ดาวน์โหลดบทความ ดาวน์โหลดบทความ

อาการปวดหัวไหล่เป็นอาการที่พบได้ทั่วไปและเกิดขึ้นได้จากหลายสาเหตุ ไม่ว่าจะเป็นอาการตึงของกล้ามเนื้อ เส้นเอ็นบิด ข้อต่อเคลื่อน ความผิดปกติของกระดูกสันหลัง (ส่วนคอและหลังช่วงกลาง) หรือแม้กระทั่งโรคหัวใจ แต่สาเหตุที่พบบ่อยที่สุดเกิดจาก อาการตึงของกล้ามเนื้อหรือเอ็นที่เกิดจากการทำงาน หรือการออกกำลังกายที่มากเกินไป [1] โดยมากอาการปวดไหล่นี้จะอยู่ไม่นานและหายได้เองภายในหนึ่งสัปดาห์ บางครั้งอาจจะหายเร็วกว่านั้นถ้าคุณใช้วิธีการบรรเทาอาการด้วยตัวเองอย่างถูกต้อง แต่สำหรับการบาดเจ็บที่ไหล่อย่างรุนแรง อาจต้องได้รับการรักษาจากผู้เชี่ยวชาญ ซึ่งอาจรวมไปถึงการผ่าตัด (ซึ่งเป็นกรณีที่พบได้ยาก)

ส่วน 1
ส่วน 1 ของ 2:

เยียวยาไหล่ของคุณที่บ้าน

ดาวน์โหลดบทความ
  1. โดยมากแล้วสาเหตุที่ทำให้เกิดอาการปวดไหล่คือการใช้งานมากไปหรือเกินกำลัง พูดอีกอย่างก็คือ การใช้งานไหล่ในท่าเดิมซ้ำๆ หรือการยกของที่หนักเกินไป ถ้านี่คือสาเหตุที่ทำให้คุณมีปัญหากับไหล่ คุณก็ควรหยุดกิจกรรมที่ทำให้เกิดปัญหานั้นสักพัก และถ้าอาการเจ็บของคุณเกิดจากการทำงาน ลองขออนุญาตเจ้านายของคุณสลับไปทำงานอย่างอื่นชั่วคราว (ที่มีการใช้งานหัวไหล่น้อยลงหรือเบาลง) หรือเปลี่ยนโต๊ะทำงาน ถ้าไหล่ของคุณบาดเจ็บจากการออกกำลังกาย อาจแปลว่าคุณยกน้ำหนักที่หนักเกินไป หรืออาจใช้ท่าทางที่ไม่ถูกต้องในการยก ลองขอคำแนะนำจากผู้ฝึกส่วนตัวของคุณ
    • การพักการใช้ไหล่ของคุณเป็นความคิดที่ดี แต่ไม่แนะนำให้ใช้ผ้าคล้องไหล่เพื่อทำให้ไหล่ไม่ขยับกับการบาดเจ็บเพียงเล็กน้อย เพราะจะทำให้เกิดอาการ “ข้อไหล่ติด” ไหล่ยังต้องการการเคลื่อนไหวเบาๆ เพื่อให้เลือดไหลเวียนสะดวกและช่วยเร่งกระบวนการรักษา [2]
    • อาการปวดมักจะบอกถึงอาการตึงของกล้ามเนื้อ ขณะที่อาการเจ็บแบบเฉียบพลันเกิดขึ้นจากการบาดเจ็บที่ข้อต่อหรือเอ็น
    • การอักเสบของข้อและเอ็นในหัวไหล่จะยิ่งแย่ลงเมื่อคุณนอนหลับ
  2. ถ้าไหล่คุณมีอาการบวมให้ใช้ถุงประคบเย็น (หรืออะไรเย็นๆ) บนจุดที่มีอาการเพื่อลดการอักเสบและทำให้ชา [3] การรักษาด้วยน้ำแข็งเป็นวิธีที่ดีที่สุดที่จะใช้กับการบาดเจ็บแบบเฉียบพลันที่เกิดจากการอักเสบ ประคบถุงน้ำแข็งค้างไว้ 15 นาที ทุกๆ 2-3 ชั่วโมง จนกว่าอาการที่หัวไหล่ของคุณจะดีขึ้นหรือหายดี
    • ประคบถุงน้ำแข็งที่หัวไหล่ร่วมกับการใช้ผ้าพันแผลจะช่วยให้ลดการอักเสบอย่างได้ผลยิ่งขึ้น
    • ใช้ผ้าบางๆ พันรอบน้ำแข็งเสมอก่อนประคบในบริเวณที่บาดเจ็บ เพื่อป้องกันไม่ให้ผิวหนังบาดเจ็บจากความเย็นจัด
    • ถ้าคุณไม่มีน้ำแข็งก้อน ลองใช้ถุงเย็นหรือถุงบรรจุผักจากช่องแช่แข็ง
  3. ถ้าไหล่ของคุณมีอาการปวดเรื้อรัง และมีอาการติดขัดในช่วงเช้าหรือก่อนการออกกำลังกาย ให้ใช้ไอร้อนแทนการใช้น้ำแข็ง ไอร้อนจะช่วยทำให้เนื้อเยื่ออ่อน (กล้ามเนื้อและเอ็น) อบอุ่นขึ้น และช่วยให้เลือดไหลเวียนไปสู่บริเวณนั้นได้มากขึ้น ซึ่งจะช่วยบรรเทาอาการปวดที่เกิดจากข้อเสื่อม (จากการสึกหรอจากการใช้งาน) หรือการบาดเจ็บในอดีตที่เกิดจากการเล่นกีฬา [4] ผลิตภัณฑ์ที่สามารถให้ไอร้อนได้เป็นอย่างดี คือ ถุงที่สามารถนำเข้าไมโครเวฟได้บรรจุเมล็ดพืช (เมล็ดข้าวสาลี หรือ เมล็ดข้าว) สมุนไพร และหัวเชื้อน้ำมัน นำมาประคบร้อนในตอนเช้าหรือก่อนออกกำลังกายโดยใช้เวลาประมาณ 15-20 นาที
    • การแช่ในน้ำอุ่นก็ถือเป็นการใช้ไอร้อนเช่นกัน ลองใส่ดีเกลือลงไปด้วยเพื่อช่วยผ่อนคลายกล้ามเนื้อและช่วยบรรเทาอาการ
    • หลีกเลี่ยงการใช้ความร้อนแห้งๆ จากถุงประคบร้อนทั่วไป เพราะจะส่งผลให้เนื้อเยื่ออ่อนขาดน้ำและยิ่งเพิ่มความเสี่ยงในการบาดเจ็บ
  4. ถ้าคุณรู้สึกปวดไหล่จนทนไม่ไหว และการประคบเย็นหรือใช้ไอร้อนไม่ช่วยให้รู้สึกดีขึ้นได้ คุณอาจพิจารณาการใช้ยาแก้ปวดหรือยาแก้อักเสบที่หาซื้อได้ทั่วไปโดยไม่ต้องมีใบสั่งยาจากแพทย์ ยาแก้อักเสบจะเหมาะที่จะใช้กับผู้ที่มีอาการบวมที่ไหล่ (เช่น เอ็นหรือข้อไหล่อักเสบ) เช่น ยาแอสไพริน ไอบูโพรเฟน และ นาพร็อกเซน ส่วนยาแก้ปวดหรือยาบรรเทาปวด จะเหมาะกับอาการปวดที่ไม่ได้เกิดจากการอักเสบ เช่น ตัวยาอะเซตามิโนเฟน (พบได้ใน ไทลินอล และ พาราเซตามอล) พึงระลึกไว้ว่ายาเหล่านี้เป็นควรใช้เป็นวิธีการรักษาอาการปวดไหล่แค่ชั่วคราวเท่านั้น ไม่ควรใช้ต่อเนื่องเกินสองสัปดาห์ เพราะยาเหล่านี้มีผลเสียกับตับ ไต และอวัยวะในท้องของคุณ [5]
    • อีกทางเลือกหนึ่งคือ การใช้ยาคลายกล้ามเนื้อ (เช่น ยาไซโคลเบนซาพรีน) กับไหล่ที่มีอาการปวด แต่ไม่ควรใช้ร่วมกับยาอื่น
    • ไม่ควรใช้ไอบูโพรเฟน (Ibuprofen) ในเด็กเล็ก และไม่ควรใช้อะเซตามิโนเฟน (acetaminophen) กับผู้ที่อายุต่ำกว่า 18 ปี เพราะอาจทำให้เกิดการแพ้ยาแอสไพริน (Reye's syndrome) ได้
  5. อาการปวดไหล่ของคุณอาจเกิดจากการติดขัดหรือกล้ามเนื้อตึง เป็นไปได้ว่าอาจเกิดจากท่าทางที่ไม่ถูกต้องหรือการไม่ใช้งาน ตราบเท่าที่คุณไม่ได้รู้สึกเจ็บแบบเฉียบพลันเหมือนโดนไฟช็อตหรือโดนแทงเมื่อมีการขยับหัวไหล่ การยืดหัวไหล่เบาๆ จะเกิดผลดีกับคุณ กล้ามเนื้อที่ปวดและตึงจะตอบสนองกับการยืดเพราะจะช่วยลดความตึงของกล้ามเนื้อ ช่วยเพิ่มการไหลเวียนเลือดและเพิ่มความยืดหยุ่นให้กับหัวไหล่ [6] ความยืดหยุ่นของไหล่มีความสำคัญ เพราะหัวไหล่มีขอบเขตการเคลื่อนไหวที่มากกว่าข้อต่อใดๆ ในร่างกายอย่างเห็นได้ชัด ยืดหัวไหล่ค้างไว้ 30 วินาที พร้อมกับหายใจลึกๆ ทำวันละ 3-5 ครั้งต่อวัน จนกว่าอาการปวดจะลดลง
    • ขณะยืนหรือนั่ง เอื้อมมือไปรอบลำตัว แล้วจับที่ข้อศอกด้านตรงข้ามที่งออยู่ ออกแรงดึงเข้าหาตัว จนกระทั่งรู้สึกตึงที่ไหล่
    • ขณะยืนหรือนั่ง ยกมือข้ามหัวไปแตะกระดูกสะบัก ใช้มืออีกข้างช่วยดึงมือข้างที่ปวดไหล่ลงจนคุณรู้สึกว่าได้รับการยืด
  6. ไหล่ที่ปวดของคุณอาจเกิดจากโต๊ะทำงานที่ออกแบบมาไม่ดี ถ้าคอมพิวเตอร์ โต๊ะทำงานหรือเก้าอี้ของคุณมีตำแหน่งหรือขนาดไม่เหมาะสมกับความสูงและลักษณะร่างกายของคุณ อาจจะสร้างความตึงให้กับหัวไหล่ คอ และหลังส่วนกาง เช่น เมื่อนั่งที่โต๊ะทำงานแล้วมองตรงไปข้างหน้า ระดับสายตาควรจะอยู่ที่ 1/3 ของความสูงด้านบนของจอภาพ แขนท่อนบนควรอยู่ในแนวขนานกับพื้นและมีที่รองรับแขนขณะพิมพ์ ข้อศอกห่างจากลำตัวไม่เกิน 2-3 นิ้ว และเท้าทั้งสองข้างควรวางราบกับพื้น [7]
    • ถ้าคุณทำงานที่ต้องยืน ต้องแน่ใจว่าลำตัวไม่หมุนหรือบิด โดยพยายามรักษาร่างกายให้สมดุลและสมมาตรเป็นหัวใจสำคัญ
    • พยายามลดการทำงานที่ต้องเอื้อมมือเหนือศีรษะ เพื่อลดโอกาสบาดเจ็บที่หัวไหล่ โดยการใช้บันไดที่สูงขึ้นหรือทำให้ตัวคุณอยู่ในระดับเดียวกับงานที่ต้องทำ
    โฆษณา
ส่วน 2
ส่วน 2 ของ 2:

เข้ารับการรักษาจากผู้เชี่ยวชาญ

ดาวน์โหลดบทความ
  1. ถ้าอาการปวดที่ไหล่กินเวลานานกว่าที่คุณคาดไว้ ลองเข้ารับการนวดกล้ามเนื้อระดับลึกจากนักนวดบำบัดที่มีใบรับรอง การนวดกล้ามเนื้อที่อยู่ลึกลงไปจะเน้นที่กล้ามเนื้อที่มีอาการตึง ซึ่งอาการนี้จะจำกัดความเคลื่อนไหว ลดความยืดหยุ่น กีดขวางการไหลเวียนเลือดและทำให้เกิดการอักเสบ [8] การนวดจะช่วยคลายความตึงเครียดของกล้ามเนื้อในระดับเบาไปจนถึงระดับกลาง แต่ไม่แนะนำให้นวดเมื่อมีอาการบาดเจ็บที่ข้อต่อที่ร้ายแรง
    • เริ่มจากการนวด 30 นาที โดยเน้นที่ไหล่ที่มีอาการเจ็บ รวมถึงคอส่วนล่างและหลังช่วงกลางระหว่างระหว่างกระดูกสะบัก
    • ให้หมอนวดกดลึกลงไปเท่าที่คุณทนได้โดยไม่มีอาการเกร็งหรือกระตุก มีชั้นกล้ามเนื้อหลายชั้นในไหล่ของคุณที่นักบำบัดจะต้องนวดให้ถึง
  2. ถ้าไหล่ของคุณมีอาการปวดเนื่องจากการใช้งานหนักเกินไปหรือมากเกินไป ลองเลือกวิธีการรักษาด้วยการทำให้ไหล่ของคุณแข็งแรงขึ้น สามารถทนทานต่อการใช้งานที่มากเกินไป ด้วยการออกกำลังกายสร้างกล้ามเนื้อ นักกายภาพบำบัดสามารถออกแบบการออกกำลังกายสร้างความแข็งแรงของหัวไหล่ให้เหมาะกับคุณโดยเฉพาะ (ใช้เครื่องออกกำลังกาย ใช้แค่น้ำหนักตัวเอง ใช้ยางยืด หรือลูกบอลสำหรับออกกำลังกาย) เพื่อให้ไหล่ของคุณสามารถรองรับการทำงานตามสภาพแวดล้อมของคุณ หรือสามารถทำงานได้ดีขึ้นในการออกกำลังกายหรือเล่นกีฬา [9] และหากจำเป็น นักกายภาพบำบัดยังสามารถฝึกหรือดูแลกล้ามเนื้อที่มีอาการปวดของคุณด้วยการใช้เครื่องอัลตร้าซาวด์ การกระตุ้นด้วยไฟฟ้า
    • นักกายภาพบำบัดอาจต้องใช้เวลาสัปดาห์ละประมาณ 2-3 ครั้ง ต่อเนื่องประมาณ 4-6 สัปดาห์ เพื่อให้ปัญหาที่ไหล่ของคุณดีขึ้น
    • ถ้าอาการปวดไหล่มาจาการบิดตัวของข้อต่อ หรือข้อต่อเคล็ด นักกายภาพบำบัดจะใช้แปะเทปที่ใช้รักษาทางการแพทย์เพื่อบรรเทาอาการปวดให้กับคุณ
    • กิจกรรมที่ช่วยให้ไหล่ของคุณแข็งแรงขึ้นยังรวมไปถึง การพายเรือกรรเชียง ว่ายน้ำ เล่นโบว์ลิ่ง และการยิงธนูด้วย
  3. ไปพบหมอจัดกระดูกและกล้ามเนื้อ หรือหมอจัดกระดูกสันหลัง. ถ้าอาการปวดของคุณมีผลมาจากข้อต่อ ไม่ว่าจะเป็นข้อไหล่ หรือข้อกระดูกสันหลัง ไปพบหมอจัดกระดูกเพื่อรับการตรวจร่างกาย หมอจัดกระดูกและกล้ามเนื้อ และหมอจัดกระดูกสันหลังเป็นผู้ที่มีความเชี่ยวชาญเกี่ยวกับข้อต่อ และจะเน้นในการทำให้กระดูกแกนกลาง และข้อต่อส่วนรยางค์ เช่นในบริเวณไหล่ มีการทำงานและการเคลื่อนไหวที่เป็นปกติ [10] อาการปวดที่ไหล่ส่วนมากพบจากข้อต่อที่อยู่บริเวณหัวไหล่ (ข้อต่อกลีโนฮิวเมอรัลและ/หรือ ข้อต่ออโครมิโอคลาวิคิวลาร์) แต่ความเจ็บปวดที่รับรู้ได้อาจเกิดจากความผิดปกติหรือการบาดเจ็บที่กระดูกคอส่วนล่าง หรือหลังช่วงกลาง ซึ่งถ้าจำเป็นจะต้องมีการลดการติดขัด หรือ การจัดตำแหน่งเล็กน้อยด้วยมือ ซึ่งอาจทำให้มีเสียงดังป๊อก หรือเสียงแตกก็ได้
    • แม้ว่าบางครั้งการปรับแต่งข้อต่อเพียงครั้งเดียวสามารถแก้ปัญหากล้ามเนื้อรอบกระดูกได้มาก แต่หลายๆ ครั้งก็อาจจะต้องใช้เวลาในการรักษามากกว่านั้นเพื่อปรับสภาพของบริเวณที่เป็น
    • นักจัดกล้ามเนื้อและกระดูกสามารถใช้มือจัดแต่งกระดูกไหล่ที่เคลื่อนออกจากที่กลับเข้าไปที่เดิม
  4. การฝังเข็มเป็นรูปแบบการรักษาที่ได้รับการพัฒนามาตั้งแต่หลายศตวรรษที่แล้ว โดยมีต้นกำเนิดมาจากบรรพบุรุษจีน การฝังเข็มมีจุดประสงค์เพื่อลดความเจ็บปวดและเร่งการรักษา [11] การรักษาจะทำโดยการแทงเข็มบางๆ เข้าไปในผิวหนังที่จุดเฉพาะ (บางครั้งอยู่ใกล้กับบริเวณที่บาดเจ็บ แต่ส่วนมากจะเป็นร่างกายส่วนที่อยู่ห่างออกไป) ทิ้งไว้ประมาณ 20-60 นาที ต่อครั้ง เพื่อให้สารลดความเจ็บปวดปล่อยออกมาในร่างกาย การฝังเข็มยังไม่ได้รับการยอมรับทางการศึกษาทางวิทยาศาสตร์มากนักว่าสามารถรักษาสาเหตุของการปวดไหล่เกือบทั้งหมด แต่ก็มีบันทึกหลายชิ้นที่ยืนยันว่าสามารถรักษาได้ผล [12] และได้รับการยืนยันว่าปลอดภัยมาก ก็อาจจะคุ้มที่จะลองวิธีนี้ถ้าคุณสามารถรับกับค่าใช้จ่ายที่จะเกิดขึ้น
    • ผู้เชี่ยวชาญทางการแพทย์หลายสาขาสนใจที่จะศึกษาการฝังเข็ม ไม่ว่าจะเป็นอายุรแพทย์ หมอจัดกระดูก และนักกายภาพบำบัด ไม่ว่าจะเลือกรับการรักษาจากใครก็ควรเป็นแพทย์ที่มีใบอนุญาตประกอบโรคศิลปะสาขาแพทย์แผนจีน จากสำนักสถานพยาบาลและการประกอบโรคศิลปะ กรมสนับสนุนบริการสุขภาพ
    • การรักษาอาการปวดไหล่ด้วยการฝังเข็มเพียงครั้งเดียวอาจจะไม่เห็นผลชัดเจนนัก ดังนั้นควรไปรับการรักษาอย่างน้อย 3 ครั้ง ก่อนที่จะตัดสินว่าการรักษาวิธีนี้ได้ผลหรือไม่
  5. ลองปรึกษาแพทย์ประจำตัวเกี่ยวกับทางเลือกการรักษาที่มีการรุกล้ำเข้าไปในร่างกาย. ถ้าใช้วิธีการรักษาด้วยตัวเอง หรือวิธีการบำบัดแบบทั่วไปแล้วอาการปวดไหล่ของคุณไม่ดีขึ้น ลองปรึกษาแพทย์ประจำของคุณเกี่ยวกับการรักษาที่มีการเปิดแผล เช่น การฉีดสเตียรอยด์ หรือการผ่าตัด การฉีดสเตียรอยด์ (เช่น ยาต้านภูมิแพ้ prednisolone) เข้าไปที่ไหล่ที่มีอาการบวมจะช่วยลดความเจ็บปวดและการอักเสบได้อย่างรวดเร็ว ทำให้สามารถเคลื่อนไหวได้ในระยะกว้างขึ้น และทำงานได้ดีขึ้น [13] การฉีดยาใช้รักษาอาการเอ็นอักเสบอย่างรุนแรงหรือข้อต่อหัวไหล่อักเสบ ขณะที่การผ่าตัดจะสงวนไว้เพื่อซ่อมแซมเส้นเอ็น กระดูกแตก ข้ออักเสบร้ายแรง อาการเลือดจับตัวเป็นก้อน หรือเพื่อดูดเอาของเหลวที่สะสมออกไป แพทย์อาจแนะนำผู้เชี่ยวชาญการรักษาให้กับคุณ ซึ่งคุณอาจต้องรับการตรวจด้วยเครื่องเอ็กซ์เรย์ เครื่องสแกนกระดูก ตรวจ MRI หรือตรวจการตอบสนองของระบบประสาท เพื่อให้แพทย์เข้าใจปัญหาที่เกิดขึ้นกับไหล่ของคุณ
    • ผลข้างเคียงที่อาจเกิดขึ้นได้จากการฉีดสเตียรอยด์ ได้แก่ เอ็น และกล้ามเนื้อฝ่อ หรืออ่อนแรง ระบบประสาทถูกทำลายและระบบภูมิคุ้มกันทำงานได้ไม่เต็มที่
    • ผลข้างเคียงที่อาจเกิดขึ้นจาการผ่าตัด ได้แก่ การติดเชื้อที่แผล การเสียเลือดมากเกินไป ปฏิกิริยาแพ้ที่นำไปสู่อาการชา เส้นประสาทเสียหาย ต้องหยุดหรือลดการเคลื่อนไหวในบริเวณที่เนื้อเยื่อมีแผลหรืออาการบวมและเจ็บ
    • คุณอาจพิจารณาวิธีการรักษาแบบใหม่ คือ การฉีด PRP (platelet-rich plasma หรือ น้ำเหลืองที่มีเกล็ดเลือดเข้มข้น). เกล็ดเลือดเป็นส่วนประกอบหนึ่งในเลือดและมีโปรตีนที่จำเป็นในการรักษาบาดแผล [14] ในการรักษาด้วยวิธีนี้ คุณจะถูกดูดเลือดออกมาและนำมาแยกเกล็ดเลือด เพื่อทำให้มีความเข้นข้นเพิ่มขึ้น [15] ก่อนจะถูกฉีดกลับเข้าไปยังบริเวณที่คุณมีอาการปวด
    โฆษณา

เคล็ดลับ

  • คุณอาจจะต้องนอนหงายเพื่อลดอาการปวดที่หัวไหล่ โดยปกติแล้วการนอนคว่ำจะมีส่วนทำให้ข้อต่อไหล่และคอช่วงล่างอักเสบได้
  • การป้องกันไม่ให้เกิดปัญหาที่ไหล่สามารถทำได้โดย หลีกเลี่ยงการแบบกระเป๋าที่ไม่กระจายน้ำหนักไปบนไหล่ทั้งสองข้าง โดยใช้กระเป๋าสะพายหลังที่มีสายสะพายที่บุวัสดุรองไหล่แทน
  • ถ้าอาการปวดไหล่ของคุณมีอาการรุนแรง หรือทำให้รู้สึกหมดแรง และดูว่ากำลังจะแย่ลงเรื่อยๆ ให้ไปพบแพทย์ทันทีที่ทำได้
  • ลองรักษาอาการปวดไหล่ด้วยการรักษาที่บริเวณจุดกดเจ็บ อาจจะด้วยมือ หรือใช้ลูกบอลสำหรับนวด
  • หลีกเลี่ยงการนอนตะแคงที่ไหล่เอียงมาข้างหน้า เพราะเป็นการสร้างความเจ็บปวดให้กับไหล่ตลอดคืนที่คุณหลับ
  • ถ้าคุณนอนโดยให้ไหล่ที่มีอาการบาดเจ็บอยู่ด้านบน ลองวางหมอนไว้ที่ด้านหน้าและวางไหล่ไว้บนหมอน จะช่วยไม่ให้เอ็นหรือกล้ามเนื้อถูกยืดมากเกินไปจนเกิดอาการเจ็บที่หัวไหล่
โฆษณา

เกี่ยวกับวิกิฮาวนี้

มีการเข้าถึงหน้านี้ 9,939 ครั้ง

บทความนี้เป็นประโยชน์กับคุณไหม

โฆษณา