ดาวน์โหลดบทความ ดาวน์โหลดบทความ

พอกลับถึงบ้านแล้ววางทุกอย่าง ถอดรองเท้า ยกขาสูงพักไว้ จะมีอะไรสบายไปกว่านี้ ยิ่งเท้าปวดบวมด้วยแล้ว ไม่ว่าคุณจะเท้าบวมเพราะท้อง เดินเยอะ หรืออะไร การยกเท้าสูงก็ช่วยบรรเทาอาการและผ่อนคลายได้เป็นอย่างดี แค่ยกเท้าพักไว้ นอกจากจะลดอาการปวดบวม ยังช่วยคืนสุขภาพเท้าที่ดี พร้อมลุยกับกิจกรรมโปรดในวันต่อไป

ส่วน 1
ส่วน 1 ของ 3:

ยกเท้าสูงพักไว้

ดาวน์โหลดบทความ
  1. ถอดรองเท้าถุงเท้าก่อน แล้วค่อยยกเท้าสูง รองเท้าคับๆ หรือเวลาใส่รองเท้านานๆ อาจทำให้เลือดไหลมาคั่งที่เท้าได้ จนเท้าปวดบวมนั่นเอง ถุงเท้าก็เหมือนกัน โดยเฉพาะถุงเท้าที่รัดข้อเท้าซะแน่น เสร็จแล้วกระดิกนิ้วเท้าไปมาหน่อย เลือดจะได้กลับมาไหลเวียนดี [1]
  2. ทิ้งตัวนอนหงายเหยียดขาให้สบายบนโซฟาตัวยาวหรือเตียง ถ้าเป็นโซฟา นอนแล้วต้องยังเหลือที่ ไม่กลิ้งตกง่ายๆ เอาหมอน 1 - 2 ใบหนุนคอและหลังให้สูงขึ้น จะได้สบายๆ [2]
    • อย่านอนหงายราบไปถ้าตั้งครรภ์เกิน 3 เดือน เพราะมดลูกจะไปกดทับเส้นเลือดแดงใหญ่ ทำให้เลือดไหลเวียนได้น้อยลง ไม่ใช่เรื่องดีแน่ ให้หาหมอน 1 - 2 ใบมาหนุนหลัง ตัวจะได้ทำมุม 45 องศา [3]
  3. ยกเท้าสูงโดยใช้หมอนหนุนใต้เท้ากับข้อเท้า โดยเรียงหมอนซ้อนกันจนเท้าสูงระดับหัวใจ ซึ่งจะทำให้เลือดที่คั่งบริเวณเท้าไหลย้อน หัวใจก็จะสูบฉีดเลือดให้ไหลเวียนไปทั่วร่างกายได้ดีขึ้น [4]
    • ถ้าเอาหมอน 1 - 2 ใบหนุนไว้ใต้น่องด้วย ก็จะยิ่งยกเท้าสูงได้สบายยิ่งขึ้น
  4. แค่ยกเท้าสูงรอบละ 20 นาที ก็ช่วยลดปวดบวมได้แล้ว [5] ระหว่างนี้จะเช็คอีเมล ดูหนังฟังเพลง หรืออื่นๆ ก็ตามสะดวก ขอแค่เป็นกิจกรรมที่นอนทำได้
    • ถ้ามีอาการบาดเจ็บด้วย เช่น ข้อเท้าแพลง ก็ยิ่งต้องยกเท้าสูงบ่อยขึ้น เช่น ยกเท้าสูงเป็นรอบๆ รวมแล้ว 2 - 3 ชั่วโมงต่อวัน [6]
    • ถ้ายกเท้าสูงเป็นรอบๆ แบบนี้ต่อกัน 2 - 3 วันแล้วเท้ายังไม่หายบวม ให้นัดหมอได้เลย
  5. แค่ยกเท้าสูงนิดๆ หน่อยๆ ก็ช่วยให้เท้าหายบวมระหว่างวันได้ ให้วางเท้าบนเก้าอี้นวมเตี้ยๆ (ottoman) หรือที่วางเท้า (footstool) เท้าจะได้ยกสูงจากพื้นทุกครั้งที่นั่ง เลือดก็ไหลเวียนสะดวก [7]
    • ยิ่งใครที่ต้องนั่งทำงานนานๆ หรือนั่งทั้งวัน ยิ่งต้องหาซื้อเก้าอี้หรือที่วางเท้ามาใช้ใต้โต๊ะ
  6. เอาผ้าห่อน้ำแข็งหรือเจลแพ็ค แล้วใช้ประคบเย็นเท้าที่ยกสูงไว้ ครั้งละ 10 นาที ทิ้งช่วงสัก 1 ชั่วโมงแล้วค่อยประคบซ้ำ [8] วิธีนี้ช่วยทำให้เท้าไม่บวมไปกว่าเดิม แถมลดปวดให้สบายเท้าขึ้นด้วย แต่จุดสำคัญคือห้ามเอาน้ำแข็งมาประคบที่ผิวโดยตรงเด็ดขาด [9]
    • ถ้าเท้าปวดบวมจนต้องประคบเย็นบ่อยขึ้น ไปหาหมอจะดีกว่า
    โฆษณา
ส่วน 2
ส่วน 2 ของ 3:

ลดปวดบวม

ดาวน์โหลดบทความ
  1. ทุก 1 ชั่วโมงให้ลุกเดินไปมาสัก 1 - 2 นาที แค่พอให้เลือดลมไหลเวียนดี เพราะนั่งนานๆ ทำให้เลือดคั่งที่เท้าได้ ทำให้เท้าบวมกว่าเดิม แต่ถ้าจำเป็นต้องนั่งนานจริงๆ ก็อย่างที่บอกว่าให้หาเก้าอี้เตี้ยๆ หรืออะไรมาวางเท้า เลือดจะได้ไหลเวียนดี [10]
  2. ให้ใส่ถุงน่อง support stockings แบบเต็มตัว หรือก็คือถุงน่องเพิ่มการไหลเวียนเลือดและลดอาการเท้าบวม จะได้ผลเป็นพิเศษกับคนที่ใส่ถุงน่องนี้ทั้งวัน โดยเฉพาะวันที่ต้องยืนนานๆ ให้หลีกเลี่ยงถุงเท้าแบบ compression socks ที่กระชับเพื่อเล่นกีฬา เพราะจะรัดเหนือข้อเท้า ยิ่งทำให้เท้าบวมกว่าเดิม [11]
    • ถุงน่องเพิ่มการไหลเวียนเลือดหาซื้อได้ในเน็ตหรือตามห้างสรรพสินค้าทั่วไป
  3. ดื่มน้ำให้เพียงพอช่วยขับเกลือส่วนเกินในร่างกาย ลดอาการเท้าบวมได้ ผู้ใหญ่บางคนอาจต้องดื่มมากหรือน้อยกว่านี้ เช่น กรณีที่ตั้งครรภ์หรือมีโรคประจำตัว แต่ถ้าคนทั่วไป ดื่มน้ำอย่างน้อย 48 ออนซ์ (1.4 ลิตร) ต่อวัน ก็เพียงพอจะลดอาการเท้าบวมได้แล้ว [12]
  4. พยายามออกกำลังกายให้ได้อย่างน้อย 30 นาที อาทิตย์ละ 4 - 5 วัน เลือดลมจะได้ไหลเวียนดี แค่เดินไปเดินมาก็ช่วยให้หัวใจเต้นเร็วขึ้นแล้ว ช่วยให้เลือดไม่ไปคั่งที่เท้า ถ้าตอนนี้ไม่ได้ออกกำลังกายเลย ให้ค่อยๆ ออกไปจนได้ 4 วันต่ออาทิตย์ เริ่มจากวันละ 15 นาที [14]
    • ถ้ามีข้อจำกัดเรื่องตั้งครรภ์หรือมีอาการบาดเจ็บ ให้ปรึกษาคุณหมอหากิจกรรมที่ทำแล้วช่วยลดอาการบวมได้
    • ถ้าอยากออกกำลังกายให้สนุก ไม่เลิกกลางคัน ต้องชวนเพื่อนมาออกกำลังกายด้วยกัน
    • โยคะบางท่า เช่น นอนหงายกับพื้น ยกขา 2 ขาพาดผนัง ก็ช่วยลดเท้าบวมได้เหมือนกัน [15]
  5. ให้เลือกรองเท้าที่กระชับแต่ไม่คับ โดยเนินปลายเท้าจะพอดีกับช่วงที่กว้างที่สุดของรองเท้า [16] ถ้าใส่รองเท้าเล็กหรือคับไป จะทำให้เลือดไหลเวียนไปเลี้ยงไม่สะดวก จนเท้าปวดบวมหรือบาดเจ็บได้ [17]
    โฆษณา
ส่วน 3
ส่วน 3 ของ 3:

ดูแลเท้าให้สุขภาพดี

ดาวน์โหลดบทความ
  1. รองเท้าผ้าใบพื้นหนาจะรองรับเท้า เวลาวิ่งหรือกระโดดแล้วลดแรงกระแทก หรือหาซื้อแผ่นรองหนาๆ มาใช้เพิ่มเติมก็ได้ ถ้ารู้ตัวว่าเป็นคนกิจกรรมเยอะ ออกกำลังกายหนัก ต้องเลือกรองเท้าที่รูปทรงแข็งแรง รองรับน้ำหนักดี ทรงตัวง่าย [18]
    • ให้ลองรองเท้าที่จะซื้อช่วงบ่ายๆ เย็นๆ เพราะเท้าจะบวมเต็มที่ ถ้ารองเท้าใส่แล้วพอดี ต่อไปก็จะใส่สบายตลอดวัน
  2. พยายามรักษาน้ำหนักตัวให้อยู่ในเกณฑ์ (สัมพันธ์กับส่วนสูง) โดยกินอาหารที่มีประโยชน์ในปริมาณที่พอดี และออกกำลังกายเป็นประจำ น้ำหนักแต่ละกิโลกรัมที่เพิ่มมา ก็คือแรงกดทับที่เพิ่มขึ้นเวลาคุณยืน เท่ากับเพิ่มภาระให้หลอดเลือด โดยเฉพาะคนที่เคลื่อนไหวเยอะๆ แค่ลดน้ำหนักส่วนเกินสัก 0.5 - 1 กก. ก็ช่วยให้เท้าบวมน้อยลงแล้ว [19]
    • ลองปรึกษาคุณหมอให้ช่วยแนะนำน้ำหนักที่เหมาะสมกับคุณ
  3. พยายามเลือกส้นสูงที่เตี้ยกว่า 2 นิ้ว (5 ซม.) ที่สำคัญคืออย่าใส่ทุกวัน ส้นสูงใส่แล้วบางทีก็เจ็บเท้า เท้าเป็นแผล แถมมีแรงกดเป็นพิเศษบริเวณเนินฝ่าเท้า ปกติเท้าจะรับน้ำหนักทั้งฝ่าเท้า แต่พอเหลือพื้นที่น้อยแค่นั้น ก็ทำให้เท้าปวดบวม ถึงขั้นกระดูกเคลื่อนได้เลย [20]
    • ถ้าอยากใส่ส้นสูงจริงๆ ให้เลือกส้นตึกดีกว่าส้นเข็ม เพราะทรงตัวง่ายกว่า
  4. สูบบุหรี่แล้วหัวใจทำงานหนัก สูบฉีดเลือดให้ไหลเวียนไปทั่วร่างกายได้ยากขึ้น ที่สำคัญคือเท้าเป็นอวัยวะที่ไกลหัวใจเหลือเกิน เลยบวมเต่งได้ง่ายเป็นพิเศษ สุดท้ายผิวก็จะบางลง พยายามเลิกบุหรี่ให้ได้ นอกจากลดเท้าบวมแล้ว สุขภาพโดยรวมยังดีขึ้นด้วย [21]
  5. นวดเท้าลดอาการปวด กระตุ้นการไหลเวียนของเลือด. นวดฝ่าเท้าด้วยไม้นวดแป้ง เลือดจะได้ไหลเวียนดี หรือจะให้คนรู้ใจช่วยนวดให้ก็ได้ เลือดลมยิ่งสูบฉีดดีใหญ่ ลืมไปเลยว่าเลือดเคยคั่งจนเท้าบวม ให้บีบนวดตรงที่ปวดตึงเป็นพิเศษ [22]
  6. ถ้าคุณหมอวินิจฉัยว่าไม่ได้อาการหนักอะไร ก็ซื้อยาแก้อักเสบลดปวดบวมกินเองได้ เช่น ไอบูโพรเฟน 200 - 400 มิลลิกรัม ทุก 4 - 6 ชั่วโมง เพื่อลดอาการปวดบวม [23]
    • ก่อนซื้อยากินเองควรปรึกษาคุณหมอก่อน เพราะยาบางตัวหรือโรคบางโรคจะไปทำปฏิกิริยากับยาแก้อักเสบที่ไม่ใช่สเตียรอยด์ (NSAID) อย่างไอบูโพรเฟน
    โฆษณา

คำเตือน

  • ถ้ายกเท้าสูงมา 2 - 3 วันแล้วเท้ายังไม่หายบวม ให้ไปหาหมอจะดีกว่า
  • โรคร้ายแรงบางอย่าง เช่น โรคไตหรือโรคหัวใจ ก็ทำให้เท้าบวมได้เหมือนกัน เพราะงั้นถ้าเท้าบวมบ่อยๆ อย่านิ่งนอนใจ [24]
  • ถ้าเท้าบวมแล้วปวด แดง ร้อน หรือมีแผลเปิดด้วย ให้รีบไปหาหมอทันที
  • ถ้าหายใจติดขัด หรือเท้าบวมข้างเดียว ให้รีบไปหาหมอ
  • อย่าให้เท้าที่บวมอยู่แล้วเกิดแรงกดทับหรือบาดเจ็บไปกว่าเดิม เพราะยังไม่ทันฟื้นตัว
โฆษณา

เกี่ยวกับวิกิฮาวนี้

มีการเข้าถึงหน้านี้ 39,187 ครั้ง

บทความนี้เป็นประโยชน์กับคุณไหม

โฆษณา