดีไม่ดีปัญหานั้นจะเรื้อรังอยู่ในจิตใต้สำนึกของคุณจนทำให้คุณร้องไห้อยู่ร่ำไป [19]
  3. ดักจับความคิดลบจนเป็นนิสัย แล้วแทนที่ด้วยเรื่องดีๆ ของตัวเอง ตั้งสติได้เมื่อไหร่ให้ขุดเรื่องดีมาสู้เรื่องแย่แบบตัวต่อตัว (1:1) นอกจากจะทำให้คุณสุขใจขึ้นแล้ว ยังช่วยป้องกันไม่ให้สติแตกเวลาเจอเหตุไม่คาดฝัน เพราะฝึกสมองจนเชี่ยวแล้ว ว่าถึงจะมีปัญหาแต่ก็มีเรื่องให้ดีใจและภูมิใจในตัวเองอีกเยอะ
  4. ถ้าคุณบ่อน้ำตาแตกง่าย หรืออาการหนักถึงขั้นอยากร้องไห้แบบไม่รู้สาเหตุ การจดบันทึกนี่แหละที่ช่วยคุณขุดคุ้ยถึงต้นตอได้ จดบันทึกแล้วดีต่อสุขภาพ ทำให้มองเห็นข้อดีในเรื่องเครียดๆ เข้าใจความรู้สึกตัวเองและคิดอะไรได้ชัดเจนแจ่มแจ้ง [20] [21] การเขียนระบายความโกรธหรือเศร้าช่วยให้ความรู้สึกเหล่านี้เบาบางลงได้ จุดนี้แหละที่จะห้ามน้ำตาของคุณ แถมยังได้รู้จักตัวเองลึกซึ้งยิ่งขึ้น กลายเป็นคนมั่นใจขึ้น และเข้าใจสถานการณ์ที่เป็นอยู่หรือคู่กรณี ว่าอะไรที่ขุ่นเคืองก็ควรตัดออกไปจากใจ [22]
    • พยายามจดบันทึกให้ได้ทุกวัน วันละ 20 นาที เขียนแบบ "ปล่อยฟรี" ไปเลย ไม่ต้องกังวลว่าจะเขียนถูกเขียนผิด ลืมไปให้หมดเรื่องตัวสะกดหรือวรรคตอน สรุปคือเขียนอย่างใจคิด ไม่ใช่เขียนอย่างที่ "ควรจะเป็น" เขียนรวดเดียวจะดีที่สุด จะได้ไม่มีเวลามาหยุดคิดพิจารณาหรือเซ็นเซอร์ตัวเอง [23] แล้วคุณจะแปลกใจกับมุมมองใหม่ๆ แถมรู้สึกดีขึ้นอย่างไม่น่าเชื่อ
    • การจดบันทึกช่วยให้คุณระบายอารมณ์ได้เต็มที่แบบไม่ต้องมีกรอบหรือใครมาวิจารณ์ [24]
    • ถ้าคุณเคยผ่านเหตุการณ์รุนแรงกระทบกระเทือนจิตใจมา การจดบันทึกจะช่วยให้คุณได้ย้อนดูและทำความเข้าใจอารมณ์ความรู้สึกต่างๆ ที่เกิดขึ้น ทำให้หายเคว้ง ว่าทุกอย่างคุณจัดการได้ ต้องไม่เป็นไร เขียนลงไปทั้งรายละเอียดของเหตุการณ์ตามจริง และอารมณ์ที่เกิดขึ้น เพื่อให้ได้ประโยชน์สูงสุด [25]
  5. ถ้าทำทุกวิถีทางแล้วคุณก็ยังรู้สึกสะเทือนใจจนอยากร้องไห้ หรือความรู้สึกแย่ๆ ยังคงอยู่และเริ่มมีอิทธิพลต่อความสัมพันธ์และหน้าที่การงานของคุณ ให้คุณรีบเปลี่ยนแผนแล้วติดต่อนักจิตบำบัดผู้เชี่ยวชาญ ปัญหาส่วนใหญ่มักแก้ได้ด้วยความคิดและพฤติกรรมบำบัด แต่ถ้าเป็นเรื่องปัญหาสุขภาพ นักบำบัดจะช่วยแนะนำวิธีการรักษาหรือยาชนิดที่เหมาะสมให้คุณเอง
    • ถ้าคุณมีอาการซึมเศร้าหดหู่ ให้ขอคำปรึกษาจากคุณหมอหรือผู้เชี่ยวชาญด้านสุขภาพจิต อาการที่บอกว่าคุณเป็นโรคซึมเศร้าก็เช่น รู้สึกเศร้าตลอดเวลา หรือ "ชีวิตไร้จุดหมาย" รวมถึงสิ้นหวัง รู้สึกผิด และ/หรือไร้ค่า เคยคิดสั้น หมดกำลังใจ นอนไม่หลับ หรือนอนเยอะเกินไป สุดท้ายคือพฤติกรรมการกินและ/หรือน้ำหนักเปลี่ยนแปลง [26]
    • ถ้าคุณเคยคิดสั้น ให้รีบขอความช่วยเหลือหรือคำปรึกษาด่วน เช่น ติดต่อสายด่วนสุขภาพจิต 1323 หรือไปที่เว็บไซต์ของ กรมสุขภาพจิต เพื่อรับคำปรึกษาเบื้องต้น หรือดีกว่านั้นคือโทรหาคนที่คุณไว้ใจเพื่อระบายความรู้สึกให้เขาฟัง
  6. ถ้าสูญเสียคนเราก็ต้องเศร้าเป็นธรรมดา เช่น เสียคนรักหรือสมาชิกครอบครัว อกหักรักคุด ตกงาน เจ็บป่วย หรือความสูญเสียในรูปแบบอื่นๆ [27] ทุกข์ใครก็ทุกข์มัน ไม่มีใครมาตัดสินได้ว่าคุณเศร้าแล้ว "ต้อง" ทำแบบนั้นแบบนี้สิ และไม่มีใครมากำหนดได้ ว่าคนเราควรเศร้านานแค่ไหนถึงจะพอ บางคนก็เป็นอาทิตย์ บางคนก็เป็นปี และคนเราก็สุขทุกข์ได้เรื่อยไป [28]
    • ขอกำลังใจจากพ่อแม่พี่น้องและเพื่อน การระบายความเศร้ากับคนสำคัญช่วยให้คุณทำใจได้ในระดับหนึ่ง หรือจะเข้าร่วมกลุ่มบำบัดของผู้ประสบเหตุเดียวกัน ไม่ก็ปรึกษาจิตแพทย์ผู้เชี่ยวชาญก็ได้ [29]
    • ด้วยวิธีต่างๆ ที่เราแนะนำไป บวกกับเวลาที่ผ่านไป สุดท้ายความเศร้าและอาการข้างเคียงต่างๆ ของคุณก็จะบรรเทาเบาบางลง แต่ถ้ายังไงก็ไม่ดีขึ้น หรืออาการยิ่งหนักข้อ แปลว่าความเศร้าชั่วครั้งชั่วคราวของคุณได้พัฒนาไปเป็นโรคซึมเศร้าหรือภาวะเศร้าแบบซึมลึกซะแล้ว ให้คุณรีบเข้ารับการรักษากับนักจิตบำบัดหรือจิตแพทย์ผู้เชี่ยวชาญทางด้านนี้ เพื่อหาวิธียอมรับและปรับตัว [30]
    โฆษณา
วิธีการ 4
วิธีการ 4 ของ 5:

โอ๋เด็กให้หยุดร้องไห้

ดาวน์โหลดบทความ
  1. ถ้าเป็นเด็กแบเบาะ การร้องไห้นี่แหละวิธีสื่อสารวิธีเดียวของเขา ว่าเด็กรู้สึกยังไงและอยากได้อะไร คุณต้องเปลี่ยนมาคิดแบบเด็ก และหาให้เจอว่าอะไรทำให้เด็กไม่สบายตัว สาเหตุหลักๆ ที่ทำให้เด็กร้องก็คือ
    • หิว - เด็กแรกเกิดส่วนใหญ่ต้องได้กินนมทุก 2 - 3 ชั่วโมง
    • อยากดูดนม - เด็กเล็กจะคว้าฉวยอะไรมาดูดตามสัญชาตญาณ เป็นอาการที่บอกว่าหิวนมแล้ว
    • เหงา - เด็กต้องมีปฏิสัมพันธ์กับผู้ใหญ่เรื่อยๆ ถึงจะเติบโตอย่างมีความสุข สุขภาพแข็งแรง เด็กเลยร้องบ่อยเวลาอยากให้คุณมาสนใจ
    • ง่วง - เด็กแรกเกิดต้องได้งีบบ่อยๆ บางทีก็นอนเยอะถึง 16 ชั่วโมงต่อวัน
    • ไม่สบายตัว - พิจารณาดูให้ดีว่าอยู่ๆ เด็กร้องเพราะอะไร บางทีอาจเป็นแค่การแสดงออกว่าเด็กจำเป็นต้องได้รับการเอาใจใส่หรืออยากได้อะไรเป็นพิเศษก็ได้
    • ถูกรบกวน - เสียงดังเกินไป มีการเคลื่อนไหวหรือแสงสีวูบวาบเยอะๆ ก็อาจรบกวนเด็กจนร้องไห้จ้าได้
    • เจ็บป่วย - เด็กร้องไม่ยอมหยุดถึงคุณจะปลอบโยน นี่แหละสัญญาณแรกของอาการเจ็บป่วย อาการแพ้ หรืออาการบาดเจ็บ [31]
  2. หาสาเหตุที่ทารกร้องก็เหมือนเล่นเกมใบ้คำ แต่ถ้าเป็นเด็กเล็กก็จะตอบคำถามคุณได้บ้างไม่มากก็น้อย คุณถามได้เลยว่า "เป็นอะไรจ๊ะ?" แต่ก็อย่าคาดหวังความชัดเจนแม่นยำเหมือนคุยกับผู้ใหญ่ เพราะฉะนั้นให้ถามสั้นๆ ง่ายๆ เข้าไว้ แล้วจับสังเกตเอาเองเมื่อเด็กอธิบายปัญหาของเขาไม่ถูก
  3. เด็กเล็กถ้าเสียใจหรือโมโหอยู่จะฟังยากว่าพูดอะไร สำคัญที่พ่อแม่หรือคนดูแลอย่างคุณต้องคอยสังเกตสภาพแวดล้อมและลักษณะท่าทางของเด็กที่กำลังร้องไห้เอง
  4. ถ้าเด็กเจ็บตรงไหนหรือไม่สบายตัวสบายใจ ให้คุณเบี่ยงเบนความสนใจเด็กไปจากความเจ็บปวดจนกว่าอาการจะทุเลาลง พยายามชวนเด็กทำอะไรที่ชอบ แล้วสำรวจไปพลางๆ ว่าเด็กบาดเจ็บตรงไหนหรือไม่ แล้วถามให้แน่ใจทุกส่วนของร่างกาย ยกเว้น ตรงที่ที่เด็กเจ็บ จริงๆ เด็กจะได้เพ่งสมาธิไปที่ส่วนต่างๆ และการตอบคำถาม มากกว่าจะไปสนใจอยู่แต่จุดที่เจ็บ ทำให้ลืมเจ็บชั่วขณะ
  5. เด็กถ้ายิ่งไปดุไปบังคับก็จะยิ่งร้องไห้ รวมถึงเวลาเพื่อนของเด็กหรือตัวคุณทำอะไรที่เด็กไม่ชอบก็ด้วย เพราะงั้นถ้าเด็กร้องไห้ คุณต้องทำอะไรที่แน่ใจได้ว่าสถานการณ์จะดีขึ้น (เช่น แยกเด็กที่ทะเลาะกันออกจากกัน) และบอกให้เด็กรู้ว่าต่อให้เกิดอะไรขึ้น คุณก็จะรักเขาและเขาจะไม่เป็นไร
  6. เป็นเรื่องปกติที่เด็กๆ จะดื้อบ้างเป็นบางครั้งบางคราว แต่ถ้าเด็กเริ่มใช้การร้องไห้ เหวี่ยงวีน หรือตะคอกตะโกนเพื่อให้ได้มาซึ่งสิ่งที่ตัวเองต้องการ คุณต้องรีบหาทางป้องกัน อย่าให้เด็กรู้สึกว่าทำตัวแย่แล้วจะได้ดังใจ
    • ถ้าเด็กวัยเตาะแตะหรือโตกว่านั้นนิดหน่อยเริ่มอาละวาด ให้รีบพาตัวออกไปห้องอื่นที่เงียบๆ แล้วปล่อยไว้ที่นั่นจนกว่าจะสงบลง พอหายโกรธหรือเลิกอาละวาดแล้วค่อยอนุญาตให้กลับออกมาหรือมีใครไปคุยด้วยได้
    • ถ้าเด็กที่อาละวาดโตพอจะเดินและเข้าใจคำสั่ง บอกให้เด็กกลับไปที่ห้องของตัวเอง และจะกลับมาได้ก็ต่อเมื่อสงบลง ถึงตอนนั้นคุณจะรับฟังว่าเด็กต้องการอะไรและทำไมถึงโกรธหัวฟัดหัวเหวี่ยงขนาดนั้น แบบนี้เด็กจะได้รู้ว่าควรรับมือกับความโกรธและความผิดหวังอย่างมีประโยชน์ โดยที่เด็กรู้ว่าคุณรักและใส่ใจกัน
    โฆษณา
วิธีการ 5
วิธีการ 5 ของ 5:

ปลอบใจผู้ใหญ่

ดาวน์โหลดบทความ
  1. ผู้ใหญ่ไม่เหมือนทารกหรือเด็กเล็ก ประเมินสถานการณ์เองได้ว่าตัวเองมีปัญหาอะไร ต้องการความช่วยเหลือหรือเปล่า ก่อนจะเข้าไปยุ่งหรือพยายามช่วยใคร คุณต้องถามเขาก่อนเสมอ ว่าต้องการความช่วยเหลือของคุณไหม ถ้าเขากำลังปวดใจก็อาจต้องให้เวลาและความเป็นส่วนตัวเขาหน่อย ให้เขาได้ทำใจก่อนเปิดใจรับความช่วยเหลือจากคนอื่น บางครั้งแค่คุณเสนอตัวช่วยเหลือก็พอให้เขารู้สึกดีขึ้นแล้ว
    • ถ้าสถานการณ์ไม่ได้ร้ายแรงเท่าไหร่ และเขาให้ความสนใจคุณ ก็ลองเล่าเรื่องตลกหรือปล่อยมุขดู พวกเรื่องแปลกๆ ตลกๆ ที่คุณอ่านเจอในเน็ตก็ได้ ถ้าคนที่ว่าเป็นคนแปลกหน้าหรือคนที่ไม่ค่อยสนิทกัน ก็ให้ลองถามคำถามทั่วไปแบบไม่ลงลึก เช่น ความชอบหรือความคิดเห็นของเขาในเรื่องต่างๆ
  2. เขาเจ็บกายหรือปวดใจ? เขาถูกใครทำร้ายร่างกาย/จิตใจ หรือเพิ่งเจอเรื่องช็อคมาหรือเปล่า? ระหว่างถามคำถามก็คอยอ่านสถานการณ์และสังเกตสภาพแวดล้อมรอบตัวเพื่อหาสาเหตุไปด้วย
    • ถ้าเขาร้องไห้อยู่แล้วท่าทางบาดเจ็บหรือต้องเข้ารับการรักษาด่วน ให้รีบเรียกตำรวจหรือรถพยาบาล แล้วอยู่รอจนกว่าความช่วยเหลือจะมาถึง ถ้าแถวนั้นดูไม่ปลอดภัย ให้รีบเคลื่อนย้ายเขาไปที่ที่ปลอดภัยในบริเวณใกล้เคียง
  3. ถ้าเป็นเพื่อนหรือคนรู้ใจ การกอดหรือจับมือนี่ช่วยคลายเศร้าได้เยอะเลย กระทั่งโอบไหล่ก็ทำให้เขาสงบสบายใจขึ้นแล้ว แต่ทั้งนี้จะแตะเนื้อต้องตัวใครก็ต้องพิจารณาตามสถานการณ์ด้วย ถ้าคุณไม่แน่ใจว่าอีกฝ่ายเขาจะมีท่าทียังไงถ้าคุณแตะต้องตัวเพื่อปลอบใจ ก็ถามก่อนดีกว่า
  4. ไม่ต้องเปลี่ยนเรื่องก็ได้ ขอแค่ชี้ให้เขาเห็นมุมดีๆ ของเรื่องร้ายที่เกิดเข้าไว้ เช่น ถ้าเขาเพิ่งสูญเสียคนรักไป ก็ให้หยิบยกช่วงเวลาดีๆ ที่เคยใช้ร่วมกันขึ้นมาพูดคุย รวมถึงสิ่งที่ทำให้คนที่จากไปเป็นที่รักของเขาด้วย ถ้าเป็นไปได้ (และเหมาะสม) ลองพูดถึงเหตุการณ์น่ารักๆ ชวนอมยิ้มที่เขาเคยทำร่วมกัน จะได้เรียกรอยยิ้มหรือเสียงฮา (เล็กๆ) เสียงหัวเราะนี่แหละที่จะลดทอนอารมณ์หม่นชวนร้องไห้ และปรับบรรยากาศให้สว่างไสวขึ้น
  5. การร้องไห้เป็นปฏิกิริยาตอบสนองตามธรรมชาติเมื่อคนเราเจอเรื่องร้ายๆ หรือหดหู่ ถึงบางครั้งอาจผิดกาลเทศะหรือไม่เหมาะสม แต่ถ้าไม่มีใครว่าอะไร ก็ปล่อยเขาร้องไปเถอะ นั่นแหละวิธีระบายความเศร้าที่ปลอดภัยและได้ผลที่สุด
    โฆษณา

เคล็ดลับ

  • ถ้าคุณสงสัยว่าคุณหรือคนรู้จักอาจกำลังซึมเศร้า หรือหลายครั้งที่ร้องไห้แล้วมักอยากทำร้ายตัวเอง ให้รีบขอความช่วยเหลือด่วน โดยปรึกษาคุณหมอ หรือโทรไปที่สายด่วนสุขภาพจิต 1323 ไม่ก็เข้าเว็บไซต์ของ กรมสุขภาพจิต
โฆษณา
  1. http://www.healthguidance.org/entry/16972/1/How-to-Prevent-Yourself-From-Crying.html
  2. http://www.webmd.com/balance/features/why-we-cry-the-truth-about-tearing-up?page=4
  3. http://www.webmd.com/balance/features/why-we-cry-the-truth-about-tearing-up?page=4
  4. http://www.ncbi.nlm.nih.gov/pmc/articles/PMC3118731/?tool=pubmed
  5. https://www.psychologytoday.com/blog/enlightened-living/200804/yogic-breathing-remedy-anxiety
  6. https://www.uhs.uga.edu/stress/relax.html
  7. http://www.webmd.com/balance/guide/blissing-out-10-relaxation-techniques-reduce-stress-spot?page=2
  8. http://www.webmd.com/balance/guide/blissing-out-10-relaxation-techniques-reduce-stress-spot
  9. http://www.webmd.com/balance/guide/blissing-out-10-relaxation-techniques-reduce-stress-spot?page=3
  10. http://www.scientificamerican.com/article.cfm?id=negative-emotions-key-well-being
  11. http://link.springer.com/article/10.1207/S15324796ABM2403_10#page-1
  12. http://psychcentral.com/lib/the-health-benefits-of-journaling/
  13. http://psychcentral.com/lib/the-health-benefits-of-journaling/
  14. http://psychcentral.com/lib/the-health-benefits-of-journaling/
  15. http://link.springer.com/article/10.1207/S15324796ABM2403_10#page-1
  16. http://link.springer.com/article/10.1207/S15324796ABM2403_10#page-1
  17. http://www.nimh.nih.gov/health/publications/men-and-depression/index.shtml#pub4
  18. http://www.helpguide.org/articles/grief-loss/coping-with-grief-and-loss.htm
  19. http://www.helpguide.org/articles/grief-loss/coping-with-grief-and-loss.htm
  20. http://www.helpguide.org/articles/grief-loss/coping-with-grief-and-loss.htm
  21. http://www.helpguide.org/articles/grief-loss/coping-with-grief-and-loss.htm
  22. http://www.webmd.com/parenting/baby/tc/crying-child-that-is-not-acting-normally-topic-overview

เกี่ยวกับวิกิฮาวนี้

มีการเข้าถึงหน้านี้ 16,851 ครั้ง

บทความนี้เป็นประโยชน์กับคุณไหม

โฆษณา