ดาวน์โหลดบทความ ดาวน์โหลดบทความ

Ocular hypertension หรือความดันลูกตาสูงนั้น ถือเป็นโรคตาที่พบมากที่สุดโรคหนึ่ง สาเหตุคือความดันของเหลวในลูกตาสูงกว่าปกติ (intraocular pressure) ถ้าเป็นแล้วไม่รีบรักษา จะทำให้ลุกลามไปเป็นต้อหิน (Glaucoma) หรือกระทั่งสูญเสียการมองเห็นแบบถาวร เพราะฉะนั้นสำคัญมากว่าคุณต้องรีบรักษาทันทีที่รู้ตัว เวลาความดันตาสูงนั้นจะไม่แสดงอาการใดๆ จะรู้ก็ต่อเมื่อคุณไปตรวจตากับจักษุแพทย์เท่านั้น วิธีรักษาเบื้องต้นมักเป็นการใช้ยาหยอดตาเพื่อลดความดันตา แต่ก็ใช่ว่าจะได้ผลกับทุกคน [1]

วิธีการ 1
วิธีการ 1 ของ 4:

ปรับเปลี่ยนวิถีชีวิตและอาหารการกิน

ดาวน์โหลดบทความ
  1. คนที่มีโรคประจำตัว อย่างโรคอ้วน โรคเบาหวาน และความดันโลหิตสูง มักต่อต้านอินซูลิน เลยทำให้ร่างกายยิ่งผลิตอินซูลินออกมามาก ระดับอินซูลินที่สูงกว่าปกติจะทำให้ความดันตาสูงขึ้น [2]
    • แก้ได้โดยหลีกเลี่ยงอาหารบางอย่างที่จะไปกระตุ้นการเพิ่มสูงของระดับอินซูลิน อาหารที่ว่าก็เช่นน้ำตาล ธัญพืช (ทั้งโฮลเกรนและออร์แกนิก) ขนมปัง บะหมี่ ข้าว ซีเรียล แล้วก็มันฝรั่ง
  2. หมั่นออกกำลังกายด้วยการเต้นแอโรบิค วิ่งจ็อกกิ้ง เดินเร็ว ปั่นจักรยาน หรือเล่นเวท เพราะช่วยลดระดับอินซูลินในร่างกายได้ ป้องกันไม่ให้ความดันลูกตาสูง
    • อินซูลินเป็นฮอร์โมนที่ช่วยลำเลียงน้ำตาลในเลือด (หรือกลูโคส) ไปยังเซลล์ต่างๆ เพื่อเป็นแหล่งพลังงาน ถ้าคุณเอาพลังงานไปใช้ในการออกกำลังกายให้หมด ก็จะทำให้ระดับน้ำตาลในเลือดนั้นลดลง รวมถึงระดับอินซูลิน พอระดับอินซูลินต่ำแล้ว ก็จะไม่ไปกระตุ้นระบบประสาทซิมพาเทติก (ocular sympathetic nerve) มากเกินไป ทำให้ความดันตาไม่สูง
    • พยายามออกกำลังกายให้ได้อย่างน้อย 30 นาทีต่อวัน 3 - 5 วันต่ออาทิตย์
    • หลีกเลี่ยงท่าออกกำลังกายที่ก้มหัวลงนานๆ เพราะความดันตาจะยิ่งสูง ท่าที่ว่าก็พวกท่าโยคะบางท่า อย่าง headstands หรือหกสูง
  3. Docosahexaenoic acid (DHA) เป็นกรดไขมันโอเมก้า-3 ชนิดหนึ่งที่ช่วยบำรุงจอตาให้แข็งแรง และป้องกันไม่ให้ความดันลูกตาสูง
    • DHA (รวมถึงกรดไขมันโอเมก้า-3 ชนิดอื่นๆ) นั้นพบมากในปลาทะเลน้ำเย็นที่มีไขมันสูง อย่างปลาแซลมอน ทูน่า ซาร์ดีน แฮริ่ง แล้วก็สัตว์น้ำเปลือกแข็งอย่างพวกกุ้งหอยปู ถ้าคุณอยากเพิ่ม DHA ก็ให้ลองกินอาหารทะเลที่ว่ามา 2-3 ครั้งต่ออาทิตย์
    • หรือจะเพิ่ม DHA โดยกินน้ำมันปลาแบบแคปซูล หรืออาหารเสริม DHA แบบสกัดจากสาหร่าย ถ้าจะให้เห็นผลต้องกินแคปซูลน้ำมันปลาปริมาณ 3,000 – 4,000 มก. ต่อวัน หรืออาหารเสริม DHA แบบสกัดจากสาหร่าย 200 มก. ต่อวัน [3]
  4. ลูทีน (lutein) กับซีแซนทีน (zeaxanthin) นั้นเป็นแคโรทีนอยด์ (carotenoids) ที่ทำหน้าที่เป็นสารต้านอนุมูลอิสระ ช่วยปกป้องร่างกายจาก free radicals หรือก็คืออนุมูลอิสระนั่นเอง อนุมูลอิสระพวกนี้จะไปทำให้ภูมิต้านทานอ่อนแอ เสี่ยงต่อการติดเชื้อและอาจเป็นอันตรายต่อประสาทตา [4]
    • นอกจากนี้ลูทีนกับซีแซนทีนยังช่วยลดความดันตา โดยลดความเสียหายที่เกิดกับประสาทตาเพราะอนุมูลอิสระ ซึ่งถือว่าสำคัญมาก เพราะถ้าประสาทตาเสียหาย ก็ยิ่งไปเพิ่มความดันในลูกตาให้สูงขึ้น
    • อาหารที่เป็นแหล่งของลูทีนกับซีแซนทีนก็เช่น ผักเคล ปวยเล้ง ผักคะน้า กะหล่ำดาว บร็อคโคลี่ แล้วก็ไข่แดงดิบ ขอให้รวมอาหารพวกนี้อย่างน้อย 1 อย่างไว้ในมื้อหลักประจำวันของคุณ
  5. อย่างที่เราบอกไป ว่ากรดไขมันโอเมก้า-3 นั้นช่วยลดความดันตาได้ ทีนี้อาหารที่อุดมไขมันทรานส์นี่ล่ะ ที่จะมายับยั้งการทำงานของกรดไขมันโอเมก้า-3 ทำให้ความดันตาคุณสูงได้
    • เพราะฉะนั้นคุณควรจำกัดปริมาณอาหารอุดมไขมันทรานส์หน่อย อาหารที่ว่าก็เช่น อาหารอบหรือแปรรูป อาหารทอดๆ ไอศครีม ป็อปคอร์นไมโครเวฟ แล้วก็เนื้อบด [5]
  6. พวกลูกเบอร์รี่สีเข้ม อย่างบลูเบอร์รี่ แบล็คเบอร์รี่ แล้วก็บิลเบอร์รี่ (bilberry) ช่วยเสริมสร้างสุขภาพตาเพราะทำให้เส้นเลือดฝอยลำเลียงสารอาหารไปยังประสาทและกล้ามเนื้อตาได้ดียิ่งขึ้น ที่เป็นแบบนี้เพราะลูกเบอร์รี่สีเข้มทั้งหลายมีสารต้านอนุมูลอิสระที่ช่วยเสริมสร้างความแข็งแรงให้หลอดเลือดไม่แตกง่ายหรือเสียหาย [6]
    • พยายามกินเบอร์รี่สีเข้มที่ว่าให้ได้อย่างน้อยวันละ 1 ครั้ง
    • กรดอัลฟาไลโปอิค (Alpha-lipoic acid หรือ ALA) เป็นสารต้านอนุมูลอิสระที่ช่วยป้องกันและรักษาโรคตาหลายชนิด รวมถึงต้อหินและความดันตาสูง ปริมาณที่แนะนำคือ 75 มก. 2 ครั้งต่อวัน [7]
    • บิลเบอร์รี่ (Bilberry) นี่แหละที่คนนิยมใช้รักษาสายตา แก้โรคตาต่างๆ ที่อาจทำจอประสาทตาเสื่อม อย่างความดันตาสูง โดยมีงานวิจัยทางการแพทย์รองรับว่าผลิตภัณฑ์ที่มีบิลเบอร์รี่กับสารสกัดจากเปลือกสนฝรั่งเศส (pycnogenol) นั้นช่วยลดความดันตาได้ [8]
    • สารสกัดจากเมล็ดองุ่น (Grapeseed extract) ก็เป็นอีกสารต้านอนุมูลอิสระที่ช่วยลดอาการตาเมื่อยล้าเวลาจ้องอะไรนานๆ ได้แบบเห็นผลชะงัด แถมยังนิยมใช้ชะลอริ้วรอยของวัยและทำให้ตามองเห็นชัดเวลากลางคืนอีกด้วย [9]
  7. ข้อนี้ฝรั่งเขาทำกัน คนไทยหมดสิทธิ์ กับวิธีรักษาด้วยการกินกัญชา (Marijuana หรือ Cannabis) ไม่ว่าจะแบบยาอมใต้ลิ้น แคปซูล เม็ด หรือน้ำมันระเหย หนึ่งในสาร cannabidiol (CBD) จากกัญชาจะไม่ออกฤทธิ์ต่อจิตประสาท และช่วยลดความดันตาแบบเห็นผล โดยปริมาณที่แนะนำสำหรับคนความดันตาสูงเป็นพิเศษคือ 20 – 40 มก. (ย้ำอีกทีว่าเป็นวิธีรักษาที่ใช้ได้เฉพาะในเมืองนอกเมืองนาเท่านั้นนะจ๊ะ) [10] [11]
    โฆษณา
วิธีการ 2
วิธีการ 2 ของ 4:

ผ่าตัด

ดาวน์โหลดบทความ
  1. [12] ถ้าความดันตาของคุณไม่ยอมลด จะเป็นอันตรายถึงขั้นประสาทตาเสียหายได้ สุดท้ายก็ลุกลามเป็นต้อหิน (glaucoma) [13] ส่วนใครที่เป็นต้อหินแล้วไม่รักษา ก็อาจถึงขั้นตาบอดได้เลย [14] ต้อหินนั้นปกติรักษาโดยใช้ยาหยอดตาควบคู่ไปกับยากิน แต่ถ้า 2 วิธีนี้ไม่ได้ผล ก็คงจำเป็นต้องผ่าตัดเพื่อลดความดันตา
    • การผ่าตัดรักษาต้อหินช่วยให้ของเหลวในตาไหลเวียนดีขึ้น เลยทำให้ความดันตาลดลง บางทีก็ต้องผ่ากันมากกว่า 1 ครั้ง ถึงจะลดความดันตาและรักษาต้อหินได้อย่างเห็นผล ถ้าผ่าครั้งแรกแล้วไม่สำเร็จ ก็ต้องมีการผ่าตัดเพิ่มเติม
    • การผ่าตัดรักษาต้อหินนั้นมีด้วยกันหลายแบบ แล้วแต่ความรุนแรงของอาการ
  2. Drainage implants หรือการฝังท่อใช้ระบายน้ำในตา นั้นเป็นวิธีรักษาคนที่มีความดันตาสูงแบบรุนแรง โดยเฉพาะในเด็กและคนที่เป็นต้อหินระยะลุกลาม ขั้นตอนการรักษาคือสอดท่อเล็กๆ เข้าไปในตาเพื่อใช้ระบายน้ำ หลังจากนั้นความดันตาก็จะลดลง
  3. Trabeculoplasty เป็นการผ่าตัดด้วยเลเซอร์ชนิดหนึ่ง โดยใช้แสงเลเซอร์พลังงานสูงเปิดท่อในตาที่ตอนแรกอุดตันอยู่แล้วระบายน้ำออก หลังผ่าตัดแล้วจะมีการเช็คความดันตาเป็นระยะ เพื่อให้แน่ใจว่าที่รักษาไปนั้นได้ผล
    • การผ่าตัดด้วยเลเซอร์อีกวิธีเรียกว่า iridotomy นิยมใช้กับคนที่ท่อระบายน้ำในตาแคบ โดยจะเจาะรูเล็กๆ บนม่านตา ให้น้ำข้างในไหลออกมา
    • ถ้าวิธี iridotomy นั้นไม่ได้ผล ก็ต้องผ่าแบบ Laser Peripheral Iridotomy (LPI) โดยผ่าเอาบางส่วน (เล็กๆ) ของม่านตาออกไป จะได้ระบายน้ำในตาได้ดีขึ้น แต่เป็นวิธีที่มักไม่นิยมใช้กัน
  4. Trabeculectomy หรือการผ่าตัดสร้างท่อระบายน้ำในตาซะใหม่ ถือเป็นการผ่าตัดที่สงวนไว้เป็นวิธีสุดท้ายสำหรับรักษาโรคความดันตาสูง ในกรณีที่ยาหยอดตากับการผ่าตัดด้วยเลเซอร์ไม่ได้ผล
    • โดยคุณหมอจะเจาะช่องในตาขาว (sclera) แล้วเอาเนื้อเยื่อส่วนเล็กๆ ที่ฐานกระจกตา (cornea) ออก เพื่อให้ของเหลวหรือน้ำในตาได้ระบายออกมาสะดวก ความดันตาจะได้ลดลง
    • ขั้นแรกจะผ่าตัดที่ตาข้างหนึ่งก่อน แล้วค่อยผ่าตัดตาอีกข้างในหลายอาทิตย์ต่อมาถ้าจำเป็น อาจต้องมีการรักษาเพิ่มเติมบ้างหลังผ่าตัด เพราะช่องที่เจาะอาจอุดตันหรือปิดขึ้นมาอีก
    โฆษณา
วิธีการ 3
วิธีการ 3 ของ 4:

บริหารสายตาแบบผ่อนคลาย

ดาวน์โหลดบทความ
  1. คนเรอบลืมกะพริบตาเวลานั่งจ้องจอคอมพิวเตอร์นานๆ เวลาดูทีวี หรือตอนเล่นมือถือ รู้ไหมทำแบบนี้ตาจะล้ามากเลย
    • คุณผ่อนคลายและคืนความสดชื่นให้ดวงตาได้ โดยพยายามกะพริบตาทุก 3-4 วินาที ภายในระยะเวลา 2 นาที จะลองจับเวลาด้วยนาฬิกาด้วยก็ได้
    • วิธีนี้ช่วยลดความดันตาได้บ้าง ทำให้ตาสดใสมองอะไรได้ชัดเจนกว่าเดิม
  2. เอาฝ่ามือปิดตาก็ช่วยผ่อนคลายได้ทั้งสายตาและความคิด ทำให้ตาหายเมื่อยล้า กะพริบตาได้สะดวกกว่าเดิม
    • เอามือขวาปิดตาขวา วางนิ้วบนหน้าผาก ส่วนสันมือวางบนโหนกแก้ม ไม่ต้องออกแรงกดแต่อย่างใด
    • วางมือไว้แบบนั้น 30 - 60 วินาที ระหว่างนั้นก็กะพริบตาไปตามปกติ เอามือออกจากตาขวา จากนั้นเอามือซ้ายปิดตาซ้ายแล้วทำซ้ำตามขั้นตอนเมื่อครู่
  3. เป็นการบริหารที่เสริมสร้างความแข็งแรงให้กล้ามเนื้อตารวมถึงเพิ่มความยืดหยุ่น ทำให้ตาไม่บาดเจ็บง่ายๆ ช่วยเรื่องความดันตาด้วย
    • ให้คุณมองไปที่ผนัง จินตนาการว่ามีเลข 8 ตัวใหญ่ๆ อยู่ตรงหน้า แต่เป็นเลข 8 แนวนอนเหมือนเครื่องหมาย infinity นะ จากนั้นให้คุณใช้สายตา "เขียน" เลข 8 โดยไม่ต้องขยับหน้าตาม ทำแบบนี้ประมาณ 1 - 2 นาที
    • ถ้าคุณนึกภาพเลข 8 แนวนอนไม่ค่อยออกหรือไม่ชัดเจนพอ ให้เขียนใส่กระดาษแผ่นใหญ่ๆ แล้วเอาไปติดที่ผนังจริงๆ เลย จะได้ไล่สายตาตามถูก
  4. การบริหารนี้ช่วยเสริมสร้างความแข็งแรงให้กล้ามเนื้อตา ทำให้คุณมองเห็นชัดเจนขึ้น
    • หาที่ที่นั่งได้สบายๆ ไร้สิ่งรบกวน จากนั้นให้ชูนิ้วโป้งขึ้นมาตรงหน้า ห่างจากตาคุณประมาณ 1 ไม้บรรทัด แล้วจ้องมองไปที่นิ้วนั้น
    • จ้องนิ้วตัวเองนาน 5 - 10 วินาที จากนั้นให้ปรับโฟกัสไปมองอย่างอื่นที่ห่างจากคุณไปประมาณ 3 - 6 เมตร มองสลับไปมาระหว่างนิ้วคุณกับของที่อยู่ห่างออกไปนั้นประมาณ 1 - 2 นาที
  5. การบริหารนี้ช่วยพัฒนาโฟกัสของตา และเสริมสร้างความแข็งแรงให้กล้ามเนื้อตา
    • ให้คุณเหยียดแขนตรงหน้า ชูนิ้วโป้งขึ้นมา โฟกัสตาทั้ง 2 ข้างที่นิ้ว จากนั้นค่อยๆ เลื่อนนิ้วเข้าหาตาจนห่างประมาณ 7 ซม.
    • เลื่อนนิ้วห่างออกไปอีก อย่าให้ตาหลุดโฟกัสเด็ดขาด ให้คุณจ้องนิ้วที่เลื่อนเข้าเลื่อนออกแบบนี้ไปประมาณ 1 - 2 นาที
  6. เทคนิคนี้ก็อาจช่วยลดความดันตาได้เหมือนกัน [15] Biofeedback เป็นการสังเกตปฏิกิริยาต่างๆ ของร่างกาย สอนให้คุณรู้จักควบคุมการทำงานต่างๆ เช่น อัตราการเต้นของหัวใจ ความดันเลือด และอุณหภูมิร่างกาย ทั้งนี้ biofeedback ออกจะเป็นการแพทย์ทางเลือก ต้องอาศัยนักบำบัดหรือผู้เชี่ยวชาญให้ช่วยแนะนำเทคนิคที่เหมาะสม ไม่ใช่เรื่องง่ายที่จะฝึกฝนเองตั้งแต่ต้น
    โฆษณา
วิธีการ 4
วิธีการ 4 ของ 4:

รู้จักโรคความดันตาสูง

ดาวน์โหลดบทความ
  1. ความดันตาสูง (หรือที่ทางการแพทย์เรียกว่า ocular hypertension) นั้นวินิจฉัยได้ยาก เพราะไม่แสดงอาการใดๆ ให้เห็นชัดเจน อย่างตาแดงหรือเจ็บตานี่ไม่มี เพราะงั้นก็ตรวจวินิจฉัยด้วยตาเปล่าอย่างเดียวไม่ได้ คุณหมอต้องตรวจตาคุณอย่างละเอียด โดยใช้หลายวิธีร่วมกันไป
    • ตรวจความดันลูกตา (Tonometry) เป็นการตรวจโดยวัดความดันลูกตา และดูว่าอยู่ในระดับปกติหรือเปล่า จะมีการหยอดยาชาและหยอดสีส้ม (ที่ไม่เจ็บหรืออันตรายแต่อย่างใด) เพื่อวัดระดับความดันตา ร่วมไปกับเครื่องที่ใช้กดตาหาความดัน [16]
    • ถ้าอ่านค่าได้ 21 mmHg หรือมากกว่า แสดงว่าความดันตาสูง แต่ปัจจัยอื่นก็ส่งผลต่อค่านี้เหมือนกัน เช่น อาการบาดเจ็บที่หัวหรือตา หรือมีเลือดคั่งหลังกระจกตา
    • เป่าลมด้วยเครื่อง Air puff วิธีนี้คุณหมอจะขอให้คุณมองตรงไปที่เครื่อง แล้วฉายแสงใส่ตา จากนั้นเครื่องจะเป่าลมออกมาใส่ตาคุณเร็วๆ ครั้งเดียว แล้วเครื่องจะอ่านค่าความดันโดยประเมินการเปลี่ยนแปลงของการสะท้อนแสงตอนลมเป่าใส่ตาคุณ
  2. ความดันตาคุณสูงได้เวลาอายุมากขึ้น แต่ก็มีปัจจัยอื่นร่วมด้วย หลายปัจจัยที่อาจนำภัยมาสู่ตาของคุณก็เช่น [17]
    • สารน้ำในลูกตาเยอะเกินไป (Excessive aqueous production) Aqueous humor หรือสารน้ำในลูกตา เป็นของเหลวใสที่ตาผลิตออกมา (อยู่ข้างในตา) ระบายออกได้ทางเนื้อเยื่อมุมตาหรือ trabecular meshwork ถ้าสารน้ำในลูกตาถูกผลิตออกมาเยอะเกินไป จะทำให้ความดันตาสูงได้
    • ระบายสารน้ำในลูกตาออกไม่มากพอ (Inadequate aqueous drainage) ถ้าสารน้ำในลูกตาระบายออกไปไม่มากพอ ก็ทำให้ความดันตาสูงได้
    • เป็นเพราะยาบางชนิด ยาบางตัว (อย่างสเตียรอยด์) ใช้แล้วอาจทำให้ความดันตาสูงได้ โดยเฉพาะคนที่ปกติก็อยู่ในกลุ่มเสี่ยงอยู่แล้ว
    • อาการบาดเจ็บที่ตา ไม่ว่าจะอาการระคายเคืองหรือบาดเจ็บอะไร ก็อาจทำให้การผลิตและระบายสารน้ำในลูกตาผิดปกติได้ จนทำให้ความดันตาสูงขึ้นตามมา [18]
    • โรคตาอื่นๆ ความดันตาสูงมักเกี่ยวข้องกับโรคตาอื่นๆ อย่าง pseudo exfoliation syndrome, corneal arcus (วงขาวรอบตาดำ) และ dispersion syndrome
  3. ใครๆ ก็เป็นโรคความดันตาสูงได้ แต่มีงานวิจัยที่ชี้ว่ากลุ่มคนต่อไปนี้จะเสี่ยงเป็นโรคความดันตาสูงมากกว่าคนอื่น
    • คนอเมริกันเชื้อสายแอฟริกา (African-Americans)
    • ผู้ใหญ่อายุ 40 ปีขึ้นไป
    • คนที่มีพ่อ แม่ ญาติพี่น้อง เคยเป็นความดันในตาสูงหรือต้อหิน
    • คนที่มีความหนาตรงกลางกระจกตา "บาง" กว่าคนอื่น [4]
    โฆษณา

คำเตือน

  • ปลาบางชนิดที่ว่ากินแล้วเพิ่มกรดไขมันโอเมก้า-3 ได้ อาจมีสารปรอทระดับต่ำปนอยู่ ถ้ากินน้อยๆ หรือไม่บ่อยจนเกินไปก็ไม่เป็นอันตราย แต่ถ้าเป็นคนท้องหรือคนที่กำลังจะมีลูกก็ต้องระวังหน่อย ปลาที่ควรระวังก็คือ king mackerel (ปลาอินทรี), tilefish, swordfish (ปลากระโทงดาบ) แล้วก็ฉลาม
  • ถ้าตอนนี้คุณรักษาโรคความดันตาสูงด้วยยาหยอดตาอยู่ ก็ให้หยอดต่อไป หรือลองปรึกษาจักษุแพทย์ดู
โฆษณา

ข้อมูลอ้างอิง

  1. http://www.allaboutvision.com/conditions/hypertension.htm
  2. http://www.ncbi.nlm.nih.gov/pmc/articles/PMC3354923/
  3. http://www.iovs.org/content/48/2/756.long
  4. 4.0 4.1 http://articles.mercola.com/sites/articles/archive/2009/03/31/Six-Natural-Strategies-to-Stop-Glaucoma-from-Robbing-You-Blind.aspx
  5. http://healthyliving.msn.com/diseases/cholesterol/22-worst-foods-for-trans-fat-1?pageart=3
  6. http://www.allaboutvision.com/nutrition/vitamin_c.htm
  7. Filina A. A., Davydova N. G., Endrikhovskii S. N., Shamshinova A. M. [Lipoic acid as a means of metabolic therapy of open-angle glaucoma]. Vestn Oftalmol 1995;111(4):6-8.
  8. Steigerwalt, R. D., Gianni, B., Paolo, M., Bombardelli, E., Burki, C., and Schonlau, F. Effects of Mirtogenol on ocular blood flow and intraocular hypertension in asymptomatic subjects. Mol Vis 2008;14:1288-1292.
  9. Corbe, C., Boissin, J. P., and Siou, A. [Light vision and chorioretinal circulation. Study of the effect of procyanidolic oligomers (Endotelon)]. J Fr.Ophtalmol. 1988;11(5):453-460
  1. Tomida, I., Azuara-Blanco, A., House, H., Flint, M., Pertwee, R. G., and Robson, P. J. Effect of sublingual application of cannabinoids on intraocular pressure: a pilot study. J Glaucoma. 2006;15(5):349-353.
  2. Tomida, I., Azuara-Blanco, A., House, H., Flint, M., Pertwee, R. G., and Robson, P. J. Effect of sublingual application of cannabinoids on intraocular pressure: a pilot study. J Glaucoma. 2006;15(5):349-353
  3. http://www.ucdmc.ucdavis.edu/welcome/features/20100505_glaucoma/index.html
  4. https://nei.nih.gov/health/glaucoma/glaucoma_facts
  5. http://www.webmd.com/eye-health/glaucoma-eyes
  6. http://www.glaucoma.org/treatment/alternative-medicine.php
  7. ttps://www.nlm.nih.gov/medlineplus/ency/article/003447.htm
  8. http://www.allaboutvision.com/conditions/hypertension.htm
  9. http://www.allaboutvision.com/conditions/hypertension.htm

เกี่ยวกับวิกิฮาวนี้

มีการเข้าถึงหน้านี้ 53,964 ครั้ง

บทความนี้เป็นประโยชน์กับคุณไหม

โฆษณา