ดาวน์โหลดบทความ ดาวน์โหลดบทความ

โรคไส้เลื่อนเกิดจากอวัยวะภายใน เช่น ลำไส้หรือกระเพาะอาหารดันผ่านช่องโหว่ที่อยู่ในกล้ามเนื้อหรือเนื้อเยื่อที่พยุงอวัยวะไว้ในที่เดียวกัน ซึ่งส่วนใหญ่ก็มักจะเกิดขึ้นในช่องท้อง แต่ก็อาจเกิดที่บริเวณต้นขาท่อนบน สะดือ หรือขาหนีบได้เช่นกัน ไส้เลื่อนมักจะไม่เจ็บและส่วนใหญ่จะสังเกตเห็นเป็นก้อนนุ่มๆ อยู่ใต้ผิวหนัง แต่บางครั้งก็อาจจะเจริญเติบโตและร้ายแรงขึ้นก็ได้ ถ้าคุณรู้สึกปวดและไม่สบายตัว คุณต้องเข้ารับการผ่าตัดเพื่อรักษาโรคไส้เลื่อน ถ้าคุณสงสัยว่าตัวเองจะเป็นไส้เลื่อน คุณควรไปพบแพทย์เพื่อให้แพทย์วินิจฉัยอย่างเป็นทางการ และคุณต้องเข้ารับการรักษาทางการแพทย์ทันทีหากคุณมีไข้ รู้สึกปวดมากขึ้น ท้องผูก หรือไส้เลื่อนเปลี่ยนสีไป [1]

วิธีการ 1
วิธีการ 1 ของ 3:

บรรเทาและจัดการกับอาการปวด

ดาวน์โหลดบทความ
  1. รับประทานยาแก้ปวดที่หาซื้อได้ตามร้านขายยาทั่วไปเพื่อบรรเทาอาการไม่สบายตัว. แอสไพรินและไอบูโพรเฟนอาจจะช่วยบรรเทาอาการปวดและบวมได้ รับประทานยาตามปริมาณที่ระบุไว้ข้างขวดและอย่ารับประทานมากกว่าปริมาณที่จำกัดในแต่ละวัน ถ้าอาการปวดไม่ดีขึ้นหรือถ้าคุณต้องรับประทานยามากขึ้นเรื่อยๆ ก็อาจจะถึงเวลาต้องโทรศัพท์ติดต่อแพทย์แล้ว [2]
    • ถ้าคุณรับประทานยาเจือจางเลือด คุณต้องสอบถามแพทย์ก่อนรับประทานยาแก้ปวดเสมอ เพราะแพทย์อาจจะให้คุณรับประทานยาตัวอื่นที่ไม่มีผลต่อการทำงานของยาเจือจางเลือด

    ประเภทของไส้เลื่อน: สุดท้ายแล้วโรคไส้เลื่อนก็ต้องรักษาด้วยการผ่าตัดแทบทั้งสิ้น โดยเฉพาะอย่างยิ่งถ้ามันถลนออกมาหรือทำให้คุณปวดมาก ไส้เลื่อนประเภทที่พบได้บ่อย ได้แก่:

    ไส้เลื่อนบริเวณขาหนีบ: ไส้เลื่อนประเภทนี้จะเกิดขึ้นตรงบริเวณขาหนีบ ซึ่งมักจะเกิดขึ้นกับผู้ชายมากกว่า แม้ว่าจะเกิดขึ้นในผู้หญิงบ้างก็ตาม

    ไส้เลื่อนบริเวณใต้ขาหนีบ: ไส้เลื่อนประเภทนี้จะอยู่แถวๆ ด้านบนของต้นขาด้านใน เกิดจากการที่มีลำไส้บางส่วนโผล่ออกมาตรงขาหนีบ ไส้เลื่อนประเภทนี้พบในผู้หญิงสูงวัยมากที่สุด

    ไส้เลื่อนกระบังลม: ไส้เลื่อนประเภทนี้เกิดขึ้นในช่องท้อง โดยที่กระเพาะอาหารบางส่วนยื่นเข้าไปในช่องอก

    ไส้เลื่อนที่สะดือ: ไส้เลื่อนประเภทนี้เกิดขึ้นเมื่อเนื้อเยื่อดันออกมาที่หน้าท้องใกล้ๆ กับสะดือ สามารถเกิดขึ้นได้ทั้งในเด็กทารกและผู้ใหญ่ [3]

  2. หลีกเลี่ยงอาหารที่ทำให้เกิดอาการแสบร้อนกลางทรวงอกและอาหารมื้อใหญ่ถ้าคุณเป็นไส้เลื่อนกระบังลม. ไส้เลื่อนประเภทนี้เป็นไส้เลื่อนประเภทหนึ่งที่บางครั้งก็ไม่จำเป็นต้องเข้ารับการผ่าตัด โดยเฉพาะอย่างยิ่งถ้าสามารถควบคุมอาการได้จากการรับประทานอาหารและรับประทานยาลดกรดที่หาซื้อได้ตามร้านขายยาทั่วไป แต่ถ้าอาการรุนแรงขึ้นเมื่อเวลาผ่านไป การผ่าตัดก็อาจจะเป็นทางออกที่ดีที่สุด [4]
    • รับประทานอาหารมื้อเล็กๆ ตลอดทั้งวันแทนการรับประทานมื้อใหญ่ 3 มื้อ วิธีนี้จะช่วยลดความดันในกระเพาะอาหาร ซึ่งจะช่วยให้คุณรู้สึกสบายตัวขึ้นตลอดทั้งวัน
    • หลีกเลี่ยงคาเฟอีน ช็อกโกแลต กระเทียม มะเขือเทศ และอาหารไขมันสูงหรือของทอดที่อาจทำให้เกิดอาการแสบร้อนกลางทรวงอกได้
    • หลังรับประทานอาหารอย่าเพิ่งนอนลงจนกว่าจะผ่านไปแล้วหลายชั่วโมง
  3. บรรเทาความไม่สบายตัวที่เกิดจากไส้เลื่อนบริเวณขาหนีบด้วยเข็มขัดรัดไส้เลื่อน. เข็มขัดรัดไส้เลื่อนคือชุดชั้นในที่ช่วยรองรับและทำให้ไส้เลื่อนอยู่กับที่ ซึ่งเป็นวิธีแก้ปัญหาชั่วคราวเพื่อลดอาการปวดจนกว่าคุณจะเข้ารับการผ่าตัด คุณสามารถหาซื้อเข็มขัดรัดไส้เลื่อนได้ทางออนไลน์ แต่ถ้าเป็นไปได้ให้ไปพบแพทย์เพื่อให้แน่ใจว่ามันพอดีกับตัวคุณจะดีที่สุด [5]
    • ไส้เลื่อนบริเวณขาหนีบต้องรักษาด้วยการผ่าตัด แต่ถ้าไส้เลื่อนมีขนาดเล็กนิดเดียวและไม่ได้ทำให้รู้สึกปวด แพทย์ก็อาจจะบอกว่ารอดูได้แล้วคอยตรวจเช็กอยู่เป็นระยะ
    • การผ่าตัดอาจจะฟังดูน่ากลัว แต่จริงๆ แล้วการผ่าตัดไส้เลื่อนใช้เวลาไม่ถึง 1 ชั่วโมงและช่วยบรรเทาอาการปวดได้อย่างรวดเร็ว
  4. รับประทานอาหารที่อุดมไปด้วยกากใยเพื่อให้อุจจาระนิ่มและขับถ่ายง่ายขึ้น. การเกร็งกล้ามเนื้อยิ่งทำให้โรคไส้เลื่อนแย่ลง และอาการท้องผูกก็ยิ่งทำให้อาการแย่ยิ่งกว่าเก่า รับประทานผักและผลไม้ในแต่ละวันให้มากๆ และรับประทานใยอาหารเสริมเพื่อช่วยให้ขับถ่ายง่ายขึ้น [6]
    • ข้าวโอ๊ต ถั่วเปลือกแข็ง ถั่ว ป๊อปคอร์น เมล็ดเจีย และธัญพืชเต็มเมล็ดเป็นแหล่งอาหารที่อุดมไปด้วยกากใย
  5. วิธีนี้เป็นประโยชน์กับไส้เลื่อนทุกประเภท เพราะยิ่งคุณแบกรับน้ำหนักน้อยเท่าไหร่ กล้ามเนื้อคุณก็จะรู้สึกตึงเครียดน้อยลงเท่านั้น พยายามปรับเปลี่ยนอาหารด้วยการรับประทานโปรตีนไขมันต่ำและผักผลไม้ให้มากขึ้น และลองออกกำลังกายเบาๆ ทุกวันเพื่อลดน้ำหนัก [7]
    • ไส้เลื่อนอาจทำให้คุณรู้สึกไม่สบายตัวมากๆ และอาจจะทำให้คุณจินตนาการภาพตัวเองออกกำลังกายได้ยาก ลองออกไปเดินเป็นระยะทางสั้นๆ 15 นาทีถ้าทำได้ หรือไปที่สระว่ายน้ำแล้วจ้วงน้ำช้าๆ ประคับประคองร่างกายตัวเอง เพื่อที่อาการไส้เลื่อนจะได้ไม่แย่ลง
    โฆษณา
วิธีการ 2
วิธีการ 2 ของ 3:

ป้องกันไม่ให้อาการไส้เลื่อนแย่ลง

ดาวน์โหลดบทความ
  1. หลีกเลี่ยงการยกของชิ้นใหญ่ๆ หรือหนักๆ ที่อาจทำให้ต้องเกร็งกล้ามเนื้อ. แทนที่จะโน้มตัวลงไปยกของหนักๆ ให้ย่อเข่าในท่านั่งยองๆ แทน ดึงของเข้ามาใกล้ตัว จากนั้นก็ยืดขาตรงและยืนขึ้น ยกของหนักที่ระดับอกและพยายามอย่าหมุนไปหมุนมามากเกินไป [8]
    • ถ้าเป็นของหนักที่คุณยกเองไม่ได้ ให้ใช้รถเข็นดอลลี สอดแผ่นรถดอลลีเข้าไปใต้สิ่งของชิ้นนั้น จากนั้นใช้น้ำหนักตัวดึงที่จับดอลลีเข้าหาตัวเพื่อยกสิ่งของชิ้นนั้น จากจุดนั้นคุณก็จะสามารถเข็นรถเข็นไปไหนมาไหนได้
  2. ผ่อนคลายขณะเข้าห้องน้ำเพื่อไม่ให้บริเวณขาหนีบรู้สึกเกร็ง. วิธีนี้อาจจะตรงข้ามกับความเชื่อทั่วไปเล็กน้อย แต่พยายามอย่าเกร็งขณะเข้าห้องน้ำ ค่อยๆ ใช้เวลาและอย่าเบ่งแรงเกินไป แต่ค่อยๆ ให้ร่างกายทำงานของมันเองอย่างช้าๆ มันอาจจะใช้เวลานานกว่าปกติ แต่ก็อ่อนโยนกับร่างกายและสามารถป้องกันไม่ให้อาการแย่ลงได้ [9]
    • อาหารที่มีกากใยสูงสามารถป้องกันโรคไส้เลื่อนได้ และในกรณีที่เป็นแล้วก็สามารถลดความรู้สึกไม่สบายตัวได้เช่นกัน
    • การยกเท้าขึ้นมาวางไว้บนเก้าอี้สตูลเตี้ยๆ ยังช่วยให้กล้ามเนื้อผ่อนคลาย และช่วยให้คุณขับถ่ายง่ายขึ้นด้วย
    • ดื่มกาแฟร้อนๆ ตอนเช้าเป็นกิจวัตร ความร้อนและคาเฟอีนจะช่วยให้ขับถ่ายง่ายขึ้น
  3. สร้างความแข็งแรงให้กล้ามเนื้อช่องท้องเพื่อป้องกันไม่ให้เป็นไส้เลื่อนเพิ่มขึ้น. กล้ามเนื้อที่อ่อนแอทำให้อวัยวะภายในทะลุผนังช่องท้องออกมาได้ง่าย หลักการสร้างความแข็งแรงของแกนกลางลำตัวก็คือการทำแบบเบาๆ เพราะจริงๆ แล้วแรงกดดันหรือการออกแรงอาจทำให้เป็นโรคไส้เลื่อนได้ เพราะฉะนั้นให้เริ่มต้นช้าๆ และหยุดออกกำลังกายถ้ามันทำให้คุณรู้สึกปวด [10]
    • ลองทำท่าครันช์เบาๆ 3 เซ็ต เซ็ตละ 10 ครั้งทุกวัน นอนหงาย ยกเข่าขึ้น วางมือไว้ใต้ศีรษะ ใช้กล้ามเนื้อหน้าท้องยกไหล่เหนือพื้น 3-4 นิ้ว แล้วค่อยๆ หงายหลังกลับไปที่พื้น [11]
    • ออกกำลังกายแบบฝึกกล้ามเนื้อที่มีแรงกระแทกต่ำในสระว่ายน้ำ แรงพยุงจากน้ำจะทำให้คุณออกกำลังกายได้ง่ายขึ้นโดยที่ไม่ต้องเกร็งหน้าท้องมากนัก เริ่มทำช้าๆ ถ้าคุณเพิ่งจะเริ่มว่ายน้ำหรือออกกำลังกายในน้ำ จากนั้นก็เพลิดเพลินกับช่วงเวลาที่ได้อยู่ในน้ำให้สนุกไปเลย! [12]
    • เข้าคลาสโยคะสำหรับผู้เริ่มต้นเพื่อที่คุณจะได้ค่อยๆ ยืดเหยียดและเกร็งกล้ามเนื้อลำตัว [13]
  4. เลิก บุหรี่ เพื่อให้สุขภาพปอดดีขึ้นและป้องกันไม่ให้คุณไอมากเกินไป. มีหลายเหตุผลว่าทำไมคุณถึงควรเลิกสูบบุหรี่ และการเลิกบุหรี่ก็ช่วยป้องกันโรคไส้เลื่อนได้ด้วย อาการไอเรื้อรังจะทำให้กล้ามเนื้อหน้าท้องและขาหนีบเกร็ง เพราะฉะนั้นเริ่มจำกัดการสูบบุหรี่หรือหักดิบไปเลย [14]
    • การเลิกบุหรี่อาจเป็นสิ่งที่ทำได้ยากมากๆ ถ้าคุณมีปัญหาในการเลิกบุหรี่ ให้ปรึกษาแพทย์ แพทย์อาจจะมีวิธีการช่วยเหลือที่สามารถช่วยให้คุณก้าวข้ามระยะเปลี่ยนผ่านได้ง่ายขึ้น
    โฆษณา
วิธีการ 3
วิธีการ 3 ของ 3:

เข้ารับการรักษาทางการแพทย์

ดาวน์โหลดบทความ
  1. ไปพบแพทย์เพื่อรับคำวินิจฉัยที่เป็นทางการก่อนรักษาตัว. คุณอาจจะสังเกตเห็นสัญญาณและอาการของโรคไส้เลื่อนด้วยตัวเอง โดยเฉพาะอย่างยิ่งถ้ามันใหญ่ อย่างไรก็ตามคุณอาจจะวินิจฉัยพลาดเองได้ง่ายๆ เพราะฉะนั้นไปพบแพทย์เพื่อให้แน่ใจว่าเป็นอาการของโรคไส้เลื่อนจริงๆ แล้วแพทย์จะทำการวินิจฉัยตามความเหมาะสมเพื่อให้คุณแน่ใจได้ว่าคุณได้รับการรักษาที่ถูกต้อง [15]
    • แพทย์จะตรวจร่างกายเพื่อตรวจหาไส้เลื่อน โดยแพทย์จะตรวจดูที่บริเวณนั้นและอาจจะใช้มือกดลงไป
    • ในบางกรณีแพทย์อาจจะทำการถ่ายภาพรังสีเพื่อดูไส้เลื่อน
  2. ปรึกษากุมารแพทย์หากลูกเป็นไส้เลื่อนที่สะดือ. สำหรับทารกและเด็กอายุต่ำกว่า 5 ปี ให้พาไปพบกุมารแพทย์เสมอเพื่อขอคำแนะนำ บ่อยครั้งที่ไส้เลื่อนในทารกสามารถหายได้เองเมื่อเวลาผ่านไป แต่ถ้าเด็กอายุครบ 5 ปีแล้วยังไม่หาย ก็อาจจะต้องรักษาด้วยวิธีการผ่าตัดเล็ก [16]
    • ไส้เลื่อนที่สะดือพบบ่อยในเด็กทารก และไม่ได้ทำให้เด็กรู้สึกปวดหรือไม่สบายตัว
  3. แจ้งให้แพทย์ทราบหากคุณเป็นไส้เลื่อนระหว่างตั้งครรภ์. เนื่องจากความตึงเครียดที่เพิ่มขึ้นของร่างกาย โรคไส้เลื่อนจึงพบในสตรีมีครรภ์ได้ค่อนข้างบ่อย ถ้าคุณสงสัยว่าคุณจะเป็นไส้เลื่อน ให้ปรึกษาแพทย์เพื่อให้แพทย์ทำการตรวจ ซึ่งถ้าหากคุณต้องผ่าตัด แพทย์เองก็น่าจะรอจนกว่าคุณจะคลอดและพักฟื้นก่อนค่อยรักษาโรคไส้เลื่อน แต่คุณและลูกจะต้องปลอดภัยในระหว่างนั้น [17]
    • หลีกเลี่ยงการยกของหนักและอย่าลืมรับประทานอาหารที่มีกากใยสูงเพื่อป้องกันไม่ให้ท้องผูก
  4. ไปพบแพทย์โดยเร็วที่สุดหากไส้เลื่อนเป็นสีแดงเข้มหรือม่วง. เพราะอาจเป็นสัญญาณที่บอกว่าไส้เลื่อนถูกบีบรัด เมื่อเป็นเช่นนี้ ไส้เลื่อนก็จะไปขัดขวางการไหลเวียนของเลือดไปยังส่วนของลำไส้และต้องเข้ารับการรักษาทางการแพทย์ ไปพบแพทย์เพื่อให้แน่ใจว่าคุณไม่เป็นอะไร เพราะคุณอาจต้องเข้ารับการรักษาแบบฉุกเฉิน [18]
    • พยายามอย่ากังวลหรือตื่นตระหนก เพราะแพทย์สามารถรักษาโรคไส้เลื่อนได้อยู่แล้ว
  5. เข้ารับการรักษาแบบฉุกเฉินถ้าคุณรู้สึกปวด คลื่นไส้ อาเจียน หรือลำไส้อุดตัน. บางครั้งไส้เลื่อนก็อาจจะไปขวางบางส่วนของลำไส้ หมายความว่าไส้เลื่อนอาจไปขัดขวางการเคลื่อนไหวของลำไส้จนทำให้รู้สึกปวด คลื่นไส้ อาเจียน และท้องอืด คุณอาจจะไม่สามารถผายลมหรือขับถ่ายได้ ถ้าคุณมีอาการเหล่านี้ ให้ไปพบแพทย์หรือไปห้องฉุกเฉิน เพราะคุณจะต้องเข้ารับการรักษา [19]
    • โรคนี้เป็นโรคที่รักษาได้ แม้ว่าตอนที่เป็นมันจะดูน่ากลัวก็ตาม ทันทีที่คุณสงสัยว่าน่าจะมีปัญหา ให้เข้ารับการตรวจเพื่อที่คุณจะได้กลับมาเป็นปกติโดยเร็วที่สุด
  6. เข้ารับการผ่าตัดเพื่อรักษาโรคไส้เลื่อนและป้องกันไม่ให้กลับมาเป็นอีกในอนาคต. โดยทั่วไปแล้วการผ่าตัดไส้เลื่อนจะใช้เวลาไม่นานนักและคุณก็น่าจะได้กลับบ้านในวันนั้นเลย ตามปกติแล้วศัลยแพทย์จะกรีดแผลเล็กๆ ใกล้ๆ ไส้เลื่อนเพื่อดันมันกลับเข้าไปที่เดิม จากนั้นแพทย์ก็จะเย็บแผลให้แน่นเพื่อไม่ให้ไส้เลื่อนยื่นออกมาอีก [20]
    • คุณต้องปฏิบัติตามวิธีการดูแลตัวเองหลังการผ่าตัด คุณต้องผ่อนคลายและหลีกเลี่ยงการยกของหนักสักระยะ และคุณก็อาจจะต้องรับประทานยาแก้ปวดด้วย
    โฆษณา

เคล็ดลับ

โฆษณา

คำเตือน

โฆษณา

เกี่ยวกับวิกิฮาวนี้

มีการเข้าถึงหน้านี้ 41,010 ครั้ง

บทความนี้เป็นประโยชน์กับคุณไหม

โฆษณา