ดาวน์โหลดบทความ ดาวน์โหลดบทความ

อัตราที่เราหายใจคือสัญญาณชีพอย่างหนึ่งของเรา เมื่อเราหายใจเข้า เราจะได้รับออกซิเจน และเมื่อเราหายใจออก เราจะขับคาร์บอนไดออกไซด์ออกมา การตรวจวัดอัตราการหายใจเป็นวิธีหนึ่งที่สำคัญในการทำให้แน่ใจว่า ทางเดินหายใจของบุคคลใดบุคคลหนึ่งนั้นมีสภาพสมบูรณ์และทำงานได้ตามปกติ [1] [2]

ส่วน 1
ส่วน 1 ของ 2:

การวัดอัตราการหายใจ

ดาวน์โหลดบทความ
  1. การหายใจจะนับในหน่วยครั้งต่อนาที (bpm) เพื่อให้วัดได้อย่างแม่นยำ บุคคลนั้นๆ จะต้องอยู่ในสภาวะผ่อนคลายและไม่มีการเคลื่อนไหว นั่นคือ ต้องไม่หายใจเร็วกว่าปกติเนื่องจากออกกำลังกาย บุคคลดังกล่าวควรอยู่นิ่งๆ เป็นเวลาอย่างน้อย 10 นาที ก่อนที่คุณจะเริ่มนับลมหายใจ [3] [4]
    • ให้บุคคลนั้นๆ นั่งหลังตรง หากคุณกำลังตรวจวัดเด็กทารก ให้จับเด็กนอนหงายราบบนพื้นแข็ง
    • ใช้นาฬิกาจับเวลา 1 นาที แล้วนับจำนวนครั้งที่หน้าอกของบุคคลดังกล่าวยกขึ้นและยุบลงในช่วงหนึ่งนาทีนั้น
    • หากคุณบอกกับบุคคลดังกล่าวว่าคุณจะทำการวัดการหายใจของเขา เขาอาจจะเปลี่ยนอัตราการหายใจของตัวเองโดยไม่รู้ตัว ควรบอกให้เขาหายใจตามปกติ ทั้งนี้ เพื่อเพิ่มความแม่นยำของผลการตรวจวัด คุณสามารถวัดทั้งหมด 3 ครั้ง และนำคำตอบที่ได้มาเฉลี่ยกัน
    • หากคุณมีเวลาจำกัด ให้นับลมหายใจในช่วงเวลา 15 วินาที จากนั้นนำจำนวนครั้งที่นับได้มาคูณด้วย 4 การคำนวณนี้จะให้การประมาณค่าลมหายใจในหน่วยครั้งต่อนาทีที่ใกล้เคียงและมีประโยชน์ในสถานการณ์ฉุกเฉิน
  2. พิจารณาว่าอัตราการหายใจอยู่ภายในช่วงปกติหรือไม่. เด็กเล็กจะหายใจเร็วกว่าผู้ใหญ่ ดังนั้น คุณจะต้องนำค่าที่คุณได้มาเปรียบเทียบกับค่าปกติของการหายใจในหน่วยครั้งต่อนาทีสำหรับช่วงวัยของบุคคลนั้นๆ อัตราการหายใจของแต่ละช่วงวัยมีดังนี้ [5]
    • 30 - 60 ครั้งต่อนาที สำหรับเด็กทารกอายุ 0 - 6 เดือน
    • 24 - 30 ครั้งต่อนาที สำหรับเด็กทารกอายุ 6 - 12 เดือน
    • 20 - 30 ครั้งต่อนาที สำหรับเด็กอายุ 1 - 5 ปี
    • 12 - 20 ครั้งต่อนาที สำหรับเด็กอายุ 6 - 11 ปี
    • 12 - 18 ครั้งต่อนาที สำหรับบุคคลที่อายุตั้งแต่ 12 ปีขึ้นไป
  3. หากบุคคลมีอัตราการหายใจสูงกว่าหรือต่ำกว่าช่วงที่คาดไว้ และบุคคลดังกล่าวไม่ได้เพิ่งออกกำลังกายมา อาจเป็นสัญญาณบ่งชี้ว่ามีอะไรผิดปกติ สัญญาณอื่นๆ ของภาวะหายใจลำบาก ได้แก่: [6] [7]
    • รูจมูกเบิกกว้างขณะที่หายใจในแต่ละครั้ง
    • ผิวหนังมีสีคล้ำ
    • ซี่โครงและกลางอกยุบเข้า
    • หายใจมีเสียงหวีด เสียงคำรามต่ำๆ หรือเสียงคราง
    • ริมฝีปากและ/หรือเปลือกตาเป็นสีเขียวคล้ำ
    • หายใจโดยใช้บริเวณไหล่/หน้าอกทั้งหมด ลักษณะการหายใจแบบนี้จะถือว่าเป็นภาวะหายใจลำบาก
  4. หากคุณอยู่กับผู้ป่วยและจำเป็นต้องวัดอัตราการหายใจเรื่อยๆ ให้พยายามวัดทุกๆ 15 นาที สำหรับกรณีที่ไม่ใช่เหตุฉุกเฉิน หากผู้ป่วยอยู่ในสภาวะฉุกเฉิน ให้ตรวจการหายใจทุกๆ 5 นาที
    • การตรวจวัดการหายใจของผู้ป่วยสามารถช่วยให้คุณสังเกตเห็นสัญญาณเตือนล่วงหน้าเมื่อผู้ป่วยมีอาการทรุดลง เกิดภาวะช็อก หรือเกิดการเปลี่ยนแปลงอื่นๆ
    • ถ้าเป็นไปได้ ให้พยายามจดบันทึกอัตราการหายใจของผู้ป่วยไว้ในกรณีที่คุณต้องไปโรงพยาบาล
    โฆษณา
ส่วน 2
ส่วน 2 ของ 2:

การขอรับความช่วยเหลือทางการแพทย์

ดาวน์โหลดบทความ
  1. หากคุณหรือคนใกล้ตัวคุณมีปัญหาในการหายใจ ให้โทรเรียกบริการฉุกเฉินทันที การหายใจเร็วหรือช้าเกินไปอาจเป็นสัญญาณของปัญหาทางสุขภาพ เช่น: [8] [9]
    • หอบหืด
    • วิตกกังวล
    • ปอดบวม
    • หัวใจล้มเหลว
    • ใช้ยาเกินขนาด
    • เป็นไข้
  2. หากผู้ป่วยต้องการความช่วยเหลือในการหายใจ แพทย์จะมีวิธีการให้ออกซิเจนอยู่หลายวิธี ดังนี้: [10]
    • หน้ากากออกซิเจน เครื่องมือนี้เป็นหน้ากากที่สวมพอดีกับหน้าของผู้ป่วยและให้ออกซิเจนที่ความเข้มสูงกว่าที่มีอยู่ในบรรยากาศ ซึ่งอากาศในสภาพแวดล้อมนั้นจะมีออกซิเจนอยู่ 21% แต่ถ้าหากผู้ป่วยมีปัญหาในการหายใจ ผู้ป่วยอาจต้องการความเข้มที่สูงขึ้น
    • เครื่องอัดอากาศแรงดันบวกชนิดต่อเนื่อง หรือ CPAP เครื่องมือนี้จะสอดท่อเข้าจมูกของผู้ป่วยและปล่อยออกซิเจนเข้าไปภายใต้แรงดันอากาศในปริมาณเล็กน้อย แรงดันนี้จะช่วยเปิดขยายทางเดินหายใจและปอด
    • เครื่องช่วยหายใจแบบ Ventilation วิธีนี้จะเป็นการสอดท่อช่วยหายใจลงไปในหลอดลมผ่านทางปากของผู้ป่วย เมื่อทำเช่นนี้ จะสามารถจ่ายออกซิเจนเข้าไปในปอดได้โดยตรง
  3. หลีกเลี่ยงภาวะระบายลมหายใจเกินเนื่องจากความวิตกกังวล. บางคนจะมีอาการหายใจถี่เร็วมาก หรือที่เรียกว่าภาวะระบายลมหายใจเกิน เมื่อเขาเกิดความวิตกกังวลหรือตื่นตระหนก ภาวะนี้อาจทำให้เกิดความรู้สึกของการหายใจไม่ทันแม้ว่าคุณจะได้รับออกซิเจนมากเกินไปในขณะที่หายใจถี่เร็ว หากคนใกล้ตัวคุณเกิดภาวะนี้ คุณสามารถ: [11]
    • ทำให้บุคคลนั้นรู้สึกอุ่นใจและช่วยปลอบให้สงบลง บอกกับบุคคลดังกล่าวว่าเขาไม่ได้กำลังจะหัวใจวายและไม่ได้กำลังจะตาย ยืนยันว่าเขาไม่เป็นอะไร
    • ให้บุคคลนั้นใช้เทคนิคการหายใจที่ช่วยลดปริมาณออกซิเจนที่รับเข้าไป โดยการหายใจในถุงกระดาษ เม้มริมฝีปาก หรือปิดรูจมูกข้างหนึ่งและปิดปากในขณะที่หายใจก็ได้เช่นกัน เมื่อสมดุลของคาร์บอนไดออกไซด์และออกซิเจนในระบบกลับเข้าสู่ปกติ เขาจะรู้สึกดีขึ้น
    • คุณยังอาจช่วยให้บุคคลนั้นรู้สึกผ่อนคลายได้โดยการแนะนำให้เขาเพ่งความสนใจไปที่วัตถุใดวัตถุหนึ่งที่อยู่ไกลออกไป เช่น ต้นไม้หรืออาคาร เป็นต้น หรือคุณอาจจะบอกให้เขาหลับตาลงเพื่อคลายความรู้สึกตื่นตระหนกก็ได้เช่นกัน
    • สนับสนุนให้บุคคลดังกล่าวไปพบแพทย์
    โฆษณา

เกี่ยวกับวิกิฮาวนี้

มีการเข้าถึงหน้านี้ 65,727 ครั้ง

บทความนี้เป็นประโยชน์กับคุณไหม

โฆษณา