ดาวน์โหลดบทความ ดาวน์โหลดบทความ

เนื้อใบบัว (Flank steak) คือเนื้อที่ได้จากส่วนสีข้าง (ท้องส่วนล่าง) ของวัว สำหรับผู้ที่ทำอาหารโดยมีงบประมาณจำกัด เนื้อใบบัวถือเป็นตัวเลือกที่มีรสชาติอร่อยทั้งยังมีราคาที่ไม่แพงมากนักเมื่อเทียบกับเนื้อวัวส่วนอื่นๆ ที่มีราคาสูงอย่างเนื้อไพรม์ริบหรือเนื้อวัวส่วนอื่นๆ (เช่น ทีโบนหรือริบอาย) อย่างไรก็ตาม เนื่องจากเนื้อใบบัวอาจเหนียวและเคี้ยวยากบ้างในบางครั้ง การปรุงเนื้อส่วนนี้จึงควรทำอย่างระมัดระวังเพื่อรักษาความนุ่มและรสชาติของเนื้อเอาไว้ เพียงปรุงรสด้วยวิธีการหมักในน้ำซอสหรือการหมักด้วยเครื่องเทศ (Dry rub) นำไปย่างให้สุก และหั่นตามลายขวางของเนื้อเยื่อ เนื้อใบบัวของคุณก็จะมีรสชาติที่ยอดเยี่ยมเหมาะสำหรับทานในทุกเทศกาล ถ้าพร้อมแล้วมาเริ่มขั้นตอนแรกกันเลย!

ส่วนประกอบ

สำหรับเนื้อใบบัว

  • เนื้อใบบัวคุณภาพดี - ประมาณ 150 กรัมสำหรับ 1 ที่
  • เกลือ
  • พริกไทย
  • เครื่องวัดอุณหภูมิอาหาร (ไม่จำเป็น)

หมักในน้ำซอส [1]

  • เลมอน 1 ลูก
  • น้ำมันมะกอก 3 ช้อนโต๊ะ
  • น้ำส้มสายชูหมักจากไวน์ ¼ ถ้วย
  • วูสเตอร์ซอส 2 ช้อนโต๊ะ
  • น้ำผึ้ง ¼ ถ้วย
  • พริกไทยดำ ½ ช้อนชา

หมักด้วยเครื่องเทศ [2]

  • ยี่หร่าป่น 1 ช้อนชา
  • เกลือ 1 ช้อนโต๊ะ
  • ลูกผักชีป่น 2 ช้อนชา
  • ปาปริก้าป่น 1 ช้อนชา
  • พริกไทยดำ 1 ช้อนชา
  • กระเทียมป่น 1 ช้อนชา
  • พริกคาเยนป่น ½ ช้อนชา
วิธีการ 1
วิธีการ 1 ของ 3:

เตรียมเนื้อสำหรับย่าง

ดาวน์โหลดบทความ
  1. ไม่ว่าคุณจะเลือกปรุงรสเนื้อใบบัว (หรือไม่ปรุงรสเลย) ด้วยวิธีใด สิ่งแรกที่ควรทำคือการใช้มีดบั้งเนื้อทั่วทั้งชิ้น โดยเฉพาะอย่างยิ่งหากชิ้นเนื้อที่เลือกใช้ค่อนข้างหนา เนื่องจากการบั้งเนื้อเป็นรอยตื้นๆ ทั่วทั้งชิ้นจะช่วยให้ทั้งความร้อนและเครื่องปรุงแทรกซึมเข้าสู่เนื้อได้ดียิ่งขึ้น สำหรับขั้นตอนการบั้งชิ้นเนื้อ เริ่มจากนำเนื้อใบบัววางเตรียมไว้บนเขียง จากนั้นใช้ปลายมีดบั้งลงไปให้เป็นรอยตื้นๆ บนชิ้นเนื้อทั้งสองด้านให้เป็นลายตาราง โดยบั้งให้แต่ละรอยลึกประมาณ ¼ นิ้ว
    • พยายามบั้งชิ้นเนื้อตามลายขวางของเนื้อเยื่อ จำไว้ว่ากฎหลักของการปรุงเนื้อใบบัวคือการหั่นตามลายขวางเพื่อลดความเหนียวของเนื้อ
  2. เลือกวิธีการปรุงรสระหว่างการหมักในน้ำซอสและการหมักด้วยเครื่องเทศ. หากนำไปปรุงอย่างถูกวิธี เนื้อใบบัวก็จะมีรสชาติที่แสนอร่อยโดยไม่จำเป็นต้องพึ่งเครื่องปรุงใดๆ อย่างไรก็ตาม การปรุงรสอย่างพอเหมาะจะช่วยเพิ่มรสชาติอาหารให้จัดจ้านขึ้นจนไม่อาจต้านทานได้ โดยทั่วไปแล้วการปรุงรสเนื้อใบบัวจะมีอยู่ 2 วิธีหลักๆ ได้แก่การหมักในน้ำซอสและการหมักด้วยเครื่องเทศ โดยการหมักในน้ำซอสคือการนำเนื้อลงแช่ในวัตถุดิบแบบเหลวเพื่อให้ซึมเข้าสู่เนื้อ ส่วนการหมักด้วยเครื่องเทศคือการนำวัตถุดิบแบบแห้งทาบนเนื้อให้ทั่ว ไม่ว่าจะเลือกปรุงรสด้วยวิธีใดก็สามารถช่วยเพิ่มความอร่อยให้กับเนื้อใบบัวของคุณได้เป็นอย่างดี อย่างไรก็ตาม การปรุงรสทั้งสองวิธีนี้ไม่เหมาะที่จะใช้พร้อมกันมากนัก คุณจึงควรตัดสินใจเลือกวิธีการปรุงรสที่ต้องการก่อนเริ่มประกอบอาหาร
    • ลองดูตัวอย่างของสูตรวัตถุดิบทั้งสำหรับการหมักในน้ำซอสและการหมักด้วยเครื่องเทศได้ในส่วน “ส่วนประกอบ”
    • หากเลือกใช้วิธีการหมักในน้ำซอส คุณควรเริ่มเตรียมเร็วขึ้นเล็กน้อยเพื่อให้วัตถุดิบซึมเข้าสู่เนื้อเต็มที่ก่อนนำไปปรุง ซึ่งตามปกติแล้วควรหมักเนื้อทิ้งไว้นานอย่างน้อย 2-3 ชั่วโมง หรือจะหมักทิ้งไว้ข้ามคืนเพื่อให้รสชาติเข้มข้นยิ่งขึ้น
  3. ไม่ว่าจะเลือกปรุงรสด้วยวิธีการหมักในน้ำซอสหรือการหมักด้วยเครื่องเทศ แต่ขั้นตอนพื้นฐานของการเตรียมวัตถุดิบของทั้งสองวิธีนั้นแทบไม่แตกต่างกัน เพียงนำส่วนผสมทั้งหมดใส่ลงไปในชามและผสมให้เข้ากัน เมื่อส่วนผสมเข้ากันดีเป็นที่เรียบร้อยก็พร้อมสำหรับนำไปหมักเนื้อของคุณแล้ว
    • หากคุณไม่ถูกใจตัวอย่างของสูตรการหมักทั้งสองวิธีที่ระบุไว้ด้านบน คุณสามารถลองคิดค้นสูตรเองก็ได้เช่นกัน สำหรับการหมักในน้ำซอส เริ่มจากการเตรียมน้ำมัน (เช่น น้ำมันมะกอกหรือน้ำมันพืช) เป็นส่วนประกอบหลักแล้วจึงเติมเครื่องปรุงที่ต้องการลงไป โดยเครื่องปรุงบางส่วนที่เลือกใช้ควรเป็นวัตถุดิบชนิดเหลวที่มีรสเปรี้ยว (เช่น น้ำผลไม้รสเปรี้ยวหรือน้ำส้มสายชู) สำหรับตัดความมันของน้ำมัน และสำหรับการหมักด้วยเครื่องเทศ เพียงนำวัตถุดิบชนิดแห้งหรือแบบผงต่างๆ ที่คุณต้องการผสมเข้าด้วยกัน พยายามผสมเครื่องปรุงสำหรับหมักให้ครบรสทั้งรสหวาน เค็ม เปรี้ยว และเผ็ด
  4. หากคุณต้องการเพิ่มรสชาติให้กับเนื้อใบบัวด้วยวิธีการหมักในน้ำซอส เริ่มจากการเทน้ำซอสสำหรับหมักลงไปในถุงซิปล็อกขนาดใหญ่แล้วใส่เนื้อใบบัวตามลงไป พยายามไล่ลมออกจากถุงให้มากที่สุดและปิดปากถุงให้เรียบร้อยแล้วจึงค่อยๆ บีบถุงเพื่อให้น้ำซอสเคลือบเนื้อทั่วทั้งชิ้น จากนั้นนำเนื้อที่กำลังหมักอยู่ไปแช่ในตู้เย็นอย่างน้อย 2-3 ชั่วโมง หรือจะหมักทิ้งไว้ข้ามคืนก็ได้เช่นกันหากต้องการ จำไว้ว่ายิ่งคุณหมักเนื้อในน้ำซอสนานเท่าไหร่ รสชาติของเนื้อใบบัวก็จะเข้มข้นมากยิ่งขึ้น
    • หากไม่มีถุงซิปล็อก คุณสามารถหมักเนื้อในชามและคลุมด้วยพลาสติกแรป ในกล่องถนอมอาหาร หรือในกล่องพลาสติกที่มีฝาปิดก็ได้เช่นกัน
  5. หากคุณต้องการให้ผิวนอกของเนื้อเคลือบด้วยเครื่องเทศจนหอมกรอบ ลืมวิธีการหมักในน้ำซอสไปและเลือกใช้วิธีการหมักด้วยเครื่องเทศแทน เติมเครื่องเทศทั้งหมดลงไปในชามและใส่เนื้อตามลงไป จากนั้นนำเนื้อคลุกเคล้ากับเครื่องเทศจนทั่ว พยายามเตรียมเครื่องเทศสำหรับหมักให้มากพอเพื่อให้แน่ใจว่าพื้นผิวทุกส่วนของเนื้อเคลือบด้วยเครื่องเทศอย่างเต็มที่
    • เมื่อคลุกเคล้าจนเข้ากันดีแล้ว ให้ทิ้งไว้สักครู่จนกระทั่งเนื้อมีอุณหภูมิเท่าอุณหภูมิห้อง หรือหากคุณไม่ต้องการนำเนื้อไปย่างไฟโดยทันที ให้นำไปแช่ในตู้เย็นก่อน
    โฆษณา
วิธีการ 2
วิธีการ 2 ของ 3:

ย่างไฟให้สุก

ดาวน์โหลดบทความ
  1. ไม่ว่าจะใช้แก๊สหรือถ่านในการย่างเนื้อใบบัว สิ่งสำคัญคือไฟควรร้อนพอเมื่อถึงเวลาที่คุณเริ่มย่างเนื้อ ทำตามคำแนะนำด้านล่างนี้เพื่อให้แน่ใจว่าไฟมีอุณหภูมิที่เหมาะสมสำหรับการย่างเนื้อให้ออกมาอย่างสมบูรณ์แบบ
    • สำหรับเตาแก๊ส: เปิดเตาด้านหนึ่งและปรับให้เป็นไฟแรง จากนั้นทิ้งไว้สักครู่ (โดยปิดฝาเตาไว้) แล้วจึงเริ่มย่างเนื้อ และหากเป็นไปได้ ให้ปิดเตาอีกด้านหนึ่งเพื่อให้มีพื้นที่สำหรับย้ายเนื้อไปวางไว้ให้ค่อยๆ สุกหลังนำไปย่างได้สักพัก
    • สำหรับเตาถ่าน: เติมถ่านลงไปในเตาย่างจนเต็มเตา และหากเป็นไปได้ พยายามเติมถ่านไว้เพียงด้านหนึ่งและเว้นอีกด้านหนึ่งไว้ให้ว่างเพื่อเตรียมพื้นที่สำหรับย้ายเนื้อไปวางไว้ให้ค่อยๆ สุกหลังนำไปย่างได้สักพัก จุดไฟและปล่อยให้ถ่านติดไฟจนกระทั่งเริ่มมอดลงและถ่านเปลี่ยนเป็นสีเทา เมื่อได้ที่แล้วตะแกรงสำหรับย่างจะค่อนข้างร้อนจนคุณไม่สามารถนำมือไปจ่อไว้ใกล้ๆ ได้
  2. เมื่อนำชิ้นเนื้อลงย่างบนเตา ผิวนอกของชิ้นเนื้อที่กรอบอร่อยที่ได้จากการย่างจนหอมเกรียมจะไม่สามารถเกิดขึ้นได้จนกว่าความชื้นที่ผิวนอกจะระเหยหายไป และเนื่องจากการไล่ความชื้นให้หายไปจนหมดต้องใช้พลังงานและเวลาค่อนข้างมาก [3] การย่างเนื้อที่ชื้นแฉะจึงไม่เพียงลดประสิทธิภาพทางความร้อนของเตาย่างเท่านั้น ทั้งยังทำให้เนื้อของคุณไม่กรอบเกรียมอย่างที่ต้องการอีกด้วย ในการกำจัดความชื้นบนผิวนอกของเนื้อ ให้คุณใช้กระดาษซับลงไปบนเนื้อจนเหลือความชุ่มชื้นเพียงเล็กน้อยแต่ไม่มีน้ำหยดออกมา
    • หากคุณหมักเนื้อด้วยเครื่องเทศ คุณอาจสามารถข้ามขั้นตอนนี้ไปได้ เนื่องจากเครื่องเทศต่างๆ ที่ใช้นั้นได้ดูดซึมความชื้นโดยส่วนใหญ่ออกไปหมดแล้ว อีกทั้งการซับด้วยกระดาษอาจทำให้เครื่องเทศที่เคลือบบนเนื้อหลุดออกไปอีกด้วย
  3. เมื่อไฟร้อนได้ที่แล้ว ค่อยๆ ใช้แปรงทาน้ำมันมะกอกหรือน้ำมันพืชลงไปบนตะแกรงย่าง จากนั้นนำเนื้อลงไปย่างบนเตาตรงบริเวณที่คุณเพิ่งทาน้ำมันลงไป โดยคุณจะได้ยินเสียงดังฉู่ฉ่าในทันทีที่เนื้อสัมผัสถูกตะแกรงย่าง ย่างเนื้อทิ้งไว้สักครู่
    • หากคุณไม่มีแปรงสำหรับทาน้ำมัน คุณสามารถใช้กระดาษอเนกประสงค์ม้วนให้แน่น จุ่มลงไปในน้ำมันแล้วนำไปทาบนตะแกรงย่างจนทั่ว ควรระมัดระวังเมื่อใช้วิธีนี้ เนื่องจากคุณจะต้องนำมือเข้าไปใกล้ตะแกรงย่างที่ร้อน
  4. ย่างเนื้อด้วยไฟแรงสักพักให้พอสุกเกรียมเล็กน้อย. เมื่อคุณนำเนื้อลงย่างบนเตาแล้ว ให้ย่างทิ้งไว้นาน 3-4 นาทีแล้วใช้ที่คีบพลิกกลับด้าน หากเตาย่างที่ใช้มีความร้อนพอ เนื้อใบบัวของคุณก็จะเริ่มเปลี่ยนเป็นสีน้ำตาลและมีบางส่วนที่เกรียมกรอบ แต่หากเนื้อยังคงย่างไม่นานพอ ให้พลิกกลับด้านเดิมโดยทันทีและย่างต่ออีกสักพัก หรือจะย่างอีกด้าน 3-4 นาทีให้เสร็จก่อนแล้วจึงพลิกกลับด้านเดิมก็ได้เช่นกัน การย่างเนื้อใบบัวด้วยไฟแรงในช่วงแรกจะทำให้ผิวนอกของเนื้อมีความเกรียมกรอบ ช่วยเพิ่มความอร่อยและความน่ากินให้กับเนื้อใบบัวของคุณ
    • แม้ว่าจะตรงข้ามกับความเชื่อของผู้คนโดยส่วนใหญ่ แต่แท้จริงแล้วการนำเนื้อไปย่างสักพักด้วยไฟแรงไม่ได้เป็นการเก็บกักความชุ่มฉ่ำไว้ข้างใน [4] หลังจากที่ย่างเนื้อสักพักแล้ว น้ำที่อยู่ข้างในของเนื้อยังคงซึมออกมาได้เช่นเดียวกับก่อนหน้าที่จะนำลงย่าง เหตุผลหลักๆ ของการย่างเนื้อด้วยไฟแรงสักพักคือเพื่อรสชาติและเนื้อสัมผัสเท่านั้น ซึ่งผู้คนส่วนใหญ่นิยมย่างเนื้อให้ผิวนอกกรอบเกรียมและหวานฉ่ำ
  5. หลังจากที่ย่างเนื้อแต่ละด้านจนผิวนอกเริ่มสุกและมีบางส่วนที่เกรียมเล็กน้อย ให้ใช้ที่คีบคีบเนื้อย้ายไปย่างตรงบริเวณที่ไม่ร้อนมากนัก สำหรับเตาแก๊ส ให้ย้ายไปย่างบนเตาด้านที่ปิดอยู่ และสำหรับเตาถ่าน ให้ย้ายไปย่างตรงด้านที่ไม่ได้เติมถ่านไว้ แม้ว่าการย่างด้วยไฟแรงจะทำให้ผิวนอกของเนื้อสุกกำลังดี แต่หากคุณยังคงใช้ไฟแรงในการย่างเนื้อต่อไปให้สุกอย่างทั่วถึง เนื้อก็อาจจะไหม้เกรียมจนเกินไปได้ ด้วยเหตุนี้การใช้ไฟที่เบาและคงที่จึงเป็นวิธีที่เหมาะสมที่สุดในการย่างเนื้อ เพราะวิธีนี้จะทำให้เนื้อด้านในสุกขึ้นพร้อมๆ กับเนื้อด้านนอกโดยไม่ทำให้ผิวนอกไหม้เกรียมจนไป ย่างเนื้อด้วยไฟเบาด้านละประมาณ 3 นาที
    • ปิดฝาเตาทุกครั้งเมื่อย่างเนื้อด้วยไฟเบาเพื่อเก็บกักความร้อนไม่ให้หายไป
  6. คีบเนื้อขึ้นมาจากเตาเมื่ออุณหภูมิความร้อนอยู่ที่ประมาณ 55 องศา. หลังจากย่างเนื้อจนพอสุกเกรียมทั้งสองด้านและนำไปย่างต่อด้วยไฟอ่อนอีกสักพัก เนื้อใบบัวของคุณก็จะสุกได้ที่พร้อมรับประทานแล้ว คุณสามารถใช้เครื่องวัดอุณหภูมิอาหารเพื่อตรวจเช็คดูว่าเนื้อสุกได้ที่แล้วหรือไม่ โดยนำปลายของเครื่องวัดอุณหภูมิอาหารเสียบเข้าไปตรงส่วนที่หนาที่สุดของเนื้อโดยให้แน่ใจว่าปลายของเครื่องไม่ได้กำลังสัมผัสถูกตรงผิวนอกที่ผ่านการย่างไฟ จากนั้นรอสักพักให้เครื่องได้วัดอุณหภูมิ ซึ่งโดยทั่วไปแล้วหากอุณหภูมิอยู่ที่ประมาณ 55 องศาแสดงว่าเนื้อมีความสุกที่ระดับมีเดียมแรร์ที่เป็นระดับที่เหมาะสมที่สุดสำหรับการทานเนื้อวัว อุณหภูมิแต่ละระดับแสดงถึงระดับความสุกของเนื้อที่แตกต่างกัน โดยพยายามหลีกเลี่ยงเนื้อที่มีอุณหภูมิต่ำกว่า 50 องศา เนื่องจากการทานเนื้อที่ดิบนั้นอาจเป็นอันตรายต่อร่างกายได้ ดูระดับอุณหภูมิที่บ่งบอกถึงความสุกของเนื้อแต่ละระดับต่อไปนี้ [5]
    • 50 องศา: แรร์
    • 55 องศา: มีเดียมแรร์
    • 60 องศา: มีเดียม
    • 65 องศา: มีเดียมเวล
    • 70 องศา: เวลดัน
  7. หรือจะตรวจวัดความสุกของเนื้อโดยการผ่าดูเนื้อด้านในก็ได้เช่นกัน. หากไม่มีเครื่องวัดอุณหภูมิอาหารได้ คุณยังคงสามารถตรวจวัดความสุกของเนื้อได้ด้วยวิธีการดั้งเดิมอย่างการผ่าดูเนื้อด้านใน โดยหากเนื้อเป็นสีชมพูมากแสดงว่าเนื้อส่วนนั้นยังคงดิบอยู่ ลองผ่าตรงส่วนที่หนาเพื่อตรวจดูว่าเนื้อด้านในสุกดีแล้วหรือไม่ หากเนื้อด้านในเหนียวกว่าด้านนอก มีสีชมพูสด และ/หรือมีน้ำขุ่นๆ ไหลซึมออกมา แสดงว่าเนื้อยังคงไม่สุกดีเท่าไรนัก ในทางกลับกัน หากตามขอบของผิวนอกของเนื้อสุกเกรียมเป็นสีน้ำตาลในขณะที่ด้านในของเนื้อยังเป็นสีชมพูอ่อนและน้ำที่ไหลซึมออกมาไม่ขุ่น แสดงว่าเนื้อพร้อมรับประทานแล้ว
    • หากต้องการทานเนื้อใบบัวที่สุกในระดับเวลดัน ให้ย่างเนื้อจนกระทั่งเนื้อสุกเกรียมจนเปลี่ยนเป็นสีน้ำตาลอมเทาและแทบไม่เหลือเนื้อส่วนที่เป็นสีชมพูอยู่เลย อย่างไรก็ตาม จำไว้ว่าเนื้อใบบัวเป็นเนื้อส่วนที่ค่อนข้างเหนียวและการย่างเนื้อใบบัวจนสุกทั่วทั้งชิ้นอาจทำให้เนื้อเหนียวมากยิ่งขึ้น เนื้อส่วนนี้จึงไม่นิยมนำไปย่างจนสุกเท่าไรนัก
    โฆษณา
วิธีการ 3
วิธีการ 3 ของ 3:

จัดเสิร์ฟ

ดาวน์โหลดบทความ
  1. เมื่อคีบเนื้อขึ้นมาจากเตาแล้ว พยายามหลีกเลี่ยงไม่ให้เนื้อสัมผัสถูกอุปกรณ์หรือภาชนะที่คุณใช้กับเนื้อก่อนที่จะนำไปย่าง เตรียมอุปกรณ์ชุดใหม่สำหรับจัดเสิร์ฟหรือล้างนำอุปกรณ์ชุดเดิมให้สะอาดด้วยน้ำยาล้างจานและน้ำเปล่าก่อนนำกลับมาใช้อีกครั้ง การทำเช่นนี้จะช่วยป้องกันการปนเปื้อนข้ามซึ่งเกิดจากการที่แบคทีเรียจากเนื้อที่ดิบปนเปื้อนลงไปในเนื้อที่ย่างสุกแล้วผ่านทางภาชนะที่ไม่สะอาด ซึ่งแบคทีเรียเหล่านี้สามารถก่อให้เกิดอาการป่วยอย่างรุนแรงได้เมื่อผ่านเข้าสู่ร่างกาย และแม้ว่าจะแทบไม่เกิดขึ้น แต่ในบางครั้งแบคทีเรียเหล่านี้อาจก่อให้เกิดอันตรายถึงแก่ชีวิต [6] เพื่อหลีกเลี่ยงการเกิดการปนเปื้อนข้ามจากอุปกรณ์หรือภาชนะที่ไม่สะอาด คุณควรแน่ใจว่าเนื้อที่ปรุงสุกแล้วสัมผัสถูกอุปกรณ์ที่ล้างสะอาดแล้วเท่านั้น
  2. พักเนื้อสักครู่โดยห่อด้วยอลูมิเนียมฟอยล์ให้เรียบร้อย. เมือคีบเนื้อจากเตามาวางพักไว้บนถาด เขียง หรือภาชนะอื่นๆ แล้ว ให้พักเนื้อทิ้งไว้ประมาณ 10-15 นาทีก่อนเริ่มนำไปหั่น เพราะเมื่อคุณหั่นเนื้อโดยทันที น้ำที่อยู่ข้างในของเนื้อจะไหลซึมออกมาและทำให้เนื้อสูญเสียรสชาติและความชุ่มฉ่ำได้ ในทางกลับกัน การพักเนื้อไว้สักพักจะทำให้เนื้อดูดซับความชุ่มฉ่ำกลับมาผ่านทางเส้นใยกล้ามเนื้อ จึงช่วยให้เนื้อนุ่มและชุ่มฉ่ำมากยิ่งขึ้น เนื่องจากเนื้อใบบัวเป็นเนื้อส่วนที่ค่อนข้างเหนียว การพักเนื้อไว้สักพักจึงเป็นขัั้นตอนสำคัญอย่างยิ่งที่จะช่วยให้เนื้อใบบัวของคุณมีสัมผัสที่นุ่มน่ารับประทาน
    • เพื่อรักษาความร้อนของเนื้อให้คงอยู่ในขณะที่กำลังพักเนื้อ ให้ใช้อลูมิเนียมฟอยล์พันรอบชิ้นเนื้อไว้ อลูมิเนียมฟอยล์จะช่วยกักเก็บความร้อนภายในของเนื้อไว้เพื่อให้เนื้อที่คุณทานคำแรกยังคงอุ่นอยู่แม้จะพักทิ้งไว้สักพักแล้ว
  3. หลังจากพักเนื้อเสร็จเรียบร้อยแล้ว ให้นำเนื้อใบบัวมาวางไว้บนเขียงเพื่อเตรียมหั่น ลองสังเกตดูทิศทางของเนื้อเยื่อกล้ามเนื้อของเนื้อใบบัวซึ่งมีลักษณะเป็นเส้นบางยาวหลายๆ เส้นวิ่งไปในทิศทางเดียวกันบนพื้นผิวของชิ้นเนื้อ ใช้มีดหั่นลงไปเป็นเส้นทแยงมุมตัดกับเนื้อเยื่อกล้ามเนื้อ กล่าวคือ รอยหั่นจะต้องทำมุมตั้งฉากกับเส้นเนื้อเยื่อบนพื้นผิวของชิ้นเนื้อ
    • การหั่นเนื้อในลักษณะนี้จะช่วยให้เนื้อใบบัวมีสัมผัสที่นุ่มมากยิ่งขึ้น เนื่องจากเนื้อเยื่อกล้ามเนื้อที่เหนียวและแข็งแรงเป็นสาเหตุที่ทำให้เนื้อใบบัวค่อนข้างเหนียวและเคี้ยวยาก ดังนั้นคุณจึงควรหั่นเนื้อตามลายขวางของเนื้อเยื่อเพื่อตัดเส้นใยให้ขาดและเพิ่มความนุ่มให้กับเนื้อใบบัวของคุณ
  4. ปรุงรสด้วยเกลือและพริกไทยและจัดเสิร์ฟได้เลย. สำเร็จ! เพียงเท่านี้เนื้อใบบัวของคุณก็พร้อมรับประทานแล้ว คุณสามารถปรุงรสด้วยเกลือและพริกไทยหรือตกแต่งด้วยวัตถุดิบต่างๆ ได้ตามต้องการ หรือจะรับประทานโดยทันทีโดยไม่ต้องปรุงรสหรือตกแต่งเพิ่มก็ได้เช่นเดียวกัน เริ่มทานกันได้เลย!
    • เนื้อใบบัวหนัก 1 ปอนด์ (450 กรัม) สามารถจัดเสิร์ฟได้ประมาณ 3 ที่ แต่หากผู้ทานค่อนข้างหิวเป็นพิเศษ คุณอาจต้องเตรียมเนื้อใบบัวถึง 1.5 ปอนด์สำหรับจัดเสิร์ฟ 3 ที่
    โฆษณา

เคล็ดลับ

  • คุณสามารถดัดแปลงน้ำซอสสำหรับหมักได้ตามต้องการ ซึ่งวัตถุดิบอื่นๆ ที่เหมาะสำหรับนำมาเป็นส่วนผสมของน้ำซอสได้แก่ไวน์ชนิดไม่หวาน น้ำส้มสายชูบัลซามิก ซอสถั่วเหลือง กระเทียม ดิจองมัสตาร์ด และน้ำมะนาวหรือน้ำส้ม ลองเลือกใช้วัตถุดิบต่างๆ เพื่อค้นหารสชาติที่คุณชื่นชอบมากที่สุด
โฆษณา

เกี่ยวกับวิกิฮาวนี้

มีการเข้าถึงหน้านี้ 12,651 ครั้ง

บทความนี้เป็นประโยชน์กับคุณไหม

โฆษณา