PDF download ดาวน์โหลดบทความ PDF download ดาวน์โหลดบทความ

เรียงความส่วนบุคคลที่ดีสามารถดึงอารมณ์และสร้างแรงบันดาลใจให้แก่ผู้อ่าน และยังทำให้ผู้อ่านอารมณ์ค้าง ไม่แน่ใจ และเต็มไปด้วยคำถามมากกว่าคำตอบ ในการเขียนเรียงความส่วนบุคคลที่มีประสิทธิภาพนั้น คุณจะต้องเข้าใจโครงสร้างเรียงความส่วนบุคคลเสียก่อน จากนั้นคุณจะต้องระดมความคิดที่จะใช้ในการเขียนเรียงความ เพื่อให้คุณพร้อมเมื่อถึงเวลาลงมือบรรจงเขียนเรียงความของคุณ

ส่วน 1
ส่วน 1 ของ 3:

เริ่มเขียนเรียงความส่วนบุคคล

PDF download ดาวน์โหลดบทความ
  1. ชีวิตของคุณอาจจะไม่ได้เต็มไปด้วยเรื่องราวน่าตื่นเต้นหรือดราม่าหนักหน่วง แต่ก็ไม่เป็นไร เรียงความส่วนบุคคลของคุณสามารถจับใจผู้อ่านได้ถ้าคุณให้ความสำคัญกับการหามุมมองให้กับเรียงความของคุณ คุณควรพยายามหาแนวคิดที่เป็นเอกลักษณ์หรือน่าสนใจในประสบการณ์หรือช่วงเวลาในชีวิต การมองประสบการณ์จากมุมมองพิเศษสามารถทำให้ประสบการณ์นั้นกลายเป็นหัวข้อที่ลึกซึ้งและมีความหมายให้กับเรียงความของคุณได้ [1]
    • เช่น คุณอาจจะเขียนเกี่ยวกับประสบการณ์ที่คุณได้เรียนรู้เกี่ยวกับความล้มเหลว คุณอาจจะคิดถึงตอนที่คุณสอบตกการสอบย่อยที่ไม่ได้บอกล่วงหน้า แม้ว่าการสอบย่อยจะดูไม่สลักสำคัญอะไรสำหรับคุณในตอนนั้น แต่คุณก็ได้ตระหนักทีหลังว่า การสอบตกตอนสอบย่อยนั้นบังคับให้คุณต้องประเมินเป้าหมายของตัวเองเสียใหม่ และกระตุ้นให้คุณพยายามสอบผ่านให้ได้ เมื่อมองจากมุมนั้นแล้ว ความล้มเหลวเล็กๆ น้อยๆ ได้กลายเป็นประตูไปสู่ความมานะบากบั่นและความมุ่งมั่นที่จะทำให้สำเร็จ
  2. เรียงความส่วนบุคคลที่ดีจะสำรวจประสบการณ์ใดประสบการณ์หนึ่งที่สร้างความรู้สึกถึงความขัดแย้งในชีวิตของคุณ เรียงความส่วนบุคคลเป็นหนทางในการสำรวจว่าประสบการณ์นั้นทำให้คุณกระวนกระวาย เป็นเดือดเป็นร้อน หรือเจ็บปวดได้อย่างไร และทำไมจึงเป็นเช่นนั้น มองว่าเรียงความเป็นพื้นที่ที่คุณจะได้ถกประเด็นถึงช่วงเวลาที่สำคัญและพิจารณาผลกระทบของประสบการณ์นี้ที่มีต่อชีวิตของคุณ [2]
    • ประสบการณ์ที่ว่านี้อาจเป็นช่วงเวลาที่ดูเหมือนเป็นแค่ช่วงเวลาเล็กๆ ที่กลับมีอิทธิพลยิ่งใหญ่ต่อคุณในภายหลัง เช่น ครั้งแรกที่คุณรู้สึกถึงความขยะแขยงเมื่อตอนเป็นเด็ก หรือสีหน้าของแม่ตอนที่คุณบอกแม่ว่าคุณเป็นเกย์ พยายามขุดลงไปให้ลึกว่าทำไมช่วงเวลานี้ถึงกวนใจ ทำให้คุณเจ็บปวด หรือทุกข์ใจในเรียงความของคุณ
    • จำไว้ว่าช่วงเวลาที่เต็มไปด้วยอารมณ์ที่รุนแรงนั้นมักดึงดูดใจผู้อ่าน การมีปฏิกิริยาที่รุนแรงต่อช่วงเวลาใดเวลาหนึ่งจะทำให้คุณสามารถถ่ายทอดอารมณ์เกี่ยวกับช่วงเวลานั้นผ่านการเขียนได้อย่างลึกซึ้ง และทำให้คนอ่านสนใจเรียงความของคุณ
  3. พูดถึงเหตุการณ์ใดเหตุการณ์หนึ่งที่กระตุ้นการตอบสนองทางอารมณ์. นอกจากนี้คุณก็อาจจะสำรวจเหตุการณ์ใดเหตุการณ์หนึ่งในชีวิตที่ทิ้งรอยประทับไว้ในใจอย่างยาวนาน บ่อยครั้งเรียงความส่วนบุคคลมักจะเป็นพื้นที่ให้คุณได้ทบทวนถึงเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นในชีวิตของคุณและได้เปลี่ยนชีวิตของคุณไปทางใดทางหนึ่ง นึกถึงเหตุการณ์เฉพาะที่เป็นเอกลักษณ์และเกี่ยวข้องกับคุณโดยเฉพาะ ยิ่งเหตุการณ์น่าประหลาดเท่าไหร่ เรียงความของคุณก็จะยิ่งดึงดูดใจให้น่าอ่านมากขึ้นเท่านั้น [3]
    • เช่น คุณอาจจะเน้นไปที่วันที่คุณพบว่าพ่อของคุณนอกใจแม่ หรือสัปดาห์ที่คุณเสียใจกับการจากไปของคนรัก นึกถึงประสบการณ์สาหัสในชีวิตของคุณที่ทำให้คุณเป็นคุณทุกวันนี้
    • นอกจากนี้คุณอาจจะตัดสินใจเขียนถึงหัวข้อหรือเหตุการณ์ที่ดูเบาสมองสักหน่อย เช่น ตอนที่คุณขึ้นรถไฟเหาะครั้งแรก หรือครั้งแรกที่คุณไปล่องเรือกับสามี/ภรรยา ไม่ว่าคุณจะเลือกเหตุการณ์ไหน คุณต้องแน่ใจว่ามันเป็นเหตุการณ์ที่กระตุ้นการตอบสนองทางอารมณ์อย่างแรงกล้า ตั้งแต่อารมณ์โกรธ ความสับสน ไปจนถึงความเบิกบานใจชนิดที่คุณไม่แคร์อะไรในโลกนี้แล้ว
  4. นึกถึงคนๆ หนึ่งในชีวิตที่คุณมีปัญหาด้วยไม่ทางใดก็ทางหนึ่ง. คุณอาจจะอยากสำรวจความสัมพันธ์ที่ไม่สลักสำคัญอะไรกับคนๆ หนึ่งในชีวิตของคุณลงในเรียงความ นึกถึงคนที่พอโตมาก็แยกย้ายกันไปหรือคนที่คุณรู้สึกว่าเหินห่างกันไปแล้ว นอกจากนี้คุณอาจจะเลือกคนที่คุณมีปัญหาหรือมีความสัมพันธ์ที่ซับซ้อนด้วยมาโดยตลอด และสำรวจว่าทำไมมันถึงเป็นอย่างนั้นในเรียงความของคุณ [4]
    • เช่น คุณอาจจะคิดว่าทำไมคุณกับแม่ถึงไม่คุยกันมาหลายปีแล้ว หรือทำไมคุณถึงไม่สนิทกับเพื่อนสมัยเด็กๆ อีกต่อไปแล้ว นอกจากนี้คุณอาจจะมองย้อนไปถึงความสัมพันธ์ฉันท์คนรักในอดีตที่ล้มเหลวและพิจารณาว่าทำไมมันถึงไปไม่รอด หรือความสัมพันธ์กับที่ปรึกษาที่กลับขุ่นมัวในภายหลัง
  5. เรียงความส่วนบุคคลที่ดีมีทั้งเรื่องที่เฉพาะเจาะจง เช่น ประสบการณ์ของคุณ และเรื่องทั่วๆ ไป เช่น เหตุการณ์ในปัจจุบันหรือประเด็นใหญ่ๆ คุณอาจจะเน้นไปที่เหตุการณ์ปัจจุบันหรือหัวข้อที่คุณสนใจมากเป็นพิเศษ เช่น การทำแท้งหรือค่ายผู้อพยพ และพิจารณาจากมุมมองส่วนบุคคลของคุณ [5]
    • ถามตัวเองเกี่ยวกับเหตุการณ์ปัจจุบันว่า เหตุการณ์ปัจจุบันเกี่ยวข้องกับประสบการณ์ของคุณอย่างไร คุณจะสำรวจประเด็นหรือเหตุการณ์ทางสังคมในปัจจุบันโดยใช้ความคิด ประสบการณ์ และอารมณ์ของคุณได้อย่างไร
    • เช่น คุณอาจสนใจที่จะเขียนเรื่องค่ายผู้อพยพชาวซีเรียในยุโรป จากนั้นคุณก็อาจจะกำหนดทิศทางการเขียนเรียงความส่วนบุคคลของคุณจากสถานะลูกของชาวต่างด้าวที่เข้ามาหางานทำในประเทศไทย และประสบการณ์ของคุณในฐานะที่เป็นลูกชาวต่างด้าวนั้นได้สร้างตัวตนอย่างที่คุณเป็นทุกวันนี้ได้อย่างไร วิธีนี้จะทำให้คุณได้สำรวจเหตุการณ์ปัจจุบันจากมุมมองส่วนตัว แทนที่จะพูดถึงเหตุการณ์ปัจจุบันจากมุมมองทางวารสารไกลๆ ทั่วไป
  6. เรียงความส่วนบุคคลมักจะมีส่วนต่างๆ ที่ตายตัว ได้แก่บทนำ ใจความสำคัญ และบทสรุป ส่วนต่างๆ แบ่งย่อยได้ดังนี้ : [6]
    • ส่วนบทนำควรมี “ประโยคที่ชวนให้ติดตาม” ซึ่งก็คือประโยคที่คุณจะดึงความสนใจของผู้อ่าน นอกจากนี้ก็ควรจะมีใจความหลักเชิงบรรยายที่มักจะเป็นจุดเริ่มต้นของเหตุการณ์สำคัญในเรื่องหรือหัวข้อที่เชื่อมโยงประสบการณ์ของคุณกับแนวคิดสากล
    • ส่วนใจความสำคัญควรมีหลักฐานที่มาสนับสนุนใจความหลักเชิงบรรยายและ/หรือประเด็นสำคัญในบทความของคุณ ซึ่งส่วนใหญ่มักอยู่ในรูปแบบของประสบการณ์และการคิดทบทวนของคุณที่มีต่อประสบการณ์ต่างๆ นอกจากนี้คุณยังควรบอกเส้นเวลาไว้ในส่วนใจความสำคัญด้วย เพื่อให้ผู้อ่านรู้ว่าเหตุการณ์เกิดขึ้นเมื่อไหร่และเกิดขึ้นได้อย่างไร
    • บทสรุปควรสรุปเหตุการณ์และประสบการณ์ที่คุณพูดถึงในเรียงความ นอกจากนี้คุณก็ควรมีคติสอนใจให้กับช่วงเวลาในเรื่องที่คุณได้ทบทวนว่า คุณได้เรียนรู้อะไรจากประสบการณ์นี้หรือว่าประสบการณ์นี้เปลี่ยนแปลงชีวิตของคุณไปอย่างไร
    • ในอดีตจะแนะนำว่าให้เขียนทั้งหมด 5 ย่อหน้า เป็นบทนำ 1 ย่อหน้า ใจความสำคัญ 3 ย่อหน้า และบทสรุป 1 ย่อหน้า แต่คุณไม่จำเป็นต้องจำกัดเรียงความส่วนบุคคลของคุณแค่ 5 ย่อหน้าตราบใดที่คุณมีครบทั้ง 3 ส่วน
    โฆษณา
ส่วน 2
ส่วน 2 ของ 3:

ลงมือเขียนเรียงความส่วนบุคคล

PDF download ดาวน์โหลดบทความ
  1. คุณควรขึ้นต้นเรียงความส่วนบุคคลด้วยบทนำที่ดึงดูดใจให้อ่านต่อและน่าสนใจสำหรับผู้อ่าน บทนำควรพูดถึงตัวละครหลักๆ ในเรียงความ รวมทั้งประเด็นหลักหรือประเด็นต่างๆ ในเรียงความด้วย นอกจากนี้ก็ควรนำเสนอคำถามหรือประเด็นหลักของเรียงความด้วย [7]
    • อย่าขึ้นต้นด้วยคำบรรยายที่อธิบายอย่างตรงไปตรงมาว่าคุณจะพูดเรื่องอะไร เช่น “ในเรียงความนี้ ดิฉันจะพูดถึงความสัมพันธ์ที่ไม่ค่อยราบรื่นระหว่างดิฉันกับแม่" แต่ให้ดึงความสนใจของผู้อ่านมาที่เรียงความของคุณ ในขณะเดียวกันก็ยังให้ข้อมูลที่จำเป็นทุกอย่างในบรรทัดเปิดเรื่องด้วย
    • ขึ้นต้นด้วยฉากใดฉากหนึ่งที่มีตัวละครหลักๆ ของเรียงความและเป็นฉากที่ให้คุณได้อภิปรายเกี่ยวกับคำถามหรือหัวข้อหลัก วิธีนี้จะทำให้คุณได้แนะนำตัวละครและปมขัดแย้งหลักให้ผู้อ่านได้ทราบในทันที
    • เช่น ถ้าคุณเขียนเรื่องความสัมพันธ์ที่ไม่ค่อยดีนักกับแม่ คุณอาจจะเน้นไปที่ความทรงจำฉากใดฉากหนึ่งที่คุณสองคนเห็นไม่ตรงกันหรือขัดแย้งกัน อาจจะเป็นตอนที่คุณกับแม่ทะเลาะกันเรื่องที่ดูไม่ค่อยสำคัญเท่าไหร่ หรือตอนที่คุณเถียงกันเรื่องความลับในครอบครัว
  2. เขียนจากน้ำเสียงหรือมุมมองที่เป็นเอกลักษณ์เฉพาะตัวของคุณ. แม้ว่าคุณจะเขียนเรียงความส่วนบุคคล แต่คุณก็ยังมีอิสระที่จะใช้น้ำเสียงในการเขียนหรือมุมมองเฉพาะตัวของคุณได้ เช่นเดียวกับงานเขียนประเภทอื่นๆ เรียงความส่วนบุคคลมักจะประสบความสำเร็จมากกว่าถ้าหากผู้เขียนใช้น้ำเสียงในการเขียนที่ทั้งให้ความบันเทิงและให้ข้อมูลแก่ผู้อ่าน ซึ่งก็คือการเลือกใช้คำ โครงสร้างประโยค และน้ำเสียงในการสร้างเสียงบรรยายที่ดึงดูดใจลงไปในเรียงความของคุณ [8] [9]
    • น้ำเสียงในการเขียนที่ว่านี้อาจเป็นน้ำเสียงแบบสนทนา เหมือนเวลาที่คุณพูดกับเพื่อนสนิทหรือคนในครอบครัว หรือน้ำเสียงในการเขียนนี้อาจจะฟังดูครุ่นคิดและมาจากภายใน ซึ่งเป็นตอนที่คุณตั้งคำถามถึงข้อสันนิษฐานและความคิดของตัวเองเกี่ยวกับประเด็นในเรียงความ
    • เรียงความส่วนบุคคลหลายชิ้นจะเขียนโดยการใช้สรรพนามบุรุษที่ 1 ว่า “ฉัน/ผม” คุณอาจจะเล่าเรื่องราวในลักษณะที่ทำให้เหมือนเป็นเหตุการณ์สดใหม่ หรือจะบอกชัดเจนว่าเป็นเรื่องในอดีตก็ได้เพื่อให้คุณได้ทบทวนเหตุการณ์หรือช่วงเวลานั้นได้อย่างเฉพาะเจาะจงมากขึ้น
  3. พัฒนาตัวละครเพื่อให้ตัวละครมีมิติรอบด้านและมีรายละเอียด. คุณต้องอธิบายตัวละครด้วยรายละเอียดทั้งทางประสาทสัมผัสและทางกายภาพ จริงอยู่ที่คุณดึงรายละเอียดจากประสบการณ์ชีวิตลงไปในเรียงความ แต่คุณก็ควรคำนึงถึงองค์ประกอบของการเล่าเรื่องอย่างแก่นเรื่องและตัวละครด้วย การใช้องค์ประกอบเหล่านี้ในเรียงความจะดึงดูดใจให้ผู้อ่านอยากอ่านต่อและช่วยให้เรียงความของคุณลื่นไหลด้วย [10]
    • นอกจากนี้คุณจะใส่คำพูดของตัวละครเข้าไปในเรียงความของคุณจากความทรงจำของคุณที่มีต่อเหตุการณ์นั้นด้วยก็ได้ แต่คุณควรจำกัดคำพูดตัวละครให้อยู่ไม่เกิน 2 – 3 บรรทัดต่อหน้า เพราะการใส่คำพูดตัวละครมากเกินไปอาจเริ่มเปลี่ยนทิศทางจากเรียงความส่วนบุคคลไปเป็นเรื่องแต่งมากกว่า
  4. นอกจากนี้คุณยังควรใส่ความรู้สึกถึงการมีแก่นเรื่องลงไปในเรียงความด้วย ซึ่งเป็นจุดที่ลำดับเหตุการณ์หรือช่วงเวลาที่ดำเนินต่อกันไปจนถึงจุดที่เกิดการตระหนักรู้หรือช่วงเวลาแห่งปมขัดแย้งตอนท้ายเรื่อง [11]
    • คุณอาจจะใช้โครงร่างแก่นเรื่องในการลำดับเรียงความ จุดหักเหของเรื่องควรทำหน้าที่เป็นหลักฐานที่มาสนับสนุนคำถามหลักหรือประเด็นของเรียงความ
  5. เน้นไปที่การเปิดเผยความจริงที่อยู่ลึกลงไปข้างใน. วิธีนี้หมายถึงการครุ่นคิดถึงความหมายที่เป็นแก่นแท้ของประสบการณ์ส่วนตัวอย่างลึกซึ้งยิ่งขึ้น พยายามใช้ความซื่อสัตย์และความสงสัยในการถกประเด็นประสบการณ์ของคุณ ซึ่งก็คือการที่คุณพยายามที่จะเผยความจริงที่ซ่อนอยู่ หรือความจริงที่ตอนนั้นคุณยังไม่รู้ว่ามันคืออะไร เรียงความส่วนบุคคลที่ดีที่สุดมักจะพยายามเปิดเผยความจริงที่น่าอึดอัดใจหรือยากที่ผู้เขียนจะพูดถึงมันได้ [12] [13]
    • คุณต้องจำไว้ว่า แม้ว่าประสบการณ์ของคุณอาจจะดูเหมือนมีปมขัดแย้งที่จำเป็นต่อการเขียนเรียงความส่วนบุคคลที่ดี แต่มันก็อาจจะเป็นปมที่ผู้อ่านคุ้นเคยมากๆ อยู่แล้ว ระวังเวลาเล่าประสบการณ์ที่ผู้อ่านคุ้นเคยอยู่แล้ว และเรื่องที่เต็มไปด้วยความรู้สึกถึงความเศร้าใจหรือความสงสารที่ผู้อ่านอาจจะเคยประสบมาก่อน
    • เช่น ถ้าคุณเขียนเรื่องการเสียชีวิตอย่างกระทันหันของคนที่คุณรัก มันก็อาจจะดูสำคัญและลึกซึ้งในสายตาของคุณ แต่ผู้อ่านก็น่าจะรู้ว่าเรียงความเกี่ยวกับคนรักที่จากไปน่าจะเป็นอย่างไร และก็อาจจะไม่สามารถเข้าถึงเรียงความของคุณได้เพราะพวกเขาไม่ได้รู้จักคนที่คุณรักอย่างที่คุณรู้จัก
    • คุณอาจจะพยายามเผยความจริงที่ลึกซึ้งไปกว่าแค่ “ฉันเศร้าเพราะคนที่ฉันรักตาย” แทน ลองคิดดูว่าคนที่คุณรักมีความหมายกับคุณอย่างไร และคนที่คุณรักส่งผลกับชีวิตของคุณอย่างไรทั้งในแง่ดีและแง่ลบ วิธีนี้จะนำไปสู่การพบความจริงที่อยู่ลึกลงไปและทำให้งานเขียนของคุณเข้มข้นมากยิ่งขึ้น
    โฆษณา
ส่วน 3
ส่วน 3 ของ 3:

ขัดเกลาเรียงความของคุณ

PDF download ดาวน์โหลดบทความ
  1. คุณสามารถเพิ่มความรุ่มรวยให้กับงานเขียนของคุณได้ด้วยการทดลองเทคนิคและรูปแบบการเขียนต่างๆ เช่น อุปลักษณ์ การกล่าวซ้ำ และบุคลาธิษฐาน งานเขียนของคุณอาจจะแข็งแกร่งขึ้นมากหากคุณเพิ่มเทคนิคทางการเขียนที่แสดงให้เห็นว่า คุณสามารถเล่าเรื่องของคุณได้ดีขนาดไหน [14]
    • เช่น คุณอาจจะใช้อุปลักษณ์อธิบายประสบการณ์การบอกแม่ว่าคุณเป็นเกย์ คุณอาจจะบรรยายสีหน้าของแม่คุณว่าเป็น “กำแพงที่โผล่ขึ้นมาตั้งตระหง่านชนิดไม่มีใครล่วงล้ำไปได้” หรือคุณอาจจะใช้การอุปมา เช่น “ปฏิกิริยาของแม่หยุดนิ่งตะลึงงัน ราวกับมีฟ้ามาผ่าแม่”
  2. พอคุณเขียนร่างเรียงความส่วนบุคคลฉบับแรกเสร็จแล้ว คุณควรอ่านตั้งแต่ต้นจนจบและฟังดูว่าเป็นอย่างไร คุณอาจจะอ่านออกเสียงให้ตัวเองฟังหรืออ่านให้คนที่เต็มใจช่วยคุณฟังก็ได้ [15]
    • ขณะที่คุณอ่านออกเสียง คุณควรไฮไลต์ประโยคที่ฟังแล้วงงหรือไม่ชัดเจนเท่าไหร่ รวมทั้งประโยคที่ฟังดูไม่เข้มข้นเท่าประโยคอื่นๆ ที่เหลือในฉบับร่างด้วย นอกจากนี้คุณก็ต้องแน่ใจด้วยว่าตัวละครของคุณได้รับการปูพื้นฐานมาเป็นอย่างดี และเรียงความของคุณก็ควรจะเป็นไปตามโครงสร้างการเขียนบางประเภทหรือสัมผัสได้ถึงการมีแก่นเรื่อง พิจารณาว่าคุณได้เข้าถึงความเป็นจริงที่อยู่ลึกลงไปในร่างเรียงความของคุณหรือยัง และต้องทำอย่างไรถึงจะเข้าถึงความจริงที่ว่านั้นได้หากสิ่งนั้นยังไม่ปรากฏบนหน้ากระดาษ การตรวจแก้เรียงความของคุณมีแต่จะทำให้งานเขียนของคุณแข็งแกร่งขึ้นมาก
  3. พอคุณได้ร่างเรียงความที่แข็งแกร่งมาแล้ว คุณก็ควรนั่งลงและลงมือแก้ไข คุณอาจจะดูจากความคิดเห็นที่คุณเขียนไว้ในร่างฉบับแรกขณะที่คุณอ่านออกเสียง และความคิดเห็นที่คุณได้มาจากผู้อ่านที่คุณไว้ใจ [16]
    • ขณะที่คุณแก้ไขเรียงความ คุณควรพิจารณาว่าเนื้อหาของคุณนั้นควรค่าแก่การเขียนถึงหรือไม่ คุณเขียนเกี่ยวกับหัวข้อหรือประเด็นที่คุณสนใจมากๆ หรือเปล่า และผู้อ่านจะเข้าใจงานเขียนของคุณไหม คุณไม่ควรทำให้คนอ่านสับสน เพราะอาจทำให้คนอ่านไม่อยากอ่านเรียงความของคุณต่อจนจบ
    • นอกจากนี้คุณต้องแน่ใจด้วยว่าจุดสนใจและประเด็นหลักของเรียงความนั้นปรากฏชัดเจน ประสบการณ์ของคุณควรวนเวียนอยู่รอบๆ คำถาม ประเด็น หรือหัวข้อหลัก วิธีนี้จะทำให้คุณมั่นใจได้ว่า เรียงความส่วนบุคคลของคุณนั้นถ่ายทอดออกมาได้ดีและไม่เยิ่นเย้อ
    โฆษณา

เคล็ดลับ

  • เพื่อให้ได้ไอเดียมากขึ้นว่างานเขียนประเภทเรียงความส่วนบุคคลคืออะไร คุณควรอ่านตัวอย่างงานเขียนประเภทเรียงความส่วนบุคคลที่รังสรรค์ขึ้นมาอย่างประณีต เรียงความส่วนบุคคลที่เป็นที่รู้จักหลายงานที่มักนำมาศึกษาในวงวิชาการได้แก่ “ลูกอีสาน” ของคำพูน บุญทวี “บันทึกจากหุบเขาฝนโปรยไพร” ของกนกพงศ์ สงสมพันธุ์ “ตะลุยเหมืองแร่” ของอาจินต์ ปัญจพรรค์ “หยดน้ำหวานในหยาดน้ำตา” ของอุรุดา โควินท์ และ “รวมเรียงความของศศิวิมล” ของจักรพันธุ์ โปษยกฤต
  • ถามตัวเองหลายๆ คำถามขณะที่คุณอ่านตัวอย่างงานเขียนเรียงความส่วนบุคคล เช่น ผู้เขียนเกริ่นเข้าประเด็นในเรียงความอย่างไร ผู้เขียนสำรวจประเด็นนั้นจากมุมมองส่วนบุคคลอย่างไร ประเด็นหลักของเรียงความคืออะไร ผู้เขียนเชื่อมโยงประสบการณ์ส่วนบุคคลเข้ากับประเด็นหรือแนวคิดที่เป็นสากลอย่างไร ผู้เขียนใช้อารมณ์ขันหรือความหลักแหลมอย่างไรในเรียงความ คำสอนโดยสรุปของเรียงความคืออะไร ตอนจบของเรียงความทำให้คุณพอใจ ประหวั่นพรั่นพรึง สงสัย หรือทั้งหมดที่กล่าวมา
โฆษณา

เกี่ยวกับวิกิฮาวนี้

มีการเข้าถึงหน้านี้ 5,636 ครั้ง

บทความนี้เป็นประโยชน์กับคุณไหม

โฆษณา