ดาวน์โหลดบทความ ดาวน์โหลดบทความ

กระต่ายนั้นแสนจะน่ารักและอ่อนโยน เลยกลายมาเป็นหนึ่งในสัตว์เลี้ยงยอดนิยม แต่กระต่ายก็เป็นสัตว์ขี้ระแวงน่าดู กว่าจะคุ้นเคยกับเจ้าของอย่างคุณก็ต้องใช้เวลา ให้คุณลองลูบลองเล่นกับกระต่ายดูสัก 2-3 ครั้ง จะได้สร้างความไว้เนื้อเชื่อใจกัน พอกระต่ายเริ่มไว้ใจคุณแล้ว รับรองเลยว่าจะจับยังไงก็ง่ายขึ้นเยอะ

ส่วน 1
ส่วน 1 ของ 2:

เข้าหากระต่าย

ดาวน์โหลดบทความ
  1. อย่าลืมว่ากระต่ายมักเป็นฝ่ายถูกล่า คือชินแล้วกับการตกเป็นเป้าของสัตว์อื่น ถ้าคุณทำอะไรรวดเร็วกระต่ายจะตื่นจนหนีไป เพราะงั้นคุณต้องเตือนกระต่ายให้รู้ก่อนเข้าหาเสมอ กระต่ายจะได้ไม่กลัว [1]
    • อย่าจ๊ะเอ๋กระต่ายจากข้างหลัง ถ้าตอนคุณเดินเข้ามาในห้อง กระต่ายหันหน้าไปทางอื่นอยู่ ต้องส่งสัญญาณบอกให้กระต่ายรู้ว่าคุณมาแล้ว พูดหรือทำเสียงจุ๊ปากเบาๆ กระต่ายจะได้รู้ตัว ไม่กลัวเหมือนว่าคุณแอบย่องไปทำร้าย [2]
  2. กระต่ายกลัวแน่นอนเวลามีอะไรตัวใหญ่ๆ เข้ามาหา ถึงจะรู้ว่าเป็นคุณก็อดใจกลัวไม่ไหว โดยเฉพาะถ้าน้องต่ายของคุณมีนิสัยวิตกจริตเป็นพิเศษ หรือไม่ชินกับการถูกจับถูกอุ้ม คุณต้องเดินเข้าไปหาช้าๆ และทำตัวต่ำติดพื้นเข้าไว้ กระต่ายจะได้ไม่ช็อค [3]
  3. อยู่ๆ ไปจับหรือดึงตัวกระต่ายเข้ามาหาจะทำให้กระต่ายกลัวได้ ดีไม่ดีถึงขั้นแว้งกัด เวลาคุณเข้าไปใกล้พอคุณควรปล่อยให้กระต่ายกระโดดเข้ามาหาเองจะดีกว่า และการให้เวลาจะทำให้กระต่ายสบายใจ อยากเข้ามาหาคุณ ทีนี้ก็ลูบง่ายจับง่าย อยากเล่นหรืออุ้มก็ยังได้ [4]
    • ถ้าเพิ่งเอากระต่ายมาเลี้ยงไม่นาน มันอาจมีลังเลบ้าง ไม่เข้าไปหาคุณทันที สำคัญมากว่าคุณห้ามบังคับใจ ทำแบบนี้ซ้ำๆ สัก 2-3 วัน จนกระต่ายยอมเข้ามาหาคุณเอง เวลาคุณลูบมันจะได้ไม่ตกใจกลัว
  4. ค่อยๆ ยื่นมือเข้าไปใกล้กระต่ายในระดับสายตา ข้างๆ ตัว ปล่อยให้กระต่ายดมมือคุณตามสบาย หรือจะให้ขนมหรืออาหารด้วยก็ได้ โดยเฉพาะกระต่ายใหม่ที่ยังไม่ชินกับคุณ รู้ไหมว่าการให้อาหารจากมือเป็นการผูกสัมพันธ์อันดี แถมกระต่ายจะได้รู้ด้วยว่าคุณไม่ได้มาร้าย อยากเข้ามาหาคุณก็ได้ไม่เป็นไร [5]
  5. ตอนยื่นมือให้กระต่ายต้องระวังอย่าปุบปับจนกระต่ายกลัว. เพราะถ้าทำผิดวิธีจากการทำความรู้จักกันจะกลายเป็นการข่มให้กลัวซะงั้น เป็นเรื่องที่ต้องคอยระวังอยู่เสมอ จะได้ฝึกกระต่ายแบบสบายตัวสบายใจ [6]
    • ยื่นมือไปตรงหน้ากระต่าย ไม่ใช่ยื่นมาจากข้างหลัง ไม่งั้นกระต่ายจะกลัวเพราะอยู่ๆ ก็มีมือยื่นมาจากไหนไม่รู้
    • กระต่ายจะมองตรงๆ และใต้ขากรรไกรไม่เห็น (เพราะตาอยู่ด้านข้าง) ถึงได้บอกว่าต้องยื่นมือเฉียงไปทางข้างๆ หน่อย ทีนี้ละเห็นชัดแน่
    • อย่ายื่นมือไปใต้จมูกกระต่าย สำหรับหมาหรือแมว การยื่นมือต่ำกว่าระดับขากรรไกรแปลว่ายอมแพ้ แต่ของกระต่ายนั้นผลจะออกมาตรงกันข้าม เพราะกระต่ายที่เหนือกว่าจะเข้าหาอีกตัว แล้วสั่งให้อีกตัวเลียขนให้ โดยยื่นหัวไปต่ำกว่าจมูก ถ้าอยู่ๆ คุณไปทำแบบนี้ใส่กระต่ายที่ขี้กลัว จะทำให้มันเครียดกว่าเดิม แต่ถ้าเป็นกระต่ายหวงถิ่นหรือโหดหน่อย ทำแบบนี้คุณอาจถูกกัดมือได้
    โฆษณา
ส่วน 2
ส่วน 2 ของ 2:

ลูบกระต่าย

ดาวน์โหลดบทความ
  1. จำไว้ว่ากระต่ายสติแตกได้ และไม่ชอบให้ใครลูบเว้นแต่จะยินยอมพร้อมใจจริงๆ ถ้ากระต่ายเป็นฝ่ายเข้ามาหาคุณ แสดงว่าสบายใจ พร้อมให้คุณลูบแล้ว จนกว่ากระต่ายจะเป็นฝ่ายเข้ามาหาคุณเอง ห้ามไปแตะต้องตัวเด็ดขาด
  2. กระต่ายจุกจิกหน่อยเรื่องจุดที่คุณแตะต้องสัมผัสได้ แต่จุดที่โปรดปรานคือแก้ม หน้าผาก ไหล่ แล้วก็หลัง เพราะเป็นจุดประจำที่กระต่ายเลียแต่งขนให้กัน เพราะงั้นถ้าคุณไปลูบตรงจุดพวกนั้น กระต่ายจะชอบใจน่าดู [7] ลูบเน้นแต่บริเวณที่ว่า กระต่ายจะได้อารมณ์ดีมีความสุข เชื่อมโยงการถูกคุณแตะต้องว่าเป็นประสบการณ์ที่ไม่น่ากลัว
    • สรุปแล้วคืออย่าไปเกาคางเหมือนสัตว์อื่นอย่างหมากับแมว นอกจากกระต่ายจะไม่ชอบแล้ว นิ้วคุณยังอยู่ในจุดที่ถูกกัดได้ง่ายอีกต่างหาก นอกจากนั้นก็คืออย่าลูบแถวท้องหรืออุ้งตีน เพราะเป็นจุดอ่อนที่กระต่ายหวงนักหนา
  3. ต้องค่อยๆ สอนให้กระต่ายรู้ว่าเวลาถูกอุ้มเป็นยังไง อาจต้องใช้เวลาหลายวันหน่อย (หรือนานกว่านั้น) เพราะตามธรรมชาติ กระต่ายนั้นไม่อุ้มกันและกัน (แหงล่ะ) เลยเป็นประสบการณ์ใหม่ที่ต้องทำความคุ้นเคย ถ้ากระต่ายไม่เคยถูกอุ้มมาก่อน ก็ห้ามอุ้มตั้งแต่วันแรก ค่อยๆ ลองทำความรู้จักกันไป หรือศึกษาข้อมูลจากคนที่เคยเลี้ยงหรือตามอินเทอร์เน็ตก่อนก็ดี ว่าควรอุ้มกระต่ายยังไงถึงจะปลอดภัย
  4. กระต่ายจะส่งสัญญาณบอกคุณเช่นกัน ว่าตอนนี้แฮปปี้ดีหรือเปล่า คุณต้องคอยสังเกตเอาเอง เพราะไม่งั้นจะทำอะไรผิดเวลาจนกระต่ายพาลกลัวหรือไม่ชอบเอา [8]
    • ถ้ามีเสียงครืดคราดหรือเสียงขบฟันรัวๆ เบาๆ แปลว่ากระต่ายกำลังมีความสุข การกลิ้งตัวไปมา ปีนป่ายตัวคุณ พาดหัวราบไปบนพื้น เลีย หรือเอาจมูกดันคุณก็เป็นสัญญาณที่บอกว่ากระต่ายแฮปปี้และอยากให้คุณสนใจเช่นกัน ถ้ามีอาการดังที่ว่าก็ลูบเต็มที่เลย สุขน่าดูแหละ
    • แต่ถ้ามีเสียงคำราม ฮึดฮัด หรือกรีดร้อง แปลว่ากระต่ายกำลังเจ็บหรือกลัว ให้หยุดลูบ วางกระต่ายกลับลงไป แล้วรอจนกว่ากระต่ายจะคลายเครียด
    • บางทีกระต่ายก็ยืนสองขา ทำท่าเหมือนจะต่อยคุณด้วยขาหน้า บอกเลยว่านั่นน่ะท่าป้องกันตัว คุณถอยไปดีกว่าถ้าเห็นแบบนี้
    • ถ้ากระต่ายหันมาแล้วทำท่าจะโดดหนี ก็ปล่อยไปเถอะ แสดงว่ากระต่ายเหนื่อยหรือกลัว ถ้ายิ่งฝืนเดี๋ยวจะเป็นอันตราย ปล่อยกระต่ายกลับเข้ากรงไปพักก่อน แล้วค่อยเล่นใหม่ทีหลัง
  5. ลูบเสร็จให้เอากระต่ายกลับมาใส่กรงอย่างเบามือ. กระต่ายหรือโดยเฉพาะลูกกระต่ายอาจมีฝืน ดื้อไม่ยอมกลับเข้ากรงบ้าง อย่างที่เราบอกว่าถ้าอยู่ๆ มาจับมาอุ้มจะเป็นอันตรายกับกระต่ายได้ เพราะงั้นถ้ากระต่ายยังไม่อยากเข้ากรง คุณบังคับได้กรณีเดียวคือเมื่อมีเหตุฉุกเฉินจำเป็นจริงๆ เท่านั้น ปกติกระต่ายจะเข้ากรงเองถ้าเหนื่อยอยากพัก แต่ถ้าคุณรีบ ก็ให้เอาขนมหรืออาหารไปวางล่อไว้ในกรง และอย่าลืมจัดกรงให้สะอาดน่าอยู่เสมอ กระต่ายจะได้กระตือรือร้นอยากกลับเข้ากรง [9] ลองปรึกษาคุณหมอหรือคนที่เคยเลี้ยงกระต่ายดู ว่าต้องจัดกรงและให้อาหารยังไงถึงจะปลอดภัย
    • เวลาอุ้มออกจากกรงก็ห้ามฝืนเหมือนกัน กระต่ายนั้นต้องมีพื้นที่ส่วนตัวไว้ให้หลบมุมพักผ่อน ถ้าอยากเล่นอยากสำรวจ กระต่ายจะออกมาเอง เพราะงั้นถ้ากระต่ายเข้ากรงเมื่อไหร่ คุณก็พยายามอย่าไปกวนใจ เว้นแต่สงสัยว่ากระต่ายป่วยหรือบาดเจ็บ นอกนั้นก็ปล่อยให้กระต่ายมีเวลาส่วนตัว เข้า-ออกกรงตามใจเถอะ
    โฆษณา

เคล็ดลับ

  • เบามือและอ่อนโยนกับกระต่ายเสมอ ห้ามทำอะไรรวดเร็วหรือเสียงดัง
  • ถ้าจะแปรงขนกระต่าย ให้เว้นส่วนตาไว้และแปรงต้องนุ่มสะอาดเสมอ
  • จนกว่ากระต่ายจะเคยชินกับคุณ ห้ามแตะต้องบริเวณหูกับเท้าเด็ดขาด กระต่ายแทบทุกตัวเจอแบบนี้จะตื่นไปเลย
  • กระต่ายจะสุขสุดๆ ก็ต่อเมื่อคุณลูบตอนมันผ่อนคลายสบายใจ เช่น ตอนกระต่ายนอนเล่นอยู่ ให้เข้าไปหาช้าๆ แล้วลูบหัวเบาๆ (ตรงนี้แหละชอบสุด) เริ่มจากตรงนี้เพราะกระต่ายจะยอมให้คุณลูบง่ายที่สุด ใจเย็นไว้ เดี๋ยวกระต่ายก็ไว้ใจคุณเอง
  • ถ้าเป็นลูกกระต่ายจะฝึกยากหน่อย ปกติกระต่ายจะพร้อมผสมพันธุ์ก็เมื่ออายุได้ 2 - 4 เดือน เลยทำให้ไฮเปอร์และใจกล้าเป็นพิเศษ ถ้าเป็นกระต่ายนิสัยดีหน่อยก็ให้รีบเอาไปทำหมันเลย หรือง่ายสุดคือหากระต่ายโตเต็มวัยมาเลี้ยง จะได้นิ่งและฝึกง่ายกว่า
  • เข้าหากระต่ายช้าๆ ลูบเบาๆ ปล่อยให้กระต่ายเป็นฝ่ายเต็มใจมาหาคุณ
  • เวลาฝึกอย่าใจร้อน ถ้าเพิ่งเอามาเลี้ยง ปล่อยให้กระต่ายชินกับที่ทางซะก่อน แล้วค่อยฝึกให้คุ้นเคยกับคุณ หรืออุ้มขึ้นมา
โฆษณา

คำเตือน

  • ห้ามอาบน้ำให้กระต่ายเว้นแต่สุดวิสัยจริงๆ กระต่ายเหมือนแมวตรงที่ทำความสะอาดตัวเองอยู่ตลอด แต่ต่างตรงที่ไม่ควรอาบน้ำให้กระต่าย กระต่ายบ้านนั้นว่ายน้ำไม่เป็น ถ้าเจออ่างอาบน้ำเข้าไปอาจเครียดหรือเสี่ยงเกิดอาการหนาวสั่น อุณหภูมิต่ำผิดปกติ ระคายผิว และโกรธหรือกลัวได้ถ้าคุณทำอะไรผิดพลาดไป
  • อุ้มกระต่ายไว้บนตักที่มีผ้าปูรอง ระวังให้มากๆ เพราะถ้ากระต่ายโดดหนีหรือคุณเผลอทำตก อาจบาดเจ็บรุนแรงได้ โดยเฉพาะอาการบาดเจ็บที่สันหลัง เพราะกระต่ายมีสัญชาตญาณชอบดีดตัวออก จะทำให้เกิด hyper extension หรือการเหยียดมากเกินได้
  • ถ้ากระต่ายไม่อยากให้ลูบ อย่าไปบังคับจิตใจเด็ดขาด!
  • ห้ามอุ้มกระต่ายกลับหัวหรือหงายท้อง เว้นแต่จะสนิทสนมคุ้นเคยกันเป็นพิเศษ
โฆษณา

เกี่ยวกับวิกิฮาวนี้

มีการเข้าถึงหน้านี้ 127,116 ครั้ง

บทความนี้เป็นประโยชน์กับคุณไหม

โฆษณา