ดาวน์โหลดบทความ ดาวน์โหลดบทความ

เขาที่เรากำลังจะพูดถึงอาจหมายถึงคนรัก เพื่อน หรือคนที่คุณไปมาหาสู่หรือใช้เวลาด้วยกันเป็นประจำ แต่คุณกลับไม่แน่ใจว่าความสัมพันธ์หรือมิตรภาพครั้งนี้เกิดขึ้นด้วยเหตุผลที่ถูกที่ควร หรือแค่เพราะคุณรู้สึกเหงา ถ้านี่ตรงกับกรณีของคุณล่ะก็ เรามีขั้นตอนในการทดสอบว่าคุณชอบใช้เวลากับเขาคนนั้นจริงๆ หรือแค่ไม่อยาก เหงา กันแน่มาฝากกัน

  1. ตั้งคำถมกับแรงจูงใจแรกที่ทำให้คุณเลือกทำความรู้จักกับคนๆ นี้. ตอนแรก คุณอาจจะสนใจข้อดีในตัวเขาจริงๆ หรือรู้สึกว่าเรามีอะไรเหมือนๆ กันในครั้งแรกที่ได้พบ แต่ในทางตรงกันข้าม คุณอาจรู้สึกว่าฉัน ควรจะทำดีกับเขา เพียงเพราะเพื่อนคนอื่นๆ ดูจะชอบเขา หรืออาจกำลังอยู่ในภาวะซึมเศร้าหลังจากเลิกกับแฟน หรือมีอะไรบางอย่างในชีวิตของอีกฝ่ายที่ทำให้คุณรู้สึกเห็นใจ พยายามคิดย้อนกลับไปยังจุดเริ่มต้นของความสัมพันธ์ และคิดหาเหตุผลให้ได้มากที่สุดว่า ทำไมคุณจึงเข้ามาข้องเกี่ยวกับคนๆ นี้ วิธีการนี้จะช่วยให้ตัดสินใจได้ว่าคุณรู้สึกยังไงกับคนๆ นี้กันแน่
  2. ไตร่ตรองดูว่า คุณมักจะรู้สึกอย่างไรเมื่อได้อยู่กับเขา. คิดถึงสิ่งที่ตัวคุณได้รับเมื่อใช้เวลาอยู่กับคนๆ นี้ คุณรู้สึกเบื่อ วิตกกังวล หรือรู้สึกอัดอัดบ้างรึเปล่า หรือในทางตรงข้าม คุณอาจจะรู้สึกมีความสุข สนุก ชอบ หรืออบอุ่นเมื่อได้ใช้เวลาอยู่กับเขา ลองใช้เวลาคิดถึงความทรงจำต่างๆ ให้ได้มากที่สุด เพื่อให้ได้ภาพของสิ่งที่มักเกิดขึ้นเสมอ (ถ้ามี) เช่น คุณมักจะมีช่วงเวลาแห่งความสุขเมื่อได้อยู่กับเขา หรือแค่ให้นึกถึงครั้งล่าสุดที่รู้สึกดีเมื่อได้อยู่กับเขาก็ยากแล้ว
  3. ขั้นตอนนี้อาจจะยากสักหน่อยสำหรับคนที่ไม่ชอบอยู่คนเดียวจริงๆ แต่ก็ถือเป็นขั้นสำคัญที่ควรลอง เพราะการได้ห่างจากคนที่ยังไม่แน่ใจในความสัมพันธ์ อาจจะทำให้คุณมองเห็นได้ชัดเจนขึ้นว่าสิ่งที่ทำให้คุณอยากคุยกับเขาเป็นเพียงเพราะ ความเหงา ล้วนๆ หรือมีเหตุผลดีๆ ที่ทำให้คุณยังติดต่อกันอยู่เสมอ พยายามห่างกันให้ได้อย่างน้อย 2 สัปดาห์ เพราะระยะเวลาประมาณนี้จะช่วยให้ตัดสินใจได้ว่าคุณคิดถึงเขาคนนั้นจริงๆ หรือแค่รู้สึก เบื่อ เมื่อไม่มีเขาอยู่ใกล้ๆ โดยในระหว่างที่ห่างกัน ให้ลองไตร่ตรองดูว่า
    • คุณคิดถึงอะไรบางอย่างเกี่ยวกับเขาหรือเปล่า เพราะถ้าคิดถึง ก็มีความเป็นไปได้สูงว่าคุณแคร์คนๆ นั้นจริงๆ
    • คุณพบว่า มันกลับเป็นเรื่องยากถ้าจะให้คิดว่ามีอะไรขาดหายไปจากชีวิตบ้างเมื่อไม่มีเขา หรือความรู้สึกคิดถึงเขาคนนั้นเป็นเพียงแค่ภาพลางๆ ในใจคุณ คุณอาจจะรู้สึกโล่งเลยก็ได้ที่ไม่ต้อง “ทน” กับทัศนคติหรือพฤติกรรมที่เขาชอบทำเมื่ออยู่ด้วยกัน ถ้าเป็นกรณีนี้ล่ะก็ เป็นไปได้ว่าคุณยังเก็บเขาไว้ในชีวิตเพื่อเติมเต็มช่องโหว่บางอย่างเท่านั้น
    • คุณพบว่าตัวเองนั่งเปรียบเทียบเขากับแฟนเก่าหรือคนก่อนๆ ที่เคยคุยด้วย บางครั้ง ช่วงเวลาที่ห่างกันอาจจะเผยให้เห็นรูปแบบของปัญหา บุคลิก และ ลักษณะนิสัย ด้านลบที่คล้ายกับความสัมพันธ์ก่อนหน้านี้ ในกรณีนี้ อาจจะหมายความว่าคุณได้ทำเรื่องผิดพลาดแบบเดิมซ้ำอีกครั้ง ด้วยการมีความสัมพันธ์ที่ไม่ได้ช่วยเติมเต็มฝ่ายใดเหมือนอย่างที่คุณเคยมี
    • ให้เวลาตัวเองได้ทบทวนและค้นหาตัวเอง เพราะการที่คุณรู้จักตัวเองไม่ดีพอ มักจะทำให้คุณรู้สึกอ่อนแอและพยายามไขว่คว้าหาคุณค่าของตัวเองจากความสัมพันธ์ต่างๆ ทำให้คุณตกอยู่ใต้คำสาปแห่งความคาดหวังว่าคนอื่นๆ จะช่วย “ฉุดคุณขึ้นมา” ถ้ารู้สึกว่านี่คือสิ่งที่คุณทำมาโดยตลอดล่ะก็ ลองให้เวลาตัวเองได้ค้นหาว่าจริงๆ แล้วคุณคือใครและสิ่งที่คุณแคร์คืออะไรกันแน่ เพื่อให้คุณรู้สึกชอบตัวเองมากยิ่งขึ้น วิธีนี้จะช่วยแทนที่ความรู้สึกเหงาด้วยความรู้สึกชอบตัวเอง อีกทั้งยังช่วยสร้างรากฐานอันแข็งแกร่งให้กับการมีความสัมพันธ์ที่ดีต่อไป
  4. ถามตัวเองดูว่า คุณคาดหวังกับความสัมพันธ์นี้สูงเกินไปรึเปล่า. บางครั้ง คุณอาจจะตั้งคำถามว่าฉันอยากมีเขาคนนั้นอยู่ในชีวิตจริงๆ หรือเปล่า เพราะคุณเอาแต่ทะเลาะกันไม่หยุดหย่อน แต่บางทีคุณอาจจะไม่ได้เกลียดเขาจริงๆ ก็ได้ ความจริงแล้ว คุณอาจจะชอบเขามากพอสมควร แต่ดันมีนิสัยหรือบุคลิกบางอย่างในตัวเขาที่คุณทำใจยอมรับได้ยาก หรือต้องรับมือกับมันมานานพอสมควร ซึ่งแสดงให้เห็นว่าคุณแค่ยังสนิทกันไม่มากพอ หรือคุณอาจต้องใช้เวลาอยู่ด้วยกันให้ “น้อยลง” เช่น ปัญหาอาจจะมาจากการที่เขาเป็นคนเก็บตัวในขณะที่คุณเป็นคนชอบเข้าสังคม หรือบางที ความสนใจของเขาอาจไม่ค่อยตรงกับคุณสักเท่าไร แต่เขาก็ยังเอาแต่พูดถึงแต่ความสนใจของตัวเอง และไม่เคยแสดงมารยาทตอบแทนด้วยการรับฟังเรื่องของคุณบ้าง ถ้าอ่านหัวข้อนี้แล้วคิดว่า “นี่มันเรื่องของฉันชัดๆ!” นี่อาจจะเป็นสัญญาณบ่งชี้ว่าคุณสามารถแก้ไขปัญหานี้ได้ด้วยการใช้เวลากับคนอื่นให้มากขึ้น ในขณะที่ยังใช้เวลากับคนๆ นี้บ้าง (แต่อาจจะน้อยลง) มากกว่าจะเป็นสัญญาณบ่งบอกว่าคุณไม่ชอบคนๆ นั้น และเลือกที่จะใช้เวลากับเขาเพียงเพราะไม่อยากอยู่คนเดียวเท่านั้น
  5. นำตัวเองออกไปพบผู้คนให้มากสุดเท่าที่รู้สึกว่าทำได้. เพราะการได้ใช้เวลากับคนอื่นอาจจะช่วยให้คุณเข้าใจได้มากขึ้นว่าตัวเองอยากคบค้ากับคนประเภทไหน นอกจากนี้ การได้พบผู้คนในบริบทต่างๆ อาจช่วยให้คุณเข้าใจได้ว่า คนที่คุณใช้เวลามากมายไปกับเขาเข้าข่ายคนที่คุณอยากคบค้าด้วยหรือเปล่า หรือคุณมีความเป็นผู้ใหญ่มากกว่าเขาหรือเปล่า
    • หาก รู้สึกประหม่า เมื่อต้องใช้เวลากับคนอื่น (โดยเฉพาะถ้าคุณใช้เวลาส่วนใหญ่หมดไปกับเขา) การลองวิธีนี้ไม่จำเป็นต้องหมายถึงการใช้เวลากับครอบครัวหรือเพื่อนสนิทเท่านั้น (แม้สิ่งเหล่านี้จะช่วยได้มากก็ตาม) แค่พูด “สวัสดี” อย่างร่าเริงแจ่มใส หรือหาโอกาสพูดคุยสั้นๆ กับคนรู้จัก (ไม่ว่าจะเป็นพนักงานร้าน เพื่อนร่วมงาน หรือคนที่เดินสวนกันบนถนนเป็นประจำ) ก็ล้วนแล้วแต่เป็นจุดเริ่มต้นที่ดี
    • ถ้าคุณยอมให้คนๆ นี้เข้ามาควบคุมพื้นที่มากมายในชีวิตและปิดตายคุณจากคนอื่นๆ อาจจะลองคิดถึงการทำงานอาสาสมัครให้กับกลุ่มคนที่รู้สึกเหงา เช่น ผู้อาวุโสหรือเด็กยากไร้ วิธีการนี้จะช่วยให้คุณได้เห็นมุมมองใหม่ๆ ของความเหงา ทำให้คุณเข้าใจผู้คนอีกมากมาย และคิดถึงความต้องการของพวกเขามากกว่าของตัวเอง
    • ถ้ารู้สึกไม่ดีกับการโผเข้าหาประสบการณ์ใหม่ๆ ให้มองว่าคุณกำลังทำเพื่อคนอื่น เพราะการใช้เวลากับผู้คนมากมายไม่ได้ช่วยทลายวงจรแห่งความเหงาของคุณเท่านั้น แต่คุณยังได้ช่วยอีกฝ่ายด้วยเช่นกัน เพราะงานวิจัยของมหาวิทยาลัยชิคาโก มหาวิทยาลัยแคลิฟอร์เนีย-ซานดิเอโก และมหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ดที่จัดทำขึ้นเมื่อเร็วๆ นี้พบว่า ความเหงาเป็นสิ่งที่แพร่กระจายได้ง่ายและสามารถส่งต่อถึงผู้อื่นได้ นั่นหมายความว่า คุณอาจส่งต่อความเหงาถึงเขาคนนั้นโดยไม่ได้ตั้งใจ [1] ด้วยเหตุนี้ การเปิดโอกาสให้ตัวเองได้พบปะคนอื่นๆ มากขึ้นจึงอาจช่วยทลายวงจรแห่งความเหงาของคุณทั้ง 2 คน
  6. ตรวจสอบความคิดและ อารมณ์ ที่เกิดขึ้นอย่างต่อเนื่อง. อีกหนึ่งวิธีที่สามารถนำไปใช้เพื่อทดสอบว่าความสัมพันธ์นั้นๆ มีคุณค่ากับคุณอย่างไร คือ การวางแผนทำอะไรซักอย่างกับคนๆ นั้นและทำให้ได้ตามแผนที่วางไว้ โดยตลอดระยะเวลาที่กำลังทำตามแผน ให้คอยจับตาดูความคิดและปฏิกิริยาตอบสนองทางอารมณ์ของคุณที่เกิดขึ้นโดยอัตโนมัติ โดยทั้งก่อนหน้าและในระหว่างนี้ ถ้าคุณพบว่าในหัวของตัวเองเต็มไปด้วยความคิดแง่ลบ เช่น “มันต้องออกมาแย่แน่ๆ” หรือ “ฉันอยากทำอะไรที่น่าสนุกกว่า/น่าสนใจกว่า/ดีกว่านี้” หรือเกิดความรู้สึกแย่แบบสุดๆ เช่น หวาดกลัวรุนแรง ขยะแขยง เบื่อหน่าย ฯลฯ สิ่งเหล่านี้อาจจะเป็นสัญญาณเตือนว่าคุณไม่ชอบใช้เวลากับเขาหรือไม่เห็นคุณค่าของเขาในฐานะคนที่มีอะไรร่วมกัน
  7. ปิดฉากมิตรภาพ หรือความสัมพันธ์นั้นซะ ถ้าเห็นว่าเหมาะสม. หลังจากลองวิธีการต่างๆ ข้างต้นแล้วรู้สึกว่า คุณไม่ชอบเขาเอาจริงๆ แต่เลือกที่จะคบค้าสมาคมเพียงเพราะไม่อยากอยู่คนเดียว อาจถึงเวลาต้องคิดถึงการปิดฉากความสัมพันธ์ครั้งนี้ และค้นหาบุคคลหรือกิจกรรมอื่นๆ ที่ช่วยเติมเต็มช่วงเวลาของคุณได้ เพราะนอกจากจะช่วยให้คุณรู้สึกโล่งใจแล้ว ยังเป็นการยุติธรรมกับอีกฝ่ายมากกว่าการดึงรั้งความสัมพันธ์อันแสนหม่นหมองนี้ต่อไป จงยอมรับให้ได้ว่า บางครั้งคนเราก็จำเป็นต้องปล่อยบางอย่างเพื่อที่จะก้าวต่อไป
    โฆษณา

คำเตือน

  • ถ้าคุณเลือกที่จะปิดฉากความสัมพันธ์นั้นไปแล้ว และเพิ่งมาตัดสินใจได้ภายหลังว่าคุณชอบคนๆ นั้นจริงๆ คุณอาจจะทำให้เขากลับมาชอบหรือไว้ใจคุณอีกครั้งได้ยาก หรืออาจเป็นไปไม่ได้เลย เพราะฉะนั้น ถ้าตั้งใจจะเผาสะพานตัดความสัมพันธ์ ก็ต้องคิดให้ดีๆ ว่านี่คือสิ่งที่คุณต้องการจริงๆ
  • การตัดสินใจปิดฉากความสัมพันธ์มักจะมีการตอบสนองในทางลบ
โฆษณา

บทความวิกิฮาวอื่น ๆ ที่่เกี่ยวข้อง

ข้อมูลอ้างอิง

  1. MSNBC, Loneliness can be contagious, new study finds, http://www.msnbc.msn.com/id/34209727/ns/health-behavior/

เกี่ยวกับวิกิฮาวนี้

มีการเข้าถึงหน้านี้ 65,532 ครั้ง

บทความนี้เป็นประโยชน์กับคุณไหม

โฆษณา