ดาวน์โหลดบทความ ดาวน์โหลดบทความ

ภาวะขาฉิ่ง (Knock knees หรือ Genu valgum) คือสภาวะผิดปกติที่มีช่องว่างตรงกลางระหว่างเท้าทั้งสองข้างเมื่อยืนตัวตรงและข้อเข่าชิดกัน หากคุณอยู่ในช่วงวัยรุ่นหรือวัยผู้ใหญ่และกำลังประสบกับปัญหาภาวะขาฉิ่ง คุณสามารถพยุงและสร้างความแข็งแรงของหัวเข่าได้ด้วยการออกกำลังกายและปรับเปลี่ยนรูปแบบการใช้ชีวิต แต่จำไว้ว่าวิธีเหล่านี้ไม่มีประสิทธิผลในการรักษาอาการขาฉิ่งให้หายดีได้ สำหรับผู้ที่มีอาการรุนแรงเป็นพิเศษหรือมีความกังวลเกี่ยวกับโรคประจำตัว คุณควรปรึกษาแพทย์เพื่อพิจารณาว่าจำเป็นต้องรักษาด้วยการผ่าตัดหรือไม่ นอกจากนี้ ในกรณีที่ภาวะขาฉิ่งเกิดขึ้นในเด็กและยังคงไม่หายดีเมื่อเด็กมีอายุเพิ่มขึ้นหรือมีอาการต่างๆ เกิดขึ้น เช่น รู้สึกเจ็บหรือส่งผลกระทบต่อการเดิน ให้คุณพาเด็กไปพบแพทย์เพื่อรับการประเมินและรักษาอย่างถูกวิธี

วิธีการ 1
วิธีการ 1 ของ 3:

รักษาโดยไม่ต้องผ่าตัด

ดาวน์โหลดบทความ
  1. ออกกำลังกายแบบแรงกระแทกต่ำเพื่อ สร้างความแข็งแรงให้หัวเข่า . เมื่อประสบปัญหาภาวะขาฉิ่ง สิ่งที่คุณควรให้ความสำคัญคือการออกกำลังกายและสร้างความแข็งแรงให้กับกล้ามเนื้อขารวมถึงพยายามป้องกันการเกิดแรงกระแทกที่บริเวณหัวเข่า [1] ดังนั้นแพทย์หรือนักกายภาพบำบัดของคุณอาจแนะนำให้คุณออกกำลังกายในรูปแบบต่างๆ ที่มีแรงกระแทกต่ำและไม่เป็นอันตรายต่อข้อต่อ เช่น การขี่จักรยาน การว่ายน้ำ หรือการเดิน [2] นอกจากนี้ คุณยังสามารถสอบถามแพทย์หรือนักกายภาพบำบัดเกี่ยวกับท่าออกกำลังกายที่เน้นการบริหารข้อเข่าโดยเฉพาะแต่ไม่ก่อให้เกิดความเสี่ยงต่อการบาดเจ็บหรือการเกิดโรคข้อเข่าอักเสบ อย่างเช่น:
    • ขยับข้อเท้าเป็นตัวอักษรภาษาอังกฤษ
    • บริหารท่า Standing kickback (ยืนตัวตรงและเหยียดขาไปทางด้านหลัง)
    • บริหารท่า Wall squat (หันหลังชิดกำแพงและย่อตัวลงคล้ายลงนั่งบนเก้าอี้)
    • บริหารท่า Leg lift (นอนหงายและยกขาขึ้นจนสุด)
    • บริหารท่า Step up (ก้าวเท้าขึ้นไปยืนบนแท่นสเต็ป)

    ข้อควรระวังเพื่อความปลอดภัย: อย่าลืมอบอุ่นร่างกายทุกครั้งก่อนออกกำลังกายอย่างน้อย 5-10 นาทีเพื่อเป็นการปรับสภาพร่างกายให้พร้อมและป้องกันการได้รับบาดเจ็บในระหว่างการออกกำลังกาย ลองอบอุ่นร่างกายด้วยท่าออกกำลังกายแบบคาร์ดิโอแบบแรงกระแทกต่ำอย่างการเดินหรือการปั่นบนเครื่องเกินวงรี

  2. ปรึกษานักกายภาพบำบัดที่เชี่ยวชาญในด้านการฟื้นฟูภาวะขาฉิ่ง. ภาวะขาฉิ่งในวัยรุ่นหรือวัยผู้ใหญ่อาจเพิ่มความเสี่ยงต่อการเกิดอาการเจ็บที่ข้อเข่า การเกิดโรคข้อเข่าอักเสบ และการได้รับบาดเจ็บจากการออกกำลังกายได้ [3] ลองขอคำแนะนำจากแพทย์ของคุณเกี่ยวกับนักกายภาพบำบัดที่สามารถให้คำแนะนำในการยืดเหยียดและการออกกำลังกายอย่างปลอดภัยและเหมาะสมเพื่อช่วยสร้างความแข็งแรงให้กับหัวเข่าและป้องกันการเกิดภาวะแทรกซ้อนต่างๆ [4]
    • แม้ว่าการยืดเหยียดและการออกกำลังกายเพียงอย่างเดียวจะไม่มีประสิทธิผลในการรักษาภาวะขาฉิ่งให้กลับมาเป็นปกติได้ อย่างไรก็ตาม การยืดเหยียดและการออกกำลังกายนั้นสามารถช่วยป้องกันการบาดเจ็บและยับยั้งปัญหาภาวะขาฉิ่งไม่ให้แย่ลงได้ [5]
    • รูปแบบการออกกำลังกายที่เหมาะสมกับคุณขึ้นอยู่กับปัจจัยหลายๆ อย่าง เช่น ความรุนแรงของอาการ อายุ รูปร่าง และสุขภาพโดยรวมของคุณ
  3. มีท่าฝึกโยคะและท่าออกกำลังกายมากมายที่มีส่วนช่วยในการเพิ่มความแข็งแรง ความยืดหยุ่น และความมั่นคงให้กับหัวเข่าของคุณ ด้วยเหตุนี้การออกกำลังกายด้วยโยคะจึงสามารถช่วยรักษาภาวะขาฉิ่งได้อย่างมีประสิทธิภาพเมื่อทำควบคู่กับกายภาพบำบัด [6] ลองมองหาครูสอนโยคะที่มีประสบการณ์ในด้านการรักษาความผิดปกติของข้อเข่าหรือสอบถามแพทย์หรือนักกายภาพบำบัดของคุณว่ารู้จักครูสอนโยคะคนใดที่พอแนะนำให้กับคุณได้บ้างหรือไม่ โดยครูสอนโยคะจะสอนท่าฝึกโยคะและท่าออกกำลังกายต่างๆ ที่ถูกวิธีให้กับคุณเพื่อเป็นการป้องกันไม่ให้เกิดการบาดเจ็บที่ข้อเข่าของคุณเพิ่มขึ้น
    • หนึ่งในท่าฝึกโยคะที่สามารถสร้างความแข็งแรงให้กับหัวเข่าได้แก่ ท่านักรบ (Warrior pose) และท่าตรีโกณ (Triangle pose) [7]
    • การฝึกโยคะแบบไอเยนการ์ (Iyengar Yoga) เป็นอีกหนึ่งรูปแบบการฝึกโยคะที่มีประสิทธิภาพในการรักษาความผิดปกติของข้อเข่าที่มีสาเหตุจากภาวะขาฉิ่ง เช่น โรคข้อเข่าเสื่อมหรืออาการเจ็บที่ข้อเข่า [8] คุณสามารถค้นหาข้อมูลของครูสอนโยคะแบบไอเยนการ์ที่อยู่ใกล้บ้านคุณได้ง่ายๆ จากอินเทอร์เน็ต
  4. ฝึกพิลาทิสซึ่งเป็นรูปแบบการออกกำลังกายที่ดีต่อข้อเข่า. ออกกำลังกายด้วยการฝึกพิลาทิสเพื่อช่วยสร้างความแข็งแรงให้หัวเข่า ลดความตึงตัวของกล้ามเนื้อ และพัฒนาความสามารถในการเคลื่อนไหวของข้อเข่า ลองมองหาครูสอนพิลาทิสที่สามารถให้คำแนะนำกับคุณเกี่ยวกับการออกกำลังกายเพื่อสร้างความแข็งแรงของหัวเข่าได้อย่างเหมาะสมหรือสอบถามแพทย์หรือนักกายภาพบำบัดของคุณว่ารู้จักครูสอนพิลาทิสที่พอแนะนำให้กับคุณได้บ้างหรือไม่
    • คุณยังสามารถค้นหาข้อมูลเกี่ยวกับรูปแบบการฝึกพิลาทิสที่ออกแบบเฉพาะสำหรับการรักษาความผิดปกติของข้อเข่าได้มากมายจากอินเทอร์เน็ต ตัวอย่างเช่น: https://www.nhs.uk/conditions/nhs-fitness-studio/knee-problems-pilates-exercise-video/ .
  5. บำบัดด้วยวิธีเฟลเดนครายส์เพื่อพัฒนาความมั่นคงของข้อเข่าและจัดแนวของกระดูกให้เข้าที่. วิธีเฟลเดนครายส์ (Feldenkrais method) เป็นการบำบัดด้วยกายบริหารร่วมกับครูผู้สอนที่ได้รับการรับรองเพื่อแก้ไขท่าทางการยืนและการเคลื่อนไหวร่างกายให้ดียิ่งขึ้น การฝึกเทคนิคต่างๆ ของวิธีเฟลเดนครายส์มีส่วนช่วยในการปรับปรุงท่าทางการเดินให้ถูกต้อง รวมทั้งช่วยจัดแนวของกระดูกให้เข้าที่และพัฒนาความมั่นคงของหัวเข่าของคุณ ลองค้นหาข้อมูลของนักบำบัดด้วยวิธีเฟลเดนครายส์ที่อยู่ใกล้บ้านคุณจากอินเทอร์เน็ตหรือสอบถามแพทย์หรือนักกายภาพบำบัดว่ารู้จักนักบำบัดด้วยวิธีเฟลเดนครายส์ที่พอแนะนำให้กับคุณได้บ้างหรือไม่ [9]
    • ควรแน่ใจว่านักบำบัดด้วยวิธีเฟลเดนครายส์ของคุณได้รับการรับรองจากสมาคมอย่างถูกต้องก่อนเริ่มต้นบำบัดร่วมกัน
    • คุณสามารถค้นหารายชื่อของสมาคมและองค์กรเฟลเดนครายส์ในแต่ละประเทศได้จากหน้าเว็บเพจนี้: https://feldenkrais-method.org/en/iff/member-organizations/
  6. สวมรองเท้าผ้าใบที่มีขนาดพอดีเพื่อช่วยพยุงหัวเข่า. รองเท้าผ้าใบที่มีคุณภาพดีจะมีคุณสมบัติในการคลายความตึงที่บริเวณหัวเข่าและข้อเท้า ดังนั้นแม้จะไม่ได้เล่นกีฬา คุณก็สามารถเลือกสวมใส่รองเท้าผ้าใบได้เช่นเดียวกันเพื่อช่วยถนอมข้อเข่าของคุณ ลองไปที่ร้านค้าที่มีวางจำหน่ายรองเท้าผ้าใบและให้พนักงานช่วยเลือกรองเท้าสักคู่ที่สามารถช่วยแก้ไขข้อเข่าที่ผิดรูปจากภาวะขาฉิ่งของคุณให้กลับมาเป็นปกติได้ [10]
    • พนักงานขายอาจแนะนำรองเท้าวิ่งที่ออกแบบสำหรับแก้ไขภาวะเท้าล้มหรือ Overpronation (ลักษณะการหมุนของเท้าที่เอียงเข้าด้านในขณะเดินหรือวิ่ง)
  7. ขอคำปรึกษาเกี่ยวกับการใช้โลหะดามกระดูกขาหรือรองเท้าเพื่อสุขภาพเพื่อช่วยในการพยุงและแก้ไขท่าทางการเดิน. แพทย์หรือนักกายภาพบำบัดของคุณอาจแนะนำให้คุณใช้รองเท้าหรือโลหะดามกระดูกที่ออกแบบเป็นพิเศษในการจัดแนวของเท้าและหัวเข่าให้อยู่ในตำแหน่งที่ถูกต้อง อุปกรณ์เหล่านี้ยังมีคุณสมบัติในการดูดซับแรงกระแทกบางส่วนที่หัวเข่า จึงช่วยป้องกันไม่ให้อาการของภาวะขาฉิ่งของคุณแย่ลงกว่าเดิม ลองขอคำปรึกษาจากแพทย์หรือนักกายภาพบำบัดของคุณในการเลือกอุปกรณ์เสริมที่เหมาะสมสำหรับคุณ [11]
    • ผู้ที่มีอาการขาฉิ่งหลายคนมักประสบปัญหาที่ขาข้างใดข้างหนึ่งมีความยาวกว่าขาอีกข้าง ซึ่งรองเท้าเพื่อสุขภาพจะช่วยเสริมความยาวและปรับให้ขาทั้งสองยาวเท่าๆ กันเพื่อให้ผู้ป่วยสามารถเดินหรือวิ่งได้ง่ายยิ่งขึ้นโดยไม่ก่อให้เกิดการตึงที่บริเวณหัวเข่าและเท้า
    • นอกจากนี้การสวมรองเท้าเพื่อสุขภาพยังมีส่วนช่วยในการป้องกันไม่ให้เท้าของคุณเอียงเข้าด้านในในระหว่างการเดินได้อีกด้วย ซึ่งปัญหาในเรื่องของท่าทางการเดินดังกล่าวมักเกิดขึ้นได้บ่อยในผู้ที่มีอาการขาฉิ่ง
    • คุณยังสามารถเลือกใช้โลหะดามกระดูกขาแทนได้เช่นกันเพื่อช่วยในการพยุงบริเวณข้อเข่าด้านนอกของคุณ [12]
  8. นอกเหนือจากการออกกำลังกายด้วยวิธีที่เหมาะสมและปลอดภัยแล้ว คุณยังสามารถปกป้องและบำรุงหัวเข่าของคุณได้ง่ายๆ ด้วยการเลือกทานอาหารที่มีส่วนช่วยในการสร้างความแข็งแรงให้กับกระดูกและเนื้อเยื่อที่อยู่โดยรอบ ลองปรึกษาแพทย์หรือนักโภชนาการเกี่ยวกับประเภทอาหารที่เหมาะสมกับความผิดปกติของข้อเข่าของคุณ อย่างเช่น: [13]
    • ผักและผลไม้สีสันต่างๆ โดยเฉพาะอย่างยิ่งผักและผลไม้ที่อุดมไปด้วยสารต้านอนุมูลอิสระ เช่น ผลไม้ตระกูลเบอร์รี่และผักใบเขียว
    • อาหารที่อุดมไปด้วยกรดไขมันโอเมก้า-3 เช่น ปลา ถั่วและเมล็ดพืช และน้ำมันพืช
    • ลีนโปรตีน เช่น ปลา เนื้อสัตว์ปีกส่วนอก และถั่ว
    • เครื่องเทศที่มีฤทธิ์ต้านการอักเสบ เช่น ขมิ้นชันและขิง
    • อาหารที่อุดมไปด้วยแคลเซียมและวิตามินดี เช่น ผลิตภัณฑ์นม ไข่ ธัญพืชเสริม และปลากระป๋องแบบมีกระดูก
  9. เริ่มต้น ลดน้ำหนัก หากภาวะขาฉิ่งของคุณสัมพันธ์กับโรคอ้วน. น้ำหนักตัวที่มากจนเกินไปจะทำให้เกิดการตึงตัวที่หัวเข่าจนส่งผลให้อาการขาฉิ่งของคุณแย่ลง หากคุณมีความกังวลเกี่ยวกับน้ำหนักตัวและผลกระทบที่อาจเกิดขึ้นต่อขาของคุณ ลองปรึกษาแพทย์ นักกายภาพบำบัด หรือนักโภชนาการเพื่อวางแผนการลดน้ำหนักที่ปลอดภัยและดีต่อสุขภาพของคุณ [14]
    • แพทย์ของคุณอาจแนะนำให้คุณปรับเปลี่ยนพฤติกรรมการทานอาหารควบคู่ไปกับการออกกำลังกายเพิ่มขึ้นเพื่อให้คุณสามารถควบคุมน้ำหนักได้อย่างปลอดภัย
    โฆษณา
วิธีการ 2
วิธีการ 2 ของ 3:

เข้ารับการรักษาทางการแพทย์

ดาวน์โหลดบทความ
  1. ไปพบแพทย์เพื่อประเมินอาการหากภาวะขาฉิ่งของคุณเพิ่งเกิดขึ้นหรือมีอาการที่รุนแรง. สำหรับผู้ที่อยู่ในวัยรุ่นหรือวัยผู้ใหญ่ที่เพิ่งประสบกับภาวะขาฉิ่งเมื่อไม่นานมานี้ คุณควรไปพบแพทย์เพื่อรับการตรวจวินิจฉัยว่าภาวะขาฉิ่งที่เกิดขึ้นมีสาเหตุมาจากโรคพื้นเดิมต่างๆ หรือไม่ เช่น โรคข้อต่ออักเสบ ภาวะการขาดวิตามิน หรือการได้รับบาดเจ็บที่หัวเข่า [15] นอกจากนี้คุณยังควรไปพบแพทย์หากภาวะขาฉิ่งที่เกิดขึ้นเริ่มดูแย่ลงเรื่อยๆ จนส่งผลให้คุณรู้สึกเจ็บหรือเดินได้ไม่สะดวกนักหรือมีอาการอยู่ในขั้นรุนแรง (เช่น เกิดช่องว่างที่กว้างกว่า 3 นิ้ว (8 เซ็นติเมตร) ระหว่างข้อเท้าทั้งสองข้างเมื่อข้อเข่าชิดกัน) [16]
    • แพทย์ของคุณอาจทำการตรวจเลือดหรือการเอกซเรย์เพื่อตรวจหาโรคพื้นเดิมหรือโรคแทรกซ้อนที่สัมพันธ์กับอาการเข่าฉิ่งของคุณ
    • เมื่อพิจารณาจากสาเหตุและความรุนแรงของภาวะขาฉิ่งที่เกิดขึ้น แพทย์ของคุณอาจตัดสินใจส่งตัวคุณต่อไปยังศัลยแพทย์ออร์โธปิดิกส์ (แพทย์เฉพาะทางโรคกระดูกและข้อ) เพื่อทำการรักษาต่อไป
  2. หากภาวะขาฉิ่งของคุณมีสาเหตุเกิดจากโรคพื้นเดิมต่างๆ อย่างภาวะขาดวิตามินดีหรือโรคกระดูกอ่อน แพทย์ของคุณอาจแนะนำให้คุณทานยาหรืออาหารเสริมบางตัวเพื่อเป็นการรักษาโรคพื้นเดิมดังกล่าว [17] อย่าลืมแจ้งให้แพทย์ทราบหากคุณกำลังทานยาหรืออาหารเสริมอื่นๆ หรือมีปัญหาด้านสุขภาพใดๆ เพื่อให้แพทย์ของคุณสามารถสั่งจ่ายยาที่ปลอดภัยต่อคุณ
    • ยกตัวอย่างเช่น หากภาวะขาฉิ่งของคุณเกิดจากโรคกระดูกอ่อน แพทย์ของคุณอาจสั่งจ่ายอาหารเสริมที่ประกอบด้วยวิตามินดีและแคลเซียม [18]
    • หากภาวะขาฉิ่งของคุณสัมพันธ์กับโรคข้อเข่าเสื่อม แพทย์ของคุณอาจแนะนำให้คุณทานยาต้านการอักเสบหรืออาหารเสริมที่ช่วยบำรุงข้อต่อ เช่น กลูโคซามีน (Glucosamine) และคอนดรอยติน (Chondroitin) [19]
  3. หากภาวะขาฉิ่งของคุณมีอาการที่รุนแรงจนก่อให้เกิดอาการเจ็บหรือส่งผลให้คุณเดินได้ไม่สะดวกนัก การรักษาด้วยการผ่าตัดอาจเป็นตัวเลือกหนึ่งที่เหมาะสมสำหรับคุณ การผ่าตัดกระดูกเป็นรูปแบบการผ่าตัดที่ได้รับความนิยมมากที่สุดในการแก้ไขภาวะขาฉิ่งที่เกิดขึ้นในวัยรุ่นหรือวัยผู้ใหญ่ โดยกระบวนการผ่าตัดกระดูกจะประกอบด้วยการตัดเอาบางส่วนของกระดูกขาชิ้นหนึ่งที่อยู่รอบๆ หัวเข่าออกไปและปรับแต่งแนวกระดูกที่ผิดปกติให้อยู่ในแนวที่ถูกต้องอย่างถาวร [20] ลองปรึกษาแพทย์เกี่ยวกับการส่งตัวไปรักษาต่อกับศัลยแพทย์ออร์โธปิดิกส์หากแพทย์ของคุณแนะนำการรักษาด้วยการผ่าตัดกระดูก [21]
    • หากภาวะขาฉิ่งของคุณมีสาเหตุเกิดจากหรือสัมพันธ์กับโรคข้อต่ออักเสบอย่างรุนแรง แพทย์ของคุณอาจแนะนำให้คุณรักษาด้วยการผ่าตัดเปลี่ยนข้อเข่าเทียม [22]
    • การรักษาภาวะขาฉิ่งด้วยการผ่าตัดโดยส่วนใหญ่สามารถแก้ไขข้อเข่าที่ผิดรูปได้อย่างมีประสิทธิภาพ

    เคล็ดลับ: โดยส่วนใหญ่แล้วการผ่าตัดเพื่อจัดแนวของหัวเข่าด้วยวิธีต่างๆ เช่น การผ่าตัดกระดูกหรือการผ่าตัดเปลี่ยนข้อเข่าเทียม มักมีการใส่อุปกรณ์เสริม (เช่น แผ่นเหล็ก สกรู หรือข้อเทียม) ดามไว้ในข้อเข่า ดังนั้นอย่าลืมแจ้งให้แพทย์ทราบหากคุณมีอาการแพ้โลหะหรือวัสดุอื่นๆ เพื่อให้แพทย์สามารถเลือกอุปกรณ์ที่เหมาะสมกับคุณได้

    โฆษณา
วิธีการ 3
วิธีการ 3 ของ 3:

รับมือกับภาวะขาฉิ่งในเด็ก

ดาวน์โหลดบทความ
  1. สังเกตดูอาการไปก่อนสำหรับเด็กอายุต่ำกว่า 7 ปี. ภาวะขาฉิ่งเป็นอาการที่เกิดขึ้นได้ตามปกติในเด็กเล็กอันเนื่องมาจากพัฒนาการของกล้ามเนื้อขาตามวัย ซึ่งโดยส่วนใหญ่จะเกิดขึ้นในเด็กที่มีอายุระหว่าง 2-5 ปีและมักหายได้เองเมื่อเด็กมีอายุครบ 7 ปี คุณอาจพาเด็กไปพบแพทย์เพื่อปรึกษาเกี่ยวกับภาวะขาฉิ่งที่เกิดขึ้น แต่โดยส่วนใหญ่แล้วแพทย์ไม่จำเป็นต้องทำการรักษาใดๆ สำหรับเด็กในวัยนี้ [23]

    รู้หรือไม่? แม้ว่าภาวะขาฉิ่งจะไม่ได้เกิดขึ้นกับเด็กเล็กทั้งหมด แต่ภาวะดังกล่าวนับว่าเป็นเรื่องที่เกิดขึ้นได้ตามปกติในช่วงการเจริญเติบโตและพัฒนาการของเด็กในช่วงอายุระหว่าง 2-5 ปี

  2. ไปพบแพทย์เพื่อประเมินอาการหากภาวะขาฉิ่งยังคงไม่ดีขึ้นหลังเด็กอายุครบ 7 ปี. หากภาวะขาฉิ่งที่เกิดขึ้นในเด็กยังคงไม่หายไปหลังจากที่เด็กมีอายุครบ 7 ปีแล้ว คุณควรพาเด็กไปพบกุมารแพทย์เพื่อรับการตรวจหาว่ามีโรคพื้นเดิมอื่นๆ เกิดขึ้นหรือไม่ โดยส่วนใหญ่แล้วแพทย์จะเริ่มต้นทำการรักษาด้วยการตรวจร่างกาย และในบางกรณีแพทย์อาจทำการตรวจวินิจฉัยด้วยวิธีอื่นๆ เพิ่มเติมอย่างการเอกซเรย์หรือการตรวจเลือด [25]
    • นอกจากนี้คุณยังควรปรึกษาแพทย์หากเด็กเริ่มมีอาการขาฉิ่งหลังจากอายุ 7 ปีหรือหากภาวะขาฉิ่งที่เกิดขึ้นส่งผลกระทบต่างๆ ต่อเด็ก เช่น อาการเจ็บ การเดินลำบาก หรือปัญหาด้านบุคลิกภาพ
  3. รักษาโรคพื้นเดิมที่อาจเป็นสาเหตุของภาวะขาฉิ่ง. สาเหตุโดยทั่วไปของภาวะขาฉิ่งในเด็ก ได้แก่ ภาวะขาดวิตามิน (เช่น โรคกระดูกอ่อน) และการบาดเจ็บที่หัวเข่า [26] หากแพทย์สามารถวินิจฉัยและทำการรักษาโรคพื้นเดิมที่เป็นสาเหตุของภาวะขาฉิ่งเรื้อรังของเด็กได้ กระดูกที่ผิดรูปอาจค่อยๆ เริ่มแก้ไขจนอยู่ในแนวที่ถูกต้องและส่งผลให้ภาวะขาฉิ่งหายดีเองได้ในที่สุด
    • แพทย์ของเด็กอาจแนะนำวิธีการรักษาด้วยการทานยาหรืออาหารเสริมสำหรับเด็กของคุณโดยพิจารณาจากสาเหตุของการเกิดภาวะขาฉิ่ง
  4. ปรึกษานักกายภาพบำบัดในเรื่องการสร้างความแข็งแรงให้กับข้อเข่าและการปรับปรุงท่าทางการเดินให้กับเด็ก. หากภาวะเข่าฉิ่งที่เกิดขึ้นกับเด็กส่งผลให้เกิดอาการเจ็บหรือปัญหาด้านการเดิน คุณสามารถปรึกษานักกายภาพบำบัดเพื่อทำการวางแผนรักษาที่เหมาะสม ลองขอคำแนะนำจากกุมารแพทย์ของเด็กเกี่ยวกับนักกายภาพบำบัดที่มีประสบการณ์ด้านการรักษาภาวะขาฉิ่งในเด็ก [27]
    • การทำกายภาพบำบัดเป็นส่วนสำคัญอย่างยิ่งเมื่อเด็กจำเป็นต้องเข้ารับการผ่าตัดเพื่อแก้ไขข้อเข่าที่ผิดรูปจากภาวะขาฉิ่ง ซึ่งนักกายภาพบำบัดจะทำหน้าที่ให้คำแนะนำสำหรับการออกกำลังกายเพื่อฟื้นฟูสมรรถภาพทางกายและพิสัยการเคลื่อนไหวของข้อต่อหลังการผ่าตัด
  5. มองหาโลหะดามกระดูกหรือรองเท้าที่ออกแบบพิเศษให้กับเด็กหากแพทย์แนะนำ. หากภาวะขาฉิ่งของเด็กยังคงไม่หายไปหลังจากที่เด็กมีอายุครบ 7 ปีแล้ว คุณอาจลองพิจารณาให้เด็กใช้กายอุปกรณ์เสริมเพิ่มเติม โดยกุมารแพทย์หรือนักกายภาพบำบัดของเด็กอาจแนะนำรองเท้าหรือพื้นรองเท้าที่ออกแบบพิเศษเพื่อช่วยในการแก้ไขท่าทางการเดินของเด็ก รวมถึงสั่งจ่ายโลหะดามกระดูกสำหรับให้เด็กใส่ในระหว่างนอนหลับเพื่อเสริมสร้างความแข็งแรงให้ข้อเข่าและจัดแนวของหัวเข่าให้เข้าที่ [28]
    • ลองขอให้แพทย์ นักกายภาพบำบัด หรือศัลยแพทย์ออร์โธปิดิกส์แสดงวิธีการสวมใส่รองเท้าหรือโลหะดามกระดูกอย่างถูกต้อง
  6. ขอคำแนะนำเกี่ยวกับการผ่าตัดชักนำการเจริญเติบโตของกระดูกหากการรักษาด้วยวิธีอื่นๆ ไม่ได้ผล. แม้ว่าการผ่าตัดจะไม่ใช่วิธีหลักๆ ที่มักใช้ในรักษาภาวะขาฉิ่งในเด็ก แต่แพทย์อาจพิจารณาการผ่าตัดหากภาวะขาฉิ่งของเด็กมีอาการที่รุนแรงหรือไม่ตอบสนองต่อการรักษาด้วยวิธีอื่นๆ ซึ่งรูปแบบการผ่าตัดที่เป็นที่นิยมสำหรับการแก้ไขภาวะขาฉิ่งที่เกิดขึ้นในเด็กเรียกว่า “การผ่าตัดชักนำการเจริญเติบโตของกระดูก” ลองปรึกษาแพทย์เพื่อพิจารณาว่าการผ่าตัดรูปแบบดังกล่าวเหมาะสมกับอาการของเด็กหรือไม่ [29]
    • โดยทั่วไปแล้วแพทย์จะเริ่มดำเนินการรักษาด้วยการผ่าตัดชักนำการเจริญเติบโตของกระดูกเมื่อเด็กเริ่มเข้าสู่ช่วงอายุวัยแรกรุ่น (อายุระหว่าง 11-13 ปี)
    • ในกระบวนการผ่าตัดชักนำการเจริญเติบโตของกระดูก แพทย์จะทำการใส่อุปกรณ์โลหะที่ข้อเข่าด้านในเพื่อปรับแต่งแนวกระดูกที่ผิดปกติให้อยู่ในแนวที่ถูกต้องในระหว่างที่กระดูกเจริญเติบโตขึ้น
    • หลังการผ่าตัด แพทย์อาจจำเป็นต้องให้เด็กใช้ไม้ค้ำยันรักแร้หรืออุปกรณ์ช่วยเดินไปสักพักหนึ่ง ซึ่งโดยส่วนใหญ่แล้วเด็กจะสามารถกลับไปทำกิจกรรมตามปกติได้หลังเวลาผ่านไป 6 เดือน
    โฆษณา

เกี่ยวกับวิกิฮาวนี้

มีการเข้าถึงหน้านี้ 7,634 ครั้ง

บทความนี้เป็นประโยชน์กับคุณไหม

โฆษณา