ดาวน์โหลดบทความ ดาวน์โหลดบทความ

ชีวิตคือแบบฝึกหัดในการพัฒนาตนเองอย่างต่อเนื่อง บางครั้งการพัฒนาตนเองอาจหมายถึงการศึกษาสูงๆ หรือได้เลื่อนตำแหน่งหน้าที่การงาน แต่บางทีเราก็ลืมพัฒนาวิธีการที่เราปฏิบัติต่อตัวเองและคนรอบข้าง ในขณะที่เราเร่งรีบที่จะไปให้ถึงความสำเร็จ เราอาจเต็มไปด้วยความทะยานอยากและเห็นแก่ตัวจนลืมพัฒนาตนเองเป็น “คนที่ดีกว่าเดิม” ต่อไปนี้คือหนทางสู่การพัฒนาจิตใจและฝึกสร้างความเห็นอกเห็นใจ ทั้งต่อตนเองและผู้อื่น

วิธีการ 1
วิธีการ 1 ของ 3:

เริ่มต้น

ดาวน์โหลดบทความ
  1. การพัฒนาตนเองให้ “เป็นคนที่ดีกว่าเดิม” เป็นกระบวนการที่อาจจะต้องใช้เวลาทั้งชีวิต และจะไม่มีช่วงเวลาไหนที่นับได้ว่าเป็นจุดสิ้นสุดที่กระบวนการทั้งหมดมาบรรจบพบกันจนไม่สามารถพัฒนาไปได้มากกว่านี้อีกต่อไป คุณจะต้องเปิดใจรับการเปลี่ยนแปลงและการเติบโต เพื่อที่จะช่วยพัฒนาความสามารถในการปรับตัว และความสามารถในการปรับตัวนี้เองที่จะทำให้คุณพัฒนาตนเองได้อย่างต่อเนื่อง จนกลายเป็นคนที่คุณอยากจะเป็นจริงๆ ได้ในทุกๆ สถานการณ์ [1]
  2. หากคุณไม่สามารถทำความเข้าใจค่านิยมของตัวเองได้อย่างแท้จริงแล้วละก็ แม้จะมีความตั้งใจอย่างแรงกล้าก็อาจจะไม่ช่วยให้คุณพัฒนาต่อไปได้ [3] “ค่านิยม” หมายถึง สิ่งที่ยึดถือว่ามีความสำคัญสูงสุดในชีวิต เป็นแก่นความเชื่อหลักที่สร้างตัวตนของเราและกำกับวิถีชีวิตของเรา [4] การกำหนดค่านิยมจะช่วยบอกได้ว่า สิ่งใดที่มีความสำคัญต่อชีวิตเราจริงๆ
    • ตัวอย่างเช่น “เป็นพ่อแม่ที่ดี” หรือ “ใช้เวลาอยู่กับเพื่อนฝูง” ก็อาจจะนับเป็นค่านิยมได้เหมือนกัน เพราะเป็นสิ่งที่ช่วยให้เราได้ทำความเข้าใจด้านที่ดีที่สุดของตัวเราเอง
    • “ความสอดคล้องของค่านิยม” หมายถึง การปฏิบัติตนให้สอดคล้องกับค่านิยมของตัวเอง ตัวอย่างเช่น หากค่านิยมของคุณคือ “ใช้เวลาอยู่กับเพื่อนฝูง” แต่ในความเป็นจริง คุณกลับปล่อยให้การทำงานมาก่อนการเข้าสังคมกับเพื่อนๆ ก็ไม่นับว่าเป็นความสอดคล้องของค่านิยม การปฏิบัติตนที่ไม่สอดคล้องกับค่านิยมอาจก่อให้เกิดความรู้สึกขาดแคลน ไม่มีความสุข หรืออาจเกิดความรู้สึกผิดได้ [5]
  3. ตัวตนของเราอาจจะได้รับอิทธิพลจากคนใกล้ชิด [6] ตัวอย่างเช่น งานวิจัยทางจิตวิทยาชิ้นแล้วชิ้นเล่าต่างแสดงให้เห็นว่า คนเรารู้จักการเลือกที่รักมักที่ชังมาตั้งแต่ตอนเป็นเด็กตัวกะเปี๊ยก [7] พฤติกรรมและความเชื่อที่เราซึบซับมานี้เองที่จะมีอิทธิพลต่อความคิดที่เรามีต่อตัวเองและผู้อื่น ฉะนั้น เมื่อเราได้เข้าใจแล้วว่า ความคิดที่เรามีต่อตัวเราเองนั้นเกิดขึ้นได้อย่างไรก็จะช่วยให้เราปรับปรุงความเชื่อที่ไม่เป็นประโยชน์ พร้อมกับอ้าแขนต้อนรับความเชื่ออื่นๆ ที่สมเหตุสมผลเข้ามาแทน
    • นอกจากนี้ เรายังสามารถเรียนรู้จากคนอื่นๆ ในการพิจารณาตัวตนของเราเองในแง่ความสัมพันธ์กับคนกลุ่มใหญ่ เช่น พิจารณาตามเชื้อชาติหรือเพศ ซึ่งจะเป็นองค์ประกอบสำคัญของการเป็นตัวตนของเรา [8]
  4. สำรวจพฤติกรรมของตนเองอย่างถี่ถ้วนและตรงไปตรงมา. ลองทบทวนดูว่า เวลาเครียด คุณมีปฏิกิริยาอย่างไร คุณรับมือกับความสูญเสียอย่างไร คุณจัดการกับความโกรธอย่างไร คุณปฏิบัติต่อคนที่คุณรักอย่างไร คุณจะต้องเข้าใจตัวคุณเองในเวลานี้เสียก่อน จึงจะรู้ว่า จะพัฒนาตนเองต่อไปได้อย่างไร
    • เมื่อได้ทบทวนพฤติกรรมของตัวเองแล้ว คุณน่าจะเริ่มมองเห็นแล้วว่า ต้องการเปลี่ยนแปลงตรงจุดไหนบ้าง
  5. ระบุให้ชัดเจนที่สุดเท่าที่จะทำได้ ไม่ใช่แค่บอกว่า “ฉันอยากจะเป็นเพื่อนที่ดีกว่าเดิม” แต่ให้แบ่งเจตนารมณ์นั้นออกเป็นส่วนๆ ขยายความให้ชัดเจนว่า คุณหมายถึงการเข้าหาคนอื่นให้มากขึ้น หรือคุณหมายถึงทำตัวเองให้มีเวลาว่างมากขึ้นเพื่อที่จะได้มีเวลาอยู่ด้วยกันมากขึ้น
    • สตีฟ จ็อบส์ ซึ่งเป็นทั้งนักประดิษฐ์และเจ้าของกิจการเคยบอกไว้ว่า เขาจะถามตัวเองคำถามหนึ่งในทุกๆ เช้า คำถามนั้นก็คือ “หากวันนี้เป็นวันสุดท้ายของชีวิต ฉันจะยังคงอยากทำสิ่งที่ฉันกำลังจะทำในวันนี้หรือเปล่า” หากไม่ได้คำตอบว่า “อยาก” เขาจะลงมือเปลี่ยนแปลงทันที คำถามนี้อาจจะเป็นประโยชน์สำหรับคุณเช่นกัน [9]
    • วางเป้าหมายการเปลี่ยนแปลงให้สมเหตุสมผล เช่น หากธรรมชาติของคุณเป็นคนโลกส่วนตัวสูง การกำหนดว่า “เป็นคนที่ดีกว่าเดิม” ด้วยการ “ไปงานเลี้ยงสังสรรค์” อาจจะไม่ได้ผลหรือสอดคล้องกับค่านิยมของตัวเองมากนัก คำแนะนำคือ การเปลี่ยนแปลงนั้นควรจะเป็นเป้าหมายที่สมจริงและสอดคล้องกับความเข้าใจในตัวเองด้วย เช่น “ฝึกทักทายเมื่อได้พบเจอกับคนใหม่ๆ”
  6. สำหรับบางคนอาจใช้วิธีจดเป้าหมายเหล่านั้นลงกระดาษจึงจะได้ผล หรือถ้าจะให้ดีกว่านั้นคือการจดบันทึก วิธีการนี้จะช่วยให้เราได้สำรวจตัวเอง ได้ทำความเข้าใจตัวตนของเราได้ดียิ่งขึ้นผ่านมุมมองที่เป็นรูปธรรม [10]
    • จดบันทึกกิจกรรมที่มีพลังและช่วยให้เราได้วิเคราะห์ หากเพียงแต่จดบันทึกความคิดต่างๆ ลงไปอย่างไร้ระบบก็คงจะไม่มีประโยชน์มากนัก แนะนำว่าให้จดบันทึกสถานการณ์ที่ได้เผชิญหน้ามา ในตอนนั้นเรามีความรู้สึกอย่างไร มีปฏิกิริยาตอบสนองกลับไปอย่างไร และหลังจากนั้นมีความรู้สึกต่อเหตุการณ์นั้นอย่างไร และคิดว่าจะมีวิธีการรับมือที่แตกต่างไปจากเดิมหรือไม่ [11]
    • ต่อไปนี้เป็นตัวอย่างคำถามในการเริ่มต้น เช่น มีความสัมพันธ์ไหนกับคนที่คุณรักที่คุณต้องการปรับปรุงให้ดีขึ้นบ้างหรือไม่ คุณอยากเป็นคนใจบุญสุนทานมากกว่าเดิมหรือไม่ คุณอยากทำอะไรเพื่อสิ่งแวดล้อมมากขึ้นหรือไม่ คุณอยากเรียนรู้ที่จะเป็นคู่สมรสหรือคนรักที่ดีกว่าเดิมหรือไม่
  7. งานวิจัยพบว่า ผู้ที่กำหนดเป้าหมายไปในแง่ “บวก” (ฉันจะทำอะไร) มากกว่าแง่ลบ (ฉันจะหยุดทำอะไร) มีโอกาสประสบความสำเร็จตามเป้าหมายได้มากกว่า [12] การกำหนดเป้าหมายให้เป็นไปในแง่ลบอาจจะนำไปสู่การตำหนิตนเองหรือรู้สึกผิดในพัฒนาการของตน ให้กำหนดเป้าหมายเป็นสิ่งที่คุณต้องการจะทำให้สำเร็จ ไม่ใช่สิ่งที่คุณควรจะหลีกเลี่ยง
    • ตัวอย่างเช่น หากคุณตัดสินใจได้แล้วว่า ต่อไปนี้จะรู้สึก ‘ขอบคุณ’ ให้มากขึ้น ก็ให้มองเป้าหมายไปในแง่บวก เช่น “ฉันจะแสดงความรู้สึกขอบคุณให้กับคนที่มีน้ำใจต่อฉัน” ไม่ควรจะกำหนดเป้าหมายไปในเชิงตำหนิการกระทำในอดีต เช่น “ฉันอยากจะเลิกเป็นคนอกตัญญูเสียที”
  8. บุคคลต้นแบบจะเป็นแรงบันดาลใจมหาศาลให้กับเรา เรื่องราวของพวกเขาเหล่านั้นจะทำให้เราเข้มแข็งเมื่อต้องพบเจอกับอุปสรรค บุคคลต้นแบบอาจจะเป็นบุคคลทางศาสนา นักการเมือง ศิลปิน หรือแม้แต่บุคคลใกล้ชิดที่เราชื่นชอบก็ได้
    • การเลือกคนที่เรารู้จักเป็นบุคคลต้นแบบหลายครั้งก็ส่งผลดียิ่งกว่า เพราะถ้าหากเราวางแนวทางการปฏิบัติตนของเราโดยดึงเอาคนที่ไม่ได้มีส่วนเกี่ยวข้องกับชีวิตมาเป็นต้นแบบก็อาจทำให้เราเข้าใจตัวตนของพวกเขาผิดไปได้โดยง่าย จนอาจจะทำให้มีมุมมองต่อตัวเองในแง่ลบตามไปด้วย แม้กระทั่งบียอนเซ่ก็ใช่ว่าจะเป๊ะไร้ที่ติเสียที่ไหน [13]
    • บุคคลต้นแบบไม่จำเป็นต้องเป็นบุคคลที่ลุกขึ้นมาเปลี่ยนแปลงโลก มหาตมะ คานธี กับ แม่ชีเทเรซา เป็นบุคคลที่สร้างแรงบันดาลใจได้มากมายมหาศาลก็จริง แต่ก็ยังมีคนอื่นๆ อีกที่เราจะสามารถเรียนรู้จากพวกเขาได้ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง การกระทำเล็กๆ น้อยๆ ในทุกๆ วัน หรือวิถีความคิดของพวกเขานั่นเองที่ทำให้เราได้เรียนรู้มากที่สุด ตัวอย่างเช่น เพื่อนร่วมงานสักคนอาจดูเป็นคนที่ร่าเริงสดใสตลอดเวลา ให้ถามเขาไปเลยว่าเพราะอะไร ถามเขาว่ามองชีวิตอย่างไร เขาทำยังไง เพียงแค่การถามคำถามก็อาจจะทำให้เรียนรู้อะไรได้อย่างไม่น่าเชื่อ
    • อย่างไรก็ตาม นั่นไม่ได้แปลว่า เรื่องราวของคนแปลกหน้าจะเป็นแรงบันดาลใจให้ไม่ได้ เรื่องราวของใครสักคนที่คล้ายๆ กันกับคุณอาจจะเป็นประโยชน์ก็ได้ โดยเฉพาะอย่างยิ่งหากในชีวิตจริงแล้วคุณไม่มีตัวเลือกบุคคลที่จะมาเป็นต้นแบบให้ได้มากนัก
    • นักดาราศาสตร์ฟิสิกส์ชื่อดัง นีล เดอแกรส ไทสัน เป็นคนที่คัดค้านแนวความคิดดั้งเดิมที่บอกว่า บุคคลต้นแบบคือคนที่คุณอยากจะ “เป็น” ให้ได้อย่างนั้น อันที่จริงแล้ว ไทสันบอกว่า คุณควรจะศึกษาว่า บุคคลเหล่านี้ทำอย่างไรจึงประสบความสำเร็จในสิ่งที่คุณต้องการจะทำให้ได้ พวกเขาอ่านหนังสืออะไร พวกเขาเลือกเส้นทางชีวิตอย่างไร การที่พวกเขาได้ยืนอยู่ในจุดที่คุณอยากไปให้ถึงนั้นมันเป็นอย่างไร การตั้งคำถามและการหาคำตอบให้กับคำถามเหล่านี้ต่างหากที่จะช่วยในการพัฒนาเส้นทางชีวิตของเราเอง ไม่ใช่พยายามลอกเลียนแบบเส้นทางชีวิตของคนอื่น [14]
    โฆษณา
วิธีการ 2
วิธีการ 2 ของ 3:

ฝึกสร้างความเห็นอกเห็นใจ

ดาวน์โหลดบทความ
  1. ก่อนที่จะรักคนอื่นได้นั้น เราจะต้องเรียนรู้ที่จะรักตัวเราเองก่อน ไม่ใช่ความรักแบบหลงตัวเอง หมกมุ่นอยู่แต่กับตัวเอง แต่เป็นความรักที่หมายถึงการยอมรับตัวตนที่แท้จริงของตัวเอง ที่ช่วยให้เราได้ค้นหาจนค้นพบความสามารถและคุณค่าอันก่อตัวขึ้นมาเป็นตัวตนของเรา และทำให้เราโอบรับคุณสมบัติเหล่านี้เอาไว้ จงบอกกับตัวเองว่า “ฉันเป็นคนจิตใจดี มีความเห็นอกเห็นใจ” และที่สำคัญที่สุดคือ “ฉันเป็นคนที่มีคุณค่า” เมื่อรวมเข้ากับการกระทำอันเปี่ยมไปด้วยคุณธรรมและน้ำใจไมตรีแล้วละก็จะยิ่งช่วยให้คุณเข้าใจและยอมรับตัวเองได้ดียิ่งขึ้น
    • จดบันทึกประสบการณ์ด้วยการมองผ่านมุมมองของเพื่อนคนหนึ่งที่มอบความรักและการยอมรับทั้งหมดทั้งมวลให้กับคุณ อย่าจดบันทึกจากมุมมองของตัวคุณเอง งานวิจัยหลายชิ้นแสดงให้เห็นว่า มุมมองของผู้อื่นช่วยในการวิเคราะห์อารมณ์ด้านลบ โดยไม่ละเลยหรือเก็บซ่อนอารมณ์เหล่านั้น การทำความเข้าใจความรู้สึกของตัวเองเป็นองค์ประกอบสำคัญสู่ความเห็นอกเห็นใจต่อตัวเอง เรามักจะใจดีต่อคนอื่นๆ มากกว่าตัวเองเยอะเลย ฉะนั้น จงแสดงการยอมรับในตัวเองเหมือนกับที่คนรักจะแสดงการยอมรับในตัวคุณ [15]
    • แสดงความเห็นอกเห็นใจตัวเองเล็กๆ น้อยๆ ตลอดทั้งวัน โดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อต้องพบกับเรื่องแย่ๆ ตัวอย่างเช่น เวลาที่เราทำงานช้ากว่าที่ควรจะทำได้ เราอาจจะตัดสินตัวเองหรืออาจจะมัวแต่นั่งเครียด คำแนะนำคือ ให้ตั้งสติทำความเข้าใจกับความเครียดของตัวเอง “ตอนนี้ฉันรู้สึกเครียดนะ” จากนั้นทำความเข้าใจว่า ทุกๆ คนต่างก็ต้องมีประสบการณ์แบบนี้กันบ้าง “ฉันไม่ได้เป็นแบบนี้คนเดียวเสียหน่อย” และสุดท้ายก็ให้สัมผัสตัวเองเพื่อแสดงความเห็นอกเห็นใจ เช่น วางมือหนึ่งทาบลงบนหัวใจ พูดสิ่งที่ดีกับตัวเองซ้ำๆ “ฉันสามารถฝึกให้เป็นคนเข้มแข็งได้ ฉันสามารถฝึกความอดทน และฉันสามารถฝึกการยอมรับในตัวเองได้” [16]
  2. ให้เวลากับการชื่นชมความสามารถและส่วนที่ดีที่สุดของตัวเอง ไม่ว่าจะเป็นรูปลักษณ์ภายนอกหรือความดีข้างในก็ตาม ยิ่งคุณร้ายกาจกับตัวเองมากเท่าไหร่ ก็มีแนวโน้มว่าคุณจะร้ายกาจกับคนอื่นๆ มากขึ้นเท่านั้น [17]
    • อันดับแรก จดบันทึกเมื่อคุณเกิดความคิดในแง่ลบเกี่ยวกับตัวเอง จดลงไปว่าสถานการณ์นั้นเป็นอย่างไร คุณคิดอย่างไร และผลลัพธ์ของความคิดนั้นคืออะไร
    • ตัวอย่างเช่น คุณอาจจะลองจดลงไปประมาณว่า “วันนี้ ฉันไปฟิตเนสและก็มีแต่คนผอมๆ เต็มไปหมด ฉันรู้สึกอ้วนขึ้นมาทันที ฉันโมโหตัวเองแล้วก็อายมากที่โผล่มาฟิตเนส ฉันหมดอารมณ์ที่จะออกกำลังกายต่อจนจบ”
    • จากนั้นใช้เหตุผลตอบโต้ความคิดเหล่านั้นกลับไป ขั้นตอนนี้อาจจะยากหน่อย แต่เมื่อหมั่นท้าทายคำพูดในแง่ลบที่มีต่อตัวเอง โดยใช้การอ้างอิงเหตุผลและข้อเท็จจริงแท้ๆ อันโหดร้ายแล้วละก็ คุณจะสามารถเปลี่ยนแปลงวิธีการคิดได้
    • ตัวอย่างการใช้เหตุผลตอบโต้สถานการณ์ข้างต้นอาจจะเป็น “ฉันไปฟิตเนสเพื่อดูแลร่างกายและสุขภาพของตัวเอง เป็นการทำสิ่งดีๆ เป็นการดูแลตัวเอง ทำไมฉันจะต้องอับอายที่ลุกขึ้นมาดูแลตัวเองด้วยละ ร่างกายของทุกๆ คนล้วนแตกต่างกัน ร่างกายของฉันก็อาจจะดูไม่เหมือนคนอื่น คนในฟิตเนสที่ฟิตมากจริงๆ แล้วอาจจะฝึกมานานกว่าฉันอีกก็ได้ หรือไม่ก็เป็นเพราะเกิดมากรรมพันธุ์ดี ถ้าหากจะมีใครตัดสินตัวฉันที่รูปลักษณ์ภายนอก ฉันต้องให้ความสำคัญกับความเห็นพวกนั้นด้วยเหรอ หรือฉันควรจะให้คุณค่ากับคนที่คอยสนับสนุนและให้กำลังใจที่ฉันลุกขึ้นมาดูแลตัวเองกันแน่” [18]
    • การตำหนิตัวเองมักจะมาพร้อมกับแนวความคิดว่า “น่าจะ” เช่น “ฉันน่าจะมีรถแต่งหรูๆ สักคัน” หรือไม่ก็ “ฉันน่าจะใส่เสื้อผ้าไซส์นั้นได้นะ” เมื่อเราเปรียบเทียบตัวเองโดยอาศัยมาตรฐานที่คนอื่นสร้างขึ้น สุดท้ายแล้วเราก็จะไม่มีความสุขและรู้สึกอับอาย คุณต้องตัดสินใจว่า อะไรที่คือสิ่งที่คุณต้องการจริงๆ และไม่ต้องไปสนใจเวลาคนอื่นบอกว่า คุณ “น่าจะ” เป็นอย่างนี้นะ [19]
  3. บางครั้ง เราอาจจะเกิดความรู้สึกพอใจในตัวเราเองและในชีวิตของเรา อย่างไรก็ตาม กิจวัตรประจำวันที่ซ้ำซากจำเจอาจจะทำให้เรามีรูปแบบพฤติกรรมที่ต้องรอคอยให้มีอะไรเกิดขึ้นเสียก่อนจึงจะลงมือ หรือไม่ก็คอยแต่จะหลบเลี่ยง เราอาจจะบ่มเพาะนิสัยและพฤติกรรมที่ไม่สร้างประโยชน์อะไรขึ้นมาโดยไม่รู้ตัวก็เป็นได้ [20]
    • ตัวอย่างเช่น หากในชีวิตนี้คุณเคยโดนทำร้ายมาก่อน ก็เพิ่มความเป็นไปได้ที่คุณจะสร้างกำแพงวางระยะห่างกับคนอื่นๆ กำแพงเหล่านี้อาจจะช่วยปกป้องไม่ให้คุณโดนทำร้ายได้อีกก็จริง แต่ที่มากไปกว่านั้นคือ มันจะปิดกั้นคุณจากโอกาสที่จะได้สัมผัสกับความรู้สึกดีๆ และความผูกพันกับคนอื่นๆ
    • การทดลองปรับเปลี่ยนกิจวัตรประจำวันใหม่ๆ เช่น เข้าร่วมกิจกรรมทางสังคมต่างๆ หรือหาเพื่อนใหม่นั้นอาจเป็นวิธีการอันยอดเยี่ยมที่จะทำให้คุณได้ค้นพบความสามารถของตัวเองที่ไม่เคยรู้มาก่อน นอกจากนี้ยังเป็นการสร้างความสัมพันธ์กับผู้อื่น และค้นพบแง่มุมใหม่ๆ เกี่ยวกับอารมณ์ของตัวเอง [21]
    • ความพยายามเลิกนิสัยบางอย่างอาจจะนำพาเราให้ได้ไปรู้จักกับผู้คนหลากหลายที่อาจจะเปลี่ยนมุมมองที่เรามีต่อชีวิตได้ งานวิจัยพบว่า เมื่อได้สัมผัสกับวัฒนธรรมหรือแนวความคิดของคนอื่นๆ แล้วนั้น บ่อยครั้งก็ช่วยปรับทัศนคติอันไม่ก่อให้เกิดประโยชน์ เช่น อคติหรือความหวาดกลัว ให้ดีขึ้นได้ [22] คุณจะได้พบว่า คุณสามารถเรียนรู้จากคนอื่นๆ ได้ และคนอื่นๆ ก็อาจจะเรียนรู้จากคุณได้เช่นกัน
  4. ความรู้สึกโกรธและอิจฉาเกิดขึ้นได้เป็นเรื่องธรรมดา แต่ถ้าคุณรู้สึกโกรธหรืออิจฉาคนอื่นอยู่บ่อยๆ แล้วละก็ คุณคงหาความสุขได้ยากนัก การยอมรับพฤติกรรมและความปรารถนาของผู้อื่นก็เหมือนกับการสร้างความเห็นอกเห็นใจในตัวเอง นั่นคือ เป็นก้าวสำคัญสู่การพัฒนาตนเป็นคนที่คุณอยากเป็นจริงๆ
    • ความโกรธมักจะเกิดขึ้นเวลาที่เราเชื่อว่า เรื่องแบบนี้ “ไม่น่า” จะเกิดขึ้นกับเราเลย หรือเราอาจจะรู้สึกโกรธขึ้นมาได้เหมือนกันเมื่อพบว่า สิ่งต่างๆ มันไม่เป็นอย่างที่เราคาดหวังไว้ ในการลดความรู้สึกโกรธนั้น คุณจะต้องฝึกปรับตัวและยอมรับให้ได้ว่า สิ่งต่างๆ มันไม่เกิดขึ้นอย่างที่คุณคาดคิดไว้ทุกครั้งไปหรอกน่า [23]
    • ให้ความสำคัญกับเรื่องต่างๆ ในชีวิตที่เราสามารถควบคุมได้ และลดความวิตกกังวลเกี่ยวกับสิ่งที่เราควบคุมไม่ได้ให้น้อยลง จำไว้ว่า เราสามารถควบคุมการกระทำของตัวเองได้ แต่ควบคุมผลลัพธ์ของการกระทำนั้นไม่ได้ คุณจะต้องให้ความสำคัญกับการกระทำของตัวเองมากกว่าที่จะไปพยายามควบคุมผลลัพธ์ซึ่งอยู่เหนือความควบคุม และมันจะช่วยให้คุณรู้สึกผ่อนคลายและโกรธน้อยลงเมื่ออะไรต่างๆ มันไม่เข้าทาง (ซึ่งมันจะต้องเกิดขึ้นบ้างแน่ๆ อยู่แล้ว) [24]
  5. การให้อภัยมีประโยชน์ต่อสุขภาพร่างกาย การจมปลักอยู่ในความรู้สึกเคียดแค้นหรือความผิดพลาดในอดีตอาจทำให้ความดันโลหิตสูงขึ้นและหัวใจเต้นเร็วขึ้นได้ ในทางตรงกันข้าม การฝึกให้อภัยผู้อื่นจะช่วยผ่อนคลายความเครียดของร่างกายได้ [25] แม้ว่าการให้อภัยผู้อื่นจะมีข้อดีหลายอย่างด้วยกัน แต่ก็นับว่าเป็นเรื่องที่ลงมือทำได้ยากที่สุดเรื่องหนึ่งในโลกเหมือนกัน [26] [27]
    • ลองนึกถึงความผิดสักอย่างหนึ่งที่คุณอยากจะลองให้อภัยดู ลองสังเกตความคิดที่คุณมีต่อความผิดนั้น คุณมีความรู้สึกต่ออีกฝ่ายอย่างไร แล้วร่างกายคุณละ รู้สึกอย่างไร
    • ทบวนเหตุการณ์ดังกล่าวผ่านมุมมองในแบบของคนที่กำลังเรียนรู้จากมัน ในตอนนั้นคุณสามารถทำอย่างอื่นที่แตกต่างออกไปได้หรือไม่ หรือว่าอีกฝ่ายหนึ่งจะสามารถทำอะไรที่แตกต่างออกไปได้หรือไม่ คุณสามารถเรียนรู้จากประสบการณ์ในครั้งนี้เพื่อนำไปใช้ในอนาคตได้หรือไม่ การเปลี่ยนแปลงประสบการณ์อันเจ็บปวดให้กลายเป็นประสบการณ์ที่คุณได้เรียนรู้จะช่วยให้คุณสามารถปล่อยวางความรู้สึกเจ็บปวดนั้นไปได้
    • คุยกับอีกฝ่าย แต่อย่าไปต่อว่าเขา เพราะการต่อว่าจะทำให้เขาปกป้องตัวเองทันที ให้ลองใช้บทสนทนาที่มีคำว่า “ฉัน” เพื่อบอกความรู้สึกของคุณออกไป พร้อมกับขอให้ฝ่ายตรงข้ามแบ่งปันความรู้สึกของเขาร่วมกับคุณ [28]
    • ให้ความสำคัญกับ “ความปรองดอง” มากกว่า “ความยุติธรรม” เหตุผลหนึ่งที่ทำให้การให้อภัยทำได้ยากนักเป็นเพราะเราคิดถึงเรื่อง “ความยุติธรรม” คนที่ทำไม่ดีกับเราอาจจะไม่มีวันได้รับผลกรรมตามสนองก็จริง แต่การจมอยู่กับความโมโหและความเจ็บปวดสุดท้ายแล้วมีแต่จะทำร้ายตัวเองทั้งนั้น อย่ารอว่าจะต้องมีการกระทำอะไรหรือผลลัพธ์อะไรเกิดขึ้นเสียก่อนจึงจะยอมให้อภัย [29]
    • อย่างไรก็ตาม จำไว้ว่า การให้อภัยไม่ได้แปลว่าล้างความผิด ความผิดพลาดนั้นเกิดขึ้นมาแล้ว และการให้อภัยก็ไม่ได้หมายความว่า คุณมีข้อแก้ตัวให้กับความผิดพลาดนั้น แต่มันเป็นการปล่อยวางความรู้สึกโกรธที่คุณแบกมันเอาไว้อยู่กับตัวตลอดเวลา
  6. การขอบคุณนั้นเป็นมากกว่าแค่ความรู้สึก มันคือการลงมือปฏิบัติ การปลูกฝังทัศคติของความขอบคุณสามารถทำให้คุณมองโลกในแง่ดียิ่งขึ้น มีความสุขมากขึ้น และสุขภาพดีขึ้นด้วย [30] การขอบคุณพิสูจน์ให้เห็นแล้วว่า สามารถช่วยผู้คนให้รอดจากความเจ็บป่วยได้ อีกทั้งยังช่วยเสริมสร้างความสัมพันธ์ให้แข็งแรง และแสดงถึงความเห็นอกเห็นใจที่มีต่อผู้อื่นอีกด้วย [31] [32] [33]
    • บันทึกความรู้สึกขอบคุณ จดบันทึกสิ่งที่คุณได้พบเจอมาแล้วเกิดความรู้สึกดีๆ อาจจะเป็นสิ่งเล็กๆ เช่น เช้าวันที่อากาศสดใส หรือกาแฟถ้วยอร่อยรสชาติกลมกล่อมกำลังดี หรืออาจจะเป็นสิ่งที่ประเมินค่าไม่ได้ เช่น ความรักของคู่ชีวิต หรือมิตรภาพ เมื่อเราให้ความสำคัญกับสิ่งต่างๆ เหล่านี้และจดบันทึกเอาไว้ มันก็จะกลายเป็นบันทึกความทรงจำที่คุณจะสามารถระลึกถึงในภายหลังได้ [34]
    • เต็มอิ่มกับช่วงเวลาเซอร์ไพรส์ เรื่องเซอร์ไพรส์หรืออะไรที่ไม่คาดฝันมักจะส่งผลต่อความรู้สึกของเรามากกว่าเรื่องทั่วๆ ไป ต่อให้เป็นเพียงเรื่องเล็กๆ น้อยๆ ก็ตาม ตัวอย่างเช่น เวลาที่คนรักล้างจานให้ หรือเวลาที่ได้รับข้อความจากเพื่อนที่ไม่ได้ข่าวมานานหลายเดือน ก็ให้จดบันทึกไว้เช่นกัน
    • แบ่งปันความรู้สึกขอบคุณร่วมกับคนอื่นๆ เพราะเมื่อเราแบ่งปันเรื่องราวดีๆ กับคนอื่นๆ ก็มีแนวโน้มที่เราจะจดจำเรื่องราวเหล่านั้นได้ดียิ่งขึ้น การแบ่งปันยังช่วยสร้างวันสดใสให้กับคนอื่นได้ด้วย และยังอาจจะสร้างแรงบันดาลใจให้คนอื่นเกิดความรู้สึกขอบคุณขึ้นมาบ้างเหมือนกัน [35]
  7. มนุษย์เราก็เหมือนกับสัตว์อื่นๆ คือ เกิดมาเพื่อสร้างความสัมพันธ์ทางสังคมกับคนรอบข้าง [36] นับตั้งแต่วัยเด็ก เราเรียนรู้ที่จะ “อ่านใจ” และเลียนแบบพฤติกรรมคนอื่น ที่เราทำอย่างนี้ก็เพื่อให้เราได้เข้าพวก ให้เราได้รับในสิ่งจำเป็นและสิ่งที่เราต้องการ และเพื่อสร้างความรู้สึกผูกพันกับคนอื่นๆ [37] อย่างไรก็ตาม ความเข้าใจผู้อื่นไม่ใช่เพียงแค่ความสามารถที่จะเข้าใจพฤติกรรมและอารมณ์ของผู้อื่นเท่านั้น แต่ยังหมายถึงความสามารถที่จะจินตนาการได้ว่า หากเราอยู่ในสถานการณ์ชีวิตแบบคนคนนั้น มีความคิดและมีความรู้สึกแบบเดียวกับเขาแล้วมันจะเป็นอย่างไร [38] การปลูกฝังความเข้าใจผู้อื่นจะช่วยให้คุณเข้าใจความรู้สึกของคนอื่นได้ดียิ่งขึ้น ได้เรียนรู้ที่จะผูกสัมพันธ์กับคนอื่นๆ และรู้สึกแปลกแยกน้อยลง นอกจากนี้ การฝึกสร้างความเข้าใจผู้อื่นจะทำให้คุณรู้จักปฏิบัติต่อผู้อื่นในแบบที่คุณอยากได้รับการปฏิบัติต่อด้วย
    • การศึกษาหลายชิ้นพบว่า การฝึกปฏิบัติสมาธิแบบเมตตาภาวนา หรือที่เรียกว่า กรุณากรรมฐาน (Compassion meditation) จะสามารถกระตุ้นสมองในส่วนที่รับผิดชอบการทำงานของอารมณ์ นอกจากนี้ยังช่วยคลายความเครียดและทำให้มีความรู้สึกหนักแน่นมั่นคงยิ่งขึ้น [39] แม้ว่าการเจริญสติ (Mindfulness meditation) จะส่งผลลัพธ์คล้ายคลึงกัน แต่ส่งผลด้านการพัฒนาความเข้าใจผู้อื่นน้อยกว่ากันเล็กน้อย [40]
    • งานวิจัยยังพบด้วยว่า การจินตนาการอย่างสมจริงถึงสิ่งที่คนอื่นต้องประสบพบเจอจะช่วยสร้างความรู้สึกเข้าใจผู้อื่นเพิ่มขึ้น [41] แม้กระทั่งการอ่านนวนิยายก็ทำให้คุณได้ลองสัมผัสความรู้สึกของคนอื่นได้เช่นกัน [42]
    • หยุดตัดสิน (เมื่อไหร่ก็ตามเท่าที่จะทำได้) งานวิจัยชี้ให้เห็นว่า เรามีแนวโน้มว่าจะมีความเข้าใจคนอื่นน้อยลง ถ้าหากเราเชื่อว่า คนคนนั้นเป็นต้นเหตุของความทุกข์ร้อนของเรา ตัวอย่างเช่น เราอาจจะคิดว่า “ที่เขาโดนก็สมควรแล้ว” ให้จำไว้เสมอว่า คุณไม่ได้รู้สถานการณ์แวดล้อมหรืออดีตของคนคนนั้นเลยสักนิด [43]
    • พบปะกับบุคคลหลากหลาย การศึกษาหลายชิ้นแสดงให้เห็นว่า การได้สัมผัสกับวัฒนธรรมหรือความเชื่อของคนอื่นๆ จะช่วยให้เกิดความเข้าใจในตัวพวกเขา [44] ยิ่งคุณมีโอกาสได้สัมผัสกับคนที่อาจจะมีความคิดหรือการกระทำที่แตกต่างไปจากตัวคุณเองมากขึ้นเท่าไหร่ ก็จะยิ่งลดโอกาสที่คุณจะมีอคติหรือเป็นตัดสินคนอื่นโดยไม่รู้ข้อมูลที่แท้จริง
  8. ส่วนมากแล้ว เราอาจมีความรู้สึกขอบคุณให้กับสิ่งที่ไม่ใช่วัตถุ อย่างเช่น การรู้สึกได้รับความรัก หรือการได้รับน้ำใจ แต่อันที่จริงแล้ว หากคุณต้องคอยแสวงหาวัตถุมาให้ได้มากขึ้นอยู่เรื่อยๆ ก็เป็นสัญญาณบ่งบอกว่า คุณกำลังพยายามที่จะเติมเต็มความต้องการลึกๆ อยู่เหมือนกัน [45] [46] [47]
    • งานวิจัยพบว่า คนที่ยึดติดวัตถุมักจะมีความสุขน้อยกว่าคนอื่นๆ ในระดับเดียวกัน [48] พวกเขาจะมีความสุขกับชีวิตของตนเองน้อยกว่า และยังมีแนวโน้มที่จะเป็นคนที่มีอารมณ์ในแง่ลบมากกว่าด้วย เช่น ความรู้สึกกลัว ความรู้สึกเศร้าเสียใจ [49]
  9. แม้ว่าเราไม่ได้มีเงินมากพอที่จะบริจาคให้องค์กรการกุศลได้เป็นหมื่นเป็นล้านกันทุกคน แต่ก็ไม่ได้แปลว่า เราจะเป็นผู้ให้เล็กๆ น้อยๆ แก่คนที่ต้องการความช่วยเหลือไม่ได้สักหน่อย การช่วยเหลือผู้อื่นไม่เพียงแต่จะทำให้ตัวคนอื่นได้รับประโยชน์เท่านั้น แต่เราเองก็ได้รับประโยชน์เหมือนกัน งานวิจัยพบว่า คนที่ห่วงใยผู้อื่นมีความสุขมากกว่า และยังอาจมีการหลั่งสารเอ็นดอร์ฟินจากการทำดีเพื่อคนอื่นๆ หรือที่เรารู้จักกันว่าเป็น “ความสุขของการเป็นผู้ให้” อีกด้วย [50]
    • เป็นอาสาสมัคร แทนที่จะใช้เวลาว่างในวันหยุดสุดสัปดาห์นั่งหน้าจอทีวี ลองมาเป็นอาสาสมัครให้กับที่พักพิงสำหรับคนเร่ร่อนหรือศูนย์ดูแลสัตว์ดูสิ การช่วยเหลือผู้อื่นจะช่วยสร้างความรู้สึกผูกพันระหว่างคุณกับคนคนนั้น และยังช่วยให้คุณรู้สึกว่าเป็นส่วนหนึ่งของสังคมมากกว่าอยู่ตัวคนเดียว [51]
    • ฝึกแสดงน้ำใจต่อคนแปลกหน้าในทุกๆ วัน อาจจะเป็นการกระทำเล็กๆ น้อยๆ อย่างเช่น ช่วยคนชราถือของแล้วพาไปส่งขึ้นรถ หรือปล่อยให้คนอื่นขับแซงหน้าไปก่อน ยิ่งแสดงน้ำใจออกมามากเท่าไหร่ ก็จะยิ่งรู้สึกได้เลยว่า การช่วยเหลือผู้อื่นจะทำให้รู้สึกเต็มอิ่มในใจ และสุดท้ายแล้วก็จะทำให้เรากำจัดความเห็นแก่ตัวทิ้งไป
    • งานวิจัยแสดงให้เห็นว่า กฎแห่งการ “ส่งต่อน้ำใจ” (Pay it forward) นั้นมีอยู่จริง การแสดงความห่วงใยต่อผู้อื่นสามารถส่งผ่านกันเป็นทอดๆ จิตใจที่ดีและน้ำใจเล็กๆ น้อยๆ ของคุณอาจสร้างแรงบันดาลใจให้ผู้อื่นทำตามขึ้นมาบ้าง ซึ่งก็จะไปสร้างแรงบันดาลใจให้กับคนอื่นๆ และก็จะไปสร้างแรงบันดาลใจให้กับคนอื่นๆ ต่อไปเรื่อยๆ [52]
  10. ลองสังเกตดูว่าพฤติกรรมของคุณส่งผลต่อผู้อื่นอย่างไร. เราห่วงแต่จะคิดถึงแต่การกระทำของตัวเราเอง จนลืมสังเกตไปว่า ตัวเรานั้นส่งผลกระทบต่อคนอื่นๆ อย่างไรบ้าง ส่วนหนึ่งที่ทำให้เราเป็นอย่างนี้ก็เพราะกลไกการป้องกันตัวเองทางจิตวิทยา ซึ่งจะช่วยให้เราสามารถรับมือได้ในเวลาที่เราต้องมีปฏิกิริยาตอบสนองกับคนอื่นๆ [53] ถ้าคนอื่นทุกคนล้วนมีปฏิกิริยาตอบกลับมายังคุณคล้ายๆ กัน แสดงว่าคุณอาจจะมีนิสัยบางอย่างที่ไม่ค่อยจะดีนัก คุณอาจจะกำลังปล่อยให้กลไกการป้องกันตัวเองขัดขวางพัฒนาการและการเติบโตอยู่ก็เป็นได้
    • ตัวอย่างเช่น ลองทบทวนดูว่า คนอื่นๆ มีปฏิกิริยาตอบสนองกับคุณอย่างไร พวกเขาดูเหมือนจะรู้สึกเจ็บปวดกับคำพูดของคุณได้ง่ายๆ หรือเปล่า คือไม่ใช่ว่าทุกๆ คนที่คุณรู้จักจะเป็นคนอ่อนไหวเกินเหตุกันทั้งนั้นหรอกนะ (ซึ่งในความเป็นจริงก็ไม่น่าใช่อยู่แล้ว) แต่เป็นไปได้ว่า คุณได้สร้างกลไกป้องกันตัวเองด้วยการกดคนอื่นให้แย่ลงเพื่อทำให้ตัวเองรู้สึกดีขึ้น คุณต้องลองสื่อสารกับคนอื่นดูหลายๆ วิธีที่จะไม่ก่อให้เกิดปฏิกิริยาเจ็บปวดแบบนั้นอีก
    • ทบทวนดูว่า คุณมีปฏิกิริยาตอบสนองกับคนอื่นๆ อย่างไร วิเคราะห์รูปแบบพฤติกรรมและพิจารณาว่า รูปแบบไหนที่เกิดประโยชน์ รูปแบบไหนที่ไม่เกิดประโยชน์ ยิ่งฝึกเป็นคนที่มีพฤติกรรมยืดหยุ่น สามารถปรับตัวได้ง่ายๆ คุณก็จะยิ่งสามารถปรับตัวให้เข้ากับคนรอบข้างได้ดียิ่งขึ้น [54]
    โฆษณา
วิธีการ 3
วิธีการ 3 ของ 3:

เลือกทางเดินที่ใช่

ดาวน์โหลดบทความ
  1. ทุกๆ คนล้วนมีความสามารถหรือความสนใจอะไรเป็นพิเศษ มีสิ่งที่เราทำได้ดีเอามากๆ และทำอย่างมีความสุขจริงๆ หากคุณคิดว่าตัวเองไม่มีความสามารถพิเศษอะไรเลยก็อาจจะแปลว่า คุณยังหาไม่เจอมากกว่า สิ่งสำคัญคือ คุณจะต้องไม่ยอมแพ้ และลองทำอะไรหลายๆ ก่อนจะพบว่า อะไรที่เหมาะกับตัวเอง
    • คนกลุ่มเดียวกันมีแนวโน้มที่จะสนใจกิจกรรมเดียวกัน ตัวอย่างเช่น คนที่หลงใหลความท้าทายก็คงไม่สนใจเข้าชมรมถักไหมพรมอันแสนเงียบสงบ ซึ่งน่าจะเป็นของคนที่ชอบทำกิจกรรมเงียบๆ มากกว่า การตัดสินใจเลือกว่า คุณชอบอยู่กับ “ใคร” อาจจะช่วยให้คุณหาคำตอบได้ว่า คุณชอบทำ “อะไร”
    • มีความอดทน การเปลี่ยนแปลงไม่ได้ทำกันทีเดียวก็เกิดขึ้นได้ แต่จะต้องอาศัยทั้งเวลาและการฝึกฝน การเลิกกิจวัตรประจำวันเก่าๆ และมาทำความรู้จักกับคนใหม่ๆ หรือลองทำกิจกรรมอะไรใหม่ๆ นั้นไม่ใช่เรื่องง่ายเลย โดยเฉพาะอย่างยิ่งถ้าคุณยุ่งเอามากๆ (แล้วใครบ้างไม่ยุ่ง?) ฉะนั้น คุณจะต้องไม่ยอมแพ้
    • สมัครเรียนสิ่งที่คุณสนใจ หรือลองเล่นเครื่องดนตรีใหม่ๆ กีฬาชนิดใหม่ เพราะไม่เพียงแต่จะทำให้เราได้เรียนรู้อะไรใหม่ๆ เท่านั้น แต่ยังจะทำให้เราได้พบปะกับคนอื่นๆ ที่สนใจเรียนรู้แบบเดียวกัน ความพยายามเรียนรู้สิ่งใหม่ๆ ยังนับเป็นวิธีการที่ปลอดภัยและได้ผลดีในการพาตัวเองออกจากขีดจำกัดอีกด้วย
  2. ไม่ว่าจะทำงานหาเงินได้มากขนาดไหน แต่ถ้าคุณต้องใช้เวลาทั้งชีวิตทำสิ่งที่เกลียดแล้วละก็ คุณจะหาความสุขไม่ได้เลย แม้ว่าเราอาจจะไม่ได้โชคดีที่ได้ทำงานอดิเรกเป็นอาชีพกันทุกคน แต่อย่างน้อยการแบ่งเวลาให้กับสิ่งที่ทำให้มีความสุขบ้างก็มีความสำคัญไม่น้อย
    • การทำในสิ่งที่มีความหมายต่อตัวเองจะทำให้เรามีความสุขมากขึ้น รู้สึกชีวิตเติมเต็มมากขึ้น งานอดิเรกที่เน้นความคิดสร้างสรรค์ เช่น ศิลปะหรือดนตรี เป็นวิธีการที่ได้ผลดีมากๆ ที่จะช่วยให้คุณได้แสดงความคิดความรู้สึกออกมา [55]
    • มีความเชื่อหนึ่งบอกว่า คนที่ชีวิตประสบความสำเร็จมากที่สุดมักจะเป็นคนมุ่งมั่นอยู่แต่กับอะไรเพียงอย่างเดียว และไม่ยอมปล่อยให้อะไรเข้ามาขวางทางที่จะมุ่งหน้าไปสู่เป้าหมายได้เลย ไม่ยอมแม้กระทั่งจะใช้เวลาอยู่กับตัวเอง ข่าวร้ายคือ นั่นเป็นการใช้ชีวิตที่ไม่ได้ส่งผลดีเท่าไหร่ เพราะฉะนั้น พยายามอย่าปล่อยให้ตัวเองมัวแต่สนใจชีวิตเพียงด้านเดียวมากเกินไป จนลืมพัฒนาดูแลด้านอื่นๆ ด้วย [56]
    • ถ้าหากว่าคุณทำงานไม่มีความสุขอยู่ตลอดเวลา ให้ลองทบทวนเหตุผลดูว่าทำไม เป็นไปได้ว่า หากได้เปลี่ยนแปลงอะไรบางอย่างก็อาจจะทำให้คุณมีความรู้สึกต่อการทำงานเปลี่ยนไปด้วยก็ได้ แต่ถ้าหากว่าเหตุผลที่ทำให้ไม่มีความสุขเป็นเพราะรู้สึกว่า งานนี้ไม่มีความหมาย หรือไม่สอดคล้องกับค่านิยมของตัวเองแล้วละก็ ลองหางานในสายอาชีพอื่นๆ ดู [57]
  3. เพราะชีวิตจะต้องมีทั้งการทำงานและเล่นสนุกอย่างสมดุล ถ้าหากให้ความสำคัญเพียงด้านใดด้านหนึ่ง สุดท้ายแล้วก็จะทำให้เรามีกิจวัตรประจำวันที่ซ้ำซากจำเจไม่ไปไหน คนเราสามารถปรับตัวเข้ากับสถานการณ์ในด้านบวกได้โดยง่าย ด้วยเหตุนี้เอง เราจึงกลายเป็นหมดความรู้สึกให้กับประสบการณ์ดีๆ ไป โดยเฉพาะอย่างยิ่งหากนั่นเป็นเพียงประสบการณ์เดียวที่เรามีอยู่ [58]
    • งานวิจัยชี้ให้เห็นว่า เมื่อเราติดอยู่ในโซนสบายจนถอนตัวไม่ขึ้น เราจะไม่สามารถทำอะไรได้มากเท่ากับตอนที่เราก้าวเท้าออกมาจากโซนนั้น [59] การค้นหาประสบการณ์ใหม่ๆ และมีปฏิสัมพันธ์กับผู้อื่นนับว่าเป็นสิ่งสำคัญและจะช่วยให้คุณประสบความสำเร็จมากขึ้น แม้ว่าบางทีอาจจะน่ากลัวอยู่บ้างก็ตาม
    • เราต่างพยายามหลีกเลี่ยงความลำบากและไม่อยากเจ็บตัวจนทำให้เราไม่ยอมยืดหยุ่นปรับตัว อย่างไรก็ตาม งานวิจัยแสดงให้เห็นว่า การยอมรับในความเปราะบาง เช่น ความเป็นไปได้ที่บางสิ่งบางอย่างอาจผิดพลาดได้นั้น เป็นส่วนสำคัญในการสัมผัสประสบการณ์ทุกด้านของการใช้ชีวิตให้เต็มที่ [60]
    • การเจริญสติอาจจะเป็นจุดเริ่มต้นที่ดี วัตถุประสงค์อย่างหนึ่งของการเจริญสติคือ การเข้าใจรูปแบบความคิดซ้ำไปซ้ำมาที่อาจจะเป็นอุปสรรคต่อการทำความเข้าใจตัวเองและการยอมรับในตัวเอง ลองไปเรียนหรือค้นข้อมูลดูว่า เทคนิคไหนที่ใช้ได้ผลกับคุณมากที่สุด [61]
    โฆษณา

เคล็ดลับ

  • เคารพผู้อื่น
  • เป็นตัวของตัวเอง จากนั้น คนอื่นๆ จะมองเห็นตัวตนที่แท้จริงของคุณเอง
  • ก่อนออกจากบ้านในทุกๆ เช้า ให้ส่องกระจกแล้วชมตัวเอง ชมอะไรก็ได้ แค่บอกว่า “กางเกงยีนส์เธอสวยดี” ก็ยังได้ เพราะมันจะสร้างความมั่นใจให้กับตัวคุณเอง ทำให้คุณรู้สึกยอดเยี่ยมเวลาเดินไปตามถนน!
  • หากคุณทำผิดพลาดอะไรกับใคร ให้ยอมรับผิดโดยทันที
  • ในการฝึกทำความเข้าใจตัวเองและสามารถบอกได้ว่าต้องการพัฒนาชีวิตในด้านใดนั้นอาจจะต้องใช้เวลานานหลายปี คุณต้องใจเย็น ค่อยเป็นค่อยไป
  • มอบโอกาสในการเริ่มต้นใหม่ให้กับทั้งตัวเองและผู้อื่น
  • ปฏิบัติต่อผู้อื่นในแบบที่คุณอยากได้รับการปฏิบัติต่อ
  • งานอาสมัครสามารถมอบประสบการณ์แสนสมถะ พร้อมกับเปิดโลกว้าง คุณควรมอบของขวัญที่มีค่าที่สุดให้กับสังคม ไม่ว่าจะเป็นที่ใดก็ตาม นั้นคือ เวลา และ ความใส่ใจ
โฆษณา

ข้อมูลอ้างอิง

  1. Lloyd, A. (2015). Beyond Willpower: The Secret Principle to Achieving Success in Life, Love, and Happiness. New York: Harmony.
  2. Rafanell, I. (2013). Micro-situational Foundations of Social Structure: An Interactionist Exploration of Affective Sanctioning. Journal for the Theory of Social Behaviour, 43(2), 181–204. http://doi.org/10.1111/jtsb.12012
  3. https://www.psychologytoday.com/blog/dont-delay/201004/are-your-goals-value-congruent
  4. http://www.mindtools.com/pages/article/newTED_85.htm
  5. Ciarrochi, J, & Bailey, A. (2008). A CBT-practitioner’s guide to ACT: How to bridge the gap between cognitive behavioral therapy and acceptance and commitment therapy. Oakland: New Harbinger. P. 12
  6. Burke, P. J., & Stets, J. E. (2009). Identity Theory (1 edition). Oxford ; New York: Oxford University Press.
  7. Segregation Ruled Unequal, and Therefore Unconstitutional. (n.d.). Retrieved April 14, 2015, from http://www.apa.org/research/action/segregation.aspx
  8. Putra, I. E. (2014). The role of ingroup and outgroup metaprejudice in predicting prejudice and identity undermining. Peace and Conflict: Journal of Peace Psychology, 20(4), 574–579. ]
  9. http://news.stanford.edu/news/2005/june15/jobs-061505.html
  1. https://www.psychologytoday.com/blog/notes-self/201308/how-set-goals
  2. http://www.emeraldinsight.com/doi/abs/10.1108/13527590210442258
  3. https://www.psychologytoday.com/blog/notes-self/201308/how-set-goals
  4. Read, B. (2011). Britney, Beyonce, and Me--Primary School Girls’ Role Models and Constructions of the “Popular” Girl. Gender and Education, 23(1), 1–13.
  5. http://www.rawstory.com/2014/12/neil-degrasse-tyson-children-shouldnt-be-looking-up-to-role-models-theyre-overrated/
  6. http://greatergood.berkeley.edu/article/item/how_self_compassion_beats_rumination
  7. http://self-compassion.org/exercise-2-self-compassion-break/
  8. https://www.psychologytoday.com/blog/making-change/201107/how-stop-the-self-criticism-and-feel-better-about-you
  9. https://www.psychologytoday.com/blog/making-change/201107/how-stop-the-self-criticism-and-feel-better-about-you
  10. https://www.psychologytoday.com/blog/inviting-monkey-tea/201304/stop-shoulding-yourself-death-0
  11. Neff, K. (2011). Self-Compassion: The Proven Power of Being Kind to Yourself (1 edition). New York: William Morrow.
  12. Krause, N., & Hayward, R. D. (2015). Social perspectives: Support, social relations, and well-being. In P. A. Lichtenberg, B. T. Mast, B. D. Carpenter, J. Loebach Wetherell, P. A. (Ed) Lichtenberg, B. T. (Ed) Mast, … J. (Ed) Loebach Wetherell (Eds.), APA handbook of clinical geropsychology, Vol. 1: History and status of the field and perspectives on aging. (pp. 259–299). Washington, DC, US: American Psychological Association.
  13. http://news.stanford.edu/news/2013/august/prejudice-cultural-activity-082213.html
  14. http://www.apa.org/topics/anger/control.aspx
  15. Hanh, T. (2001). Anger. Riverhead Books.
  16. http://greatergood.berkeley.edu/topic/forgiveness/definition#why_practice
  17. http://greatergood.berkeley.edu/article/item/overcome_barriers_forgiveness
  18. http://greatergood.berkeley.edu/article/item/nine_steps_to_forgiveness
  19. http://greatergood.berkeley.edu/article/item/nine_steps_to_forgiveness
  20. http://www.thepowerofforgiveness.com/understanding/index.html
  21. http://greatergood.berkeley.edu/topic/gratitude/definition#why_practice
  22. http://www.sciencedirect.com/science/article/pii/S0005796705000392
  23. http://greatergood.berkeley.edu/article/item/love_honor_thank/
  24. http://greatergood.berkeley.edu/article/item/pay_it_forward
  25. http://greatergood.berkeley.edu/article/item/tips_for_keeping_a_gratitude_journal
  26. http://greatergood.berkeley.edu/article/item/10_steps_to_savoring_the_good_things_in_life
  27. Waal, F. de. (2010). The Age of Empathy: Nature’s Lessons for a Kinder Society (1 edition). New York: Broadway Books.
  28. Gallagher, S., & Meltzoff, A. N. (1996). The Earliest Sense of Self and Others: Merleau-Ponty and Recent Developmental Studies. Philosophical Psychology, 9(2), 211–33.
  29. http://greatergood.berkeley.edu/topic/empathy/definition#what_is
  30. http://news.harvard.edu/gazette/story/2012/11/meditations-positive-residual-effects/
  31. http://www.ncbi.nlm.nih.gov/pmc/articles/PMC3176989/
  32. http://www.mitpressjournals.org/doi/abs/10.1162/jocn.2007.19.1.42#.VTrBCSFViko
  33. http://greatergood.berkeley.edu/article/item/chaning_our_minds
  34. http://greatergood.berkeley.edu/article/research_digest/do_our_brains_think_some_people_deserve_to_suffer/
  35. http://news.stanford.edu/news/2013/august/prejudice-cultural-activity-082213.html
  36. Reed, R. (2013). A Lacanian Ethics of Non-Personal Responsibility. Pastoral Psychology, 62(4), 515–531.
  37. http://greatergood.berkeley.edu/article/item/materialism_gratitude_happiness
  38. Sparrow, T. (2011). Ecological Necessity. Thinking Nature, 1. Retrieved from http://issuu.com/naughtthought/docs/ecological_necessitybytomsparrow
  39. http://psycnet.apa.org/psycinfo/1993-16069-001
  40. http://psycnet.apa.org/psycinfo/1993-16069-001
  41. http://greatergood.berkeley.edu/topic/altruism/definition#what_is
  42. http://greatergood.berkeley.edu/article/item/happiness_for_a_lifetime
  43. http://www.ncbi.nlm.nih.gov/pmc/articles/PMC2851803/?report=abstract
  44. Burgo, J. (2012). Why Do I Do That?: Psychological Defense Mechanisms and the Hidden Ways They Shape Our Lives. Chapel Hill, NC: New Rise Press.
  45. Fina, A. D., Schiffrin, D., & Bamberg, M. (Eds.). (2006). Discourse and Identity (1 edition). Cambridge, UK ; New York: Cambridge University Press.
  46. http://greatergood.berkeley.edu/article/item/five_foolproof_ways_to_feel_more_joy_in_2015
  47. http://greatergood.berkeley.edu/article/item/just_one_thing_feel_whole
  48. http://greatergood.berkeley.edu/article/item/eight_ways_to_find_more_meaning_work
  49. http://greatergood.berkeley.edu/article/item/tips_for_keeping_a_gratitude_journal/
  50. http://psychclassics.yorku.ca/Yerkes/Law/
  51. https://www.ted.com/talks/brene_brown_on_vulnerability/transcript?language=en
  52. Gunaratana, B. H. (2011). Mindfulness in Plain English: 20th Anniversary Edition (20th Anniversary Edition edition). Boston Mass.: Wisdom Publications.

เกี่ยวกับวิกิฮาวนี้

มีการเข้าถึงหน้านี้ 16,245 ครั้ง

บทความนี้เป็นประโยชน์กับคุณไหม

โฆษณา