ดาวน์โหลดบทความ ดาวน์โหลดบทความ

การสูญเสียการได้ยินนั้นน่ากลัว และผู้คนมีโอกาสสูญเสียการได้ยินตลอดเวลา โชคดีที่เรายังสามารถปรับปรุงการได้ยินและป้องกันหูของเราไม่ให้ได้รับความเสียหายได้หลายวิธี ถ้าเราประสบภาวะสูญเสียการได้ยินอยู่ ให้พบแพทย์เพื่อจะได้ปรึกษาหาวิธีรักษาให้หาย เรายังสามารถป้องกันตนเองไม่ให้สูญเสียการได้ยินได้อีกด้วย บทความนี้มีวิธีการง่ายๆ ที่เราสามารถนำไปใช้ในชีวิตประจำวันได้เพื่อรักษาการได้ยินให้คงอยู่อีกนานหลายปี

วิธีการ 1
วิธีการ 1 ของ 3:

เข้ารับการรักษา

ดาวน์โหลดบทความ
  1. เข้าพบแพทย์ หากสังเกตเห็นว่าตนเองประสบปัญหาการได้ยิน. ถ้าการสูญเสียการได้ยินมีผลกระทบต่อการใช้ชีวิตประจำวัน ให้เข้าพบแพทย์ นัดพบแพทย์และให้แพทย์ตรวจหูเพื่อจะได้รู้ถึงสาเหตุของการสูญเสียการได้ยินและรักษาได้ตรงจุด [1]
    • การตรวจอาจประกอบด้วยการตรวจหูและการตรวจการได้ยินทั่วไป แพทย์บางท่านมีเครื่องมือพิเศษที่สามารถทดสอบเยื่อแก้วหูได้อย่างละเอียดมากขึ้นไปอีก
    • แพทย์อาจส่งต่อเราไปให้ผู้เชี่ยวชาญด้านหู (โสต ศอ นาสิกแพทย์) หรือนักโสตสัมผัสวิทยาเพื่อทดสอบเพิ่มเติม เราจะได้รู้ว่าที่จริงแล้วสาเหตุที่ทำให้เราสูญเสียการได้ยินคืออะไรและหาวิธีรักษาได้ถูกต้อง
    • นอกจากเราจะต้องได้รับการตรวจในกรณีที่หูค่อยๆ สูญเสียการได้ยินแล้ว การสูญเสียการได้ยินแบบฉับพลันโดยเฉพาะหูข้างเดียวก็เป็นอะไรที่ร้ายแรงเช่นกัน ในกรณีนี้รีบพบแพทย์โดยทันที
  2. ให้แพทย์เอาขี้หูที่สะสมอยู่ออก หากช่องหูของเราอุดตัน. บางกรณีการสูญเสียการได้ยินเกิดขึ้นเพราะมีขี้หูอุดตันอยู่ในช่องหู เมื่อแพทย์ตรวจหูของเรา เขาจะต้องสังเกตเห็นทันที โชคดีที่ปัญหานี้แก้ง่ายมาก แพทย์จะใช้เครื่องมือหรือเครื่องดูดขนาดเล็กเอาขี้หูออกให้ พอช่องหูของเราโล่ง การได้ยินของเราก็จะดีขึ้น [2]
    • แพทย์อาจให้ยาหยอดหูที่สามารถละลายขี้หูแก่เราด้วย ใช้ยาหยอดหูตามที่แพทย์สั่งอย่างเคร่งครัด [3]
    • อย่าแคะหูเองที่บ้าน เพราะอาจทำให้เยื่อแก้วหูเสียหายและทำให้ตนเองสูญเสียการได้ยินอย่างถาวรได้
  3. ใช้เครื่องช่วยฟัง ถ้าหูชั้นในได้รับความเสียหาย. การสูญเสียการได้ยินเพราะหูได้รับความเสียหายหรือเพราะอายุมากเป็นการสูญเสียการได้ยินที่ไม่สามารถฟื้นฟูกลับคืนมาได้เลย โชคดีที่มีอุปกรณ์ซึ่งช่วยให้เรากลับมาได้ยินอีกครั้ง อุปกรณ์นั้นคือเครื่องช่วยฟัง อุปกรณ์เล็กๆ นี้พอดีกับหูของเราและสามารถขยายเสียงเพื่อให้เราได้ยินเสียงดีขึ้นได้ ถึงแม้เครื่องช่วยฟังจะไม่สามารถทำให้การได้ยินกลับมาเหมือนเดิมอย่างสมบูรณ์ แต่ก็ช่วยให้เราดำเนินชีวิตประจำวันได้ง่ายขึ้นเยอะ [4]
    • มีเครื่องช่วยฟังหลายแบบตั้งแต่แบบใส่ในรูหูไปจนถึงแบบขนาดใหญ่จนทัดหลังใบหูได้ ยังมีเครื่องช่วยฟังชนิดฝังในกระดูกซึ่งมีประสิทธิภาพมากอีกด้วย แพทย์จะให้คำแนะนำแก่เราว่าเครื่องช่วยฟังแบบไหนเหมาะกับเราที่สุด [5]
    • ยังมีเครื่องช่วยฟังแบบไม่ต้องมีใบสั่งแพทย์ที่อาจช่วยผู้สูญเสียการได้ยินระดับปานกลางได้ เครื่องช่วยฟังแบบนี้จะมีประสิทธิภาพดีไม่เท่าแบบมีใบสั่งแพทย์และไม่สามารถหาซื้อได้อย่างกว้างขวาง แต่ก็น่าจะใช้ได้ผล ให้ปรึกษาแพทย์เพื่อจะได้รู้ข้อดีของเครื่องช่วยฟังแต่ละแบบหรือแต่ละยี่ห้อ [6]
  4. เข้ารับการผ่าตัดฝังประสาทหูเทียม ถ้าเครื่องช่วยฟังไม่สามารถช่วยได้. บางครั้งหูชั้นในได้รับความเสียหายมากจนเสียงไม่สามารถเข้าไปถึงโสตประสาทได้ เรารับมือกับความเสียหายนี้ได้ยาก แต่ก็มีข่าวดีอยู่ ประสาทหูเทียมช่วยคนที่มีปัญหานี้ได้ อุปกรณ์นี้จะอ้อมช่องหูและนำเสียงไปสู่โสตประสาทโดยตรง [7] ศัลยแพทย์จะทำการผ่าตัดเล็กเพื่อติดตั้งประสาทหูเทียมและประสาทหูเทียมนี้จะทำให้การได้ยินของเราดีขึ้น ถ้าโสตประสาทของเราสมบูรณ์ดี
  5. เข้ารับการผ่าตัดเล็กเพื่อแก้ไขความผิดปกติของช่องหู. ในบางกรณีกระดูกหรือโครงสร้างในหูเกิดความผิดปกติ ทำให้เราสูญเสียการได้ยิน การผ่าตัดเล็กจะช่วยแก้ไขความผิดปกติของช่องหูและทำให้การได้ยินของเราดีขึ้น ผู้เชี่ยวชาญด้านหูจะให้คำแนะนำว่าเราต้องเข้ารับการผ่าตัดหรือไม่และอธิบายขั้นตอนการผ่าตัดให้เราฟัง [9]
    • ถ้าหูของเราติดเชื้อบ่อยๆ เราก็อาจต้องเข้ารับการผ่าตัดเช่นกัน เพราะของเหลวอาจระบายออกจากหูได้ไม่ดี
  6. แจ้งให้แพทย์ทราบ หากสูญเสียการได้ยินหลังจากรับประทานยาเข้าไป. ยาบางตัวเป็นยาที่มีพิษต่อประสาทหู จึงอาจเป็นสาเหตุทำให้เราสูญเสียการได้ยิน อาจมียาถึง 200 กว่าตัวที่ตกอยู่ในพวกยาที่มีพิษต่อประสาทหูและไม่มีวิธีการตรวจสอบซึ่งน่าเชื่อถือพอที่จะทำให้รู้ว่าใครจะเป็นผู้ได้รับผลข้างเคียงนี้ ฉะนั้นสิ่งที่เราทำได้คือการเฝ้าสังเกตการได้ยินและแจ้งแพทย์ทันที ถ้าสังเกตเห็นว่าการได้ยินมีปัญหาหลังจากรับประทานยา [10]
    • ยาที่ทำให้สูญเสียการได้ยินชั่วคราวประกอบด้วยพวกยาแก้ป่วยซาลิไซเลตอย่างเช่น แอสไพริน ควินิน ยาขับปัสสาวะบางตัว
    • มียาที่อาจทำให้สูญเสียการได้ยินแบบถาวร ถ้ารับประทานมานานมาก ยาเหล่านี้ประกอบด้วยยาปฏิชีวนะอย่างเช่น เจนตามัยซินและยาเคมีบำบัด
    • เราจะมีโอกาสสูญเสียการได้ยินมากขึ้น หากรับประทานยาที่มีพิษต่อประสาทหูในปริมาณมากหรือหลายชนิดในเวลาเดียวกัน กินยาตามคำสั่งของแพทย์เพื่อลดโอกาสที่จะสูญเสียการได้ยิน [11]
    โฆษณา
วิธีการ 2
วิธีการ 2 ของ 3:

ปรับปรุงและรักษาการได้ยินเอาไว้

ดาวน์โหลดบทความ
  1. ฝึกการหาตำแหน่งที่มาของเสียงเพื่อให้การได้ยินของเราดีขึ้น. เราสามารถรักษาหรือปรับปรุงการได้ยินด้วยการฝึกหาตำแหน่งที่มาของเสียง ให้ใครสักคนซ่อนของที่ทำเสียงได้หลายครั้งอย่างเช่น นาฬิกาปลุก เอาไว้ จากนั้นทำให้สภาพแวดล้อมมีเสียงอย่างเช่น เปิดทีวี เป็นต้น ฟังเสียงและตามเสียงนั้นไปเพื่อจะได้หาวัตถุที่ทำให้เกิดเสียงนั้นเจอ ฝึกหาตำแหน่งที่มาของเสียงบ่อยๆ จะช่วยให้ความสามารถในการได้ยินเสียงต่างๆ ดีขึ้น [12]
    • วิธีฝีกการได้ยินอีกวิธีหนึ่งคือฟังใครสักคนอ่านข้อความท่ามกลางสภาพแวดล้อมที่มีเสียงดัง อย่าไปสนใจเสียงที่ดังรบกวนเราอยู่และจดจ่ออยู่กับการฟังเนื้อหาที่ผู้อื่นอ่านเท่านั้น
    • ถ้าเราได้สูญเสียการได้ยินไปแล้ว การฝึกหาตำแหน่งที่มาของเสียงอาจไม่ช่วยอะไร เราจะต้องเข้ารับการตรวจหูและอาจต้องใช้เครื่องช่วยฟังแทน
  2. หูของเราต้องการอาหารที่เหมาะสมเพื่อให้ทำงานได้อย่างสมบูรณ์ โดยเฉพาะอย่างยิ่งสังกะสี โพแทสเซียม กรดโฟลิก แมกนีเซียม วิตามินดี และโอเมก้า 3 จะช่วยลดการอักเสบในช่องหูและป้องกันไม่ให้เกิดความเสียหายขึ้นกับหู เราจะได้สารอาหารเหล่านี้ครบจากการกินอาหารที่มีสารอาหารครบถ้วนได้สัดส่วนและดีต่อสุขภาพ [13]
    • ตัวอย่างอาหารที่ดีต่อสุขภาพได้แก่ ผักใบเขียว กล้วย ถั่วและธัญพืช ปลา เป็ดไก่ และผลิตภัณฑ์นมไขมันต่ำ
    • เรายังสามารถกินผลิตภัณฑ์อาหารเสริมได้อีกด้วย ถ้าเราไม่ได้รับสารอาหารที่เพียงพอจากอาหารที่กินในแต่ละวัน ปรึกษาแพทย์ก่อนเริ่มกินผลิตภัณฑ์อาหารเสริมใดๆ เพื่อจะได้มั่นใจว่าผลิตภัณฑ์อาหารเสริมที่เลือกนั้นเหมาะกับเรา
  3. ออกกำลังกายเป็นประจำเพื่อรักษาการได้ยินเอาไว้. ที่จริงแล้วการออกกำลังกายแบบแอโรบิกมีส่วนในการรักษาสภาพการได้ยิน ตราบใดที่หูของเราไม่ได้รับความเสียหาย การออกกำลังกายเป็นประจำสามารถช่วยให้การได้ยินของเราดีขึ้นได้และทำให้การได้ยินยังคงดีอยู่แม้มีอายุมาก ออกกำลังกายแบบแอโรบิกวันละ 20-30 นาที อย่างน้อย 5 วันต่อสัปดาห์ [14]
    • การออกกำลังกายแบบแอโรบิกเป็นกิจกรรมที่ทำให้อัตราการเต้นของหัวใจสูงขึ้นอย่างเช่น การวิ่ง การปั่นจักยาน คิกบอกซิ่ง เป็นต้น เราแค่เดินทุกวันเท่านั้นก็ยังได้
    • การออกกำลังกายแบบใช้แรงต้านอย่างเช่น การฝึกโดยใช้น้ำหนักหรือเวทเทรนนิ่ง (weight training) ดีต่อสุขภาพของเราเหมือนกัน แต่การออกกำลังกายแบบนี้ไม่มีส่วนในการปรับปรุงการได้ยินให้ดีขึ้น หากต้องการปรับปรุงการได้ยินให้ดีขึ้น เราจะต้องออกกำลังกายแบบแอโรบิก
  4. ลดความเครียดเพื่อจะได้มีจิตใจที่ผ่องใสเสมอ. ความเครียดและความวิตกกังวลมีผลต่อการได้ยินได้ [15] ถ้าเรารู้สึกเครียดเป็นประจำ ให้ผ่อนคลายและลดความเครียดลง จิตใจที่ผ่องใสสามารถช่วยให้การได้ยินของเราดีขึ้นได้
    • ทำกิจกรรมที่ช่วยให้ผ่อนคลายอย่างเช่น การนั่งสมาธิ การเล่นโยคะ หรือการหายใจเข้าลึกๆ แค่ทำกิจกรรมเหล่านี้ไม่กี่นาทีทุกวัน ก็ช่วยให้เราผ่อนคลายได้มากทีเดียว
    • การทำกิจกรรมที่เราชื่นชอบช่วยลดความเครียดได้มากเช่นกัน ฉะนั้นหาเวลาทำงานอดิเรกด้วย เราจะรู้สึกเครียดน้อยลง
    • อย่าลืมว่าการลดความเครียดไม่สามารถซ่อมแซมหูที่ได้รับความเสียหายได้ ฉะนั้นหากเราได้สูญเสียการได้ยินไปแล้ว เราก็อาจต้องพึ่งเครื่องช่วยฟังอยู่ดี
  5. เสียงในหูจะเป็นเสียงก้องหรือเสียงหึ่งๆ ในหู โดยปกติอาการแบบนี้จะเป็นอาการระยะแรกของภาวะสูญเสียการได้ยิน หลักฐานที่ว่ายาสมุนไพรสามารถรักษาภาวะเสียงในหูได้นั้นยังมีอยู่น้อย แต่ยาสมุนไพรบางตัวอาจช่วยได้ ถ้าเรากำลังมีภาวะเสียงในหู ลองกินอาหารเสริมเหล่านี้หลังจากได้ปรึกษาแพทย์แล้วว่าอาหารเสริมที่เลือกนั้นปลอดภัยกับเราหรือไม่ [16]
    • แปะก๊วย
    • สังกะสี
    • วิตามินบี
    โฆษณา
วิธีการ 3
วิธีการ 3 ของ 3:

ป้องกันหูไม่ให้ได้รับความเสียหาย

ดาวน์โหลดบทความ
  1. หลีกเลี่ยงการอยู่ในสภาพแวดล้อมที่มีเสียงดัง. การอยู่ในบริเวณที่มีเสียงดังเป็นสาเหตุหลักสาเหตุหนึ่งของการสูญเสีญการได้ยิน หลีกเลี่ยงสภาพแวดล้อมที่มีเสียงดังมากและสถานที่ซึ่งมีเสียงอึกทึก การหลีกเลี่ยงสภาพแวดล้อมที่มีเสียงดังสามารถช่วยรักษาการได้ยินของเราเอาไว้ได้และป้องกันไม่ให้หูได้รับความเสียหาย [17]
    • โดยส่วนใหญ่หากเราต้องการคุยกับใครสักคนแล้วต่างฝ่ายต่างต้องใช้การตะโกนตอบกลับกันไปมา แสดงว่าสภาพแวดล้อมที่เราอยู่นั้นมีเสียงดังมากเกินไป
    • เสียงดังเกิน 85 เดซิเบลหรือดังประมาณเครื่องยนต์ของจักรยานยนต์อาจเป็นอันตรายต่อหูของเราได้ เราสามารถดาวน์โหลดแอปของสมาร์ทโฟนเพื่อวัดระดับเดซิเบลของบริเวณที่เราอยู่ตอนนี้ จะได้รู้ว่าสภาพแวดล้อมมีเสียงดังเกินไปไหม
  2. ใส่อุปกรณ์ป้องกันหู เมื่อเราต้องอยู่ในบริเวณที่มีเสียงดัง. เราไม่สามารถหลีกเลี่ยงเสียงดังได้ตลอด โดยเฉพาะถ้าการอยู่กับเสียงดังนั้นเป็นส่วนหนึ่งของงานเรา [18] ที่อุดหูเป็นอุปกรณ์ป้องกันหูที่หยิบใช้ได้สะดวกและใช้ป้องกันเสียงได้เกือบทุกสถานที่ แต่ที่ครอบหูจะปิดกั้นเสียงได้มากขึ้นและเหมาะสำหรับใช้ป้องกันหูเมื่ออยู่ในบริเวณที่มีเสียงดังมาก
    • การใส่อุปกรณ์ป้องกันหูสำคัญมาก ถ้าเรากำลังใช้เครื่องมือไฟฟ้าหรือทำงานใกล้ๆ เครื่องจักรขนาดใหญ่ เสียงจากเครื่องมือไฟฟ้าหรือเครื่องจักรขนาดใหญ่สามารถสร้างความเสียหายแก่หูได้มาก
    • อุปกรณ์ป้องกันหูยังเป็นอุปกรณ์ที่จำเป็นสำหรับบาร์เทนเดอร์หรือคนที่ทำงานในสถานที่จัดคอนเสิร์ต โดยปกติเสียงดนตรีในสถานที่เหล่านี้จะดังมาก
    • พกที่อุดหูติดตัวไปด้วย เผื่อต้องเข้าไปในสถานที่ซึ่งมีเสียงดังอย่างไม่ทันตั้งตัว เราจะได้สามารถป้องกันหูของตัวเองได้ตลอดเวลา [19]
  3. หูฟังจะทำให้เสียงดนตรีเข้าสู่เยื่อแก้วหูโดยตรง จึงมีโอกาสที่จะสูญเสียการได้ยินสูง ฉะนั้นจำกัดความดังของเสียงเพื่อป้องกันไม่ให้สูญเสียการได้ยิน [20]
    • ถ้าเรามักจะเพิ่มเสียงดนตรีให้ดังขึ้นเพื่อกลบเสียงอื่นๆ ขอแนะนำให้ใช้หูฟังแบบตัดเสียงรบกวน
  4. การนำวัตถุใดๆ มาแคะหูอาจก่อให้เกิดความเสียหายแก่เยื่อแก้วหูและทำให้สูญเสียการได้ยิน อย่านำสำลีก้าน แหนบ หรือนิ้วแคะหู [21]
    • หูของเราทำความสะอาดตัวเองได้ ฉะนั้นเราไม่จำเป็นต้องนำสำลีก้านมาแคะขี้หู
    • ถ้ามีอะไรเข้าไปในหู ให้รีบไปพบแพทย์หรือไปที่โรงพยาบาลทันที อย่าพยายามแคะหูเอาออกเอง
  5. เลิกสูบบุหรี่เพื่อป้องกันหูไม่ให้ได้รับความเสียหาย. มีหลักฐานว่าการสูบบุหรี่สามารถสร้างความเสียหายแก่หูได้ เพราะการสูบบุหรี่จะลดการไหลเวียนเลือดไปที่หู ถ้าเราสูบบุหรี่ ขอให้เลิกโดยเร็วที่สุดและถ้าเราไม่สูบบุหรี่ ก็อย่าคิดลองสูบเลย [22]
    • การสูดควันบุหรี่เข้าไปก็เป็นอันตรายและสามารถสร้างความเสียหายแก่หูได้เช่นกัน หลีกเลี่ยงการอยู่ใกล้ผู้ที่กำลังสูบบุหรี่และอย่าให้ใครสูบบุหรี่ภายในบ้าน
    โฆษณา

เคล็ดลับ

  • อาการเสียงก้องในหู หรือที่เรียกว่าเสียงในหูเป็นสัญญาณหนึ่งที่บอกว่าหูชั้นในได้รับความเสียหายและอาจเป็นอาการเริ่มต้นไปสู่การสูญเสียการได้ยิน
  • ถ้าเราไปชมคอนเสิร์ตหรือการแสดงที่มีเสียงดัง ให้พักหูสักสองสามวันหลังจากนั้นและหลีกเลี่ยงการฟังเสียงดังหรือไปสถานที่ซึ่งมีเสียงดัง จะช่วยให้หูไม่ได้รับความเสียหายเพิ่มเติม
  • การใช้เครื่องช่วยฟังและการเข้ารับการผ่าตัดฝังประสาทหูเทียมเป็นแค่ทางเลือกหนึ่งเท่านั้น ถ้าเราไม่อยากใช้เครื่องช่วยฟังหรือฝังประสาทหูเทียม เราไม่จำเป็นต้องบังคับตัวเองให้ใช้หรือเข้ารับการผ่าตัดก็ได้
  • อย่าเศร้าโศกเสียใจ เมื่อสูญเสียการได้ยินไป เพราะถึงแม้สูญเสียการได้ยินไป เราก็ยังสามารถใช้ชีวิตอย่างมีความสุขได้อยู่
โฆษณา

เกี่ยวกับวิกิฮาวนี้

มีการเข้าถึงหน้านี้ 1,189 ครั้ง

บทความนี้เป็นประโยชน์กับคุณไหม

โฆษณา