ดาวน์โหลดบทความ ดาวน์โหลดบทความ

อาการบวมเป็นสิ่งที่พบได้บ่อยและเกิดขึ้นได้จากหลายสาเหตุ แต่โดยทั่วไปแล้วคุณสามารถรักษาให้หายเองได้ ถ้าคุณเกิดอาการบวมเฉพาะที่เนื่องจากการบาดเจ็บหรือการรักษาพยาบาล แค่พักผ่อนและใช้น้ำแข็งประคบก็ช่วยได้แล้ว แต่ถ้าเป็นภาวะของเหลวคั่งเรื้อรัง (อาการบวมน้ำ) จากการตั้งครรภ์ ผลข้างเคียงจากยา ภาวะหัวใจล้มเหลว โรคหลอดเลือด หรือสาเหตุอื่นๆ การออกกำลังกายเบาๆ และการปรับเปลี่ยนอาหารสามารถช่วยได้ ดังนั้นหากคุณไม่ได้มีอาการบวมฉุกเฉิน (เช่น เกิดจากอาการแพ้) ที่ต้องเข้ารับการรักษาโดยด่วน บทความนี้มีคำแนะนำดีๆ ที่ช่วยให้คุณลดอาการบวมได้ด้วยตัวเอง

วิธีการ 1
วิธีการ 1 ของ 3:

รักษาอาการบวมที่เกิดจากการบาดเจ็บ

ดาวน์โหลดบทความ
  1. เช่น ถ้าคุณข้อเท้าพลิกระหว่างเล่นบาสเก็ตบาล การพยายาม “ทู่ซี้” เล่นต่อในวันถัดไปมีแต่จะทำให้อาการบวมยิ่งแย่ลง ให้เวลาบริเวณที่บวมได้พักฟื้นและหายดีก่อน! ถ้าทำได้ระหว่างพักผ่อนให้ยกบริเวณที่บวมขึ้นสูงระดับเดียวกับหัวใจหรือสูงกว่า วิธีนี้ช่วยควบคุมการไหลเวียนเลือดไปยังบริเวณนั้น [1]
    • บ่อยครั้งที่อาการบวมจะหายไปเองหลังจากพักผ่อนได้ 1-3 วัน
    • ถ้าเท้าบาดเจ็บ คุณอาจจะใช้ไม้ค้ำยันหรือไม้เท้าเพื่อลดแรงกดตรงบริเวณที่บวม เวลานั่งหรือนอนลงก็ให้ยกบริเวณที่บวมไว้บนหมอน
    • ถ้าแขนของคุณปวดจากการบาดเจ็บ ให้ใช้แขนอีกข้างหนึ่งหรือไม่ก็ขอให้คนอื่นช่วย ถ้าจำเป็นให้ใช้แถบผ้าคล้องคอเพื่อยกแขนขึ้น
  2. ช่วง 3 วันแรกให้ประคบน้ำแข็งชั่วโมงละไม่เกิน 20 นาที. การประคบน้ำแข็งจะได้ผลมากที่สุดในช่วง 72 ชั่วโมงแรกหลังเกิดอาการบวม ใช้ผ้าขนหนูผืนเล็กห่อก้อนน้ำแข็งเทียม ถุงน้ำแข็ง หรือถุงผักแช่แข็งแล้วประคบลงบริเวณที่ปวดไม่เกิน 20 นาที จากนั้นรออย่างน้อย 40 นาทีค่อยประคบใหม่ อย่าประคบน้ำแข็งบ่อยเกินไปเพราะสุดท้ายแล้วมันจะยิ่งบวม [2]
    • การประคบน้ำแข็งช่วยลดการไหลเวียนของเลือดไปยังบริเวณนั้นและช่วยลดอาการบวม อักเสบ และปวด
    • ถ้าคุณยังรู้สึกปวดบวมตรงบริเวณที่ได้รับบาดเจ็บหลังประคบน้ำแข็งเป็นระยะไปได้ 72 ชั่วโมง ให้ติดต่อแพทย์ ปรึกษาแพทย์ทันทีหากอาการปวดหรือบวมรุนแรงขึ้นแม้ว่าจะประคบน้ำแข็งบ่อยๆ แล้วก็ตาม
    • อย่าประคบน้ำแข็งลงบนผิวหนังโดยตรงเพราะอาจเป็นอันตราย
  3. รับประทานยาต้านอักเสบชนิดไม่ใช่สเตียรอยด์ (NSAIDs) ที่หาซื้อได้เองเพื่อลดอาการอักเสบและปวด. ยาต้านอักเสบชนิดไม่ใช่สเตียรอยด์ (NSAIDs) ที่หาซื้อได้เองและใช้กันอย่างแพร่หลายได้แก่ ไอบูโพรเฟน (มอทริน/แอดวิล) และนาพร็อกเซน (อัลลีฟ) แอสไพรินก็จัดอยู่ในกลุ่มนี้เช่นกัน แต่อาจเพิ่มความเสี่ยงที่จะปวดท้องหรือมีเลือดออก อะซิตามิโนเฟน (ไทลีนอล) ก็ช่วยลดอาการปวดแต่ไม่ได้ลดบวมโดยตรง [3]
    • รับประทานยาที่หาซื้อได้เองตามที่ระบุไว้บนผลิตภัณฑ์ ปรึกษาแพทย์หรือเภสัชกรหากคุณกำลังรับประทานยาตัวอื่นที่แพทย์จ่าย เกิดผลข้างเคียง หรือมีข้อสงสัยเกี่ยวกับยา
  4. พันรอบบริเวณที่บวมเพื่อกันกระแทกและควบคุมไม่ให้บวมขึ้นอีก. ถ้าคุณมีอาการบวมที่ข้อเท้า หัวเข่า ข้อมือ หรือศอก เป็นต้น ลองใช้ผ้ายืดพันเคล็ดชนิดไม่มีกาวพันรอบบริเวณนั้น ใช้ผ้ายืดพันรอบบริเวณที่บวมจนรู้สึกตึงเล็กน้อยแต่ไม่ถึงกับปวด เป็นเหน็บ หรือชา ถ้าผ้าเริ่มหลวมให้เปลี่ยนใหม่ได้ตามต้องการ และพันเอาไว้อย่างน้อย 72 ชั่วโมงแรกหลังเริ่มเกิดอาการบวม [4]
    • ถ้าคุณสามารถติดต่อครูฝึกสอนกีฬา นักกายภาพบำบัด หรือแพทย์ได้ ให้ข้อคำแนะนำเรื่องการพันรอบข้อต่อที่บวม
    • นอกจากนี้คุณก็อาจจะใช้ถุงน่องทางการแพทย์หากเกิดอาการบวมตรงข้อเท้า หรือผ้ารัดกล้ามเนื้อเมื่อเกิดอาการบวมตรงหัวเข่าหรือศอกก็ได้ หลักการใช้ก็เหมือนกับผ้ายืดพันเคล็ดคือต้องไม่รัดแน่นจนเป็นเหน็บ ชา หรือปวด
  5. จำไว้ว่าช่วง 72 ชั่วโมงแรกหลังจากเริ่มมีอาการบวม “จง” ประคบเย็นและ “อย่า” ประคบร้อน! การประคบร้อนลงบริเวณที่บวมจะยิ่งเพิ่มการไหลเวียนของเลือดและทำให้ยิ่งบวม แต่หลังจากผ่านไปแล้ว 72 ชั่วโมงและเริ่มบวมน้อยลงแล้ว การประคบร้อนชั่วโมงละไม่เกิน 20 นาทีอาจช่วยให้รู้สึกผ่อนคลายและคลายข้อต่อและกล้ามเนื้อที่ตึงได้ [5]
    • หลังจากประคบเย็นเป็นระยะในช่วง 72 ชั่วโมงแรกแล้ว การประคบเย็นและร้อนบริเวณนั้นสลับกันอาจช่วยให้อาการดีขึ้นได้ เช่น ประคบเย็น 20 นาที พัก 40 นาที และประคบร้อนอีก 20 นาที ทำอย่างนี้ไปเรื่อยๆ
  6. รับประทานอาหาร “สไตล์เมดิเตอร์เรเนียน” ที่ช่วยลดการอักเสบ. พูดแบบกว้างๆ ก็คืออาหารที่ดีต่อสุขภาพอย่างผักและผลไม้นั้นมักมีคุณสมบัติต้านการอักเสบ ส่วนอาหารที่ไม่ค่อยดีต่อสุขภาพเท่าไหร่ก็อาจเพิ่มการอักเสบได้ คุณสามารถลดอาการบวมได้ด้วยการรับประทานอาหารต้านการอักเสบอย่างโปรตีนคุณภาพสูงและผักที่มีน้ำตาลต่ำ พยายามลดของทอด เนื้อสัตว์ปรุงแต่ง ธัญพืชและน้ำตาลไม่ขัดสี และไขมันที่ไม่ดีต่อสุขภาพ รวมถึงรับประทานวัตถุดิบที่พบในอาหารสไตล์เมดิเตอร์เรเนียนให้มากขึ้น โดยเฉพาะ: [6]
    • น้ำมันมะกอก
    • ผลไม้ เช่น สตรอว์เบอร์รี บลูเบอร์รี เชอร์รี และส้ม
    • ผักใบเขียว เช่น ปวยเล้ง เคล และคอลลาร์ด หรือจะเปลี่ยนเป็นผักไทยๆ อย่างคะน้า ตำลึง และขึ้นฉ่ายก็ได้
    • ถั่วเปลือกแข็ง เช่น อัลมอนด์และวอลนัต
    • ปลาที่มีไขมันสูงอย่างแซลมอน ทูน่า แมกเคอเรล และซาร์ดีน หรือจะเปลี่ยนเป็นปลาไทยอย่างปลาช่อน ปลาสวาย และปลาสำลี ปลาดุกก็ได้
    โฆษณา
วิธีการ 2
วิธีการ 2 ของ 3:

รักษาอาการบวมเรื้อรัง

ดาวน์โหลดบทความ
  1. รับประทานยาขับปัสสาวะเพื่อรักษาอาการบวมน้ำหากแพทย์จ่ายให้. ถ้าร่างกายมีของเหลวสะสมมากเกินไป (อาการบวมน้ำ) เนื่องจากภาวะต่างๆ เช่น ตั้งครรภ์ ผลข้างเคียงจากยา โรคไต โรคตับแข็ง หรือภาวะหัวใจล้มเหลว แพทย์อาจจะจ่ายยาขับปัสสาวะ เช่น ฟูโรซีไมด์ (ลาซิกซ์) ให้ ซึ่งแพทย์อาจจะจ่ายเป็นยาเม็ดหรือยาฉีดให้ (ฉีดโดยบุคลากรการแพทย์) แต่ไม่ว่าจะเป็นยารูปแบบไหนคุณก็ต้องปฏิบัติตามคำสั่งของแพทย์อย่างระมัดระวัง [7]
    • ยาขับปัสสาวะบางครั้งก็เรียกว่ายาขับน้ำ ซึ่งจะลดการคั่งของของเหลวในร่างกายโดยจำกัดปริมาณเกลือที่ร่างกายดูดซึมเข้าไป [8]
    • อาการบวมน้ำมักเกิดตรงเท้า ข้อเท้า และขามากที่สุด แต่บางครั้งก็เกิดขึ้นที่มือและแขน
  2. ออกกำลังกายเบาๆ เช่น เดิน เพื่อบรรเทาอาการบวมเรื้อรัง. โดยทั่วไปการพักฟื้นบริเวณที่บวมนั้นเป็นวิธีรักษาอาการบวมที่เกิดจากการบาดเจ็บหรือการรักษาพยาบาลที่ดีที่สุด แต่ถ้าเป็นอาการบวมน้ำเรื้อรังที่เกิดจากภาวะต่างๆ (เช่น การตั้งครรภ์) หรือนิสัยที่เป็นวิถีชีวิต (เช่น ทำงานนั่งโต๊ะตลอดทั้งวัน) การใช้วิธีพักฟื้นควบคู่ไปกับการออกกำลังกายเบาๆ บ่อยๆ นั้นจะได้ผลดีกว่า เช่น ถ้าเป็นอาการบวมน้ำตรงหน้าท้องหรือร่างกายท่อนล่าง การหมั่นลุกขึ้นเดินสัก 5 นาทีตลอดทั้งวันอาจช่วยได้มาก หรืออาจลองทำกิจกรรมเบาๆ เช่น โยคะ ว่ายน้ำ หรือออกกำลังกายแบบแอโรบิกในน้ำ [9]
    • ฝึกท่าโยคะต่างๆ เช่น “ท่าน้ำตก” ซึ่งช่วยกระตุ้นให้ของเหลวที่คั่งอยู่ไหลจากขากลับไปที่ส่วนอื่นๆ ของร่างกายและลดอาการบวมได้
    • แต่อย่าหักโหม! ทำเฉพาะกิจกรรมเบาๆ ที่ไม่ได้ทำให้บริเวณที่บวมเจ็บ ปวด หรือบวมมากกว่าเดิม
    • ถ้าคุณทำงานนั่งโต๊ะทั้งวันจนเกิดอาการบวมน้ำที่ขาท่อนล่าง ให้กำหนดเวลาเดินเร็วรอบออฟฟิศอย่างน้อยชั่วโมงละ 1 ครั้ง
  3. รับประทานอาหารที่อุดมไปด้วยคุณค่าทางโภชนาการ โดยเฉพาะอาหารที่เป็นยาขับปัสสาวะตามธรรมชาติ. อาหารที่มีโภชนาการสูงบางอย่างก็มีฤทธิ์ขับปัสสาวะตามธรรมชาติด้วยเช่นกัน เช่น หน่อไม้ฝรั่ง ตะไคร้ บีตรูต องุ่น ถั่วแขก ผักใบเขียว สับปะรด ฟักทอง หอมหัวใหญ่ กระเจี๊ยบ และกระเทียม แต่ถ้าคุณรับประทานยาขับปัสสาวะอยู่แล้ว อย่ารับประทานอาหารเหล่านี้เพิ่มเติมโดยไม่ปรึกษาแพทย์ก่อน [10]
    • ภาวะขาดสารอาหาร โดยเฉพาะอย่างยิ่งการขาดโพแทสเซียม แมกนีเซียม แคลเซียม และสังกะสีนั้นมักเป็นสิ่งที่ต้องกังวลหากคุณมีอาการบวมน้ำและรับประทานยาขับปัสสาวะ คุณอาจจำเป็นต้องรับประทานอาหารเสริม แต่ก็ลองรับประทานอาหารที่อุดมไปด้วยโภชนาการดังต่อไปนี้ให้มากขึ้นด้วย: [11]
      • โพแทสเซียม: มันฝรั่ง มันเทศ ถั่วฝัก และกล้วย
      • แมกนีเซียม: ถั่วเปลือกแข็ง เมล็ดพืช ถั่วฝัก และผักใบเขียวเข้ม
      • แคลเซียม: ผลิตภัณฑ์ผม บร็อกโคลี และกะหล่ำดอก
      • สังกะสี: เนื้อสัตว์ สัตว์ปีก ปลา ถั่วเมล็ดแห้ง และผลิตภัณฑ์นม
  4. ลดการรับประทานเกลือเพื่อลดการคั่งของของเหลว. การลดโซเดียมนั้นช่วยบรรเทาอาการบวมน้ำได้เป็นพิเศษ แต่ก็ช่วยบรรเทาอาการบวมชนิดอื่นได้เช่นกัน [12] และโดยทั่วไปแล้วมันก็ดีต่อสุขภาพโดยรวมมากกว่าด้วย! ลดการรับประทานเกลือด้วยการรับประทานอาหารปรุงแต่งและอาหารสำเร็จรูปให้น้อยลง แต่ถ้าจะรับประทานอาหารสำเร็จรูปก็ให้เลือกสูตรเกลือน้อยหรือไม่เติมเกลือ และใช้สมุนไพร เครื่องเทศ และรสชาติที่สดชื่นให้มากขึ้นแทนการเติมเกลือ [13]
    • แม้ว่าข้อกำหนดสารอาหารที่แนะนำให้บริโภคต่อวันสำหรับคนไทยอายุตั้งแต่ 6 ปีขึ้นไปปัจจุบันจะปรับลดจากวันละ 2,400 มก. เป็น 2,000 มก. แล้ว แต่พยายามลดลงให้ถึง 1,500 มก.หรือน้อยกว่า เพราะการจะขาดโซเดียมจากอาหารนั้นเกิดขึ้นได้ยากมาก แต่ถ้าหากคุณมีภาวะหัวใจล้มเหลว ให้ปรึกษาแพทย์ก่อน [14]
  5. ดื่มน้ำมากๆ เพราะจะช่วยลดอาการบวม ไม่ใช่เพิ่ม. เนื่องจากว่าอาการบวมทุกชนิดโดยเฉพาะอย่างยิ่งอาการบวมน้ำนั้นเกี่ยวข้องกับการมีของเหลวคั่งอยู่ในร่างกายมากเกินไป คุณก็อาจจะอยากดื่มของเหลวให้น้อยลง แต่การดื่มน้ำให้เพียงพอนั้นจำเป็นต่อการขับโซเดียมออกจากร่างกายและควบคุมอาการบวม แต่แทนที่จะตั้งเป้าดื่มน้ำให้ได้เท่านั้นเท่านี้ พยายามดื่มน้ำให้บ่อยมากพอที่คุณจะไม่รู้สึกหิวน้ำเลยตลอดทั้งวัน [15]
    • อันที่จริงอาการบวมที่ไม่ทราบสาเหตุอาจเป็นสัญญาณของการขาดน้ำก็ได้
    • ดื่มน้ำเปล่าหรือผักและผลไม้ที่มีน้ำเยอะให้ได้มากที่สุด และลดแอลกอฮอล์ (ซึ่งอาจเพิ่มการคั่งของของเหลว) และเครื่องดื่มผสมน้ำตาล (ที่มักมีโซเดียม “ซ่อนอยู่”)
    โฆษณา
วิธีการ 3
วิธีการ 3 ของ 3:

เข้ารับการรักษา

ดาวน์โหลดบทความ
  1. เข้ารับการรักษาทันทีหากเกิดอาการบวมเนื่องจากการแพ้. อาการแพ้อย่างรุนแรง (ที่เรียกว่า แอนาฟิแล็กซิส) นั้นอาจทำให้ใบหน้า ริมฝีปาก ลิ้น และลำคอบวมอย่างรวดเร็วและเป็นอันตรายถึงชีวิต ส่วนสัญญาณของแอนาฟิแล็กซิสอื่นๆ ได้แก่ หายใจหอบถี่ หายใจฮืดฮาด ไอ ความดันโลหิตต่ำลง สัญญาณชีพอ่อน กลืนลำบาก เจ็บหน้าอก คลื่นไส้และอาเจียน เวียนศีรษะ และหมดสติ ถ้าคุณมีอาการดังกล่าว รีบทำตามขั้นตอนดังต่อไปนี้: [16]
    • ใช้อีพิเพน (เข็มฉีดสารอีพิเนฟรีน) หากแพทย์เคยจ่ายให้คุณเนื่องจากเคยมีประวัติอาการแพ้มาก่อน ฉีดทะลุเสื้อผ้าเข้าไปตรงต้นขาด้านนอก ถ้าคุณไม่มีอีพิเพน ให้รีบทำตามขั้นตอนต่อไป
    • โทรเรียกหน่วยบริการฉุกเฉิน หรือถ้าจะให้ดีกว่านั้นคือให้คนที่อยู่ด้วยโทรให้ ใช้อีพิเพนก่อนเสมอ (ถ้ามี)
    • เข้ารับการรักษา ตรวจติดตามกับแพทย์ประจำตัวและแพทย์ผู้ชำนาญด้านภูมิแพ้แม้ว่าคุณจะรู้สึกดีขึ้นหลังจากฉีดอีพิเพนแล้วก็ตาม
  2. เช่น โทรปรึกษาแพทย์หากเท้าและข้อเท้าหรือหน้าท้องยังบวมเท่าเดิม นอกจากนี้คุณก็ควรติดต่อแพทย์เช่นเดียวกันหากคุณบาดเจ็บจากการเล่นกีฬาจนข้อมือบวม และไม่หายหลังจากพักฟื้นและประคบน้ำแข็งไปแล้วประมาณ 72 ชั่วโมง ในกรณีนี้คุณต้องหาว่ามีสาเหตุอื่นที่ทำให้ตัวบวมหรือเปล่า แม้ว่าอาการบวมจากการบาดเจ็บจะต้องใช้เวลาสูงสุดถึง 2-3 สัปดาห์จึงจะหายสนิท แต่การตัดสาเหตุอื่นๆ ออกไปก่อนนั้นก็เป็นวิธีที่ดีที่สุด [17]
    • อย่าเพิ่งกังวลจนเกินไป! อาการบวมส่วนใหญ่ไม่ใช่เรื่องร้ายแรงอะไร แต่การตัดสาเหตุอื่นๆ ออกไปก่อนก็เป็นสิ่งที่สมเหตุสมผล
    • อาการบวมอย่างรุนแรงระหว่างตั้งครรภ์อาจเป็นสัญญาณของภาวะความดันโลหิตสูงที่จำเพาะกับการตั้งครรภ์ ซึ่งเป็นภาวะที่พบไม่บ่อยแต่ร้ายแรงที่ทำให้ความดันโลหิตสูงควบคู่ไปกับอาการบวม
    • ยาบางชนิดก็อาจทำให้ตัวบวมได้เช่นกัน ยาลดอาการซึมเศร้า การรักษาด้วยฮอร์โมน และยารักษาโรคความดันโลหิต เป็นต้น อาจทำให้เกิดอาการบวม
    • ภาวะหัวใจล้มเหลว ไตวาย และตับวายทำให้ของเหลวสะสมในร่างกายและทำให้เกิดอาการบวม
  3. โทรหาแพทย์ทันทีหากคุณมีอาการบวมควบคู่กับอาการร้ายแรงอื่นๆ. อาการบวมที่เกิดร่วมกับอาการอื่นๆ อาจเป็นสัญญาณที่บอกถึงภาวะเกี่ยวกับหัวใจ ไต หรือตับที่ร้ายแรง ถ้าเป็นอย่างนั้น คุณต้องเข้ารับการรักษาทันที ติดต่อแพทย์หากคุณมีอาการอย่างใดอย่างหนึ่งดังต่อไปนี้ : [18]
    • เจ็บหน้าอก
    • หายใจหอบถี่
    • มีไข้
    • รู้สึกร้อนบริเวณที่บวม
    • อาการบวมเพิ่มขึ้นเฉียบพลันระหว่างตั้งครรภ์
    • อาการบวมเกิดควบคู่กับการวินิจฉัยว่ามีภาวะเกี่ยวกับหัวใจหรือตับ
    โฆษณา

เกี่ยวกับวิกิฮาวนี้

มีการเข้าถึงหน้านี้ 67,115 ครั้ง

บทความนี้เป็นประโยชน์กับคุณไหม

โฆษณา