ดาวน์โหลดบทความ ดาวน์โหลดบทความ

ขอบเขตคือพื้นที่ระหว่างคุณกับคนอื่น ลองมองขอบเขตให้เหมือนเป็นรั้วกั้นหรือประตูรั้ว ในฐานะผู้รักษาประตูรั้ว คุณสามารถตัดสินใจได้ว่าจะให้คนอื่นเข้าใกล้คุณทั้งทางร่างกายและทางอารมณ์ได้มากแค่ไหน การกำหนดขอบเขตให้ตัวเองคือการที่คุณอนุญาตให้อีกฝ่ายได้พิสูจน์ความน่าไว้วางใจของพวกเขา ก่อนที่คุณจะอนุญาตให้เขาเข้าใกล้ชีวิตคุณมากกว่าเดิม [1]

วิธีการ 1
วิธีการ 1 ของ 4:

เข้าใจขอบเขตที่ดีต่อตัวคุณ

ดาวน์โหลดบทความ
  1. ขอบเขตที่ดีต่อตัวคุณคือสิ่งที่ปกป้องคุณ ทำให้คุณมีอิสรภาพในการดำเนินชีวิตในแบบที่ช่วยให้ชีวิตเจริญรุ่งเรือง รูปแบบขอบเขตของคนเรานั้นตั้งอยู่บนพื้นฐานของสิ่งที่เราได้เรียนรู้จากความสัมพันธ์ที่ผ่านมา ทั้งความสัมพันธ์กับพ่อแม่ พี่น้อง และคนรัก [2]
  2. ก่อนที่คุณจะกำหนดขอบเขตที่ดีได้ คุณต้องรู้ก่อนว่าขอบเขตที่ไม่ดีเป็นอย่างไร ตัวอย่างขอบเขตที่ไม่ดีก็เช่น: [3]
    • อยากอยู่กับคนรักตลอดเวลา
    • บงการคนรัก
    • ไม่สามารถมีมิตรภาพที่ดีกับคนอื่นได้
    • ใช้แอลกอฮอล์และยาเสพติดเพื่อให้ตัวเองรู้สึกสบายใจกับความสัมพันธ์มากยิ่งขึ้น
    • ไม่ต้องการให้ความสัมพันธ์เปลี่ยนแปลงโดยเด็ดขาด
    • ขี้หึงหรือขาดความจริงจัง
  3. ขอบเขตทางอารมณ์ที่ดีคือการที่คุณสามารถบอกความต้องการและความชอบของตัวเองได้ ขอบเขตทางอารมณ์ของคุณคือสิ่งที่แยกอารมณ์ของคุณออกจากอารมณ์ของคนอื่นและปกป้องความภาคภูมิใจในตนเองของคุณ ซึ่งรวมถึง “ความเชื่อ พฤติกรรม ทางเลือก ความรู้สึกรับผิดชอบ และความสามารถในการใกล้กับคนอื่น” [4] ตัวอย่างขอบเขตทางอารมณ์ที่ดีได้แก่: [5]
    • ความคิดที่ว่าสุขภาพและความเป็นอยู่ที่ดีของคุณเป็นสิ่งสำคัญ และคุณจะไม่ยอมถูกบังคับให้ละเลยความต้องการของตัวเอง
    • คุณมีสิทธิ์ที่จะได้รับการปฏิบัติอย่างให้เกียรติ
    • คุณจะไม่ยอมถูกบงการหรือบังคับให้ทำในสิ่งที่คุณไม่อยากทำ แม้ว่าอีกคนจะพยายามทำให้คุณรู้สึกผิดก็ตาม
    • คุณจะไม่ยอมให้คนอื่นตะคอกใส่คุณ ทำให้คุณรู้สึกผิดเกี่ยวกับสิ่งที่คุณเป็นหรือสิ่งที่คุณทำ หรือไม่ยอมให้ใครมาเรียกคุณเสียๆ หายๆ
    • คุณไม่โทษคนอื่นในสิ่งที่เป็นความรับผิดชอบของคุณ และคุณก็ไม่ยอมให้ใครมาโทษคุณในสิ่งที่ไม่ใช่ความรับผิดชอบของคุณเช่นกัน
    • คุณแยกอารมณ์ของตัวเองออกจากอารมณ์ของคนอื่น แม้ว่าคุณจะเห็นใจคนที่คุณห่วงใยก็ตาม
    • คุณสื่อสารความต้องการของตัวเองอย่างตรงไปตรงมา และพยายามใช้ความร่วมมือถ้าเป็นไปได้ เพราะสิ่งนี้ช่วยรักษาการให้เกียรติซึ่งกันและกัน
  4. อีกด้านหนึ่งของขอบเขตทางกายภาพคือ ระยะห่างทางกายระหว่างเรากับอีกคนหนึ่ง คนที่เป็นเพื่อนสนิทกันหรือเป็นคนในครอบครัวเวลาที่มีปฏิสัมพันธ์ต่อกันจะมีระยะห่างน้อยกว่า
    • เวลาที่มีใครมารุกล้ำพื้นที่ส่วนตัวทางกายภาพของเรา เราจะรู้สึกได้เองในใจ มันจะรู้สึกกระอ่วนกระอ่วนและไม่เป็นธรรมชาติ
    • เมื่อคุณคบหาใคร คุณต้องสบายใจกับวิธีแสดงออกทางกายของตัวเองกับอีกคนหนึ่ง พูดคุยกันว่าการแสดงออกทางกายแบบไหนที่ทำให้คุณรู้สึกปลอดภัยและเป็นที่รัก [6]
    • คนยุโรปตอนเหนือและคนที่อยู่ตอนเหนือของทวีปอเมริกามีพื้นที่ระยะห่างระหว่างบุคคลมากที่สุด [7]
    • คนในประเทศตะวันออกกลาง อเมริกาใต้ และยุโรปใต้มีพื้นที่ระยะห่างระหว่างบุคคลน้อยที่สุด [8] และการถูกเนื้อต้องตัวก็เป็นเรื่องปกติ
    • ในวัฒนธรรมตะวันออกการสัมผัสหรือตบหลังเบาๆ เป็นการกระทำที่ต้องห้ามหรือน่ารังเกียจ
  5. ขอบเขตทางกายมักหมายถึงพื้นที่ส่วนตัว ซึ่งพื้นที่ส่วนตัวนี้รวมถึงสิ่งของที่คุณครอบครอง เช่น บ้านของคุณ ห้องนอนของคุณ ทรัพย์สินของคุณ รถของคุณ เป็นต้น คุณมีสิทธิ์ที่จะกำหนดขอบเขตให้คนอื่นเคารพในความเป็นส่วนตัวและสิ่งที่คุณครอบครองได้
    • การยุ่มย่ามกับทรัพย์สินของผู้อื่นโดยไม่ขออนุญาตนั้นถือเป็นการรุกล้ำขอบเขตทางกายภาพ แม้ว่าคุณจะเป็นห่วงความปลอดภัยของเจ้าของหรือสงสัยว่ามันน่าจะมีปัญหาก็ตาม วิธีแก้ปัญหาที่ดีและให้เกียรติเจ้าของทรัพย์สินคือเข้าหาแล้วบอกเขา คุณต้องให้อีกฝ่ายรู้ด้วยการทำเช่นนี้คือการรุกล้ำขอบเขตและไม่ใช่พฤติกรรมที่ให้เกียรติ
  6. กำหนดขอบเขตทางอารมณ์เพื่อให้คุณตระหนักในตนเองมากขึ้น. เมื่อคุณเรียนรู้การเป็นผู้รักษารั้วขอบเขตทางอารมณ์แล้ว ผลลัพธ์ที่ได้คือคุณจะรู้จักตัวตนของคุณมากยิ่งขึ้น [9] ซึ่งก็คือการที่คุณ:
    • มีทัศนคติที่ดีต่อความเป็นตัวของตัวเองที่เป็นอิสระจากผู้อื่น
    • รู้ว่าตัวเองเลือกได้ว่าอยากจะรู้สึกอย่างไรและเลือกได้ว่าจะแสดงออกต่อความรู้สึกนั้นอย่างไร
    • สามารถจับตาดูได้ว่าคุณแบ่งปันเรื่องของตัวเองมากแค่ไหนถึงจะเรียกว่าเคารพตัวเอง
    • สามารถพูดคำว่า “ไม่” เป็นบางครั้งเมื่อคุณต้องยืนยันและซื่อสัตย์กับตัวเอง
    โฆษณา
วิธีการ 2
วิธีการ 2 ของ 4:

กำหนดขอบเขตที่ดีต่อตัวคุณ

ดาวน์โหลดบทความ
  1. ขั้นแรกคือการรู้ว่าตัวเองต้องกำหนดขอบเขตหรือปรับปรุงขอบเขตให้ดีขึ้น ขอบเขตคือส่วนต่อขยายความรักและการให้เกียรติตนเองและผู้อื่น มากกว่าจะเป็นปฏิกิริยาที่มีต่อความกลัวหรือการปฏิเสธ [10] ขอบเขตเป็นเส้นทางสู่อิสรภาพจากความต้องการที่จะเอาใจผู้อื่นเพื่อให้เป็นที่รักและเป็นที่ยอมรับ [11]
    • เช่น รูมเมตขอคุณยืมรถคุณตลอดแล้วก็ไม่เคยเติมน้ำมันหรือออกค่าน้ำมันให้คุณเลย คุณไม่สามารถจ่ายค่าน้ำมันทั้งหมดต่อไปได้
  2. ถามตัวเองว่าคุณหวังจะได้อะไรจากขอบเขตในแต่ละส่วน คุณต้องระบุขอบเขตแต่ละประเภททั้งทางกายภาพและทางอารมณ์ให้กับสถานที่ต่างๆ เช่น ที่บ้าน ที่ทำงาน และกับเพื่อนๆ
    • เช่น คุณอาจจะตัดสินใจว่าคุณจะไม่ยอมให้คนอื่นมาเอาเปรียบคุณและไม่เคารพเวลาและพื้นที่ส่วนตัวของคุณ
    • เช่น คุณอยากให้รูมเมตจ่ายค่าน้ำมันเวลาที่เธอเอารถคุณไปขับ
  3. บอกขอบเขตของคุณให้คนอื่นๆ ในชีวิตของคุณทราบ วิธีนี้จะทำให้พวกเขาเข้าใจความคาดหวังและความต้องการของคุณ
    • เช่น บอกรูมเมตของคุณดีๆ ด้วยท่าทีเรียบๆ ว่า คุณอยากให้เธอช่วยบำรุงรักษารถด้วยการจ่ายค่าน้ำมัน ถ้าเธอไม่อยากจ่าย เธอก็ไม่ต้องใช้รถของคุณ
    • เช่น ถ้าเพื่อนๆ มีนิสัยชอบโผล่มาหาคุณโดยไม่บอกล่วงหน้าและเป็นสิ่งที่กวนใจคุณ บอกเพื่อนๆ ของคุณว่าคุณอยากให้พวกเขาโทรบอกคุณก่อนที่จะมา การกำหนดขอบเขตยังรวมไปถึงในช่วงเวลาที่มีอะไรเกิดขึ้น (เช่น มีใครยืมของไปโดยไม่ขอก่อน) คุณจะสามารถพูดเรื่องนี้และให้อีกคนรู้ได้ว่าคุณไม่ยอมรับพฤติกรรมแบบนี้ บอกเขาดีๆ ด้วยท่าทีเรียบๆ บอกรูมเมตของคุณว่าคุณอยากให้เธอขออนุญาตก่อนยืมรถคุณไปใช้
  4. สำหรับหลายคน การรักษาขอบเขตคือส่วนที่ท้าทายที่สุดของการมีขอบเขต คุณไม่เพียงแต่ช่วยให้คนอื่นเคารพขีดจำกัดของคุณเท่านั้น แต่ยังเป็นการรักษาพื้นที่ส่วนตัวของคุณด้วย
    • เช่น ถ้ารูมเมตของคุณลืมให้เงินค่าน้ำมันคุณ เตือนเธออย่างนุ่มนวลแต่บอกให้ชัดเจน
    • คุณอาจจะเผอเรอและลืมไปบ้าง แต่อย่าลืมว่าคุณยังอยู่ในกระบวนการสร้างขอบเขตให้ตัวเอง กำหนดการตัดสินใจของคุณขึ้นมาใหม่และรักษาขอบเขตของคุณเอาไว้ให้ดี
    • คุณอาจจะพบว่าคนอื่นต่อต้านขอบเขตของคุณในช่วงแรก แต่ถ้าพวกเขาให้เกียรติคุณ พวกเขาจะเต็มใจปรับตัว
    • จำไว้ว่าคุณไม่ได้กำลังพยายามเปลี่ยนคนอื่นหรือควบคุมพวกเขา แต่ความตั้งใจของคุณคือการกำหนดว่าคุณอยากให้คนอื่นปฏิบัติกับคุณอย่างไร คุณจะบอกความต้องการของคุณผ่านคำพูดและการกระทำของคุณ เช่น ถ้าเพื่อนยังมาหาโดยไม่โทรมาบอกก่อน เพื่อรักษาขอบเขตนี้ไว้ คุณอาจจะบอกเพื่อนว่า “แย่จังเลยที่เธออุตส่าห์มา แต่ฉันติดงานโปรเจ็กต์ที่ทำงานอยู่ ฉันเจอเธอตอนนี้ไม่ได้ ครั้งหน้าฉันหวังว่าเธอจะโทรมาบอกก่อนนะ” กลยุทธ์นี้เป็นการบังคับใช้ขอบเขตอย่างสุภาพเพื่อให้คนอื่นเคารพเวลาและพื้นที่ส่วนตัวของคุณ
  5. การพูดตรงๆ และพูดให้กระชับนั้นเป็นวิธีที่จะให้คนอื่นรู้ว่าขอบเขตของคุณอยู่ตรงไหนได้อย่างสุภาพ ในทางตรงกันข้าม การพูดอ้อมค้อม บ่นพึมพำ หรือการอธิบายยาวๆ จะสื่อความสับสน [12] ตัวอย่างการสื่อสารอย่างตรงไปตรงมาก็คือ:
    • คุณ: “นิก เราเล่นเกมมาหลายชั่วโมงแล้วนะ เหนื่อยแล้วอยากนอน”
    • นิก: “เฮ้ย ไรวะนี่คืนวันศุกร์นะเว้ย มาดูหนังสักเรื่องไม่ก็สั่งพิซซ่ากันดีกว่า”
    • คุณ: “ไม่ได้ว่ะเพื่อน แกต้องไปล่ะ ฉันจะไปนอน”
  6. ส่วนหนึ่งที่ยากที่สุดของการกำหนดและรักษาขอบเขตของเราก็คือ ความกลัวว่าเราจะดูหยาบคายหรือเห็นแก่ตัว คุณต้องเอาตัวเองมาก่อนด้วยการตระหนักและให้เกียรติความรู้สึกของตัวเอง ซึ่งไม่ได้หมายความว่าคุณไม่เห็นความสำคัญของคนอื่นหรือความรู้สึกของคนอื่น ความต้องการที่จะได้มาซึ่งขอบเขตของตัวเองขึ้นอยู่กับความเต็มใจที่จะดูแลตัวเองเพื่อที่คุณจะได้เป็นที่พึ่งให้คนอื่นได้
    • อนุญาตให้ตัวเองได้ตระหนักและให้เกียรติขอบเขตที่คุณต้องมีเพื่อให้ทำสิ่งต่างๆ ได้อย่างประสบความสำเร็จ
    • เมื่อคุณใช้ชีวิตตามขอบเขตของคุณ คนอื่นสามารถเลือกได้ว่าเขาจะเคารพขอบเขตของคุณหรือไม่ เมื่อพวกเขาเลือกที่จะไม่เคารพขอบเขตของคุณ คุณก็มีโอกาสที่จะบังคับใช้ขอบเขตด้วยการยืนยันอย่างหนักแน่น
  7. คุณมีสิทธิ์ที่จะกำจัดคนที่เป็นพิษออกจากชีวิตของคุณได้ ซึ่งได้แก่คนที่บงการและทำร้ายคุณ การเรียนรู้ที่จะกำหนดขอบเขตที่ดีต่อตัวเองนั้นต้องใช้เวลา แต่จะสำเร็จแน่นอนถ้าคุณอยู่ท่ามกลางคนที่พร้อมจะสนับสนุนคุณ เคารพคุณและการตัดสินใจของคุณ [13]
    • คุณไม่จำเป็นต้องปล่อยให้ความวิตกกังวลหรือความภาคภูมิใจในตัวเองต่ำมาขัดขวางไม่ให้คุณดูแลตัวเอง
    • คุณไม่ได้มีหน้าที่รับผิดชอบต่อปฏิกิริยาของคนอื่นที่มีต่อคุณขณะที่คุณรักษาขอบเขตที่ดีของตัวเอง
  8. เริ่มจากขอบเขตเล็กๆ ในระดับที่คุณจัดการได้ขณะที่คุณกำลังฝึกทักษะใหม่นี้ เลือกสิ่งที่ไม่ได้คุกคามคุณ
    • เช่น คุณอาจจะมีเพื่อนที่ยืนชิดคุณมากไปหน่อยหรือมองข้ามไหล่คุณขณะที่คุณกำลังอ่านอีเมล เวลานี้เป็นเวลาดีที่จะได้ฝึกการขอพื้นที่ส่วนตัวมากขึ้น [14]
    • ขณะที่คุณระบุและกำหนดขอบเขตที่ดีของตัวเองขึ้นมา คุณจะพบว่าคุณสามารถรักษาขอบเขตต่างๆ ได้ง่ายขึ้น ในขณะเดียวกันคุณก็จะสังเกตได้ว่าคุณมีความมั่นใจมากขึ้นและความสัมพันธ์ของคุณก็ดีขึ้นด้วย
  9. การกำหนดขอบเขตเป็นขั้นตอนที่ดีในการพัฒนาความสัมพันธ์ที่ดี มิตรภาพที่ลึกซึ้งต้องใช้เวลาในการสร้าง และไม่สามารถรีบเร่งได้ด้วยการก้าวข้ามขอบเขตทางสังคมหรือแบ่งปันกันมากกว่าที่ควร
    • คุณยังสามารถรู้สึกเชื่อมโยงกับคนอื่นได้แม้ว่าคุณจะมีขอบเขตที่ดีก็ตาม แต่คุณจะสามารถเคารพตัวเอง เวลาของคุณ และความต้องการของคุณได้โดยที่ไม่ต้องไปข้องเกี่ยวกับคนอื่น [15]
    • คุณควรรู้สึกเป็นอิสระในการออกไปเที่ยวกับคนอื่นๆ ความสัมพันธ์ที่ดีไม่ได้บังคับให้คุณต้องขออนุญาตก่อนจะทำอะไร ถ้าแฟนของคุณหึงเวลาที่คุณไปไหนมาไหนกับเพื่อนๆ ให้พูดคุยกันถึงการกำหนดขอบเขตในเรื่องการทำกิจกรรมของคุณ
    โฆษณา
วิธีการ 3
วิธีการ 3 ของ 4:

กำหนดขอบเขตที่ทำงาน

ดาวน์โหลดบทความ
  1. คุณอาจจะทำงานมากเกินไปได้ง่ายๆ ถ้าคุณไม่จริงจังหรือรักษาขอบเขตของคุณ คุณต้องให้เพื่อนร่วมงานเข้าใจขอบเขตของคุณด้วยการสื่อสารกับพวกเขาให้ชัดเจน [16]
    • เช่น เพื่อนร่วมงานบางคนอาจทึกทักเอาว่าคุณจะตอบอีเมลตลอดเวลา ถ้าคุณอยากจะตอบอีเมลเฉพาะในเวลางานเท่านั้น คุณก็ต้องบอกเขา ถ้าเพื่อนร่วมงานพูดว่า “ฉันจะส่งร่างโปรเจ็กต์ให้คุณคืนนี้” คุณก็อาจจะตอบว่า “เดี๋ยวมาถึงออฟฟิศฉันจะดูให้นะคะ”
  2. ถ้าภาระงานของคุณชักจะมากเกินไป ขอให้หัวหน้าหาคนมาช่วยคุณ คุณยังสามารถเสนอแนะวิธีที่จะจัดเรียงภาระงานของคุณใหม่เพื่อให้เสร็จตามความจำเป็นในเวลานี้และจัดลำดับงานอื่นๆ
  3. การรักษาขอบเขตเพื่อให้ที่ทำงานยังคงความเป็นมืออาชีพและทำงานได้อย่างมีประสิทธิภาพนั้นเป็นเรื่องสำคัญมาก บริษัทของคุณอาจจะมีนโยบายในที่ทำงานเพื่อกำหนดขอบเขตบางอย่างขึ้นมา โดยเฉพาะอย่างยิ่งขอบเขตในเรื่องของการให้เกียรติสถานที่ การใช้เทคโนโลยี และอื่นๆ [17]
    • ถ้าคุณอยู่ในตำแหน่งการจัดการ คุณสามารถช่วยพัฒนานโยบายเหล่านี้เพื่อให้แน่ใจว่ามีขอบเขตที่เหมาะสมได้
  4. ตั้งขอบเขตเวลาของคุณด้วยการกำหนดโครงสร้างการทำงานในแต่ละวัน นำระเบียบวาระเข้าประชุมด้วยเพื่อที่การพูดคุยจะได้มีประสิทธิภาพสำหรับทุกคน ถ้าคุณเสียเวลาไปกับการตอบอีเมลมากเกินไป ให้จำกัดเวลาตัวเองเช็กอีเมลได้ไม่เกิน 15 นาทีวันละ 2 – 3 ครั้ง
  5. การที่จะมีใครสักคนล้ำเส้นขอบเขตที่คุณตั้งไว้เป็นสิ่งที่เลี่ยงไม่ได้ ลองคิดดูว่าคุณจะตอบโต้อย่างไร การหยวนๆ ให้อาจได้ผลแค่ครั้งเดียว แต่จำไว้ว่าขอบเขตที่ไม่แน่นอนนั้นจะไม่ค่อยได้รับการเคารพเท่าไหร่นัก [18]
    โฆษณา
วิธีการ 4
วิธีการ 4 ของ 4:

ออกจากความสัมพันธ์ที่ใช้ความรุนแรงหรือบังคับจิตใจ

ดาวน์โหลดบทความ
  1. พฤติกรรมบางอย่างไม่ได้เป็นแค่ขอบเขตที่ไม่ดี แต่เป็นการใช้ความรุนแรงและเป็นการบงการคนอื่น ตัวอย่างต่อไปนี้เป็นสัญญาณเตือนถึงพฤติกรรมที่อาจเป็นการใช้ความรุนแรงหรือบงการ: [19]
    • การทำร้ายร่างกาย: อาจเป็นการตี ตบ ต่อย หรือการทำอันตรายทางร่างกายในแบบอื่นๆ
    • ข่มขู่ว่าจะใช้ความรุนแรง: ศูนย์สตรีแห่งมหาวิทยาลัยนอร์ธเวสเทิร์นกล่าวว่า “ความสัมพันธ์ที่ดีต้องไม่มีการข่มขู่” [20]
    • ทำลายข้าวของ: วิธีนี้เป็นการทำให้อีกฝ่ายกลัวและอาจนำไปสู่การทำร้ายร่างกายได้
    • ใช้การบังคับระหว่างมีปากเสียง: บางคนอาจจะหน่วงเหนี่ยวทางกายหรือปิดทางเพื่อไม่ให้คุณถอยกลับไปยังที่ปลอดภัยได้
    • หึงหวง: คนที่ขี้หึงอาจจะตั้งคำถามหรือจับตาดูพฤติกรรมของคนรัก
    • พฤติกรรมควบคุม: บางคนอาจจะยุ่มย่ามกับทุกย่างก้าวของคุณมากเกินไปจนถึงขั้นที่ว่าเริ่มควบคุมรูปลักษณ์และกิจกรรมของคุณ การควบคุมเห็นได้ชัดจากการซักไซ้อีกฝ่ายว่าเธอไปไหนมา ทำอะไร อยู่กับใคร หรือทำไมเธอถึงกลับบ้านดึก
    • รวบรัด: คนที่ชอบใช้ความรุนแรงอาจจะกดดันให้คุณมาคบหากับเขาก่อนที่จะมีเวลามากพอในการพัฒนาความรู้สึกและความปรารถนาที่อยากจะผูกมัด
    • แยกตัวคุณจากคนอื่น: อาจรวมถึงการพยายามลบการติดต่อระหว่างคุณกับเพื่อนๆ และครอบครัว
    • ทารุณสัตว์หรือเด็ก: คนที่ชอบใช้ความรุนแรงจะใช้วิธีนี้ข่มขู่คุณให้ทำในสิ่งที่เขาต้องการโดยไม่สนใจความเจ็บปวดหรือความรู้สึกของสัตว์หรือเด็ก
  2. ถ้าคุณสังเกตได้ถึงพฤติกรรมที่ใช้ความรุนแรงหรือบงการในความสัมพันธ์ของคุณ การคุยกันก็อาจเสียเวลาเปล่า แม้คุณจะตั้งขอบเขตดีๆ แล้ว แต่พฤติกรรมของคนที่ชอบใช้ความรุนแรงอาจไม่จบได้ด้วยการพูดคุย ถ้าคุณสามารถยุติความสัมพันธ์ได้อย่างปลอดภัย ให้ออกมาจากสถานการณ์นั้นให้เร็วที่สุดเท่าที่จะทำได้ [21]
  3. ถ้าคุณไม่สามารถออกมาจากความสัมพันธ์ได้อย่างปลอดภัย ให้จัดตั้งกลุ่มสนับสนุนของกลุ่มคนที่เห็นความสำคัญของความปลอดภัยของคุณ ซึ่งอาจจะเป็นเพื่อนๆ หรือครอบครัวที่คุณไว้ใจได้ [22]
    • กำหนดคำหรือประโยคที่เป็นรหัสลับเพื่อส่งสัญญาณให้คนในกลุ่มสนับสนุนรู้ว่าคุณต้องการความช่วยเหลือด่วน วิธีนี้อาจจะยากถ้าคนที่ชอบใช้ความรุนแรงควบคุมกิจกรรมของคุณอย่างเข้มงวดและไม่เคยปล่อยให้คุณอยู่คนเดียว
    • ใช้โทรศัพท์หรืออินเทอร์เน็ตติดต่อคนภายนอก ตั้งรหัสปลอดภัยเอาไว้เพื่อที่การพูดคุยของคุณจะได้เป็นส่วนตัว
    • เขียนรายการหรือจำเบอร์โทรศัพท์สถานที่และคนที่คุณสามารถขอความช่วยเหลือได้
    • รู้ว่าสถานที่ฉุกเฉินสำหรับความเจ็บป่วยทางกายและแหล่งช่วยเหลือท้องถิ่นอยู่ที่ไหน
  4. วางแผนเส้นทางที่คุณจะไปยังสถานที่ปลอดภัย เตรียมพร้อมสำหรับการทิ้งสิ่งของส่วนใหญ่เอาไว้ เช่น เสื้อผ้าและข้าวของต่างๆ เอาไปเฉพาะของที่จำเป็น [23]
  5. ตั้งค่าความปลอดภัยในโทรศัพท์มือถือและคอมพิวเตอร์. คุณต้องตั้งค่าความปลอดภัยไว้ในโทรศัพท์มือถือและคอมพิวเตอร์เพื่อที่คนที่ใช้กำลังกับคุณจะได้ไม่สามารถติดตามหรือพบสถานที่ที่คุณอยู่
  6. ศูนย์ข้อมูลความรุนแรงต่อเด็ก สตรี และความรุนแรงในครอบครัวมีสถานที่พักพิงแก่เด็กและสตรีที่ได้รับความรุนแรง คุณสามารถติดต่อได้ที่เบอร์ 0-2306-8774 [24] คุณจะได้อยู่ในสถานที่พักพิงชั่วคราวก่อนจะมีคนพาคุณไปรับบริการยังหน่วยงานเฉพาะทางที่เกี่ยวข้องต่อไป
  7. ขอให้ศาลออกคำสั่งห้ามกระทำการหรือห้ามติดต่อ. ถ้าความสัมพันธ์เป็นอันตรายต่อตัวคุณ ถ้าจำเป็นคุณสามารถใช้กระบวนการทางกฎหมายเพื่อให้ศาลช่วยออกคำสั่งห้ามกระทำการหรือติดต่อกับคุณได้
    โฆษณา

เคล็ดลับ

  • ขอบเขตยังรวมถึงข้อมูลส่วนตัวของคุณด้วย ลองคิดดูว่าคุณรู้สึกสบายใจที่จะบอกข้อมูลส่วนตัวกับคนรักหรือเปล่า คุณไม่จำเป็นต้องบอกข้อมูลบัญชีธนาคาร รหัสอีเมล และข้อมูลที่เกี่ยวกับความปลอดภัยอื่นๆ กับแฟน [25]


โฆษณา

เกี่ยวกับวิกิฮาวนี้

มีการเข้าถึงหน้านี้ 10,273 ครั้ง

บทความนี้เป็นประโยชน์กับคุณไหม

โฆษณา