ดาวน์โหลดบทความ ดาวน์โหลดบทความ

เวลาหมกมุ่นก็เหมือนคุณกำลังอยู่ในอุโมงค์ คือสูญเสียความสามารถในการมองเห็นหรือใส่ใจในอะไรๆ รอบตัว เหลือแต่สิ่งที่คุณกำลังหมกมุ่นเท่านั้น อาการหมกมุ่นนั้นกลายเป็นส่วนหนึ่งในชีวิตประจำวัน เชื่อมโยงกันกับความกลัว การหมกมุ่นนั้นแตกต่างจากการเสพติด เวลาคุณเสพติดอะไรคุณจะไม่เคยพอ ต้องเสพสิ่งนั้นต่อไปเรื่อยๆ [1] การเอาชนะความหมกมุ่นของคุณนั้นจะว่าง่ายก็ไม่ง่าย แต่ถ้ารู้จักตัดโอกาสการเข้าถึงสิ่งที่คุณหมกมุ่นและหันเหความสนใจไปยังคนและความสนใจใหม่ๆ อิสรภาพของคุณก็อยู่ไม่ไกลเกินเอื้อม ลองอ่านขั้นตอนที่ 1 ดู ว่าจะเริ่มควบคุมอาการหมกมุ่นไม่ให้มีชัยเหนือคุณได้ยังไง

ส่วน 1
ส่วน 1 ของ 3:

ปลดปล่อยความคิด

ดาวน์โหลดบทความ
  1. เวลาคุณหมกมุ่นอยู่กับใครหรืออะไร ถ้ายังมัวอ้อยอิ่งอยู่ใกล้ๆ ก็ไม่มีทางเอาใจไปคิดเรื่องอื่นได้เลย ยิ่งคุณเอาตัวไปติดอยู่กับสิ่งนั้นมากเท่าไหร่ ก็ไม่มีทางหยุดคิดถึงมันได้หรอก ให้คุณเริ่มจากเอาตัวออกห่างจากสิ่งนั้นก่อน แล้วเดี๋ยวคุณก็จะเลิกสนใจมันได้เอง ตอนแรกจะทำได้ไม่ง่ายเลย แต่พอเริ่มทำแล้วไอ้แรงดึงดูดระหว่างคุณกับสิ่งนั้นที่เหมือนกับมนต์สะกดก็จะค่อยคลายหายไปเอง
    • ถ้าหมกมุ่นอยู่กับใคร นั่นเป็นสัญญาณบอกความสัมพันธ์ที่ไม่ค่อยจะปกติสักเท่าไหร่ ทางที่ดีให้ลดการพบปะพูดคุยกับคนคนนั้นลง หันไปใช้เวลากับอย่างอื่นแทน ทำตัวให้เป็นประโยชน์กว่านี้จะดีกว่า [2]
    • บางทีคุณก็พบว่าตัวเองหมกมุ่นอยู่กับงานอดิเรกบางอย่าง เช่น การเล่นเกมโปรด ถ้าเป็นแบบนั้นละก็ เอาเกมออกไปห่างๆ ตัวเลย อย่างการลบไปจากคอมหรือยกเครื่องเกมให้เพื่อนช่วยเอาไปเก็บไว้จนกว่าจะหายหมกมุ่นจนไม่ได้ทำงานทำการ
  2. การเปิดโอกาสให้ตัวเองได้หมกมุ่นง่ายๆ นั้นจะทำให้คุณรู้สึกสุขจนบอกไม่ถูก ทำให้ยากมากต่อการถอนรากถอนโคน แค่คุณปล่อยใจไปคิดถึงมันมากแค่ไหน มันก็ยิ่งเกาะติดความคิดของคุณมากเท่านั้น จะทำลายคำสาปนี้ได้ คุณต้องตัดไฟแต่ต้นลม เช่น ถ้าคุณหมกมุ่นอยู่กับดารา ให้หยุดเม้าท์กับเพื่อนเรื่องดาราซะ เลิกเข้าไปส่อง IG ของเขาด้วย โดยเฉพาะอย่าเสียเวลาเพ้อว่าได้เป็นแฟนกับเขาสมใจ ยิ่งคุณเปลืองเนื้อที่สมองไปกับสิ่งที่คุณหลงใหลมากเท่าไหร่ มันก็จะยิ่งครอบงำคุณง่ายขึ้นเท่านั้น [3]
    • เรารู้ว่าการเลิกยุ่งเกี่ยวกับสิ่งที่คุณหมกมุ่นมันยากขนาดไหน บางทีคุณก็เผลอใจอ่อนกับตัวเอง อย่างบอกตัวเองว่าไม่เป็นไร ขอส่อง Facebook ของคนคนนั้นอีกครั้งละกัน แต่ถ้าคิดจะเลิกหมกมุ่นจริงๆ คุณต้องหักดิบทันทีตอนที่กำลังอยากสุดๆ นั่นแหละ
    • บางทีความหมกมุ่นนั้นก็สตรองเกิ๊นจนคุณยากจะต่อกร ไม่ว่าจะพยายามหักดิบแค่ไหน ใจคุณก็ดิ่งกลับไปที่มันตลอด ถ้าเป็นแบบนั้นละก็ อย่าเพิ่งตีอกชกหัว คุณยังพอมีโอกาสอยู่ แค่ต้องใช้เวลามากขึ้นเท่านั้นเอง
  3. ไอ้การหักดิบน่ะมันพูดง่ายกว่าทำ ก็เวลาคิดหรือได้พูดถึงสิ่งนั้น มันช่างแสนสุขอะไรแบบนี้ใช่ไหมล่ะ? ให้คอยเตือนตัวเองอยู่ตลอดว่าทำไมคุณถึงอยากจะเลิกหมกมุ่น จะได้มีแรงฮึด เพราะมีอะไรดีๆ อีกหลายอย่างรอให้ไปดูไปทำอยู่ พอเรื่องหมกมุ่นผุดขึ้นมาอีกเมื่อไหร่ ให้หาอย่างอื่นมาดึงความสนใจ จะได้ไม่ตกหลุมพรางอีกยังไงล่ะ [4] ข้างล่างนี่คือวิธีเบี่ยงเบนความสนใจที่เราอยากแนะนำ
    • ออกกำลังกายให้ทั้งตัวและหัวไม่ว่าง แต่วิ่งกับเดินอาจไม่ค่อยเหมาะ เพราะมีเวลาให้เผลอไปคิดนู่นนี่ได้ ลองปีนผา เข้าถ้ำ หรือเล่นกีฬากันเป็นทีมจะดีกว่า เพราะต้องคิดวิเคราะห์ตลอดเวลา
    • เรื่องแต่งนี่แหละตัวเบี่ยงเบน ลองหาหนังสือหรือหนังมาดูให้หัวไม่ว่าง แต่เอาเรื่องแนวที่คุณไม่ได้กำลังหมกมุ่นนะ
    • ถ้าถึงตาจน จิตกำลังจะหลุด ให้รีบหาตัวช่วยด่วนอย่างการเปิดเพลงดังๆ หรือโทรหาเพื่อน (แล้วคุยอะไรก็ได้ที่ ไม่ใช่ เรื่องที่คุณกำลังหมกมุ่นนะ) ไม่ก็อ่านข่าวหรือหางานอะไรมาทำก็ได้
  4. พอคุณเอาแต่หมกมุ่น คุณก็เลยไม่มีเวลาไปทำอย่างอื่น อย่างทำงานให้ออกมาดีๆ ใช้เวลากับคนรู้ใจ หรือพัฒนาความสนใจด้านอื่นๆ นอกเหนือเรื่องที่คุณหมกมุ่น ถ้าคุณลองหันไปใช้เวลากับสิ่งต่างๆ ที่เหลือในชีวิต คุณจะลืมเรื่องที่คุณหมกมุ่นไปได้แบบไม่รู้ตัวเลยล่ะ
    • กลับไปสานต่อความสัมพันธ์ที่ละเลยมานานก็น่าสนใจ พี่น้องผองเพื่อนคิดถึงคุณจะแย่แล้ว จะได้กลับมาเม้าท์กันเรื่องสารทุกข์สุขดิบ หรือแชร์ไอเดียใหม่ๆ กระทั่งดราม่าร้อนๆ ถือเป็นการเปลี่ยนบรรยากาศใหม่ๆ ให้ใจได้สดใสซาบซ่าน!
    • หลายคนพบว่าการตั้งหน้าตั้งตาทำงานนี่แหละหักดิบเรื่องหมกมุ่นได้ดีที่สุด ไม่ว่าคุณจะทำงานอะไรก็ตาม ทุ่มไปให้สุดตัวเลย
  5. คุณเป็นพวกช่างฝันใช่ไหม? รู้ไหมว่าบางทีเสียเวลาเป็นชั่วโมงๆ เลยแค่คิดถึงใครหรืออะไรที่คุณหมกมุ่น ตัวคุณอยู่ตรงนี้ แต่ใจลอยไปถึงไหนๆ ทำให้คุณพลาดโอกาสรับรู้สิ่งต่างๆ ที่อยู่ตรงหน้าคุณ ถ้าคุณเบื่อจะหมกมุ่นแล้ว ต้องรู้จักทำสมาธิ อยู่กับปัจจุบัน หรือก็คือตื่นตัวรู้ตัวอยู่ตลอด แทนที่จะมัวนั่งคิดถึงแต่อดีตหรืออนาคต
    • ใช้สัมผัสทั้ง 5 รับรู้สิ่งที่กำลังเกิดขึ้นรอบตัวคุณ. คุณได้กลิ่นอะไร มองเห็นอะไร ได้ยินอะไร และรับรสอะไรในขณะนี้? มีอะไรเกิดขึ้นตรงหน้าคุณบ้าง ไม่ใช่เอาแต่ใจลอยตลอด
    • ตั้งใจฟังเวลาคุยกับคนอื่น ใส่ใจบทสนทนาระหว่างกัน แทนที่จะพยักหน้าไปงั้นๆ แต่หัวคิดไปถึงไหนต่อไหนแล้ว
    • อาจจะช่วยได้ถ้าหาคำใช้ท่องหรือภาวนาเวลารู้ตัวว่าหมกมุ่น อย่างท่องซ้ำไปมาว่า "หายใจเข้า หายใจออก" "สะอาด สว่าง สงบ" หรือ "ตั้งใจหน่อย" ก็พอจะช่วยดึงสติคุณกลับมาอยู่กับปัจจุบันได้ [5]
  6. เข้าร่วมการบำบัดความคิดและพฤติกรรมหรือ CBT (Cognitive Behavior Therapy). วิธีการบำบัดแบบนี้ตั้งอยู่บนแนวคิดที่ว่าเป็นไปไม่ได้ที่คุณจะเลิกคิดถึงสิ่งที่คุณหมกมุ่น ที่ทำได้คือทำให้คุณคิดถึงสิ่งนั้นน้อยลงและลดตัวกระตุ้นที่ต้องพบเจอในแต่ละวัน คุณจะได้ใช้ชีวิต คิด หรือทำอะไรอย่างอื่น และจัดการกับอาการหมกมุ่นของคุณได้ง่ายขึ้น [6]
    • CBT เป็นการสร้างคำหรือการกระทำที่ใช้ “พิชิต” อาการหมกมุ่น เปิดโอกาสให้คุณได้มุ่งความสนใจไปที่อย่างอื่นบ้าง [7]
    โฆษณา
ส่วน 2
ส่วน 2 ของ 3:

เสริมสร้างพฤติกรรมใหม่ๆ

ดาวน์โหลดบทความ
  1. ถ้าคุณหมกมุ่นเรื่องคน วิธีเปลี่ยนแปลงตัวเองได้ดีที่สุดก็คือหันไปใช้เวลากับคนอื่นบ้าง เวลาและความสนใจที่เสียไปกับคนคนนั้นคนเดียวจะได้กระจายไปทำความรู้จักกับคนอื่นๆ ให้ลองลงเรียนวิชาใหม่ๆ หรือจูงหมาไปเดินเล่นตามสวน หรือใส่ใจเพื่อนคนอื่นให้มากขึ้น การที่เราทำความรู้จักกับคนใหม่ๆ ก็เหมือนการเปิดโลกที่กว้างไกลกว่าเรื่องเดียวที่คุณหมกมุ่นอยู่
    • อย่าเปรียบเทียบคนใหม่ๆ กับคนเก่าที่คุณหมกมุ่น ขอให้สนุกไปกับความแปลกใหม่ไม่เหมือนใครของเขา แทนที่จะมานั่งคาดหวังว่าเขาจะต้องมีบุคลิกลักษณะเหมือนคนที่คุณชอบ
    • ถึงคุณจะบอกว่าคุณหมกมุ่นสิ่งของ ไม่ใช่คน แต่การเปิดใจพบคนใหม่ๆ ก็ช่วยได้อยู่ดี เพราะจะเป็นการเปิดโลก เปิดมุมมองใหม่ๆ ให้คุณได้รู้จักอะไรที่ไม่เคยพบมาก่อนไงล่ะ
  2. บางที "การลองอะไรใหม่ๆ" ก็ฟังดูเป็นสูตรสำเร็จจนเกินไป แต่ก็เพราะมันได้ผลไง เราถึงได้แนะนำ การฝึกฝนทักษะใหม่ๆ หรือกิจกรรมใหม่ๆ จะทำให้สมองของคุณตื่นตัว เป็นการเปลี่ยนมุมมอง ออกจากหล่มที่ติดมานาน แสดงให้เห็นกันไปเลยว่าคุณไม่ได้ถูกครอบงำอีกต่อไปด้วยการใช้เวลากับสิ่งอื่น อะไรก็ได้ที่ไม่ใช่เรื่องเดิมๆ [8]
    • อย่างถ้าคนที่คุณหมกมุ่นเขาไม่ชอบพิพิธภัณฑ์ศิลปะและเกลียดหนังฝรั่ง คุณก็หันมาทำเรื่องพวกนั้นที่เขาไม่ชอบซะเลยหลังจากอุตส่าห์หลีกเลี่ยงมาซะนาน
    • ถ้าคุณหลงใหลได้ปลื้มอะไรเป็นพิเศษ ให้ลองเปลี่ยนขั้วไปลองทำอย่างอื่นแทน
  3. ถ้าคุณหมกมุ่นเพราะมันเป็นส่วนหนึ่งของชีวิตประจำวัน อย่างการไปทำงานแล้วต้องผ่านหน้าบ้านแฟนเก่าทุกวัน ถึงเวลาแล้วที่คุณต้องลุกมาเปลี่ยนแปลง หยุดคิดสักหน่อย พฤติกรรมไหนต้องกำจัดเพราะสร้างเสริมอาการหมกมุ่นจนโงหัวไม่ขึ้นของคุณ? บางทีคำตอบอาจผุดขึ้นมาทันตาเห็น พยายามเปลี่ยนกิจวัตรของคุณหน่อย ตอนแรกน่ะยากแน่ แต่ไม่นานเดี๋ยวก็เห็นว่าแรงดึงดูดมันน้อยลง ข้างล่างนี่คือตัวอย่างการเปลี่ยนแปลงที่อาจช่วยคุณถ่ายเทความสนใจได้
    • เปลี่ยนเส้นทางไปทำงานหรือไปโรงเรียน
    • เปลี่ยนไปออกกำลังกายในฟิตเนสอื่น หรือเปลี่ยนเวลาออกกำลังกาย จะได้ไม่เจอคนที่คุณหมกมุ่น
    • แทนที่ตื่นปุ๊บแล้วใช้เน็ตปั๊บ ไม่ว่าจะเช็คเมลหรือท่องเว็บก็เถอะ ให้เปลี่ยนมาเริ่มวันใหม่ด้วยการนั่งสมาธิ วิ่งจ็อกกิ้ง หรือพาหมาไปเดินเล่นแทน
    • หาที่เที่ยวใหม่ๆ ในวันหยุดสุดสัปดาห์
    • เวลาทำงานเปิดเพลงใหม่ๆ ฟังบ้าง
  4. ถ้าเบื่อจะหมกมุ่นกับอะไรต่อมิอะไรแล้ว ต้องเปลี่ยนตัวเองทวงคืนชีวิตคุณกลับมา อาจฟังดูเป็นเรื่องหนักหนาสาหัส แต่บางทีที่เราเปลี่ยนก็เพราะจะพิสูจน์ว่าเรามีความสามารถพอจะเปลี่ยนแปลงอะไรๆ ได้นี่แหละ เลือกมาสักอย่างที่เชื่อมโยงกับอาการหมกมุ่นของคุณ แล้วลุกมาเปลี่ยนแปลงให้สดใหม่ใสปิ๊ง
    • หรือบางทีอาจหมายถึงการแปลงโฉมตัวคุณเองนั่นแหละ ถ้าไว้ผมยาวมาตลอดเพราะคนที่คุณหมกมุ่นเขาชอบแบบนั้น ก็น่าจะลองตัดสั้นดูนะว่าไหม? เอาแบบสั้นๆ ปังๆ ให้ลืมเขาคนนั้นไปเลย
    • ถ้าใช้เน็ตทีไรก็แวะเวียนไปแต่เว็บเดิมๆ คงถึงเวลาแปลงโฉมห้องทำงานหรือออฟฟิศใหม่ซะแล้ว โยกย้ายเฟอร์นิเจอร์หน่อย หรือหาเฟอร์นิเจอร์ใหม่มาวาง จัดโต๊ะทำงานให้เรี่ยมแล้ววางรูปหรือของกระจุกกระจิกลงไป อะไรที่ชวนให้นึกถึงความหลังครั้งยังหมกมุ่นก็โละออกไปให้หมด แล้วแทนที่ด้วยอะไรที่สดใสรับวันใหม่ที่จะมาถึง
  5. บางทีอาการหมกมุ่นของคุณก็ร้ายแรงเกินกว่าจะแก้ไขได้ด้วยตัวเอง ถ้าดูแล้วคุณควบคุมดูแลตัวเองไม่ค่อยได้ จนส่งผลต่อความสุขส่วนตัว คงต้องลองนัดพบนักบำบัดดู ที่ปรึกษามืออาชีพนี่แหละที่พร้อมแนะนำให้คำปรึกษาพร้อมเครื่องมือต่างๆ ที่จะช่วยคุณทวงคืนความคิดและชีวิตของตัวเองได้ในที่สุด
    • ถ้าในหัวคุณมีแต่ความคิดซ้ำๆ ไม่ยอมหายไปไหน หรือชอบทำอะไรเดิมๆ จนเกือบจะเป็นพิธีกรรมส่วนตัว เป็นไปได้มากว่าคุณกำลังเป็นโรค OCD (obsessive-compulsive disorder) หรือโรคย้ำคิดย้ำทำนั่นเอง [9] ถ้าเป็นกรณีนี้ ควรปรึกษาผู้เชี่ยวชาญเพื่อรับการบำบัดหรือยารักษาโรค OCD ต่อไป
    โฆษณา
ส่วน 3
ส่วน 3 ของ 3:

ใช้ความหมกมุ่นให้เป็นประโยชน์

ดาวน์โหลดบทความ
  1. ใช่ว่าการหมกมุ่นจะเป็นเรื่องร้ายแรงเสมอไป จริงๆ แล้วยังมีคนมากมายที่เฝ้าตามหา "สิ่งที่ตัวเองหลงใหล" อะไรที่ทำให้เขาตื่นตัวจนอยากจะทำอีก รู้จักมันให้มากขึ้นไปอีกเรื่อยๆ ถ้าคุณเจออะไรที่หลงใหล ทำแล้วรู้สึกดีมีความหมาย คนเขาอาจมองว่าคุณโชคดีก็ได้ เช่น ถ้าคุณหายใจเข้าออกเป็นดาราศาสตร์ วันๆ ไม่อยากทำอะไรนอกจากอ่านและศึกษาเรื่องดวงดาว คุณอาจเปลี่ยนความหมกมุ่นนี้ของคุณให้กลายเป็นอาชีพเลยก็ได้
    • ถ้าเรื่องที่คุณหมกมุ่นไม่ได้ผลักดันคุณไปไกลขนาดจบดอกเตอร์ด้านดาราศาสตร์ แต่เป็นเรื่องใกล้ตัวอย่างพวกข่าวซุบซิบดารา หรือคอลัมน์เจ๊าะแจ๊ะวงใน คุณก็ยังทำให้มันเกิดประโยชน์ได้ อย่างการเขียนบล็อก หรือ Twitter ซุบซิบดาราซะเองก็ได้ ใช่ไหมล่ะ?
    • หมกมุ่นอะไรมากเข้า ก็เอามันมาพัฒนาตัวเองซะเลย ถ้าคุณหมกมุ่นอยู่กับใครที่เขาไม่สนใจคุณ ก็อาจตัดสินใจปรับปรุงแก้ไขข้อบกพร่องของตัวเองซะเลย หาเหตุผลให้ได้ตื่นแต่เช้าเพื่อออกไปวิ่งก่อนไปทำงาน หรือเหตุผลที่ทำให้ต้องอ่านตำราที่ค้างคาจนจบครบถ้วน จะได้มีอะไรเจ๋งๆ ไปพูดหน้าชั้นยังไงล่ะ
  2. เอาเรื่องที่คุณหมกมุ่นมาเปลี่ยนเป็นแรงบันดาลใจ. ถ้าคุณหลงใหลได้ปลื้มใคร ก็เอาคนคนนั้นมาเป็นแรงบันดาลใจสร้างงานศิลปะซะเลย รู้ไว้ใช่ว่า หนังสือ ศิลปะ และบทเพลงมากมายต่างก็มีที่มาจากแรงหลงใหลกันทั้งนั้น ถ้าคุณห้ามใจให้คิดถึงใครบางคนไม่ไหว ก็ยักย้ายถ่ายเทความรู้สึกที่เขาไม่ยอมตอบรับนั้นมาเป็นบทกวี บทเพลง หรือภาพวาดซะให้มันรู้แล้วรู้รอดไป
  3. คุณอาจคิดว่าตัวเองผิดปกติ จนได้เจอเพื่อนร่วมหมกมุ่นคอเดียวกันนั่นแหละ ไม่ว่าคุณจะหลงใหลอะไรเป็นพิเศษ รับรองเลยว่าต้องมีสักคนที่รู้สึกเหมือนกับคุณ หาคนที่รักและหลงใหลสิ่งเดียวกับคุณให้เจอ คนที่จะแบ่งปันเรื่องราวและพูดคุยกันได้ไม่รู้จบ บางทีอาจจะเป็นนักฟุตบอลทีมโปรด หรือดาราที่คุณตามดูทุกเรื่อง ไม่ก็เกมที่ทำเอาเล่นโต้รุ่ง บอกเลยว่าต้องมีสักคนที่พูดปุ๊บก็จูนติดกันปั๊บเพราะคอเดียวกัน
  4. ความหมกมุ่นจะเป็นปัญหาก็ต่อเมื่อคุณเริ่มทุ่มเทเวลาและพลังงานให้อะไรบางอย่างมากเกินไปเท่านั้น มากจนไม่เหลือที่ให้อะไรอย่างอื่น คุณเป็นคนเดียวเท่านั้นที่จะบอกได้ว่าแค่ไหนถึงแปลว่ามากเกินไป ถ้าสิ่งนั้นที่คุณหมกมุ่นทำให้คุณมีความสุข โดยที่ไม่ได้ละเลยความต้องการพื้นฐานของตัวเอง รวมถึงยังคงความสัมพันธ์กับเพื่อนฝูงคนรอบข้างไว้ได้ ถือว่าเป็นเรื่องปกติที่ไม่ต้องกังวลอะไร แต่ถ้าสิ่งนั้นทำให้คุณรู้สึกถูกจำกัด พยายามตัดไฟแต่ต้นลมซะ หาโอกาสใหม่ๆ ให้ตัวเองได้ทดลองอะไรอย่างอื่นบ้างก็ดี
    โฆษณา

เคล็ดลับ

  • เปลี่ยนไปลองทำอย่างอื่นบ้างเพื่อดึงความสนใจไปจากสิ่งที่หมกมุ่น อย่างออกไปเที่ยวกับเพื่อนๆ อ่านหนังสือ หรือหัดเล่นดนตรี
  • อย่ากลบเกลื่อน ต้องกล้าเผชิญปัญหาแล้วแก้ไขมัน
  • ค่อยเป็นค่อยไปก็ได้ไม่ว่ากัน ไม่ต้องถึงขนาดเลิกกิน "มาม่าดิบ" ก็ได้ แค่กินน้อยลงก็พอ
  • อย่ากลัวและอย่าอาย
  • คิดซะว่าเป็นเรื่องสนุกชวนท้าทาย แล้วลองเปลี่ยนตัวเองดู!
โฆษณา

คำเตือน

  • โรคย้ำคิดย้ำทำ หรือ OCD กับอาการเสพติดนั้นถือเป็นปัญหาร้ายแรงสำหรับหลายคน ถ้าคุณควบคุมตัวเองไม่ได้ และ/หรือสิ่งนั้นมันทำร้ายตัวคุณหรือคนรอบข้าง ให้รีบขอรับคำปรึกษาจากผู้เชี่ยวชาญโดยด่วน
โฆษณา

เกี่ยวกับวิกิฮาวนี้

มีการเข้าถึงหน้านี้ 20,300 ครั้ง

บทความนี้เป็นประโยชน์กับคุณไหม

โฆษณา