ดาวน์โหลดบทความ ดาวน์โหลดบทความ

การบำบัดด้วยการวิเคราะห์พฤติกรรมแบบประยุกต์ หรือ ABA (Applied Behavior Analysis) นั้นยังคงเป็นที่ถกเถียงกันอยู่ในหมู่ผู้ที่เกี่ยวข้องด้านภาวะออทิสติกหรือโรคออทิสซึม ว่าเป็นอันตรายหรือเปล่า เห็นผลมากน้อยแค่ไหน บางคนก็ว่าตัวเองหรือลูกถูกทำร้าย บางคนก็เห็นต่างว่าได้ผลดีเป็นพิเศษ ในฐานะคนที่อยากเลือกแต่สิ่งที่ดีที่สุดให้ลูกหรือคนสำคัญ คุณจะรู้ได้ยังไงว่าการบำบัดนี้ดีจริงหรือมีอันตรายร้ายแรงแอบแฝง? ถ้าสังเกตและใส่ใจมากพอ ก็รู้ได้แน่นอน บทความวิกิฮาวนี้เขียนขึ้นโดยคำนึงถึงความรู้สึกและสวัสดิภาพของเด็กเป็นหลัก แต่ก็เป็นแนวทางสำหรับวัยรุ่นและผู้ใหญ่ที่เป็นออทิสติกได้เช่นกัน

หมายเหตุ: บทความนี้ครอบคลุมหัวข้อต่างๆ เช่น การบำบัดที่เคร่งครัดเกินไปหรือเป็นผลเสียต่อร่างกายและจิตใจ จนอาจทำให้ผู้อ่านเกิดความไม่สบายใจได้ โดยเฉพาะคนที่เกิด PTSD (อาการเครียดหลังผ่านเหตุการณ์สะเทือนใจ) เพราะการบำบัด ถ้าคุณรู้สึกไม่สบายใจกับเรื่องราวทำนองนี้ หรืออ่านๆ ไปรู้สึกอึดอัด ไม่สบายใจขึ้นมา ก็ข้ามบทความนี้ไปได้ทุกเมื่อ

วิธีการ 1
วิธีการ 1 ของ 3:

กำหนดเป้าหมายในการบำบัด

ดาวน์โหลดบทความ

ควรกำหนดเป้าหมายในการบำบัดให้ชัดเจน โดยเน้นช่วยพัฒนาทักษะของลูก ทำให้ชีวิตลูกสะดวกสบายและมีความสุขขึ้น อย่าไปตั้งเป้ากำจัดพฤติกรรมออทิสติก

  1. 1
    ถามตัวเองว่าจะบำบัดเพื่อเปลี่ยนแปลงหรือคงอัตลักษณ์ของลูกไว้. UN ชี้ว่าเด็กพิการก็มีสิทธิ์คงอัตลักษณ์ของตัวเองไว้ เช่น เป็นตัวของตัวเอง แม้จะแสดงความเป็นออทิสติกออกมาชัดเจนก็ตาม การบำบัดที่ดีจะยอมให้เด็กเป็นตัวของตัวเองแม้จะแตกต่างจากคนอื่น จะไม่มุ่งเน้นทำลายบุคลิกลักษณะเฉพาะตัวของเด็ก เช่น
    • พฤติกรรมกระตุ้นตัวเอง (stimming) ส่วนใหญ่ [1] [2] (คุณอาจจะเคยได้ยินคำว่า "quiet hands" หรือ "table ready" คือสั่งให้เด็กหยุดนิ่ง งดพฤติกรรม stimming)
    • เดินเขย่งปลายเท้า
    • ไม่ยอมสบตา [3] [4] [5]
    • ไม่ชอบเข้าสังคมหรือมีเพื่อนหลายๆ คน
    • พฤติกรรมผิดแผกอื่นๆ (เด็กต้องมีสิทธิ์เลือก ว่าจะเข้าร่วมกิจกรรมกับเพื่อนๆ หรือเปล่า อย่าไปบังคับ)
  2. 2
    นักบำบัดบังคับให้เด็กแสดงความรู้สึกในเชิงบวกหรือเปล่า. นักบำบัดบางคนจะฝึกให้เด็กออทิสติกแสดงสีหน้าท่าทางว่าตัวเองมีความสุข ทั้งที่ไม่ตรงกับอารมณ์จริงของเด็กตอนนั้น
    • ไม่ควรมีใครถูกบังคับให้ยิ้มหรือฝืนมีความสุขทั้งที่จริงๆ ไม่ได้รู้สึกแบบนั้น
    • อย่าฝึกหรือกดดันให้เด็กกอดหรือหอมแก้ม แม้ว่าจะฝืนความรู้สึกก็เถอะ สำคัญมากว่าต้องมีขอบเขต ไม่ให้เด็กตกเป็นเหยื่อของการถูกทำร้ายจิตใจหรือล่วงละเมิดทางเพศ [6] [7]
  3. 3
    นักบำบัดสนับสนุนหรือต่อต้านความคิดของเด็ก. [8] ถ้าเป็นนักบำบัดที่ไม่เหมาะสม จะหัวชนฝาพยายามดัดนิสัยให้เด็กไม่แสดงพฤติกรรมออทิสติก แต่ถ้านักบำบัดดีๆ เขาจะปรับเข้าหาเด็ก เสริมสร้างโอกาสให้เด็กได้เติบโตอย่างมีความสุข เป็นผู้ใหญ่ที่ช่วยเหลือตัวเองได้ [9] นักบำบัดควรเน้นการสร้างเด็ก/ผู้ใหญ่ออทิสติกที่มีความสุข ไม่ใช่มุ่งเน้นดัดนิสัยให้หายจากอาการออทิสติก เป้าหมายการบำบัดที่ดีก็เช่น
    • ปรับให้เด็กกระตุ้นตัวเองแบบไม่เป็นอันตรายและดีต่อตัวเอง อย่าไปบังคับให้หยุดการกระตุ้นตัวเองทั้งหมด
    • หาวิธีสร้างเสริมตัวตนของเด็ก แก้ไขปัญหาด้านประสาทสัมผัส
    • พัฒนาทักษะการเข้าสังคมในสภาพแวดล้อมที่เป็นมิตร ทำความรู้จักกับเพื่อนใหม่ และกล้าแสดงออกแต่ไม่ก้าวร้าว
    • รับฟังความต้องการของเด็ก และตอบสนองหรือร่วมกันพัฒนาไปจนถึงเป้าหมายนั้น
  4. 4
    นักบำบัดเน้นพัฒนาทักษะการสื่อสารหรือแค่ให้ทำตามใจผู้ใหญ่. การสื่อสารที่ว่าไม่ใช่เน้นคำพูดอย่างเดียว (ต้องให้ความสำคัญกับพฤติกรรมและ AAC หรือการสื่อความหมายทดแทนด้วย) [10] [11] คำศัพท์เบื้องต้นที่สอนเด็ก ควรเน้นสื่อความต้องการพื้นฐาน อย่าเน้นเอาใจผู้ใหญ่
    • คำอย่าง "ใช่" "ไม่ใช่" "หยุด" "หิว" และ "เจ็บ" นั้นมีประโยชน์กว่า "หนูรักแม่" หรือ "แม่จ๋า" เยอะเลย
    • สนใจและใส่ใจทุกพฤติกรรมด้วย ถึงจะอยู่ในช่วงหัดสื่อสารด้วยคำพูดหรือ AAC ก็เถอะ
    โฆษณา
วิธีการ 2
วิธีการ 2 ของ 3:

สังเกตขั้นตอนการบำบัด

ดาวน์โหลดบทความ

นักบำบัดที่ดีจะใจดีใจเย็น เอาใจใส่และรับฟังเด็ก เพราะไม่มีใครออทิสติกเกินไปจน "สอนไม่ได้"

  1. 1
    นักบำบัดเล็งเห็นศักยภาพของเด็กหรือเปล่า. นักบำบัดที่ดีต้องเหมาไปก่อนเลยว่าเด็กใส่ใจฟังอยู่ (ถึงจะไม่มีปฏิกิริยาตอบสนองก็เถอะ) และจะมองว่าเด็กทำเต็มที่แล้วแต่แรก [12]
    • เด็กที่พูดน้อยหรือไม่พูดเลย บางทีก็มีความคิดลึกซึ้ง แค่สื่อหรือแสดงออกมาไม่เป็น [13] [14] หรือควบคุมและแสดงภาษากายไม่ได้ดั่งใจ เลยทำให้แสดงความคิดหรือความต้องการออกมาผิดเพี้ยนไปได้ [15] [16] [17]
    • นักบำบัดต้องใส่ใจว่าทำไมเด็กถึงทำแบบนั้นลงไป อย่าเหมาไปเองว่าแค่ทำไปอย่างนั้นเอง หรือเพิกเฉยต่อสิ่งที่เด็กออทิสติกพยายามจะสื่อ [18] [19] [20]
    • อย่างแบบฝึกหัดสำหรับเด็ก 4 ขวบ ก็ไม่เหมาะกับวัยรุ่นอายุ 16 แน่นอน
  2. 2
    นักบำบัดมองเด็กเป็นเพื่อนร่วมทีมหรือเป็นคู่แข่งที่ต้องเอาชนะ. การซื้อใจเด็กเป็นสิ่งสำคัญ นักบำบัดที่ดีจะปรับจูนเข้าหาเด็ก เพื่อร่วมมือประสานงานกัน ทำอะไรในมุมมองของเด็ก ไม่ใช่จ้องจะเอาชนะ จนการบำบัดกลายเป็นการทรมานกันไปทั้งเด็กและนักบำบัด [21]
    • มองว่าการบำบัดเป็นการร่วมมือหรือทำงานร่วมกัน [22] [23]
    • เด็กต้องมีโอกาสแสดงความคิดเห็น ความกังวล และความต้องการของตัวเอง ซึ่งนักบำบัดที่ดีจะวางแผนการบำบัดโดยคำนึงถึงสิ่งเหล่านี้
    • นักบำบัดต้องใส่ใจคำว่า "ไม่" ของเด็ก ถ้าเด็กไม่ยอม ไม่ทำ ปฏิเสธ แล้วนักบำบัดไม่รับฟัง เด็กจะเข้าใจและจดจำว่าคำว่า "ไม่" นั้นไม่สำคัญ ถ้าคนอื่นพูดมา ไม่ต้องฟังไม่ต้องใส่ใจก็ได้ [24]
    • ถ้าเป็นไปได้ การบำบัดต้องเป็นไปด้วยความสนุกสนาน คือเป็นการละเล่นที่มีประโยชน์และมีแบบแผน
  3. 3
    การบำบัดต้องมีขอบเขต. เด็กต้องมีสิทธิ์ปฏิเสธ และนักบำบัดต้องรับฟัง อย่าไปบังคับ กดดัน ดุด่า ทำให้กลัว หรือขู่ว่าถ้าไม่ยอมทำจะหักคะแนนหรือเสียสิทธิ์บางอย่างไป [25]
    • ถ้าเด็กบอกว่าไม่หรือสื่อว่าตัวเองไม่พอใจ ไม่สบายใจ (จะด้วยคำพูดหรืออะไรก็ตาม) นักบำบัดต้องยอมรับและเข้าใจ
    • เด็กออทิสติก (ผู้ใหญ่ที่เป็นออทิสติกก็ด้วย) จะมีโอกาสถูกแกล้งหรือล่วงละเมิดทางเพศมากกว่าปกติ เลยควรฝึกเรื่องการแสดงออกอย่างมั่นใจแต่ไม่ก้าวร้าวด้วย [26] [27]
  4. 4
    ฝึกโดยให้รางวัล. ถือเป็นการฝึกที่เห็นผล แต่ระวังอย่าเอารางวัลมาล่อตลอด [28] หรือใช้ในทางที่ผิด เช่น นักบำบัดที่ไม่เหมาะสม จะบอกให้คุณห้ามเด็กไม่ให้ทำสิ่งที่ชอบ ถ้าไม่ยอมฝึกตามแผนการบำบัดซะก่อน [29] สังเกตว่านักบำบัดห้ามหรือเอาสิ่งต่อไปนี้มาล่อให้เด็กทำการฝึกหรือเปล่า
    • อาหาร
    • ทำอะไรที่ชอบ เช่น เล่นตุ๊กตาหมีตัวโปรด หรือกิจกรรมที่สนใจ
    • ใช้วิธีว่าถ้าทำผิดจะถูกลงโทษ เช่น "ดึงความสนใจด้วยวิธีรุนแรง" หรือทำร้ายร่างกาย (เช่น ตบ ตี บีบน้ำส้มสายชูใส่ปาก บังคับให้สูดดมแอมโมเนีย หรือช็อตไฟฟ้า) [30] [31] [32] [33]
    • ให้ไปพัก
    • ถ้าเอารางวัลมาล่อมากเกินไป ระวังเด็กออทิสติกจะกลายเป็นคนทำอะไรก็หวังผลตอบแทนหรือต้องมีอะไรแลกเปลี่ยน หนักกว่านั้นคือสูญเสียแรงกระตุ้นหรือความต้องการที่แท้จริงของตัวเอง
  5. 5
    ต้องมีพักเบรคให้เด็กได้สงบหรือกระตุ้นตัวเอง. นักบำบัดที่ไม่เหมาะสมจะบังคับให้เด็กฝึกนานๆ ทั้งที่ควรพักแล้ว หรือเห็นเป็นโอกาสปราบพยศให้เด็กเชื่อฟัง แต่นักบำบัดที่ดีจะยอมให้เด็กได้พักมากเท่าที่ต้องการ [34]
    • ถ้าอัดการบำบัดมากถึง 40 ชั่วโมงต่ออาทิตย์ ก็ยังกับส่งเด็กไปทำงานประจำเลย ทั้งเครียดและเหนื่อย โดยเฉพาะถ้าเป็นเด็กเล็กๆ
    • นักบำบัดที่ดีจะสนับสนุนให้เด็กสื่อความต้องการว่าอยากพัก แล้วปล่อยให้พักทุกครั้งที่เด็กต้องการหรือนักบำบัดเห็นสมควร
  6. 6
    เด็กรู้สึกปลอดภัยไหมตอนบำบัด. การบำบัดที่ดีจะทำให้เด็กรู้สึกผ่อนคลายสบายใจ [35] ถ้าทุกครั้งที่ต้องบำบัด เด็กกรี๊ด ร้องไห้สะอื้น หรืออาละวาด ไม่อยากหรือไม่ยอมไป แสดงว่าไม่เป็นไปด้วยดี [36]
    • แต่บางทีเด็กก็แค่งอแง ไม่ได้มีอะไรผิดปกติเกิดขึ้น แบบนี้ต้องพิจารณาว่าเป็นเพราะนักบำบัดหรือเปล่า และนักบำบัดจะรับมือยังไง
  7. 7
    นักบำบัดแคร์ความรู้สึกของเด็กหรือเปล่า. การบำบัดแบบ ABA เน้นหลัก ABC คือ antecedent (ตัวกระตุ้นให้เกิดพฤติกรรม) behavior (พฤติกรรม) และ consequence (ผลของพฤติกรรมนั้น) ซึ่งถือว่าได้ผลดีมาก แต่จะอันตรายถ้าประสบการณ์ภายใน (คืออารมณ์ความรู้สึกหรือความเครียด) ของเด็กไม่ได้รับการใส่ใจ [37] นักบำบัดที่ดีจะสังเกตและใส่ใจเด็ก และพยายามปรับจูน มองโลกในมุมมองของเด็ก [38]
    • นักบำบัดที่ดีจะไม่กดดันเด็ก และให้พักเมื่อเด็กต้องการ
    • นักบำบัดที่ไม่เหมาะสมจะไม่ยอมหยุดแม้จะทำเด็กกลัวหรือไม่สบายใจ ดีไม่ดีจะยิ่งบังคับหนักกว่าเดิม [39]
  8. 8
    ดูว่านักบำบัดรับมือยังไงเวลาเด็กร้องหรือไม่พอใจ. นักบำบัดที่ดีจะพยายามปลอบเพื่อคลี่คลายสถานการณ์ และแสดงความเป็นห่วง (หรือขอโทษ) ต่อเรื่องที่เกิดขึ้น แต่ถ้าเป็นนักบำบัดที่ไม่เหมาะสม จะยิ่งกดดัน จับกดกับพื้น หรือ "เอาชนะ" เด็ก ประมาณว่ามาดูกันซิว่าใครจะเหนือกว่ากัน
    • นักบำบัดที่ดีจะมองสถานการณ์ตามจริง และหาทางป้องกันไม่ให้เกิดเรื่องเดิมขึ้นอีก รวมถึงไม่ปล่อยผ่านเรื่องที่เด็กเสียใจหรือไม่พอใจ
    • นักบำบัดที่ไม่ได้เรื่องจะบอกว่าเด็กแค่ "อาละวาดหรือเอาแต่ใจ" มองว่าเป็นพฤติกรรมที่ต้องแก้ไขโดยใช้ไม้แข็ง
    • ถ้าปล่อยเด็กร้องไห้หรืออาละวาดไปนานๆ หลายอาทิตย์ เดือน หรือปี สุดท้ายเด็กดีๆ จะกลายเป็นก้าวร้าวใช้ความรุนแรงไป [40] [41] [42]
  9. 9
    ระวังการเข้ามาแทรกแซงโดยใช้กำลังหรือทำร้ายร่างกาย. นักบำบัดบางคนจะทำร้ายร่างกายหรือใช้กำลังบังคับให้เด็กออทิสติกทำตามแผนการบำบัด เช่น
    • เบี่ยงเบนความสนใจแรงๆ เช่น ฉีดพ่นน้ำส้มสายชูใส่ปาก หรือบังคับให้เด็กกินพริกหรือวาซาบิ [43]
    • คว้าตัวหรือกระชากให้ไปไหนทำอะไรโดยที่เด็กไม่ต้องการ (เช่น เอามือไปจับหรือกุมมือเด็กโดยที่เด็กไม่ต้องการ) [44]
    • ตรึงตัวเด็กไว้ให้หยุดการกระทำ (เช่น เอามือไปตบโต๊ะ จับกดกับพื้นแทนที่จะปลอบ) [45]
    • เอาไปขัง (ในห้อง "สงบสติอารมณ์" โดยที่ล็อคประตู หรือมัดตัวไว้กับเก้าอี้)
  10. 10
    สังเกตว่าเด็กไร้เหตุผลหรือน่ากลัวขึ้นไหม. ถ้าบำบัดแบบอันตรายต่อร่างกายและจิตใจ เด็กจะเครียดจัดได้ จนพฤติกรรมออทิสติกเลวร้ายลงหรือใช้ความรุนแรง เช่น "ทำตัวแปลกไป" ระหว่างบำบัดหรือทำใส่นักบำบัด กระทั่งแสดงพฤติกรรมนั้นตลอดเวลา [46] เช่น [47]
    • อาละวาดบ่อยขึ้นหรือง่ายขึ้น
    • วิตกกังวลมากขึ้น ไว้ใจผู้ใหญ่น้อยลง
    • สูญเสียทักษะบางอย่าง
    • แสดงพฤติกรรมสุดโต่ง เช่น เอาแต่ใจ ก้าวร้าว ไม่มีปากมีเสียงจนผิดปกติ ซึม ปลีกตัว กระสับกระส่าย
    • พยายามฆ่าตัวตาย [48]
    • เครียดจัดหรือเป็นทุกข์ทั้งก่อน ระหว่าง และหลังบำบัด [49]
    • ก้าวร้าวกว่าเดิมหรืออย่างที่ไม่เคยเป็น [50]
    • อารมณ์แปรปรวน สูญเสียทักษะ หรือพฤติกรรมเปลี่ยนแปลงไป [51]
    • บางทีการบำบัดอาจไม่ใช่สาเหตุ แต่ถ้านักบำบัดไม่ใส่ใจเรื่องที่เด็กพฤติกรรมเปลี่ยนไปหรือเครียด/กังวลเรื่องการบำบัด แสดงว่าผิดปกติแล้ว [52]
  11. 11
    ลองคิดดูว่าถ้าคนที่ไม่ได้เป็นออทิสติกโดนทำแบบนั้นจะโอเคไหม. ไม่มีใคร "ไร้สมรรถภาพ" ซะจนจะปฏิบัติด้วยยังไงก็ได้ จะเห็นภาพกว่าถ้าเทียบการกระทำของนักบำบัดเหมือนลูกคุณไม่ได้เป็นออทิสติก ลองคิดพิจารณาดูสักนาที ว่าคุณจะโอเคกับการกระทำนั้นไหม? [53]
    • คุณจะสะกิดใจจนต้องเข้าไปขวางไหม ถ้านักบำบัดทำแบบนั้นกับน้อง ลูก หรือเพื่อนของคุณ?
    • ลองจินตนาการว่าคุณอายุเท่าลูก จะรู้สึกแย่หรืออับอายไหมถ้าโดนทำแบบนั้น?
    • ถ้าพ่อแม่ทำกับเด็กอื่นที่ไม่ใช่ออทิสติกแบบเดียวกัน คุณจะแจ้งสังคมสงเคราะห์ไหม?
    โฆษณา
วิธีการ 3
วิธีการ 3 ของ 3:

สำรวจความสัมพันธ์ระหว่างคุณและนักบำบัด

ดาวน์โหลดบทความ

ส่วนนี้เอาไว้ใช้เวลาคุณพูดคุยหรือมีปฏิสัมพันธ์กับนักบำบัด

  1. 1
    อย่าไปหลงเชื่อคำโฆษณาเกินจริง. นักบำบัดที่ไม่เหมาะสมจะไม่บอกความจริง แต่หลอกให้ความหวังลมๆ แล้งๆ หรือโฆษณาเกินจริง โดยไม่ใส่ใจปัญหาที่ควรแก้ แต่จะโทษคุณและ/หรือลูกเวลามีอะไรผิดพลาดไป เรื่องที่ควรรู้ไว้ก็เช่น
    • เด็กเป็นออทิสติกแล้วก็เป็นเลย [54] ลูกคุณ "ไม่มีทาง" เลิกแสดงอาการออทิสติก
    • เด็กออทิสติกก็มีบุคลิกลักษณะแตกต่างกันไป [55] จะเหมารวมบำบัดแบบเดียวกันหมดไม่ได้ ต้องคำนึงถึงความต้องการเฉพาะตัว
    • นักบำบัดดีๆ ก็มี ถ้าเจอนักบำบัดขี้คุย จะบำบัดรักษาให้เด็กหายขาดจากอาการออทิสติกได้เหมือน "ทำคีโมรักษามะเร็ง" หรือโจมตีการบำบัดของคนอื่น แสดงว่าน่าเป็นห่วง ร้ายกว่านั้นคือเป็นพวกหลอกลวง
    • การบำบัดแบบ ABA จะฝึกทักษะบางอย่างได้ดีเป็นพิเศษ โดยเฉพาะทักษะทางกาย เช่น การแต่งตัว หรือดึงความสนใจของคนอื่นโดยแตะไหล่ แต่เพราะเป็นการฝึกแบบเน้นป้อนข้อมูล เลยอาจใช้ฝึกทักษะการพูดหรือแยกประสาทระหว่างความคิดกับร่างกาย (เช่น ชี้บัตรคำที่ถูกต้อง) ได้ไม่ดีเท่าที่ควร [56] [57]
    • เป็นออทิสติกก็มีอารมณ์ความรู้สึกเหมือนคนทั่วไป ถ้าลูกกลัวหรือเจ็บปวด ก็จะแสดงอาการออกมาตามนั้น
    • เป็นออทิสติกใช่ว่าจะมีชีวิตอย่างมีความสุขไม่ได้ เด็กออทิสติกก็โตมาเป็นผู้ใหญ่ที่มีความสุขและช่วยตัวเองได้
  2. 2
    สังเกตว่านักบำบัดมองภาวะออทิสติกและลูกคุณยังไง. ถึงลูกจะไม่พูดและไม่ตอบสนอง แต่ก็เข้าใจคำพูดหรือรู้ว่านักบำบัดรู้สึกยังไงกับตัวเอง ถ้าพูดหรือทำอะไรแย่ๆ เด็กจะเสียใจและเสียความมั่นใจได้ อาจจะฝังใจไปเลยว่านักบำบัดเกลียดหรือจงใจทำไม่ดีด้วย ทัศนคติที่บอกว่าเป็นนักบำบัดที่น่ากลัวก็คือ
    • มองว่าเศร้าจังที่เด็กเกิดมาเป็นออทิสติก หรือมองเป็นภาระหนัก ทำลายชีวิตพ่อแม่ และอื่นๆ
    • เรียกลูกคุณว่าเป็นเด็กเอาแต่ใจ "จอมบงการ" หรือมีปัญหาในการบำบัดทีไรก็โทษลูกคุณหมด [58]
    • สนับสนุนให้คุณทำโทษลูกแรงๆ [59]
  3. 3
    นักบำบัดยอมให้คุณเข้าร่วมสังเกตการณ์ไหม. ถ้าเคยทำร้ายเด็ก (จะทางร่างกายหรือจิตใจก็แล้วแต่) นักบำบัดจะไม่ค่อยสะดวกใจให้คุณรับชม
    • นักบำบัดอาจจะบอกว่าคุณอยู่แล้วลูกจะไขว้เขวเปล่าๆ หรือมารบกวนการบำบัด ซึ่งฟังดูไม่ชอบมาพากล [60] [61]
    • ถ้าไม่ให้เข้าร่วม แต่จะรายงานผลมาทีหลัง เป็นไปได้ว่านักบำบัดอาจบิดเบือนความเป็นจริงหรือไม่ยอมเปิดเผยปัญหาที่แท้จริงกับคุณ
  4. 4
    นักบำบัดรับฟังและใส่ใจเรื่องที่คุณกังวลไหม. ในฐานะพ่อแม่ ผู้ดูแล หรือคนที่รักและเข้าใจลูกที่สุด ความกังวลของคุณสำคัญเสมอ แม้จะแค่สังหรณ์ใจก็ตาม [62] [63] ถ้าอะไรที่ไม่สมควรหรือไม่เหมาะกับลูก ก็บอกไปตามจริง ถ้าเป็นนักบำบัดที่ดีจะยอมรับฟังทุกปัญหาและเรื่องกังวล แล้วนำไปใช้ในการบำบัดต่อไป แต่ถ้าเป็นนักบำบัดที่ไม่เหมาะสม จะออกปากปกป้องว่าการบำบัดของตัวเองถูกต้องและดีแล้ว จะยกตนข่มท่านในฐานะผู้เชี่ยวชาญ หรือมองว่าปัญหาของคุณไร้สาระ
    • นักบำบัดที่ไม่เหมาะสมจะบอกว่าคุณคิดหรือกังวลไปเองทั้งที่ไม่มีอะไร ซึ่งอันตรายมาก ถึงเขาจะมีความรู้และประสบการณ์ แต่ไม่ได้แปลว่าความเห็นหรือความรู้สึกของคุณไม่สำคัญ
    • ถ้าคุณยืนกรานไม่เห็นด้วย นักบำบัดแย่ๆ จะพยายามลากพวกมากมาข่ม
  5. 5
    เชื่อสัญชาตญาณตัวเอง. ถ้าคุณตะหงิดๆ ว่ามีอะไรไม่ชอบมาพากล ก็อย่าปล่อยผ่าน คุณเปลี่ยนนักบำบัดได้เสมอ แถมไม่ได้มีแค่การบำบัดแบบ ABA ด้วย ต้องคิดเยอะและเลือกมากหน่อยเพื่อความสุขของลูก
    โฆษณา

เคล็ดลับ

  • ผลการบำบัดในแต่ละเคสนั้นแตกต่างกันไป บางคนก็เห็นผลดีเป็นพิเศษ บางคนก็ไม่เห็นผลเลย ถ้าสุดท้ายคุณเลิกพาลูกไปบำบัดแบบ ABA ก็ไม่ได้แปลว่าคุณเป็นพ่อแม่หรือผู้ดูแลที่ไม่ดี ถ้ากังวลเรื่องไหน หรือตัดสินใจยังไง ก็ขอให้ทำไปตามนั้น
  • เด็กหรือผู้ใหญ่ที่เป็นออทิสติกบางคนจะร้องไห้ตลอด โดยเฉพาะคนที่ยังสื่อสารไม่ค่อยได้หรือมีปัญหาวิตกกังวลหรือซึมเศร้า เพราะงั้นถ้าบำบัดแล้วอยู่ๆ ร้องไห้ออกมาก็ไม่ได้แปลว่าอันตรายหรือผิดปกติเสมอไป เว้นแต่ลูกจะร้องไห้ เยอะผิดปกติ ก็ต้องหาสาเหตุกันต่อไป (บางทีพอชวนคุยเรื่องความรู้สึกหรือปัญหาก็พาน้ำตาแตกได้ เพราะงั้นถ้าเป็นส่วนหนึ่งของการบำบัดก็อย่าเพิ่งรีบตีโพยตีพาย)
  • ผู้ใหญ่ที่เป็นออทิสติกส่วนใหญ่จะเคยบำบัดแบบ ABA มาแล้ว ไม่ว่าเห็นผลหรือไม่ก็ตาม ลองถามความเห็นหรือฟังเขาเล่าประสบการณ์ดู ว่าอะไรที่ดี อะไรที่ไม่ค่อยได้ผล
  • นักบำบัดแย่ๆ บางคนก็ตีหน้าซื่อซะเนียน คุณไม่เห็นธาตุแท้แต่แรกก็ไม่แปลก อย่าโทษว่าเป็นความผิดตัวเอง
โฆษณา
  1. http://smallbutkindamighty.com/2013/10/27/autism-and-aac-five-things-i-wish-i-had-known/
  2. http://stimmyabby.tumblr.com/post/93506124680/aba-teaches-kids-how-not-to-communicate (More relaxed versions of ABA may look different from this; watch some sessions if you're unsure)
  3. http://emmashopebook.com/2013/03/07/presume-competence-what-does-that-mean-exactly/
  4. http://themighty.com/2015/04/i-have-nonverbal-autism-heres-what-i-want-you-to-know/
  5. http://unstrangemind.com/what-does-helpful-vs-harmful-therapy-look-like/
  6. http://idoinautismland.com/?p=269
  7. http://autismwomensnetwork.org/my-uncooperative-body/
  8. http://idoinautismland.com/?p=4
  9. https://sociallyanxiousadvocate.wordpress.com/2015/05/22/why-i-left-aba/
  10. http://www.thinkinclusive.us/on-aba-and-rethinking-effective-behavioral-interventions/
  11. http://loveexplosions.net/2013/09/15/touch-nose-gummi-bear-what-is-aba-and-why-does-it-suck/
  12. http://unstrangemind.com/what-does-helpful-vs-harmful-therapy-look-like/
  13. http://www.thinkingautismguide.com/2014/10/dr-jonine-biesman-avoiding-crises.html
  14. http://loveexplosions.net/2013/01/30/the-cost-of-compliance-is-unreasonable/
  15. http://www.thinkinclusive.us/aba-and-the-thorny-problem-of-control-and-consent/
  16. http://loveexplosions.net/2013/01/30/the-cost-of-compliance-is-unreasonable/
  17. http://loveacceptautistics.tumblr.com/post/99314703726/compliance-based-therapies-such-as-aba-leave
  18. http://www.thinkinclusive.us/aba-and-the-thorny-problem-of-control-and-consent/
  19. http://www.motherjones.com/politics/2015/05/schools-behavior-discipline-collaborative-proactive-solutions-ross-greene
  20. https://www.facebook.com/notes/amythest-schaber/then-we-did-it-again-and-again-and-again/1632106577053627
  21. https://tash.org/advocacy-issues/human-rights/
  22. http://www.autcom.org/articles/Aversives.html
  23. http://neurodiversity.com/aversives.html
  24. http://ink-and-daggers.tumblr.com/post/112076858794/im-sorry-but-thats-not-earning-your-token
  25. http://unstrangemind.com/aba/
  26. http://www.thinkinclusive.us/on-aba-and-rethinking-effective-behavioral-interventions/
  27. https://sociallyanxiousadvocate.wordpress.com/2015/05/22/why-i-left-aba/
  28. http://www.thinkinclusive.us/on-aba-and-rethinking-effective-behavioral-interventions/
  29. http://adiaryofamom.com/2013/11/22/perspective/
  30. http://unstrangemind.com/what-does-helpful-vs-harmful-therapy-look-like/
  31. http://unstrangemind.com/what-does-helpful-vs-harmful-therapy-look-like/
  32. http://www.thinkinclusive.us/aba-and-the-thorny-problem-of-control-and-consent/
  33. http://autisticadvocacy.tumblr.com/post/86028534951/we-are-like-your-child-a-checklist-for
  34. http://ink-and-daggers.tumblr.com/post/112076858794/im-sorry-but-thats-not-earning-your-token
  35. http://unstrangemind.com/aba/
  36. http://stophurtingkids.com/2014/03/20/no-harm-done-think-again/
  37. http://loveexplosions.net/2013/09/13/touch-nose-gummi-bear-aba-in-our-family/
  38. http://emmashopebook.com/2012/10/10/tackling-that-troublesome-issue-of-aba-and-ethics/
  39. http://ink-and-daggers.tumblr.com/post/125936427334/my-name-is-christine-and-i-work-with-children-with
  40. http://www.thevisibleparent.com/389-2/
  41. http://unstrangemind.com/what-does-helpful-vs-harmful-therapy-look-like/
  42. https://restlesshands42.wordpress.com/2014/11/12/breaking-down-aba-again-part-1-ethics-standards-and-side-effects/
  43. http://www.astraeasweb.net/politics/aba.html
  44. http://www.speakforyourself.org/2014/02/22/accept-behavior-towards-non-autistic-child/
  45. http://www.autism.org.uk/about-autism/introduction/what-is-autism.aspx
  46. https://spectrumnews.org/features/deep-dive/genetics-first-a-fresh-take-on-autisms-diversity/
  47. https://restlesshands42.wordpress.com/2014/11/06/breaking-down-aba/
  48. http://stimmyabby.tumblr.com/post/93506124680/aba-teaches-kids-how-not-to-communicate
  49. http://emmashopebook.com/2012/10/10/tackling-that-troublesome-issue-of-aba-and-ethics/
  50. https://www.childwelfare.gov/pubpdfs/whatiscan.pdf
  51. http://www.astraeasweb.net/politics/aba.html
  52. http://emmashopebook.com/2012/03/09/grappling-with-the-right-thing-to-do/
  53. http://adiaryofamom.com/2013/09/20/the-mama-gut/
  54. http://emmashopebook.com/2012/10/10/tackling-that-troublesome-issue-of-aba-and-ethics/
  55. The Misbehaviour of Behaviourists (บทความโดย Michelle Dawson)
  56. Neurowonderful: The basics of ABA and good therapy
  57. Ask an Autistic: Compliance Training (วีดีโอมีบทบรรยายภาษาอังกฤษ)
  58. On Autism: Whom to Trust, and Whom to Avoid Like the Plague (เกี่ยวกับองค์กรและพฤติกรรมต้มตุ๋นหลอกลวง)
  59. http://loveexplosions.net/resources-compliance-aba-social-skills-indistinguishability-whole-body-listening/ (รายชื่อแหล่งข้อมูลสำหรับศึกษาเพิ่มเติม)
  60. http://emmashopebook.com/2014/07/24/alone-frightened-worried/
  61. Love Explosions: Caregiver Burnout เคล็ดลับดีมีประโยชน์

เกี่ยวกับวิกิฮาวนี้

มีการเข้าถึงหน้านี้ 2,243 ครั้ง

บทความนี้เป็นประโยชน์กับคุณไหม

โฆษณา