ดาวน์โหลดบทความ ดาวน์โหลดบทความ

ถ้าเลือดคุณจับตัวเป็นลิ่ม คุณเคยเป็นโรคหลอดเลือดในสมอง หัวใจเต้นผิดจังหวะ หรือเคยหัวใจวายมาก่อน คุณก็คงต้องกินยาเจือจางเลือด (blood thinner) ที่คุณหมอจ่ายให้ ถ้าเลือดคุณเจือจางได้แบบต่อเนื่อง อาการทั้งหลายแหล่ที่เคยเกิดก็จะไม่กลับมาเยือนคุณอีก สรุปแล้วคุณสามารถเจือจางเลือดที่ข้นหนืดเกินไปของคุณเพื่อสุขภาพที่ดีได้ ด้วยการกินยา เปลี่ยนแปลงวิถีชีวิต และการรักษาดูแลของคุณหมอประจำตัว

วิธีการ 1
วิธีการ 1 ของ 3:

เจือจางเลือดด้วยยาที่หมอจ่าย

ดาวน์โหลดบทความ
  1. ถ้าคุณประสบกับปัญหาสุขภาพหรือมีอาการที่จำเป็นต้องมีการเจือจางเลือด คุณหมอมักจ่ายยาต้านการแข็งตัวของเลือด หรือ anticoagulant ให้คุณ เป็นยาที่เน้นกำจัดอะไรก็ตามที่ทำให้เลือดคุณจับตัวกันเป็นลิ่ม คุณหมออาจจ่ายยาแบบ coumarin-based ร่วมด้วย อย่างยา coumadin หรือ warfarin เป็นต้น ยาพวกนี้จะไปลดการสร้าง vitamin K dependent clotting factors หรือ VKDCF ในเลือด ปกติต้องกินแค่วันละครั้งเดียว เวลาเดียวกันทุกวัน จะกินหลังอาหารหรือกินเดี่ยวๆ ก็ได้
    • ผลข้างเคียงที่พบได้ก็คือท้องอืด ปวดท้อง และบางทีก็ผมร่วง [1]
  2. ถ้าคุณรักษาด้วยยา warfarin อยู่ ก็ต้องมีการดูแลอย่างใกล้ชิด เพราะ warfarin ขึ้นชื่อเรื่องอาจทำให้เลือดออกภายในร่างกายได้ ใช้ยาตัวนี้ต้องมีการตรวจเลือดทุกอาทิตย์ แล้วค่อยปรับเปลี่ยนปริมาณยาที่ได้รับตามผลการตรวจเลือด
    • นอกจากนี้ Warfarin ยังทำปฏิกิริยากับยาตัวอื่น เพราะฉะนั้นห้ามลืมบอกคุณหมอเด็ดขาด ว่าคุณกินอาหารเสริม วิตามิน หรือใช้ยาตัวอื่นอยู่หรือเปล่า แต่สำคัญไปกว่าคือการควบคุมอาหาร เพราะถ้าคุณกินยา warfarin เมื่อไหร่ เกิดได้รับวิตามิน K มากเกินไป ก็อาจรักษาด้วย warfarin ไม่ได้ผล ดีไม่ดีจะเกิดลิ่มเลือดขึ้นด้วย
    • เวลาใช้ยา warfarin ให้พยายามเลี่ยงอาหารที่อุดมวิตามิน K อย่างพวกบร็อคโคลี่ กะหล่ำดอก กะหล่ำดาว กะหล่ำปลี ผักเคล ผักโขม ถั่วแขก ชาเขียว ตับ และชีสบางชนิด ลองปรึกษาคุณหมอดูก็ดีว่าถ้าใช้ยา warfarin แล้วคุณจะทานอะไรได้บ้าง [2]
  3. คุณหมออาจจ่ายยากินต้านการแข็งตัวของเลือดชนิดอื่นที่คนเริ่มหันมาใช้ให้คุณ ซึ่งก็ดีเพราะจะได้ไม่ต้องคอยตรวจเลือดทุกอาทิตย์ แถมอาหารที่วิตามิน K ก็ไม่ไปกระทบการออกฤทธิ์ของยาด้วย แต่ข้อเสียที่ทำให้คุณหมอต้องคิดดูก่อน อาจเป็นเพราะเฝ้าระวังอาการได้ยาก ที่สำคัญคือถ้าเกิดมีอาการตกเลือดภายในขึ้นมา จะไปเพิ่มปริมาณวิตามิน K ต้านฤทธิ์ยาทีหลังเหมือนเวลาใช้ยา warfarin ก็ไม่ได้แล้ว
    • คุณหมออาจจะจ่ายยา Pradaxa ให้คุณ เป็นยากินเหมือนกัน ปกติจะกินวันละ 2 ครั้ง โดยจะกินอาหารก่อนหรือเปล่าก็ได้ ผลข้างเคียงที่พบบ่อยของ Pradaxa มักเกิดกับทางเดินอาหาร เช่น ปวดท้อง คลื่นไส้ เป็นต้น ส่วนอาการข้างเคียงอื่นๆ ก็คืออาการตกเลือด หรืออาจมีอาการแพ้ได้ [3]
    • บางทีคุณหมอก็จ่ายยา Xarelto อันนี้ก็แล้วแต่อาการของคุณ ถ้าจ่ายก็ต้องกิน 1 - 2 ครั้งต่อวัน ยาตัวนี้ต้องกินอาหารด้วย ส่วนผลข้างเคียงของ Xarelto ก็มีพวกอาการแพ้ยา เลือดไหลภายใน หรืออาเจียนเป็นเลือด เวียนหัว แสบร้อน เกิดอาการเหน็บชา กล้ามเนื้ออ่อนแรง สับสนมึนงง หรือปวดหัว เป็นต้น [4]
    • นอกจากนี้ก็ยังมียา Eliquis ที่คุณหมออาจแนะนำให้ใช้ ตัวนี้ต้องกิน 2 ครั้งต่อวัน จะกินอาหารก่อนหรือเปล่าก็ได้ อาการข้างเคียงที่ควรระวังคืออาการแพ้ยา สัญญาณบอกว่ามีเลือดออกภายใน วิงเวียน มึนงง ปวดหัว ข้อปวดบวม เจ็บแน่นหน้าอก และหายใจหอบ [5]
    โฆษณา
วิธีการ 2
วิธีการ 2 ของ 3:

เจือจางเลือดด้วยวิธีอื่น

ดาวน์โหลดบทความ
  1. ถ้าคุณเคยเส้นเลือดในสมองแตกหรือเกิดหัวใจวายมาก่อน ไม่ก็อยู่ในกลุ่มเสี่ยง คุณหมออาจแนะนำให้กินยาแอสไพรินวันละครั้ง ในปริมาณที่ปกติเหมาะสมสำหรับเด็ก คือเม็ดละ 81 มก. ยาแอสไพรินช่วยเจือจางเลือดได้โดยป้องกันไม่ให้เซลล์เม็ดเลือดมากระจุกตัวกัน เลยทำให้ไม่เสี่ยงเกิดลิ่มเลือดขึ้นมา [6] แต่ข้อควรระวังก็คือ แอสไพรินจะทำให้คุณเสี่ยงเลือดออกภายในแทน เช่น อาการหลอดเลือดสมองปริหรือฉีกขาด และอาการเลือดออกในทางเดินอาหาร
    • ถ้าคุณเคยมีแผลในกระเพาะอาหาร เคยเลือดออกในทางเดินอาหาร หรือเคยแพ้ยาแอสไพริน ต้องบอกให้คุณหมอทราบแต่เนิ่นๆ ยิ่งถ้าปกติคุณกินยาแก้อักเสบแบบ NSAIDS อย่างไอบูโพรเฟนเป็นประจำอยู่แล้ว ก็ยิ่งเพิ่มความเสี่ยงที่จะมีเลือดออกภายใน เพราะงั้นเป็นเรื่องสำคัญที่ต้องแจ้งคุณหมอก่อนเริ่มรักษาด้วยยาแอสไพริน
    • แอสไพรินอาจไปทำปฏิกิริยากับยาตัวอื่นได้ เช่น เฮพาริน ไอบูโพรเฟน Plavix คอร์ติโคสเตียรอยด์ และยารักษาอาการซึมเศร้า รวมถึงพวกอาหารเสริมจากสมุนไพรอย่างแปะก๊วย คาวา และ cat’s claw ด้วย [7]
    • เพราะฉะนั้นคุณใช้ยา อาหารเสริม หรือวิตามินตัวไหนอยู่ ให้แจ้งคุณหมอไปให้ครบถ้วน
  2. การออกกำลังกายนี่แหละช่วยลดความเสี่ยงการเกิดเส้นเลือดในสมองแตกหรือหัวใจวายให้คุณได้เยอะมาก ถึงจะไปรักษาอะไรที่มันเกิดไปแล้วไม่ได้ แต่อย่างน้อยคุณก็ป้องกันโรคแทรกซ้อนไม่ให้ลุกลามไปมากกว่าเดิมได้ ด้วยการออกกำลังกายควบคู่ไปกับการกินยา [8] การออกกำลังกายที่เหมาะสมคือ 150 นาทีต่ออาทิตย์ หรือก็คือแบ่งเป็น 30 นาทีต่อวัน โดยออกกำลังกลางๆ แต่พอประมาณ อย่างการเดินเร็ว เป็นต้น [9]
    • หลีกเลี่ยงการออกกำลังกายที่อาจทำให้คุณบาดเจ็บร้ายแรง เกิดโรคแทรกซ้อน หรือตกเลือดได้ ถ้าถามคุณหมอได้จะดีที่สุด ว่ากิจกรรมใดเหมาะสมกับสภาพอาการและยาที่ใช้อยู่ของคุณ
  3. เปลี่ยนอาหารที่กินช่วยป้องกันไม่ให้โรคหัวใจของคุณร้ายแรงไปกว่าเดิม แถมยังช่วยให้ยาออกฤทธิ์ได้ดี เลือดคุณจะได้เจือจาง ไม่กลับไปมีอาการเก่าๆ อีก
    • ควบคุมปริมาณการกินโดยใช้จานเล็กลง แล้วจดบันทึกไว้ ว่าแต่ละมื้อกินอะไรไปเท่าไหร่
    • กินผักผลไม้ให้มากขึ้น เพราะอุดมไปด้วยวิตามิน สารอาหาร และสารต้านอนุมูลอิสระ
    • เลือกกินโฮลเกรนแทนแป้งขัดสี
    • เลือกกินไขมันดี อย่างถั่ว ปลาที่มีมันอย่างทูน่าหรือแซลม่อน
    • กินโปรตีนไร้มัน อย่างไข่ขาว ผลิตภัณฑ์นมแบบ low-fat แล้วก็ไก่เนื้อขาวไม่ติดหนัง
    • เลือกกินอาหารที่มีไขมันอิ่มตัวน้อย คือเป็นอาหารที่มีแคลอรี่จากไขมันอิ่มตัวน้อยกว่า 7% ของแคลอรี่ทั้งหมด นอกจากนี้คุณควรงดไขมันทรานส์ด้วย โดยต้องน้อยกว่า 1% ของแคลอรี่ทั้งหมดของอาหารนั้นๆ
    • ลด ละ เลิกอาหารเลี่ยนๆ เค็มๆ มันๆ อาหารฟาสต์ฟู้ด แล้วก็อาหารสำเร็จแช่แข็ง พวกข้าวกล่องร้านสะดวกซื้อทั้งหลายที่อ้างว่ามีคุณค่าทางอาหารต่างๆ นานา จริงๆ แล้วก็เกลือเยอะด้วยกันทั้งนั้น ส่วนพวกขนมที่ควรหลีกเลี่ยงก็คือพวกพาย วาฟเฟิลแช่แข็ง แล้วก็มัฟฟิน [10]
  4. รู้ไว้ใช่ว่า น้ำเปล่านี่แหละตัวเจือจางเลือดชั้นดีตามธรรมชาติ เวลาคุณขาดน้ำ ดื่มน้ำน้อย เลือดจะข้นกว่าปกติ จนจับตัวเป็นก้อนแล้วกลายเป็นลิ่มเลือดในที่สุด ขอให้คุณดื่มน้ำมากขึ้นในแต่ละวัน เลือดจะได้เจือจางลง สุขภาพโดยรวมก็พลอยดีขึ้นไปด้วย
    • คุณหมอส่วนใหญ่จะแนะนำให้คุณดื่มน้ำประมาณ 8 แก้วต่อวัน (64 ออนซ์) แต่คุณหมอบางคนก็ใช้สูตรง่ายๆ ชวนจำ คือให้ดื่มน้ำ 1 ออนซ์ ต่อน้ำหนักตัว 1 กิโลกรัม เพราะฉะนั้นถ้าคุณหนัก 70 กิโลกรัม คุณก็ต้องดื่มน้ำ 70 ออนซ์ต่อวันนั่นเอง [11]
    • แต่ก็อย่าดื่มน้ำมากจนเกินไป ดื่มแต่พอดี ถ้ารู้สึกจุกหรือฝืนเมื่อไหร่ ก็อย่าไปบังคับตัวเองให้ดื่มเพิ่ม
    โฆษณา
วิธีการ 3
วิธีการ 3 ของ 3:

เข้ารับการรักษา

ดาวน์โหลดบทความ
  1. อาการต่างๆ อย่างการเกิดลิ่มเลือด ภาวะลิ่มเลือดอุดกั้นในปอด หัวใจวายเฉียบพลัน ภาวะหัวใจห้องบนสั่นพลิ้ว และหลอดเลือดในสมองแตกนั้นล้วนแล้วแต่ร้ายแรงถึงชีวิต ถ้าไม่ได้รับการรักษาดูแลอย่างถูกต้อง ก็เสี่ยงต่อการเกิดซ้ำ ถ้าคุณเคยมีอาการอย่างที่ว่ามา ก็ต้องหมั่นตรวจเช็คร่างกายเป็นประจำ และอยู่ภายใต้การดูแลรักษาของคุณหมอ นอกจากนี้คุณหมออาจจ่ายยาสำหรับเจือจางเลือดให้คุณ รวมถึงอาหารพิเศษบางอย่างร่วมด้วย
    • ถึงอาหารบางอย่างจะช่วยเจือจางหรือทำให้เลือดข้นขึ้นได้ คุณก็ห้ามใช้การกินอาหารมาช่วยเจือจางเลือดของคุณเองเด็ดขาด
  2. ถ้าคุณมีภาวะเสี่ยงสูงหรือเคยเป็นโรคหัวใจหรือหลอดเลือดสมองมาก่อน ห้ามพยายามเจือจางเลือดด้วยตัวเองเด็ดขาด แค่การกินอาหารบางอย่างกับวิธีแบบบ้านๆ ประเภททำตามๆ กันมาน่ะช่วยป้องกันการเกิดลิ่มเลือดหรือภาวะหัวใจวายเฉียบพลันให้คุณไม่ได้หรอก การเปลี่ยนอาหารกับการออกกำลังกายนั้นจะช่วยป้องกันโรคหัวใจได้ก็ต่อเมื่อคุณยังไม่เคยแสดงอาการเท่านั้น ถ้าเคยเป็นโรคหัวใจหรือเคยอาการกำเริบสักครั้งแล้ว ทั้งการเจือจางเลือด เปลี่ยนอาหาร และออกกำลังกายก็ไม่สามารถรับประกันได้เลย ว่าคุณจะไม่กลับไปเป็นอีก
    • ต้องทำตามคำแนะนำของคุณหมออย่างเคร่งครัด ทั้งเรื่องพฤติกรรมการกินและการใช้ยา
  3. ถ้าตอนนี้คุณกินยาต้านการแข็งตัวของเลือดอยู่ ให้รีบโทรแจ้งคุณหมอหรือเข้ารับการรักษาทันทีที่รู้สึกหรือมีอาการเลือดไหลผิดปกติ ไม่ว่าจะเป็นการเลือดออกภายใน การตกเลือด หรือเลือดซึมช้าๆ ก็ตาม
    • ถ้ามีอาการเลือดออกผิดปกติ ให้รีบหาหมอทันที เช่น เลือดกำเดาไหลบ่อยๆ เลือดออกตามไรฟันแบบที่ไม่เคยเป็น และมีประจำเดือนหรือเลือดไหลจากอวัยวะเพศมากเกินกว่าปกติ
    • ถ้าคุณบาดเจ็บหรือเลือดไหลเยอะไม่ยอมหยุด ให้รีบไปโรงพยาบาลทันที
    • ให้รีบหาหมอโดยด่วนถ้ามีอาการเลือดออกภายใน เช่น ฉี่ออกมาเป็นสีแดง ชมพู หรือน้ำตาล อึออกมาเป็นสีแดงสด มีเลือดผสม หรือเป็นสีดำเหมือนน้ำมันดิน มีอาการไอเป็นเลือดหรือลิ่มเลือด อาเจียนเป็นเลือดหรือออกมาเป็นเม็ดเล็กๆ เหมือน "กาแฟคั่วบด" มีอาการปวดหัวหรือวิงเวียน เป็นลมหรือรู้สึกไม่มีแรง [12] [13]
    โฆษณา

คำเตือน

  • คุณหมอสั่งอะไรต้องทำตามอย่างเคร่งครัด ไม่ว่าจะเรื่องการกินยาให้ครบถ้วน งดอาหารบางชนิด หรือการใช้ยาอื่นร่วมด้วย
  • ห้ามกินอาหารเสริมจากสมุนไพรโดยไม่ปรึกษาคุณหมอก่อน บอกเลยว่า ณ ปัจจุบันยังไม่มีอาหารเสริมจากสมุนไพรตัวไหนที่ใช้เจือจางเลือดของคุณแบบเห็นผล ถ้าคุณกินอาหารเสริมเพื่อรักษาโรคอื่นๆ ก็ต้องบอกคุณหมอเหมือนกัน เพราะอาหารเสริมบางชนิดอาจไปต้านกันกับยาเจือจางเลือดที่คุณหมอจ่าย แล้วจะเป็นอันตรายได้
โฆษณา

เกี่ยวกับวิกิฮาวนี้

มีการเข้าถึงหน้านี้ 3,408 ครั้ง

บทความนี้เป็นประโยชน์กับคุณไหม

โฆษณา