ดาวน์โหลดบทความ ดาวน์โหลดบทความ

เมื่อพูดถึงสมองของมนุษย์แล้ว คอมพิวเตอร์นั้นคล้ายคลึงกับสมองของคนเรามากที่สุด แต่การทำให้สมองของตนเองประมวลผลได้เร็วขึ้นนั้นไม่ง่ายเหมือนการใส่แรมให้กับคอมพิวเตอร์ เมื่อแพทย์และนักวิทยาศาสตร์ด้านประสาทวิทยาพูดถึงความเร็วในการประมวลผลของสมอง แสดงว่าหมายถึงอัตราเร็วที่มนุษย์สามารถทำความเข้าใจข้อมูลชิ้นใหม่ ตัดสินใจเกี่ยวกับข้อมูลชิ้นนั้น และกำหนดการตอบสนอง [1] เมื่อพิจารณาคำจำกัดความนี้แล้ว วิธีที่ทำให้สมองของตนเองประมวลผลได้เร็วขึ้นก็คือทำให้การเชื่อมโยงกันในสมองแข็งแรงขึ้นเพื่อให้สมองส่งสัญญาณเดินทางไปได้เร็วขึ้น ถึงแม้โดยส่วนใหญ่การเชื่อมโยงที่แข็งแรงแบบนี้ของสมองจะเกิดขึ้นในช่วงวัยเด็กก็ตาม แต่เรายังคงสามารถรักษาความเร็วในการประมวลผลของสมองได้อยู่และอาจแม้แต่ทำให้การประมวลผลของสมองเร็วขึ้นได้ด้วยซ้ำ

วิธีการ 1
วิธีการ 1 ของ 2:

ปรับเปลี่ยนรูปแบบการดำเนินชีวิตเพื่อสุขภาพที่ดีของสมอง

ดาวน์โหลดบทความ
  1. ความเร็วในการประมวลของสมองขึ้นอยู่กับความเร็วในการเดินทางข้ามแอกซอนของสัญญาณไฟฟ้า โดยพื้นฐานแล้วแอกซอนเป็นสายที่เชื่อมโยงส่วนต่างๆ ของสมอง [2] สมองเนื้อขาวประกอบด้วยสายทั้งหมดเหล่านี้และได้รับอาหารจากทางหลอดเลือด ถ้าหลอดเลือดของเรามีปัญหาอันเกิดจากการเป็นโรคอย่างเช่น โรคเบาหวานและความดันโลหิตสูง ก็จะทำให้แอกซอนขาดออกซิเจนและกลูโคสซึ่งเป็นสิ่งที่จำเป็นมาก [3] ฉะนั้นการรักษาสุขภาพให้แข็งแรงอยู่เสมอและการออกกำลังกายแบบแอโรบิกมากๆ เป็นคำแนะนำอับดับแรกจากนักประสาทวิทยาส่วนใหญ่ เพราะจะทำให้เราสามารถรักษาแอกซอนและอาจแม้แต่เพิ่มความเร็วในการประมวลผลของสมองได้ด้วยซ้ำ [4] [5]
  2. สุขภาพร่างกายสัมพันธ์กับสุขภาพของสมอง เราควรกินอาหารที่มีสารอาหารครบถ้วนได้สัดส่วนควบคู่ไปกับการออกกำลังกาย นอกจากนี้เราอาจเน้นกินอาหารที่มีส่วนช่วยบำรุงสมองด้วยอย่างเช่น [7]
    • อาโวคาโด อาโวคาโดเป็นผลไม้ที่ช่วยป้องกันไม่ให้หลอดเลือดเกิดภาวะต่างๆ เช่น ความดันโลหิตสูง เลือดจึงไหลเวียนดี สมองจึงมีสุขภาพดี แต่อาโวคาโดมีไขมันสูง ฉะนั้นจำกัดการรับประทานให้เหลือแค่วันละเสี้ยวหรือครึ่งลูก
    • บลูเบอร์รี บลูเบอร์รีอุดมไปด้วยสารต้านอนุมูลอิสระ จึงสามารถป้องกันไม่ให้สมองเกิดภาวะออกซิเดทีฟสเตรส (oxidative stress) และลดผลกระทบจากโรคที่มักจะเกิดขึ้นตอนมีอายุมาก รับประทานบลูเบอร์รีวันละหนึ่งถ้วย อาหารอื่นๆ ที่อุดมไปด้วยสารต้านอนุมูลอิสระได้แก่ น้ำทับทิมและช็อกโกแลตดำ [8]
    • แซลมอนจากธรรมชาติ เพราะมีโอเมกา 3 อย่างเช่น ดีเอชเอ กรดไขมันที่จำเป็นต่อการทำงานของสมอง ปลาน้ำลึกอย่างเช่น ปลาแซลมอน ปลาซาร์ดีน และปลาเฮร์ริงอุดมไปด้วยโอเมกา 3 รับประทานปลาพวกนี้ครั้งละประมาณ 113 กรัมโดยรับประทานสัปดาห์ละสองถึงสามครั้ง [9]
    • ถั่วและเมล็ดพืช อาหารจำพวกถั่วโดยเฉพาะอย่างยิ่งวอลนัตและเมล็ดพืชนั้นอุดมไปด้วยวิตามินอี ซึ่งเป็นวิตามินที่ช่วยต่อสู้ภาวะการรู้คิดเสื่อมถอย (cognitive decline) เมื่ออายุมากขึ้น พยายามรับประทานถั่วและเมล็ดพืชวันละประมาณ 28 กรัม [10]
    • บีตรูต บีตรูตช่วยเพิ่มการไหลเวียนเลือดไปยังสมอง จึงสามารถช่วยให้การรู้คิดของเราดีขึ้น เราอาจเลือกรับประทานสลัดผักที่มีบีตรูต หรือดื่มน้ำบีตรูตก็ได้ [11]
  3. สถาบันสุขภาพแห่งชาติ (สหรัฐอเมริกา) แนะนำว่าผู้ใหญ่ควรนอนหลับวันละประมาณเจ็ดถึงแปดชั่วโมงและวัยรุ่นควรนอนหลับวันละเก้าชั่วโมง [12] สมองจะสร้างวิถีประสาทใหม่ๆ ขณะนอนหลับและผลการศึกษาได้แสดงให้เห็นว่าการนอนหลับในจำนวนชั่วโมงที่เหมาะสมจะช่วยให้การเรียนรู้ ทักษะการแก้ปัญหา และความจำดีขึ้น [13] การนอนหลับยังมีส่วนช่วยซ่อมแซมหัวใจและหลอดเลือดของร่างกายซึ่งบำรุงเลี้ยงสมองเนื้อขาวด้วย [14]
    • การนอนหลับพักผ่อนไม่เพียงพอหรือแม้แต่การนอนขาดไปเพียงแค่ 1-2 ชั่วโมงหลายคืนอาจมีผลต่อความเร็วในการตอบสนองและการประมวลผลได้ มีผลการศึกษาที่แสดงให้เห็นว่าคนที่นอนหลับพักผ่อนไม่เพียงพอจะใช้เวลาทำภารกิจต่างๆ นานขึ้น [15]
    • การนอนหลับพักผ่อนไม่เพียงพอเป็นประจำยังมีส่วนทำให้เกิดปัญหาหลอดเลือดอย่างเช่น เบาหวาน โรคหัวใจ และความดันโลหิตสูง โรคเหล่านี้อาจทำให้แอกซอนในสมองขาดออกซิเจนและกลูโคสได้ [16] [17]
  4. อาหารเสริมบำรุงสมองสามารถหาซื้อได้ตามร้านขายยา ผลิตขึ้นมาเพื่อช่วยให้สมองทำงานได้ดีขึ้น "ยาบำรุงสมอง" เหล่านี้ช่วยทำให้เรามีสมาธิเพิ่มขึ้น มีจิตใจที่จดจ่อมากขึ้น มีความจำดี และมีแรงจูงใจมากขึ้น อาหารเสริมบำรุงสมองที่ได้รับความนิยมได้แก่ [18]
    • สารสกัดจากพรมมิ
    • แอล-ธีอะนีน (L-theanine)
    • ยาบำรุงสมองหมวดเรสแตมส์ (Racetams)
    • สารสกัดจากอาร์ทิโชก (Artichoke)
    • โสม
  5. เมื่ออยู่ในช่วงวัยผู้ใหญ่ สมองก็ยังคงสร้างการเชื่อมโยงใหม่ๆ ต่อไป การเรียนรู้งานต่างๆ จะสร้างการเชื่อมโยงใหม่ๆ และการทำงานเหล่านั้นจนเชี่ยวชาญจะช่วยให้การเชื่อมโยงเหล่านั้นแข็งแรงขึ้น ทำให้ข้อมูลเดินทางข้ามแอกซอนเร็วขึ้น [19] ยิ่งไปกว่านั้นเมื่อเราเรียนรู้ เซลล์สมองชนิดหนึ่งซึ่งชื่อว่าเซลล์เกลียจะสามารถสร้างปลอกจากโปรตีนและไขมัน (ชื่อว่าปลอกไมอีลิน) รอบแอกซอนเพื่อห่อหุ้มแอกซอนและหลังจากนั้นก็จะทำให้สัญญาณไฟฟ้าเดินทางข้ามแอกซอนเร็วขึ้น [20]
    • การเรียนรู้ทักษะใหม่ๆ สามารถทั้งเพิ่มและสร้างปลอกไมอีลินรอบๆ แอกซอกที่แต่ก่อนไม่มีปลอกห่อหุ้มได้ [21]
    • ปลอกไมอีลินที่หนาทำให้เราสามารถทำภารกิจที่ต้องใช้สมองตั้งแต่การอ่านหนังสือ การจดจำ ไปจนถึงการตัดสินใจได้ดีขึ้น [22]
  6. มีผลการศึกษาแสดงให้เห็นว่าการเริ่มฝึกเล่นดนตรีเป็นอีกวิธีหนึ่งที่ช่วยให้การเชื่อมโยงทั่วบริเวณต่างๆ ของสมองแข็งแรงขึ้น ที่เป็นเช่นนี้เพราะการฝึกเล่นดนตรีทำให้เราต้องใช้อวัยวะหลายๆ ส่วนพร้อมๆ กัน เราต้องใช้สายตาอ่านตัวโน้ต ต้องใช้หูฟังเสียงดนตรีที่ตนเองเล่น และต้องใช้นิ้วในการเล่นดนตรี การเชื่อมโยงกันระหว่างบริเวณเหล่านี้ของสมองจะเริ่มแข็งแรงขึ้นและเชื่อมโยงกันแน่นมากขึ้น [23]
    • กลุ่มคนที่ได้รับประโยชน์จากการเล่นดนตรีมากที่สุดคือเด็กที่เริ่มเล่นดนตรีก่อนอายุเจ็ดขวบ แต่ถึงแม้ฝึกเล่นดนตรีในวัยผู้ใหญ่ การเล่นดนตรีก็มีผลต่อกระบวนการทางความคิดในสมองส่วนหน้า (executive functions) ซึ่งเป็นกระบวนการทางความคิดระดับสูงที่ช่วยให้ผู้คนประมวลผลและเก็บข้อมูลได้อย่างรวดเร็ว [24]
  7. การหมั่นติดต่อพูดคุยกับผู้อื่นนั้นเป็นผลดีต่อความสามารถในการรู้คิดมากทีเดียว เราไม่จำเป็นต้องพูดคุยกับผู้อื่นทางสังคมออนไลน์แต่เพียงอย่างเดียวเท่านั้น [25] การพูดคุยโต้ตอบกันไปมาทำให้เราต้องคิดให้เร็ว การหมั่นติดต่อพูดคุยกับผู้อื่นอยู่เสมอเป็นการท้าทายสมองและทำให้เราต้องตื่นตัวอยู่ตลอดเวลา
  8. ถ้าเราเป็นคนไม่สูบบุหรี่อยู่แล้ว ก็อย่าคิดลองเลย แต่ถ้าเราเป็นคนที่สูบบุหรี่ ขอแนะนำให้เลิกเสียเถอะ เพราะนอกจากการสูบบุหรี่จะทำให้เราเสี่ยงเป็นมะเร็งและถุงลมโป่งพองแล้ว ผลการศึกษายังแสดงให้เห็นว่าการสูบบุหรี่ทำให้ปริมาตรสมองทั้งหมดลดลงด้วยโดยเฉพาะอย่างยิ่งฮิปโปแคมปัส [26] คนที่สูบบุหรี่สูญเสียปริมาตรสมองเร็วกว่าคนที่ไม่สูบบุหรี่ การสูบบุหรี่จึงมีผลต่อความสามารถในการรู้คิด [27]
    โฆษณา
วิธีการ 2
วิธีการ 2 ของ 2:

ลองเล่นเกมฝึกสมอง

ดาวน์โหลดบทความ
  1. ขยายขนาดของภาพนี้ด้วยการเปิดภาพในหน้าต่างใหม่. ที่จริงวิทยาศาสตร์ยังไม่ได้ข้อสรุปเรื่องเกมฝึกสมอง เมื่อมีการทดลองทางวิทยาศาสตร์อย่างจริงจังเป็นระยะเวลาสั้นๆ พบว่าเกมฝึกสมองบางครั้งก็มีผลต่อความสามารถในการรู้คิดและบางครั้งก็ไม่มีผลต่อความสามารถนี้ [28] เกมฝึกสมองเป็นที่นิยมเล่นมาไม่นานนัก จึงอาจไม่สามารถใช้วิธีศึกษาแบบระยะยาวเพื่อให้รู้ผลที่แน่ชัดได้ ถึงแม้ไม่มีข้อสรุปที่แน่นอน แต่คนจำนวนมากก็รู้สึกราวกับว่าเกมฝึกสมองช่วยเรื่องการรู้คิด ภาพด้านบนนี้คือตัวอย่างของเกมฝึกสมองซึ่งกำลังเป็นที่นิยมมากเกมหนึ่ง เราจะลองมาเล่นเกมฝึกสมองเกมนี้กัน ก่อนอื่นขยายรูปภาพให้ใหญ่ขึ้นเพื่อเราจะได้มองเห็นอย่างชัดเจน
  2. ดูและบอกทิศทางของสายตาตัวการ์ตูนในแต่ละภาพ. ดูภาพจากซ้ายไปขวา โดยเริ่มจากแถวบนสุดไปแถวล่างสุด ขณะไล่ดูภาพแต่ละภาพ ก็บอกทิศทางของสายตาตัวการ์ตูนในแต่ละภาพด้วย เช่น “ล่าง ซ้าย บน ขวา...” จับเวลาที่ตนเองดูภาพและบอกทิศทางของสายตาตัวการ์ตูนไปด้วย ลองมองและบอกทิศทางของสายตาตัวการ์ตูนในแต่ละภาพจนครบภายในสามสิบวินาทีโดยไม่ผิดพลาด จากนั้นลดเวลาลงเหลือสิบห้าวินาที
  3. บอกทิศทางโดยดูจากมุมมองของใบหน้าตัวการ์ตูน. พอเราสามารถบอกทิศทางของสายตาตัวการ์ตูนในแต่ละภาพได้เร็วแล้ว คราวนี้ลองบอกทิศทางโดยดูจากมุมมองของใบหน้าตัวการ์ตูนบ้าง ทำราวกับว่าเราคือใบหน้าที่มองออกมาจากหน้าจอนั้น เช่น “ล่าง ขวา บน ซ้าย” การบอกทิศทางโดยดูจากมุมมองของใบหน้าจะยากกว่า เพราะต้องมีขั้นตอนการประมวลผลเพิ่มขึ้นอีกขั้นตอนหนึ่งเพื่อให้สามารถบอกมุมมองของใบหน้าได้ถูกต้อง
    • จับเวลาและบอกทิศทางของแต่ละใบหน้าให้ครบโดยไม่ผิดพลาดภายในระยะเวลาที่กำหนดคือสามสิบวินาทีและสิบห้าวินาที เหมือนแบบทดสอบแรก
  4. บอกทิศทางของสายตาตัวการ์ตูนอีกครั้งพร้อมชี้นิ้วในทิศทางตรงกันข้าม. เราจะบอกทิศทางของสายตาตัวการ์ตูนในแต่ละภาพอีกครั้ง แต่คราวนี้เราต้องชี้นิ้วไปในทิศทางที่ตรงกันข้ามกับที่ตนเองบอก เช่น ล่าง (ชี้ขึ้น) ซ้าย (ชี้ขวา) บน (ชี้ลง) เราจะเห็นว่าการเล่นยากขึ้นกว่าก่อนหน้านี้เพราะเราได้เพิ่มการเคลื่อนไหวพร้อมกับการพูดไปด้วย
    • การเล่นเกมฝึกสมองแบบนี้คล้ายกับการฝึกเล่นดนตรี เพราะต้องใช้อวัยวะหลายๆ ส่วนพร้อมๆ กัน ต้องใช้สายตามองภาพเพื่อตีความข้อมูลรูปภาพ ใช้ปากพูดเพื่อบอกทิศทางของสายตาตัวการ์ตูนแต่ละภาพ และขยับนิ้วเพื่อให้ชี้ในทิศทางที่ตรงข้ามกับที่ตนเองบอก
    • เราสามารถปรับระดับความยากในการเล่นเกมฝึกสมองให้เพิ่มขึ้นเรื่อยๆ ได้ ตัวอย่างเช่น บอกทิศทางโดยดูจากมุมมองของใบหน้าเพียงแค่ตอนที่มาถึงใบหน้าสีเขียวหรือทุกๆ สามหน้า การเพิ่มเติมกฎต่างๆ ในการเล่นเกมฝึกสมองจะทำให้เราพึ่งพาการจำลำดับภาพน้อยลง จึงลดเวลาและความผิดพลาดลง
  5. เกมที่บทความนี้นำเสนอเป็นแค่ตัวอย่างเกมฝึกสมองเกมหนึ่งเท่านั้น มีเว็บไซต์มากมายที่มีเกมฝึกสมองให้เราได้ลองเล่นเพื่อฝึกความเร็วในการตัดสินใจ การจำ และการประมวลผล เราสามารถหาเกมปริศนาคำและเกมปริศนาตรรกะทางอินเตอร์เน็ตมาเล่นเพื่อฝึกความสามารถในการรู้คิดได้
    • Luminosity, Brainist, Fit Brains และ Games for the Brain เป็นเว็บไซต์ที่มีเกมฝึกสมองให้เราลองเข้าไปเล่นได้ [29]
    • ถ้าต้องการเล่นเกมฝึกสมองที่นอกเหนือไปจากที่มีในอินเตอร์เน็ต เราสามารถหาและดาวน์โหลดแอปเกมฝึกสมองไว้เล่นบนมือถือได้ ถ้าเรามีเครื่องนินเทนโด DS ลองหาเกมฝึกสมองอย่างเช่น Brain Age มาลองเล่นดูก็ได้
    โฆษณา

คำเตือน

  • การตัดสินว่าเกมฝึกสมองนั้นมีประโยชน์จริงๆ หรือไม่และทำไมถึงเป็นเช่นนั้นยังคงต้องมีการศึกษาทางวิทยาศาสตร์เพิ่มเติมต่อไป
โฆษณา
  1. http://jn.nutrition.org/content/144/4/561S.long
  2. http://news.wfu.edu/2010/11/03/benefits-of-beet-juice/
  3. http://www.ninds.nih.gov/disorders/brain_basics/understanding_sleep.htm
  4. http://www.nhlbi.nih.gov/health/health-topics/topics/sdd/why
  5. http://www.nhlbi.nih.gov/health/health-topics/topics/sdd/why
  6. http://www.nhlbi.nih.gov/health/health-topics/topics/sdd/why
  7. http://www.nhlbi.nih.gov/health/health-topics/topics/sdd/why
  8. http://www.scientificamerican.com/article/what-causes-the-brain-to-have-slow-processing-speed-and-how-can-the-rate-be-improved/
  9. https://www.ncbi.nlm.nih.gov/pmc/articles/PMC5021479/
  10. https://student.societyforscience.org/article/learning-rewires-brain
  11. https://student.societyforscience.org/article/learning-rewires-brain
  12. https://student.societyforscience.org/article/learning-rewires-brain
  13. https://student.societyforscience.org/article/learning-rewires-brain
  14. http://neuroblog.stanford.edu/?p=4409
  15. https://www.psychologytoday.com/blog/the-athletes-way/201406/does-playing-musical-instrument-make-you-smarter
  16. https://www.psychologytoday.com/blog/the-athletes-way/201401/what-is-the-best-way-improve-your-brain-power-life
  17. https://www.psychologytoday.com/blog/the-athletes-way/201401/what-is-the-best-way-improve-your-brain-power-life
  18. https://www.psychologytoday.com/blog/the-athletes-way/201401/what-is-the-best-way-improve-your-brain-power-life
  19. http://news.fsu.edu/news/health-medicine/2017/04/17/think-brain-games-make-smarter-think-fsu-researchers-say/
  20. http://discovermagazine.com/2009/the-brain/24-which-brain-games-will-help-you-the-most

เกี่ยวกับวิกิฮาวนี้

มีการเข้าถึงหน้านี้ 4,987 ครั้ง

บทความนี้เป็นประโยชน์กับคุณไหม

โฆษณา