ดาวน์โหลดบทความ ดาวน์โหลดบทความ

การยึดมั่นในจุดยืนของตนเอง จัดเป็นพฤติกรรมที่อยู่กึ่งกลางระหว่างการเป็นคนเพิกเฉย กับการเป็นคนก้าวร้าว หากคุณเป็นคนออกแนวเพิกเฉย ก็มักจะไม่มีทางได้แสดงความต้องการของตนเองออกมา แต่หากคุณออกแนวก้าวร้าว คุณก็จะดูเหมือนพวกอันธพาล และยังอาจเผลอไปสำแดงความคับข้องใจในทางที่ผิดด้วย ทั้งนี้ หากคุณเป็นคนที่กล้ายืนหยัดเพื่อรักษาจุดยืนของตนเองอย่างเหมาะสม คุณจะสามารถแสดงความปรารถนาส่วนตัวออกมาได้ ในขณะที่ยังเคารพความต้องการของผู้อื่นควบคู่กันไปด้วย ซึ่งจะส่งผลให้คุณมีโอกาสมากขึ้นในการที่จะได้สิ่งที่ตนเองต้องการ และคู่ควรกับมันด้วย

ส่วน 1
ส่วน 1 ของ 8:

เข้าใจความแตกต่างระหว่างการแสดงจุดยืน ความก้าวร้าว และความเพิกเฉย

ดาวน์โหลดบทความ
  1. การสื่อสารอย่างมีจุดยืนนั้น ประกอบด้วยการเคารพความรู้สึก ความต้องการ และความจำเป็น รวมถึงความคิดเห็นของผู้อื่นด้วย ผู้ที่จะสามารถสื่อสารอย่างมีจุดยืนได้นั้น ต้องหลีกเลี่ยงการปิดกั้นสิทธิของผู้อื่น ในขณะที่คงไว้ซึ่งสิทธิของตนเอง และพร้อมที่จะประนีประนอมกันอยู่เสมอ พูดอีกอย่างคือ การสื่อสารอย่างมีจุดยืนนั้น จะใช้ทั้งคำพูดและการกระทำไปในการแสดงกรอบความต้องการและความจำเป็นในเรื่องต่างๆ ของตนเอง ด้วยท่าทีที่ดูสงบเรียบร้อย แต่กระนั้นก็ยังเปี่ยมด้วยความมั่นใจอย่างเห็นได้ชัด [1]
  2. เรียนรู้วิธีการพูด สำหรับใช้สื่อสารเพื่อแสดงจุดยืน. ลักษณะคำพูดหรือการพูด ที่ใช้ในการสื่อสารเพื่อแสดงจุดยืนนั้น จะเต็มไปด้วยการให้เกียรติ ความจริงใจ และความแน่วแน่ ซึ่งอาจแสดงออกมาเป็นลักษณะ ดังเช่น: [2]
    • มีน้ำเสียงผ่อนคลายแต่มุ่งมั่น
    • คล่องแคล่วเป็นธรรมชาติและจริงใจ
    • ใช้ระดับเสียงเหมาะสมกับสถานการณ์
    • พร้อมให้ความร่วมมือและเป็นไปในทางสร้างสรรค์
  3. เรียนรู้ลักษณะภาษากายของการสื่อสารอย่างมีจุดยืน. เช่นเดียวกับลักษณะการพูด การสื่อสารด้วยภาษากายในแบบต่างๆ ก็ถือเป็นพฤติกรรมที่ใช้ในการแสดงจุดยืน และสามารถใช้แสดงการให้เกียรติ ความจริงใจ และความมั่นใจได้เช่นกัน โดยอาจจะมีการแสดงออกในลักษณะดังนี้: [3]
    • ฟังอย่างตั้งใจ
    • สบสายตาคู่สนทนา
    • ท่าทางแบบพร้อมเปิดใจ
    • ยิ้มเมื่อรู้สึกพึงพอใจ
    • ทำหน้าบึ้งเมื่อโกรธ
  4. เรียนรู้แนวคิดที่เชื่อมโยงกับการสื่อสารแบบมีจุดยืน. ผู้ที่รักษาจุดยืนของตนเองนั้น มักจะยึดมั่นในแนวคิดบางอย่าง ที่บ่งบอกถึงความมั่นใจและการให้เกียรติแก่ผู้อื่น ซึ่งแนวคิดดังกล่าวอาจเป็นไปในเชิงต่อไปนี้: [4]
    • “ฉันจะไม่ยอมถูกเอาเปรียบ แต่ก็จะไม่ข่มเหงรังแกอีกฝ่าย”
    • “ฉันจะยืนหยัดเพื่อตนเองด้วยท่าทีที่น่านับถือ”
    • “ฉันจะแสดงตัวตนอย่างเปิดเผยและตรงไปตรงมา”
  5. การยึดมั่นในจุดยืนมักจะถูกเหมารวมแบบผิดๆ ว่า เป็นท่าทีที่ก้าวร้าว แต่ความก้าวร้าวจะขาดการให้เกียรติผู้อื่น มันเป็นท่าทีที่ไร้การตระหนักใน ความต้องการ ความรู้สึก ความจำเป็น และความคิดเห็น หรือแม้แต่สวัสดิภาพของผู้อื่นด้วยในบางครั้ง การสื่อสารด้วยท่าทีก้าวร้าว มักเชื่อมโยงกับความโกรธ และ/หรือพฤติกรรมเอาแต่ใจ ชอบเรียกร้อง และบงการผู้อื่น
    • ลักษณะการพูดที่แสดงออกถึงความก้าวร้าว อาจรวมถึง [5] : การพูดจาเสียดสีหรือข่มเหง กล่าวโทษ ตะคอก ขู่เข็ญ โอ้อวด หรือการใช้คำพูดทิ่มแทง
    • ลักษณะที่นอกเหนือไปจากการพูด อันแสดงออกถึงความก้าวร้าวเช่นกัน อาจรวมถึง: การล่วงล้ำความเป็นส่วนตัวของผู้อื่น การกำหมัด การกอดอก การมองเขม่น หรือการมองแบบเหยียดผู้อื่น
    • แนวคิดที่เชื่อมโยงหรือก่อให้เกิดการสื่อสารด้วยท่าทีก้าวร้าว อาจรวมถึง: “ฉันรู้สึกมีอำนาจ และจะทำให้อีกฝ่ายยอมตามให้ได้” “ฉันสามารถควบคุมผู้อื่นได้” หรือ “ฉันไม่ต้องการเป็นคนอ่อนแอ”
  6. การนิ่งเงียบและเอาแต่ใคร่ครวญ เป็นลักษณะเด่นของสไตล์การสื่อสารแบบเพิกเฉย ผู้ที่มีสไตล์การสื่อสารเช่นนี้ มักจะขาดความนับถือตนเอง เพิกเฉยต่อความคิดเห็น ความรู้สึก ความต้องการ และความปรารถนาของตนเอง พวกเขามองว่า ความต้องการและความปรารถนาของตนเองสำคัญน้อยกว่าของผู้อื่น การเพิกเฉยในลักษณะนี้ จะทำให้คนๆ นั้นขาดพลังอำนาจในตนเอง และปล่อยให้ผู้อื่นเป็นคนกำหนดผลลัพธ์ในแต่ละสถานการณ์ [6] :
    • ลักษณะการพูดที่แสดงออกถึงความวางเฉย อาจรวมถึง: การโลเล นิ่งเงียบ บอกปัดตนเอง หรือดูถูกเหยียดหยามตนเอง เป็นต้น
    • ลักษณะที่นอกเหนือไปจากการพูด อันแสดงออกถึงความก้าวเช่นกัน อาจรวมถึง: หลบสายตาหรือก้มมองพื้น ขดตัว ยกแขนกอดอก หรือเอามือมาป้องปาก
    • แนวคิดที่เชื่อมโยงหรือก่อให้เกิดการสื่อสารด้วยท่าทีวางเฉย อาจรวมถึง: “ฉันไม่มีความสำคัญอะไร” หรือ “เดี๋ยวคนอื่นจะมองฉันในแง่ลบ”
  7. ตั้งแต่วัยเด็กมา เราต่างก็ปรับพฤติกรรมของตนเองไปตามเงื่อนไขทางสภาพแวดล้อม คนในครอบครัว เพื่อนฝูง เพื่อนร่วมงาน และผู้มีอำนาจเหนือเรา การสื่อสารทั้งแบบวางเฉย แบบแน่วแน่ในจุดยืน และแบบก้าวร้าว ต่างก็สามารถเกิดขึ้นจากเงื่อนไขทางวัฒนธรรม ขนบธรรมเนียมของคนแต่ละรุ่น และตัวแปรในแต่ละสถานการณ์ได้ทั้งสิ้น แม้ว่าการสื่อสารแบบแน่วแน่ในจุดยืนของตนเอง จะเป็นค่านิยมที่แพร่หลายในโลกตะวันตกมากกว่าก็ตาม
    • คนในรุ่นก่อนๆ อาจจะรู้สึกว่า การแสดงท่าทียืนหยัดเพื่อตนเองนั้น ทำได้ยากกว่า ในอดีตนั้น ผู้ชายมักเคยชินกับการถูกสอนว่า การแสดงอารมณ์ออกมาถือเป็นความอ่อนแอ ในขณะที่ผู้หญิงก็ถูกสอนว่า การยืนหยัดในความต้องการและความเห็นของตนเอง ถือเป็นลักษณะที่ก้าวร้าว ดังนั้น บางครั้งมันจึงยากที่เราจะสามารถแยกแยะได้ว่า พฤติกรรมเช่นไร จึงจะถือว่าเหมาะสมในแต่ละสถานการณ์อันแตกต่างไป [7]
  8. มันสำคัญมาก ในการที่เราไม่ควรจะตำหนิตนเอง หากเราไม่รู้ว่าจะรักษาจุดยืนอย่างไร เวลาที่สื่อสารกับผู้อื่น การสื่อสารทั้งแบบวางเฉยและแบบก้าวร้าว ต่างก็สามารถเกิดขึ้นสลับไปมาอยู่เสมอ แต่คุณสามารถทำลายวงจรดังกล่าวได้ โดยเริ่มต้นด้วยการเรียนรู้แนวคิดและพฤติกรรม ตามหลักการยืนหยัดเพื่อตนเอง [8]
    • หากครอบครัวของคุณ คอยพร่ำสอนมาแต่เด็กว่า ให้เอาความต้องการของผู้อื่นนำหน้าความต้องการตนเองก่อน มันก็ยากที่คุณจะกล้ายืนหยัดในตนเอง
    • หากคนในครอบครัวหรือเพื่อนฝูงของคุณ มักจะจัดการความขัดแย้งด้วยการโต้เถียงหรือตะคอกใส่กัน คุณก็อาจจะจดจำพฤติกรรมดังกล่าวมาเป็นแบบอย่างได้
    • หากวงสังคมของคุณเชื่อว่า คนเราควรเก็บซ่อนอารมณ์ทางลบของตนเองไว้ หรือมักดูแคลนใครก็ตามที่แสดงความรู้สึกดังกล่าวออกมา เมื่อนั้นก็เป็นไปได้ว่า ตัวคุณเองอาจได้เรียนรู้ที่จะไม่แสดงอารมณ์ทางลบออกมาด้วยเช่นกัน
    โฆษณา
ส่วน 2
ส่วน 2 ของ 8:

ค้นหาเบาะแสทางอารมณ์

ดาวน์โหลดบทความ
  1. หากต้องการเรียนรู้วิธีที่จะสื่อสารกับผู้อื่น ด้วยความมีจุดยืนอยู่เสมอ มันก็สำคัญที่คุณจะต้องเรียนรู้วิธีจัดการกับอารมณ์อย่างมีประสิทธิภาพ ซึ่งสำหรับบางคนนั้น ขอแค่มีความตระหนักรู้เกี่ยวกับรูปแบบอารมณ์ของตนเอง ก็เพียงพอแล้วที่จะเปลี่ยนวิธีที่พวกเขาใช้สื่อสารกับผู้อื่น และยังช่วยให้พวกเขาสามารถแสดงอารมณ์ออกมาได้อย่างเปิดเผยมากขึ้น ทั้งนี้ การจดบันทึกส่วนตัวอาจเป็นวิธีที่ดีที่สุด ในการเข้าถึงสาเหตุต้นตอของพฤติกรรมตนเอง ด้วยการบันทึกสถานการณ์ต่างๆ และตั้งคำถามเกี่ยวกับจุดยืนของตนเองควบคู่กันไป [9]
  2. จงนึกภาพสถานการณ์นั้น ราวกับว่า คุณกำลังถ่ายภาพยนตร์. เขียนรายละเอียดเกี่ยวกับสถานการณ์ที่กระตุ้นอารมณ์ของคุณ โดยเน้นไปที่ข้อเท็จจริงและพยายามอย่าไปปรุงแต่งอะไรในขั้นตอนแรกนี้ ตัวอย่างเช่น คุณอาจเขียนเพียงว่า “ฉันชวนเพื่อนไปกินข้าว และเธอตอบว่า 'ไม่'”
  3. ซื่อสัตย์ต่อความรู้สึกตนเอง ด้วยการระบุถึงอารมณ์ที่คุณรู้สึก ในช่วงที่เกิดสถานการณ์ดังกล่าวนั้น และให้คะแนน 0 - 100 ถึงระดับความเข้มข้นรุนแรงของมัน (เริ่มจากระดับไม่เข้มข้นรุนแรง เรื่อยไปจนถึงระดับดราม่าสุดๆ) เอาแค่กะประมาณคร่าวๆ ก็พอ ขอเพียงระบุด้วยความซื่อตรงต่อตนเอง
  4. บันทึกว่า คุณมีปฏิกริยาตอบสนองอย่างไรในสถานการณ์นั้น. พยายามระบุปฏิกริยาทางกายที่เกิดขึ้นในช่วงสถานการณ์ดังกล่าว โดยถามตัวเองว่า “ฉันทำอะไรออกไปบ้าง” และ “ร่างกายของฉันเกิดความรู้สึกใดขึ้นมาบ้าง”
    • ตัวอย่างเช่น หากมีใครบางคน ไม่ยอมรับสายตอนคุณโทรหา คุณอาจจะรู้สึกท้องไส้ปั่นป่วน หรือเกิดอาการตึงเครียดบริเวณหัวไหล่
  5. บรรยายความคิดที่เกิดขึ้นในช่วงสถานการณ์นั้น. ความคิดดังกล่าว อาจรวมถึงการสันนิษฐาน การตีความ ความเชื่อ การประเมินค่าสถานการณ์ดังกล่าว หรือสิ่งใดก็ตาม ลองถามตัวเองว่า “ตอนนั้นฉันคิดอะไรอยู่” หรือ “ความคิดอะไรกำลังครอบงำฉันในช่วงขณะนั้น” โดยคุณอาจจะเขียนบันทึกประมาณว่า: “ตอนเธอชวนฉันไปกินข้าว ฉันยังเคยตอบตกลงเลย ตอนนี้เธอก็ควรยอมไปเป็นเพื่อนฉันบ้างสิ” หรือ “เธอหยาบมาก ที่กล้าตอบปฏิเสธ” หรือ “บางทีเธออาจไม่เห็นฉันเป็นเพื่อนแล้ว”
  6. ให้คะแนนเกี่ยวกับระดับความรุนแรงของความคิดที่เกิดขึ้น ในช่วงสถานการณ์ดังกล่าว จาก 0 - 100 เช่นเดียวกัน เช่น บันทึกเป็น “0” ในกรณีที่คุณเห็นว่า ความคิดดังกล่าวไร้สาระ หรือให้คะแนนเต็ม “100” ในกรณีที่ คุณมั่นใจในความคิดนั้นจริงๆจากนั้น ถามตัวเองว่า “ฉันคิดเรื่องดังกล่าว ด้วยความเมินเฉย หรือก้าวร้าว หรือเป็นไปตามจุดยืนเท่านั้น” และบันทึกคำตอบที่ได้จากคำถามนี้ลงไป รวมถึงระบุหลักฐานที่สามารถนำมาสนับสนุนหรือคัดค้านความคิดดังกล่าวด้วย ลองใคร่ครวญดูว่า มีวิธีมองสถานการณ์ดังกล่าวแตกต่างออกไปจากเดิมได้บ้างไหม
  7. ค้นหาวิธีตอบสนองอย่างมีจุดยืนมากขึ้น ในสถานการณ์ดังกล่าว. การจะค้นหาวิธีคิดและพฤติกรรมที่สมดุล รวมถึงสามารถรักษาจุดยืนได้ดีขึ้นกว่าเดิมนั้น คุณต้องถามตัวเองว่า “การคิดหรือการตอบสนองแบบใดบ้าง ที่ถือเป็นลักษณะของการยึดมั่นในจุดยืน”
  8. หลังจากที่คุณได้ประเมินสถานการณ์เสร็จแล้ว ลองกลับไปย้อนดูลักษณะของอารมณ์ที่บันทึกไว้ก่อนหน้านี้ รวมถึงระดับความรุนแรงของความเชื่อที่เกิดขึ้นในสถานการณ์ดังกล่าวด้วย และให้คะแนนมันจาก 0 – 100 อีกครั้ง
  9. หากคุณทำการบ้านเช่นนี้บ่อยๆ ก็มีโอกาสที่อารมณ์จะลดระดับความรุนแรงลงเรื่อยๆ พยายามประเมินอารมณ์ ความคิด และการตอบสนองในรูปแบบสถานการณ์อื่นๆ โดยใช้วิธีดังกล่าวเช่นกัน หากคุณทำไปเรื่อยๆ คุณอาจจะเริ่มมีวิธีคิดและพฤติกรรมไปในทางที่เน้นแสดงจุดยืนได้มากกว่าเดิม
    โฆษณา
ส่วน 3
ส่วน 3 ของ 8:

เรียนรู้วิธีสื่อสารอย่างมีประสิทธิภาพ

ดาวน์โหลดบทความ
  1. การสื่อสารแบบเน้นจุดยืนนั้น เป็นเรื่องที่สามารถเรียนรู้กันได้ และมันจะช่วยให้คุณรู้วิธีการแสดงความรู้สึกและความต้องการของตนเองได้อย่างมั่นใจ ในขณะที่ยังคงตระหนักในความคิดเห็น ความต้องการ และความจำเป็น รวมถึงความรู้สึกของผู้อื่นด้วย ซึ่งคุณจะได้ประโยชน์ในหลายแง่มุมจากการสื่อสารแบบดังกล่าว เช่น: [10]
    • การสื่อสารที่มีประสิทธิภาพและแข็งขัน
    • ความมั่นใจ
    • เพิ่มระดับความนับถือตนเอง
    • ได้รับความเคารพจากผู้อื่น
    • เสริมสร้างทักษะการตัดสินใจ
    • ลดความเครียดจากการเก็บกดความต้องการของตนเองเอาไว้
    • เปิดทางไปสู่การแก้ไขความขัดแย้ง
    • เคารพในตนเองมากขึ้น
    • ความรู้สึกจากการถูกมองข้ามและเมินเฉย จะถูกแทนที่ด้วยความรู้สึกว่า ได้รับความเห็นใจและมีอำนาจในการตัดสินใจเพิ่มขึ้น
    • แนวโน้มที่จะเกิดอาการซึมเศร้าลดลง [11]
    • ลดภาวะเสี่ยงต่อการติดยา [12]
  2. การตอบปฏิเสธ อาจเป็นเรื่องยากสำหรับบางคน อย่างไรก็ตาม การตอบว่า “ได้” ในเวลาที่คุณต้องการบอกว่า “ไม่” นั้น อาจนำไปสู่อาการเครียด ความขุ่นเคือง และความโมโหต่อผู้อื่น โดยไม่จำเป็น แต่หากคุณจะปฏิเสธใคร ก็ควรที่จะรู้หลักการเบื้องต้นไว้ ดังนี้ : [13]
    • พูดให้กระชับ
    • ชัดเจน
    • ตรงไปตรงมา
    • ตัวอย่างเช่น หากคุณไม่มีเวลามากพอ เพื่อจะทำในสิ่งที่คนอื่นร้องขอจริงๆ แล้วล่ะก็ คุณก็อาจจะบอกพวกเขาไปแค่ว่า “ครั้งนี้คงทำให้คุณไม่ได้จริงๆ นะ ต้องขอโทษด้วยที่ทำให้ผิดหวัง เพราะในวันดังกล่าวผมมีธุระมากมาย จนไม่เหลือเวลาไว้ทำอย่างอื่นเลย”
  3. เวลาที่คุณกำลังพูดกับใคร พยายามพูดด้วยท่าทีสงบนิ่งและให้เกียรติพวกเขาด้วย ซึ่งจะช่วยให้พวกเขาเปิดใจรับฟัง รวมถึงให้เกียรติคุณด้วยเช่นกัน
    • การหายใจเข้าออกลึกๆ อาจช่วยได้ในยามที่คุณหงุดหงิด เพราะมันเป็นการควบคุมร่างกายให้สงบลง และช่วยให้คุณกลับมาควบคุมสถานการณ์ได้
  4. การสื่อสารกับผู้อื่นอาจดูเหมือนเรื่องธรรมดาทั่วไป อย่างไรก็ดี สิ่งที่คุณพยายามจะสื่อสารแก่ผู้อื่น หรือสิ่งที่พวกเขาพยายามสื่อสารมายังคุณ อาจจะถูกเข้าใจผิดได้เสมอ ซึ่งอาจส่งผลให้เกิดความขุ่นเคือง และสร้างความบาดหมางระหว่างคุณกับผู้อื่น ดังนั้น เวลาจะสื่อสารกับใคร จงสื่อความรู้สึก ความต้องการ และความคิดเห็น รวมถึงความจำเป็นอื่นๆ ด้วยประโยคอันเรียบง่าย จึงจะช่วยให้พวกเขาเข้าใจสิ่งที่คุณกำลังร้องขอได้อย่างชัดเจน [14]
    • ตัวอย่างเช่น แทนที่จะพูดคุยกับคนในครอบครัวด้วยประโยคที่เวิ่นเว้อ เต็มไปด้วยเงื่อนงำ และอ้อมค้อม คุณอาจจะพูดให้สั้นๆ และตรงไปตรงมาก็ได้: “ผมชอบเวลาที่คุณโทรหานะ แต่ระหว่างวันผมยุ่งมากจนคุยกันนานๆ ไม่สะดวก ผมจะรู้สึกขอบคุณมาก หากคุณโทรมาใหม่อีกครั้งตอนเย็นๆ”
  5. ใช้สรรพนามบุรุษที่ 1 เวลาที่ต้องการแสดงจุดยืน. การขึ้นต้นประโยคด้วยคำว่า “ฉัน/ดิฉัน/ ผม” สื่อให้อีกฝ่ายเห็นว่า คุณพร้อมที่จะรับผิดชอบความคิดและการกระทำของตนเอง แต่การใช้คำดังกล่าวขึ้นต้นประโยค ก็ยังขึ้นอยู่กับบริบทที่แตกต่างกันไปด้วย: [15]
    • แสดงจุดยืนทั่วไป : การใช้สรรพนามบุรุษที่ 1 ในบริบทนี้ อาจรวมถึงสถานการณ์ต่างๆ ในชีวิตประจำวัน เพื่อแสดงความต้องการให้ผู้อื่นรู้ หรือเพื่อกล่าวชม รวมถึงบอกกล่าวข้อมูลและข้อเท็จจริงให้ผู้อื่นทราบ นอกจากนี้ มันยังเหมาะที่จะใช้ในกรณีที่คุณต้องการเปิดเผยตัวเอง เพื่อลดความวิตกกังวลและเพิ่มความผ่อนคลาย เช่น “ฉันต้องออกไปตอนหกโมงนี้แล้ว” หรือ “ผมชอบวิธีการนำเสนอของคุณนะ”
    • แสดงจุดยืนในการเห็นใจ : การใช้สรรพนามบุรุษที่ 1 ในสถานการณ์จำเพาะนี้ ประกอบด้วยการสื่อให้ผู้อื่นเห็นว่า คุณรับรู้ความรู้สึก ความต้องการ และความปรารถนาดังกล่าวของพวกเขา และมันยังใช้ในการระบุให้พวกเขารู้ว่า คุณเข้าใจในสถานการณ์ที่พวกเขากำลังเผชิญอยู่ เช่น “ผมรู้ว่าคุณกำลังยุ่ง แต่ผมต้องขอให้คุณช่วยจริงๆ”
    • แสดงจุดยืนด้วยการชี้ให้เห็นโทษ : นี่เป็นรูปแบบที่แข็งกร้าวที่สุดของการใช้สรรพนามบุรุษที่ 1 ซึ่งมักใช้เป็นทางเลือกสุดท้ายในการแสดงจุดยืน และหากคุณไม่ระวังลักษณะท่าทางของตัวเองให้ดี ก็อาจจะแสดงออกมาดูเหมือนเป็นความก้าวร้าวได้ เพราะการแสดงจุดยืนลักษณะนี้ จะทำด้วยการชี้ให้เห็นโทษทัณฑ์ที่อาจจะเกิดขึ้น ถ้าอีกฝ่ายไม่ปฏิบัติตาม ซึ่งมักเกิดขึ้นในสถานการณ์ที่มีใครบางคนละเลยต่อสิทธิของผู้อื่น ตัวอย่างที่เห็นชัด คือ เวลามีพนักงานไม่ปฏิบัติตามกฏหรือระเบียบที่องค์กรกำหนดไว้: “หากยังเกิดเรื่องแบบนี้ขึ้นอีก ผมคงไม่มีทางเลือกอื่น นอกจากต้องทำการลงโทษทางวินัย ถึงแม้ว่าผมจะไม่อยากทำก็เถอะ”
    • แสดงจุดยืนด้วยการเปรียบเทียบ : การใช้สรรพนามบุรุษที่ 1 ในกรณีนี้ เป็นการหยิบยกเอาประเด็นที่เคยเห็นพ้องกัน มาเปรียบเทียบกับสถานการณ์ที่กำลังเกิดขึ้น ณ ปัจจุบัน โดยใช้เพื่ออธิบายความเข้าใจผิด และ/หรือชี้ให้เห็นการกระทำที่ดูขัดแย้ง ซึ่งอาจพูดในทำนองว่า “ตามที่ดิฉันเข้าใจ เราเคยตกลงกันแล้วว่า เราต้องให้ความสำคัญกับโครงการเอ เป็นอันดับแรก แต่ตอนนี้คุณกลับมาขอเวลาเพิ่มขึ้น เพื่อที่จะไปดูแลโครงการบี ดิฉันจึงอยากให้คุณชี้แจงอีกครั้งว่า ตอนนี้โครงการไหนสำคัญกว่ากัน”
    • แสดงจุดยืนด้วยความรู้สึกเชิงลบ : การใช้สรรพนามบุรุษที่ 1 ในกรณีนี้ จะใช้ก็ต่อเมื่อคุณรู้สึกในเชิงลบ (โกรธ ขุ่นเคือง หรือเจ็บใจ) กับอีกฝ่ายหนึ่ง มันช่วยให้คุณมีโอกาสระบายความรู้สึกได้ โดยไม่จำเป็นต้องระเบิดอารมณ์ออกมา และเตือนให้อีกฝ่ายระวังผลของการกระทำที่พวกเขาก่อขึ้น โดยอาจพูดในทำนองว่า “เวลาคุณขอเลื่อนการส่งรายงาน มันทำให้ผมต้องทำงานในช่วงสุดสัปดาห์ต่อไปอีก ผมรู้สึกโมโหกับเรื่องนี้มากทีเดียว ดังนั้น ครั้งต่อไป ผมขอให้คุณส่งรายงานภายในช่วงบ่ายของวันพฤหัส”
  6. จำไว้ว่า ภาษาท่าทางที่คุณแสดงออกมา มีความสำคัญอย่างมากในการแสดงจุดยืน หากคุณไม่ระวังลักษณะท่าทางของตนเอง คุณก็อาจหลงคิดไปได้ว่า ตนเองแค่เพียงกำลังแสดงจุดยืนออกไปเท่านั้น ทั้งที่จริงๆ แล้ว คุณกำลังมีท่าทีดูเหมือนเพิกเฉยหรือก้าวร้าว อย่างใดอย่างหนึ่ง
    • พยายามใช้น้ำเสียงที่ราบเรียบและระดับเสียงปานกลาง
    • คอยสบตาอีกฝ่ายด้วย
    • ผ่อนคลายบริเวณใบหน้าและร่างกาย
  7. การจะนำวิถีทางแบบเน้นจุดยืนมาปรับใช้ในชีวิตของตนเอง ต้องอาศัยทั้งเวลาและการฝึกฝน เพื่อให้มันกลายมาเป็นส่วนหนึ่งในบุคลิกภาพของคุณเอง โดยคุณอาจฝึกพูดคุยกับตัวเองอยู่หน้ากระจกคนเดียว นอกจากนี้ ยังอาจนำไปฝึกฝนกับนักบำบัดหรือที่ปรึกษาส่วนตัวของคุณด้วยก็ได้
    โฆษณา
ส่วน 4
ส่วน 4 ของ 8:

เรียนรู้วิธีจัดการกับความเครียด

ดาวน์โหลดบทความ
  1. ตระหนักถึงความเครียดที่กำลังเกิดขึ้นในชีวิต. มันอาจเป็นเรื่องท้าทายสักนิด ในการที่จะควบคุมอารมณ์ของเรา อันส่งผลต่อวิธีการที่เราสื่อสารกับผู้อื่น เวลาที่เราเกิดความเครียดหรือหงุดหงิด ร่างกายของเราจะปรับเข้าสู่โหมดความเครียด อันเป็นผลจากปฏิกริยาทางเคมีและฮอร์โมนที่เกิดขึ้นในร่างกาย ซึ่งทำให้ร่างกายตื่นตัวสำหรับภัยคุกคามที่อาจเกิดขึ้น [16] ความคิดที่เกิดขึ้นในช่วงสภาวะดังกล่าวนี้ ย่อมแตกต่างจากวิธีคิดในยามที่ร่างกายและจิตใจของคุณ อยู่ในสภาวะที่สงบและแจ่มใส [17]
    • ตระหนักถึงสถานการณ์ที่มักทำให้คุณเกิดความเครียด โดยจดบันทึกรายละเอียดสถานการณ์ต่างๆ ที่ส่งผลให้คุณอยู่ในภาวะตึงเครียดโดยรวม
  2. เทคนิคการผ่อนคลายต่างๆ จะพาร่างกายของเราให้กลับคืนสู่ภาวะที่สมดุลได้อีกครั้ง ตัวอย่างเช่น การทำสมาธิ ซึ่งส่งผลให้เกิดความสงบภายในสมอง อันต่อเนื่องต่อไปอีกยาวนาน แม้ว่าคุณจะออกจากสมาธิแล้วก็ตาม ทั้งนี้ มันมีผลโดยตรงต่อสมองส่วนอามิกดาลา ซึ่งเป็นศูนย์กลางของสมอง ส่วนที่ทำหน้าที่เกี่ยวกับตรรกะทางอารมณ์ [18] พยายามทำสมาธิทุกวัน อย่างน้อยวันละ 5-10 นาที [19]
    • นั่งบนเก้าอี้หรือหมอนรองนั่งที่สบายๆ
    • หลับตา และส่งจิตไปรับรู้ถึงผัสสะเวทนาต่างๆ ที่กำลังเกิดขึ้น ณ ปัจจุบัน พยายามจดจ่ออยู่กับความรู้สึกที่เกิดขึ้นแก่ร่างกายคุณ รวมถึงกลิ่นและเสียงที่มากระทบประสาทสัมผัสด้วย
    • จากนั้น เปลี่ยนมารับรู้ลมหายใจของตนเองบ้าง หายใจเข้าโดยนับหนึ่งถึงสี่ จากนั้น หยุดลมหายใจไว้โดยนับถึงสี่ ก่อนที่จะผ่อนลมหายใจออกมาโดยนับหนึ่งถึงสี่ ตามลำดับ
    • เมื่อใดก็ตามที่จิตของคุณฟุ้งซ่านออกไป ก็อย่าไปใส่ใจหรือปรุงแต่งมัน แต่ให้ดึงสติกลับมาจดจ่อกับลมหายใจตามเดิม
    • คุณอาจจะใช้บทสวดมนต์ แผ่เมตตา หรือบทท่องคาถาใดๆ ก็ตาม ที่ช่วยให้คุณรู้สึกดีหรือมีอารมณ์เชิงบวกขึ้นได้ เช่น “ขอให้เกิดความสงบขึ้นในใจฉัน” หรือ “ขอให้ฉันประสบแต่สันติสุข ไร้ทุกข์ใดๆ” [20]
    • คุณอาจลองใช้วิธีการนำเข้าสมาธิ ซึ่งเป็นการให้คุณได้ใช้จินตนาการ นึกถึงภาพที่ให้ความรู้สึกผ่อนคลาย [21]
  3. ขณะที่คุณกำลังอยู่ในสถานการณ์ตึงเครียด การหายใจเข้าออกลึกๆ จะช่วยลดความเครียดดังกล่าว และทำให้ความคิดแจ่มชัดขึ้น พยายามหายใจลึกๆ ทั้งในขณะที่หายใจเข้าและหายใจออกอย่างช้าๆ และมีสติ
    • นั่งให้สบายบนเก้าอี้ ไม่ต้องกอดอกหรือไขว้ขา วางฝ่าเท้าให้ราบไปกับพื้น และวางมือไว้บนหน้าตัก ค่อยๆ หลับตาลง
    • หายใจเข้าทางจมูก โดยใช้สติคอยกำกับ หรือรับรู้ลักษณะของลมที่ผ่านเข้าออก
    • ค่อยๆ ลากลมหายใจเข้าแต่ละครั้ง ด้วยการสูดหายใจเข้าลึกๆ ให้ลงไปสู่ช่องท้องของคุณ และหยุดค้างไว้สักนิด ก่อนที่จะรับรู้ถึงความละเอียดนุ่มนวลของลมหายใจ ขณะที่ค่อยๆ ผ่อนออกมา
    • เริ่มนับจังหวะลมหายใจอีกครั้ง ด้วยการหายใจเข้า 3 วินาที และหายใจออก 3 วินาที พยายามรักษาระดับให้นิ่งๆ ช้าๆ คงที่เสมอกัน อย่าเร่งให้เร็วกว่าเดิม
    • ใช้รูปแบบจังหวะดังกล่าว กำหนดลมหายใจต่อไปอีกประมาณ 10 - 15 นาที
    • เมื่อเสร็จแล้ว ค่อยๆลืมตาขึ้น นั่งผ่อนคลายสักพัก ก่อนที่จะลุกขึ้นอย่างช้าๆ
  4. หากคุณรู้สึกกังวลในการทำสมาธิ หรือรู้สึกว่าไม่มีเวลามากพอที่จะทุ่มเทให้กับมัน การสร้างสภาวะผ่อนคลายให้ตนเอง ก็ยังสามารถทำได้ด้วยเทคนิคการคลายกล้ามเนื้อเชิงรุก [22] ซึ่งเป็นเทคนิคที่ก่อให้เกิดผลลัพธ์เป็นความสงบ และนำร่างกายกลับคืนสู่ภาวะสมดุลอีกครั้ง โดยเริ่มจากการตั้งใจเกร็งกล้ามเนื้อแต่ละส่วน ก่อนที่จะผ่อนคลายมันออก ไปจนทั่วทุกส่วนของร่างกาย ซึ่งหากคุณต้องการฝึกเทคนิคนี้สัก 15 – 20 นาทีต่อวัน คุณควร:
    • หาที่ๆ คุณสามารถนั่งได้สบายบนเก้าอี้ และวางฝ่าเท้าราบไปกับพื้น มือวางบนตัก และค่อยๆ หลับตาลง
    • เริ่มการฝึกเทคนิคนี้ ด้วยการกำหมัดของคุณให้แน่น ค้างไว้ประมาณ 10 วินาที ก่อนที่จะคลายมือออก และพยายามรับรู้ถึงอาการผ่อนคลายที่เกิดขึ้นอีกสัก 10 วินาที และทำซ้ำอีกรอบ
    • พยายามเกร็งช่วงแขนท่อนล่างของคุณ ด้วยการพับมือเข้าหาข้อมือ และค้างไว้ประมาณ 10 วินาที ก่อนที่จะคลายมือออก และพยายามรับรู้ถึงอาการผ่อนคลายที่เกิดขึ้นอีกสัก 10 วินาที และทำซ้ำอีกรอบ
    • ทำในลักษณะเดียวกันนี้ไปให้ทั่วทั้งร่างกาย คือ เกร็งและหยุด จากนั้น จึงผ่อนคลายสลับกันไป โดยอาจเริ่มตั้งแต่ท่อนแขนช่วงบน หัวไหล่ ลำคอ ศีรษะ และใบหน้า ไล่ลงมาที่หน้าอก หน้าท้อง แผ่นหลัง ก้น ต้นขา น่อง และเท้า
    • เมื่อทำจนทั่วทั้งร่างกายแล้ว ก็นั่งต่อไปอีกสักพัก เพื่อดื่มด่ำกับความรู้สึกผ่อนคลายที่เกิดขึ้น
    • ค่อยๆ ลุกขึ้นยืนช้าๆ เพื่อหลีกเลี่ยงอาการเวียนหัว (เพราะความดันเลือดเพิ่งลดต่ำลง จากอาการผ่อนคลาย) หรืออาจเกิดอาการตึงเครียดขึ้นได้อีกโดยไม่คาดคิด
    • หากคุณไม่มีเวลามากพอ 15 – 20 นาทีที่จะฝึกเทคนิคดังกล่าว คุณก็อาจจะเลือกทำเฉพาะร่างกายบางส่วนที่รู้สึกตึงเครียดเป็นพิเศษ
    โฆษณา
ส่วน 5
ส่วน 5 ของ 8:

ตัดสินใจอย่างมีประสิทธิภาพ

ดาวน์โหลดบทความ
  1. การตัดสินใจ ถือเป็นส่วนหนึ่งของการฝึกแสดงจุดยืนในตนเอง เพราะคุณจะต้องควบคุมชีวิตของตนเองและตัดสินใจเรื่องต่างๆ ให้เหมาะสมกับตนเองมากที่สุด แทนที่จะปล่อยให้คนอื่นมาทำหน้าที่ดังกล่าวแทนคุณ หรือยอมให้คนอื่นมาทำให้การตัดสินใจของคุณไขว้เขว หากคุณสามารถระบุปัญหาได้ คุณก็จะเริ่มเห็นองค์ประกอบของมัน อันจะนำมาซึ่งการตัดสินใจที่ดีขึ้น โดยในการนี้ ทางสมาคมสาธารณสุขท้องถิ่นแห่งหนึ่งในสหรัฐอเมริกา ได้แนะนำให้ใช้หลักการ IDEAL ดังนี้ : [23]
    • I – ระบุปัญหา (Identify the problem)
    • D – สาธยายทางเลือก (Describe all possible solutions) ซึ่งโดยทั่วไปแล้ว อาจรวมถึงการรับมือกับปัญหาด้วยตนเอง ขอความช่วยเหลือจากผู้อื่น หรือแม้แต่การเพิกเฉยไม่ทำอะไร
    • E – ประเมินผลกระทบที่อาจเกิดขึ้น (Evaluate the consequences of each solution) โดยคำนึงถึงความรู้สึกและความต้องการของตนเอง เพื่อกำหนดหาผลลัพธ์ที่ดีที่สุด
    • A – ลงมือทำ (Act) โดยนำทางเลือกดังกล่าวมาลองปฏิบัติ และใช้สรรพนามบุรุษที่ 1 ในการแสดงความรู้สึก รวมถึงความต้องการของตนเองออกมา
    • L – เรียนรู้ (Learn) ด้วยการดูว่า ทางเลือกที่ผ่านมาได้ผลหรือยัง รวมถึงประเมินหาสาเหตุว่า ได้ผลหรือไม่ เพราะเหตุใด ซึ่งหากไม่ได้ผล ก็ต้องกลับไปดูทางเลือกอื่นๆ และลองนำมาปฏิบัติดู
  2. อาจจะมีหลายฝ่ายที่จะได้รับผลกระทบจากการตัดสินใจ แต่ก็ไม่จำเป็นต้องรวมทุกคนเข้าไปในกระบวนการตัดสินใจนั้นๆ ด้วย คุณควรรับฟังข้อมูลจากคนที่จำเป็นต้องมีส่วนร่วมเท่านั้น [24]
    • คุณควรจะตัดสินใจโดยคำนึงถึงผู้อื่นด้วย แต่กระนั้น คนที่ตัดสินชี้ขาดในขั้นสุดท้าย ก็ต้องเป็นคุณเอง
  3. ทุกๆ การตัดสินใจย่อมนำมาซึ่งการลงมือปฏิบัติ ไม่ทางใดก็ทางหนึ่ง คุณควรใช้เวลาในการระบุจุดประสงค์ของการลงมือปฏิบัติ เพื่อให้แน่ใจได้ว่า การตัดสินใจดังกล่าวนั้น ถูกต้องเหมาะสมดีแล้ว
  4. การลังเล อาจถือได้ว่าเป็นอุปสรรคหลัก ในการตัดสินใจอย่างมีจุดยืน พยายามอย่ามาตัดสินใจเอาในนาทีสุดท้าย มิฉะนั้น คุณอาจจะพลาดทางเลือกบางอย่างที่อาจได้ผล ไปโดยปริยาย [25]
    โฆษณา
ส่วน 6
ส่วน 6 ของ 8:

กำหนดขอบเขตอย่างเหมาะสม

ดาวน์โหลดบทความ
  1. ขอบเขตที่ว่านี้ เป็นเสมือนเกราะทางกายภาพ ทางอารมณ์ และความคิด ซึ่งคุณใช้ปกป้องตนเองจากภัยคุกคาม การกำหนดเส้นแบ่งดังกล่าวอย่างเหมาะสม จะช่วยปกป้องทั้งอาณาเขตและความนับถือตนเองของคุณ รวมถึงนำมาซึ่งความสามารถในการแยกแยะความรู้สึกของตนเอง ออกจากความรู้สึกส่วนตัวของผู้อื่น ในทางกลับกัน ขอบเขตที่หละหลวม จะทำให้เกิดความเสี่ยงต่อการปล่อยให้ความรู้สึก ความเชื่อ และการกระทำของคนอื่น มาส่งผลกระทบต่อตัวคุณเอง [26]
  2. เมื่อคุณกำลังจะเริ่มการสนทนา เพื่อที่จะแสดงความต้องการของตนเอง คุณควรที่จะตระหนักในขอบเขตของตนเองเสียก่อน การรู้จักขอบเขตของตนเองอย่างดี ก่อนที่จะเริ่มการเจรจา จะช่วยป้องกันไม่ให้คุณเกิดการชะงัก หรือยอมประนีประนอมความต้องการของตนเอง เพียงเพราะว่ามันสะดวกใจมากกว่า หรือเพราะไม่อยากที่จะเกิดความขัดแย้งกับอีกฝ่าย
    • ตัวอย่างเช่น เวลาที่เจรจากับหัวหน้างาน คุณอาจจะกำหนดขอบเขตไว้ว่า จะไม่ยอมทำงานในช่วงสุดสัปดาห์ หรือทำงานล่วงเวลา หากหัวหน้าไม่แจ้งล่วงหน้าอย่างน้อยสามวัน และหากคุณเจรจากับเพื่อน คุณอาจจะกำหนดกรอบไว้ว่า จะไม่ยอมไปรับเธอที่สนามบินอีกแล้ว จนกว่าเธอจะให้คุณติดรถไปไหนมาไหน เป็นการตอบแทนบ้างเสียก่อน
  3. หากคุณรู้สึกว่า ไม่อยากทำสิ่งใด ก็อย่าไปทำสิ่งนั้น การปฏิเสธผู้อื่นถือเป็นเรื่องปกติ จำไว้ว่า คนที่สำคัญกับคุณมากที่สุด ก็คือ ตัวคุณเอง หากคุณไม่เคารพความต้องการของตนเอง แล้วจะหวังให้ใครมาเคารพมัน
    • คุณอาจคิดว่า การคอยเอาใจผู้อื่น จะส่งผลให้ผู้อื่นมองคุณในแง่ดี แต่โชคร้ายที่ความใจกว้างจนเกินพอดี มักให้ผลที่ตรงกันข้าม
    • คนเราจะให้คุณค่าต่อสิ่งที่ตนเองต้องลงทุนแลกมาด้วยเวลา พลังงาน และเงิน ดังนั้น หากคุณทำตัวเป็นฝ่ายให้อยู่ตลอดเวลา ก็เท่ากับว่าคนๆ นั้นได้ความนับถือจากคุณไป ในขณะที่ความนับถือที่พวกเขามีต่อคุณจะลดลง ดังนั้น พยายามยืนหยัดเพื่อตนเอง แม้ว่าคนอื่นอาจจะดึงดันกับคุณสักหน่อยในช่วงแรกๆ แถมยังอาจประหลาดใจที่เห็นท่าทีของคุณเปลี่ยนไป แต่ท้ายที่สุดแล้ว พวกเขาจะกลับมาเคารพคุณในเรื่องนี้
  4. อย่าเอาแต่เงียบเฉย เวลาที่คุณต้องการพูดอะไรบางอย่าง พยายามแสดงออกมาอย่างอิสระ เพราะมันเป็นสิทธิของคุณเอง จำไว้ว่า การมีความเห็นไม่ใช่เรื่องผิด ขอแค่ให้รู้กาลเทศะเท่านั้น และต้องแน่ใจด้วยว่า สิ่งที่คุณจะพูดออกมานั้น มีความสำคัญและควรได้รับความสนใจ
    • ลองฝึกในสถานการณ์ที่ไม่มีผลกระทบมากนักดูก่อน คุณมีเพื่อนบางคนที่คลั่งไคล้รายการทีวีช่องใดอยู่หรือเปล่า ลองไปบอกเขาหรือเธอสิว่า คุณไม่ค่อยชอบรายการดังกล่าวสักเท่าไร และต่อไปนี้ หากมีใครเข้าใจคุณผิด ก็อย่าเอาแต่ก้มหัวยอมรับ แต่จงอธิบายกลับไปว่า คุณต้องการสื่ออะไรกันแน่ แม้ว่าเรื่องดังกล่าวจะไม่ใช่เรื่องคอขาดบาดตายก็ตาม
  5. การค้นหาว่า สิ่งใดที่ทำให้คุณมีความสุข และสิ่งใดที่จำเป็นสำหรับชีวิตคุณ จะช่วยกำหนดทิศทางให้ผู้อื่นได้รับรู้ว่า ควรปฏิบัติต่อคุณอย่างไร ลองนึกถึงสถานการณ์ต่างๆ ที่คุณเคยรู้สึกว่า คนอื่นมองข้ามความรู้สึกของคุณไป หรือสถานการณ์ที่คุณรู้สึกว่า คนอื่นไม่ให้เกียรติคุณ จากนั้น ลองวิเคราะห์ว่าต้องทำอย่างไร คุณถึงจะรู้สึกว่าได้รับการเคารพให้เกียรติมากกว่าเดิม [27]
  6. การทำทีท่าว่ามีความมั่นใจ ย่อมไร้ประโยชน์ หากคุณยังคงไม่สามารถตัดสินใจด้วยตนเอง หรือยังคงพยายาม “ไหลตามน้ำ” ไปกับผู้อื่นอยู่เหมือนเดิม คนอื่นจะปรับเข้าหาความต้องการของคุณได้ ก็ต่อเมื่อตัวคุณเองรู้จักความต้องการของตนเองดีเสียก่อน
    • การมอบภาระในการตัดสินใจไปให้ผู้อื่นนั้น ถือว่าเป็นวิธีแบบดื้อเงียบ ในการบอกปัดความรับผิดชอบของตัวเอง และเป็นการโยนผลกระทบที่อาจเกิดขึ้นไปให้ผู้อื่นด้วย ดังนั้น ครั้งต่อไปที่เพื่อนคุณขอความเห็นว่า จะไปกินข้าวเย็นที่ไหนกันดี อย่าตอบประมาณว่า “ก็...ที่ไหนก็ได้” เหมือนเช่นเคย แต่จงคิดและตอบออกไปอย่างหนักแน่น
  7. วิธีที่ดี คือ การใช้ทัศนคติแบบ “พวกเรา” ในการมองหาทางเลือกที่ดีกับทั้งสองฝ่าย เท่าที่สถานการณ์จะเอื้ออำนวย ซึ่งจะช่วยให้ทั้งสองฝ่ายรู้สึกว่า ความรู้สึกของตนเองได้รับการคำนึงถึงและรับฟัง [28]
    • ตัวอย่างเช่น หากคุณเคยให้เพื่อนของคุณติดรถไปทำงานทุกเช้า แต่เธอก็ยังไม่ยอมช่วยออกค่าน้ำมันหรือแก๊ส คุณก็อาจเปิดประเด็นโดยพูดว่า “เราให้เธอติดรถมาทำงานด้วยกันทุกเช้าได้อยู่แล้ว แต่การมีรถ มันก็มีค่าใช้จ่ายนะ เธอพอจะช่วยออกค่าน้ำมันประมาณสัปดาห์ละครั้งได้ไหมล่ะ ไหนๆ เธอก็ประหยัดค่าเดินทางส่วนตัวไปได้พอสมควรแล้ว” การพูดในลักษณะนี้ เป็นการสื่อให้เพื่อนคุณรู้ว่า เธออาจไม่เคยเข้าถึงความรู้สึกของคุณมาก่อนเลย ซึ่งตอนนี้ เธอก็จะได้ตระหนักในเรื่องดังกล่าวแล้ว โดยที่คุณไม่จำเป็นต้องใช้น้ำเสียงเชิงตำหนิเลย
    โฆษณา
ส่วน 7
ส่วน 7 ของ 8:

สำแดงความเชื่อมั่นออกมา

ดาวน์โหลดบทความ
  1. ความมั่นใจในตนเอง จะสะท้อนออกมาผ่านความสามารถที่จะเข้าใจ เกี่ยวกับมุมมองที่ตัวคุณเองมีต่อผู้อื่น ซึ่งอาจรวมถึงภาพลักษณ์ที่คุณมีต่อตนเอง และการประเมินว่า ตัวคุณจัดอยู่ในสถานะใดทางสังคมด้วย หากคุณมองตนเองในเชิงลบ คุณก็อาจรู้สึกว่า มันยากที่จะแสดงความคิด ความเชื่อ ความต้องการ และความรู้สึกของตนเองออกมา นอกจากนี้ คุณยังอาจรู้สึกลังเลหรือกลัว เวลาที่อยากจะถามหาคำชี้แจงจากผู้อื่น และเอาแต่หมกมุ่นอยู่กับลักษณะด้านลบของตนเอง รวมถึงขาดความเชื่อถือตนเองด้วย ซึ่งความสงสัยในตนเองนั้น ย่อมเป็นอุปสรรคต่อการแสดงจุดยืน ดังนั้น คุณควรลองประเมินความมั่นใจในตนเอง ด้วยการถามตัวเองว่า: [29]
    • คุณสามารถสบสายตาผู้อื่น ในขณะที่กำลังพูดคุยกับพวกเขาได้หรือไม่
    • คุณใช้น้ำเสียงได้อย่างเหมาะสมเวลาพูดคุยไหม
    • คุณกล้าพูดอย่างมั่นใจหรือเปล่า (โดยไม่ต้องเปรยว่า “เอ่อ...” บ่อยๆ)
    • ลักษณะท่าทางของคุณ เปิดกว้างและผึ่งผายหรือไม่
    • คุณกล้าที่จะถามคำถาม เวลาที่ต้องการให้ผู้อื่นชี้แจงหรือไม่
    • คุณรู้สึกผ่อนคลายเวลาอยู่ท่ามกลางผู้อื่นหรือไม่
    • คุณกล้าตอบปฏิเสธ ตามความเหมาะสมหรือไม่
    • คุณสามารถแสดงอารมณ์โกรธหรือหงุดหงิด ได้ตามความเหมาะสมหรือเปล่า
    • คุณแสดงความเห็นออกมา เวลาที่อยู่ในสถานการณ์ขัดแย้งกับผู้อื่นหรือไม่
    • คุณปกป้องตนเอง จากความผิดที่ตนเองไม่ได้เป็นผู้ก่อขึ้นไหม
    • หากคุณตอบว่าไม่ เพียง 3 ข้อหรือน้อยกว่านั้น แสดงว่า คุณก็มั่นใจในตนเองพอตัวอยู่แล้ว แต่หากคุณตอบว่าไม่ ตั้งแต่ 4 – 6 ข้อก็มีแนวโน้มว่า คุณเป็นพวกมองตัวเองในแง่ลบทีเดียว และหากคุณตอบว่าไม่ เป็นจำนวน 7 ข้อขึ้นไป แสดงว่าคุณมีปัญหาเรื่องความมั่นใจในตนเองค่อนข้างรุนแรง ซึ่งอาจส่งผลให้คุณมักสงสัยในคุณค่าของตนเอง และยังมักมองว่า ตนเองเป็นพลเมืองชั้นล่างของสังคมด้วย
  2. ท่าทางการพูดของคุณ บ่งบอกเกี่ยวกับตัวตนของคุณได้มากมาย ก่อนที่คุณจะเอื้อนเอ่ยอะไรออกมาเสียอีก พยายามเชิดหัวไหล่และเงยคางเล็กน้อย อย่าคุ้ยแคะแกะเกาเล็บหรือปล่อยให้มืออยู่ไม่สุข (เอาล้วงกระเป๋าไว้ก็ได้ ถ้าไม่ไหวจริงๆ) หรือเอามือป้องปากเวลาพูด สบตาคู่สนทนาเวลาคุยกัน เพื่อสื่อให้รู้ว่า คุณกำลังตั้งใจฟัง
    • อย่าให้คนอื่นมองคุณออกง่ายเกินไป โดยเฉพาะเวลาที่คุณประหม่าหรือไม่แน่ใจในตนเอง พยายามปกปิด “เงื่อนงำ” เอาไว้ ด้วยการควบคุมมือ เท้า และสีหน้าของตนเองให้ดี มันจะได้ไม่เผยไต๋ออกมา
    • หากการสบตาเป็นปัญหาสำหรับคุณ ลองฝึกด้วยการใส่แว่นกันแดดดูก่อน จึงค่อยเริ่มฝึกสบสายตาจริงๆ กับผู้อื่น แต่หากคุณรู้สึกอยากหลบสายตาอีกฝ่าย ก็ควรมองออกไปไกลๆ เหมือนกำลังคิดอะไรบางอย่าง ดีกว่าก้มหน้ามองพื้น
    • ต่อให้คุณรู้สึกประหม่าหรือสับสน ก็ยังสามารถทำฟอร์มเป็นมั่นใจได้ ไม่จำเป็นต้องอายเวลาที่จะถามคำถาม
  3. การเร่งพูดให้จบๆ ไป เป็นเสมือนการสื่อให้ผู้อื่นรู้ว่า คุณไม่คาดหวังให้ใครมาสนใจรับฟัง ในทางกลับกัน การพูดให้ช้าเข้าไว้ เป็นการสื่อให้พวกเขารู้สึกว่า คุณมีค่าพอที่พวกเขาจะรอคอย พยายามพูดให้น้ำเสียงราบเรียบชัดเจน ไม่จำเป็นต้องส่งเสียงดัง ขอแค่มั่นใจว่าอีกฝ่ายได้ยินก็พอ
    • หากคนอื่นไม่สนใจคุณ ก็แค่บอกว่า “ขอโทษนะคะ/ครับ” อย่างชัดเจนและหนักแน่น อย่าขออภัยเวลาที่ไม่ได้ทำอะไรผิด เพราะมันเป็นการบอกแก่พวกเขาเป็นนัยๆ ว่า แค่มีตัวตนอยู่บนโลกนี้ คุณก็รู้สึกแย่พอแล้ว
    • พยายามพูดให้กระชับ แม้แต่นักพูดที่เก่งกาจที่สุดในโลก ก็ยังอาจไร้คนฟังได้ หากเขาหรือเธอไม่พูดเข้าประเด็นให้เร็วพอ
    • หลีกเลี่ยงการเปรยว่า “เอ่อ” หรือ “คือแบบ” โดยเฉพาะในเวลาที่ต้องการแสดงจุดยืนอย่างแข็งขัน พยายามตั้งใจกำจัดคำพูดในลักษณะดังกล่าว ออกไปจากพจนานุกรมของตัวเอง
  4. แม้ว่ามันจะดูฉาบฉวย แต่คนส่วนใหญ่ก็มักตัดสินคุณจากรูปลักษณ์ก่อนเสมอ อาจจะมีบางคนที่มั่นใจและเต็มไปด้วยพลังในตัวเอง จนสามารถเปลี่ยนทัศนคติดังกล่าวของคนทั่วไปได้ แต่โชคร้ายที่พวกเราส่วนใหญ่ ไม่ได้มีพรสวรรค์เช่นนั้น ดังนั้น หากคุณมีรูปลักษณ์ที่ดูเหมือนเพิ่งลุกจากเตียงมา หรือคุณโปะหน้ามาหนาเตอะ แถมยังใส่รองเท้าส้นสูงเอียงไปมา คนทั่วไปจะไม่ค่อยให้ความสำคัญกับคุณ ในทางกลับกัน หากคุณดูพรั่งพร้อมในการลงมือทำสิ่งใดอยู่เสมอ พวกเขาย่อมจะให้ความเคารพนับถือมากกว่า
    • การแต่งตัวดี ไม่จำเป็นต้องถึงกับแต่งเต็มยศ หากคุณเป็นประเภทเรียบง่าย สบายๆ ก็อาจเพียงแค่เลือกชุดที่เข้ากันดี สะอาด และรีดเรียบร้อย ขอแค่ไม่มีคำสโลแกนเห่ยๆ หรือรูปกราฟฟิคอันน่าอับอาย สกรีนอยู่บนเสื้อก็พอ
    • การพยายามใส่ใจรูปลักษณ์ของตนเองอย่างจริงจัง ยังช่วยสื่อให้ผู้อื่นรู้สึกว่า คุณให้ความสำคัญอย่างจริงจังต่อความต้องการของตนเองด้วย
  5. มันอาจฟังดูตลก แต่หากคุณต้องการแสดงความมั่นใจออกมา คุณก็ควรพูดให้ได้อย่างแข็งขันและหนักแน่น เวลาที่ถึงคราวพูดจริงๆ ดังนั้น จะมีวิธีไหนที่ดีไปกว่าการซักซ้อมล่วงหน้าล่ะ คุณอาจจะฝึกคนเดียวหน้ากระจก อัดเสียงเป็นคลิปไว้ หรือจะฝึกกับเพื่อนที่คุณไว้ใจก็ได้ โดยสมมติว่าเขาหรือเธอเป็นหัวหน้า เป็นแฟน หรือเป็นใครก็ตามที่คุณตั้งใจจะไปเจรจาด้วย
    • เมื่อเวลนั้นมาถึง พยายามจำความมั่นใจในตอนที่ฝึกซ้อมไว้ และพยายามทำน้ำเสียงให้มั่นใจมากกว่านั้นอีก เมื่อโอกาสอำนวย
    โฆษณา
ส่วน 8
ส่วน 8 ของ 8:

มองหาตัวช่วยอื่นๆ

ดาวน์โหลดบทความ
  1. หากคุณยังรู้สึกว่า ต้องการความช่วยเหลือในการเป็นคนกล้าแสดงจุดยืนมากกว่านี้ ก็อาจต้องพึ่งพามืออาชีพทั้งหลาย โดยนักให้คำปรึกษาและนักจิตวิทยาจะเรียนและได้รับการอบรมมาทางด้านนี้โดยตรง ในการช่วยให้คุณสามารถสื่อสารได้อย่างเหมาะสมและมีความหมายมากขึ้น [30]
  2. มีบางมหาวิทยาลัยที่เปิดคอร์สอบรมในเรื่องนี้ให้แก่นักศึกษา [31] ซึ่งคุณจะได้ทั้งการฝึกเทคนิคต่างๆ และยังได้พูดคุยเกี่ยวกับสถานการณ์ที่คุณต้องการให้ตัวเองกล้าแสดงจุดยืนมากกว่าเดิม รวมถึงช่วยให้คุณรู้วิธีควบคุมความเครียดเมื่ออยู่ในแต่ละสถานการณ์ได้ด้วย
  3. การทำให้ตนเองกล้าแสดงจุดยืน ต้องอาศัยทั้งการฝึกฝนและระยะเวลา พยายามขอให้เพื่อนคุณช่วยเป็นคู่ซ้อมสนทนา ในสถานการณ์รูปแบบต่างๆ ยิ่งคุณฝึกซ้อมกับสถานการณ์ดังกล่าวมากเท่าไร แม้ว่าจะเป็นเพียงสถานการณ์เลียนแบบเท่านั้น คุณก็จะยิ่งมั่นใจมากขึ้น
    โฆษณา

คำเตือน

  • เมื่อต้องเผชิญหน้ากับใคร อารมณ์มักจะคุกรุ่น จงพยายามให้เกียรติและใจเย็นเข้าไว้
โฆษณา
  1. Murphy, J. (2011). Introduction. In Assertiveness: How to stand up for yourself and still win the respect of others. Kindle Books.
  2. http://www.cci.health.wa.gov.au/docs/Assertmodule%201.pdf
  3. http://www.cci.health.wa.gov.au/docs/Assertmodule%201.pdf
  4. http://www.cci.health.wa.gov.au/docs/Assertmodule%206.pdf
  5. http://www.helpguide.org/articles/relationships/effective-communication.htm
  6. http://www.cci.health.wa.gov.au/docs/Assertmodule%204.pdf
  7. http://dujs.dartmouth.edu/fall-2010/the-physiology-of-stress-cortisol-and-the-hypothalamic-pituitary-adrenal-axis#.VM_XLy4epPI
  8. http://www.cci.health.wa.gov.au/docs/Assertmodule%205.pdf
  9. http://news.harvard.edu/gazette/story/2012/11/meditations-positive-residual-effects/
  10. http://www.tarabrach.com/howtomeditate.html
  11. http://www.tarabrach.com/howtomeditate.html
  12. http://www.mayoclinic.org/tests-procedures/meditation/in-depth/meditation/art-20045858
  13. http://www.health.harvard.edu/mind-and-mood/relaxation-techniques-breath-control-helps-quell-errant-stress-response
  14. http://www.regional.niagara.on.ca/living/health_wellness/healthyschools/pdf/Decision%20Communication%20Skills...pdf
  15. https://depts.washington.edu/ccph/cbpr/u4/u44.php
  16. http://www.cimaglobal.com/Thought-leadership/Newsletters/Velocity-e-magazine/Velocity-Dec-2009/How-to-make-effective-decisions/
  17. http://www.selfgrowth.com/articles/Boundaries_the_importance.html
  18. http://www.selfgrowth.com/articles/Boundaries_the_importance.html
  19. http://www.hr.ubc.ca/health/files/HS-assertiveness-slides.pdf
  20. Murphy, J. (2011). Chapter 1: How do you see yourself? In Assertiveness: How to stand up for yourself and still win the respect of others. Kindle Books.
  21. http://www.cci.health.wa.gov.au/docs/Assertmodule%204.pdf
  22. http://www.uwec.edu/Counsel/pubs/selfhelp/assertivecommunication.htm

เกี่ยวกับวิกิฮาวนี้

มีการเข้าถึงหน้านี้ 21,331 ครั้ง

บทความนี้เป็นประโยชน์กับคุณไหม

โฆษณา