ดาวน์โหลดบทความ ดาวน์โหลดบทความ

หากคุณชื่นชอบสัมผัสที่กรอบเบาของข้าวพอง มาลองหัดทำข้าวพองอร่อยๆ ทานเองที่บ้านกันดีกว่า เพื่อให้ได้ข้าวพองที่มีสัมผัสที่บางเบาและพองฟูมากที่สุด เริ่มจากหุงข้าวที่คุณชื่นชอบจนสุกนุ่มก่อนนำไปอบให้แห้งและลงทอดในน้ำมันร้อนๆ จนกระทั่งฟูกรอบได้ที่ หรือหากคุณต้องการให้ข้าวพองมีสัมผัสที่แน่นยิ่งขึ้น เพียงนำเมล็ดข้าวดิบลงไปทอดทันทีโดยไม่จำเป็นต้องหุงให้สุกก่อนจนกระทั่งข้าวเริ่มฟูขึ้นมา

ส่วนประกอบ

  • เมล็ดข้าว 1 ถ้วย (200 กรัม)
  • น้ำเปล่า 1 ¾ ถ้วย (400 มิลลิลิตร)
  • เกลือทะเล 1-2 หยิบมือ
  • น้ำมันดอกทานตะวัน น้ำมันพืช หรือน้ำมันคาโนล่า สำหรับทอด

ปริมาณส่วนประกอบดังกล่าวสามารถทำข้าวพองได้ประมาณ 3 ถ้วย (75 กรัม)

ส่วน 1
ส่วน 1 ของ 2:

หุงข้าวให้สุก

ดาวน์โหลดบทความ
  1. เทเมล็ดข้าว 1 ถ้วย (200 กรัม) ลงไปในชามและเติมน้ำเย็นตามลงไป จากนั้นใช้มือกวนไปรอบๆ ก่อนเทเมล็ดข้าวลงไปในกระชอนตาถี่เพื่อระบายน้ำทิ้ง นำเมล็ดข้าวเทกลับลงไปในชามก่อนเติมน้ำเปล่าลงไปและเริ่มซาวข้าวอีกครั้ง ทำซ้ำเช่นนี้ไปเรื่อยๆ จนกระทั่งน้ำที่ระบายออกมามีความใสยิ่งขึ้น การซาวข้าวจะช่วยล้างแป้งที่ติดอยู่บนเมล็ดข้าวให้หลุดออกไป จึงทำให้ข้าวที่หุงออกมาไม่ติดกันเป็นก้อน [1]
    • คุณสามารถเลือกใช้ข้าวสายพันธุ์ใดก็ได้ตามใจชอบ เช่น ข้าวบาสมาติ ข้าวสำหรับทำซูชิ ข้าวกล้อง หรือข้าวขาว
  2. ต้มน้ำให้เดือดและเติมข้าวลงไปพร้อมเกลือเล็กน้อย. เทน้ำเปล่า 1 ¾ ถ้วย (400 มิลลิลิตร) ลงไปในหม้อและปิดฝาให้เรียบร้อย ต้มด้วยไฟแรงจนกระทั่งน้ำเดือดได้ที่ก่อนเติมเกลือ 1-2 หยิบมือและข้าวที่ซาวจนสะอาดแล้วลงไป [2]

    ทางเลือกอื่นๆ: หากต้องการหุงข้าวด้วย หม้อหุงข้าว เริ่มจากเติมข้าวที่ซาวจนสะอาด เกลือ และน้ำเปล่าลงไปในหม้อในของหม้อหุงข้าวก่อนปิดฝาหม้อและเปิดสวิตช์เพื่อให้เครื่องเริ่มทำงาน หุงข้าวด้วยวิธีที่ถูกต้องตามที่ระบุไว้ในคู่มือการใช้งาน

  3. ปิดฝาหม้อและปรับไฟให้เป็นไฟอ่อนเพื่อให้น้ำพอมีฟองปุดๆ เล็กน้อย อุ่นข้าวในหม้อไปเรื่อยๆ และหมั่นเช็คข้าวทุกๆ 18 นาทีจนกระทั่งข้าวสุกนุ่มพร้อมรับประทาน
    • ระยะเวลาที่ใช้ในการหุงข้าวขึ้นอยู่กับสายพันธุ์ของข้าวที่คุณเลือกใช้ ยกตัวอย่างเช่น ข้าวป่าจะใช้เวลาในการหุงประมาณ 25-30 นาที ในขณะที่ข้าวขาวจะใช้เวลาในการหุงที่สั้นกว่า
  4. เตรียมถาดอบให้พร้อมก่อนตักข้าวที่หุงร้อนๆ ลงไปและใช้ช้อนหรือไม้พายเกลี่ยข้าวให้เสมอกัน [3]
    • การอบข้าวโดยใช้ถาดอบจะช่วยให้ข้าวแห้งเร็วและเสมอกันกว่าการอบในชาม
  5. อบข้าวให้แห้งในเตาอบด้วยอุณหภูมิ 120 °C นาน 2 ชั่วโมง. วอร์มเตาอบจนกระทั่งร้อนได้ที่ก่อนนำข้าวที่ใส่ไว้ในถาดเข้าเตาอบ อบด้วยอุณหภูมิเพียง 120 °C เป็นเวลา 2 ชั่วโมงเพื่อไล่ความชื้นออกจากข้าวจนหมด และเมื่อข้าวแห้งดีแล้วจึงยกออกจากเตาอบและปิดใช้งานเตาอบ [4]
    • ข้าวที่อบเสร็จแล้วควรมีสัมผัสที่แข็งและแห้งสนิทก่อนนำลงทอด
    • หากต้องการวิธีที่ยุ่งยากน้อยกว่า คุณสามารถใช้วิธีเกลี่ยข้าวให้ทั่วถาดสำหรับอบแห้งก่อนนำเข้าเครื่องอบแห้งและเปิดเครื่องติดต่อกันอย่างน้อย 8 ชั่วโมงหรือทิ้งไว้ข้ามคืน
    • คุณสามารถจัดเก็บข้าวได้เลยหลังเสร็จขั้นตอนนี้หากคุณต้องการทำข้าวพองสำหรับทานเป็นซีเรียล
    โฆษณา
ส่วน 2
ส่วน 2 ของ 2:

ทอดข้าวให้ฟูกรอบ

ดาวน์โหลดบทความ
  1. เทน้ำมันลงไปในกระทะและตั้งให้ร้อนจนมีอุณหภูมิ 190 °C. เทน้ำมันดอกทานตะวัน น้ำมันพืช หรือน้ำมันคาโนล่าให้สูงขึ้นมาจากก้นกระทะประมาณ 2 นิ้ว (5 ซม.) และนำกระทะขึ้นตั้งเตา หนีบเครื่องวัดอุณหภูมิอาหารไว้ที่ขอบกระทะและเปิดไฟแรงปานกลางเพื่อตั้งน้ำมันให้ร้อนจนมีอุณหภูมิ 190 °C [5]
    • สิ่งสำคัญในการทอดข้าวคือการเลือกใช้น้ำมันที่มีจุดเดือดสูงที่สามารถทนต่ออุณหภูมิสูงได้ดี ดังนั้นน้ำมันมะกอกเอ็กซ์ตร้าเวอร์จิ้นจึงอาจไม่ใช่ตัวเลือกที่เหมาะสมเท่าไรนัก

    เคล็ดลับ: เลือกใช้กระทะที่มีขนาดใหญ่พอสามารถจุ่มกระชอนตาถี่ขนาดเล็กลงไปได้เพื่อให้คุณสามารถตักข้าวพองขึ้นจากน้ำมันได้ง่ายยิ่งขึ้น

  2. ลองทอดข้าวดูเล็กน้อยเพื่อทดสอบอุณหภูมิของน้ำมัน. เมื่ออุณหภูมิของน้ำมันสูงถึง 190 °C แล้ว ให้คุณลองทอดข้าวที่อบแห้งแล้วดูเล็กน้อย หากข้าวฟูขึ้นมาทันทีแสดงว่าน้ำมันร้อนได้ที่แล้ว [6]
    • หากใช้เวลานานกว่า 10-15 วินาทีกว่าข้าวจะฟูขึ้นมา ให้คุณตั้งน้ำมันให้ร้อนต่ออีกสักพักและเช็คอุณหภูมิให้ถูกต้องแม่นยำด้วยเครื่องวัดอุณหภูมิอาหาร
  3. เทข้าวที่อบแห้งแล้วลงไปในกระชอนตาถี่ขนาดเล็กก่อนจุ่มกระชอนลงไปในน้ำมัน ข้าวจะเริ่มฟูขึ้นมาหลังนำลงทอดในน้ำมันประมาณ 5-10 วินาที [7]
    • ข้าวที่ฟูกรอบได้ที่แล้วจะลอยขึ้นมาบนผิวน้ำมัน
    • หากคุณเลือกใช้เมล็ดข้าวดิบที่ไม่ได้หุงสุกมาก่อน คุณอาจต้องรอนานจนเกือบ 20 วินาทีกว่าที่ข้าวจะเริ่มฟูขึ้นมา
  4. ตักข้าวขึ้นมาจากกระทะและนำไปพักบนแผ่นรองอบ. ปิดเตาและวางกระดาษอเนกประสงค์หรือแผ่นรองอบเตรียมไว้ จากนั้นยกกระชอนขึ้นมาเพื่อตักข้าวที่ฟูกรอบได้ที่แล้วขึ้นมาจากกระทะและนำไปพักบนกระดาษอเนกประสงค์หรือแผ่นรองอบที่เตรียมไว้เพื่อสะเด็ดน้ำมัน [8]
    • กระดาษอเนกประสงค์จะช่วยดูดซับน้ำมันส่วนเกินจากข้าวพอง
    • รอให้น้ำมันเย็นสนิทก่อนจัดเก็บหรือกำจัดทิ้ง
  5. พักข้าวพองทิ้งไว้อย่างน้อย 5 นาทีเพื่อให้เย็นลงก่อนปรุงรสและเริ่มรับประทาน หากต้องการเพิ่มรสชาติให้ข้าวพองของคุณ ลองโรยเกลือ น้ำตาลไอซิ่ง หรือผงอบเชยเพิ่มลงไปตามความชอบของคุณ [9]
    • คุณสามารถทานข้าวพองได้เลยทันทีหรือจะนำไปอัดเป็นแท่งก็ได้เช่นกัน
    • หากทานไม่หมด ให้คุณนำข้าวพองหรือข้าวพองอัดแท่งใส่ไว้ในกล่องสูญญากาศและจัดเก็บไว้ในอุณหภูมิห้อง พยายามทานให้หมดภายใน 5-7 วัน
    โฆษณา

เคล็ดลับ

  • ลองโรยข้าวพองลงบนสลัดที่คุณชื่นชอบหรือผสมเข้ากับเทรลมิกซ์หรือกราโนล่า
โฆษณา

คำเตือน

  • ตั้งน้ำมันให้ร้อนและนำอาหารลงทอดด้วยความระมัดระวังอยู่เสมอ เพราะน้ำมันร้อนๆ อาจกระเด็นใส่คุณจนเกิดแผลไฟไหม้ได้
โฆษณา

สิ่งของที่ใช้

  • ชาม
  • กระชอนตาถี่
  • ถาดอบ
  • ช้อนหรือไม้พาย
  • ถ้วยตวง
  • หม้อพร้อมฝาปิดหรือหม้อหุงข้าว
  • เครื่องวัดอุณหภูมิอาหาร

บทความวิกิฮาวอื่น ๆ ที่่เกี่ยวข้อง

เกี่ยวกับวิกิฮาวนี้

มีการเข้าถึงหน้านี้ 20,254 ครั้ง

บทความนี้เป็นประโยชน์กับคุณไหม

โฆษณา