PDF download ดาวน์โหลดบทความ PDF download ดาวน์โหลดบทความ

งานเลี้ยงเด็กเป็นงานที่ต้องอาศัยความอดทนและวุฒิภาวะสูงมาก แต่ก็เป็นงานที่สนุกได้เช่นกัน! ถ้าคุณอยากทำงานเป็นพี่เลี้ยงเด็ก คุณอาจจะไม่รู้ว่าจะเริ่มต้นยังไงดี ไม่รู้ว่าจะหาลูกค้าและคิดค่าบริการยังไง หรือไม่รู้ว่าพี่เลี้ยงเด็กที่ดีต้องมีลักษณะยังไงบ้าง ไม่ต้องกังวล ขอแค่คุณเตรียมตัวให้พร้อมและทุ่มเทเพียงเล็กน้อย งานเลี้ยงเด็กก็อาจกลายเป็นงานที่ทั้งสนุกและเติมเต็มคุณได้ (แถมยังช่วยให้คุณมีรายได้เพิ่มด้วย!)

วิธีการ 1
วิธีการ 1 ของ 5:

เป็นพี่เลี้ยงเด็กที่ประสบความสำเร็จ

PDF download ดาวน์โหลดบทความ
  1. การเป็นพี่เลี้ยงเด็กนั้นเป็นทั้งงานและเป็นทั้งโอกาสที่คุณจะได้อยู่กับเด็กๆ เด็กจะเชื่อฟังคุณและปฏิบัติตามกฎของคุณมากขึ้นถ้าพวกเขาชอบคุณ และพวกเขาก็จะเริ่มชอบคุณเร็วขึ้นหากคุณพยายามพัฒนาความสัมพันธ์กับพวกเขา คุยกับพวกเขา ถามคำถาม และหยอกล้อเพื่อพัฒนาความสัมพันธ์ที่ดี เด็กเล็กอาจจะไม่ค่อยอยากพูดมากเท่าไหร่ เพราะฉะนั้นพยายามมีส่วนร่วมในการเล่นหรือกิจกรรมต่างๆ แทน
  2. หากเด็กที่คุณดูแลอายุต่ำกว่า 3 ปี เป็นไปได้ว่าเขายังใส่ผ้าอ้อมอยู่ หากคุณไม่เคยเปลี่ยนผ้าอ้อมให้เด็กมาก่อน ขอให้พ่อแม่สอนคุณว่าต้องทำยังไง
  3. คุณควรรู้วิธีป้อนนมขวด ใช้ช้อนป้อนอาหาร และดูแลเด็กให้ปลอดภัยเมื่ออยู่ในครัว
    • ให้เด็กกินอาหารที่ดีต่อสุขภาพ อย่าปล่อยให้เด็กกินอะไรตามใจปากเพราะนั่นไม่ใช่ลักษณะของพี่เลี้ยงเด็กที่ดี บอกพวกเขาว่าก่อนกินแครกเกอร์จะต้องกินผลไม้ชิ้นนึงก่อน เช่น แอปเปิล แคร์รอต องุ่น และส้ม
    • อย่าให้เด็กกินสิ่งที่ไม่ได้รับอนุญาต (เช่น คุกกี้หรือไอศกรีม) บ่อยเกินไป
  4. เตือนล่วงหน้าก่อนพาพวกเขาเข้านอน คุณอาจจะอนุญาตให้พวกเขานอนดึกกว่าเวลาที่พ่อแม่กำหนดได้ 10-15 นาที แต่ต้องบอกพวกเขาว่าวันนี้พิเศษนะ ส่วนวันอื่นๆ คุณต้องบอกให้ชัดเจนว่าถึงเวลาเข้านอนแล้ว เตรียมรับมือเมื่อเด็กๆ อิดออด ถ้าเป็นเด็กโต คุณต้องแยกให้ออกว่าอะไรคือปัญหาและอะไรคือการถ่วงเวลา ถ้าเป็นเด็กทารก คุณต้องดูให้ดีว่าสภาพแวดล้อมในการนอนหลับนั้นปลอดภัย
    • กิจวัตรช่วงท้ายของวันช่วยให้เด็กๆ รู้สึกผ่อนคลายและส่งสัญญาณให้ร่างกายรู้ว่าถึงเวลานอนแล้ว ถามพ่อแม่ว่าเด็กๆ มักจะทำอะไรก่อนนอน พวกเขาอาจจะมีกฎ เช่น ห้ามดูทีวีหรือเล่นคอมพิวเตอร์ก่อนนอนหนึ่งชั่วโมง ถ้าปกติแล้วพวกเขาจะอ่านหนังสือ คุยกันเบาๆ หรือฟังเพลงก่อนนอน ก็ให้ทำตามกิจวัตรเดิม [1]
    • ทำตามหลักการพื้นฐาน เช่น พาเด็กเข้าห้องน้ำ (หรือใส่ผ้าอ้อมกลางคืน) ช่วยเด็กแปรงฟัน นอกเหนือจากนั้นให้ถามพ่อแม่ว่าเด็กๆ ต้องทำอะไรเพิ่มเติมก่อนเข้านอนอีกไหม [2]
    • ให้เด็กทารก (และเด็กเล็ก) นอนในพื้นที่ที่กำหนดไว้เสมอ (ไม่ว่าจะเป็นเตียง เตียงเด็กอ่อน เปลเด็ก เป็นต้น) ซึ่งเป็นสิ่งที่สำคัญมากสำหรับเด็กทารกที่อาจได้รับบาดเจ็บจากการนอนในพื้นที่ที่ไม่เหมาะสม หากมีเบาะรอง หมอน ตุ๊กตาสัตว์ และสิ่งของอื่นๆ อยู่ในเตียงเด็กอ่อน ให้นำออกก่อน และอย่าลืมให้เด็กทารกนอนหงายเพื่อช่วยลดความเสี่ยงที่เด็กจะหายใจไม่ออก
    • ให้เด็กมีสิ่งที่ช่วยให้นอนหลับสบายขึ้น เช่น จุกนมหลอก ตุ๊กตาสัตว์ หรือผ้าห่มที่พวกเขานอนด้วยเสมอ แต่อย่าให้ตุ๊กตาสัตว์และสิ่งของอื่นๆ ที่คล้ายกันกับเด็กทารก [3]
    • หากเด็กเรียก/ปลุกคุณ ให้รอสักครู่ก่อนค่อยเข้าไปเพราะเด็กอาจจะหลับไปเองได้ ถ้าเด็กทารกไม่ยอมหลับไปเอง ให้ลูบแขนหรือท้องของเด็กเบาๆ จุกนมหลอกก็ช่วยได้เช่นกัน ลองดูว่าพ่อแม่ใช้วิธีไหนในการทำให้เด็กสงบสติอารมณ์ได้
  5. แม้ว่าหน้าที่ของคุณจะเป็นการดูแลเด็ก แต่คุณก็ควรมีปฏิสัมพันธ์กับพวกเขาให้ได้มากที่สุดผ่านการเล่น ซึ่งการเล่นก็จะแตกต่างกันไปตามวัย ถ้าคุณดูแลเด็กทารก คุณก็อาจจะไม่ได้ทำอะไรมากนอกจากทำหน้าทำตาตลกๆ หรือถือของเล่น ใช้ความคิดสร้างสรรค์ในการหากิจกรรมมาให้เด็กๆ ทำเพื่อให้พวกเขาสนใจและไม่ก่อปัญหา เกมสมมุติก็สนุกเช่นกัน คุณอาจจะคิดท่าจับมือทักทายกับเด็กๆ แบบง่ายๆ ด้วยก็ได้
    • ให้ความบันเทิง พ่อแม่ชอบพี่เลี้ยงเด็กที่ช่วยทำให้เด็กๆ รู้สึกสนุกสนานและได้เรียนรู้สิ่งใหม่ๆ โดยที่ยังคงสามารถรักษากฎระเบียบและวินัยเอาไว้ได้ บอกให้เด็กเอาของเล่นที่พวกเขาชอบมาอวด ถามพ่อแม่และพี่เลี้ยงเด็กคนอื่นๆ ว่า เด็กแต่ละช่วงวัยชอบเล่นเกมอะไร และพาเด็กๆ ออกไปนอกบ้านถ้าทำได้
    • การเล่นของเล่น บอร์ดเกม และเกมที่เน้นกิจกรรมเป็นการเล่นที่เหมาะกับเด็กโต ถามว่าพวกเขาชอบทำอะไร หรือคุณอาจจะเอาเกมและของเล่นที่คุณชอบสมัยที่คุณอายุเท่าพวกเขามาเล่นด้วยก็ได้ เช่น เกมเศรษฐี, เกมแห่งชีวิต, เกม Candy Land, เกม Uno หรือเกมไพ่อื่นๆ
    • ให้เด็กอยู่ห่างจากหน้าจอ พ่อแม่จ้างคุณมาดูแลเด็ก เพราะฉะนั้นอย่าปล่อยเขาไว้หน้าทีวีตลอดทั้งวัน
  6. เด็กๆ ชอบฟังนิทาน ต่อให้คุณเป็นนักเล่าเรื่องที่ห่วยที่สุดพวกเขาก็ยังชอบฟัง เตรียมเทพนิยายที่ไม่ค่อยมีใครรู้จักที่พวกเขาอาจจะยังไม่เคยฟังมาก่อน เช่น "ภูตจิ๋วมหัศจรรย์กับช่างทำรองเท้า" หรือ "เจ้าหญิงระบำในแดนปริศนา" หรือคุณจะเล่านิทานเป็นรางวัลก็ได้นะ
  7. ถ้าคุณต้องดูแลเด็กเป็นเวลานาน คุณอาจจะทำโปรเจ็กต์ด้วยกันเพื่อความสนุกสนาน ลองทำโครงงานศิลปะและงานฝีมือ หรือทำอาหาร/อบขนมสูตรใหม่ๆ (หรือสูตรเดิมที่ชอบ) ด้วยกัน บราวนี คุกกี้ และเค้กแป้งสำเร็จรูปก็อร่อยนะ [4]
    • การสร้างสรรค์อะไรสักอย่างขึ้นมาเป็นการใช้เวลาให้เกิดประโยชน์ ช่วยฆ่าเวลา และทำให้เด็กภูมิใจในตัวเอง
  8. เกมง่ายๆ อย่างวิ่งไล่จับและเล่นซ่อนหาทำให้เด็กได้เคลื่อนไหวร่างกายซึ่งจะช่วยให้พวกเขามีสุขภาพที่แข็งแรง เต้นด้วยกันก็ถือเป็นการออกกำลังกายนะ!
    • ถ้าคุณไม่สามารถออกจากบ้านได้ ให้ออกมาเล่นตรงสวนหลังบ้านถ้าทำได้
  9. เด็กๆ ควบคุมเวลาได้ไม่ดีเท่าผู้ใหญ่ และมักจะลืมทำตามความต้องการพื้นฐานของร่างกายอยู่บ่อยๆ ประมาณทุกหนึ่งชั่วโมงให้คอยถามว่าอยากเข้าห้องน้ำ หิวน้ำ เหนื่อย หรือว่าหิวหรือเปล่า ส่วนใหญ่แล้วเด็กจะไม่คิดว่าต้องบอกคุณเรื่องพวกนี้ เพราะฉะนั้นอย่าลืมถาม
  10. สมมุติว่าพ่อแม่ให้ตารางกิจวัตรประจำวันพื้นฐานมาคร่าวๆ คุณก็ต้องปฏิบัติตามนั้น คุณต้องป้อนอาหารเด็กในแต่ละมื้อตามเวลาที่เหมาะสม ให้พวกเขานอนกลางวัน ทำการบ้านให้เป็นเวลา เป็นต้น [5]
  11. หากมีเวลาให้นั่งดูหนังกับเด็กๆ คุณอาจจะดูหนังกับเด็กๆ ในช่วงของท้ายวันเพื่อให้เด็กๆ ได้เตรียมตัวก่อนที่พ่อแม่จะมาถึง แต่ถ้าคุณดูแลเด็กไม่ถึง 3 ชั่วโมง ข้อนี้ไม่ควรทำ เพราะพ่อแม่อาจจะโกรธคุณที่ปล่อยให้เด็กดูทีวีครึ่งหนึ่งของเวลาที่เขาจ้างคุณ ตัวอย่างหนังที่คุณอาจจะชวนเด็กดูได้แก่ :
    • ทาร์ซาน
    • นีโม...ปลาเล็ก หัวใจโต๊...โต
    • ราพันเซล เจ้าหญิงผมยาวกับโจรซ่าจอมแสบ
    • ราล์ฟ วายร้ายหัวใจฮีโร่
    โฆษณา
วิธีการ 2
วิธีการ 2 ของ 5:

เคล็ดลับการเลี้ยงเด็ก

PDF download ดาวน์โหลดบทความ
  1. ถามเรื่องที่คุณอยากรู้กับพ่อแม่ก่อนตกลงรับงาน. คุณไม่จำเป็นต้องรับงานเลี้ยงเด็กทุกงานที่พ่อแม่เสนอมา คุณต้องสบายใจและพร้อมที่จะรับผิดชอบ พูดคุยกับพ่อแม่ก่อนที่คุณจะรับดูแลเด็กเพื่อให้แน่ใจว่าตัวเองพร้อม [6] คำถามที่คุณอาจจะถามได้แก่ :
    • ฉันจะต้องดูแลเด็กกี่คน
    • เด็กๆ อายุเท่าไหร่
    • คุณจะออกจากบ้านและกลับมาถึงบ้านกี่โมง
    • คุณต้องการให้พี่เลี้ยงเด็กทำอะไรบ้าง ฉันต้องป้อนอาหารเด็กและพาเด็กเข้านอนหรือเปล่า
    • ฉันต้องช่วยเด็กๆ เวลาแปรงฟันหรือเข้าห้องน้ำหรือไม่
    • เด็กแพ้อะไรไหม
    • หากเกิดเพลิงไหม้ฉันต้องทำยังไง
  2. แม้ว่าไม่น่าจะมีเหตุร้ายเกิดขึ้น แต่กันไว้ดีกว่าแก้เสมอ ในรายการเบอร์โทรศัพท์ของคุณ ให้จดที่อยู่บ้านและเบอร์โทรศัพท์บ้านไว้ด้วยถ้ามี หากเกิดกรณีฉุกเฉินคุณจะได้สามารถแจ้งที่อยู่และเบอร์โทรศัพท์ได้ทันที เบอร์โทรศัพท์ที่คุณต้องมีได้แก่ : [7]
    • เบอร์พ่อแม่ของเด็ก
    • เบอร์เพื่อนบ้าน
    • เบอร์แพทย์
    • เบอร์สถาบันการแพทย์ฉุกเฉิน
    • เบอร์แจ้งเหตุเพลิงไหม้และสัตว์มีพิษเข้าบ้าน
    • เบอร์ตำรวจ
  3. เขียนเช็กลิสต์สิ่งต่างๆ ของแต่ละครอบครัวที่คุณดูแลเด็กให้. เช็กลิสต์จะช่วยให้คุณทำงานง่ายขึ้นมาก เขียนตารางเวลาของเด็ก กฎระเบียบของบ้าน และอาหารที่เด็กกินได้ลงในเช็กลิสต์ รวมถึงข้อมูลเกี่ยวกับเวลาอาหารแต่ละมื้อ เวลานอนกลางวัน และเวลาเข้านอน นอกจากนี้ให้เขียนไว้ด้วยว่าพ่อแม่อนุญาตให้คุณพาเพื่อนมาบ้านหรือไม่ และเพื่อนคนไหนบ้างพ่อแม่เด็กอนุญาตให้มาได้ [8]
    • นำเช็กลิสต์ติดตัวไปด้วยทุกครั้งที่คุณไปดูแลเด็ก คุณจะได้ทำทุกอย่างให้เสร็จครบถ้วนได้อย่างสะดวก ซึ่งจะช่วยให้คุณได้ใช้เวลาคุณภาพร่วมกับเด็กๆ มากขึ้น
  4. เตรียม “กระเป๋าพี่เลี้ยงเด็ก” ที่มีสิ่งของต่างๆ และของเล่นอยู่ในนั้น. การเตรียมกระเป๋าล่วงหน้าช่วยให้คุณประหยัดเวลาได้ในวันที่คุณต้องไปดูแลเด็ก และยังทำให้คุณกลายเป็นพี่เลี้ยงเด็กที่เด็กๆ พากันร้องขอเพราะคุณมีของเล่นและเกมพิเศษต่างๆ อยู่ในกระเป๋า ในกระเป๋าของคุณอาจจะมี : [9]
    • เช็กลิสต์การดูแลเด็กของคุณ
    • เคล็ดลับสำหรับพี่เลี้ยงเด็ก
    • เกมที่เหมาะกับวัยของเด็ก
    • ของเล่นที่เหมาะกับวัยของเด็ก
    • อุปกรณ์ศิลปะ
    • หนังสือ
    • เกมปริศนา
  5. งานเลี้ยงเด็กเป็นงานที่ค่อนข้างผจญภัย โดยเฉพาะถ้าเด็กมีจินตนาการล้ำเลิศ คุณอาจจะต้องวิ่งไล่จับโจรสลัดหรือไปงานเต้นรำ เพราะฉะนั้นให้เลือกชุดที่คุณสามารถวิ่งไปวิ่งมาได้อย่างสะดวก [10]
    • รองเท้าอาจจะเป็นชิ้นที่สำคัญที่สุดในชุด ดังนั้นให้เลือกรองเท้าที่คุณสามารถวิ่งได้โดยไม่สะดุดหรือหลุด
  6. ตามหลักการแล้วงานของคุณจะเริ่มก่อนที่พ่อแม่จะออกจากบ้านไม่กี่นาที ก่อนที่พ่อแม่จะออกจากบ้าน ให้ทวนคำสั่งกับพวกเขาอีกครั้งเพื่อให้แน่ใจว่าคุณเข้าใจทั้งหมด นอกจากนี้หากคุณเพิ่งไปบ้านเด็กเป็นครั้งแรก ขอให้พ่อแม่พาชมรอบบ้านก่อน รับรองว่าคุณจะดูเป็นมืออาชีพสุดๆ และสามารถเริ่มงานได้สบายๆ [11]
  7. บางครั้งการดูแลเด็กก็อาจเกิดข้อผิดพลาดได้ เพราะฉะนั้นอย่ากลัวที่จะติดต่อพ่อแม่ ถ้าเป็นปัญหาเล็กๆ น้อยๆ ให้ส่งข้อความสั้นๆ เพื่อขอความช่วยเหลือ แต่ถ้าคุณต้องการความช่วยเหลือโดยด่วน ให้โทรหาพวกเขาและบอกว่าเกิดอะไรขึ้น [12]
    • คุณอาจจะส่งข้อความไปหาพ่อแม่ว่า “ฉันหากระดาษชำระม้วนใหม่ไม่เจอค่ะ” “คุณบอกว่าให้เด็กกินขนมได้กี่ชิ้นนะคะ” หรือ “ตุ๊กตาตัวโปรดของน้องครีมอยู่ที่ไหนเหรอคะ”
    • แต่ถ้าเป็นเรื่องสำคัญกว่านั้น ให้โทรหาพ่อแม่ เช่น เด็กไม่สบายหรือเด็กร้องไห้ไม่หยุด
  8. ช่วงเวลาที่คุณกับเด็กๆ อยู่ด้วยกันจะกลายเป็นประสบการณ์ที่ดีขึ้นหากคุณเล่นด้วยกัน คุณจะสรรหากิจกรรมอะไรมาเล่นกับเด็กๆ ก็ได้ อาจจะเป็นอะไรง่ายๆ อย่างการเล่นของเล่น เล่นเกม หรือเล่นทายปริศนา หรือจะใช้ความคิดสร้างสรรค์และทำงานฝีมือ เล่นบทบาทสมมุติ หรือเล่นเป็นโจรสลัดก็ได้ ขอแค่ให้มันสนุกก็พอ! [13]
    • ถามเด็กก่อนเสมอว่าอยากทำอะไร คุณจะสบายขึ้นมากหากคุณเล่นของเล่นหรือเกมที่พวกเขาชอบ
  9. หนึ่งในงานที่ยากที่สุดของการเลี้ยงเด็กคือ การรับมือเมื่อเด็กประพฤติตัวไม่เหมาะสม แต่โชคดีที่เหตุการณ์นี้มักจะเกิดขึ้นไม่บ่อยนัก คุณอาจรู้สึกเครียดมากเมื่อต้องรับมือกับปัญหาลักษณะนี้ แต่ให้พยายามสงบสติอารมณ์เพราะคุณอาจจะเผลอทำร้ายความรู้สึกของเด็กได้ง่ายๆ หากเด็กประพฤติตัวไม่ดี ให้สงบสติอารมณ์และค่อยๆ บอกว่าพวกเขาควรทำอะไร [14]
    • คุณอาจจะพูดว่า “แม่บอกว่าห้ามโยนลูกบอลในบ้านนะ จำได้มั้ย มาเล่นเกมอื่นกันดีกว่า”
    • หรือคุณอาจจะบอกว่า “หนูตีคนอื่นไม่ได้นะคะ ขอโทษก่อน แล้วเราจะได้เล่นกันต่อ”
    • ถ้าเด็กยังทำพฤติกรรมนั้นต่อ คุณอาจจะต้องติดต่อพ่อแม่ของเด็ก
  10. ในฐานะพี่เลี้ยงเด็ก คุณมีหน้าที่ดูแลเด็กให้ปลอดภัย เด็กๆ นั้นอยากรู้อยากเห็นและฉลาดเป็นกรด เพราะฉะนั้นพวกเขาอาจจะทำให้ตัวเองตกอยู่ในอันตรายได้ง่ายๆ หากไม่มีคนดูแล คุณจึงต้องคอยดูแลเขาตลอดเวลาที่คุณอยู่ด้วย [15]
    • ถ้าคุณพาเด็กเข้านอนแล้ว ให้เดินไปดูทุก 15 นาที [16] ดูให้ดีว่าเด็กยังอยู่บนเตียงและนอนหลับสบาย
  11. ปิดประตูหน้าให้เรียบร้อยและล็อกกลอนไว้ตลอดเวลาที่คุณดูแลเด็ก เปิดประตูให้เฉพาะคนที่คุณรู้อยู่แล้วว่าจะมาเท่านั้น ถ้ามีคนที่คุณไม่รู้จักมาที่บ้าน บอกเขาว่าให้มาใหม่วันหลัง [17]
    • อย่าบอกคนแปลกหน้าว่าคุณเป็นพี่เลี้ยงเด็ก บอกแค่ว่าตอนนี้ไม่สะดวก คุณอาจจะพูดว่า “ตอนนี้ไม่สะดวกครับ ถ้าเป็นเรื่องสำคัญพรุ่งนี้ค่อยแวะมาใหม่นะครับ”
  12. บางครั้งพ่อแม่อาจจะบอกให้คุณมาถึงเร็วกว่าที่บอกไว้นิดหน่อย หรือพวกเขาอาจจะถึงบ้านช้าหน่อย เตรียมตัวว่าคุณอาจจะต้องอยู่ดึกหน่อยหรือมาถึงบ้านเด็กเร็วหน่อยหากจำเป็น ข้อดีคือพ่อแม่จะมองว่าคุณเป็นพี่เลี้ยงเด็กที่พึ่งพาและไว้ใจได้ และพวกเขาก็จะจ้างคุณบ่อยๆ [18]
    • บางครั้งคุณอาจจะอยู่ดึกมากนักไม่ได้ เช่น พ่อแม่ของคุณอาจจะกำหนดว่าคุณต้องถึงบ้านภายในกี่โมง คุณต้องบอกพ่อแม่เด็กก่อนที่พวกเขาจะออกจากบ้าน พวกเขาจะได้กลับบ้านให้ตรงเวลา
    โฆษณา
วิธีการ 3
วิธีการ 3 ของ 5:

หลีกเลี่ยงข้อผิดพลาด

PDF download ดาวน์โหลดบทความ
  1. ไม่ว่าจะอยู่ในสถานการณ์ไหน งานของคุณในฐานะพี่เลี้ยงเด็กคือการดูแลเด็กๆ ในบ้านของพวกเขา และคุณไม่ควรปล่อยให้พวกเขาคลาดสายตา คุณต้องไม่ทิ้งเด็กไว้ตามลำพังในบ้าน คุณจะอยู่คนละห้องกับเด็กก็ได้ยกเว้นว่าคุณจะดูแลเด็กทารก แต่การไปร้านค้าเพื่อซื้อวัตถุดิบหรือออกไปเดินเล่นโดยไม่มีเด็กๆ ไปด้วยนั้นทำไม่ได้เด็ดขาด
    • กฎข้อนี้ใช้ได้กับเด็กโตเช่นกัน ยกเว้นว่าพ่อแม่เด็กจะบอกคุณชัดเจนว่า คุณสามารถปล่อยให้เด็กอยู่บ้านคนเดียวได้ในช่วงเวลาสั้นๆ
  2. ยกเว้นว่าเด็กที่คุณดูแลอยู่จะมีเพื่อนๆ ที่นัดกันไว้ล่วงหน้าแล้วว่าจะมาที่บ้าน นอกนั้นคุณไม่ควรให้ใครเข้ามาในบ้านระหว่างที่คุณดูแลเด็กเป็นอันขาด คุณไม่ควรให้คนอื่นมานั่งเล่นนอนเล่นที่บ้านระหว่างที่คุณกำลังทำงานโดยเด็ดขาด ไม่ว่าจะเป็นเพื่อนๆ หรือคนในครอบครัวก็ตาม ยกเว้นว่าคุณจะตกลงกับพ่อ/แม่เด็กล่วงหน้าแล้ว
    • แม้ว่าคุณจะอยากชวนเพื่อนมาบ้านตอนกลางคืนเมื่อเด็กๆ หลับแล้ว แต่ห้ามทำเด็ดขาด ยกเว้นว่าพ่อแม่เด็กจะอนุญาต
  3. ในยุคที่เราทุกคนต่างมีโทรศัพท์มือถือ แท็บเล็ต และคอมพิวเตอร์โน้ตบุ๊ก คุณอาจจะมัวตอบข้อความของเพื่อนๆ หรือเลื่อนดูหน้าฟีดใน Facebook งานเลี้ยงเด็กก็ไม่ต่างจากงานอื่นๆ ที่คุณควรจะปิดอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์หรือใช้ในกรณีฉุกเฉินเท่านั้น พ่อแม่จ้างคุณมาดูแลเด็ก ไม่ได้จ้างคุณมาคุยกับเพื่อน
  4. เด็กๆ มักจะขอดูหนังหรือดูทีวีอย่างเดียว และแม้ว่าการดูหนังหรือดูทีวีจะเป็นสิ่งที่ทำได้ในระยะเวลาสั้นๆ แต่ถ้าคุณปล่อยให้เด็กๆ นั่งดูอยู่หลายชั่วโมง นั่นคือความเกียจคร้าน ถ้าพ่อแม่ไม่ได้จำกัดระยะเวลาในการใช้อุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ พยายามจำกัดเวลาให้เด็กดูไม่เกินสองชั่วโมง เด็กๆ จะรู้สึกสนุกเมื่อมีคนเล่นด้วย และพ่อแม่ก็จะได้ไม่คิดว่าคุณขี้เกียจหรือไม่ใส่ใจงาน [19]
  5. แม้ว่าบางครั้งคุณอาจจะหลงลืมไปบ้าง แต่หน้าที่สำคัญอย่างหนึ่งของการเป็นพี่เลี้ยงเด็กก็คือ การทำความสะอาดหลังจากเด็กๆ เล่นเสร็จแล้ว โดยทั่วไปคุณอาจจะไม่มีอะไรต้องเก็บกวาดมากนัก แต่ถ้าคุณทำอาหารหรือทำโปรเจกต์ด้วยกัน อย่าลืมเก็บของทุกอย่างเข้าที่ พ่อแม่เด็กจะประทับใจที่กลับมาเห็นบ้านสะอาด และอาจจะจ้างคุณอีกในอนาคต
    • ทำความสะอาดหลังจากที่คุณทำรกด้วยเช่นกัน ถ้าคุณและเด็กๆ พากันทำเลอะเทอะ ให้เก็บกวาดให้เรียบร้อยก่อนพ่อแม่จะมาถึง
    • เล่นเกมทำความสะอาดกับเด็กๆ บอกว่าใครเก็บของได้มากที่สุดเป็นผู้ชนะ หรือคิดเกมง่ายๆ ที่ได้ทำความสะอาดไปในตัว
    • โดยทั่วไปบ้านจะรกตั้งแต่คุณไปถึงอยู่แล้ว เพราะฉะนั้นให้เก็บกวาดด้วย ไม่ว่าใครก็ประทับใจเมื่อได้เห็นว่าบ้านของตัวเองสะอาดกว่าตอนที่ตัวเองออกจากบ้าน
  6. คุณอาจจะอยากเป็นพี่เลี้ยงที่ดู "เจ๋ง" ในสายตาเด็กๆ และปล่อยให้พวกเขาทำในสิ่งที่พ่อแม่ไม่อนุญาต จำไว้ว่าคุณไม่ใช่พ่อแม่ของเด็ก เพราะฉะนั้นคุณไม่มีสิทธิ์ออกความเห็นเรื่องกฎในระเบียบในบ้าน และคุณจะเป็นเพื่อนกับเด็กตลอดเวลาไม่ได้
    • รู้ว่าเมื่อไหร่ควรปฏิเสธ และเมื่อไหร่ที่สามารถหยวนเรื่องเล็กๆ น้อยๆ ได้ เช่น ให้เด็กเข้านอนช้ากว่าปกติ 5 นาทีในบางโอกาส
    • เด็กๆ จะท้าทายคุณ พวกเขาจะล้ำเส้นเพื่อดูว่าตัวเองจะทำผิดได้มากที่สุดแค่ไหน ซึ่งเป็นเรื่องปกติที่เด็กๆ (แม้แต่เด็กวัยหัดเดิน) ทำกันเพื่อให้รู้ว่าจุดสิ้นสุดของขอบเขตอยู่ที่ตรงไหน สอบถามพ่อแม่เพื่อให้รู้ว่ากฎคืออะไร จากนั้นให้ปฏิบัติตามแม้ว่าคุณจะไม่เห็นด้วยก็ตาม!
    • พี่เลี้ยงเด็กที่ดีที่สุดจะให้ความสำคัญกับความรับผิดชอบมาเป็นอันดับแรก ส่วนความสนุกสนานหรือเรื่องเงินนั้นเป็นเรื่องรอง มีเพียงไม่กี่อย่างบนโลกใบนี้ที่สามารถเติมเต็มคุณได้เท่ากับการได้รับความไว้วางใจและความรักจากเด็ก
    • คุณสามารถโทรหาพ่อแม่ได้เสมอตามต้องการ ปลอดภัยไว้ก่อนดีกว่ามานั่งเสียใจภายหลัง และผู้ปกครองก็จะประทับใจที่คุณเป็นห่วงลูกของเขาด้วย
  7. ก่อนที่พ่อแม่เด็กจะออกจากบ้าน คุณต้องรู้ก่อนว่าจะต้องโทรหาใคร ทำอะไร และไปที่ไหนหากเกิดเหตุฉุกเฉิน หน้าที่หลักของคุณคือการรักษาความปลอดภัยให้เด็ก [20]
    • รวบรวมข้อมูลที่เกี่ยวข้องทั้งหมดสำหรับเหตุฉุกเฉินก่อนที่พ่อแม่/ผู้ปกครองจะออกจากบ้าน คุณต้องรู้เบอร์โทรศัพท์สำหรับเหตุฉุกเฉิน รู้ว่าโทรศัพท์หลักของ "บ้าน" และกุญแจประตูสำรองอยู่ที่ไหน เป็นต้น พยายามอย่าแสดงท่าทีว่าคุณสอดรู้ แล้วผู้ใหญ่จะรู้เองว่าคุณแค่อยากจะช่วย วิธีนี้จะทำให้คุณรู้ว่าจะต้องทำยังไงหากเกิดเหตุฉุกเฉินและนำเด็กออกมาได้ [21]
    • หากเกิดเหตุฉุกเฉิน เช่น ไฟไหม้ ให้ทิ้งทุกอย่างและพาตัวเองกับเด็กออกมาจากบ้าน อย่ากลับเข้าไปในบ้าน อย่าทิ้งเด็กไว้ และโทรหาบริการฉุกเฉินโดยเร็วที่สุด
    โฆษณา
วิธีการ 4
วิธีการ 4 ของ 5:

เตรียมตัวรับงาน

PDF download ดาวน์โหลดบทความ
  1. เมื่อคุณมาถึงบ้านของเด็กที่คุณต้องดูแล ให้เริ่มจากการสอบถามข้อมูลทั้งหมดเกี่ยวกับบ้านเมื่อพวกเขาจะออกจากบ้าน จดชื่อนามสกุลและเบอร์โทรศัพท์ของพ่อแม่ ที่อยู่ปลายทางของสถานที่ที่พวกเขาจะไป เวลากลับถึงบ้านโดยประมาณ และรายชื่อผู้ติดต่อในกรณีฉุกเฉิน นอกจากนี้ให้จดข้อมูลเกี่ยวกับเด็ก เช่น อาการแพ้ (หรือข้อมูลด้านสุขภาพอื่นๆ) ยิ่งคุณต้องดูแลเด็กนานเท่าไหร่ ข้อมูลเหล่านี้จะต้องยิ่งยาวและละเอียดมากขึ้น [22]
    • ถามพ่อแม่ว่าอุปกรณ์ปฐมพยาบาลและยาอยู่ที่ไหน
    • รวบรวมรายการยาที่เด็กแต่ละคนต้องกินหรือสามารถกินได้ในกรณีที่บาดเจ็บหรือไม่สบาย (เช่น กินไทลีนอลเมื่อเด็กมีอาการปวดหรือปวดหัว)
    • จดตารางเวลาของเด็ก/เด็กๆ ไว้ก่อน ครอบครัวส่วนใหญ่จะมีตารางเวลาโดยทั่วไป (หรือบางครั้งก็เป็นตารางเวลาที่ค่อนข้างเจาะจง) สำหรับกิจกรรมของเด็กในแต่ละวันอยู่แล้ว ซึ่งโดยปกติในตารางจะบอกเวลาอาหารแต่ละมื้อ ช่วงเวลาทำงานบ้าน/การบ้าน และเวลาเข้านอน การจดตารางเวลาของเด็กไว้ล่วงหน้าจะทำให้เด็ก (หากเป็นเด็กโต) ไม่สามารถหลอกคุณได้เวลาที่พ่อแม่ไม่อยู่
  2. รู้ว่าพ่อแม่อนุญาตให้เด็กทำกิจกรรมอะไรบ้าง. แต่ละบ้านที่คุณทำงานให้นั้นจะแตกต่างกันเล็กน้อย คุณจึงต้องรู้ว่าพ่อแม่ของเด็กแต่ละคนอนุญาตให้เด็กทำกิจกรรมอะไรได้บ้าง ถามพ่อแม่เด็กว่าเด็กสามารถดูทีวี/เล่นวิดีโอเกม/เล่นคอมพิวเตอร์ได้ตอนไหน เด็กสามารถออกไปเล่นข้างนอกได้ตอนไหน/ที่ไหน เพื่อนมาหาที่บ้านได้ไหม และมีบริเวณใดในบ้านที่เด็กไม่ได้รับอนุญาตให้เข้า นอกจากนี้กฎระเบียบสำหรับเด็กแต่ละคนที่อยู่ในบ้านเดียวกันก็อาจจะไม่เหมือนกันขึ้นอยู่กับอายุ เพราะฉะนั้นคุณต้องเจาะจงให้ละเอียด
    • ให้คิดไว้ก่อนเลยว่าตัวเองไม่ได้รับอนุญาตให้ถ่ายภาพเด็กหรือบันทึกวิดีโอ ถามพ่อแม่ว่าอนุญาตให้คุณถ่ายและ/หรือโพสต์ภาพหรือวิดีโอของเด็กหรือไม่หากคุณมีเหตุผลเพียงพอในการทำเช่นนั้น
    • หากคุณต้องดูแลเด็กถึงช่วงกลางคืน ให้ถามพ่อแม่ว่าคุณสามารถทำอะไรได้บ้างในระหว่างที่เด็กนอนหลับ เช่น คุณอาจจะถามว่าคุณสามารถใช้โซเชียลมีเดีย ดูทีวี หรือน้อยมากๆ ที่พ่อแม่จะอนุญาตคือพาเพื่อนมาบ้านได้ไหม
  3. การวางแผนล่วงหน้าเป็นสิ่งที่ควรทำเสมอ คุณอาจจะต้องป้อนอาหารเด็ก/เด็กๆ หนึ่งหรือสองมื้อขึ้นอยู่กับช่วงเวลาที่คุณดูแลเด็ก ถามพ่อแม่ว่าพวกเขาอยากให้คุณทำอะไรให้เด็กกิน และจะให้เด็กกินอะไรเป็นของว่าง
    • สอบถามให้แน่ใจว่าอาหารอะไรที่เด็กไม่ได้รับอนุญาตให้กิน ซึ่งส่วนใหญ่มักจะเป็นลูกกวาดและของขบเคี้ยวประเภทของหวานที่เด็กๆ อาจจะขอกินเมื่อพ่อแม่ไม่อยู่
    • เด็กๆ โดยเฉพาะเด็กวัยหัดเดินอาจจะไม่อยากเล่นกิจกรรมที่คุณเตรียมไว้ เพราะฉะนั้นอย่าลืมเตรียมแผนสำรองและไม่ต้องกังวลว่าจะต้องทำตามแผนที่วางไว้มากเกินไปนัก ขอแค่อย่าให้เด็กใช้อุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์มากเกินไปก็พอ
  4. การที่เด็กจะทำผิดในระหว่างที่คุณดูแลนั้นเป็นเรื่องที่เกิดขึ้นได้ค่อนข้างบ่อย แทนที่จะเดาเอาเองหรือลงโทษเด็กเบาไปหรือแรงไป ให้ถามพ่อแม่ว่าปกติแล้วพวกเขาทำยังไงเมื่อลูกทำผิดเล็กๆ น้อยๆ ส่วนใหญ่จะเป็นการยกเลิกสิทธิพิเศษหรือให้เด็กเข้ามุม [23]
    • นอกจากนี้พ่อแม่อาจจะบอกว่าคุณไม่มีสิทธิ์ลงโทษเด็ก แต่ให้รายงานความประพฤติทั้งหมดกับพ่อแม่แทน
    โฆษณา
วิธีการ 5
วิธีการ 5 ของ 5:

เป็นพี่เลี้ยงเด็ก

PDF download ดาวน์โหลดบทความ
  1. การอยู่ในบ้านของเด็กขณะที่พ่อ/แม่ของเด็กอยู่ที่นั่นด้วยจะทำให้คุณมีโอกาสได้ฝึกฝนทักษะการดูแลเด็ก และได้ประสบการณ์ล้ำค่าที่จะช่วยให้คุณยิ่งมีโอกาสได้งานพี่เลี้ยงเด็ก การช่วยแม่ดูแลน้องๆ ก็เปิดโอกาสให้คุณได้ฝึกฝนทักษะเช่นกัน แต่ถ้าคุณไม่มีน้อง ลองฝึกเลี้ยงเด็กที่เป็นลูกพี่ลูกน้องหรือลูกของเพื่อนสนิทก็ได้
    • คอยสังเกตพ่อแม่อย่างใกล้ชิดเวลาที่พวกเขาทำสิ่งต่างๆ ที่คุณไม่เคยทำมาก่อนหรือไม่มั่นใจที่จะทำ ขอให้พ่อแม่ช่วยสอนทักษะที่คุณรู้สึกไม่ค่อยมั่นใจ เช่น การอาบน้ำให้เด็กทารก นอกจากนี้ให้สังเกตจุดแข็งของตัวเอง เช่น คุณสอนการบ้านเด็กได้ คุณอาจจะใส่จุดแข็งเหล่านี้ลงในเรซูเม่ ซึ่งพ่อแม่เด็กจะขอให้คุณอธิบายรายละเอียดทั้งหมดอีกครั้งในภายหลัง
  2. แม้ว่าในประเทศไทยจะไม่ได้กำหนดว่าพี่เลี้ยงเด็กจะต้องได้รับการรับรองหรือมีใบอนุญาต แต่การขอบเขตความรับผิดชอบและเทคนิคการดูแลเด็กขั้นพื้นฐานนั้นมีประโยชน์มาก ลองมองหาคอร์สฝึกอบรมการดูแลเด็ก การทำ CPR และ การปฐมพยาบาลเบื้องต้น ใกล้บ้าน คุณจะได้เตรียมพร้อมและมีคุณสมบัติที่จะรับงานเลี้ยงเด็ก คอร์สฝึกอบรมเหล่านี้มักเปิดสอนที่สภากาชาดไทย [24] ศูนย์ฝึกอบรมเฉพาะทาง หรือจะเรียนออนไลน์ก็ได้
    • ลองหาหนังสือเกี่ยวกับการเลี้ยงเด็กมาอ่าน หนังสือพวกนี้มีคำตอบสำหรับคำถามที่พบบ่อยเกี่ยวกับการดูแลเด็กทารกและเด็กเล็กในชีวิตประจำวันและสถานการณ์ฉุกเฉิน
  3. หากคุณทำงานเป็นพี่เลี้ยงเด็ก คุณน่าจะเป็นนายตัวเอง ยกเว้นว่าคุณจะทำงานในเนิร์สเซอรี เป็นพี่เลี้ยงเด็กแบบเต็มเวลาพักกับผู้ว่าจ้าง หรือเป็นพี่เลี้ยงเด็กมืออาชีพของศูนย์บริการหาพี่เลี้ยงเด็ก ถ้าคุณคิดว่าตัวเองน่าจะต้องดูแลเด็กบ่อยๆ ให้กำหนดและรักษาตารางเวลาของตัวเอง แม้จะดูเหมือนเป็นวิธีของยุคเก่า แต่การเขียนลงในปฏิทินว่าคุณว่างวันไหนและเวลาไหนจะช่วยคุณได้มาก เพราะเวลาที่พ่อแม่โทรมานัดเวลาให้ไปช่วยดูแลเด็ก คุณจะได้รู้เลยว่าตัวเองสามารถไปทำงานได้ตอนไหน
    • การสร้างระบบรหัสสีอาจช่วยให้คุณสามารถระบุวันที่คุณ ‘ไม่ว่าง’ ลงในปฏิทินได้
    • อัปเดตตารางเวลาของคุณบ่อยๆ คุณจะได้ไม่รับงานซ้อนกันโดยไม่ตั้งใจ
    • เขียนตารางเวลามาตรฐานที่ใส่กิจกรรมอื่นๆ ทั้งหมด เช่น เล่นกีฬา เป็นต้น เพื่อให้พ่อแม่รู้ตารางเวลาของคุณด้วยเช่นกัน
  4. แม้ว่าพ่อแม่บางคนจะมีเรตค่าจ้างพี่เลี้ยงเด็กในใจอยู่แล้ว แต่หลายคนก็ให้พี่เลี้ยงเป็นคนกำหนดค่าจ้างรายชั่วโมงเอง ซึ่งอัตราค่าบริการนั้นคิดได้สองแบบคือ จ่ายเป็นอัตราคงที่รายชั่วโมงหรือจ่ายเป็นรายหัว แบบแรกจะเหมาะกับครอบครัวขนาดเล็ก แต่หากคุณต้องดูแลเด็กมากกว่าสองคนพร้อมกัน คิดอัตราแบบหลังจะเหมาะกว่า คุณอาจเรียกเงินเพิ่มหากต้องมาดูแลเด็กในวันหยุดสุดสัปดาห์หรือหลังเที่ยงคืน
    • ค่าจ้างรายชั่วโมงแบบอัตราคงที่โดยทั่วไปจะอยู่ระหว่าง 200 - 300 บาทต่อชั่วโมง แต่อาจจะมากหรือน้อยขึ้นอยู่กับครอบครัวและพื้นที่ที่คุณหรือครอบครัวเด็กอาศัยอยู่ [25]
    • ค่าดูแลเด็กอยู่ระหว่าง 200 - 300 บาทต่อคนต่อชั่วโมง แต่ถ้าคุณอยากรู้อัตราการแข่งขันและอยากรู้ว่าต้องคิดค่าบริการเท่าไหร่จึงจะเหมาะสมกับเงื่อนไข ให้ดูว่าโดยรวมแล้วคนอื่นๆ ในพื้นที่ของคุณคิดค่าบริการดูแลเด็กเท่าไหร่สำหรับจำนวนเด็กที่คุณกำลังจะดูแล
  5. คุณต้องมีข้อมูลรายบุคคลสำหรับเด็กแต่ละคนด้วย (เช่น ข้อมูลเกี่ยวกับอาการแพ้) และคุณก็ควรมีรายการเบอร์โทรศัพท์สำหรับ "สถานการณ์ที่เลวร้ายที่สุด" โดยทั่วไปเอาไว้ด้วยเช่นกัน จดข้อมูลทั้งหมดไว้ในสมุดเล่มเล็กๆ แอปจดโน้ต แฟ้มสันห่วง เป็นต้น คุณจะได้มีติดตัวไว้ตลอดเวลา เบอร์โทรศัพท์และสิ่งที่คุณควรจดลงไปได้แก่ :
    • เบอร์สถาบันการแพทย์ฉุกเฉิน
    • เบอร์สถานีตำรวจ
    • เบอร์แจ้งเหตุเพลิงไหม้และสัตว์มีพิษเข้าบ้าน
    • เบอร์หน่วยแพทย์กู้ชีวิต
    • เบอร์คนที่คุณไว้ใจที่มีบุตรหลาน (เช่น ป้าหรือพ่อ/แม่) สำหรับติดต่อหากเกิดความสับสนเล็กน้อย
    • เบอร์อื่นๆ ที่เกี่ยวข้อง
    • แบบฟอร์มสำหรับให้พ่อแม่กรอก
  6. หากคุณเพิ่งเริ่มรับเลี้ยงเด็ก คุณต้องบอกให้คนอื่นรู้ว่าคุณรับงาน การบอกปากต่อปากมักเป็นวิธีหางานที่ง่ายที่สุด ลองพูดคุยกับเพื่อนบ้าน คนในละแวกบ้านที่ไปทำบุญวัดเดียวกัน หรือครอบครัวของเพื่อนนักศึกษาในมหาวิทยาลัยที่มีลูกเล็ก ถามเพื่อนที่เป็นพี่เลี้ยงเด็กว่าพวกเขารู้ไหมว่าครอบครัวไหนต้องการพี่เลี้ยงเด็กบ้าง หรือถ้าพี่ของคุณทำงานเป็นพี่เลี้ยงเด็กและโตพอที่จะหางานอื่นทำแล้ว ให้ลองติดต่อลูกค้าของพี่
    • การดูแลเด็กให้ครอบครัวที่คุณรู้จักหรือคนที่เพื่อนแนะนำมานั้นเป็นตัวเลือกที่ดีที่สุดเสมอ ถ้าคุณเพิ่งรับเลี้ยงเด็ก คุณอาจจะเลือกรับ เฉพาะ คนรู้จักเท่านั้น
    • ถ้าวิธีปากต่อปากไม่ได้ผล คุณอาจจะลองประชาสัมพันธ์ในละแวกบ้าน คุณอาจจะส่งใบปลิวไปตามบ้านหรือส่งข้อความในไลน์กลุ่มหากหมู่บ้าน/คอนโดที่คุณอาศัยอยู่มีกรุ๊ปไลน์ แต่ก่อนที่คุณจะประชาสัมพันธ์ คุณต้องคุยกับพ่อแม่ตัวเองก่อน เพราะพ่อแม่ต้องรู้หากคุณจะนำข้อมูลส่วนตัวไปเผยแพร่ แปะใบปลิวไว้ที่บอร์ดประชาสัมพันธ์ของชุมชนก็ได้
    • เขียนเรซูเม่ที่ระบุทักษะ ประสบการณ์ และการฝึกอบรมที่คุณเคยผ่านมาอย่างเจาะจง
    • ถ้าคุณอายุ 18 ปีขึ้นไป คุณสามารถสมัครงานในเว็บไซต์บริการจัดหาพี่เลี้ยงเด็กได้ แต่จำไว้ว่าบางเว็บไซต์อาจจะไม่รับผู้สมัครที่อายุต่ำกว่าที่เขากำหนดไว้
  7. การหาพ่อแม่ที่ต้องการพี่เลี้ยงเด็กก็ว่ายากแล้ว แต่ขั้นตอนถัดไปซึ่งอาจเป็นขั้นตอนที่ยากที่สุดก็คือ การทำให้พ่อแม่รู้สึกว่าควรจ้างคุณ นัดสัมภาษณ์เพื่อให้คุณได้รู้จักพ่อแม่และเด็กๆ
    • พ่อแม่ของเด็กก็อยากรู้จักคุณให้มากที่สุดเหมือนที่คุณเองก็อยากรู้ว่างานนี้จะดีหรือเปล่า เล่าเรื่องของตัวเอง ครอบครัว มหาวิทยาลัย และบอกเหตุผลว่าทำไมคุณถึงอยากรับเลี้ยงเด็ก
    • เตรียมรายการคำถามล่วงหน้า คุณจะได้รู้ว่าพ่อแม่ต้องการอะไรจากคุณ จดลงไปเลย คุณจะได้ไม่ลืมว่าต้องถามอะไรบ้าง คำตอบที่คุณได้จากคำถามเหล่านี้จะช่วยให้คุณตัดสินใจได้ว่า งานนี้เหมาะกับคุณหรือเปล่า
    • ถ้าคุณนัดสัมภาษณ์กับครอบครัวและได้เจอเด็กๆ แล้วแต่ยังอยากได้ข้อมูลเพิ่มเติม คุณอาจจะขอไปที่บ้านของพวกเขาเพื่อใช้เวลาร่วมกับเด็กๆ ให้มากขึ้น พ่อแม่ส่วนใหญ่จะประทับใจที่คุณอยากรู้รายละเอียดให้ได้มากที่สุด
  8. ก่อนรับงาน คุณต้องรู้ว่าอะไรที่ทำให้คุณสบายใจและไม่สบายใจ คุณต้องรู้สึกว่าตัวเองสามารถควบคุมสถานการณ์ได้ ถ้าคุณไม่มั่นใจงานนี้ คุณควรรองานต่อไปจะดีกว่า เพราะความปลอดภัยของคุณสำคัญเท่ากับความปลอดภัยของเด็กที่คุณจะต้องดูแล ถ้าคุณเพิ่งรับงานเลี้ยงเด็กเป็นครั้งแรก คุณต้องสบายใจกับครอบครัวนี้ เชื่อสัญชาตญาณของตัวเอง และอย่ากดดันตัวเองว่าจะต้องรับงานทันที
    • บอกครอบครัวของเด็กว่าคุณจำเป็นต้องปรึกษาพ่อแม่ก่อนรับงาน เมื่อคุณรู้ว่าตัวเองต้องการอะไรและจะเจออะไร งานเลี้ยงเด็กจะเป็นประสบการณ์ที่ดีทั้งสำหรับตัวคุณเองและตัวเด็ก
    • ถ้าคุณไม่มั่นใจว่าตัวเองมีทักษะในการดูแลเด็กแรกเกิด อย่ารับงาน
    • ถ้าคุณแพ้สัตว์บางชนิด คุณอาจจะต้องปฏิเสธงานหากครอบครัวนั้นมีสัตว์เลี้ยง
    • ทำความรู้จักกับเด็กๆ ล่วงหน้าเพื่อให้รู้ว่าคุณพร้อมที่จะดูแลพวกเขาหรือไม่ วิธีนี้นอกจากจะช่วยให้พวกเขามองว่าคุณเป็นผู้ใหญ่ที่มีอำนาจคนหนึ่งแล้ว ยังช่วยให้เด็กไม่ร้องกระจองอแงเมื่อพ่อแม่ไม่อยู่ด้วย
  9. ถามคำถามต่อไปนี้กับตัวเองก่อนตัดสินใจเป็นพี่เลี้ยงเด็ก :
    • คุณชอบอยู่กับเด็กๆ หรือเปล่า
    • คุณพร้อมที่จะดูแลเด็กหรือเปล่า
    • คุณเข้าใจความต้องการของเด็กเล็กหรือเปล่า
    • คุณเคยเข้าคอร์สฝึกอบรมการดูแลเด็กหรือไม่
    • คุณมีประสบการณ์ดูแลน้องหรือญาติที่อายุน้อยกว่าหรือไม่
    • คุณช่วยอะไรเด็กๆ และครอบครัวของเด็กได้บ้าง
    • คุณอยากรับเลี้ยงเด็กเป็นครั้งคราวหรือหางานในตำแหน่งพี่เลี้ยงเด็กประจำ
    • ถ้ารายได้เป็นสิ่งสำคัญ ชั่วโมงการทำงานและค่าจ้างสอดคล้องกับความต้องการของคุณไหม
    • คุณจะดูแลเด็กกี่คน
    • เด็กอายุเท่าไหร่ เด็กแต่ละช่วงวัยต้องการการดูแลไม่เท่ากัน
    • เด็กมีความต้องการพิเศษหรือไม่ ต้องกินอาหารพิเศษหรือเปล่า
    • ครอบครัวมีสัตว์เลี้ยง สระว่ายน้ำหรือไม่
    • คุณต้องไปทำงานช่วงเวลากี่โมง
    • คุณได้รับอนุญาตให้ทำอะไรที่บ้านของพวกเขาบ้าง (เช่น ใช้คอมพิวเตอร์ของพวกเขาได้ มีอาหารและขนมให้ หรือคุณต้องนำไปเอง)
    • ถ้าคุณมีใบขับขี่ คุณต้องขับรถให้เด็กๆ หรือไม่
    เคล็ดลับจากผู้เชี่ยวชาญ

    Julie Wright, MFT

    ผู้เชี่ยวชาญด้านการดูแลเด็ก
    จูลี่ ไรท์เป็นนักบำบัดคู่สมรสและครอบครัว และเป็นผู้ร่วมก่อตั้ง The Happy Sleeper ซึ่งให้คำปรึกษาด้านการนอนหลับและมีชั้นเรียนออนไลน์ด้านการนอนหลับของทารก จูลี่เป็นนักจิตบำบัดที่มีใบอนุญาตซึ่งเชี่ยวชาญด้านเด็กทารก เด็ก และผู้ปกครอง และเป็นผู้เขียนร่วมของหนังสือการเลี้ยงดูบุตรที่ขายดีที่สุด 2 เล่ม (The Happy Sleeper และ Now Say This) จัดพิมพ์โดย Penguin Random House เธอทำรายการที่ได้รับความนิยมชื่อ Wright Mommy, Daddy and Me ในลอสแองเจลิส ซึ่งให้การสนับสนุนและการเรียนรู้สำหรับพ่อแม่มือใหม่ งานของจูลี่ได้รับการพูดถึงใน The New York Times, The Washington Post และ NPR จูลี่ได้รับการฝึกอบรมที่ Cedars Sinai Early Childhood Center
    Julie Wright, MFT
    ผู้เชี่ยวชาญด้านการดูแลเด็ก

    ผู้เชี่ยวชาญของเราเห็นตรงกันว่า : ลักษณะที่สำคัญที่สุดของการเป็นพี่เลี้ยงเด็กคือ ความรักที่มีให้เด็กอย่างบริสุทธิ์ใจและประสบการณ์การดูแลเด็ก อีกทั้งยังต้องมีจรรยาบรรณและความรับผิดชอบสูง อย่างไรก็ตามพ่อ/แม่แต่ละคนมีความต้องการที่ไม่เหมือนกัน เช่น เขาอาจจะต้องการคนที่ขับรถได้ พูดภาษาอื่นได้ หรือมีชั่วโมงการทำงานที่ยืดหยุ่น

    โฆษณา

เคล็ดลับ

  • ถ้าคุณให้รางวัลเด็กเป็นของเล่นหรือรางวัลอื่นๆ เด็กคนอื่นอาจจะไม่พอใจ ถ้าเด็กคนอื่นก็ประพฤติตัวค่อนข้างดีเหมือนกัน พวกเขาก็ควรได้รับรางวัลด้วย แต่ถ้าเด็กคนอื่นทำตัวไม่ดี คุณต้องอธิบายว่าพวกเขาทำผิดอะไร
  • ถ้าเด็กสำลัก ให้ตบหลังเด็กแรงที่สุดเท่าที่จะทำได้ ถ้าสิ่งของที่อยู่ข้างในยังไม่ออกมา ให้เอานิ้วสองนิ้วล้วงเข้าไปในปากของเด็กแล้วพยายามดึงออกมา!
  • ถ้าคุณกำลังอาบน้ำให้เด็ก อย่าปล่อยให้เด็กอยู่ตามลำพังแม้แต่วินาทีเดียว ตรวจสอบให้ดีว่าอุปกรณ์อาบน้ำที่จำเป็นทั้งหมดอยู่ในห้องน้ำแล้วก่อนวางเด็กลงในอ่างอาบน้ำ
  • ถ้าเด็กเหมือนจะไม่สบายหรือรู้สึกเจ็บ ให้อยู่ในห้องนั้นและโทรหาพ่อแม่หากอาการยังไม่หาย
  • ถ้าเด็กลุกออกมา ให้พาเด็กกลับไปนอนที่เตียงทันที คุณแยกออกอยู่แล้วว่าเด็กกระสับกระส่ายจริงๆ หรือแค่ถ่วงเวลา
  • เตรียมกล่องใส่รางวัลเอาไว้สำหรับแจกเวลาที่เด็กทำตัวดี
  • ดูให้ดีว่าเด็กหลับก่อนคุณถึงจะเข้านอนได้ พ่อแม่เด็กคงไม่อยากให้เด็กตื่นมาเล่นอะไรต่อมิอะไรขณะที่คุณหลับ
  • เมื่อคุณจะเล่นเกมหรือทำกิจกรรมกับเด็ก คุณต้องมั่นใจว่าเด็กอยากมีส่วนร่วม ถ้าเด็กไม่อยากเล่นเกมนั้น ให้เปลี่ยนเกม คุณต้องทำให้เด็กบอกพ่อแม่ว่าอยู่กับคุณแล้วสนุก
  • ถ้าครอบครัวที่คุณดูแลเด็กให้มีสัตว์เลี้ยง อย่าลืมถามพ่อแม่ก่อนว่าคุณต้องดูแลสัตว์เลี้ยงด้วยหรือเปล่า เพราะถ้าเขาคาดหวังให้คุณดูแลสัตว์เลี้ยงด้วยแต่คุณไม่ทำ ก็อาจมีผลตามมา
  • ใจดีกับเด็กๆ เด็กจะเชื่อฟังและชอบใครมากกว่ากันระหว่างพี่เลี้ยงที่นั่งเล่น Facebook บนโซฟา หรือพี่เลี้ยงที่ใจดีและเล่นกับพวกเขา
  • ถ้าเด็กที่คุณดูแลทำตัวดี ให้รางวัลเขาด้วย (คุกกี้ ลูกอม เป็นต้น)
  • เด็กทารกและเด็กๆ อาจจะส่งเสียงเวลาหลับ การนอนไม่ใช่กิจกรรมที่เงียบสนิท
โฆษณา

คำเตือน

  • ถ้าคุณดูแลเด็กทารก ให้ป้อนอาหารขนาดไม่เกินกำปั้นเด็กเท่านั้น
  • ห้ามตบหรือตีเด็กโดยเด็ดขาด ก่อนที่พ่อแม่จะออกจากบ้าน ให้ถามพวกเขาก่อนว่าถ้าเด็กประพฤติตัวไม่ดีให้คุณทำอย่างไร และทำตามความต้องการของพ่อแม่
  • อย่าปล่อยให้เด็กอยู่กับคนแปลกหน้าโดยเด็ดขาด แม้ว่าดูเหมือนว่าเด็กจะรู้จักพวกเขาก็ตาม
  • ดูแลความปลอดภัยในบริเวณที่คุณจะเล่นกับเด็ก อย่าลืมคลุมปลั๊กไฟทั้งหมดและนำของมีคมออกไป อย่าให้เด็กๆ เข้าใกล้น้ำยาทำความสะอาด เก็บยาทุกชนิดให้พ้นมือเด็ก เพราะเด็กอาจคิดว่าเป็นลูกอมและกินเข้าไป ปิดหน้าต่างทุกบาน หากคุณดูแลเด็กวัยหัดเดิน ให้ปิดประตูทุกบานที่เชื่อมไปที่บันได และปิดประตูห้องน้ำทุกบาน
  • ระวังการใช้คำพูดและการกระทำ เพราะเด็กสามารถเลียนแบบพฤติกรรมได้อย่างรวดเร็วและอาจจะไปบอกพ่อแม่ว่าคุณเป็นคนสอน
  • จำไว้ว่าอย่ารับงานที่คุณไม่สบายใจเด็ดขาด ไม่ว่าจะเป็นเรื่องของสถานที่ อายุ หรือจำนวนเด็กก็ตาม
  • ห้ามหลับขณะดูแลเด็ก ยกเว้นว่าคุณจะต้องดูแลเด็กข้ามคืน (หรือพ่อแม่กลับบ้านดึกมากและอนุญาตให้คุณหลับได้) คุณไม่ควรหลับระหว่างทำงานโดยเด็ดขาด โดยเฉพาะเมื่อเด็กที่คุณดูแลอาจไปก่อปัญหาและตกอยู่ในอันตรายได้
  • บางครั้งเด็กๆ ก็น่ารำคาญ คุณต้องอดทนให้ได้
โฆษณา

เกี่ยวกับวิกิฮาวนี้

มีการเข้าถึงหน้านี้ 1,548 ครั้ง

บทความนี้เป็นประโยชน์กับคุณไหม

โฆษณา