ดาวน์โหลดบทความ ดาวน์โหลดบทความ

ปัญหาเล็บเท้าเปลี่ยนเป็นสีดำคล้ำบางส่วนหรือทั้งหมดนั้นอาจดูเป็นเรื่องน่าตกใจ แต่คุณไม่ต้องเป็นกังวลไป อาการเล็บเท้าเป็นสีดำคล้ำโดยส่วนใหญ่มักมีอาการไม่รุนแรงและสามารถรักษาให้หายดีได้ง่ายๆ ด้วยวิธีการที่เหมาะสมขึ้นอยู่กับสาเหตุของการเกิดปัญหาเล็บเท้าเป็นสีดำของคุณ

สิ่งที่ควรรู้

  • รักษาอาการเล็บเท้าบาดเจ็บด้วยหลักการ RICE: Rest (พัก), Ice (น้ำแข็ง), Compression (รัด), และ Elevation (ยก) รับประทานยาแก้ปวดเพื่อป้องกันอาการปวดหรืออักเสบ
  • รักษาเล็บเท้าที่เกิดโรคเชื้อรา โดยการใช้ครีมป้องกันเชื้อรา ถ้าไม่หายให้ไปพบแพทย์
  • หากไม่แน่ใจว่าทำไมเล็บเท้าถึงเป็นสีดำ ให้ไปพบแพทย์
วิธีการ 1
วิธีการ 1 ของ 3:

ดูแลเล็บเท้าที่เป็นสีดำคล้ำจากการบาดเจ็บ

ดาวน์โหลดบทความ
  1. ลองนึกดูว่าคุณเพิ่งได้รับบาดเจ็บที่บริเวณนิ้วเท้าเมื่อไม่นานมานี้หรือไม่ การบาดเจ็บที่ผิวหนังใต้เล็บอาจทำให้เกิดเลือดคั่งที่ใต้เล็บจนส่งผลให้เล็บเปลี่ยนเป็นสีดำหรือน้ำตาลคล้ำหรือที่เรียกว่าภาวะเลือดออกที่ใต้เล็บ (Subungual hematoma) ซึ่งในบางครั้งอาจมีการแสดงอาการต่างๆ เกิดขึ้นร่วมด้วย เช่น รู้สึกเจ็บหรือมีแรงกดที่ใต้เล็บ [1]
    • ในบางกรณีอาจเป็นที่แน่ชัดว่าปัญหาเล็บเท้าดำของคุณมีสาเหตุเกิดจากการบาดเจ็บ เช่น คุณอาจเพิ่งทำสิ่งของตกใส่เท้าหรือสะดุดชนที่นิ้วเท้าเมื่อไม่นานมานี้
    • อาการเล็บเท้าเป็นสีดำอาจค่อยๆ ลุกลามจากการบาดเจ็บซ้ำๆ ได้เช่นเดียวกัน เช่น แรงกดจากการสวมรองเท้าที่คับแน่นจนเกินไปหรือการได้รับบาดเจ็บที่นิ้วเท้าจากการวิ่ง ปีนเขา หรือเล่นกีฬาเป็นประจำ
  2. หากภาวะเลือดออกที่ใต้เล็บมีอาการที่ไม่รุนแรงและไม่ทำให้คุณรู้สึกเจ็บมากนัก คุณสามารถรักษาด้วยตัวเองที่บ้านได้โดยไม่จำเป็นต้องไปพบแพทย์ เพียงใช้หลักการปฐมพยาบาล RICE ซึ่งประกอบด้วย Rest (พัก) Ice (น้ำแข็ง) Compression (รัด) และ Elevation (ยก) หรือ โดยทันทีหลังจากที่ได้รับบาดเจ็บเพื่อลดอาการปวดบวมและช่วยให้การบาดเจ็บที่เล็บเท้าหายดีเร็วขึ้น [2]
    • Rest (หยุด): พักเล็บให้อยู่นิ่งๆ โดยลดการใช้งานของเท้าข้างที่บาดเจ็บให้น้อยลงที่สุด ยกตัวอย่างเช่น หลีกเลี่ยงการวิ่งหรือปีนเขาเป็นเวลา 2-3 สัปดาห์หลังได้รับบาดเจ็บ
    • Ice (น้ำแข็ง): ใช้ผ้าหรือพลาสติกแรปพันก้อนน้ำแข็งไว้และนำไปประคบตรงบนนิ้วเท้าที่ได้รับบาดเจ็บเพื่อให้ความเย็นช่วยในการบรรเทาความเจ็บปวดและลดการบวมช้ำ คุณสามารถประคบด้วยน้ำแข็งนานถึง 1 ชั่วโมงได้อย่างปลอดภัยโดยแบ่งเป็นช่วงๆ ครั้งละ 20-30 นาที [3]
    • Compression (รัด): พันผ้ายืดที่รอบนิ้วเท้าที่ได้รับบาดเจ็บให้กระชับพอดีและไม่แน่นจนเกินไป วิธีนี้จะช่วยให้ปริมาณของเลือดที่คั่งอยู่ใต้เล็บของคุณลดลง
    • Elevation (ยก): ลดอาการบวมด้วยการยกเท้าขึ้นมาให้อยู่ในระดับที่สูงกว่าหัวใจให้มากที่สุด ยกตัวอย่างเช่น คุณอาจนอนราบลงไปบนโซฟาโดยวางเท้าไว้บนที่วางแขนหรือนอนราบบนเตียงโดยวางเท้าไว้บนหมอนที่วางซ้อนกัน
  3. ทานยาแก้ปวดสามัญประจำบ้านเพื่อบรรเทาความเจ็บปวด. หากคุณมีอาการเจ็บจากอาการเล็บเท้าเป็นสีดำ ลองทานยาต้านการอักเสบชนิดที่ไม่ใช้สเตียรอยด์ (Non-steroidal anti-inflammatory drug หรือ NSAID) เช่น ไอบูโพรเฟน นาพรอกเซน หรืออะเซตามิโนเฟน เพื่อช่วยในการบรรเทาความเจ็บปวดรวมถึงลดการบวมช้ำและการอับเสบที่เกิดขึ้น [4]
    • ปรึกษาแพทย์ทุกครั้งก่อนเริ่มใช้ยาแอสไพรินหรือผลิตภัณฑ์ต่างๆ ที่มีส่วนประกอบของแอสไพริน เนื่องจากแอสไพรินอาจส่งผลให้ภาวะเลือดออกที่ใต้เล็บแย่ลงกว่าเดิมได้
  4. ปรึกษาแพทย์หากอาการที่เกิดขึ้นมีความรุนแรง. ในบางครั้งการรักษาด้วยตัวเองที่บ้านอาจไม่เพียงพอต่อการรักษาภาวะเลือดออกที่ใต้เล็บของคุณให้หายดี ดังนั้นคุณจึงควรไปพบแพทย์ทันทีหากมีอาการต่างๆ เหล่านี้เกิดขึ้น เช่น มีอาการเจ็บอย่างรุนแรง มีเลือดไหลไม่หยุดตรงบริเวณที่ได้รับบาดเจ็บ เกิดรอยแผลลึกที่นิ้วหรือเล็บเท้า หรือเกิดความเสียหายที่ฐานเล็บ [5]
    • แพทย์ของคุณอาจรักษาด้วยการเจาะรูเล็กๆ บนเล็บด้วยเข็มหรือเลเซอร์เพื่อระบายเลือดหรือของเหลวอื่นๆ ที่คั่งอยู่ใต้เล็บให้ไหลออกมา แต่หากการบาดเจ็บที่เล็บเท้ามีความรุนแรงหรือพบสัญญาณของการติดเชื้อ แพทย์อาจจำเป็นต้องรักษาด้วยการถอดเล็บออกไป
    • หากเด็กทารกหรือเด็กเล็กได้รับบาดเจ็บที่นิ้วเท้า อย่าพยายามทำการรักษาด้วยตัวเองและพาไปพบแพทย์โดยทันที
  5. ไปพบแพทย์ทันทีหากคุณสังเกตเห็นสัญญาณของการติดเชื้อ. หากคุณสังเกตเห็นอาการอย่างใดอย่างหนึ่งต่อไปนี้ เช่น มีหนองหรือของเหลวอื่นๆ ไหลซึมออกมาจากใต้เล็บ มีอาการเจ็บหรือการบวมช้ำที่เพิ่มขึ้น มีรอยแดงที่นิ้วเท้าที่ได้รับบาดเจ็บ มีรอยริ้วสีแดงบนผิวหนังที่บริเวณรอบๆ เล็บ หรือมีไข้สูง รวมถึงรู้สึกถึงความร้อนที่บริเวณรอบๆ เล็บเมื่อสัมผัสถูก ให้คุณรีบติดต่อแพทย์ของคุณหรือไปที่โรงพยาบาลทันที [6]
    • เล็บของคุณอาจมีแนวโน้มในการติดเชื้อเพิ่มขึ้นหากเล็บเท้าเริ่มหลุดออกมา ซึ่งเป็นอาการที่เกิดขึ้นได้ตามปกติเมื่อเกิดภาวะเลือดออกที่ใต้เล็บอย่างรุนแรง
  6. ปกป้องเล็บจากการได้รับบาดเจ็บเพิ่มเติมในช่วงฟื้นฟูของแผล. หลังจากที่ได้รับบาดเจ็บ เล็บเท้าของคุณจำเป็นต้องใช้เวลาและได้รับการดูแลเพื่อให้บาดแผลหายสนิท พยายามเลือกสวมรองเท้าหัวปิดที่เหลือพื้นที่ที่บริเวณนิ้วเท้ามากพอเพื่อป้องกันไม่ให้เกิดการกระแทกหรือเสียดสีกับเล็บเท้าที่บาดเจ็บได้ นอกจากนี้คุณยังสามารถปกป้องนิ้วเท้าของคุณให้ปลอดภัยและหายดีอย่างรวดเร็วได้ด้วยวิธีการต่างๆ เหล่านี้: [7]
    • รักษาความสะอาดของเล็บ ตัดเล็บให้สั้นอยู่เสมอ และหลีกเลี่ยงการทาเล็บ เนื่องจากยาทาเล็บหรือเล็บปลอมอาจส่งผลให้กระบวนการฟื้นฟูของบาดแผลช้าลงและทำให้คุณสังเกตเห็นสัญญาณของการติดเชื้อหรือการบาดเจ็บได้ยากยิ่งขึ้น
    • สวมรองเท้าที่สวมใส่สบายและกระชับพอดี โดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อคุณต้องการวิ่ง ให้คุณเลือกสวมรองเท้าที่มีขนาดใหญ่ขึ้นมา ½ ไซส์จากรองเท้าที่สวมตามปกติและผูกเชือกให้แน่นเพื่อไม่ให้เท้าของคุณเลื่อนไปมา
    • สวมถุงเท้าผ้าหนาและระบายความชื้นได้ดีเพื่อช่วยกันกระแทกและป้องกันความชื้นให้เท้าของคุณอยู่เสมอ
    • สวมปลอกหุ้มนิ้วหรือพันเทปที่นิ้วเท้าที่บาดเจ็บไว้ในระหว่างการวิ่งหรือปีนเขา
    โฆษณา
วิธีการ 2
วิธีการ 2 ของ 3:

รักษาเล็บเท้าที่เกิดโรคเชื้อรา

ดาวน์โหลดบทความ
  1. การติดเชื้อราที่เล็บเท้าอาจทำให้เกิดการสะสมของเศษเนื้อบริเวณใต้เล็บจนส่งผลให้เล็บเท้าของคุณมีสีดำคล้ำผิดปกติได้ ลองสังเกตดูสัญญาณต่างๆ ของการติดเชื้อราดังต่อไปนี้: [8]
    • เล็บขึ้นหนาหรือผิดรูป
    • เล็บเปลี่ยนเป็นสีออกขาวหรือออกน้ำตาลอมเหลือง
    • เล็บเปราะบางและแตกหักง่าย
    • มีกลิ่นเหม็น
  2. เนื่องจากการติดเชื้อราที่เล็บเท้ามักมีอาการที่คล้ายคลึงกับโรคอื่นๆ ดังนั้นคุณจึงควรรับการวินิจฉัยอย่างถูกต้องจากแพทย์เพื่อให้คุณสามารถรักษาปัญหาเล็บเท้าเป็นสีดำคล้ำได้อย่างถูกวิธี นัดพบแพทย์เพื่อให้แพทย์ตรวจดูเล็บเท้าของคุณรวมถึงทำการตรวจทางห้องปฏิบัติการเพื่อพิสูจน์ว่ามีการติดเชื้อราหรือไม่ [9]
    • แพทย์ของคุณอาจทำการตัดเล็บออกมาบางส่วนหรือเก็บเศษเนื้อบริเวณใต้เล็บเพื่อส่งตรวจทางห้องปฏิบัติการ
    • บอกเล่าอาการที่เกิดขึ้นให้แพทย์ฟังอย่างละเอียด รวมถึงแจ้งให้แพทย์ทราบเกี่ยวกับยาตัวอื่นๆ ที่คุณกำลังใช้อยู่หรือปัญหาสุขภาพต่างๆ ที่คุณมี
  3. ก่อนเริ่มต้นการรักษาขั้นสูง แพทย์ของคุณอาจแนะนำให้คุณใช้ยาที่ซื้อได้โดยไม่ต้องมีใบสั่งแพทย์ในการรักษาเล็บเท้าที่เกิดการติดเชื้อ ให้คุณหาซื้อยาทาต้านเชื้อราแบบครีมหรือแบบขี้ผึ้งจากร้านขายยาทั่วไปและปฏิบัติตามวิธีใช้ที่ระบุบนฉลากอย่างเคร่งครัด [10]
    • ยาทาประเภทนี้อาจมีประสิทธิภาพดีมากขึ้นเมื่อเล็บของคุณบางและนุ่มลงก่อนเริ่มทายาลงไป คุณจึงควรตัดเล็บที่เกิดการติดเชื้อให้สั้นลงและค่อยๆ ตะไบส่วนที่หนาให้บางลงโดยระมัดระวังอย่าตะไบหน้าเล็บออกมากจนเกินไป
    • คุณยังสามารถช่วยให้ยาซึมลึกเข้าสู่บาดแผลได้ดียิ่งขึ้นได้ด้วยการทาครีมที่มีส่วนประกอบของยูเรียก่อนการเริ่มต้นใช้ยาตามปกติ
  4. สอบถามแพทย์เกี่ยวกับการใช้ยาทาต้านเชื้อราเฉพาะที่ตามแพทย์สั่ง. หากอาการติดเชื้อของคุณไม่มีการตอบสนองใดๆ ต่อการใช้ยาที่ซื้อได้โดยไม่ต้องมีใบสั่งแพทย์ แพทย์ของคุณอาจพิจารณาสั่งจ่ายยาทาต้านเชื้อราเฉพาะที่ซึ่งมีทั้งในรูปแบบครีม ขี้ผึ้ง และน้ำยาเคลือบ นอกจากนี้ยังอาจมีการใช้ยาทาเหล่านี้ร่วมกับยาต้านเชื้อราชนิดทานในผู้ที่มีอาการติดเชื้อที่รักษาได้ยากอีกด้วย โดยปฏิบัติตามคำแนะนำของแพทย์อย่างเคร่งครัด [11]
    • ยาทาเฉพาะที่ที่แพทย์มักสั่งจ่ายโดยส่วนใหญ่ได้แก่ อะโมโรลฟิน (Amorolfine) ไซโคลไพรอกซ์ (Ciclopirox) อีฟิน่าโคนาโซล (Efinaconazole) และทาวาโบรอล (Tavaborole)
    • ยาทาต้านเชื้อราบางตัวอาจจำเป็นต้องใช้เป็นประจำทุกวัน ในขณะที่บางตัวอาจใช้เพียงสัปดาห์ละครั้งเท่านั้น โดยคุณอาจต้องใช้ต้านเชื้อราอย่างต่อเนื่องเป็นเวลานานกว่าหลายสัปดาห์เพื่อให้เห็นผลลัพธ์ในการรักษา
    • ยาทาต้านเชื้อราบางตัวอาจมาในรูปแบบของน้ำยาเคลือบ (เพนแลค (Penlac)) ซึ่งใช้สำหรับทาที่เล็บที่ติดเชื้อเป็นประจำทุกวัน [12]
  5. ปรึกษาแพทย์เกี่ยวกับการใช้ยาต้านเชื้อราแบบทาน. ไปพบแพทย์หากการติดเชื้อราที่เล็บเท้ายังคงไม่ดีขึ้นหลังจากที่คุณใช้ยาทาต้านเชื้อราทั้งแบบที่ซื้อได้โดยไม่ต้องมีใบสั่งแพทย์และแบบที่ต้องมีใบสั่งแพทย์ โดยแพทย์ของคุณอาจเริ่มสั่งจ่ายยาต้านเชื้อราแบบทานที่ออกฤทธิ์แรงยิ่งขึ้น เช่น เทอร์บินาฟีน (Terbinafine) และไอทราโคนาโซล (Itraconazole) ที่แพทย์มักสั่งจ่ายโดยส่วนใหญ่ ซึ่งยาต้านเชื้อราแบบทานสามารถช่วยในการฆ่าเชื้อโรคและกระตุ้นการเกิดใหม่ของเล็บขึ้นมาแทนที่เล็บที่ติดเชื้อ [13]
    • คุณอาจจำเป็นต้องทานยาติดต่อกันถึง 6-12 สัปดาห์กว่าที่การติดเชื้อราที่เล็บเท้าจะหายดี ทั้งยังอาจต้องใช้เวลานานกว่าหลายเดือนเพื่อให้เล็บใหม่งอกขึ้นมาแทนที่เล็บเก่าที่เสียหาย ดังนั้นอย่าเพิ่งเป็นกังวลใจไปหากอาการยังคงไม่ดีขึ้นในทันที
    • ยาต้านเชื้อราแบบทาอาจก่อให้เกิดผลข้างเคียงที่รุนแรงต่างๆ ได้ ดังนั้นคุณจึงควรรับการตรวจสอบจากแพทย์อย่างต่อเนื่องเพื่อให้แน่ใจว่าร่างกายของคุณสามารถทนต่อยาได้ดี รวมถึงแจ้งให้แพทย์ทราบเกี่ยวกับยาตัวอื่นๆ ที่คุณกำลังใช้อยู่หรือปัญหาสุขภาพต่างๆ ที่คุณมี
  6. พูดคุยกับแพทย์เกี่ยวกับการถอดเล็บสำหรับการติดเชื้อที่รักษาได้ยาก. หากการรักษาด้วยยาไม่ทำให้อาการดีขึ้นหรือการติดเชื้อของคุณมีความรุนแรงเป็นพิเศษ แพทย์ของคุณอาจแนะนำวิธีการรักษาด้วยการถอดเล็บเพื่อให้สามารถรักษาที่ผิวหนังใต้เล็บได้โดยตรง โดยแพทย์อาจทำการถอดเล็บโดยใช้สารเคมีที่ทำให้เล็บหลุดออกหรือใช้เครื่องมือในการดึงเล็บออกมา [14]
    • ในกรณีส่วนใหญ่เล็บจะงอกขึ้นมาใหม่อีกครั้งหลังการรักษาด้วยการถอดเล็บ ซึ่งอาจใช้เวลากว่าหลายเดือนหรือเป็นปีจนกระทั่งเล็บใหม่งอกขึ้นมาอย่างสมบูรณ์
    • หากการติดเชื้อรายังคงกลับมาอีกครั้งโดยไม่มีทีท่าว่าจะหายสนิทและไม่ตอบสนองใดๆ ต่อการรักษา แพทย์หรือผู้เชี่ยวชาญทางโรคผิวหนังอาจจำเป็นต้องทำการผ่าตัดเพื่อถอดเล็บออกอย่างถาวร
    โฆษณา
วิธีการ 3
วิธีการ 3 ของ 3:

รับมือกับมะเร็งผิวหนังชนิดเมลาโนมาที่เล็บเท้า

ดาวน์โหลดบทความ
  1. พิจารณาอาการของมะเร็งผิวหนังชนิดเมลาโนมาที่เล็บเท้าของคุณ. มะเร็งผิวหนังชนิดเมลาโนมาที่ผิวหนังใต้เล็บ (Subungual melanoma) มีลักษณะที่ดูคล้ายคลึงกับรอยฟกช้ำที่เกิดขึ้นจากการบาดเจ็บที่เล็บ ดังนั้นหากคุณสังเกตเห็นจุดสีคล้ำที่บริเวณใต้เล็บโดยที่ไม่ได้รับบาดเจ็บที่นิ้วเท้ามาก่อน ให้คุณรีบเข้ารับการตรวจจากแพทย์โดยทันที สัญญาณหรืออาการอื่นๆ ของมะเร็งผิวหนังชนิดเมลาโนมาได้แก่: [15]
    • รอยริ้วสีน้ำตาลหรือดำที่บริเวณใต้เล็บที่ลุกลามเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ โดนเฉพาะอย่างยิ่งรอยริ้วที่ขยายตัวจากปลายเล็บมาจนถึงตรงบริเวณโคนเล็บ
    • รอยฟกช้ำหรือจุดสีคล้ำที่ไม่เลื่อนขึ้นหรือหายไปเมื่อเล็บยาวขึ้น
    • การแยกออกจากกันของเล็บและผิวหนังใต้เล็บ
    • ผิวหนังบริเวณนิ้วเท้าที่คล้ำขึ้น
    • เล็บเปราะบาง แตกหักง่าย หรือผิดรูป
    • เลือดออกที่บริเวณใต้เล็บ
  2. ไปพบแพทย์ทันทีเพื่อรับการวินิจฉัยอย่างถูกต้อง. หากคุณสงสัยว่าเกิดมะเร็งผิวหนังชนิดเมลาโนมาที่ผิวหนังใต้เล็บของคุณ อย่ามัวรีรอและรีบทำการนัดหมายแพทย์โดยทันที จำไว้ว่าการตรวจเจอมะเร็งผิวหนังชนิดเมลาโนมาตั้งแต่เนิ่นๆ จะช่วยให้สามารถทำการรักษาได้ง่ายดายและมีประสิทธิภาพยิ่งขึ้น [16]
    • แพทย์ของคุณอาจทำการเก็บเนื้อเยื่อชิ้นเล็กๆ จากใต้เล็บเพื่อส่งตรวจทางพยาธิวิทยาเพื่อตรวจพิสูจน์เซลล์มะเร็ง
    • หากผลการตรวจตัวอย่างเนื้อเยื่อออกมาเป็นบวกและแพทย์ของคุณสงสัยว่ามะเร็งเริ่มมีการแพร่กระจายแล้ว แพทย์อาจพิจารณาการส่งตรวจชิ้นเนื้อจากต่อมน้ำเหลืองในบริเวณใกล้ๆ กันทางพยาธิวิทยา [17]
  3. วิธีการรักษามะเร็งผิวหนังชนิดเมลาโนมาที่มีประสิทธิภาพที่สุดคือการผ่าตัดนำเนื้อเยื่อที่เป็นมะเร็งออกไป แพทย์ของคุณอาจทำการรักษาด้วยการถอดเล็บทั้งหมดออกหรือตัดออกเพียงบางส่วนโดยพิจารณาจากความหนาของมะเร็งชนิดเมลาโนมาและขอบเขตของการแพร่กระจายของมะเร็ง [18]
    • หากมะเร็งผิวหนังชนิดเมลาโนมาเริ่มแพร่กระจายไปยังเนื้อเยื่อหรือต่อมน้ำเหลืองในบริเวณรอบข้าง คุณอาจจำเป็นต้องรับการรักษาอื่นๆ อย่างการใช้ยาเคมีบำบัดหรือการฉายแสงเพิ่มเติมจากการผ่าตัด
    • แม้ว่าขอบเขตของการแพร่กระจายของมะเร็งผิวหนังชนิดเมลาโนมาจะค่อนข้างจำกัด แต่แพทย์ของคุณยังคงอาจพิจารณาการรักษาเพิ่มเติมเพื่อป้องกันการเกิดซ้ำของมะเร็งผิวหนังชนิดเมลาโนมาหรือทำลายเซลล์มะเร็งที่เหลืออยู่ให้หมดไป
    • ภายหลังการรักษา คุณควรนัดพบแพทย์เพื่อติดตามอาการอย่างสม่ำเสมอและหมั่นตรวจสอบด้วยตัวเองอยู่เป็นประจำเผื่อในกรณีที่มะเร็งผิวหนังชนิดเมลาโนมากลับมาเกิดซ้ำอีกครั้ง
    โฆษณา

เคล็ดลับ

  • ปัญหาการเปลี่ยนสีของเล็บยังสามารถเกิดจากสาเหตุอื่นๆ เช่น การเปลี่ยนแปลงของเม็ดสีผิวตามธรรมชาติ รวมทั้งยังอาจเป็นผลมาจากโรคประจำตัวต่างๆ ของคุณ เช่น โรคเบาหวาน โรคตับ โรคหัวใจ หรือโรคโลหิตจาง [19] ดังนั้นลองพูดคุยกับแพทย์เพื่อตรวจสอบดูว่าโรคประจำตัวเหล่านี้เป็นสาเหตุของการเกิดอาการเล็บเท้าเป็นสีดำคล้ำของคุณหรือไม่
โฆษณา

เกี่ยวกับวิกิฮาวนี้

มีการเข้าถึงหน้านี้ 60,636 ครั้ง

บทความนี้เป็นประโยชน์กับคุณไหม

โฆษณา