ดาวน์โหลดบทความ ดาวน์โหลดบทความ

การย้ายไปอยู่ต่างประเทศเป็นหนึ่งในกระบวนการเปลี่ยนผ่านที่ใหญ่ที่สุดในชีวิตที่คุณจะต้องเจอ แม้ว่ามันจะทั้งท้าทายและน่าเหนื่อยหน่ายในเรื่องของการจัดเตรียมเอกสาร แต่มันก็เป็นประสบการณ์ที่คุ้มค่าและเติมเต็มอย่างมหาศาล ไม่ว่าการย้ายไปอยู่ต่างประเทศในครั้งนี้จะเป็นเพราะเรื่องงานหรือด้วยเหตุผลส่วนตัว การเตรียมตัวให้พร้อมจะทำให้กระบวนการเปลี่ยนผ่านนี้ง่ายขึ้นและสนุกขึ้น บทความนี้จะบอกคุณว่ามีอะไรที่คุณต้องคำนึงถึงบ้าง

วิธีการ 1
วิธีการ 1 ของ 3:

โอกาสที่จะได้ย้ายไปอยู่ต่างประเทศ

ดาวน์โหลดบทความ
  1. หนังสือเดินทางต้องมีอายุเหลือมากพอและมีวีซ่าที่อนุญาตให้คุณย้ายไปอยู่ประเทศนั้นได้. ถ้ามีความเป็นไปได้ว่าจะต้องย้ายโดยเฉพาะถ้ามีการบอกล่วงหน้าไม่นานนัก คุณจะต้องเตรียมตัวเผื่อมีเหตุการณ์ไม่คาดฝันเกิดขึ้นด้วย หากคุณเตรียมทุกสิ่งทุกอย่างที่คุณสามารถเตรียมได้ไว้ล่วงหน้าแล้ว เมื่อถึงเวลาจริงๆ คุณจะมีเรื่องให้ต้องเตรียมน้อยลงมาก ปัญหาเรื่องวีซ่าก็อาจทำให้การเดินทางของคุณล่าช้าได้ [1]
    • หนังสือเดินทางของคุณต้องมีเวลาเหลือมากพอ ถ้าคุณต้องไปทำหนังสือเดินทางใหม่ นั่นจะเป็นสิ่งแรกที่คุณต้องทำ เพราะมันอาจใช้เวลาหลายสัปดาห์กว่าจะทำเรื่องและรับหนังสือเดินทางเล่มใหม่ [2]
  2. ก่อนจะทำอย่างอื่น ให้วางแผนสิ่งที่ต้องทำที่คุณสามารถขีดฆ่าได้เมื่อทำเสร็จแล้ว แผนนี้จะต้องละเอียดครบถ้วนและควรมีกำหนดเวลาได้ด้วย [3] สิ่งที่คุณต้องพิจารณาได้แก่
    • พูดคุยเรื่องการบรรจุหีบห่อและการจัดส่งข้าวของ พูดคุยกับบริษัทอย่างน้อย 3 บริษัทและขอใบเสนอราคาในการขนย้าย ดูว่าแต่ละบริษัทมีอะไรเตรียมไว้ให้บ้าง เช่น บรรจุหีบห่อแบบพิเศษ จัดการห้องใต้ดินที่ไว้เก็บไวน์ (นี่อาจเป็นปัญหาได้) จัดการเรื่องสัตว์เลี้ยง รับประกันเรื่องระยะเวลา การเก็บข้าวของไปไว้ที่อีกปลายทาง และอื่นๆ นอกจากนี้ให้ถามความเป็นไปได้ในเรื่องการเก็บของของคุณไว้ในประเทศที่คุณอยู่ในปัจจุบัน เพราะถ้ามันเป็นการย้ายไปอยู่แค่ช่วงสั้นๆ และคุณก็ตั้งใจจะกลับมาอยู่แล้ว การเก็บของไว้ที่นี่บ้างหรือเก็บของไว้ที่นี่เป็นส่วนใหญ่ก็อาจจะเป็นความคิดที่ดีกว่า
    • ตัดสินใจว่าจะทำอย่างไรกับบ้านที่อยู่หากคุณเป็นเจ้าของบ้าน คุณจะขายหรือจะให้เช่า ถ้าจะขาย ให้พูดคุยกับนายหน้าอสังหาริมทรัพย์และบอกเขาว่าแผนการของคุณเป็นอย่างไร ถามตัวเองว่าคุณมีเวลารอให้ได้ราคาที่ดีที่สุดไหม หรือว่าคุณต้องรีบขายเพื่อให้ได้เงินมา ระมัดระวังเวลาสื่อสารเรื่องนี้กับนายหน้า เพราะอย่างไรคุณก็ยังอยากได้ราคาที่ดีที่สุดอยู่ดีแม้ว่าคุณจะรีบร้อนก็ตาม
      • ถ้าคุณจะให้เช่า ให้สัมภาษณ์นายหน้าที่รับผิดชอบในเรื่องของการให้เช่าอสังหาริมทรัพย์และคุณต้องพอใจกับการบริการของเขา 100% ขอใบรับรองและถ้าเป็นไปได้ให้เลือกนายหน้าที่เคยให้เช่าอสังหาริมทรัพย์แก่เจ้าของที่อยู่ต่างประเทศ เพราะเจ้าของบ้านที่อยู่ต่างประเทศจะเข้ามาจัดการธุระต่างๆ ด้วยตัวเองได้ยาก และอาจมีเรื่องไม่ดีเกิดขึ้นมากมายในระหว่างที่คุณไม่อยู่หากนายหน้าไม่สามารถปฏิบัติหน้าที่พื้นฐานในการเข้าไปตรวจสอบอสังหาริมทรัพย์เป็นประจำและคัดเลือกผู้เช่าที่ดีให้คุณได้
    • จัดการเรื่องหนี้บ้าน สัญญาเช่า และเงินกู้ คุณจะต้องคุยกับธนาคารหรือผู้ให้ยืมเงินคนอื่นเรื่องการจัดการภาระทางการเงินให้มีประสิทธิภาพที่สุด
    • พูดคุยกับโรงเรียนของลูกๆ ในเรื่องการของเปลี่ยนแปลงที่กำลังจะมาถึง คุณจะต้องมีหลักฐานระดับการศึกษาในปัจจุบันของลูก และหากจำเป็นก็ต้องมีใบรับรองความเต็มใจที่จะให้โรงเรียนในประเทศที่คุณกำลังจะย้ายไปส่งอีเมลหรือโทรศัพท์หาคุณได้ ปรึกษาครูแนะแนวเกี่ยวกับเรื่องการเปลี่ยนแปลงที่จะเกิดขึ้นกับลูกในเรื่องที่คุณคิดว่ามีประโยชน์
    • การฉีดวัคซีนและการขอวีซ่า คุณจะต้องแน่ใจว่าคุณได้รับวัคซีนที่จำเป็นต่างๆ มาแล้วในช่วงเวลาที่ไม่นานเกินไปนักและได้รับเอกสารวีซ่าทั้งหมดแล้ว คัดแยกเอกสารเสริมที่จำเป็นต่อการย้ายถาวรหรือระยะยาว
      • ถ้าคุณมีแผนที่จะสละสัญชาติเดิมของประเทศปัจจุบันและจะขอสิทธิพลเมืองในประเทศใหม่ เรื่องนี้อาจใช้เวลานาน เพราะฉะนั้นเริ่มวางแผนเรื่องนี้ตั้งแต่คุณเริ่มวางแผนใหม่ๆ
    • วางแผนเวลาในการเก็บสัมภาระและตั้งใจทำตามกำหนดเวลาที่วางไว้ให้ได้ เพราะมันจะทำให้คุณมีเวลาเผื่อไว้หากมีอะไรผิดพลาด ซึ่งมันจะมีแน่ๆ!
    เคล็ดลับจากผู้เชี่ยวชาญ

    Archana Ramamoorthy, MS

    ผู้อำนวยการด้านการบริหารสินค้า
    อัชณา รามามุทธีเป็นผู้อำนวยการด้านการบริหารสินค้าเทคโนโลยีที่ Workday เธอเป็นนักทดสอบสินค้า กำหนดความปลอดภัย และพยายามจะสร้างความหลากหลายในอุตสาหกรรมเทคโนโลยีมากขึ้น อัชณาสำเร็จปริญญาตรีจากมหาวิทยาลัย SRM และปริญญาโทจากมหาวิทยาลัยดุ๊ค และทำงานด้านการบริหารสินค้ามากว่า 8 ปี
    Archana Ramamoorthy, MS
    ผู้อำนวยการด้านการบริหารสินค้า

    เรื่องราวจากผู้เชี่ยวชาญของเรา : "ตอนที่ดิฉันย้ายมาสหรัฐ เรื่องหลักที่ดิฉันมองคือสิ่งที่วีซ่าต้องการและเรื่องค่าครองชีพ ดิฉันเคยคิดจะย้ายไปอังกฤษ แต่ที่นั่นมีค่าครองชีพสูงกว่าสหรัฐ ดิฉันต้องทำความเข้าใจว่าหน้าที่ด้านการเงินของตนเองคืออะไร ดิฉันยังรู้ว่าต้องการจะเข้ามหาวิทยาลัยที่ดีที่สุดในสหรัฐ ไม่เช่นนั้นประเด็นการย้ายไปอยู่ต่างประเทศจะอยู่ตรงไหน ดิฉันจึงยื่นใบสมัครขอทุนเล่าเรียนเพื่อช่วยเรื่งการเงิน ดิฉันรู้ดีว่าถึงมันจะราคาสูงกว่า แต่พอจบไปก็จะมีโอกาสเปิดกว้างมากกว่า"

  3. บางบริษัทและหน่วยงานรัฐที่ส่งเจ้าหน้าที่ไปต่างประเทศนั้นมักจะแจ้งให้คุณรู้ล่วงหน้าก่อนตั้งแต่ 2-3 เดือนไปจนถึง 2-3 วันว่าคุณได้รับเลือกให้ย้ายไปอยู่ต่างประเทศ ในกรณีนี้ให้ขอความช่วยเลือกให้มากที่สุดเท่าที่ทางหน่วยงานจะเต็มใจให้ได้ เพราะคุณต้องการความช่วยเหลือเหล่านั้น
    • ถ้าคุณมีเวลาเตรียมตัวเหลือเฟือ ให้เผื่อเวลาไว้อย่างน้อย 6 เดือน เพราะคุณจะต้องใช้เวลาทั้งหมดที่มีไปกับการอุดรอยรั่วต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นการจัดการเรื่องอสังหาริมทรัพย์ รถ สัตว์เลี้ยง ประกัน การเก็บสัมภาระและการจัดส่ง ธนาคาร การย้ายโรงเรียน และอื่นๆ แต่ในบางกรณีคุณก็อาจจะไม่ได้มีเวลามากขนาดนี้
    • มันก็เป็นไปได้เหมือนกันว่าคุณอาจจะต้องย้ายแบบเร่งด่วน เพราะฉะนั้นหากกรณีนี้เป็นสิ่งที่เกิดขึ้นกับคุณ พยายามอย่าท้อใจ แต่ให้ใช้เวลาสร้างเครือข่ายความช่วยเหลือตั้งแต่บัดนี้ เพราะคุณจะต้องอาศัยคนช่วยเหลือในเรื่องนี้ให้มากที่สุดเท่าที่คุณจะหาได้
  4. คุณจะอยู่ที่โรงแรมหรือเซอร์วิสอพาร์ตเมนต์ก่อนในช่วงที่คุณกำลังหาซื้อหรือเช่าบ้านหรือเปล่า [4]
    • อย่าซื้อบ้านในอินเทอร์เน็ต เพราะคุณอาจจะได้อะไรแย่ๆ มาโดยที่คุณไม่ทันได้สังเกต คุณจะต้องไปที่ตรงนั้นเพื่อดูว่าสภาพละแวกบ้านเป็นอย่างไร ดูว่าพื้นไม้เป็นเชื้อราหรือเปล่า หรือดูว่าราคามันแพงเกินไปไหม!
    • อีกหนึ่งวิธีแก้ปัญหาก็คือให้คุณหรือคนในครอบครัวสักคนไปดูสถานที่จริงก่อนเพื่อหาข้อมูลเกี่ยวกับอสังหาริมทรัพย์ ดูว่ามีบ้านไหนประกาศขายบ้างและที่ไหนที่ได้ราคาดี หรือคุณอาจจะรู้จักใครในประเทศใหม่ที่สามารถเป็นหูเป็นตาให้คุณได้
    • แต่ถึงคุณจะอยากซื้อบ้านหรือคอนโดในประเทศใหม่ คุณก็ควรเริ่มจากการเช่าก่อน เพราะการเช่าจะทำให้คุณย้ายออกได้เร็วหากคุณเลือกสถานที่ผิดหรือคุณแค่ไม่ชอบอยู่ในประเทศใหม่นี้ หลังจากนั้นอย่างน้อย 6 เดือนคุณจะรู้ใจตัวเองมากขึ้นว่าคุณอยากอยู่ต่อหรือเปล่า และยังมีความเข้าใจเกี่ยวกับอสังหาริมทรัพย์หรือพื้นที่ที่คุณอยากอยู่มากขึ้นด้วย ซึ่งหมายความว่าคุณจะกดดันน้อยลงและมีโอกาสที่จะตัดสินใจถูกมากขึ้น
    • ต้องนึกไว้ว่าตอนที่คุณไปอยู่แรกๆ ของที่คุณขนมาจะยังมาไม่ถึง การพักที่โรงแรมหรือเซอร์วิสอพาร์ตเมนต์ไปก่อนจึงเป็นทางเลือกที่ดี
    • จ้างทนายดีๆ มาเดินเรื่องการซื้ออสังหาริมทรัพย์ในอีกประเทศหนึ่ง คุณจะต้องมีใครสักคนที่อยู่ข้างคุณที่เข้าใจเรื่องภาษี ค่าธรรมเรียม สิทธิ์ยึดหน่วง คำเตือน และอื่นๆ ที่เป็นข้อบังคับในประเทศที่คุณกำลังจะย้ายไปอยู่ ทนายปัจจุบันของคุณอาจจะสามารถแนะนำทนายในประเทศใหม่ให้ได้
  5. ปัจจุบันการโอนเงินระหว่างหลายๆ ประเทศเป็นเรื่องง่ายโดยไม่ต้องเสียค่าธรรมเนียมมากมายนัก ปรึกษาธนาคารในปัจจุบันของคุณเพื่อดูว่ามีวิธีไหนที่จะโอนเงินได้บ้าง บางธนาคารอาจจะถึงขั้นอนุญาตให้โอนเงินเข้าบัญชีในต่างประเทศได้ผ่านทางโทรศัพท์ เพราะฉะนั้นคุณต้องศึกษาให้หมดว่ามีตัวเลือกไหนบ้าง [5]
    • ถ้าคุณไม่ได้วางแผนว่าจะไม่กลับมาประเทศเดิมอีกแล้ว คุณควรเปิดบัญชีธนาคารไว้อย่างน้อย 1 บัญชีในประเทศที่คุณกำลังอาศัยอยู่ เพราะยิ่งคุณเปิดบัญชีไว้นานเท่าไหร่ สถานะทางสินเชื่อของคุณก็จะยิ่งดูดีมากขึ้นเท่านั้น แล้วพอคุณย้ายกลับมาคุณก็จะเริ่มจากจุดเดิมได้ง่ายขึ้นกว่าการเริ่มเปิดบัญชีใหม่ โดยคุณสามารถตรวจสอบความเคลื่อนไหวของบัญชีในประเทศที่คุณจากมาได้ง่ายขึ้นผ่านทางธนาคารอินเทอร์เน็ต (Internet Banking) [6]
    • ในบางประเทศการเข้าถึงเงินอาจจะยากกว่าประเทศอื่นๆ เพราะฉะนั้นคุณต้องพูดคุยถึงปัญหาและวิธีการแก้ไขปัญหากับทางธนาคารและผู้ให้คำปรึกษาด้านการเงินที่มีชื่อเสียงและมีความเข้าใจเกี่ยวกับประเทศที่คุณกำลังจะย้ายไปอยู่
  6. ดูว่ามีคนรู้จักที่ย้ายไปอยู่ในประเทศนั้นก่อนหน้าแล้วไหม. พวกเขาจะเป็นแหล่งความช่วยเหลือที่มีค่าหากคุณต้องการข้อมูล ความช่วยเหลือ และเครือข่าย เล่าแผนการของคุณให้เขาฟังและเป็นไปได้ว่าพวกเขาจะทำทุกอย่างที่เขาสามารถทำได้เพื่อให้คุณได้ข้อมูลที่คุณต้องการ
  7. ประเมินทรัพย์สินอย่างซื่อสัตย์และกำจัดออกไป. แม้ว่าความเป็นจริงแล้วเราจะต้องการสิ่งของแค่ไม่กี่อย่างในการมีชีวิตอยู่ แต่ถึงกระนั้นบ้านของเราก็มักเต็มไปด้วยข้าวของมากมายที่เราสะสมไว้มาหลายปี เราไม่ได้ใช้หรือไม่ได้ต้องการของหลายอย่างที่เรามี แทนที่จะขนของทุกอย่างไปกับคุณด้วยหรือเสียเงินเพื่อเก็บของเอาไว้ก่อน ให้ประเมินความจำเป็นในการเก็บรักษาข้าวของส่วนใหญ่ของคุณอย่างซื่อสัตย์ ถ้าเป็นไปได้ให้บริจาคหรือให้ของที่คุณไม่จำเป็นต้องใช้กับคนอื่น เพราะการเดินทางแบบมีสัมภาระน้อยชิ้นและไม่ต้องคอยกังวลเรื่องข้าวของที่เก็บไว้นั้นย่อมดีกว่าจะต้องมาแบกรับภาระเรื่องข้าวของ [7]
  8. ใช้เว็บไซต์ประมูลและเว็บไซต์ประกาศขายสินค้าเพื่อกำจัดข้าวของของคุณ แม้ว่าคุณจะมีเวลาไม่มากนัก แต่นี่ก็เป็นวิธีที่ดีที่จะทำให้คุณได้ขายของแบบยกโหลหรือแม้กระทั่งยกห้องไปเลย ประกาศในเว็บไซต์ไปเลยว่าคุณจะย้ายไปอยู่ต่างประเทศและคุณต้องกำจัดของทั้งหมด คนชอบคว้าของลดราคาแบบจัดหนักอยู่แล้ว! [8]
    • คุณต้องใจเด็ด นึกไว้เสมอว่าของทุกชิ้นคือค่าขนส่งที่เพิ่มขึ้น
    • บางครั้งตู้ขนสินค้าก็อาจจะตกเรือ และความเสียหายก็อาจเกิดขึ้นกับข้าวของได้ในทุกขั้นตอนของการขนย้ายเนื่องจากมีอุปสรรคและอุบัติเหตุเล็กๆ น้อยๆ พึงระลึกถึงเรื่องนี้ไว้เวลาที่คุณขนของสะสมโบราณและข้าวของมีค่าอื่นๆ เพราะการหาสถานที่เก็บสำหรับเก็บมันไว้โดยเฉพาะหรือขายเอาเงินไปเลยอาจจะดีกว่า ให้ทำประกันไว้ให้เพียงพอเผื่อเกิดอุบัติเหตุระหว่างขนส่ง
  9. สำหรับบางคนมันอาจจะหมายถึงการให้เพื่อนหรือคนในครอบครัวไปดูแลต่อ แต่สำหรับบางคนมันอาจหมายถึงการย้ายไปด้วยกัน ถ้าคุณจะย้ายสัตว์เลี้ยงไปกับคุณด้วย คุณต้องคำนึงถึง [9]
    • สัตว์ชนิดนี้ได้รับอนุญาตให้เลี้ยงในประเทศที่คุณจะย้ายไปอยู่ใหม่ไหม
    • สัตว์เลี้ยงของคุณจะต้องถูกกักไว้ไหม นานแค่ไหนและค่าใช้จ่ายเท่าไหร่
    • สัตว์เลี้ยงของคุณจะเดินทางอย่างไร ศึกษาข้อมูลเกี่ยวกับความปลอดภัย ค่าใช้จ่าย และข้อกำหนดอื่นๆ เช่น หนังสือเดินทางสัตว์เลี้ยง
    • สุขภาพของสัตว์เลี้ยงเป็นอย่างไร สัตว์เลี้ยงของคุณต้องฉีดวัคซีนอย่างครอบคลุมและสุขภาพแข็งแรงพร้อมออกเดินทาง นอกจากนี้ก็อาจจะมีข้อกำหนดอื่นๆ ในประเทศปลายทางของคุณด้วย เพราะฉะนั้นเช็กดูให้ดีก่อน
    • นึกถึงความอ่อนแอของสัตว์เลี้ยงเวลาตัดสินใจเรื่องนี้ด้วย เพราะการนำสัตว์เลี้ยงแก่หรือพิการไปกับคุณด้วยอาจสร้างความบอบช้ำทางจิตใจมากมายให้แก่สัตว์เลี้ยง
  10. หาข้อมูลเกี่ยวกับใบอนุญาตขับขี่ในประเทศใหม่. บางประเทศอาจจะอนุญาตให้ใช้ใบอนุญาตขับขี่เดิมของคุณจากประเทศอื่นหรืออนุญาตให้ใช้ใบอนุญาตขับขี่นานาชาติได้ แต่บางประเทศก็กำหนดว่าคุณต้องมีใบอนุญาตขับขี่ท้องถิ่นหลังจากผ่านไปสักระยะตามเวลาที่กำหนด อย่าคิดว่าเดี๋ยวก็รู้เอง เพราะการไม่ได้รับอนุญาตให้ขับรถในประเทศใหม่อาจทำให้ชีวิตยากขึ้น [10]
  11. แจ้งให้ที่ทำงานทราบล่วงหน้าตามระยะเวลาที่เหมาะสม. ถ้าการเดินทางของคุณไม่ได้เกี่ยวข้องกับงานที่คุณทำอยู่ คุณจะต้องปฏิบัติตามระเบียบปฏิบัติเรื่องการลาออก คุณต้องวางแผนบอกพวกเขาก่อนล่วงหน้าตั้งแต่เนิ่นๆ แต่ถ้ามันค่อนข้างชัดเจนว่าแผนการของคุณน่าจะมีผลต่อตำแหน่งหน้าที่การงาน คุณก็ไม่ควรบอกจนกว่าคุณจะวางแผนไปแล้วสักระยะ เพราะเผื่อว่าคุณอาจจะเปลี่ยนใจ หรือที่ทำงานอาจจะคิดเรื่องย้ายตำแหน่งของคุณเร็วกว่าที่คุณคิดว่ามันจะมาถึงก็ได้
  12. 12
    รู้ว่าคุณต้องทำอย่างไรกับเครื่องใช้ไฟฟ้า. ถ้าเป็นการเดินทางไปอเมริกา/ญี่ปุ่นกับส่วนอื่นของโลก คุณจำต้องใช้ปลั๊กไฟแปลงหรือเครื่องแปลงกระแสไฟ การใช้ไฟผิดวัตต์หรือความถี่จะทำให้เครื่องเสียหายได้ แม้กระทั่งการเดินทางระหว่างประเทศที่ใช้กระแสไฟเท่ากันก็ยังอาจจำเป็นต้องใช้ปลั๊กแปลงอยู่ดี [11]
    โฆษณา
วิธีการ 2
วิธีการ 2 ของ 3:

รับมือกับความรู้สึกสับสนต่อวัฒนธรรมที่ไม่คุ้นเคย

ดาวน์โหลดบทความ
  1. การย้ายไปอยู่ในสถานที่ที่ไม่เหมือนบ้านของคุณเลยอาจทำให้คุณรู้สึกสับสนกับวัฒนธรรมที่ไม่คุ้นเคยและทำให้การย้ายไปอยู่ต่างประเทศยากขึ้นกว่าเดิม แต่ความสับสนนี้จะเริ่มหายไปเมื่อคุณเริ่มซึมซับวัฒนธรรมใหม่ไปแล้ว 2-3 เดือน ผู้คนแต่ละประเทศมีวิถีชีวิตที่ไม่เหมือนกัน ซึ่งเป็นเหตุผลว่าทำไมเราถึงเรียกมันว่า "ต่าง" ประเทศ และเราเองที่เป็นคนต่างด้าวในวิถีชีวิตของพวกเขา แต่นี่ก็เป็นโอกาสที่ยิ่งใหญ่ที่สุดและมหัศจรรย์ที่สุดที่คุณจะได้รับและได้พยายามทำความเข้าใจวัฒนธรรมที่แตกต่าง พอคุณลองคิดแบบคนที่มาจากประเทศอื่นได้แล้ว คุณจะไม่สามารถกลับไปไม่เข้าใจมันได้อีก เพราะพอคุณได้ประสบการณ์นี้แล้ว มันยากมากที่คุณจะกลับไปมองบอกโลกแบบ "แบ่งเขาแบ่งเรา" เหมือนเดิม [12]
  2. รู้ว่าการสูญเสียความสบายเล็กๆ น้อยๆ อาจเป็นเรื่องใหญ่กว่าที่คุณคิดไว้. กาแฟโปรดที่คุณชอบที่บ้านเกิดและสถานที่ที่คุณเคยไปอาจเด่นชัดขึ้นมาในหัวเมื่อมันขาดหายไปจากชีวิตของคุณ แม้ว่าคุณจะต้องยอมรับความรู้สึกของการสูญเสียที่เกิดขึ้น แต่ก็ขอให้คุณเปิดใจกับประสบการณ์ใหม่ๆ ที่คุณชื่นชอบแทน สิ่งที่คุณยังไม่ได้ค้นพบอาจนำไปสู่การค้นพบความชอบใหม่ๆ ที่คุณจะได้เริ่มทำความรู้จักและอาจจะชอบมันมากกว่าสิ่งที่คุณเคยชอบในบ้านเกิดของคุณก็ได้
    • มันเป็นเรื่องปกติที่คุณจะเศร้าหรือหดหู่เพราะการสูญเสียเหล่านี้ แต่มันจะเริ่มหายไปหลังจากที่คุณเริ่มคุ้นเคยกับประเทศใหม่แล้ว
    • ถ้าคุณย้ายจากประเทศที่มีข้าวของให้เลือกสรรมากมายไปยังประเทศที่ข้าวของมีให้เลือกแค่ไม่กี่แบบ คุณจะพบว่าชีวิตของคุณท้าทายมากขึ้น เพราะคุณจะไม่มีข้าวนานาชานิดให้เลือกเต็มชั้นวางสินค้าทั้งสองฝั่งอีกแล้ว (ตอนนี้เหลือแค่ชั้นเล็กๆ ชั้นเดียว) หรือรถยนต์แบบต่างๆ ให้เลือกมากมาย (ตอนนี้เลือกได้แค่สีฟ้าหรือสีเทา) ตอนแรกๆ เรื่องนี้จะทำให้คุณหงุดหงิดเป็นอย่างมาก ซึ่งคุณมีแค่ 2 ทางเลือกคือ 1. ยอมรับและตระหนักว่าการมีทางเลือกไม่มากทำให้เราไม่ต้องเสียเวลาคิดเยอะและประหยัดทรัพยากรโลก หรือ 2. กลับไปที่ประเทศบ้านเกิดแล้วซื้อกลับมา (หรือให้ครอบครัวหรือเพื่อนๆ ที่เข้าใจส่งสิ่งของที่หาไม่ได้ในประเทศใหม่มาให้) แม้ว่าสำหรับหลายคนแล้วความรู้สึกของการไม่มีตัวเลือกจะไม่ได้หายไปตามกาลเวลา (คุณจะพบว่าตัวเองคิดถึงตอนที่คุณสามารถซื้อสินค้า ก ได้เป็นจำนวน X แบบอยู่บ่อยๆ) แต่เดี๋ยวคุณก็จะชินกับการมีตัวเลือกน้อยไปเอง!
  3. พร้อมรับกับความตื่นเต้นที่จะหายไปในเวลาไม่กี่เดือน. ช่วง 2-3 เดือนแรกมันจะเหมือนได้ไปทริปแสนตื่นเต้นและคุณก็จะหมดเวลาไปกับการค้นพบสิ่งต่างๆ แล้วก็ตื่นเต้นไปกับมัน แต่สุดท้ายคุณจะเริ่มนึกขึ้นได้ว่าคุณอยู่ที่นี่แล้วมันก็น่าตื่นเต้นไม่ถึงครึ่งหนึ่งของที่คุณคิดไว้เลย บางคนอาจจะรู้สึกถึงเรื่องนี้ได้เร็วกว่าคนอื่นๆ เพราะว่ามันอาจจะมีเรื่องของระบบราชการ ปัญหาการจัดการเรื่องในบ้าน และวิกฤตเล็กๆ ที่เขามาขัดขวางช่วงเวลาลงหลักปักฐาน
    • ก่อนอื่นให้ถามเรื่องช่างที่ดีก่อน เพราะสุดท้ายแล้วมันจะเริ่มมีโน่นนี่นั่นเสีย คุณจะต้องมีคนที่คุณไว้ใจได้ที่จะมาหาคุณแน่ๆ ถ้าเขารับปากว่าจะมาและคิดราคายุติธรรม ถ้าคุณยังไม่ได้ทำความรู้จักกับช่างแบบนี้โดยการถามคนอื่นๆ ก่อน คุณก็มีโอกาสที่จะถูกเอาเปรียบและจ่ายเงินเกินราคา ซึ่งมันอาจกลายเป็นฝันร้ายได้ เพราะฉะนั้นในเมื่อคุณมีอิสรภาพที่จะวางแผนแทนที่จะต้องรอให้เรื่องมันเกิดขึ้นก่อน ก็จงวางแผนไว้ตั้งแต่เนิ่นๆ
    • ใจเย็นๆ เวลาที่ต้องรับมือกับขั้นตอนของทางราชการ ประเทศส่วนใหญ่มีแบบฟอร์ม ต้องต่อคิว และมักจะมีเหตุผลบ้าๆ บ้าๆ ที่ต้องกรอกนั่นกรอกนี่และรอ ซึ่งหน้าที่ของคุณไม่ใช่การถามว่าทำไมต้องทำแบบนี้ แต่คือการเรียนรู้จากคนท้องถิ่นและเว็บไซต์ออนไลน์ว่าจะจัดการกับปัญหาเหล่านี้ให้ดีที่สุดได้อย่างไร เพรามันจะต้องมีวิธีเสมอ เพียงแต่คุณต้องเรียนรู้วิธีที่ถูกต้องเท่านั้นเอง ถ้าคุณไม่ถาม คุณก็จะไม่มีวันรู้เลย
  4. เตรียมพร้อมรับข้อจำกัดของกิจวัตรประจำวันปกติและวิธีการทำสิ่งต่างๆ. ความรู้สึกสับสนต่อวัฒนธรรมที่ไม่คุ้นเคยอีกรูปแบบหนึ่งก็คือการเรียนรู้ว่าคุณทำอะไรไม่ได้ แม้ว่าคุณจะทำสิ่งนั้นได้ในประเทศเดิมของคุณก็ตาม คุณไม่ได้อยู่ในจุดที่จะมาตั้งคำถามได้ และจงยอมรับว่าทุกสิ่งทุกอย่างมันเป็นเช่นนั้นเอง ไม่ว่าสังคมที่คุณจะไปอยู่จะอิสระมากกว่าหรือน้อยกว่าประเทศที่คุณคุ้นเคยก็ตาม แต่คุณต้องทำในสิ่งที่ถูกต้องเพื่อให้เข้ากับประเทศนั้นให้ได้ ถ้าคุณอยากจะสร้างความวุ่นวายหรือทำให้คนอื่นคล้อยตามความเชื่อของคุณ ก็แสดงว่าการย้ายไปอยู่ต่างประเทศไม่ใช่ทางเลือกที่ถูกต้องแล้ว เพราะฉะนั้นอยู่บ้านเถอะ!
  5. การย้ายไปอยู่ต่างประเทศคือจุดที่สูงที่สุดของระดับความเครียด บางวันมันก็สนุกดี แต่บางวันก็เป็นประสบการณ์ที่แย่ที่สุดที่เคยเจอ ส่วนวันอื่นๆ มันก็อาจจะเหมือนอยู่บ้านเพราะว่ามันกลายเป็นบ้านของคุณไปแล้ว
  6. อีกเรื่องหนึ่งที่เกี่ยวข้องกับความรู้สึกสับสนต่อวัฒนธรรมที่ไม่คุ้นเคยก็คือการย้ายไปอยู่ประเทศใหม่ที่ไม่ปลอดภัยเท่าประเทศเดิมของคุณ ถามคนท้องถิ่นว่าควรเลี่ยงตรงไหนและในพื้นที่นั้นมีปัญหาอะไร
    • ใส่เสื้อผ้าให้ถูกกาละเทศะเมื่อย้ายไปอยู่ประเทศใหม่และพยายามทำตัวกลมกลืน บางครั้งความไม่ปลอดภัยก็อาจเกิดขึ้นเพราะคนร้ายคิดว่าเป็นนักท่องเที่ยงหรือสวมเสื้อผ้าไม่ถูกกาละเทศะ
    • โทรศัพท์ไปยังสถานีตำรวจท้องถิ่นเพื่อถามเรื่องความปลอดภัย และคุณอาจจะถามถึงระดับการก่ออาชญากรรมในละแวกที่คุณกำลังหาซื้อหรือเช่าบ้านด้วยก็ได้
    โฆษณา
วิธีการ 3
วิธีการ 3 ของ 3:

ถ้าคุณกำลังคิดอยู่ว่าจะย้าย

ดาวน์โหลดบทความ
  1. ถ้าคุณไม่ได้มีความจำเป็นต้องไป เช่น การย้ายที่ตั้งธุรกิจใหม่ คุณก็ต้องตัดสินใจด้วยตัวเองว่าคุณคิดว่าประเทศไหนที่เหมาะกับชีวิตของคุณมากที่สุด จะเป็นเมืองกุหลาบแสนสวยอย่างเมืองตูลูสทางตะวันตกเฉียงใต้ของฝรั่งเศส กรุงเบอร์ลินที่ประเทศเยอรมนี หรือจะไปประเทศนอร์ดิกที่สวยงามอย่างไอซ์แลนด์ ไปเม็กซิโก ไปเวเนซูเอลา ไปสเปน ไปรัสเซีย ไปจีน หรืออาจจะไปอยู่เกาะอย่างฮาวายหรือเกาะตาฮีตีดีล่ะ [14]
    • จินตนาภาพภาพตัวเองไปอยู่ในประเทศใหม่ ดูคลิปออนไลน์เพื่อให้พอเข้าใจว่าความเป็นอยู่ที่นั่นมันเป็นอย่างไรในทุกช่วงฤดูกาลของทั้งปี พิจารณาเรื่องอากาศ ระดับประชากร ความสะดวกในการเข้าถึงอาหาร ระบบขนส่ง และการแพทย์ เขียนรายการว่าไปอยู่ที่โน่นคุณจะทำอะไรได้บ้างทั้งในเรื่องของงานและกิจกรรมอื่นๆ
    • หาข้อมูลออนไลน์เพื่ออ่านเรื่องราวเกี่ยวกับคนที่ย้ายไปอยู่ที่โน่นแล้ว คนที่ไปทำงานที่นั่นอาจเป็นแหล่งข้อมูลที่ดีที่สุดก็ได้ การอ่านประสบการณ์ของพวกเขาจะช่วยให้คุณมองได้รอบด้านมากขึ้นว่าประเทศนี้เป็นตัวเลือกที่สมเหตุสมผลหรือไม่ หรือว่ามีบางสิ่งที่คนส่วนใหญ่ประสบปัญหาเหมือนกันหรือเปล่า เชื่อในสิ่งที่พวกเขาบอกเพราะว่าพวกเขาเจอมากับตัว แต่ก็ให้นึกไว้ด้วยว่าประสบการณ์ของแต่ละคนต่างกันโดยสิ้นเชิงขึ้นอยู่กับเหตุผลในการย้าย ระดับรายได้ ประสบการณ์ทำงาน พื้นที่ในประเทศที่พวกเขาอาศัยอยู่ เป็นต้น ถามคำถามเหล่านี้ในกระทู้หากเว็บไซต์อนุญาต
    • คุณสามารถทำงานในประเทศใหม่ได้ไหม ประเทศนั้นมีความต้องการแรงงานในอาชีพที่คุณทำอยู่หรือเปล่า มีอุปสรรคอะไรที่คุณต้องก้าวข้ามเพื่อให้ได้งานบ้าง เป็นไปได้ไหมที่คุณจะได้งานก่อนที่คุณจะย้ายเพื่อให้แน่ใจได้ว่าคุณจะมีรายได้แน่นอน เพราะมีไม่กี่คนที่มีเงินใช้จ่ายในประเทศใหม่โดยไม่ต้องทำงาน ยกเว้นว่าจะรวยมากจนสามารถใช้ชีวิตอยู่ในประเทศใหม่ได้ตามระยะเวลาที่วางแผนไว้แม้จะไม่ทำงานก็ตาม นอกจากนี้ให้หาข้อมูลเกี่ยวกับประกันสังคมและการสอบที่คุณจะต้องสอบให้ผ่านเพื่อให้มีคุณสมบัติเข้าทำงาน ซึ่งคุณต้องนึกไว้ด้วยว่าคุณอาจจะใช้เวลาหลายเดือนหรือหลายปีกว่าจะมีคุณสมบัติครบ หรืออาจจะไม่ได้เลยก็ได้
  2. ไปเที่ยวประเทศนั้นเพื่อให้คุณได้สัมผัสมันก่อนที่คุณจะเรียกมันว่าบ้าน. หนังสือท่องเที่ยวเป็นแหล่งข้อมูลที่ดีก็จริง แต่ก็อย่าเชื่อสนิทใจ ลองเลี่ยงแหล่งท่องเที่ยวแล้วไปใน "เส้นทางที่ไม่ค่อยมีใครไป" ที่คุณจะได้คุยกับคนท้องถิ่นอย่างเป็นส่วนตัว แต่ก็ขอเตือนไว้ด้วยว่า ถ้าคุณอยากย้ายไปอยู่ต่างประเทศเพราะว่าคุณเคยไปเที่ยวประเทศนั้นมาก่อน ให้รู้ไว้ด้วยว่าการไปเที่ยวที่ไหนสักที่กับการย้ายไปอยู่ที่นั่นมันเป็นประสบการณ์คนละแบบกันเลย เวลาไปเที่ยวคุณไม่ต้องเจอเรื่องน่าเบื่อๆ ในชีวิตประจำวัน ไม่ต้องติดต่อกับระบบราชการและกิจวัตรประจำวันที่คนท้องถิ่นต้องทำและโดยทั่วไปคือคุณไม่มีอะไรในโลกนี้ให้ต้องห่วงเลย แต่พอคุณไปอยู่ที่นั่นความจริงของชีวิตในประเทศนั้นอาจจะต่างไปจากประสบการณ์ของนักท่องเที่ยวที่ได้รับการเอาอกเอาใจอย่างสิ้นเชิง เพราะฉะนั้นอย่าตัดสินใจบนพื้นฐานที่ว่าคุณเคยไปที่นั่นมาแล้วเพียงอย่างเดียว!
  3. เรียนรู้ทุกสิ่งเกี่ยวกับประเทศนั้นให้ได้มากที่สุด. ซึ่งรวมถึงขนบธรรมเนียมท้องถิ่น (สำคัญมาก) ภาษา (สำคัญยิ่งกว่า) และพื้นที่ที่รวมกันเป็นจังหวัดและภูมิภาค นอกจากนี้คุณยังต้องคิดดูให้ดีด้วยว่าคุณสามารถอยู่ภายใต้กฎหมาย ขนบธรรมเนียม และกิจวัตรที่ต่างออกไปได้หรือเปล่าเพราะว่ามันมีผลต่อการใช้ชีวิตประจำวันของคุณ [15] เช่น กฎระเบียบว่าคุณทำอะไรได้ไม่ได้ในประเทศที่เข้มงวดอย่างสิงคโปร์ (ที่รวมไปถึงการห้ามเคี้ยวหมากฝรั่งในที่สาธารณะหากไม่อยากถูกไล่ออกนอกประเทศ) อาจทำให้คนไทยที่รักอิสระอย่างเราๆ รู้สึกเก็บกดได้ [16]
  4. ศึกษากฎหมายและระเบียบปฏิบัติเรื่องการเข้าเมืองของประเทศนั้นๆ. คุณสามารถย้ายไปอยู่ประเทศที่คุณอยากไปอยู่ได้จริงหรือเปล่า เพราะบางประเทศมีข้อกำหนดที่เคร่งครัดสำหรับผู้อพยพโดยดูจากรายได้ อายุ ทักษะ การฝึกอบรม หรือเครือข่ายครอบครัว คุณอาจจะพบตัวเองไม่มีโอกาสย้ายไปอยู่ประเทศที่หวังไว้เพราะว่าคุณไม่รวย ไม่มีทักษะ อายุมากเกินไป หรือไม่มีได้มีครอบครัวอยู่ที่นั่นอยู่แล้ว อ่านกฎระเบียบของประเทศนั้นๆ ในเว็บไซต์ที่เกี่ยวข้องกับการขออพยพ โทรศัพท์ไปที่กรมการตรวจคนเข้าเมืองที่เกี่ยวข้องและถามข้อมูลที่เฉพาะเจาะจงเกี่ยวกับตัวคุณเอง เพราะเอกสารมากแค่ไหนก็ไม่ชัดเจนเท่ากับการที่คุณเล่าสถานการณ์ส่วนตัวของคุณให้คนที่สามารถแนะนำได้อย่างเจาะลึกฟังได้
  5. ประเทศที่คุณวางแผนจะย้ายไปอยู่พูดภาษาอังกฤษหรือเปล่า แล้วคุณพูดภาษาอังกฤษได้ไหม แล้วถ้าไม่ใช่คุณพูดภาษาของประเทศนั้นได้หรือเปล่า ประเมินความสามารถในการเรียนรู้ภาษาใหม่ของตัวเองอย่างตรงไปตรงมา เพราะบางคนก็เรียนรู้ภาษาใหม่ได้ยากกว่าคนอื่นแม้ว่าจะเข้าไปอยู่ในสภาพแวดล้อมของภาษานั้นแล้วก็ตาม ในช่วงเวลาที่คุณไม่รู้ภาษานั้น คุณจะพบว่าตัวเองถูกตัดขาดจากสิ่งที่เกิดขึ้นรอบตัวมากมาย และถ้าคุณเองก็ขาดความมั่นใจในตัวเองอยู่แล้ว มันก็จะยิ่งกลายเป็นประสบการณ์ที่ว้าเหว่สุดๆ [17]
    • คุณอาจจะเรียนภาษาให้ถึงระดับคล่องแคล่ว ก่อน ค่อยออกจากประเทศเดิม
    • จองคลาสเรียนภาษาจากสถานการณ์จริงทันทีที่คุณไปถึง หาติวเตอร์ที่ใจเย็นและเข้าใจทั้งภาษาของคุณและภาษาที่เขาจะสอนคุณ คุณต้องแน่ใจว่าคนๆ นี้สามารถหาเวลาไปในที่ต่างๆ กับคุณได้เพื่อช่วยให้คุณได้เรียนภาษาในบริบทเฉพาะ เช่น ไปชอปปิ้ง คุยกับเจ้าของบ้าน ธุรกรรมธนาคาร ซื้อรถ ลงทะเบียนเข้าเรียนในโรงเรียน/มหาวิทยาลัย และอื่นๆ
  6. ถ้าคุณมีลูก การย้ายไปอยู่ต่างประเทศจะเป็นเรื่องท้าทายมากกว่าปกติ. เริ่มตั้งแต่แรกเลยคือคิดให้หนักว่าคุณอยากจะพาลูกออกจากกิจวัตรและเพื่อนๆ ของเขาตอนนี้หรือเปล่า เพราะมันอาจเป็นการเปลี่ยนแปลงที่ยากเกินรับไหวสำหรับพวกเขา แล้วระบบการศึกษาในประเทศใหม่ดีพอๆ กันหรือดีกว่าของประเทศที่คุณอยู่ตอนนี้ไหม หรือว่ามันเชื่อถือได้น้อยกว่า ตัวเลือกโรงเรียนดีๆ สำหรับเด็กต่างชาติคืออะไรถ้าหากโรงเรียนท้องถิ่นไม่ดีพอ หาข้อมูลเรื่องเหล่านี้ให้ดีล่วงหน้าเพราะว่ามันสำคัญมากจริงๆ! [18]
    • อย่าลืมว่าลูกๆ จะต้องเรียนภาษาใหม่หรือภาษาถิ่นของภาษานั้นๆ (เช่น ในประเทศที่พูดภาษาอังกฤษเป็นภาษาแม่ ถึงลูกจะพอรู้ภาษาอังกฤษบ้าง แต่เขาก็ต้องทำความคุ้นเคยกับสำเนียงหรือความต่างของภาษาอังกฤษแบบออสเตรเลียหรืออเมริกัน) ซึ่งแม้ว่าพ่อแม่หลายคนจะมองว่ามันเป็นสิ่งที่ดีเพราะว่าลูกจะได้มีโอกาสพัฒนาหลายๆ ภาษา แต่ถ้าลูกมีปัญหาเรื่องการเรียนไม่ว่าจะเรื่องอะไรก็แล้วแต่ มันก็อาจจะทำให้ลูกตามเพื่อนไม่ทันได้จริงๆ
    • เรื่องนี้จะสำคัญมากเป็นพิเศษหากภาษาของประเทศนั้นๆ ไม่ได้ใช้ระบบตัวอักษรโรมันเหมือนภาษาอังกฤษ
    โฆษณา

เคล็ดลับ

  • เวลาเรียนภาษาใหม่ อย่าลืมเรียนรู้คำสแลงและสำนวนด้วย เรียนรู้ว่าคนอื่นเขาพูดกัน จริงๆ อย่างไร ใช้เว็บไซต์แสดงความคิดเห็นและเว็บไซต์อื่นๆ เป็นตัวช่วยในการเรียนรู้คำและความหมายตามที่เขาใช้กันในปัจจุบันจริงๆ และเว็บไซต์เหล่านี้ก็เป็นสถานที่ที่คุณสามารถถามคำถามทั่วไปในสิ่งที่คุณไม่เข้าใจได้
  • อย่าตัดขาดจากประเทศของคุณแบบไม่เหลือใย เพราะวันนึงคุณอาจจะต้องกลับมาก็ได้ บทความนี้แนะนำอย่างยิ่งว่าคุณไม่ควรขายบ้าน ปล่อยให้เช่าและเอาไว้อย่างนั้นเผื่อว่าคุณต้องย้ายกลับไป เช่นเดียวกันคือคุณไม่ควรสละสิทธิ์ความเป็นพลเมือง เพราะคุณอาจจะต้องย้ายกลับไปบ้านเกิดเมืองนอนไม่วันใดก็วันหนึ่ง
โฆษณา

คำเตือน

  • ถ้าคุณพบว่าตัวเองบ่นเรื่องชีวิตใหม่และอยากกลับไปใช้ชีวิตแบบเดิมไม่หยุดหย่อน ให้รู้ไว้ว่าคุณอาจจะมองประเทศเดิมของตัวเองจากมุมมองที่เต็มไปด้วยกลีบกุหลายอีกแล้ว ถ้าคุณย้ายกลับไปบ้านเกิดของคุณจริงๆ ความสับสนในวัฒนธรรมที่ไม่คุ้นเคยในการกลับไปครั้งนี้อาจจะหนักหนาพอๆ กับตอนที่คุณเพิ่งมาถึงประเทศใหม่เลยก็ได้! ให้โอกาสประเทศใหม่หน่อย ถ้าคุณยังบ่นไม่เลิกแม้ว่าจะผ่านไป 5 ปีแล้ว คุณค่อยเก็บกระเป๋าแล้วย้ายกลับมาบ้านเกิดของคุณ
  • คุณอาจจะเจอเรื่องการเหยียดเชื้อชาติ จำไว้ว่า คุณ คือชาวต่างชาติในประเทศใหม่
  • รู้ว่าอาจจะมีบางคนที่คอยเล่าเรื่องไม่ดีให้คุณฟังเพราะว่าเขาไม่ชอบอยู่ต่างประเทศ ซึ่งเป็นเหตุการณ์ที่พบได้ทั่วไปในคู่สามี/ภรรยาที่ติดตามสามี/ภรรยาไปประจำตำแหน่งที่ต่างประเทศ เธอหรือเขาอาจจะอยากอยู่บ้านแต่ก็ต้องไปด้วยจิตใจที่คับแคบ และไม่มีทางเลิกเกลียดประเทศใหม่ได้เลย ให้ระวังคนพวกนี้ไว้ ซึ่งตามปกติก็มักจะสังเกตได้ง่ายเพราะทุกอย่างที่เขาพูดจะมีแต่ว่าเขาเกลียดประเทศใหม่และอยากกลับไปอยู่บ้านเหมือนเดิมแค่ไหน
  • อย่าย้ายไปอยู่ประเทศอื่นด้วยความคิดในแง่ลบและจิตใจที่หดหู่ เพราะมันไม่ได้ช่วยให้อะไรดีขึ้นมาเลย หนำซ้ำยังอาจทำให้คุณเจ็บปวดเมื่อตัดสินใจไปแล้วด้วย
  • ระวังเรื่องความยุ่งยากด้านธนาคาร ถ้าคุณย้ายจากประเทศไทยไปยังประเทศที่ด้อยพัฒนากว่า คุณอาจจะแปลกใจที่การเปิดบัญชีธนาคารธรรมดาเป็นเรื่องยุ่งยากมาก ระเบียบปฏิบัติที่มีไว้เพื่อป้องกันการฟอกเงินและความยุ่งยากต่างๆ นานาที่ธนาคารเหล่านี้ต้องประสบเวลาดำเนินธุรกรรมกับประเทศไทยอาจทำให้คุณต้องเตรียมเอกสารเป็นปึกๆ และจำเป็นต้องใช้ใบรับรองที่อาจจะยุ่งยากในการขอเมื่อคุณย้ายไปอยู่ต่างประเทศแล้ว เพราะฉะนั้นคุณต้องมีเงินสดติดตัวให้พอใช้ 2-3 เดือนเพราะคุณคงหาเงินสดพกติดตัวได้ยากหากยังไม่มีบัญชีธนาคารท้องถิ่น
  • การย้ายไปอยู่ประเทศใหม่จะน่าตื่นตาตื่นใจในช่วงแรก แต่มันมักจะเป็นเรื่องยากสำหรับคุณ (และครอบครัว) ในแง่ของทั้งอารมณ์และร่างกาย เตรียมพร้อมสำหรับสถานการณ์ที่แย่ที่สุดแล้วคุณจะพร้อมสำหรับทุกอย่างเอง
  • อย่าฝันหวานเรื่องการย้ายไปอยู่ต่างประเทศ เพราะไม่มีที่ไหนสมบูรณ์แบบ และคุณก็จะไม่ได้เปลี่ยนเป็นคนใหม่ภายในชั่วข้ามคืน เรียนรู้เรื่องวัฒนธรรมและข้อเท็จจริงต่างๆ ให้มาก อย่าเชื่อแค่เรื่องเล่าตอนไปเที่ยวที่น่าตื่นเต้นของเพื่อนอย่างเดียว
  • คุณต้องแน่ใจว่าคุณจัดการเรื่องงานและสิทธิ์ในการทำงานในประเทศใหม่เรียบร้อยแล้ว เพราะตอนนี้ประเทศที่พัฒนาแล้วหลายประเทศมีการให้ใบอนุญาตทำงานสำหรับแรงงานที่มีทักษะเฉพาะ ซึ่งวีซ่าเหล่านี้ก็เหมือนกับใบอนุญาตทำงาน แต่มักจะให้ตำแหน่งที่เฉพาะเจาะจงและอาจจะไม่ต้องขึ้นกับกฎระเบียบที่ยุ่งยากเหมือนใบอนุญาตทำงานปกติ
  • ติดต่อนายหน้าอสังหาริมทรัพย์ที่ได้มาตรฐาน เป็นที่รู้จัก และไว้ใจได้ เพราะคุณมีโอกาสเสี่ยงที่จะถูกโก่งราคาเวลาซื้ออสังหาริมทรัพย์
  • วางแผนตามความเป็นจริงและต้องแน่ใจว่าคุณยังมีทางเลือกให้กลับมาบ้านเกิดของตัวเองได้
  • ประสบการณ์ของคุณอาจจะต่างไปจากประสบการณ์ของคนอื่น แม้ว่าการได้ยินหรือได้อ่านประสบการณ์ของคนอื่นจะมีประโยชน์ แต่ก็ให้รู้ว่าประสบการณ์ของพวกเขาล้วนเป็นประสบการณ์ที่เกิดขึ้นกับตัวเขาคนเดียวเช่นเดียวกับประสบการณ์ของคุณ และอย่าเหมาเอาว่าทุกอย่างมันดีเลิศหรือเลวร้ายแค่เพราะเขาว่ามาอย่างนั้น ศึกษาข้อมูลเพิ่มเติมและเปิดใจให้กว้าง
  • เวลาจะสมัครงาน คุณต้องหาว่ามันอยู่ที่ไหนและดูว่าเคยมีอะไรแปลกๆ/ไม่ชอบมาพากลเกิดขึ้นที่นั่นหรือเปล่า (ซึ่งคุณก็ควรทำแบบนี้ ทุกครั้ง เวลาที่หางานทั้งต่างประเทศและในประเทศของตัวเอง!) เพราะคุณคงไม่อยากต้องไปทำงานในที่ที่คุณจะเสียใจภายหลังว่าไม่น่ามาเลย!
โฆษณา

สิ่งของที่ใช้

  • ชุดเอกสารและข้อมูลเกี่ยวกับสถานทูต/การย้ายเข้าเมือง
  • นายหน้าอสังหาริมทรัพย์และทนายความทั้งสองฝั่ง
  • ที่ปรึกษาด้านการเงิน
  • ใบเสนอราคาและข้อมูลเกี่ยวกับบริษัทขนส่ง
  • แผนการอย่างละเอียดเพื่อปฏิบัติตามและขีดฆ่า
  • การเก็บของในประเทศเดิม (หากจำเป็น)
  • อินเทอร์เน็ต
  • หนังสือท่องเที่ยวและอื่นๆ ในการศึกษาข้อมูลด้านวัฒนธรรม
  • หนังสือเดินทาง วีซ่า และการฉีดวัคซีน
  • การตรวจสุขภาพทางการแพทย์ (รักษาสุขภาพให้แข็งแรงก่อนไป)
  • การจัดการเรื่องสัตว์เลี้ยง
  • การจัดการเรื่องโรงเรียน

เกี่ยวกับวิกิฮาวนี้

มีการเข้าถึงหน้านี้ 12,409 ครั้ง

บทความนี้เป็นประโยชน์กับคุณไหม

โฆษณา