ดาวน์โหลดบทความ ดาวน์โหลดบทความ

ภาวะปอดแตก (collapsed lung) หรือชื่อแบบทางการว่าภาวะโพรงเยื่อหุ้มปอดมีอากาศ (pneumothorax) นั้นเกิดขึ้นเมื่ออากาศรั่วออกมาจากปอด และไปติดค้างอยู่ในช่องว่างระหว่างหน้าอกกับโพรงเยื่อหุ้มปอดแทน หรือเพราะฟองอากาศในปอดที่ฉีก ความดันอากาศเปลี่ยนแปลงเฉียบพลัน หรือการกระทบกระเทือนที่หน้าอกหรือซี่โครง [1] ความดันอากาศที่เพิ่มขึ้นทำให้ปอดบางส่วนหรือทั้งปอดแตก เมื่อเกิดอาการต้องรีบรักษา แต่ก็ต้องใช้เวลากว่าจะฟื้นตัว

ส่วน 1
ส่วน 1 ของ 2:

รักษากับคุณหมอ

ดาวน์โหลดบทความ
  1. รีบไปหาหมอหรือตรงดิ่งไปแผนกฉุกเฉินทันทีที่อยู่ๆ ก็รู้สึกเจ็บหน้าอก หรืออาการอื่นๆ ของภาวะปอดแตก เช่น หายใจลำบาก หายใจแล้วจมูกบาน แน่นหน้าอก และเหนื่อยง่าย
    • ถ้าคุณถูกของแข็งไม่มีคมทุบหรือกระแทกเข้าที่หน้าอก ควรไปหาหมอทันทีถ้ามีอาการหายใจหอบถี่และเจ็บหน้าอก หรือไอเป็นเลือด [2]
    • ภาวะปอดแตกอาจเกิดได้จากหลายปัจจัย แต่ที่พบบ่อยที่สุด คือเป็นผลมาจากการถูกกระแทกที่อกหรือซี่โครง นอกจากนี้ก็อาจเป็นเพราะความดันอากาศเปลี่ยนแปลง หรือบางโรคที่คุณเป็นอยู่แล้ว อย่างโรคหอบหืด โรค cystic fibrosis และวัณโรค [3]
    • โทรแจ้งตำรวจหรือเรียกรถพยาบาลทันทีถ้าเจ็บหน้าอกจนทนไม่ไหวหรือหายใจไม่ออก
    • อาการของภาวะปอดแตกจะทรุดลงได้อย่างรวดเร็ว เพราะฉะนั้นยิ่งถึงมือหมอเร็วเท่าไหร่ก็ยิ่งดี [4]
    • พอถึงแผนกฉุกเฉินแล้ว คุณหมอจะตรวจร่างกายคุณด้วยวิธีต่างๆ เพื่อวินิจฉัยว่าปอดแตกจริงหรือเปล่า คุณหมอจะขอตรวจหน้าอก ฟังเสียงด้วย stethoscope พร้อมทั้งวัดความดัน ซึ่งก็จะออกมาต่ำเพราะภาวะปอดแตก รวมถึงสังเกตจ้ำเขียวตามตัว [5] ส่วนการตรวจวินิจฉัยขั้นสุดท้ายก็คือการเอ็กซเรย์นั่นเอง [6]
  2. คุณหมอจะแนะนำเองว่ารักษายังไงถึงจะเหมาะสมกับคุณที่สุด โดยอ้างอิงจากชนิดและความรุนแรงของภาวะปอดแตก
    • คุณหมออาจแนะนำให้พักผ่อนเพื่อสังเกตอาการแทน ถ้าภาวะปอดแตกไม่รุนแรงมากและหายได้เอง ซึ่งต้องสังเกตอาการกันประมาณ 1 - 2 อาทิตย์ รวมถึงการพักฟื้น และนัดตรวจติดตามผล [7]
    • แต่ถ้าภาวะปอดแตกนั้นรุนแรง ก็ต้องมีการเจาะท่อเพื่อระบายอากาศ เข็มที่เสียบอยู่กับกระบอกฉีดยาจะถูกเจาะเข้าไปในช่องอก จากนั้นคุณหมอจะดูดอากาศส่วนเกินออกมา แบบเดียวกับเวลาที่ใช้เข็มฉีดยาดูดเลือดขึ้นมานั่นแหละ [8] สุดท้ายก็สอดท่อเข้าไปที่ช่องอก เพื่อเติมอากาศกลับเข้าไปในปอดประมาณ 2 - 3 วัน
    • ถ้าใช้วิธีเจาะท่อรักษาแล้วไม่ได้ผล คุณหมออาจแนะนำให้ผ่าตัดต่อไป ปกติแล้วก็ไม่ใช่การผ่าตัดใหญ่อะไร จะกรีดแค่นิดเดียว กล้องจิ๋วแบบไฟเบอร์ออพติกจะถูกสอดเข้าไปในรอยผ่าเล็กๆ นั้น ให้คุณหมอได้เห็นภาพตอนสอดอุปกรณ์ผ่าตัดแบบด้ามแคบยาวเข้าไปในตัวของคุณ ศัลยแพทย์จะหาจุดที่ปอดแตกจนรั่วให้เจอแล้วเย็บปิด แต่บางเคสก็อาจต้องตัดเนื้อเยื่อส่วนที่ตายแล้วของปอดออกไปด้วย
    • ระยะเวลาในการรักษานั้นแตกต่างกันไปตามระดับความรุนแรงของภาวะปอดแตก แต่ก็ต้องเตรียมใจไว้เลย ว่าต้องพักฟื้นอยู่โรงพยาบาลยาวหน่อย บางทีก็แค่ต้องทิ้งท่อที่หน้าอกไว้ 2 - 3 วันแล้วก็เอาออกได้ แต่ในเคสที่ต้องผ่าตัด ส่วนใหญ่ต้องพักฟื้นต่อในโรงพยาบาลนาน 5 - 7 วันนู่นแหนะ [9]
  3. ระหว่างคุณอยู่ในโรงพยาบาลรอกลับบ้าน ร่างกายของคุณก็จะค่อยๆ ฟื้นตัว ทั้งคุณหมอและพยาบาลจะดูแลคุณเอง ทำใจให้สบาย
    • ตอนอยู่ในโรงพยาบาล คุณต้องฝึกการหายใจเยอะพอตัว รวมถึงการลุกขึ้นนั่งและเดินไปมาเพื่อเสริมสร้างความแข็งแรงให้ปอดของคุณด้วย [10]
    • ถ้าคุณเพิ่งผ่าตัดมา ก็จะมีการฉีดยาเพื่อป้องกันไม่ให้เลือดจับตัวกันเป็นลิ่ม และอาจต้องใส่ถุงน่องพิเศษคลุมเท้าคลุมขาเพื่อป้องกันเลือดแข็งตัวเช่นเดียวกัน [11]
    • คุณหมอจะอธิบายและแนะนำเอง ว่ากลับบ้านไปแล้วต้องดูแลตัวเองยังไง รวมถึงการใช้ยา และการกลับไปทำงานตามปกติด้วย ตั้งใจฟังคุณหมอให้ดี ถ้าสงสัยตรงไหนก็รีบถามเลย คุณต้องรู้ให้เยอะเข้าไว้ว่าอะไรดีที่สุดต่อการฟื้นตัวของทั้งร่างกายและจิตใจ
    โฆษณา
ส่วน 2
ส่วน 2 ของ 2:

ดูแลตัวเองหลังรักษา

ดาวน์โหลดบทความ
  1. คุณหมออาจจ่ายยาแก้ให้คุณกินช่วง 2 - 3 อาทิตย์แรกหลังกลับบ้าน แล้วแต่ว่าอาการคุณรุนแรงแค่ไหน ประวัติการรักษาเป็นยังไง และแพ้อะไรหรือเปล่า
    • อย่ารอจนปวดมาก รีบกินยาดักไว้ก่อนตั้งแต่ตอนเริ่มปวดตะหงิดๆ เพราะตอนยังปวดเบาบางจะบรรเทาอาการง่ายกว่าตอนที่ปล่อยจนรุนแรงไปแล้ว [12]
    • ช่วง 48 - 72 ชั่วโมงแรกจะปวดแบบหาคำบรรยายไม่ได้ หลังจากนั้นทั้งอาการปวดและระคายเคืองต่างๆ จะลดลง แต่กว่าจะฟื้นตัวเต็มที่ก็ต้องหลายอาทิตย์ไปแล้ว ถึงจะอาการไม่รุนแรงแล้วก็เถอะ ใจเย็นๆ คอยกินยาตามที่หมอสั่งไปนั่นแหละ [13]
  2. ถึงเป็นภาวะปอดแตกก็ไม่จำเป็นต้องติดเตียงตลอดวัน พักได้แต่ต้องคอยลุกขึ้นมานั่ง และออกกำลังกายเบาๆ ที่ไม่ทำให้กระทบกระเทือน อย่างการเดินเป็นต้น [14]
    • กว่าคุณจะหายสนิทจากภาวะปอดแตกก็ต้อง 1 - 2 อาทิตย์นู่นแหนะ เพราะฉะนั้นให้เตรียมใจนอนพักยาวๆ ได้เลย
    • อย่าดื้อจะทำอะไรตามเดิมให้ได้เร็วๆ เพราะเดี๋ยวจะปอดแตกซ้ำ รอให้คุณหายใจได้ตามปกติและอาการปวดหายไปก่อน ค่อยกลับมาทำงานบ้าน ออกกำลังกายหนักๆ หรือทำกิจกรรมที่ต้องใช้แรงตามเดิม [15]
  3. ช่วงรักษาภาวะปอดแตกจะหายใจค่อนข้างลำบาก ถ้ากึ่งนั่งกึ่งนอน ไม่นอนราบ จะทำให้หายใจได้ง่ายกว่า
    • ถ้าคุณกึ่งนั่งกึ่งนอนบนเก้าอี้ยาว จะช่วยลดแรงกดที่ช่องอกและปอดได้
    • ท่าทางแบบกึ่งนั่งกึ่งนอนยังช่วยให้คุณจะลุกจะนอนก็สะดวก เพราะระหว่างรักษาตัวทำอะไรก็เจ็บไปหมด แบบนี้ร่างกายค่อยสบายหน่อย [16]
    • หนุนหมอนฝั่งที่ปอดแตกด้วยก็ดี จะได้นอนบนเก้าอี้ได้สบายขึ้น
  4. ระวังหน่อยเวลาเลือกเสื้อผ้าหรือหาอะไรมาหนุน. สำคัญมากว่าอย่าเอาอะไรมากดทับแถวซี่โครงหลังเกิดภาวะปอดแตก คนมักหาอะไรมาหนุนรองไว้ให้หายเจ็บ แต่ต้องระวังให้มาก เพราะถ้าทำผิดวิธีหรือกดทับจะทำให้บาดเจ็บได้
    • ถ้าอยากคลายปวดสบายตัวขึ้น ให้ลองกอดหรือหนุนหมอนแนบกับอกไว้ จะช่วยให้หายใจแล้วเจ็บน้อยลง [17]
    • อย่าหาอะไรมาพันหรือรัดอกหรือซี่โครงไว้ เพราะจะหายใจไม่สะดวก แล้วอาการจะแย่กว่าเดิม [18]
    • ใส่เสื้อผ้าหลวมๆ ใน 2 - 3 วันแรก. ถ้าคุณต้องใส่บรา ให้เลือกเป็น sports bra หรือบราที่ใหญ่กว่าไซส์ปกติของคุณ [19]
  5. ถ้าคุณเป็นสิงห์อมควันก็ต้องทำใจ เพราะการสูดควันไม่ว่าชนิดไหนเข้าไประหว่างพักฟื้น จะทำให้ปอดคุณยิ่งทำงานหนัก ซึ่งเป็นเรื่องที่ต้องหลีกเลี่ยงถึงจะหายดีได้
    • งดบุหรี่จนกว่าจะหายสนิท ลองปรึกษาคุณหมอดู บางทีอาจอนุญาตให้ใช้แผ่นแปะนิโคติน หรือยาที่ทำให้คุณอยู่ได้โดยไม่ต้องสูบบุหรี่
    • สูบบุหรี่แล้วอาจทำให้ปอดแตกซ้ำได้ เพราะงั้นนี่อาจเป็นเวลาดีๆ ให้คุณได้เลิกบุหรี่ซะเลย ลองปรึกษาคุณหมอเรื่องวิธีการเลิกบุหรี่ หรือจะหากลุ่มบำบัดที่คุณเข้าร่วมได้สะดวกก็ได้ [20]
  6. อากาศที่เปลี่ยนแปลงจะทำให้ปอดรับภาระหนัก จนอาจแตกซ้ำได้อีก เพราะฉะนั้นระวังให้ดีช่วงกำลังฟื้นตัว
    • อย่าเพิ่งนั่งเครื่อง ถ้าต้องเดินทาง ให้ไปทางรถ รถไฟ หรือรถเมล์แทน แต่ถ้าจำเป็นจริงๆ ก็คงต้องเลื่อนทริปออกไปก่อน แล้วค่อยไปใหม่ตอนที่คุณหมอบอกว่าอาการปลอดภัยแล้ว
    • อย่าเพิ่งไปที่สูงๆ อย่างตึกระฟ้า ภูเขา พวกเดินป่าปีนเขานี่งดไปก่อนเลยจนกว่าจะหายดี
    • งดว่ายน้ำและโดยเฉพาะดำน้ำลึกระหว่างรักษาตัว [21]
  7. คนเกิดภาวะปอดแตกมักมีเวลาปฏิกิริยาตอบสนอง (Reaction time) หรือพูดง่ายๆ ก็คือการตอบสนองต่อสิ่งต่างๆ ช้าลง เป็นผลมาจากอาการเจ็บปวดและฤทธิ์ของยา รวมถึงผลกระทบจากการผ่าตัดและการรักษาอื่นๆ ด้วย รอจนคุณหายเจ็บและตอบสนองต่ออะไรๆ ดีขึ้นแล้วค่อยกลับไปขับรถดีกว่า ถ้าไม่แน่ใจว่าปลอดภัยเมื่อไหร่ ให้ลองปรึกษาคุณหมอดีที่สุด [22]
  8. โดยทั่วไปหลังภาวะปอดแตกหายดีแล้ว ก็จะไม่ส่งผลระยะยาวต่อสุขภาพของคุณ แต่ก็มีความเสี่ยง ว่าถ้าเคยปอดแตกแล้ว ก็อาจปอดแตกได้อีก
    • ผู้ป่วยมากถึง 50% เลยที่เกิดภาวะปอดแตกซ้ำอีก โดยมักเกิดหลังจากครั้งแรก 2 - 3 เดือน เพราะฉะนั้นให้คอยสังเกตอาการให้ดี [23]
    • ถ้าคุณคิดว่ากำลังเกิดอาการปอดแตกซ้ำอีก ให้รีบหาหมอทันที
    • หลังเกิดภาวะปอดแตก คุณอาจหายใจแล้วรู้สึกแปลกๆ และอาจรู้สึกอึดอัดหรือตึงๆ ในอกได้ช่วง 2 - 3 เดือนหลังการรักษา พวกนี้ถือเป็นเรื่องปกติ และไม่ได้เป็นสัญญาณของภาวะปอดแตกซ้ำแต่อย่างใด [24]
    โฆษณา

เคล็ดลับ

  • ภาวะปอดแตกมักเกิดตอนทำกิจกรรมที่เกี่ยวข้องกับความดันอากาศที่เปลี่ยนแปลงกะทันหัน อย่างการนั่งเครื่อง ดำน้ำลึก และปีนเขา ถ้าคุณชอบทำกิจกรรมเหล่านี้ ก็ต้องคอยระวังสังเกตอาการของภาวะปอดแตกไว้ให้ดี
โฆษณา

คำเตือน

  • ถ้าคุณมีอาการใดก็ตามของภาวะปอดแตก ให้รีบหาหมอทันที ไม่ว่าจะอาการน้อยนิดแค่ไหน เพราะภาวะปอดแตกเป็นอะไรที่ร้ายแรงและอาจทรุดลงได้ทุกเมื่อ ต้องรับการรักษาโดยด่วน ถ้าคุณชะล่าใจละก็ อาจอันตรายถึงแก่ชีวิตได้
โฆษณา

เกี่ยวกับวิกิฮาวนี้

มีการเข้าถึงหน้านี้ 32,066 ครั้ง

บทความนี้เป็นประโยชน์กับคุณไหม

โฆษณา