ดาวน์โหลดบทความ ดาวน์โหลดบทความ

การเป็นคนกล้าแสดงความต้องการเป็นทั้งทักษะการสื่อสารและพฤติกรรม คนที่กล้าแสดงความต้องการของตัวเองจะแสดงความคิดและความรู้สึกได้อย่างตรงไปตรงมาและเหมาะสม และยังเคารพความคิดเห็น ความรู้สึก และความเชื่อของคนอื่นอีกด้วย [1] การเรียนรู้ที่จะเป็นคนกล้าแสดงออกโดยไม่หยาบคายหรือก้าวร้าวนั้นเป็นทักษะชีวิตที่สำคัญ

วิธีการ 1
วิธีการ 1 ของ 4:

สื่อสารอย่างมั่นใจ

ดาวน์โหลดบทความ
  1. 1
    ระบุความต้องการและความรู้สึกของคุณ. หยุดและพิจารณาเวลาที่คุณรู้สึกว่าคนอื่นปฏิบัติต่อคุณอย่างไม่ให้เกียรติ นึกถึงสถานการณ์ที่คุณรู้สึกเหมือนตัวเองถูกบีบบังคับ จากนั้นให้พิจารณาว่าคุณอยากได้รับการปฏิบัติอย่างไรในสถานการณ์เหล่านี้
    • เมื่อคุณระบุความต้องการและความรู้สึกของตัวเองได้ คุณก็จะสามารถสร้างความคาดหวังว่าตัวเองอยากได้รับการปฏิบัติอย่างไรในอนาคตได้ด้วย
  2. 2
    มีขอบเขตที่ชัดเจน อยู่ในใจ. รู้ว่าคุณเต็มใจที่จะทำอะไรหรืออะไรที่ถือว่าเกินขอบเขตของคุณ ถ้าคุณรู้ขอบเขตของตัวเอง คุณก็จะไม่ต้องควานหาขอบเขตท่ามกลางสถานการณ์ที่ตึงเครียด [2]
    • เช่น ถ้าน้องชายขอเงินคุณบ่อยๆ และคุณก็ไม่แน่ใจว่าจะรับมือกับสถานการณ์นี้อย่างไร ให้กำหนดตัวเลขที่แน่นอนไว้ในใจว่าคุณเต็มใจที่จะให้เท่าไหร่ ถ้าคุณไม่เต็มใจที่จะให้เงินอีกแล้ว ให้บอกตัวเองก่อนที่คุณจะคุยกับน้องชายอีกครั้ง และเตรียมพร้อมสำหรับการกำหนดขอบเขตของคุณ
  3. 3
    อธิบายว่าคุณรู้สึกอย่างไรและต้องการอะไร. ถ้าคุณเป็นคนกล้าแสดงความคิดเห็นของตนเอง คุณจะอธิบายว่าคุณรู้สึกอย่างไรและต้องการอะไรได้โดยไม่หยาบคายหรือก้าวร้าว ทักษะเหล่านี้ช่วยให้คุณยืนหยัดเพื่อตัวเองและยังคงปฏิบัติต่อผู้อื่นอย่างให้เกียรติได้ด้วย [3] สื่อความคิดเห็น ความคิด และความรู้สึกของตัวเองอย่างให้เกียรติ ถ้าคุณไม่แน่ใจในการอธิบายความรู้สึกของตัวเอง ให้ลองเขียนออกมาก่อนหรือฝึกว่าจะพูดว่าอะไร [3]
    • เช่น คุณอาจจะอยากได้เงินเดือนเพิ่ม แต่คุณยังไม่มีวิธีที่ดีที่จะบอกความต้องการของตัวเองในเรื่องนี้ ผลลัพธ์ที่ดีที่สุดก็คือการมีโอกาสที่จะบอกความต้องการของตัวเองให้คนอื่นรับรู้ และให้คำขอขึ้นเงินเดือนของคุณได้รับการอนุมัติ
  4. 4
    ตรงไปตรงมา. การบอกให้คนอื่นรับรู้ความต้องการของตัวเองอาจเป็นเรื่องยากถ้าการเป็นคนน่ารักคือหนึ่งในคุณสมบัติที่แข็งแกร่งที่สุดของคุณ คุณอาจจะรู้สึกว่าการบอกให้คนอื่นรู้ความคิดของคุณเป็นสิ่งที่หยาบคาย แต่ในความเป็นจริงนั้นมันไม่หยาบคายเลยสักนิด การพูดอ้อมไปอ้อมมาจะทำให้คุณดูเป็นคนเฉื่อยชาหรือหัวอ่อน แสดงการตระหนักรู้ในตัวเองและจุดแข็งของคุณเพื่อให้คุณได้ในสิ่งที่ต้องการโดยไม่ต้องโต้แย้ง [4]
    • อย่าทำให้สถานการณ์ดีขึ้นเพื่อลดความอึดอัดใจ เช่น ถ้าคุณอยากให้คุณป้าเลิกมาหาโดยไม่บอกกล่าว ให้พูดว่า "คุณป้าอิ๋วคะ ช่วยโทรศัพท์มาบอกหนูก่อนมาเถอะค่ะ หนูจะได้มีเวลาเตรียมตัวต้อนรับคุณป้า" อย่าพูดว่า "คุณป้าอิ๋วคะ รบกวนคุณป้าช่วยโทรศัพท์มาบอกหนูก่อนถ้าคุณป้าจะมาได้ไหมคะ ถ้าคุณป้าสะดวกนะคะ แต่ถ้าไม่สะดวกก็ไม่เป็นไรค่ะ หนูยังไงก็ได้"
  5. 5
    อย่าขอโทษที่แสดงความคิดเห็นหรือความต้องการของคุณ. ถ้าคุณเป็นคนกล้าแสดงความคิดเห็นของตัวเอง คุณจะเป็นเจ้าของความรู้สึกและความต้องการนั้น และคุณจะรู้สึกด้วยว่าคุณมีสิทธิ์ที่จะมีความรู้สึกและความต้องการของตัวเอง อย่าขอโทษที่คุณขอในสิ่งที่คุณต้องการ [3]
  6. 6
    ฝึกการสื่อสารโดยไม่ใช้คำพูดอย่างมั่นใจ. การสื่อสารเกิดขึ้นได้ด้วยคำพูดและภาษากาย [5] วิธีที่คุณแสดงสถานภาพของตัวเองมีผลต่อสถานภาพที่คุณได้รับกลับมา เพื่อให้คุณสามารถสื่อสารโดยไม่ใช่คำพูดได้อย่างมั่นใจมากยิ่งขึ้น ให้ฝึกทักษะบางอย่างต่อไปนี้:
    • สบตา
    • ยืนหรือนั่งในท่าทางที่ดี
    • พูดด้วยน้ำเสียงและระดับความดังที่เหมาะสม
    • ปล่อยร่างกายสบายๆ และผ่อนคลาย
  7. 7
    แสดงความขอบคุณผู้อื่น. เมื่อคุณสื่อสารอย่างมั่นใจแล้ว คุณก็ต้องรับรู้ถึงการที่คนอื่นให้ในสิ่งที่คุณต้องการ คุณยังสามารถขอในสิ่งที่คุณต้องการได้ แต่คุณก็ต้องแสดงความขอบคุณเมื่อคนอื่นยอมให้คุณหรือบอกความรู้สึกของพวกเขา [1] ไม่เช่นนั้น คุณอาจจะดูเหมือนไม่สนใจคนอื่นและหยาบคาย
  8. 8
    จัดการความเครียด. เมื่อคุณเครียด คุณมักจะรู้สึกว่าตัวเองไม่สามารถควบคุมสถานการณ์ได้ ซึ่งอาจมีผลต่อวิธีการที่คุณตอบโต้ต่อสถานการณ์ที่เป็นอยู่ คุณอาจมีแนวโน้มที่จะตอบโต้อย่างก้าวร้าวหรือเฉื่อยชามากขึ้น การจัดการความเครียดจึงเป็นส่วนสำคัญของการสื่อสารอย่างมั่นใจ [6]
  9. 9
    เลือกเวลาพูดคุยให้เหมาะสม. ถ้าคุณเหนื่อยหรือหิว ให้รอจนกว่าคุณจะแก้ปัญหาเหล่านั้นได้ก่อนที่จะเริ่มบทสนทนา คุณอาจจะหงุดหงิดเร็วขึ้นและดูหยาบคายถ้าคุณไม่ได้อารมณ์ดีมากนัก [3]
  10. 10
    ฝึกฝนและอดทน. การเรียนรู้ที่เป็นกล้าแสดงความคิดเห็นของตัวเองนั้นต้องใช้เวลาและอาศัยการฝึกฝน เริ่มจากการฝึกเทคนิคกล้าแสดงความคิดเห็นของตัวเองในสถานการณ์เล็กๆ ก่อน เช่น บอกเพื่อนว่าคุณไม่อยากดูหนังเรื่องนี้ ค่อยๆ สร้างความกล้าในแต่ละสถานการณ์ไปเรื่อยๆ แล้วไม่ช้าคุณจะพบว่าตัวเองกล้าแสดงความคิดเห็นในสถานการณ์อื่นๆ ด้วย [7]
    โฆษณา
วิธีการ 2
วิธีการ 2 ของ 4:

ลองเทคนิคกล้าแสดงความคิดเห็น

ดาวน์โหลดบทความ
  1. 1
    ลองเทคนิคแผ่นเสียงตกร่อง. เทคนิคนี้คุณต้องพูดความรู้สึกหรือความต้องการของคุณซ้ำด้วยท่าทีเรียบๆ เมื่อมีใครพยายามโต้แย้งหรือเบี่ยงเบนความสนใจของคุณ (เช่น "ช่วยเลิกพูดมุกเหยียดเพศสักทีเถอะ" "ฉันว่ามุกเหยียดเพศไม่เห็นจะขำตรงไหน") เทคนิคนี้เป็นวิธีที่คุณจะได้ยึดถือหลักการของคุณโดยไม่ดูหมิ่นอีกฝ่าย [8]
    • เช่น คุณพยายามคืนสินค้าที่เสียหายกับทางร้านค้าเพื่อขอเงินคืน ถ้าพนักงานพยายามเสนอทางเลือกอื่นให้คุณ (บอกว่าจะซ่อมสินค้าให้หรือบอกคุณว่ามันไม่ได้เสีย) ให้พูดย้ำว่าคุณต้องการเงินคืน
    • เทคนิคนี้เป็นวิธีแสดงความต้องการของตัวเองอย่างมั่นใจมากกว่าจะเป็นการแสดงออกที่หยาบคาย เนื่องจากเป็นวิธีที่ทำให้คุณได้ชี้ให้เห็นความต้องการของตัวเองด้วยการพูดอย่างชัดเจนว่าคุณต้องการอะไรโดยที่ไม่ได้แสดงความหยาบคาย ภาษากายและโทนเสียงสำคัญมากสำหรับเทคนิคนี้ คุณต้องไม่ตะโกนหรือปฏิบัติกับคนอื่นไม่ดี คำพูดธรรมดาของคุณมีอำนาจมากพอแล้ว
  2. 2
    ลองเทคนิคพูดคลุมเครือ. พูดว่า“ที่คุณว่ามาก็อาจจะใช่” เมื่อมีใครพยายามดึงคุณเข้าไปโต้แย้งด้วย วิธีนี้เป็นการแสดงออกว่าคุณรู้ว่าความคิดเห็นของอีกฝ่ายนั้นอาจจะมีส่วนถูก แต่คุณก็ยังคงมั่นใจในจุดยืนของคุณ การเห็นด้วยไม่ได้หมายความว่าคุณจะถอยกลับและเปลี่ยนใจ [3]
    • เช่น ถ้ามีใครพูดว่า “ผมเธอดูเด๋อ” คุณก็อาจจะตอบกลับว่า “ที่เธอว่ามาก็อาจจะใช่” ถ้าเขาพูดต่อว่า “เธอไม่ได้ยินที่ฉันพูดเหรอ ว่าเธอน่ะดูเด๋อด๋าขนาดไหน” ก็ให้ตอบกลับว่า “ที่เธอพูดก็อาจจะถูก แต่เดี๋ยวมันก็ยาว”
    • เทคนิคนี้เป็นการโต้ตอบอย่างมั่นใจมากกว่าจะหยาบคาย เพราะคุณเห็นด้วยกับศัตรูของคุณ คุณทำให้เขาไม่สามารถเถียงคุณกลับได้และทำให้บทสนทนาไม่สามารถไปต่อได้ การที่อีกฝ่ายจะโต้เถียงกับคุณทั้งๆ ที่คุณอาจจะเห็นด้วยกับเขานั้นเป็นเรื่องยาก นอกจากนี้การพูดว่า “เธอ ‘อาจจะ’ พูดถูก” ไม่ได้บอกว่าคนที่มาเกะกะระรานคุณพูดถูกจริงๆ แค่อาจจะถูกเท่านั้น เพราะใครๆ ก็มีสิทธิ์ที่จะมีความคิดเห็นอย่างไรก็ได้
  3. 3
    ขึ้นต้นประโยคด้วยคำว่าฉัน. เทคนิคนี้เป็นเทคนิคทั่วไปที่สอนในคอร์สฝึกกล้าแสดงความคิดเห็นในเกือบทุกคอร์ส ประโยคที่ขึ้นต้นด้วยคำว่าฉันก็คือการที่คุณเริ่มต้นประโยคด้วยการพูดว่า “ฉัน…” วิธีนี้ประสบความสำเร็จเพราะมันเป็นการเน้นไปที่ความต้องการของคุณโดยไม่ต้อนอีกฝ่ายให้จนมุม คุณให้อีกฝ่ายได้คิด รู้สึก และทำในสิ่งที่ดีสุดสำหรับพวกเขา
    • การขึ้นต้นประโยคด้วยคำว่าฉันเป็นเทคนิคที่แสดงถึงความกล้าที่จะแสดงความคิดเห็นมากกว่าจะหยาบคายเพราะคุณกำลังรับผิดชอบต่อความรู้สึกของตัวเอง คุณไม่ได้กล่าวโทษอีกฝ่าย ประโยคที่ขึ้นต้นด้วย “ฉัน” เป็นวิธีสื่อสารกันอย่างเปิดใจเพื่อให้ปัญหาได้รับการแก้ไข
    • ตัวอย่างประโยคที่ขึ้นต้นด้วยฉัน: “ฉันโกรธเวลาที่คุณเหน็บแนมฉัน” “ฉันรู้สึกเหมือนโดนดูถูกเวลาที่คุณเอาความต้องการของตัวเองมาก่อนความต้องการของฉัน” หรือ “ฉันเจ็บปวดเวลาที่คุณพูดกับฉันแบบนั้น”
  4. 4
    สุภาพแต่หนักแน่น. อยู่ในขอบเขตของความสุภาพขณะที่คุณแสดงความคิดเห็นของตัวเอง หลังจากที่คุณพูดในสิ่งที่คุณต้องพูดแล้ว ให้ฟังอีกฝ่ายพูดบ้าง คุณไม่จำเป็นต้องขึ้นเสียงเพื่อให้อีกฝ่ายได้ยินคุณ การทำตัวสุขุมและเยือกเย็นจะทำให้คุณฟังดูมีอำนาจ (และมีความสุภาพ) มากกว่า
    • ก็คือหลีกเลี่ยงท่าทีที่ยิ้มแย้มหรือหัวเราะคิกคักมากเกินไปหลังจากที่คุณพูดออกไปแล้ว คุณสามารถสุภาพได้โดยไม่ต้องลดความสำคัญของตัวเอง ใช้วิธีนี้ทำให้สถานการณ์ดูจริงจังน้อยลงก็ต่อเมื่อมันเหมาะสมกับเรื่องที่คุณกำลังพูดเท่านั้น
    โฆษณา
วิธีการ 3
วิธีการ 3 ของ 4:

รู้ความแตกต่างระหว่างการกล้าแสดงความต้องการกับความหยาบคาย

ดาวน์โหลดบทความ
  1. 1
    เข้าใจว่าความหยาบคายคืออะไร. ความหยาบคายคือการไม่ให้เกียรติคนอื่น ความรู้สึกของคนอื่น ความเชื่อของคนอื่น และความคิดเห็นของคนอื่น เมื่อใครทำกิริยาหยาบคาย เขาก็มักจะเหน็บแนม โกรธเคือง ปรามาส หรือเกะกะระรานผู้อื่น
    • ความหยาบคายยังรวมถึงการตะคอก ใช้ภาษาหยาบคาย ข่มขู่ ทำท่าทางบังคับขู่เข็ญ เช่น ชี้นิ้วหรือแม้กระทั่งผลัก [9]
    • เช่น ริวกับโจ้ถ่างตารอต่อแถวบัตรคอนเสิร์ตทั้งคืน พวกเขาตื่นเต้นมากที่สุดท้ายแถวก็ขยับสักที พวกเขาเก็บเงินมาหลายสัปดาห์เพื่อซื้อบัตรคอนเสิร์ตนี้ แต่จู่ๆ ก็มีพวกผู้ชายที่แก่กว่ามาแทรกแถวหน้าริวกับโจ้ ริวก็บอกว่า “เฮ้ย พวกเรารอมาทั้งคืนแล้วนะ จะมาแซงหน้ากันอย่างงี้ได้ยังไง” แล้วหนึ่งในพวกอันธพาลก็เอาหน้าเข้าไปใกล้ริว เอานิ้วจิ้มหน้าอกริวแรงๆ เพื่อซ้ำสิ่งที่เขาตะคอกว่า “ดูสิไอ้พวกโง่ นี่ไม่ได้ขยับเลย เพราะงั้นหุบปากไปซะ”
    • นี่เป็นตัวอย่างของความหยาบคาย พวกอันธพาลไม่เคารพสิทธิ์และความคิดเห็นของริวกับโจ้ เขาปรามาส ตะคอก ใช้ภาษาหยาบคาย และใช้ภาษากายที่ส่อถึงการคุกคาม
  2. 2
    เข้าใจว่าการกล้าแสดงความต้องการของตัวเองคืออะไร. การเป็นคนกล้าแสดงความต้องการของตัวเองก็คือการ “แสดงความเป็นตัวเองได้อย่างมีประสิทธิภาพและยืนหยัดเพื่อปกป้องความคิดเห็นของตนเอง แต่ในขณะเดียวกันก็เคารพสิทธิและความเชื่อของผู้อื่นด้วย” [2] การกล้าแสดงความต้องการของตัวเองเกี่ยวข้องกับทุกทักษะการสื่อสาร ไม่ว่าจะเป็นการหมายความตามที่พูด การกระทำ ภาษากาย น้ำเสียง และสีหน้า เวลาที่ใครกล้าที่จะสื่อสารความต้องการของตัวเอง ส่วนประกอบทั้งหมดจะสอดคล้องกัน พูดง่ายๆ ก็คือการกล้าแสดงความต้องการของตัวเองก็คือการมั่นใจโดยไม่ก้าวร้าวนั่นเอง
  3. 3
    สังเกตว่าคนที่กล้าแสดงความต้องการของตัวเองจะควบคุมความโกรธได้. บางครั้งคุณก็อาจจะรู้สึกโกรธ และบางครั้งคุณก็มีเหตุผลที่ควรจะโกรธเอามากๆ คนที่กล้าแสดงความต้องการของตัวเองจะพูด ให้เกียรติอีกฝ่ายในขณะที่พูดอย่างตรงไปตรงมาตามสมควร ในขณะที่คนก้าวร้าวจะระเบิดอารมณ์ใส่อีกฝ่าย (ด้วยคำพูดหรือการกระทำ)
    • คนที่กล้าแสดงความต้องการของตัวเองจะวิจารณ์ความคิด/พฤติกรรม ไม่ใช่ตัวบุคคล การพูดว่า "การที่คุณพาดพิงเชื้อชาติกับมาวมันฟังแล้วเจ็บปวดมากเลยนะ" นั้นต่างจาก "แกมันไอ้สวะเหยียดเชื้อชาติ"
  4. 4
    ตระหนักถึงการให้เกียรติผู้อื่น. การกล้าแสดงความต้องการของตัวเองนั้นมีรากฐานมาจากการให้เกียรติซึ่งกันและกัน ถ้าทั้งสองฝ่ายไม่ให้เกียรติกันและกัน คุณก็จะไม่กล้าสื่อสารความต้องการของตัวเอง แต่บทสนทนานั้นจะเต็มไปด้วยความก้าวร้าวและความเฉื่อยชาแทน เมื่อคุณให้เกียรติความรู้สึกของกันและกัน คุณก็จะได้ในสิ่งที่คุณต้องการโดยไม่ก้าวก่ายใคร [1]
    โฆษณา
วิธีการ 4
วิธีการ 4 ของ 4:

รู้สไตล์การสื่อสารของคุณ

ดาวน์โหลดบทความ
  1. 1
    รู้ว่าการตอบโต้อย่างก้าวร้าวเป็นอย่างไร. สไตล์การสื่อสารเป็นสิ่งที่เราเรียนรู้มาตั้งแต่วัยกระเตาะ เพราะฉะนั้นมันก็อาจจะยากที่จะบอกว่าการกล้าแสดงความต้องการของตัวเองนั้นเป็นอย่างไร [10] ถ้าเด็กสังเกตปฏิสัมพันธ์ที่ก้าวร้าว เขาก็มักจะจดจำสไตล์การสื่อสารแบบนั้น บางคนอาจจะตอบโต้คุณอย่างก้าวร้าวเมื่อคุณได้ในสิ่งที่คุณต้องการ เพราะอีกฝ่ายเขารู้สึกว่าตัวเองตกที่นั่งตั้งรับและรู้สึกเหมือนถูกคุกคาม [3] การตอบโต้อย่างก้าวร้าวมีลักษณะดังต่อไปนี้:
    • คนหนึ่งอาจจะพูดว่า “แขกของเราจะมาถึงตอนไหนก็ได้ คุณคิดว่าคุณจะเอาเสื้อเชิ้ตที่ซักแล้วมาให้ผมได้ภายในชาตินี้หรือเปล่า” แล้วอีกฝ่ายก็ตอบโต้ว่า “ฉันต้องจัดการอาหารให้พร้อมก่อน ทำไมคุณไม่ย้ายก้นขี้เกียจๆ ของคุณไปเอาเสื้อเชิ้ตสะอาดๆ มาเองล่ะ” ทั้งสองฝ่ายต่างก็สื่อสารอย่างก้าวร้าว ต่างฝ่ายต่างอยากจะได้ในสิ่งที่ตัวเองต้องการโดยไม่นึกถึงอีกฝ่าย
  2. 2
    รู้ว่าการตอบโต้อย่างเฉื่อยชาเป็นอย่างไร. เวลาที่มีใครได้ในสิ่งที่เขาต้องการในสถานการณ์นั้นๆ คุณก็อาจจะรู้สึกไม่พอใจ โกรธ หรือเหมือนโดนเอาเปรียบ ถ้าคุณตอบโต้อย่างเฉื่อยช้า คุณก็จะไม่ได้ต่อสู้เพื่อสิ่งที่คุณต้องการ [3] การตอบโต้อย่างเฉื่อยชามีลักษณะดังต่อไปนี้:
    • คนหนึ่งอาจจะพูดว่า “แขกของเราจะมาถึงตอนไหนก็ได้ คิดว่าคุณจะเอาเสื้อเชิ้ตที่ซักแล้วมาให้ผมได้ภายในชาตินี้หรือเปล่า” แล้วอีกฝ่ายก็ตอบโต้ว่า “ก็ได้ ถ้าอย่างนั้นฉันว่าอาหารก็คงจะเสร็จช้าละนะ ถ้าทุกคนบ่นก็อย่ามาว่าฉันก็แล้วกัน” คนแรกก้าวร้าวและคนที่สองก็ตอบโต้อย่างเฉื่อยชา คนหนึ่งจะได้ในสิ่งที่เขาต้องการในขณะที่อีกคนหนึ่งไม่ได้ต่อสู้เพื่อความต้องการของตัวเอง
  3. 3
    ตัดสินใจว่าคุณจะตอบโต้อย่างหนักแน่นฝ่ายเดียวหรือเปล่า. แม้ว่าอีกฝ่ายจะก้าวร้าวหรือเฉื่อยชา ก็ให้ตอบโต้อย่างหนักแน่น ปกป้องสิทธิและความรู้สึกของตัวเองด้วยการบอกอีกฝ่ายว่าคุณไม่ชอบอะไร บอกอีกฝ่ายว่าคุณต้องการอะไร [3]
    • คนหนึ่งอาจจะพูดว่า “แขกของเราจะมาถึงตอนไหนก็ได้ คุณคิดว่าคุณจะเอาเสื้อเชิ้ตที่ซักแล้วมาให้ผมได้ภายในชาตินี้หรือเปล่า” อีกฝ่ายสามารถตอบโต้อย่างหนักแน่นได้ด้วยการพูดว่า: “เสื้อเชิ้ตที่ซักแล้วแขวนอยู่ในตู้เสื้อผ้า ฉันต้องจัดการอาหารให้เสร็จก่อน” แม้ว่าคำขอของคนแรกจะยังก้าวร้าวและประชดประชัน แต่คนที่สองสามารถเลือกที่จะตอบโต้อย่างหนักแน่นได้ เธอสามารถปกป้องสิทธิและความรู้สึกของตัวเองได้ด้วยการบอกคนแรกว่า เธอไม่ชอบการประชดประชันและเธอก็จะขอบคุณมากถ้าเขาเห็นว่าทั้งคู่ต่างก็ยุ่งกับการเตรียมงานเลี้ยงให้เรียบร้อย
  4. 4
    รู้ว่าการตอบโต้อย่างหนักแน่นเป็นอย่างไร. ในการตอบโต้อย่างหนักแน่นนั้น ทั้งคุณและอีกฝ่ายต่างก็รู้สึกให้เกียรติและรับฟังซึ่งกันและกัน [3] แม้ว่าคุณจะได้เรียนรู้การตอบโต้อย่างก้าวร้าวหรือเฉื่อยชามาตลอด คุณก็สามารถที่จะเรียนรู้การสื่อสารอย่างหนักแน่นและให้เกียรติอีกฝ่ายได้ [6]
    • คนหนึ่งอาจจะพูดว่า “แขกของเราจะมาถึงตอนไหนก็ได้ ผมมีเสื้อเชิ้ตซักแล้วบ้างไหม” อีกฝ่ายอาจจะตอบว่า “มีค่ะ ในตู้เสื้อผ้ามีหลายตัวเลย ฉันขอเวลาอีก 5 นาทีจัดการเรื่องอาหารก่อนนะคะ” ทั้งสองคนต่างก็บอกความต้องการของตัวเองโดยที่ยังให้เกียรติอีกฝ่ายในเวลาเดียวกัน
    โฆษณา


เกี่ยวกับวิกิฮาวนี้

มีการเข้าถึงหน้านี้ 5,219 ครั้ง

บทความนี้เป็นประโยชน์กับคุณไหม

โฆษณา