ดาวน์โหลดบทความ ดาวน์โหลดบทความ

เนื้อหาในส่วนของระเบียบวิธีวิจัยในรายงานค้นคว้าทางวิชาการคือส่วนที่เปิดโอกาสให้คุณได้โน้มน้าวใจผู้อ่านว่า งานวิจัยของคุณมีประโยชน์และมีคุณค่าต่อสาขาวิชาของคุณ ระเบียบวิธีวิจัยที่มีประสิทธิภาพนั้นขึ้นอยู่กับวิธีการโดยภาพรวมว่า งานของคุณเป็นงานวิจัยเชิงคุณภาพหรือปริมาณและอธิบายวิธีที่คุณใช้อย่างเพียงพอ ให้เหตุผลว่าทำไมคุณถึงใช้วิธีการนี้แทนที่จะเป็นวิธีอื่น และอธิบายว่าวิธีการเหล่านั้นมันจะช่วยตอบคำถามวิจัยของคุณได้อย่างไร [1]

ส่วน 1
ส่วน 1 ของ 3:

อธิบายวิธีการ

ดาวน์โหลดบทความ
  1. เริ่มต้นเนื้อหาส่วนระเบียบวิธีวิจัยด้วยการเรียงลำดับปัญหาหรือคำถามที่คุณตั้งใจจะศึกษา ใส่สมมุติฐานลงไปด้วยถ้ามี หรือเขียนสิ่งที่คุณต้องการจะพิสูจน์ผ่านการทำวิจัยนี้ [2]
    • ในการกล่าวซ้ำนั้น ให้ใส่สมมุติฐานพื้นฐานที่คุณมีหรือเงื่อนไขที่คุณจะไม่นำมาพิจารณา สมมุติฐานเหล่านี้จะเป็นสิ่งที่บอกถึงวิธีวิจัยที่คุณเลือกด้วย
    • โดยทั่วไปแล้วให้พูดถึงตัวแปรที่คุณจะทดสอบและเงื่อนไขอื่นๆ ที่คุณควบคุมหรือสันนิษฐานว่ามันเท่ากัน
  2. โดยรวมแล้ววิธีวิจัยจะเป็นเชิงคุณภาพหรือไม่ก็ปริมาณ แต่ในบางครั้งคุณก็อาจจะใช้ทั้งสองวิธีผสมกัน อธิบายว่าทำไมคุณถึงเลือกวิธีการนั้นโดยสังเขป [3]
    • ถ้าคุณต้องการวิจัยและรวบรวมแนวโน้มทางสังคมที่สามารถวัดได้ หรือประเมินผลกระทบจากนโยบายที่มีต่อหลายปัจจัย ให้ใช้วิธีการเชิงปริมาณที่เน้นไปที่การเก็บข้อมูลและการวิเคราะห์สถิติ
    • ถ้าคุณต้องการประเมินความคิดเห็นหรือความเข้าใจของผู้คนที่มีต่อปัญหาใดปัญหาหนึ่ง ให้เลือกวิธีการที่เป็นเชิงคุณภาพมากกว่า
    • นอกจากนี้คุณยังผสมทั้งสองวิธีการได้ด้วย เช่น ในเบื้องต้นคุณอาจจะดูที่แนวโน้มทางสังคมที่วัดได้ก่อน แต่ก็สัมภาษณ์ผู้คนและถามความคิดเห็นที่มีต่อแนวโน้มที่กำลังส่งผลกระทบต่อชีวิตของพวกเขาด้วย
  3. เนื้อหาในส่วนนี้ที่อยู่ในระเบียบวิธีวิจัยจะบอกผู้อ่านว่า คุณทำวิจัยเมื่อไหร่และที่ไหน และคุณใช้ตัวแปรพื้นฐานอะไรในการทำให้แน่ใจได้ว่า ผลการวิจัยของคุณมีความเป็นกลาง [4]
    • เช่น ถ้าคุณใช้วิธีการทำแบบสำรวจ คุณก็ต้องอธิบายคำถามที่อยู่ในแบบสำรวจ สถานที่และวิธีการสำรวจ (เช่น ต่อหน้า ออนไลน์ ทางโทรศัพท์) มีการแจกแบบสำรวจเท่าไหร่ และผู้ตอบแบบสำรวจต้องใช้เวลานานแค่ไหน
    • ใส่รายละเอียดให้มากพอที่คนอื่นจะสามารถนำงานวิจัยของคุณไปทำซ้ำได้ แม้ว่าเขาอาจจะไม่ได้ผลลัพธ์แบบเดียวกับคุณก็ตาม [5]
  4. อธิบายความรู้พื้นฐานสำหรับวิธีการที่ไม่เป็นที่นิยม. โดยเฉพาะอย่างยิ่งในสาขาสังคมศาสตร์ คุณอาจจะใช้วิธีการที่ไม่ได้ใช้กันตามปกติ หรือดูเหมือนจะไม่สอดคล้องกับปัญหาวิจัยของคุณ วิธีการเหล่านี้อาจจะต้องมีการอธิบายเพิ่มเติม [6]
    • โดยปกติแล้ววิธีวิจัยเชิงคุณภาพจะต้องอธิบายรายละเอียดมากกว่าวิธีเชิงปริมาณ
    • คุณไม่ต้องอธิบายแนวทางการค้นคว้าขั้นพื้นฐานมากนัก โดยทั่วไปแล้วคุณสามารถสันนิษฐานได้ว่า ผู้อ่านมีความเข้าใจเกี่ยวกับวิธีการวิจัยทั่วไปที่นักสังคมศาสตร์ใช้กันโดยทั่วไปอยู่แล้ว เช่น การทำแบบสำรวจหรือการสนทนากลุ่ม
  5. อ้างอิงแหล่งที่มาที่มีส่วนในการเลือกวิธีวิจัย. ถ้าคุณใช้ผลงานของคนอื่นเป็นส่วนหนึ่งในการสร้างหรือประยุกต์เป็นวิธีวิจัยของตัวเอง ให้อภิปรายถึงผลงานเหล่านั้นและอธิบายว่า ผลงานเหล่านั้นสนับสนุนงานของคุณอย่างไรหรืองานของคุณต่อยอดจากผลงานเหล่านั้นอย่างไร [7]
    • เช่น สมมุติว่าคุณทำแบบสำรวจและใช้งานวิจัยอื่นๆ 2-3 ชิ้นในการสร้างคำถามในแบบสอบถามของคุณเอง คุณจะต้องอ้างอิงถึงผลงานเหล่านั้นว่าเป็นแหล่งที่มาสนับสนุน
    โฆษณา
ส่วน 2
ส่วน 2 ของ 3:

ให้เหตุผลในการเลือกวิธีวิจัย

ดาวน์โหลดบทความ
  1. ถ้าคุณเก็บข้อมูลปฐมภูมิ คุณก็น่าจะต้องกำหนดตัวแปรที่มีคุณสมบัติเข้าเกณฑ์ กล่าวถึงตัวแปรเหล่านั้นให้ชัดเจนแล้วบอกให้ผู้อ่านรู้ว่า ทำไมคุณถึงกำหนดตัวแปรเหล่านั้นและตัวแปรเหล่านั้นมีความสำคัญต่องานวิจัยของคุณอย่างไร [8]
    • อธิบายผู้เข้าร่วมงานวิจัยอย่างเจาะจง และเขียนรายการเกณฑ์การคัดเข้าหรือเกณฑ์การคัดออกที่คุณใช้ในการรวมกลุ่มผู้เข้าร่วม
    • ให้เหตุผลในขนาดกลุ่มตัวอย่างถ้ามี และอธิบายว่ามันมีผลต่อการที่งานวิจัยของคุณจะสามารถนำไปอธิบายกลุ่มประชากรที่ใหญ่กว่านี้ได้หรือไม่ เช่น ถ้าคุณทำแบบสำรวจประชากรนักศึกษาในมหาวิทยาลัยจำนวน 30% คุณก็อาจจะสามารถนำผลการวิจัยนี้ไปใช้กับนักศึกษาได้ทั้งหมด แต่อาจจะไม่สามารถใช้กับนักศึกษามหาวิทยาลัยอื่นได้
  2. อธิบายว่างานวิจัยของคุณไม่ได้รับผลกระทบจากจุดอ่อนในวิธีวิจัย. วิธีวิจัยแต่ละวิธีล้วนมีทั้งจุดแข็งและจุดอ่อน อภิปรายโดยสังเขปถึงจุดอ่อนหรือข้อวิจารณ์ของวิธีการที่คุณเลือกใช้ และอธิบายว่าจุดอ่อนเหล่านั้นไม่เกี่ยวข้องหรือไม่มีผลต่องานวิจัยของคุณอย่างไร [9]
    • การอ่านงานวิจัยอื่นๆ เป็นวิธีที่ดีในการระบุปัญหาที่มักเกิดขึ้นในวิธีวิจัยต่างๆ กล่าวว่าคุณเจอปัญหาที่พบบ่อยเหล่านี้ในระหว่างการทำวิจัยหรือไม่
  3. การเอาชนะอุปสรรคในการวิจัยอาจเป็นหนึ่งในส่วนที่สำคัญที่สุดของระเบียบวิธีวิจัยเลยก็ว่าได้ เพราะความสามารถในการแก้ไขปัญหาจะทำให้ผู้อ่านเชื่อมั่นในผลงานวิจัยของคุณมากยิ่งขึ้น [10]
    • ถ้าคุณเจอปัญหาในระหว่างการเก็บข้อมูล อธิบายให้ชัดเจนถึงขั้นตอนที่คุณใช้เพื่อลดผลกระทบของปัญหาที่อาจมีต่อผลการวิจัยของคุณให้น้อยที่สุด
  4. ประเมินวิธีการอื่นๆ ที่สามารถนำมาใช้ได้แต่คุณไม่ได้ใช้. โดยเฉพาะอย่างยิ่งถ้าคุณเลือกใช้วิธีการที่ดูจะไม่ค่อยเป็นที่นิยมในหัวข้อนั้นๆ ให้อภิปรายถึงวิธีการอื่นๆ ที่นิยมใช้ในงานวิจัยประเภทเดียวกันกับคุณมากกว่า แล้วอธิบายเหตุผลว่าทำไมคุณถึงไม่เลือกใช้วิธีการเหล่านั้น [11]
    • ในบางกรณีก็อาจจะเป็นการอภิปรายอย่างง่ายๆ ว่า แม้ว่าจะมีงานวิจัยมากมายที่ใช้วิธีการนั้นๆ แต่ไม่มีงานวิจัยไหนเลยที่ใช้วิธีการของคุณ ซึ่งทำให้เกิดช่องว่างในการทำความเข้าใจกับปัญหา
    • เช่น อาจจะมีงานวิจัยจำนวนมหาศาลที่ให้ผลวิเคราะห์เชิงปริมาณของแนวโน้มทางสังคมในเรื่องใดเรื่องหนึ่ง แต่ไม่มีงานวิจัยไหนเลยที่วิเคราะห์อย่างละเอียดว่า แนวโน้มนี้มีผลต่อชีวิตของผู้คนอย่างไร
    โฆษณา
ส่วน 3
ส่วน 3 ของ 3:

เชื่อมโยงวิธีการกับเป้าหมายงานวิจัย

ดาวน์โหลดบทความ
  1. โดยทั่วไปแล้วผลการวิเคราะห์ของคุณจะขึ้นอยู่กับวิธีวิจัยที่คุณใช้ว่าเป็นเชิงคุณภาพ เชิงปริมาณ หรือผสมทั้งสองแบบ ถ้าคุณใช้วิธีเชิงปริมาณ คุณก็อาจจะใช้การวิเคราะห์เชิงสถิติ แต่ถ้าเป็นวิธีเชิงคุณภาพ ให้กล่าวถึงมุมมองในทางทฤษฎีหรือหลักปรัชญาที่คุณใช้ [12]
    • คุณสามารถผสมผสานการวิเคราะห์ทั้งเชิงปริมาณและคุณภาพได้เหมือนกับที่คุณสามารถใช้วิธีการทั้งสองอย่างได้แล้วแต่คำถามวิจัยของคุณ เช่น คุณอาจจะทำการวิเคราะห์เชิงสถิติ จากนั้นก็ตีความสถิติเหล่านั้นผ่านมุมมองทางทฤษฎีอีกทีหนึ่ง
  2. อธิบายว่าผลการวิเคราะห์ของคุณสอดคล้องกับเป้าหมายวิจัยอย่างไร. สุดท้ายแล้ววิธีวิจัยโดยรวมของคุณควรจะสามารถให้คำตอบของคำถามงานวิจัยของคุณได้ ซึ่งถ้ามันไม่สอดคล้องกัน คุณก็จะต้องปรับวิธีวิจัยหรือไม่ก็กำหนดขอบเขตของคำถามวิจัยเสียใหม่ [13]
    • เช่น สมมุติว่าคุณทำวิจัยเรื่องผลกระทบของการศึกษาในระดับอุดมศึกษาที่มีต่อเกษตรกรรมแบบครอบครัวในชนบทของประเทศไทย แม้ว่าคุณจะไปสัมภาษณ์คนที่มีการศึกษาในระดับอุดมศึกษาที่เติบโตมาในสภาพแวดล้อมของเกษตรกรรมแบบครอบครัว แต่คุณก็จะไม่ได้ภาพของผลกระทบโดยรวมอยู่ดี วิธีการเชิงปริมาณและการวิเคราะห์เชิงสถิติจะทำให้คุณเห็นภาพรวมมากกว่า
  3. ระบุว่าการวิเคราะห์ของคุณตอบคำถามวิจัยอย่างไร. เชื่อมโยงวิธีวิจัยกลับไปที่คำถามวิจัยตั้งต้น และนำเสนอผลลัพธ์ตามการวิเคราะห์ของคุณ อธิบายอย่างเจาะจงว่าผลการวิจัยจะเผยให้เห็นถึงอะไรในคำถามวิจัยของคุณ [14]
    • ถ้าในการตอบคำถามวิจัยของคุณนั้น ผลการวิจัยของคุณได้ตั้งคำถามอื่นๆ ที่ต้องมีการศึกษาค้นคว้าต่อไป ก็ให้อธิบายลงไปสั้นๆ
    • ในส่วนนี้คุณยังสามารถอธิบายถึงข้อจำกัดของวิธีที่คุณใช้ หรือคำถามที่ไม่ได้รับการตอบผ่านงานวิจัยของคุณได้ด้วย
  4. ประเมินว่าผลการวิจัยของคุณสามารถถ่ายโอนหรือสรุปใช้ทั่วไปได้หรือไม่. คุณอาจจะสามารถถ่ายโอนผลการวิจัยของคุณไปยังบริบทอื่นๆ หรือสามารถใช้เป็นบทสรุปของจำนวนประชากรที่กว้างกว่านี้ได้ แต่การถ่ายโอนผลงานวิจัยอาจจะทำได้ยากในการวิจัยสาขาสังคมศาสตร์ โดยเฉพาะอย่างยิ่งถ้าคุณใช้วิธีการเชิงคุณภาพ [15]
    • การสรุปใช้ทั่วไปมักใช้ในงานวิจัยเชิงปริมาณมากกว่า ถ้าคุณมีกลุ่มตัวอย่างที่ออกแบบมาดี คุณสามารถประยุกต์ผลการวิจัยของคุณในทางสถิติกับกลุ่มประชากรที่ใหญ่กว่าที่สอดคล้องกับกลุ่มตัวอย่างของคุณได้
    โฆษณา

เคล็ดลับ

  • เรียงระเบียบวิธีวิจัยตามลำดับเวลา เริ่มจากวิธีเตรียมการดำเนินวิธีวิจัย วิธีการรวบรวมข้อมูล และวิธีการวิเคราะห์ข้อมูล [16]
  • ถ้าคุณเขียนระเบียบวิธีวิจัยเป็นภาษาอังกฤษ ให้ใช้ Past Tense นอกจากว่าคุณจะส่งเนื้อหาส่วนระเบียบวิธีวิจัยก่อนทำวิจัย [17]
  • พูดคุยแผนการของคุณอย่างละเอียดกับที่ปรึกษาหรือหัวหน้าก่อนยึดวิธีวิจัยอย่างใดอย่างหนึ่ง พวกเขาจะสามารถระบุข้อบกพร่องที่อาจเกิดขึ้นในงานวิจัยของคุณได้ [18]
  • ถ้าคุณเขียนระเบียบวิธีวิจัยเป็นภาษาอังกฤษ ให้ใช้โครงสร้าง Passive Voice เพื่อเน้นการกระทำมากกว่าผู้กระทำ [19]
โฆษณา

เกี่ยวกับวิกิฮาวนี้

มีการเข้าถึงหน้านี้ 12,060 ครั้ง

บทความนี้เป็นประโยชน์กับคุณไหม

โฆษณา