ดาวน์โหลดบทความ ดาวน์โหลดบทความ

อุณหภูมิภายในร่างกายของมนุษย์ผู้ใหญ่โดยเฉลี่ยตามปกติแล้วจะอยู่ที่ราวๆ 37 องศาเซลเซียส (98.6 องศาฟาเรนไฮต์) แต่ทั้งนี้อาจแปรผันตามปัจจัยบางอย่าง หากคุณกำลังทำกิจกรรมที่ต้องใช้แรงมากๆ ในสภาพอากาศร้อน หรือบางครั้งก็เพียงแค่เผชิญกับสภาพอากาศร้อนเป็นระยะเวลานาน อุณหภูมิร่างกายของคุณอาจเพิ่มสูงขึ้นจนถึงระดับที่เป็นอันตรายได้ หากร่างกายของคุณมีอุณหภูมิสูงถึง 40 องศาเซลเซียส (104 องศาฟาเรนไฮต์) คุณอาจเกิดภาวะลมแดดได้ [1] อย่างไรก็ตาม การลดอุณหภูมิในร่างกายลงต่ำจนเกินไปก็อาจทำให้เกิดอันตรายได้ไม่แพ้กัน เพราะด้วยการที่ร่างกายมีอุณหภูมิลดลงเพียง 2 องศาเท่านั้น (35 องศาเซลเซียส (95 องศาฟาเรนไฮต์)) ก็สามารถทำให้เกิดภาวะตัวเย็นเกินได้แล้ว [2] การลดอุณหภูมิภายในร่างกายลงในระยะเวลาสั้นๆ สามารถช่วยให้คุณหลีกเลี่ยงภาวะลมแดด นอนหลับได้สนิทยิ่งขึ้น หรือลดไข้ลงได้ แต่การรู้จักวิธีการทำเช่นนี้ให้ได้อย่างปลอดภัยนั้นเป็นสิ่งสำคัญ [3]

วิธีการ 1
วิธีการ 1 ของ 2:

ใช้วิธีที่ได้รับการยืนยันทางการแพทย์

ดาวน์โหลดบทความ
  1. การดื่มน้ำเย็น สูงสุดครั้งละ 2-3 ลิตร เป็นแนวทางที่ดีในการลดอุณหภูมิภายในร่างกายของคุณลงอย่างรวดเร็วและปลอดภัย [4]
    • การดื่มน้ำในปริมาณที่เพียงพอสามารถป้องกันภาวะขาดน้ำได้ ซึ่งมีความสำคัญมากในสภาพแวดล้อมที่ร้อนอบอ้าวและขณะทำกิจกรรมที่ต้องใช้แรงมาก [5]
    • น้ำหวานและไอติมไม่ให้ผลดีเท่าน้ำบริสุทธิ์ เนื่องจากเครื่องดื่มที่มีน้ำตาลจะดูดซึมเข้าสู่ร่างกายได้ไม่เพียงพอและอาจทำให้เกิดการสูญเสียน้ำมากยิ่งขึ้น
  2. การศึกษาชี้ว่า การกินน้ำแข็งป่นอาจเป็นแนวทางที่ให้ผลดีในการทำให้ร่างกายเย็นลงอย่างรวดเร็วและไม่ยุ่งยาก นอกจากนี้ น้ำแข็งป่นยังช่วยทำให้ร่างกายไม่ขาดน้ำอีกด้วย [6]
  3. แพทย์ยอมรับกันโดยทั่วไปว่า การระบายความร้อนให้กับผิวหนังเป็นวิธีการที่ให้ผลดีที่สุดในการลดอุณหภูมิของร่างกายลง โดยเฉพาะเมื่อบุคคลนั้นเสี่ยงต่อการเกิดภาวะลมแดด การอาบน้ำเย็นหรือแช่ตัวลงในน้ำแข็งอาจเป็นแนวทางที่ได้ผลในการระบายความร้อนให้กับผิวหนังอย่างรวดเร็ว โดยเฉพาะเมื่ออยู่ในสภาพแวดล้อมที่มีความชื้นสูง ซึ่งร่างกายจะไม่สามารถขับเหงื่อได้เท่าที่ควร [7]
    • ปล่อยให้น้ำเย็นๆ ไหลผ่านหนังศีรษะ เนื่องจากบริเวณนี้เป็นที่ที่หลอดเลือดมารวมตัวกัน การระบายความร้อนในบริเวณหนังศีรษะจะสามารถทำให้ส่วนอื่นๆ ของร่างกายเย็นตัวลงได้อย่างรวดเร็ว [8]
  4. บางตำแหน่งบนร่างกายจะขับเหงื่อออกมามากกว่าตำแหน่งอื่นเพื่อช่วยในการลดอุณหภูมิภายในร่างกายลง ตำแหน่งเหล่านี้ ซึ่งเรียกว่าจุดร้อน ประกอบด้วยบริเวณคอ รักแร้ หลัง และขาหนีบ การวางกระเป๋าน้ำแข็งในตำแหน่งที่สำคัญเหล่านี้สามารถช่วยระบายความร้อนและลดอุณหภูมิภายในร่างกายของคุณลงได้ [9]
  5. ผู้เชี่ยวชาญแนะนำว่าการใช้เครื่องปรับอากาศเป็นหนึ่งในปัจจัยที่ใหญ่ที่สุดในการป้องกันภาวะลมแดดและการเสียชีวิตที่เป็นผลจากความร้อน [10]
    • หากคุณไม่มีเครื่องปรับอากาศในบ้าน ให้ลองไปอยู่กับเพื่อนหรือญาติพี่น้องในช่วงที่มีอากาศร้อนหรือมีความชื้นสูง หรือติดต่อกรมอนามัยในท้องถิ่นเพื่อค้นหาที่พักที่เปิดแอร์เย็นๆ ใกล้บ้านคุณ [11]
  6. เมื่อใดที่ของเหลว ในที่นี้คือเหงื่อ มีการระเหยออกจากร่างกาย โมเลกุลที่ร้อนที่สุดของของเหลวจะระเหยได้รวดเร็วที่สุด เนื่องจากอุณหภูมิอากาศตามปกติแล้วจะเย็นกว่าอุณหภูมิผิวหนังของคุณ ฉะนั้น การนั่งในทางที่ลมจากพัดลมเป่ามาโดยตรงในขณะที่ร่างกายขับเหงื่อนั้น จะสามารถช่วยลดอุณหภูมิภายในร่างกายของคุณได้ [12]
    • หากร่างกายของคุณขับเหงื่อเพื่อคลายความร้อนได้ไม่เพียงพอเนื่องจากปัจจัยด้านอายุหรือปัญหาทางสุขภาพ คุณอาจลองฉีดละอองน้ำเย็นใส่ร่างกายขณะที่นั่งอยู่หน้าพัดลม เพียงแค่เติมน้ำจากก๊อกลงในขวดสเปรย์และฉีดใส่ร่างกายของคุณเท่าที่จำเป็นขณะที่เปิดพัดลมอยู่ข้างหน้าคุณ [13]
  7. ยาลดไข้ (ลดอุณหภูมิ) เป็นทางเลือกที่สะดวกและปลอดภัยในการลดอุณหภูมิภายในร่างกายของคุณในกรณีที่มีไข้ ยาเหล่านี้จะออกฤทธิ์ยับยั้งการผลิตเอนไซม์ไซโคลออกซีจีเนสของร่างกายและควบคุมระดับสารโพรสตาแกลนดินส์ E2 ในร่างกายให้ต่ำลง หากไม่ได้รับการช่วยเหลือจากยาลดไข้ สารเหล่านี้จะทำให้เซลล์ในต่อมไฮโปทาลามัส (สมองส่วนที่ควบคุมอุณหภูมิ) ทำงานในอัตราที่รวดเร็ว และทำให้อุณหภูมิในร่างกายเพิ่มสูงขึ้น [14]
    • ตัวอย่างของยาเหล่านี้ ได้แก่ พาราเซตามอล แอสไพริน และยาลดการอักเสบที่ไม่ใช่เสตียรอยด์ (NSAIDs) เช่น ไอบูโพรเฟน และนาพรอกเซน เป็นต้น [15]
    • ไม่แนะนำให้ใช้ยาแอสไพรินกับเด็กและวัยรุ่นที่ป่วยด้วยโรคจากเชื้อไวรัส (รวมถึงโรคไข้หวัดหรืออีสุกอีใส) เพราะอาจทำให้เกิดโรคเรย์ซินโดรม ซึ่งเป็นโรคที่สร้างความเสียหายต่อสมองและตับที่พบได้ไม่บ่อยนักแต่อาจเป็นอันตรายถึงชีวิต [16]
    • ปริมาณของยาเหล่านี้ที่ควรใช้จะแตกต่างกันไปตามวัย ให้ตรวจสอบขนาดยาที่แนะนำบนฉลากและห้ามใช้ยาเกินปริมาณที่แนะนำต่อวัน ควรปรึกษาแพทย์ประจำตัวของคุณเพื่อดูขนาดยาที่เหมาะสมกับคุณและรับคำแนะนำเกี่ยวกับยาที่ซื้อได้เองโดยไม่ต้องมีใบสั่งจากแพทย์
    โฆษณา
วิธีการ 2
วิธีการ 2 ของ 2:

เปลี่ยนแปลงการใช้ชีวิต

ดาวน์โหลดบทความ
  1. หลีกเลี่ยงกิจกรรมผาดโผนหรือที่ต้องใช้แรงมาก. หากคุณทำกิจกรรมที่ต้องใช้แรงและกำลังกายมากๆ โดยเฉพาะในช่วงที่มีอากาศร้อนหรือมีความชื้นสูง ร่างกายของคุณจะมีอุณหภูมิเพิ่มสูงขึ้นเพราะผลจากการที่ใช้พลังงานและออกแรงมาก [17]
    • ลองออกกำลังกายในลักษณะที่ไม่ต้องใช้แรงมากนัก เช่น การเดินหรือขี่จักรยาน หากคุณยืนยันที่จะคงความหนักหน่วงในการออกกำลังกายไว้ในระดับตามปกติของคุณ คุณก็ควรหยุดพักบ่อยๆ และเลี่ยงการออกแรงหนักเกินไป [18]
    • การว่ายน้ำก็อาจเป็นแนวทางที่ดีในการลดอุณหภูมิภายในร่างกายของคุณลงตามธรรมชาติขณะที่ออกกำลังกาย เนื่องจากคุณจะต้องแช่ตัวอยู่ในน้ำที่เย็น [19]
  2. สวมใส่เสื้อผ้าที่มีสีอ่อนและไม่คับเพื่อลดการกักเก็บความร้อน. การที่เสื้อผ้าของคุณเอื้อให้อากาศไหลผ่านผิวหนังเพื่อระบายความร้อนออกจากร่างกายได้นั้นเป็นสิ่งสำคัญ แต่คุณก็ควรแน่ใจว่าผิวหนังของคุณได้รับการปกปิดอย่างดีเช่นกันเพื่อป้องกันการสัมผัสกับแสงแดดโดยตรง
    • เสื้อผ้าที่มีสีอ่อนจะสะท้อนแสงแดดแทนที่จะดูดซับแสงเอาไว้ ทำให้ระดับความร้อนในร่างกายลดลง ควรหลีกเลี่ยงการสวมใส่เสื้อผ้าที่มีสีเข้มและหนา เนื่องจากเป็นที่ทราบกันดีว่าเสื้อผ้าเหล่านี้จะดึงดูดและกักเก็บความร้อนเอาไว้ [20]
  3. อาหารที่มีรสชาติเผ็ดร้อนสามารถเพิ่มการเผาผลาญอาหารของคุณ ทำหน้าที่เหมือนกับสารกระตุ้นที่ทำให้อุณหภูมิร่างกายของคุณเพิ่มสูงขึ้น [21]
    • แคปไซซิน สารประกอบที่พบในพริก จะมีฤทธิ์ทำให้อุณหภูมิภายในร่างกายของคุณเพิ่มสูงขึ้นตามธรรมชาติ [22]
    • อาหารที่มีปริมาณไขมันสูงจะทำให้มีการกักเก็บความร้อนไว้ในร่างกายมากขึ้นเนื่องจากการเพิ่มขึ้นของระดับไขมันที่เก็บอยู่ในเซลล์ ที่เป็นเช่นนี้เพราะว่าไขมันนั้นมีหน้าที่ในการเก็บความร้อนไว้ในร่างกายและทำให้ร่างกายอบอุ่น [23]
    โฆษณา

เกี่ยวกับวิกิฮาวนี้

มีการเข้าถึงหน้านี้ 29,079 ครั้ง

บทความนี้เป็นประโยชน์กับคุณไหม

โฆษณา