ดาวน์โหลดบทความ ดาวน์โหลดบทความ

เพื่อนของคุณกำลังเจอช่วงเวลาที่ยากลำบาก และมิตรภาพที่แท้จริงก็คือการที่คุณหาวิธีสนับสนุนเพื่อน บางครั้งคนเราก็รู้สึกกระอักกระอ่วนเวลาที่เพื่อนกำลังเผชิญเรื่องร้ายๆ เพราะไม่รู้ว่าจะพูดยังไงดี แต่ไม่ต้องกังวลไป แค่มาอยู่ข้างๆ คอยให้กำลังใจเพื่อนก็พอแล้ว มีวิธีต่างๆ มากมายที่คุณสามารถช่วยให้เพื่อนที่กำลังเผชิญความทุกข์อยู่รู้สึกดีขึ้นได้

วิธีการ 1
วิธีการ 1 ของ 3:

ทำในสิ่งที่ถูกต้อง

ดาวน์โหลดบทความ
  1. คุณไม่สามารถช่วยเพื่อนได้ถ้าคุณเอาแต่หลบมุมเมื่อเพื่อนมีปัญหา การจะเป็นเพื่อนที่ดีนั้น คุณต้องอยู่เคียงข้างเพื่อนกลางดึกไม่ว่าจะเพื่อพูดคุยหรือคอยซับน้ำตาให้เพื่อน สำหรับบางคนความทุกข์ของเพื่อนเป็นเรื่องน่ารำคาญ ซึ่งนั่นไม่ใช่มิตรภาพที่แท้จริง
    • ถึงเพื่อนจะบอกว่าอยากอยู่คนเดียว อย่างน้อยก็ให้เสนอตัวว่าจะอยู่ด้วย แต่คุณก็ไม่ควรบังคับให้เพื่อนพูดถ้าพวกเขายังไม่พร้อมที่จะพูด ให้พื้นที่กับเพื่อนตามที่เพื่อนร้องขอ แล้วก็เข้าหาเพื่อนใหม่หลายๆ ครั้ง อย่าเพิ่งหนีไป บางครั้งเราก็ไม่แน่ใจว่าจะพูดอะไรกับเพื่อนดีเวลาที่เพื่อนเผชิญความยากลำบาก ก็เลยไม่พูดอะไรเลยหรือห่างเหินไป ซึ่งอาจยิ่งทำร้ายความรู้สึกเพื่อนมากขึ้นไปอีก
    • เป้าหมายอันดับหนึ่งคือเพื่อให้การสนับสนุน แค่รู้ว่ามีใครบางคนเต็มใจที่จะรับฟังหรือให้คำแนะนำและใส่ใจเราก็สร้างความแตกต่างให้กับเพื่อนที่กำลังเจอความทุกข์ได้แล้ว โทรหา ส่งข้อความหรือเขียนโน้ต ถามว่า “เป็นไงบ้าง อยากได้อะไรเปล่าหรือมีอะไรที่ฉันช่วยได้บ้างมั้ย”
    • ส่วนหนึ่งของการเข้าหาเพื่อนก็คือการพร้อมอยู่เคียงข้างเพื่อนเสมอ เปิดโทรศัพท์ไว้ตลอดเวลาแล้วคุยกับเพื่อนตอนตีสองถ้าเพื่อนกำลังอยู่ในช่วงวิกฤต ตอบข้อความ อย่ายุ่งเกินกว่าจะรับฟังตลอดเวลา อย่ารู้สึกว่าต้องทำตัวต่างไปจากเดิม เลือกสถานการณ์ให้ถูกกาลเทศะ และอย่าเซ้าซี้เพื่อนถ้าเพื่อนไม่พร้อมจะคุย
    เคล็ดลับจากผู้เชี่ยวชาญ

    Laura Horne, MPH

    ผู้เชี่ยวชาญด้านสุขศึกษา
    ลอร่าเป็นหัวหน้าพนักงานฝ่ายโปรแกรมที่ Active Minds องค์กรไม่แสวงผลกำไรระดับชาติที่คอยให้ความช่วยเหลือนักเรียนในประเด็นเรื่องสุขภาพและการศึกษา ก่อนหน้านั้น เธอเคยริเริ่มโครงการสุขภาพเพื่อชุมชนให้กับสมาคมพนักงานด้านสุขภาพแห่งชาติและที่มหาวิทยาลัยทูเลน เธอได้รับปริญญาโทด้านสาธารณสุขจากมหาวิทยาลัยทูเลน และมีใบรับรองว่าเป็นผู้เชี่ยวชาญด้านสุขศึกษาจากคณะกรรมการประเมินงานสุขศึกษาแห่งชาติ
    Laura Horne, MPH
    ผู้เชี่ยวชาญด้านสุขศึกษา

    อย่าห่วงว่าคุณจะไม่รู้ว่าต้องพูดอะไร ผู้เชี่ยวชาญด้านสุขศึกษาอย่างลอร่า ฮอร์นบอกว่า: "ในหลายๆ สถานการณ์นั้น คุณไม่จำเป็นต้องเป็นผู้เชี่ยวชาญถึงจะช่วยได้เลย แค่อยู่ให้กำลังใจอยู่ตรงนั้น พูดคุยกับคนๆ นั้นให้เขาได้รู้ว่า 'ฉันอยู่ตรงนี้กับเธอนะ' หากพวกเขาต้องการ คุณค่อยแนะนำเขาค้นหาแหล่งให้ความช่วยเหลือเพิ่มเติม"

  2. เป็นหินผาท่ามกลางพายุให้เพื่อนเกาะ และคิดว่าตัวเองเป็นคนยื่นสมอให้เพื่อน ถ้าคุณก็ไม่พอใจกับสถานการณ์ที่เกิดขึ้นเหมือนกัน พยายามอย่าแสดงออก
    • อย่าสติแตก เพราะมีแต่จะทำให้เพื่อนรู้สึกว่าปัญหามันใหญ่กว่าเดิมหรือไม่มีทางแก้ ซึ่งจะยิ่งทำให้เพื่อนยิ่งทุกข์ใจมากขึ้นไปอีก รู้ว่าบางคนก็แค่อยากรู้สึกทุกข์ใจสักพัก ซึ่งก็ไม่เห็นจะเป็นไรเลย
    • แม้ว่าคุณควรจะแสดงความเห็นใจ แต่การแสดงออกถึงความสงสารมากเกินไปจะยิ่งทำให้เพื่อนรู้สึกแย่กว่าเดิม
    • อย่าทำอะไรหุนหันพลันแล่นที่อาจทำให้ปัญหาของเพื่อนยุ่งยากกว่าเดิม สุดท้ายแล้วคุณไม่เข้าใจปัญหาของเพื่อนเท่าเพื่อนหรอก ถามเพื่อนก่อนที่คุณจะทำอะไรลงไปเพื่อช่วยเพื่อนแก้ไขสถานการณ์ ดูก่อนว่าเพื่อนรู้สึกอย่างไร (นอกเสียจากว่าเพื่อนกำลังตกอยู่ในอันตรายหรือถูกทำร้าย ถ้าเป็นอย่างนี้คุณ ต้อง บอกคนอื่นทันที)
  3. คุณควรเป็นผู้ฟังที่ดี แต่การพูดก็ช่วยเพื่อนที่กำลังเผชิญความทุกข์อยู่ได้เช่นเดียวกัน ส่วนหนึ่งของการเป็นผู้ฟังที่ดีคือการสบตาเพื่อแสดงความเห็นอกเห็นใจ
    • เล่าเรื่องราวดีๆ เกี่ยวกับประสบการณ์และผลที่ตามมาของคนอื่นและของคุณเอง ถ้าคุณคิดว่ามันจะช่วยให้อะไรๆ ดีขึ้น แต่ก็ให้หยุดและรับฟังด้วย บางครั้งคนเราก็แค่อยากระบายออกมาและบ่นเฉยๆ
    • จำไว้ว่าแค่นี้เพื่อนก็เจ็บมากพออยู่แล้ว เพราะฉะนั้นคุณต้องคิดบวก คิดบวก และคิดบวก เพราะนี่เป็นเหตุผลที่เขาเข้าหาคุณตั้งแต่แรก ก็คือเพื่อขอความช่วยเหลือ ปล่อยให้เพื่อนพล่ามออกมาสักพัก บางทีเพื่อนอาจจะแค่อยากระบาย แม้แต่การพยักหน้าอย่างเข้าอกเข้าใจหรือการพูดว่า “ฉันจะช่วยให้เธอผ่านเรื่องนี้ไปเอง เธอเข้มแข็งอยู่แล้ว” ก็ช่วยได้มากแล้ว
  4. รู้ว่าแต่ละความยากลำบากก็ต้องอาศัยเทคนิคที่ต่างกันไป. เช่น การปลอบเพื่อนที่กำลังโศกเศร้าจากการตายของคนรักต่างจากการปลอบเพื่อนที่กำลังมีปัญหาการเงิน เพราะฉะนั้นใช้เวลาศึกษาสถานการณ์ของพวกเขาด้วย
    • ถ้าเพื่อนกำลังมีปัญหาการเงิน คุณสามารถช่วยเพื่อนได้ด้วยการวางแผนการใช้เงิน เสนอตัวดูรายจ่ายด้วยสายตาที่เป็นกลาง และเสนอที่ปรึกษาด้านการเงิน ระวังเรื่องการให้คนในครอบครัวหรือเพื่อนๆ ยืมเงินให้มากๆ เพราะมันอาจทำลายความสัมพันธ์ได้ [1]
    • ถ้าเพื่อนกำลังโศกเศร้าจากการตายหรือการสูญเสียใดๆ ก็แล้วแต่ ให้รู้ว่าผู้เชี่ยวชาญเชื่อว่า ความโศกเศร้าประกอบด้วยขั้นตอนต่างๆ ขั้นตอนเหล่านี้ได้แก่ ปฏิเสธ โกรธ ต่อรอง สิ้นหวัง และสุดท้ายคือยอมรับ [2]
    • ช่วยเพื่อนติดต่อหาแหล่งช่วยเหลือภายนอกที่เชื่อถือได้ที่เพื่อนจะได้รับความช่วยเหลือมากกว่าจากผู้เชี่ยวชาญหรือผู้ที่ได้รับการฝึกอบรมในเรื่องที่เพื่อนกำลังประสบความทุกข์ [3]
  5. เสนอการให้กำลังใจทางกายผ่านการกอดที่อบอุ่น. หรือแตะไหล่เบาๆ การถ่ายทอดความเห็นอกเห็นใจผ่านสัมผัสทางกายจะทำให้เพื่อนรู้สึกดีขึ้นหรืออย่างน้อยก็สัมผัสได้ว่ามีคนห่วงใย
    • บางครั้งทั้งหมดที่เพื่อนต้องการก็คืออ้อมกอด ไม่จำเป็นต้องพูดอะไรเลย แค่อ้าแขนแล้วเขาก็จะเดินมากอดคุณ กอดค้างไว้ให้นานที่สุดเพราะเป็นการแสดงให้เห็นว่า คุณพร้อมอยู่เคียงข้างเพื่อน ทำให้เพื่อนหัวเราะ
    • ร้องเพลงหรือเต้นหรือเล่าเรื่องตลกให้เพื่อนฟัง พอเพื่อนเริ่มหัวเราะได้เพื่อนก็จะฟื้นตัวได้เร็วขึ้น และคิดได้ว่าควรทำอะไรต่อไป
    โฆษณา
วิธีการ 2
วิธีการ 2 ของ 3:

พูดในสิ่งที่ถูกต้อง

ดาวน์โหลดบทความ
  1. ปล่อยให้เป็นเรื่องของเพื่อน ไม่ใช่เรื่องของคุณ. แม้ว่าการเล่าประสบการณ์ของตัวเองให้เพื่อนฟังจะเป็นสิ่งที่ทำได้ถ้าคุณคิดว่ามันแสดงความเห็นอกเห็นใจหรือช่วยเพื่อนได้ แต่คุณก็ควรสนใจเรื่องของเพื่อนคุณเป็นหลัก ไม่ใช่เรื่องของคุณเอง เพราะฉะนั้นพยายามสะกดกลั้นความอยากที่จะเล่าให้เพื่อนฟังว่า คุณผ่านเรื่องที่แย่กว่านี้มาได้อย่างไร
    • อย่า เกทับปัญหาของเพื่อนด้วยการเล่าปัญหาของตัวเองให้ฟัง คุณอาจจะถูกฆาตกรใส่ชุดตัวตลกสวมแว่นกันแดดสะกดรอยตามตอนกลางคืน แต่นี่เป็นเวลาที่คุณจะต้องสนใจฟังปัญหาของเพื่อนไม่ว่าจะเป็นเรื่องสามี/ภรรยาหรืออาชีพ หรืออะไรก็แล้วแต่ที่เพื่อนกำลังเผชิญอยู่
    • ไม่ได้หมายความว่าคุณจะหาจุดร่วมกันด้วยการเล่าประสบการณ์ส่วนตัวคล้ายๆ กันกับที่คุณเคยเจอและผ่านมันไปได้ให้เพื่อนฟังไม่ได้ แต่พยายามกลั้นใจไม่บอกเป็นนัยว่า คุณรู้ดีว่าเพื่อนรู้สึกอย่างไร เพราะแต่ละสถานการณ์นั้นแตกต่างกัน และพยายามเล่าเรื่องตัวเองให้น้อยที่สุด
  2. ระวังคำพูดเชยๆ ที่ฟังแล้วน่าเบื่อและไม่ได้ช่วยอะไร. เราต่างเคยได้ยินคำพูดเชยๆ อย่าง “ฉันเข้าใจดีว่าเธอรู้สึกยังไง” (แม้ว่าจริงๆ แล้วคุณไม่ได้เข้าใจเลย) หรือ “มันอาจจะแย่กว่านี้ก็ได้” เวลาที่เพื่อนรู้สึกแย่สุดๆ แทนที่จะพูดคำเชยๆ ให้พูดออกมาจากใจ ให้คำพูดของคุณตอบสนองต่อปัญหาของเพื่อนโดยตรง
    • มิตรภาพ คือการรู้ว่าจะใช้ความซื่อสัตย์อย่างมีประสิทธิภาพได้อย่างไร เวลาที่เพื่อนกำลังเผชิญกับความทุกข์ คุณต้องประเมินสถานการณ์และประมวลเรื่องราวผ่านมุมมองส่วนตัวของคุณ เอาตัวเองไปอยู่ในสถานการณ์ของเพื่อน และรับรู้ถึงอารมณ์ที่เพื่อนกำลังเผชิญ
    • บอกว่าคุณเสียใจที่เพื่อนต้องมาเจอเรื่องแบบนี้ และปล่อยให้เพื่อนระบายความรู้สึกอย่างเต็มที่ อย่าให้คำแนะนำเชยๆ กับสถานการณ์ของเพื่อน เพราะเพื่อนอาจจะคิดว่าคุณไม่ได้สนใจเขาจริงๆ และอาจจะยิ่งเศร้าไปกันใหญ่ คิดถึงความเป็นจริงด้วย อย่าพูดว่า “ไม่เป็นไรหรอก” ถ้ามันไม่โอเค แต่ให้มอบแรงบันดาลใจให้แทน
  3. การว่ากล่าวเพื่อนโดยการพูดว่า “ฉันบอกเธอแล้วว่าให้เธอทำตั้งแต่เนิ่นๆ” หรือ “ฉันบอกเธอกี่ครั้งกี่หนแล้ว” จะยิ่งทำให้เพื่อนเจ็บปวด พอคุยกันเสร็จแล้วคุณจะมานั่งนึกเสียใจที่ตัวเองพูดออกไปอย่างนั้น
    • ถ้าเพื่อนพูดรูปแบบความคิดที่เป็นลบซ้ำไปซ้ำมา คุณก็สามารถชี้ประเด็นนี้ได้อย่างเงียบๆ ด้วยการให้คำแนะนำที่เป็นบวกว่า เขาจะสร้างความเปลี่ยนแปลงแทนที่การตีกรอบปัญหาด้วยภาษาที่กล่าวโทษและเป็นลบได้อย่างไร อย่าตัดสินเพื่อน เรื่องนี้สำคัญมาก เพราะมันไม่ช่วยอะไรและไม่ใช่เวลาที่เหมาะด้วย
    • เก็บเรื่องที่ว่าเพื่อนทำเรื่อง ก ข ค ผิดอย่างไรไว้หลังจากที่เพื่อนผ่านช่วงเวลาวิกฤตินี้ไปได้ก่อน พวกเขาต้องการคำปลอบใจในช่วงเวลาที่สิ่งต่างๆ เลวร้ายสุดๆ ไม่ใช่คำที่ทำให้รู้สึกแย่ยิ่งกว่าเก่า อย่าพูดคำที่ทำร้ายจิตใจเพื่อนอย่าง “ฉันบอกเธอแล้วไง” หรือ “เรื่องนี้เธอผิดเองนะ”
    • ลองนึกภาพอย่างนี้ คุณเป็นเพื่อนสนิทของ "ลิน" แล้วพ่อแม่ของเธอก็กำลังจะหย่ากัน คุณก็ควรอยู่เคียงข้างเพื่อน เป็นไหล่ให้เธอซบ ให้เธอเล่าปัญหาให้ฟัง หรือทำให้เธอมีความสุข แต่...เธอก็อาจจะอยากได้เวลาส่วนตัว เตรียมของเล็กๆ น้อยๆ เพื่อแสดงความห่วงใย เช่น หนัง ขนมหวาน และสิ่งที่ทำให้เธอหัวเราะ เป็นเพื่อนที่ดีและช่วยให้เธอผ่านพ้นช่วงเวลาที่ยากลำบากนี้ไปให้ได้เหมือนที่คุณอยากให้เธอทำให้คุณ
  4. เสนอวิธีแก้ไขปัญหาเพื่อให้เพื่อนแก้ไขปัญหาได้ดีขึ้น. บอกหนทางที่ช่วยให้เพื่อนผ่านพ้นความยากลำบากนี้ไปได้รวมทั้งให้กำลังใจเพื่อนด้วย ช่วยให้เพื่อนเห็นแง่ดีๆ ที่ยังมีอยู่ในชีวิต เตือนเพื่อนว่าเพื่อนไม่สมควรได้รับสิ่งที่เกิดขึ้นกับเขา
    • ถ้าเป็นไปได้ให้พยายามทำอะไรสักอย่างที่สามารถเปลี่ยนความทุกข์ยากที่เพื่อนกำลังเผชิญได้จริงๆ ถ้าคุณไม่สามารถทำอะไรได้ ให้ลองพยายามทำสิ่งอื่นที่มีประโยชน์กับเพื่อนของคุณ เช่น เพื่อนอาจจะสับสนจนทำอาหารเย็นไม่ได้ ก็ให้ทำอาหารไปให้เพื่อน เสนอตัวดูแลลูกๆ ให้เพื่อน ประมาณนี้
    • แม้ว่าคุณควรจะบอกวิธีแก้ปัญหาที่เป็นประโยชน์ สุดท้ายพวกเขาก็ต้องตัดสินใจว่าจะทำอย่างไรเอง ให้เพื่อนสรุปเองและตัดสินใจเอง กุญแจสำคัญของสถานการณ์แบบนี้คือ แสดงให้เพื่อนเห็นถึง การสนับสนุนที่แท้จริง พูดถึงสิ่งที่เป็นไปได้ อย่า แนะนำเพื่อนถ้าคุณเองก็ไม่แน่ใจ [4]
    • เป้าหมายโดยรวมของคุณควรจะเป็นการรับฟังโดยเสนอวิธีแก้ปัญหา คำแนะนำ หรือข้อเสนอแนะที่มีประโยชน์และเป็นบวกบ้างเป็นครั้งคราว คุณจะเสนอทั้ง 3 อย่างนี้เลยก็ได้ถ้าคุณสนิทกันเป็นพิเศษ
  5. เพื่อนที่ดีจะเสนอคำแนะนำและข้อเสนอแนะ โดยที่รู้ว่าเพื่อนอาจจะไม่พร้อมที่จะยอมรับความช่วยเหลือจากคุณแม้ว่าจะสนิทกันก็ตาม สุดท้ายแล้วคนเราก็ต้องผ่านปัญหาต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นความสัมพันธ์ที่ไม่ดี ความกังวลเรื่องการเงิน ความตาย และอื่นๆ อีกมากมายด้วยตัวเอง
    • เข้าใจและยอมรับว่าสิ่งที่คุณทำอาจจะไม่ได้ให้ผลลัพธ์ตามที่คาดไว้เสมอไป ในฐานะคนที่สนับสนุนเพื่อน คุณไม่ควรผิดหวังหรือหมดกำลังใจเพียงเพราะเพื่อนไม่ยอมฟังเรา
    • ช่วยเพื่อนด้วยการระบุสาเหตุของปัญหาและชี้ให้เห็นถึงวิธีเยียวยาปัญหาที่เป็นไปได้ ใช้ประสบการณ์ สัญชาตญาณ และคำแนะนำของคนอื่น บอกเพื่อนว่า "จริงอยู่ว่านี่เป็นชีวิตของเธอและเธอก็ควรทำในสิ่งที่เธอคิดแล้วว่าดีกับเธอที่สุด แต่เธอไม่คิดเหรอว่า ____ จะทำให้เธอ ___เหรอ เธออาจจะลอง ___ดูมั้ย แต่ยังไงก็แล้วแต่เธอนะ" แทนที่จะบอกว่า "นั่นเป็นความคิดที่ไม่ได้เรื่องเอาซะเลย เธอควรจะ ___"
    โฆษณา
วิธีการ 3
วิธีการ 3 ของ 3:

สิ่งอื่นๆ ที่ควรทำ

ดาวน์โหลดบทความ
  1. รายงานการทำร้ายร่างกาย [5] หรือเรื่องอื่นๆ ที่อาจมีผลต่อความปลอดภัยของเพื่อน. ความทุกข์แต่ละเรื่องไม่เหมือนกัน ถ้าความทุกข์ที่เพื่อนของคุณกำลังประสบเป็นการข่มขู่เรื่องความปลอดภัยของเขาหรือเธอ เช่นความสัมพันธ์ที่มีการทำร้ายร่างกายหรือ การทำร้ายตัวเอง [6] คุณต้องทำอะไรสักอย่าง
    • สนับสนุนให้เพื่อนบอกใครสักคนที่มีอำนาจที่รู้มากกว่าว่าต้องทำอย่างไร เช่น ผู้บังคับใช้กฎหมาย นักบำบัด ผู้นำทางศาสนา หรือพ่อแม่ ถ้าเพื่อนปฏิเสธและมีการทำร้ายเกิดขึ้น ให้บอกคนที่มีอำนาจด้วยตัวคุณเอง
    • ถ้าเพื่อนยังเป็นผู้เยาว์ คุณต้องบอกพ่อแม่ถ้าเพื่อนกำลังมีปัญหาเรื่องการถูกทำร้าย เช่น ถูกกลั่นแกล้ง การกลั่นแกล้ง [7] เป็นการทำร้ายทางจิตใจ และคุณไม่ควรรับมือกับเรื่องแบบนี้ด้วยตัวเอง อย่าเผชิญหน้ากับคนกลั่นแกล้งเพราะนั่นอาจทำให้คุณตกอยู่ในอันตรายได้เหมือนกัน ต้องบอกผู้ใหญ่
  2. อย่าบังคับให้เพื่อนร่าเริงหรือโกรธถ้าเพื่อนยังไม่สามารถปลดปล่อยตัวเองจากความเศร้าได้ เพื่อนกำลังเจ็บปวด บางครั้งเขาก็ต้องจมจ่อมอยู่กับความทุกข์สักพัก แต่ถ้าเพื่อนจมจ่อมอยู่กับความทุกข์นานเกินไป คุณก็ต้องลองใช้วิธีอื่น
    • ถึงจุดหนึ่งคุณอาจจะต้องแข็งกับเพื่อนสักหน่อยหรือเป็นคนลงมือทำให้เพื่อนหายเศร้าเสียเอง แล้วจุดนั้นคือเมื่อไหร่ล่ะ ก็คือเมื่อเวลาผ่านไปนานมากแล้ว แต่ความเศร้า ความทุกข์ หรือความหดหู่ของเพื่อนยังคงดำเนินต่อไปและเริ่มทำให้เกิดปัญหาที่ซับซ้อนในด้านอื่นๆ ของชีวิต เช่น การงานหรือการเรียน
    • การจมจ่อมอยู่กับความทุกข์ในช่วงแรกเป็นเรื่องปกติ แต่ก็จะหายไปหลังจากนั้นไม่นานนักแม้ว่าแต่ละคนจะใช้เวลาไม่เท่ากันก็ตาม พอถึงจุดหนึ่งก็กระตุ้นให้เพื่อนพิจารณาหาวิธีแก้ปัญหาได้แล้ว
  3. เข้าใจว่าเมื่อไหร่ที่มันเริ่มเกินความสามารถของคุณแล้ว. ถ้าถึงจุดหนึ่งคุณต้องการพื้นที่จากปัญหาเพราะว่าเพื่อนไม่ดีขึ้นสักทีและคุยกันทีไรก็มีแต่เรื่องการจมปลักอยู่กับความเศร้าเดือนแล้วเดือนเล่า คุณก็อาจจะต้องใช้การแทรกแซงที่เป็นไม้แข็งมากขึ้น
    • ศึกษาเรื่องสัญญาณของโรคซึมเศร้า [8] และถ้าเพื่อนคุณมีอาการเหล่านี้ แนะนำให้เพื่อนขอความช่วยเหลือจากผู้เชี่ยวชาญ เช่น นักบำบัดหรือแพทย์
    • เตือนให้เพื่อนรู้ว่า คุณไม่ได้รับการอบรมมาให้เป็นนักบำบัดของเพื่อน และคุณเองก็ไม่สามารถแบกรับปัญหาของเพื่อนไว้บนบ่าได้ตลอดไป พอถึงจุดหนึ่งความรักไม้แข็งในรูปแบบของการแก้ปัญหาเชิงสร้างสรรค์หรือความเห็นที่ซื่อสัตย์จากสิ่งที่คุณสังเกตก็ช่วยเพื่อนได้มากขึ้น
  4. พยายามหาทางทำให้เพื่อนลืมทุกข์จากปัญหาที่เกิดขึ้นสักพัก คุณอาจจะชวนเพื่อนออกไปดูหนังกับคุณ เพราะจะทำให้เพื่อนได้ออกจากบ้าน อย่างน้อยเพื่อนก็จะได้ลืมปัญหาสัก 2–3 ชั่วโมง ช่วยให้เพื่อนได้เห็นมุมมองใหม่ๆ แต่ก็ให้รักษาสมดุลระหว่างการจมจ่อมกับความเศร้าและการทำอย่างอื่นเพื่อให้ลืมทุกข์ เข้าใจว่าอย่างน้อยในช่วงแรกเพื่อนอาจจะอยากนั่งในห้องนั่งเล่นคาชุดนอนมากกว่า
    • หาอาหารปลอบใจไปให้เพื่อนอย่างไอศกรีมหรือช็อกโกแลตหรืออาหารที่เพื่อนชอบ เอาอาหารไปให้เพื่อนที่บ้านและอยู่เป็นเพื่อน เตือนให้เพื่อนนึกถึงความสำเร็จของตัวเอง หาคำพูดเชิงบวกดีๆ มาพูดให้เพื่อนฟัง [9]
    • พอถึงจุดหนึ่งการดำเนินชีวิตตามปกติในระดับหนึ่งก็ถือเป็นการเยียวยาสำหรับบางคน เพราะฉะนั้นอย่าเปลี่ยนกิจวัตรประจำวันมากนัก
  5. ถ้าเพื่อนไม่ได้ตกอยู่ในอันตราย เก็บปัญหาของเพื่อนไว้เป็นความลับเพื่อที่คุณจะได้ไม่ทำให้มันแย่กว่าเดิม . ถ้าเพื่อนเล่าความทุกข์ยากให้คุณฟัง นั่นหมายความเขาเชื่อใจคุณ ถ้าคุณทำลายความเชื่อใจด้วยการเล่าเรื่องของเพื่อนให้คนอื่นฟัง คุณก็ไม่ใช่เพื่อนที่ดี
    • สิ่งที่สำคัญมากๆ คือข้อยกเว้น ก็คือในสถานการณ์ที่มีการทำร้าย ข่มเหง หรือสถานการณ์ใดๆ ที่เพื่อนตกอยู่ในอันตรายรวมทั้งอันตรายในเรื่องของอารมณ์ ในกรณีเหล่านี้คุณต้องบอกผู้ที่มีอำนาจ เช่น พ่อแม่ ตำรวจ หรือนักบำบัด
    • ในสถานการณ์อื่นๆ อย่าเป็นพวกขี้เม้าท์ อย่าเล่าปัญหาของเพื่อนอ้อมๆ บนโซเชียลมีเดียหรือบอกคนในกลุ่มเพื่อน แม้ว่าจะแสร้งทำเป็นพยายามให้เพื่อนได้รับความช่วยเหลือมากขึ้นก็ตาม
    โฆษณา

เคล็ดลับ

  • ให้พื้นที่ส่วนตัวกับเพื่อนเมื่อเพื่อนขอ
  • แยกเพื่อนให้ห่างจากแอลกอฮอล์เพื่อไม่ให้เพื่อนดื่มเหล้าย้อมใจ เพราะแอลกอฮอล์มีแต่จะพัดอารมณ์ให้ฟุ้งซ่านกว่าเดิมและทำให้หดหู่มากยิ่งขึ้น
  • อย่าเซ้าซี้ถามอะไรมากมาย เพื่อนอาจจะไม่ได้อยากเล่าให้ฟังทุกรายละเอียด เพราะฉะนั้นอย่าถามถ้าเพื่อนไม่เต็มใจเล่า
  • คุณต้องให้พื้นที่ส่วนตัวกับเพื่อนและอย่าเกาะติดแจจนเพื่อนรำคาญ
  • อย่าสัญญาว่าจะอยู่เคียงข้างเพื่อนถ้าคุณรู้ว่าตัวเองทำไม่ได้หรือจะไม่ทำ
  • ไม่ว่าเพื่อนจะเล่าความลับอะไรให้คุณฟัง แสดงความเห็นอกเห็นใจและชื่นชมที่เพื่อนยังคงอยู่ในสถานการณ์นี้ได้ เท่านี้ก็ทำให้เพื่อนรู้สึกว่ามีคนอยู่เคียงข้าง เข้าใจ และรู้สึกดีขึ้นโดยรวมได้แล้ว
โฆษณา

คำเตือน

  • ถ้าเพื่อนเล่าให้ฟังจริงๆ ว่าเกิดอะไรขึ้น ให้เก็บทุกอย่างเป็นความลับนอกจากว่าจะเป็นเรื่องการฆ่าตัวตาย ทำร้าย ข่มขืน หรืออะไรก็แล้วแต่ที่เพื่อนอาจได้รับบาดเจ็บ
โฆษณา

เกี่ยวกับวิกิฮาวนี้

มีการเข้าถึงหน้านี้ 8,431 ครั้ง

บทความนี้เป็นประโยชน์กับคุณไหม

โฆษณา