ดาวน์โหลดบทความ
ดาวน์โหลดบทความ
การยึดความไม่พอใจไว้กับตัวก็เหมือนการดื่มยาพิษแล้วคิดว่าคนอื่นจะเจ็บปวด แต่จริงๆ แล้วคนที่คุณวางยาก็คือตัวคุณเองนั่นแหละ แม้ว่าคุณจะรู้สึกจริงๆ ว่าคุณมีสิทธิ์ที่จะไม่พอใจและอีกคนก็ทำร้ายคุณอย่างแสนสาหัสจริงๆ ความไม่พอใจจะเป็นเรื่องดีก็ต่อเมื่อคุณปล่อยมันไป ถ้าคุณพร้อมจะปลดโซ่ตรวนของความไม่พอใจที่ล่ามความรู้สึกของคุณเอาไว้ รู้ไว้เลยว่ามีหลายวิธีที่จะช่วยให้คุณข้ามผ่านอารมณ์อันเจ็บปวดนี้ไปได้
ขั้นตอน
-
เข้าใจอารมณ์ความรู้สึกของตัวเอง . ซื่อสัตย์กับตัวเองเวลาเผชิญหน้ากับอารมณ์ที่ล้อมรอบสถานการณ์ ถามตัวเองว่าความไม่พอใจนี้เกี่ยวข้องกับความเจ็บปวดในอดีตมากกว่าจะเป็นบุคคลหรือสถานการณ์หรือเปล่า รับรู้ความโกรธหรือความรู้สึกขุ่นเคืองของตัวเอง แต่อย่าไปจมอยู่กับมัน [1] X แหล่งข้อมูลอ้างอิง
- บางครั้งความโกรธก็เป็นเหมือนยารักษาความรู้สึกไร้อำนาจ เพราะมันทำให้คุณรู้สึกมีอำนาจมากขึ้น [2] X แหล่งข้อมูลอ้างอิง แต่จำไว้ว่า ความรู้สึกจะหายไปในที่สุด เพราะฉะนั้นใส่ใจความโกรธให้น้อยลง และมาหาวิธีรักษาอารมณ์ที่ถูกทำร้ายแทนดีกว่า
- เขียนบันทึกและเน้นไปที่อารมณ์ที่เกี่ยวข้องกับสถานการณ์ อย่าเขียนเกี่ยวกับความโกรธ แต่ให้เน้นความสนใจไปที่ความเจ็บปวด เขียนความรู้สึกของคุณลงไปและเขียนว่ามันเคยเกิดเหตุการณ์แบบนี้มาก่อนไหม มันอาจจะเป็นไปได้ว่าคุณยังยึดติดกับความเจ็บปวดที่แล้วมา และมันก็แสดงออก (และขยายใหญ่กว่าเดิม) ในสถานการณ์ปัจจุบัน
-
ฝึกการยอมรับจากข้างใน. การยอมรับจากข้างในคือ การยอมรับชีวิตตามเงื่อนไขชีวิต ซึ่งก็คือการยอมรับและการไม่ขัดขืนต่อสิ่งที่คุณเปลี่ยนแปลงไม่ได้ แม้ว่าความเจ็บปวดจะเป็นสิ่งที่เราต้องเผชิญ แต่การจะทุกข์ไปกับมันหรือไม่นั้นเป็นสิ่งที่เราเลือกได้ [3] X แหล่งข้อมูลอ้างอิง การพูดว่า “นี่มันไม่ยุติธรรมเลย” หรือ “ทำไมฉันต้องมาเจออะไรแบบนี้ด้วย” คือการที่คุณกำลังปฏิเสธความเป็นจริงในสถานการณ์ของตัวเอง และพยายามที่จะไม่ให้ความจริงเป็นความจริงสำหรับคุณในช่วงเวลานั้น
- การยอมรับจากข้างในหมายถึง การเปลี่ยนความคิดต่อต้านเป็นการยอมรับ “นี่คือชีวิตของฉันในตอนนี้ ฉันไม่ชอบมันและไม่โอเคกับมันเลย แต่มันก็เป็นความจริงของฉันและฉันก็ไม่สามารถเปลี่ยนแปลงสิ่งที่อยู่เหนือการควบคุมของฉันได้ด้วย” [4] X แหล่งข้อมูลอ้างอิง
- ฝึกยอมรับจากข้างในกับเรื่องเล็กๆ น้อยๆ ก่อน และมันจะช่วยให้คุณค่อยๆ ยอมรับสถานการณ์ที่ใหญ่กว่าและเจ็บปวดมากกว่าได้ในภายหลัง คุณสามารถฝึกการยอมรับจากข้างในได้แม้ในขณะรถติด รอคิวในซูเปอร์มาร์เก็ต หลังทำน้ำหกใส่พรม และระหว่างรอคิวหมอหรือหมอฟันที่ยาวเป็นหางว่าว
-
ทำสมาธิ. การฝึกสมาธิมีประโยชน์กับคุณมากมายเหลือคณานับ การทำสมาธิช่วยเพิ่มอารมณ์ที่เป็นบวก ลดความเครียด ช่วยให้คุณรู้สึกถึงเมตตา และช่วยควบคุมอารมณ์ของคุณ [5] X แหล่งข้อมูลอ้างอิง การทำสมาธิช่วยให้คุณจัดการความรู้สึกโกรธและความไม่พอใจได้ด้วยการแทนที่มันด้วยเมตตาและความเห็นอกเห็นใจ ยิ่งคุณฝึกสมาธิมากเท่าไหร่ คุณก็จะยิ่งได้ประโยชน์จากมันมากเท่านั้น
- การเจริญเมตตาภาวนาช่วยฝึกความเมตตาและความเห็นอกเห็นใจผู้อื่น เริ่มจากการนั่งในท่าสบายๆ หลับตาและเริ่มเลือกประโยคที่คุณจะพูดกับตัวเอง เช่น “ฉันอยากจะมอบความรักอย่างไม่มีเงื่อนไขให้ตัวฉันเอง” และพูดออกมา จากนั้นให้พูดประโยคเดียวกันนี้กับคนที่คุณรู้สึกเฉยๆ ด้วย (เช่น พนักงานขายหรือผู้ชายที่ต่อคิวถัดจากคุณ) จากนั้นพูดประโยคเดียวกันนี้กับคนที่คุณไม่พอใจ และสุดท้ายให้พูดประโยคนี้กับสรรพสัตว์ทั้งหลาย (“ฉันอยากจะมอบความรักอย่างไม่มีเงื่อนไขให้สรรพสัตว์ทั้งหลาย”) [6] X แหล่งข้อมูลที่เชื่อใจได้ Greater Good Magazine ไปที่แหล่งข้อมูล พอถึงตอนนี้ให้คุณทบทวนตัวเองว่าคุณรู้สึกอย่างไร คุณยังรู้สึกมึนตึงกับคนๆ นั้นอยู่ไหม
-
ฝึกเห็นอกเห็นใจผู้อื่น. การจะมองสถานการณ์จากมุมมองของคนอื่นนั้นเป็นเรื่องยากเวลาที่คุณโกรธควันออกหู แต่การแบ่งปันความเห็นอกเห็นใจไปยังคนที่ทำให้คุณเจ็บปวดนั้นสามารถทำให้คุณเข้าใจสถานการณ์ได้ดีขึ้นและช่วยบรรเทาความเจ็บปวด ยิ่งคุณรู้สึกเห็นอกเห็นใจมากเท่าไหร่ ความไม่พอใจก็จะมีบทบาทในชีวิตของคุณน้อยลงเท่านั้น [7] X แหล่งข้อมูลอ้างอิง
- จำไว้ว่าคุณเองก็ทำผิดและอยากได้รับการยอมรับเหมือนกัน จำไว้ว่ามนุษย์ทุกคนต่างต้องการการยอมรับ แม้ว่าเราทุกคนจะมีปัญหาของเราเองก็ตาม
- พยายามมองสถานการณ์จากสายตาของอีกคนหนึ่ง เกิดอะไรขึ้นกับคนๆ นั้น เขากำลังเจอเรื่องแย่ๆ ในชีวิตที่ทำให้เขาระเบิดออกมาหรือเปล่า เข้าใจว่าแต่ละคนต่างมีปัญหาให้ต้องรับมือ และเข้าใจว่าบางครั้งความพยายามที่จะรับมือกับปัญหานั้นก็ส่งผลต่อความสัมพันธ์อื่นๆ
-
รักตัวเองอย่างไม่มีเงื่อนไข. ไม่มีใครสามารถทำให้คุณรู้สึกเป็นที่รักและได้รับการยอมรับตลอดเวลานอกจากตัวคุณเอง เตือนตัวเองว่าคุณเป็นคนที่มีคุณค่าและน่ารัก [8] X แหล่งข้อมูลอ้างอิง เพราะเป็นไปได้ว่าถ้าคุณตั้งมาตรฐานสูงกับคนอื่น คุณเองก็น่าจะตั้งมาตรฐานสูงให้กับตัวเองเช่นเดียวกัน คุณกดดันตัวเองมากเกินไปเวลาที่คุณทำผิดหรือเปล่า ถอยออกมาสักก้าว อย่าลืมรักและเห็นคุณค่าของตัวเองอยู่เสมอ
- ถ้าคุณมีปัญหากับการรักตัวเอง ให้เริ่มฝึกท่องประโยคที่ว่า “ฉันดีพอที่จะรักและได้รับความรักอย่างเต็มหัวใจ” พูดกับตัวเองแบบนี้ แล้วมันจะเริ่มส่งผลต่อวิธีการที่คุณมองตัวเอง [9] X แหล่งข้อมูลอ้างอิง
โฆษณา
-
อย่าแก้แค้น. แม้ว่าความรู้สึกอยากแก้แค้นจะแวบเข้ามาและคุณเองก็เริ่มวางแผนแล้ว ก็อย่าหลงติดกับ การแก้แค้นอาจเป็นวิธีที่เราใช้เพื่อสร้างความยุติธรรม แต่ความพยายามที่จะสร้างความยุติธรรมก็อาจจะลงเอยด้วยความไม่ยุติธรรมมากขึ้นไปอีกถ้าวงจรการแก้แค้นยังคงดำเนินต่อไป เมื่อคุณอยากแก้แค้นใครสักคน ให้รับรู้ถึงความรู้สึกของตัวเอง ซึ่งเป็นวิธีหนึ่งที่ช่วยให้คุณรับมือกับการสูญเสียความไว้ใจได้ [10] X แหล่งข้อมูลอ้างอิง
- อย่าหุนหันพลันแล่น รอจนกว่าคุณจะใจเย็นและควบคุมร่างกายกับอารมณ์ของตัวเองได้ เพราะเป็นไปได้ว่าความรู้สึกอยากแก้แค้นนั้นจะหายไปเมื่อคุณหายโกรธแล้ว [11] X แหล่งข้อมูลอ้างอิง
- ถ้าคุณเลือกที่จะคุยกับคนที่คุณไม่พอใจ ระวังคำพูดด้วย อย่าพูดอะไรที่คุณอาจเสียใจทีหลังในช่วงที่อารมณ์กำลังคุกรุ่นหรือตอนที่กำลังอยากแก้แค้น เพราะสุดท้ายแล้วมันไม่คุ้มกันหรอก
-
คาดหวังคนอื่นตามความเป็นจริง. จำไว้ว่าไม่มีใครได้ดั่งใจคุณทุกอย่าง [12] X แหล่งข้อมูลอ้างอิง ถ้าคุณเชื่อว่าการมีคนรัก เพื่อน หรือการเป็นส่วนหนึ่งของครอบครัวคือการที่คุณจะได้ทุกอย่างที่หวัง ขอให้คิดเสียใหม่ เพราะการคาดหวังสูงมีแต่จะทำให้คุณล้มเหลว
- ความไม่พอใจอาจเกิดขึ้นเนื่องจากไม่มีการพูดคุยเรื่องความคาดหวังให้ชัดเจน การพูดคุยถึงความคาดหวังและความปรารถนาอาจช่วยให้คุณเข้าใจปัญหาที่กำลังเกิดขึ้นอย่างชัดเจน และช่วยป้องกันไม่ให้เกิดปัญหาในอนาคตได้
- ระบุความคาดหวังที่คุณมีต่อคนอื่นๆ ในชีวิตอย่างชัดเจน และอะลุ้มอล่วยให้กับมาตรฐานและความคาดหวังที่ต่างฝ่ายต่างมีให้กันในความสัมพันธ์
-
เวลาคุยกัน ให้ขึ้นต้นประโยคด้วยคำว่า “ฉัน”. เวลาที่บอกอีกฝ่ายว่าคุณไม่พอใจอะไร อย่ารีบโยนความผิดทั้งหมดให้เขา แต่ให้รับผิดชอบต่อความรู้สึกและประสบการณ์ของตัวเอง [13] X แหล่งข้อมูลอ้างอิง คุณไม่สามารถบอกได้ว่าเขามีแรงจูงใจอะไร หรือทำไมเขาถึงทำแบบนั้น เพราะคุณไม่สามารถคิดเองเออเองแทนใครได้ เพราะฉะนั้นให้สนใจเฉพาะตัวคุณ ความเจ็บปวดของคุณ และประสบการณ์ของคุณแทน
- แทนที่จะพูดว่า “คุณทำลายความสัมพันธ์ของเรา และผมก็จะไม่มีวันให้อภัยคุณด้วย!” ให้พูดว่า “ผมเจ็บปวดมากเลยนะที่คุณทำกับผมแบบนี้ แล้วผมเองก็ทำเหมือนไม่มีอะไรเกิดขึ้นไม่ได้”
-
ให้โอกาสเมื่อคนอื่นทำพลาดบ้าง. บางครั้งมันก็ยากที่จะยอมรับว่าคุณเองก็มีข้อเสีย มองอะไรไม่รอบด้าน และไม่ได้รับมือกับสถานการณ์อย่างชาญฉลาดเสมอไป นี่คือความเป็นจริงของทุกคนบนโลกใบนี้ คุณเองก็อยากให้คนอื่นให้อภัยเวลาที่คุณทำผิด เพราะฉะนั้นจงให้อภัยคนอื่นในชีวิตเมื่อพวกเขาทำผิดพลาดด้วย จำไว้ว่าคนที่ทำคุณเจ็บปวดก็มีข้อเสีย และบางครั้งเขาก็ทำอะไรลงไปเพราะเขามีความเชื่อหรือการรับรู้ที่ผิด [14] X แหล่งข้อมูลอ้างอิง
- การยอมรับว่าใครๆ ก็ทำผิดกันได้ไม่ได้เป็นการแก้ต่างให้กับพฤติกรรมของเขา แต่เป็นการที่คุณทำให้ตัวเองเห็นบริบทที่อยู่รอบคนๆ นั้นและประสบการณ์ที่เกิดขึ้น เพื่อให้คุณเข้าใจสิ่งต่างๆ ได้ดีขึ้น
-
อยู่ท่ามกลางคนคิดบวก. อยู่ท่ามกลางคนคิดบวกที่สนับสนุนคุณและปล่อยให้คุณตัดสินใจสิ่งต่างๆ ด้วยตัวเอง เพราะคนเหล่านี้จะยอมรับได้เมื่อคุณทำผิดพลาดและยังคงสนับสนุนคุณอยู่ [15] X แหล่งข้อมูลอ้างอิง คบเพื่อนๆ ที่ซื่อสัตย์กับคุณ คนที่เปิดมุมมองใหม่ๆ เวลาที่คุณหาทางออกไม่เจอ หรือคนที่คอยเตือนเวลาที่คุณจริงจังมากเกินไป
- เพื่อนที่ดีจะยอมรับคุณแม้ว่าคุณจะผิดพลาด และการเป็นเพื่อนที่ดีก็คือการที่คุณยอมรับคนอื่นแม้ว่าเขาจะทำผิดพลาดด้วย
-
ให้อภัย. คุณอาจจะรู้สึกเหมือนถูกหักหลังหรือรู้สึกว่าตัวเองมีสิทธิ์ที่จะไม่พอใจ ซึ่งจะทำให้การให้อภัยเป็นเรื่องที่แทบจะเป็นไปไม่ได้เลย แต่การให้อภัยไม่ได้หมายความว่าคุณต้องแกล้งทำเหมือนไม่มีอะไรเกิดขึ้น หรือแก้ต่างให้กับพฤติกรรมของอีกฝ่าย แต่การให้อภัยคือการที่คุณปล่อยวางความเจ็บปวดที่อีกฝ่ายทำกับคุณ [16] X แหล่งข้อมูลที่เชื่อใจได้ Greater Good Magazine ไปที่แหล่งข้อมูล
- ถามตัวเองว่าคนๆ นี้หรือสถานการณ์นี้กระตุ้นอะไรที่ทำให้คุณรู้สึกเจ็บปวดได้มากมายขนาดนี้ คุณเคยรู้สึกถูกทอดทิ้ง เจ็บช้ำ หรือประสบกับความทรงจำในอดีตที่น่าเจ็บปวดอีกครั้งหรือเปล่า เป็นไปได้ว่าคนๆ นี้อาจจะเข้ามาซ้ำบาดแผลลึกๆ ในใจคุณ [17] X แหล่งข้อมูลที่เชื่อใจได้ Greater Good Magazine ไปที่แหล่งข้อมูล
- คุณไม่จำเป็นต้องให้อภัยเป็นวาจา คุณสามารถให้อภัยคนที่ไม่อยู่ในชีวิตของคุณหรือคนที่เสียชีวิตไปแล้วก็ได้
- วิธีที่ช่วยฝึกการให้อภัยคือ การเขียนถึงสถานการณ์ลงไป จากนั้นก็เขียนว่าทำไมคุณถึงเลือกที่จะให้อภัย แล้วหาที่เล็กๆ (ที่ปลอดภัย) จุดไฟเผากระดาษ
โฆษณา
ข้อมูลอ้างอิง
- ↑ http://www.pbs.org/thisemotionallife/blogs/toxic-and-intoxicating-effects-resentment
- ↑ http://www.pbs.org/thisemotionallife/blogs/toxic-and-intoxicating-effects-resentment
- ↑ https://www.psychologytoday.com/blog/pieces-mind/201207/radical-acceptance
- ↑ https://www.psychologytoday.com/blog/pieces-mind/201207/radical-acceptance
- ↑ https://www.psychologytoday.com/blog/feeling-it/201309/20-scientific-reasons-start-meditating-today
- ↑ http://greatergood.berkeley.edu/raising_happiness/post/better_than_sex_and_appropriate_for_kids
- ↑ http://psychcentral.com/blog/archives/2014/11/23/the-7-best-tips-for-handling-anger-and-resentment-in-relationships/
- ↑ http://psychcentral.com/blog/archives/2013/05/04/replacing-resentment-with-self-love-in-your-relationship/
- ↑ http://psychcentral.com/blog/archives/2013/05/04/replacing-resentment-with-self-love-in-your-relationship/
- ↑ https://www.psychologytoday.com/blog/pieces-mind/201309/revenge-will-you-feel-better
- ↑ https://www.psychologytoday.com/blog/pieces-mind/201309/revenge-will-you-feel-better
- ↑ http://psychcentral.com/blog/archives/2013/05/04/replacing-resentment-with-self-love-in-your-relationship/
- ↑ https://www.psychologytoday.com/blog/the-blame-game/201303/5-ways-blaming-hurts-relationships
- ↑ https://www.psychologytoday.com/blog/mindful-anger/201409/how-do-you-forgive-even-when-it-feels-impossible
- ↑ http://psychcentral.com/blog/archives/2013/05/04/replacing-resentment-with-self-love-in-your-relationship/
- ↑ http://greatergood.berkeley.edu/article/item/eight_keys_to_forgiveness
- ↑ http://greatergood.berkeley.edu/article/item/eight_keys_to_forgiveness
เกี่ยวกับวิกิฮาวนี้
มีการเข้าถึงหน้านี้ 4,437 ครั้ง
โฆษณา