ดาวน์โหลดบทความ ดาวน์โหลดบทความ

Trigger finger หรือโรคนิ้วล็อค (อีกชื่อหนึ่งคือ stenosing tenosynovitis) เกิดจากอาการอักเสบที่เอ็นของนิ้ว ทำให้อยู่ๆ นิ้วก็งอล็อคขึ้นมา [1] ถ้าปล่อยไว้จนอาการหนักละก็ นิ้วจะงอล็อคค้างอยู่แบบนั้น แถมบางครั้งจะมีเสียงเวลาคุณพยายามจะแกะคลายนิ้ว เสียงเหมือนเวลาไกปืนดีด นั่นแหละคือที่มาของชื่อ Trigger Finger (นิ้วไกปืน) ใครทำอาชีพที่ต้องกำมือหรืองอนิ้วเป็นเวลานานๆ ก็เสี่ยงจะเป็นโรคนิ้วล็อคกว่าคนอื่น คนที่เป็นโรคข้ออักเสบหรือเบาหวานก็อยู่ในกลุ่มเสี่ยงด้วย วิธีการรักษาโรคนิ้วล็อคนั้นจะแตกต่างออกไปตามความรุนแรงของโรคและสาเหตุ เพราะฉะนั้นนอกจากจะอ่านบทความของเราเพื่อหาวิธีรักษาเบื้องต้นแล้ว คุณควรไปหาหมอเพื่อวินิจฉัยให้ชัดเจนอีกทีจะดีที่สุด

ส่วน 1
ส่วน 1 ของ 3:

รักษาอาการนิ้วล็อคด้วยตัวเอง

ดาวน์โหลดบทความ
  1. ส่วนใหญ่อาการนิ้วล็อคมักเกิดจากการกำมือจับหรือถืออะไรนานๆ หรือการงอนิ้วโป้งกับนิ้วชี้ซ้ำไปซ้ำมา ใครที่เป็นชาวนาชาวไร่ พิมพ์ดีดพิมพ์คอม ทำงานโรงงาน หรือนักดนตรี ก็จะมีความเสี่ยงสูงเป็นพิเศษ เพราะใช้งานนิ้วโป้งกับนิ้วอื่นบางนิ้วต่อเนื่องเป็นเวลานานๆ คนที่สูบบุหรี่บ่อยๆ ก็เป็นโรคนิ้วล็อคได้เหมือนกัน เพราะต้องกดไฟแช็คอยู่เรื่อยยังไงล่ะ เพราะงั้นถ้าเป็นไปได้ คุณต้องหยุด (หรือลด) กิจกรรมซ้ำๆ ที่ทำให้นิ้วอักเสบ ดีไม่ดีไอ้ที่เจ็บๆ ล็อคๆ อยู่อาจจะหายไปเลยก็ได้
    • อธิบายให้เจ้านายฟังเรื่องปัญหาสุขภาพของคุณ เผื่อจะมีทางขยับขยายไปทำหน้าที่อื่นที่ไม่กระทบกับนิ้วคุณมากก็ได้
    • โรคนิ้วล็อคมักเกิดกับคนอายุประมาณ 40 - 60 ปี [2]
    • โรคนิ้วล็อคมักพบบ่อยในผู้หญิงมากกว่าผู้ชาย [3]
  2. การประคบน้ำแข็งนั้นช่วยบรรเทาอาการบาดเจ็บของกล้ามเนื้อและกระดูกที่ไม่ร้ายแรงเท่าไหร่ได้มากทีเดียว รวมถึงอาการนิ้วล็อคด้วย [4] คุณควรประคบเย็น (ด้วยผ้าขนหนูบางๆ ห่อน้ำแข็ง หรือจะใช้เจลแพ็คเย็นๆ ก็ได้) ตรงเอ็นที่อักเสบ (สังเกตได้ง่ายๆ คือจะเป็นตุ่มหรือก้อนนูนๆ ขึ้นมาแถวโคนนิ้ว หรือบริเวณฝ่ามือ เวลาจับแล้วจะนิ่มๆ) จะได้ลดอาการปวดบวม ลองประคบเย็นสักประมาณ 10 - 15 นาทีทุกๆ 1 ชั่วโมง พอเริ่มหายปวดหายบวมก็ค่อยลดความถี่ลง
    • ประคบเย็นที่นิ้วหรือมือ ควบคู่ไปกับการพันผ้าพันแผลหรือใส่ผ้าอิลาสติกรัดมือ จะได้ลดการอักเสบ แต่อย่ารัดแน่นจนเกินไป เพราะถ้าเลือดไหลเวียนไม่สะดวกละก็ จะอันตรายกับนิ้วของคุณมากกว่าเดิม
  3. ยาแก้อักเสบแบบ NSAID หรือ Non-steroidal anti-inflammatories อย่าง ไอบูโพรเฟน นาพรอกเซน หรือแอสไพริน ช่วยลดอาการปวดหรืออักเสบที่นิ้วของคุณได้ชั่วคราว ปริมาณที่เหมาะสมสำหรับผู้ใหญ่คือ 200 - 400 มก. ทุก 4 - 6 ชั่วโมง แต่ก็ต้องระวังเพราะยาพวกนี้แรงอาจทำให้ปวดท้องได้ และอาจเป็นอันตรายต่อตับและไต เพราะงั้นห้ามกินติดต่อกันเกิน 2 อาทิตย์เด็ดขาด ถ้าเผลอกินไปนานๆ ระวังจะเป็นโรคกระเพาะอาหารอักเสบหรือเกิดแผลในกระเพาะได้
  4. การที่คุณบริหารนิ้วด้วยการพยายามเหยียดนิ้วให้ตรง อาจจะช่วยให้อาการทุเลาลงได้ ยิ่งแก้เร็วก็ยิ่งมีโอกาสหายมากขึ้น ให้คุณคว่ำมือข้างที่เจ็บแล้ววางลงบนโต๊ะ จากนั้นยืดเส้นข้อมือโดยถ่ายน้ำหนักที่มือลงไปบนโต๊ะ กดค้างไว้ประมาณ 30 วินาที ทำซ้ำวันละ 3 - 5 ครั้ง หรือจะใช้วิธีจับนิ้วของคุณที่ล็อค แล้วค่อยๆ คลายเหยียดมันออก ระหว่างนั้นก็บีบนวดไปด้วยเบาๆ ตรงก้อนนิ่มๆ ของเอ็นที่มีการอักเสบ (ถ้ามีก้อนนูนขึ้นมา)
    • แช่มือในน้ำอุ่นผสมดีเกลือฝรั่ง (Epsom salt) ประมาณ 10 - 15 นาทีก่อนบริหารมือ ก็ช่วยคลายเส้น ลดอาการปวดลงได้ [6]
    • นิ้วที่ล็อค มักเป็นนิ้วโป้ง นิ้วกลาง และนิ้วนาง
    • บางทีก็ล็อคพร้อมกันหลายนิ้ว หนักหน่อยก็นิ้วล็อคทั้งสองมือเลย
    • ถ้าคุณมีเวลาและทุนทรัพย์ แนะนำให้ลองไปนวดบำบัดมือกับผู้เชี่ยวชาญจะดีที่สุด
    โฆษณา
ส่วน 2
ส่วน 2 ของ 3:

รักษาโรคนิ้วล็อคด้วยวิธีทางการแพทย์

ดาวน์โหลดบทความ
  1. ตอนกลางคืนคุณหมออาจจะให้คุณใส่ที่ดามนิ้ว นิ้วจะได้เหยียดตรงเวลานอน ช่วยคลายเส้นลดอาการนิ้วล็อค บางกรณีคุณอาจจะต้องใส่ที่ดามนิ้วนานถึง 6 อาทิตย์เลยทีเดียว [7] อีกข้อดีของการใส่ที่ดามนิ้วก็คือกันไม่ให้คุณเผลอกำมือตอนนอนจนนิ้วล็อคไปกว่าเดิม
    • ระหว่างวันให้คุณถอดที่ดามนิ้วออกบ้าง จะได้ยืดนิ้วคลายเส้น หรือนวดเบาๆ ร่วมด้วย
    • คุณทำที่ดามนิ้วเองก็ได้ โดยซื้อที่ดามนิ้วแบบอะลูมิเนียมมาจากร้านขายยา แล้วเอามาติดเทปพันแผลแบบกันน้ำเองอีกที
  2. การฉีดสเตียรอยด์แถวๆ ปลอกหุ้มเอ็นหรือที่ปลอกหุ้มเอ็น จะช่วยลดอาการอักเสบได้อย่างรวดเร็ว จนนิ้วสามารถกลับมาขยับเขยื้อนได้ตามปกติ เวลาจะรักษาโรคนิ้วล็อค ก็มักเริ่มจากการฉีด corticosteroid นี่แหละ [8] ปกติคุณหมอจะฉีดสเตียรอยด์ให้คุณ 2 ครั้ง (ห่างกัน 3 - 4 อาทิตย์) ในบรรดาคนไข้โรคนิ้วล็อค ฉีดแล้วเห็นผลถึง 90% เลยทีเดียว [9] ตัวยาที่นิยมใช้กันมากที่สุด ก็คือ prednisolone, dexamethasone แล้วก็ triamcinolone
    • บางคนฉีด corticosteroid แล้วอาจมีภาวะแทรกซ้อนอย่างการติดเชื้อ เลือดไหล เอ็นหย่อน กล้ามเนื้อบางจุดเกิดอาการฝ่อ หรือเกิดการระคายเคืองหรือบาดเจ็บที่เส้นประสาทได้
    • ถ้าฉีด corticosteroid แล้วไม่ค่อยเห็นผล คุณหมออาจพิจารณาผ่าตัดแทน
  3. คุณหมอจะพิจารณาผ่าตัดนิ้วให้คุณ ก็ต่อเมื่อคุณรักษาเองเบื้องต้น ใส่ที่ดามนิ้ว และ/หรือฉีดสเตียรอยด์แล้วนิ้วยังล็อคไม่หาย ไม่ก็ในกรณีที่นิ้วของคุณบิดงอผิดรูปและล็อคแบบร้ายแรง [10] การผ่าตัดมีด้วยกัน 2 แบบ คือการผ่าตัดรักษานิ้วล็อคแบบเปิด (open trigger finger release surgery) กับการผ่าตัดรักษานิ้วล็อคด้วยการเจาะ (percutaneous trigger finger release surgery) [11] การผ่าตัดแบบเปิดนั้น จะผ่าตัดเปิดแผลเล็กๆ ที่แถวโคนนิ้วที่ล็อค แล้วผ่าเปิดปลอกหุ้มเอ็นส่วนที่ตึง แต่ถ้าเป็นการผ่าตัดแบบเจาะ จะใช้เข็มสอดเข้าไปในเนื้อเยื่อรอบๆ เอ็นที่ตึง แล้วขยับเข็มไปรอบๆ เพื่อแก้ไขเอ็นส่วนที่ตึง
    • ปกติคุณผ่าตัดนิ้วเสร็จก็กลับบ้านได้เลย เพราะไม่มีการใช้ยาสลบ ใช้แค่ยาชาเฉพาะที่
    • ภาวะแทรกซ้อนที่อาจเกิดขึ้นได้หลังผ่าตัดก็มีการติดเชื้อบางจุด อาการแพ้ยาชา อาการบาดเจ็บที่เส้นประสาท และอาการปวดบวมเรื้อรัง เป็นต้น
    • ผ่าตัดแล้วมีคนกลับมาเป็นโรคนิ้วล็อคอีกแค่ประมาณ 3% เท่านั้น แต่ถ้าใครเป็นเบาหวาน ผ่าตัดแล้วก็อาจจะไม่ค่อยได้ผลเท่าไหร่
    โฆษณา
ส่วน 3
ส่วน 3 ของ 3:

หาโรคแทรกซ้อนและสาเหตุอื่นๆ ที่อาจทำให้คุณนิ้วล็อค

ดาวน์โหลดบทความ
  1. ต้องรักษาอาการติดเชื้อหรืออาการแพ้ที่เป็นสาเหตุของนิ้วล็อค. บางทีการติดเชื้อเฉพาะที่ก็ทำให้เกิดโรคนิ้วล็อคเทียมหรือทำให้เอ็นยึดขึ้นมาได้ ถ้าข้อหรือกล้ามเนื้อของนิ้วคุณเกิดแดง ร้อน และอักเสบอย่างเห็นได้ชัดขึ้นมาภายใน 2 - 3 ชั่วโมง หรือ 2 - 3 วัน ให้รีบไปหาหมอทันที เพราะนั่นเป็นสัญญาณบอกว่านิ้วคุณอาจติดเชื้อหรือแพ้แมลงสัตว์กัดต่อย คุณหมอจะรักษาโดยการผ่าและระบายฝีหนอง (incision and drainage) การแช่มือในน้ำเกลืออุ่นๆ และการกินยาปฏิชีวนะในบางกรณี [12]
    • แบคทีเรียนี่แหละสาเหตุหลักที่ทำให้มือคุณติดเชื้อ ซึ่งมักเกิดจากแผลที่ไม่ได้รับการทำความสะอาดฆ่าเชื้อ แผลเจาะ หรือเล็บขบ
    • อาการแพ้แมลงสัตว์กัดต่อยก็เป็นสาเหตุที่ค่อนข้างพบบ่อย โดยเฉพาะจากผึ้ง ต่อ และแมงมุม
  2. ข้อนิ้วเคลื่อนบางทีก็ทำให้เกิดโรคนิ้วล็อคเทียมได้ เพราะคุณจะเจ็บนิ้ว และนิ้วดูเหมือนบิดเบี้ยวคดงอ โรคข้อเคลื่อนมักเกิดจากการกระแทก ไม่ได้บาดเจ็บจากการใช้งานซ้ำๆ เพราะงั้นต้องรีบรักษาโดยด่วน ด้วยการดึงข้อนิ้วเข้าที่เดิมหรือผ่าตัดจัดเรียงใหม่ ถ้ารักษาเบื้องต้นจนเข้าที่แล้ว การดูแลข้อนิ้วเคลื่อนก็แทบจะไม่ต่างอะไรกับการดูแลนิ้วล็อค ทั้งเรื่องการผ่อนคลาย ยืดเส้น กินยาแก้อักเสบ แล้วก็ประคบเย็นพร้อมใส่ที่ดามนิ้ว
    • ถ้าไปเอกซเรย์มือก็จะรู้ได้ทันทีว่าข้อนิ้วเคลื่อนหรือร้าวหรือเปล่า
    • หมอเฉพาะทางหรือผู้เชี่ยวชาญด้านสุขภาพอื่นๆ (นอกจากหมอทั่วไปที่คุณหาเวลาป่วย) ที่รักษาโรคข้อนิ้วเคลื่อนให้คุณได้ ก็เช่น หมอด้านกล้ามเนื้อและกระดูก (osteopaths) หมอจัดกระดูก (chiropractors) รวมถึงนักกายภาพบำบัด (physiotherapists) ด้วย
  3. บางทีสาเหตุที่ทำให้เอ็นที่นิ้วคุณยึดจนอักเสบ ก็คือโรคข้ออักเสบรูมาตอยด์หรือโรคเกาต์กำเริบขึ้นมา [13] โรคข้ออักเสบรูมาตอยด์ (Rheumatoid arthritis) นั้นเชื่อกันว่าเกิดจากภาวะภูมิคุ้มกันทำลายตนเอง (autoimmune) ที่ไปรุกรานข้อต่างๆ ของร่างกาย ต้องอาศัยยาแก้อักเสบแรงๆ กับยากดภูมิที่คุณหมอจ่ายให้ ถึงจะอาการดีขึ้น ส่วนโรคเกาต์ (Gout) นั้นคืออาการอักเสบจากการสะสมของผลึกกรดยูริกที่ข้อ (มักพบที่เท้า แต่ที่มือก็เกิดได้) จนส่งผลต่อเอ็นรอบๆ จนยึดหดตึง
    • โรคข้ออักเสบรูมาตอยด์จะทำให้มือหรือข้อมือเจ็บ หนักเข้าก็ทำให้ข้อนิ้วบิดเบี้ยวผิดรูปอย่างน่าสยดสยองได้
    • คุณหมออาจให้คุณตรวจเลือดร่วมด้วย เพื่อหาสารบ่งชี้โรคข้ออักเสบรูมาตอยด์
    • คุณลดความเสี่ยงการเกิดโรคเกาต์ได้ โดยลดอาหารที่อุดมพิวรีน (purine) อย่างเครื่องในสัตว์ อาหารทะเล และเบียร์ เป็นต้น
    โฆษณา

เคล็ดลับ

  • ถ้าจำเป็นให้คอยติดตามผลเป็นระยะกับคุณหมอ และรักษาดูแลตัวเองตามหมอสั่งอย่างต่อเนื่อง
โฆษณา

คำเตือน

  • การกินเชอร์รี่และวิตามินซีให้มากขึ้น ถือเป็นหนึ่งในวิธีรักษาโรคเกาต์ตามธรรมชาติ
  • หลังผ่าตัดนิ้วล็อค คุณจะฟื้นตัวเร็วแค่ไหนนั้นขึ้นอยู่กับอาการของคุณเองว่าร้ายแรงแค่ไหน และแล้วแต่วิธีการผ่าตัด แต่ประมาณ 2 อาทิตย์ก็น่าจะอาการดีขึ้นแล้ว
  • โรคนิ้วโป้งล็อคในเด็กอ่อนก็ควรรักษาด้วยการผ่าตัดเหมือนกัน เพราะถ้าทิ้งไว้ อีกหน่อยโตขึ้นนิ้วอาจงอค้างผิดรูปจนกลายเป็นความพิการได้ (flexion deformity)
โฆษณา

เกี่ยวกับวิกิฮาวนี้

มีการเข้าถึงหน้านี้ 32,296 ครั้ง

บทความนี้เป็นประโยชน์กับคุณไหม

โฆษณา