ดาวน์โหลดบทความ ดาวน์โหลดบทความ

กล้ามเนื้อฉีก/ยอก (pulls/strains) เกิดได้เมื่อเส้นใยเล็กๆ ในกล้ามเนื้อนั้นถูกยืดเหยียดออกมากเกินไป ทำให้เส้นใยบางส่วนหรือทั้งหมดฉีกขาด (rupture) กล้ามเนื้อฉีกจะแบ่งออกเป็นระดับอาการ เช่น Grade I (เส้นใยกล้ามเนื้อฉีกเล็กน้อย), Grade II (เส้นใยกล้ามเนื้อฉีกเพิ่มขึ้น) และ Grade III (เส้นใยกล้ามเนื้อฉีกขาดไปเลย) [1] อาการปวดหรือกล้ามเนื้อฉีกไม่มากไปจนถึงปานกลางจะหายได้ใน 2 - 3 อาทิตย์ แต่คุณเร่งระยะฟื้นตัวได้ และฟื้นตัวได้ดีกว่าเดิม ถ้าดูแลตัวเองด้วยวิธีธรรมชาติที่เขาทดลองกันมาแล้วว่าได้ผล หรือโดยการตรวจรักษากับคุณหมอ

ส่วน 1
ส่วน 1 ของ 2:

ดูแลตัวเองที่บ้าน

ดาวน์โหลดบทความ
  1. กล้ามเนื้อฉีกส่วนใหญ่ มักเกิดเพราะยกของหนักไป ทำกิจกรรมเดิมซ้ำๆ ขยับผิดท่า หรือเกิดจากอุบัติเหตุหรือแรงกระแทก (รถชนหรือเล่นกีฬา) [2] ขั้นแรกในการรักษากล้ามเนื้อฉีก (และอาการบาดเจ็บที่กล้ามเนื้อและกระดูกส่วนใหญ่) คือต้องหยุดพัก เช่น เว้นจากการเล่นกีฬาหรือทำงานไป 2 - 3 วัน กล้ามเนื้อจะฟื้นตัวได้เร็วมาก ถ้าได้พักผ่อนเต็มที่ ถ้าพักกล้ามเนื้อที่ฉีก 2 - 3 อาทิตย์แล้วยังไม่หาย แสดงว่าเส้นใยกล้ามเนื้อฉีกเป็นจำนวนมาก หรือมีอาการบาดเจ็บที่ข้อและเอ็นยึดด้วย
    • กล้ามเนื้อฉีกแล้วมักปวดทึบๆ ตุบๆ แต่ถ้าขยับตัวแล้วปวดแปลบและ/หรือปวดร้าวลงไป แสดงว่าเป็นอาการแพลงที่ข้อและเอ็นยึด
    • กล้ามเนื้อฉีกปานกลางไปจนถึงรุนแรงมักมีรอยช้ำอย่างรวดเร็ว แปลว่าหลอดเลือดบางส่วนที่ไปเลี้ยงกล้ามเนื้อนั้นบาดเจ็บหรือฉีกขาด
  2. ถ้ากล้ามเนื้อฉีกเฉียบพลัน (ไม่เกิน 2 - 3 วัน) ก็เป็นไปได้ว่าจะอักเสบ ต้องรีบรักษา [3] เวลาเส้นใยกล้ามเนื้อฉีก ระบบภูมิคุ้มกันของร่างกายจะส่งของเหลวมหาศาลที่มีเซลล์เม็ดเลือดขาวไป โดยเซลล์เม็ดเลือดขาวจะไปเก็บกวาดเศษซากเซลล์และเนื้อเยื่อเกี่ยวพันที่บาดเจ็บเสียหาย แล้วเตรียมแผนฟื้นฟูร่างกาย แต่ถ้าอักเสบมากๆ จะเพิ่มแรงกดดัน จนปวดได้ เพราะงั้นต้องประคบเย็น (ด้วยน้ำแข็งหรือเจลแพ็คแช่แข็งที่ห่อผ้าบางๆ) บริเวณกล้ามเนื้อที่ฉีกขาดทันที เพื่อให้หลอดเลือดหดตัวและลดการตอบสนองต่อการอักเสบ [4]
    • ให้ประคบเย็น 10 - 20 นาทีทุกชั่วโมง (ยิ่งกล้ามเนื้อบาดเจ็บลึกหรือกินวงกว้าง ก็ยิ่งต้องใช้เวลานาน) จากนั้นค่อยๆ ลดความถี่ลง เมื่ออาการปวดและบวมดีขึ้น
    • ประคบเย็นบริเวณกล้ามเนื้อที่ฉีกโดยใช้ผ้าพันแผลที่เป็นผ้ายืดพันไว้ จะช่วยลดอาการบวมได้ดีขึ้น รวมถึงให้ยกบริเวณที่บาดเจ็บสูงกว่าหัวใจด้วย
  3. ถ้าอาการกล้ามเนื้อฉีกไม่ยอมหายหรือกลายเป็นเรื้อรัง (นานเกิน 1 เดือนขึ้นไป) แสดงว่าไม่ใช่เรื่องป้องกันการอักเสบลุกลามแล้ว แต่แสดงว่ากล้ามเนื้ออ่อนแอลง หรือยึดตึงมากไป เลือดไม่ไหลเวียนไปเลี้ยงตามปกต แปลว่าขาดสารอาหารที่จำเป็น (ออกซิเจน, กลูโคส และแร่ธาตุ) ถ้าหาอะไรร้อนๆ ชื้นๆ มาประคบ จะช่วยคลายกล้ามเนื้อที่ตึงเกร็งได้ และกระตุ้นการไหลเวียนของเลือด ทำให้เนื้อเยื่อกล้ามเนื้อฉีกเรื้อรังหายเร็วขึ้น [5]
    • เอาแผ่นประคบร้อน (heat pack) ไปอุ่นในไมโครเวฟ แล้วนำมาประคบบริเวณที่ปวดกล้ามเนื้อครั้งละ 15 – 20 นาที 3 - 5 ครั้งต่อวัน จนอาการยึดตึงเกร็งดีขึ้น หรือใช้ลูกประคบ/ถุงสมุนไพรที่ใส่ข้าวสาลี bulgur หรือข้าวสาร และสมุนไพรและ/หรือน้ำมันหอมระเหยที่ทำให้ผ่อนคลาย เช่น ลาเวนเดอร์
    • หรือแช่กล้ามเนื้อที่ฉีกเรื้อรังในอ่างอาบน้ำ ที่มีน้ำอุ่นผสมดีเกลือฝรั่ง (Epsom salt) ประมาณ 20 – 30 นาที เพราะช่วยบรรเทาอาการปวดบวมของกล้ามเนื้อได้เป็นอย่างดี [6] เขาว่าแมกนีเซียมในเกลือช่วยคลายเส้นใยกล้ามเนื้อ ส่วนน้ำอุ่นจะกระตุ้นให้เลือดไหลเวียนดี
    • อย่าใช้ความร้อนแห้ง เช่น ผ้าห่มไฟฟ้า มาประคบกล้ามเนื้อที่ฉีกเรื้อรัง เพราะยิ่งทำให้เนื้อเยื่อขาดน้ำ อาการหนักกว่าเดิม
  4. อย่างที่บอกว่าการอักเสบเป็นสาเหตุหลักของอาการบาดเจ็บที่กล้ามเนื้อและกระดูกแบบเฉียบพลัน เช่น กล้ามเนื้อฉีกแบบนี้ เพราะงั้นถ้าซื้อยาแก้อักเสบกินเองตั้งแต่บาดเจ็บแรกๆ จะช่วยได้มาก [7] ยาแก้อักเสบที่คนนิยมกินกันก็เช่น ibuprofen (Advil, Motrin), naproxen (Aleve) และแอสไพริน แต่ข้อเสียคือระคายเคืองกระเพาะ เพราะงั้นอย่ากินติดต่อกันนานเกิน 2 อาทิตย์ ย้ำว่ายาแก้อักเสบช่วยบรรเทาอาการเท่านั้น ไม่ใช่การรักษา แต่อย่างน้อยก็ทำให้กลับไปทำงานหรือกิจกรรมต่างๆ ได้ (ในเวลาที่เหมาะสม) ไม่เจ็บปวดมากเท่าเดิม
    • ห้ามให้เด็กกินยาไอบูโพรเฟน จะดีที่สุดถ้าปรึกษาคุณหมอก่อนกินยาทุกชนิด ทั้งคุณและลูก
    • สำหรับอาการเรื้อรังอื่นๆ ของกล้ามเนื้อ ให้ลองกินยาคลายกล้ามเนื้อ (เช่น cyclobenzaprine) เพื่อลดความตึงเกร็งของกล้ามเนื้อ
  5. ปกติที่คนเรายืดเหยียดก็เพื่อป้องกันอาการบาดเจ็บที่อาจเกิดขึ้น แต่จริงๆ แล้วหลังบาดเจ็บก็ยืดเหยียดได้ (แต่ต้องใช้วิจารณญาณและทำอย่างระมัดระวัง) [8] พอผ่านไป 2 - 3 วัน อาการปวดหลังบาดเจ็บเฉียบพลันดีขึ้น ให้เริ่มยืดเหยียดเบาๆ ให้กล้ามเนื้อยืดหยุ่นได้มากขึ้น ป้องกันกล้ามเนื้อตึงเกร็ง โดยเริ่มจากยืดเหยียดวันละ 2 - 3 ครั้ง ค้างไว้ครั้งละ 15 - 20 วินาที พร้อมหายใจเข้าลึกๆ ถ้ากล้ามเนื้อฉีกเรื้อรังยิ่งต้องยืดเหยียด เพราะงั้นให้เพิ่มเป็นวันละ 3 - 5 ครั้ง โดยทำค้างไว้ 30 วินาที จนรู้สึกสบายตัวขึ้น
    • ถ้ายืดเหยียดถูกวิธี วันต่อมาจะไม่ปวดตัว แต่ถ้าปวด เป็นไปได้ว่ายืดเหยียดเกินองศาหรือผิดวิธี ต้องเพลาๆ ลง ให้ยืดเหยียดช้าๆ ไม่มากเท่าเดิม
    • สาเหตุยอดนิยมที่ทำให้เผลอ "ยืดเหยียดเกินองศา" ก็คือยืดเหยียดตอนกล้ามเนื้อเย็น ไม่ยืดหยุ่นพอ เพราะงั้นต้องวอร์มร่างกายก่อน ให้แน่ใจว่าเลือดไหลเวียนไปเลี้ยง หรือประคบแบบร้อนชื้นบริเวณกล้ามเนื้อที่จะยืดเหยียด
    โฆษณา
ส่วน 2
ส่วน 2 ของ 2:

หาหมอ

ดาวน์โหลดบทความ
  1. ถ้าดูแลตัวเองแล้วอาการไม่ดีขึ้นอย่างที่คาดคิด หรืออยากรักษาควบคู่กันไปกับการดูแลตัวเองให้หายเร็วขึ้น ก็ให้ลองไปนวดกับหมอนวดที่เชี่ยวชาญและมีใบอนุญาต โดยนวดแบบ deep tissue การนวดเนื้อเยื่อส่วนลึกจะเหมาะกับการรักษากล้ามเนื้อฉีกไม่มากไปจนถึงปานกลาง เพราะลดกล้ามเนื้อตึงเกร็ง ต้านการอักเสบ และช่วยให้ผ่อนคลาย [9] เริ่มจากนวดครั้งละ 30 นาทีก่อน โดยนวดลึกถึงเส้นเท่าที่จะทนเจ็บไหว บางทีก็มีการนวดกดจุดร่วมด้วย โดยเน้นเส้นใยกล้ามเนื้อที่บาดเจ็บ
    • หลังนวดต้องดื่มน้ำเยอะๆ เพื่อขับสารตกค้างจากการอักเสบและกรดแลคติกออกไปจากร่างกาย ถ้าไม่ดื่มน้ำเยอะๆ ระวังจะปวดหัวหรือคลื่นไส้เล็กน้อย
    • ถ้าไม่มีงบพอไปนวดจริงจัง ให้ลองนวดตัวเองโดยวางลูกเทนนิสหรือ foam roller ที่พื้น จากนั้นถ่ายน้ำหนักตัวบริเวณที่ปวด กลิ้งลูกเทนนิสหรือ foam roller ไปมาจนรู้สึกว่ากล้ามเนื้อปวดหรือตึงเกร็งน้อยลง
  2. ชิ้นส่วนที่ทำจากคริสตัลในเครื่อง therapeutic ultrasound จะสั่น เกิดเป็นคลื่นเสียงความถี่สูงออกมา (หูเราไม่ได้ยิน) ช่วยบำบัดกระดูกและเนื้อเยื่ออ่อน เป็นวิธีการที่คุณหมอ นักกายภาพบำบัด และนักจัดกระดูกนิยมใช้รักษาอาการบาดเจ็บที่กล้ามเนื้อและกระดูกกันมากว่า 50 ปีแล้ว แต่ยังไม่เชิงมีหลักฐานทางวิทยาศาสตร์รับรองว่าส่งผลต่อเนื้อเยื่อยังไง บางทีก็แผ่ความร้อนออกมา ช่วยเรื่องกล้ามเนื้อฉีกเรื้อรัง บางทีก็เป็นการกระตุกเป็นจังหวะเพื่อลดอาการอักเสบ ทำให้หายเร็วขึ้น โดยเฉพาะใครที่บาดเจ็บเฉียบพลัน [10] คลื่นความถี่ของอัลตราซาวด์สามารถปรับได้ เพื่อให้ทะลุทะลวงเข้าไปในร่างกายทั้งแบบตื้นและแบบลึก เหมาะสำหรับใช้รักษาอาการกล้ามเนื้อฉีกที่ไหล่และหลังส่วนล่าง
    • อัลตราซาวด์บำบัดไม่เจ็บตัว แถมใช้เวลาแค่ 3 - 10 นาที แล้วแต่ตำแหน่งที่ทำ และอาการบาดเจ็บ ว่าเฉียบพลันหรือเรื้อรัง ทำซ้ำได้วันละ 1 - 2 ครั้งถ้าบาดเจ็บเฉียบพลัน แต่ห่างกว่านั้นถ้าบาดเจ็บเรื้อรัง
    • บางเคสแค่อัลตราซาวด์บำบัดครั้งเดียวก็อาการดีขึ้นแล้ว แต่ส่วนใหญ่ต้องรักษาซ้ำ 3 - 5 ครั้งถึงจะเห็นผลชัดเจน
  3. อีกวิธีที่รักษาเห็นผลทั้งกล้ามเนื้อฉีกเฉียบพลันและเรื้อรัง ก็คือช็อตไฟฟ้ากระตุ้นกล้ามเนื้อ [11] โดยติดแผ่น electrodes ทั่วเนื้อเยื่อกล้ามเนื้อที่บาดเจ็บ เพื่อส่งกระแสไฟฟ้าให้เกิดการกระตุกเกร็ง ถ้าเป็นกล้ามเนื้อฉีกเฉียบพลัน คุณหมออาจปรับเครื่องให้ขับการอักเสบ ลดปวด และทำให้เส้นใยประสาทชา แต่ถ้าเป็นอาการเรื้อรัง จะช็อตไฟฟ้ากระตุ้นเสริมสร้างความแข็งแรงของกล้ามเนื้อ และ "re-educate" คือฝึกการทำงานของเส้นใยซะใหม่ (เพื่อให้หดตัวพร้อมกันได้ดีกว่าเดิม)
    • ส่วนใหญ่การช็อตไฟฟ้ากระตุ้นกล้ามเนื้อมักทำโดยนักกายภาพบำบัด นักจัดกระดูก และคุณหมอเวชศาสตร์การกีฬา
    • เครื่องช็อตไฟฟ้ากระตุ้นกล้ามเนื้อนั้นหาซื้อได้ตามร้านขายอุปกรณ์การแพทย์และอุปกรณ์เพื่อการฟื้นฟูร่างกาย ในเน็ตก็มี ที่แน่ๆ คือราคาจับต้องได้กว่าเครื่องอัลตราซาวด์แน่นอน แต่จะสะดวกและปลอดภัยกว่าถ้าอยู่ในความดูแลของแพทย์ผู้เชี่ยวชาญ
  4. ในบรรดาการรักษาด้วยคลื่นความถี่แล้ว ยังมีการฉายแสงอินฟราเรดด้วย คลื่นแสงพลังงานต่ำ (อินฟราเรด) นั้นจะช่วยเร่งให้แผลหายเร็วขึ้น ลดปวด ลดอักเสบ โดยเฉพาะอาการบาดเจ็บเรื้อรัง [12] การบำบัดด้วยแสงอินฟราเรด (เป็นเครื่องเล็กๆ พอดีมือ หรือเข้าห้องซาวน่าอาบแสงอินฟราเรด) จะทะลุทะลวงถึงภายในร่างกาย กระตุ้นให้เลือดไหลเวียนดี เพราะเกิดความร้อนจนไปขยายหลอดเลือด ระยะเวลาการฉายแสงจะอยู่ที่ 10 - 45 นาที แล้วแต่อาการบาดเจ็บว่ารุนแรงแค่ไหน เฉียบพลันหรือเรื้อรัง
    • ในบางเคส แค่ฉายแสงอินฟราเรดครั้งแรกผ่านไปไม่กี่ชั่วโมง ก็บรรเทาอาการปวดได้อย่างเห็นผล แต่ผลที่ได้ก็จะต่างกันไปในแต่ละคน
    • ฉายแสงอินฟราเรดแล้วช่วยบรรเทาปวดได้ในระยะยาว เป็นอาทิตย์ หรือบางทีก็หลายเดือน
    • ปกติการบำบัดด้วยแสงอินฟราเรดจะทำโดยนักจัดกระดูก คุณหมอเฉพาะทางด้านกระดูก นักกายภาพบำบัด และหมอนวดที่มีใบอนุญาต
    โฆษณา

เคล็ดลับ

  • วิธีป้องกันกล้ามเนื้อฉีก คือต้องวอร์มร่างกายก่อนเล่นกีฬา ออกกำลังกาย หรือออกแรงหนักๆ เสมอ
  • ถ้าไม่เสริมสร้างความแข็งแรง ปล่อยให้กล้ามเนื้ออ่อนแอ ก็จะฉีกขาดบาดเจ็บง่ายกว่าปกติ
  • กล้ามเนื้อล้าหลังออกกำลังกายหนักๆ มักเกิดอาการบาดเจ็บได้ง่าย
โฆษณา

เกี่ยวกับวิกิฮาวนี้

มีการเข้าถึงหน้านี้ 3,962 ครั้ง

บทความนี้เป็นประโยชน์กับคุณไหม

โฆษณา