ดาวน์โหลดบทความ ดาวน์โหลดบทความ

ถ้าคุณเป็นโรคไตเรื้อรัง (CKD) คุณจะต้องกำหนดอาหารสำหรับโรคไตที่จะช่วยฟื้นฟูการทำงานของไตที่เสื่อมสภาพตามธรรมชาติ โรคไตรักษาไม่หาย แต่คุณสามารถชะลอพัฒนาการของอาการได้ด้วยการเปลี่ยนมารับประทานอาหารที่เหมาะสม แค่ต้องจำไว้ว่าบางคนอาจจะต้องจำกัดปริมาณโพแทสเซียมและฟอสฟอรัสด้วย แค่เวลาและความมุ่งมั่นเพียงเล็กน้อย คุณก็สามารถหาอาหารที่ตอบสนองความต้องการของคุณได้แล้ว แต่จำไว้ว่าไม่มีอาหารแบบใดแบบหนึ่งที่เหมาะกับทุกคน เพราะฉะนั้นคุณจึงต้องปรึกษาแพทย์และนักกำหนดอาหารเพื่อหาอาหารที่เหมาะกับคุณ

วิธีการ 1
วิธีการ 1 ของ 3:

รับประทานอาหารให้เหมาะสม

ดาวน์โหลดบทความ
  1. ถ้าคุณเป็นโรคไต คุณจะต้องระมัดระวังเรื่องการรับประทานผักมากเป็นพิเศษ เพราะแม้ว่าผักจะเป็นส่วนสำคัญของการรับประทานอาหารที่มีประโยชน์ แต่ไม่ใช่ว่าผักทุกชนิดจะปลอดภัยสำหรับคุณหากไตของคุณไม่แข็งแรง โดยทั่วไปถ้าไตของคุณมีปัญหา คุณควรเลี่ยงผักที่มีโพแทสเซียมสูง [1]
    • ผักที่ดีกับคุณได้แก่บร็อกโคลี่ กะหล่ำปลี กะหล่ำดอก แคร์รอต มะเขือม่วง ผักกาดหอม แตงกวา ขึ้นฉ่าย หอมหัวใหญ่ พริกหวาน ซูกินี และสควอชเหลือง
    • คุณควรเลี่ยงมันฝรั่ง มะเขือเทศ อะโวคาโด หน่อไม้ฝรั่ง ฟักทอง ฟักทองเทศ และผักปวยเล้งปรุงสุก เพราะมีโพแทสเซียมสูง
    • ถ้าคุณต้องจำกัดโพแทสเซียม คุณต้องเลี่ยงผักที่มีโพแทสเซียมสูง เช่น มันฝรั่ง แต่ให้รับประทานผักที่มีโพแทสเซียมต่ำแทน เช่น แตงกวาและแรดิช
  2. นอกจากผักแล้วคุณก็ควรระมัดระวังผลไม้ที่มีโพแทสเซียมสูงด้วย เพราะแม้ว่าผลไม้จะถือเป็นองค์ประกอบสำคัญของอาหารสำหรับคนที่เป็นโรคไต แต่คุณต้องระมัดระวังด้วยว่าคุณเลือกผลไม้ชนิดไหน [2]
    • ผลไม้ที่มีโพแทสเซียมต่ำได้แก่ องุ่น เชอร์รี แอปเปิล ลูกแพร์ เบอร์รี ลูกพลัม สับปะรด ส้มเขียวหวาน และแตงโม
    • พยายามเลี่ยงส้มและผลิตภัณฑ์จากส้มอย่างน้ำส้ม และควรเลี่ยงกีวี เนคทารีน ลูกพรุน แคนตาลูป ฮันนีดิว ลูกเกด และผลไม้แห้งโดยทั่วไป
    • ถ้าคุณต้องจำกัดปริมาณโพแทสเซียม คุณต้องเลือกผลไม้ที่มีโพแทสเซียมต่ำ เช่น บลูเบอร์รีและราสป์เบอร์รี
  3. สอบถามแพทย์เรื่องปริมาณโปรตีนที่คุณต้องได้รับ. โปรตีนเป็นส่วนสำคัญของอาหารก็จริง แต่คุณต้องระมัดระวังเรื่องปริมาณโปรตีนหากคุณเป็นโรคไต เพราะถ้าคุณได้รับโปรตีนมากไปก็อาจจะสร้างความตึงเครียดให้กับไตได้ แต่ถ้าได้น้อยเกินไปก็จะทำให้คุณรู้สึกเหนื่อย เนื่องจากโปรตีนสร้างของเสียในร่างกาย และไตก็ทำหน้าที่กำจัดของเสีย ถ้าเรามีโปรตีนมากเกินไปก็อาจจะเป็นการสร้างแรงกดดันให้ไตโดยไม่จำเป็น แพทย์อาจจะแนะนำให้คุณรับประทานโปรตีนแต่น้อย แต่ช่วงที่ฟอกไตคุณอาจจะต้องเพิ่มปริมาณการรับประทานโปรตีนชั่วคราว [3] [4]
    • หาว่าคุณต้องได้รับโปรตีนไม่เกินวันละเท่าไหร่และปฏิบัติตามแนวทางนั้น
    • จำกัดอาหารที่มีโปรตีนสูงที่วันละ 140 - 200 กรัมหรือน้อยกว่านั้นหากนักกำหนดอาหารบอกคุณ อาหารที่มีโปรตีนสูงได้แก่เนื้อสัตว์ สัตว์ปีก อาหารทะเล และไข่
    • ระวังโปรตีนที่อยู่ในอาหารอื่นๆ ด้วย จำไว้ว่าในนม ชีส โยเกิร์ต พาสต้า ถั่ว ถั่วเปลือกแข็ง ขนมปัง และซีเรียลเองก็มีโปรตีนเช่นกัน คุณต้องติดตามปริมาณโปรตีนทั้งหมดที่คุณได้รับในแต่ละวัน
    • มื้อเย็นให้ลองรับประทานโปรตีนชิ้นเล็กลง โดยให้จานอาหารเต็มไปด้วยผลไม้ ผัก และคาร์โบไฮเดรตที่ดีต่อสุขภาพ และปริมาณโปรตีนก็ไม่ควรเกิน 85 กรัม หรือประมาณขนาดกล่องไพ่
    • อาหารโปรตีนสูงอาจสำคัญชั่วคราวในช่วงฟอกไต เพราะฉะนั้นให้ปรึกษาแพทย์ว่าคุณกำลังจะต้องเข้ารับการฟอกไตหรือจะต้องทำในอนาคตหรือไม่ ถ้าเป็นอย่างนั้นคุณจะต้องรับประทานอาหารที่มีโปรตีนสูง แพทย์หลายคนแนะนำว่าไข่หรือไข่ขาวเป็นแหล่งโปรตีนที่ดีในช่วงฟอกไต
  4. เมื่อเป็นเรื่องของการชะลอหรือฟื้นฟูไตที่ถูกทำลาย วิธีการปรุงอาหารถือเป็นเรื่องสำคัญมาก เรียนรู้วิธีการปรุงอาหารที่จะทำให้อาหารของคุณดีต่อสุขภาพมากขึ้นโดยรวม [5]
    • ใช้กระทะเทฟลอนในการทำอาหารเพื่อตัดความจำเป็นที่จะต้องใช้เนยและน้ำมันทำกับข้าว ซึ่งจะเพิ่มแคลอรีและไขมันจำนวนมากลงในอาหารโดยไม่จำเป็น ใช้ไขมันที่ดีต่อหัวใจ เช่น น้ำมันมะกอกเวลาทำกับข้าวแทนเนยหรือน้ำมันพืช
    • เวลารับประทาน ให้เล็มไขมันส่วนเกินออกจากเนื้อ และควรลอกหนังออกจากเนื้อสัตว์ปีกด้วย
    • เวลาเตรียมอาหาร พยายามใช้วิธีการอบ ผัด ย่าง หรือต้มเข้าไว้
    โฆษณา
วิธีการ 2
วิธีการ 2 ของ 3:

หลีกเลี่ยงอาหารบางชนิด

ดาวน์โหลดบทความ
  1. โซเดียมหรือที่รู้จักกันทั่วไปว่าเกลืออาจเป็นอันตรายกับคุณได้หากคุณเป็นโรคไตวาย คุณต้องลดปริมาณโซเดียมตลอดทั้งวัน การรับประทานเกลือน้อยลงจะทำให้เกิดการกักเก็บของเหลวในร่างกายน้อยลง และยังช่วยควบคุมความดันโลหิต ซึ่งจะช่วยให้โรคไตดีขึัน [6]
    • ซื้ออาหารที่มีฉลากบอกว่า "ไม่เติมเกลือ" "ปราศจากโซเดียม" หรือ "โซเดียมต่ำ"
    • อ่านฉลากผลิตภัณฑ์เพื่อดูว่ามีโซเดียมเท่าไหร่ และให้เลือกอาหารที่มีโซเดียมน้อยกว่า 100 มก. ต่อหน่วยบริโภค
    • อย่าใช้น้ำปลาหรือเกลือเวลาทำกับข้าวหรือเติมลงไปในอาหาร ถ้าคุณมีน้ำปลาพริกหรือกระปุกเกลือวางอยู่บนโต๊ะ ให้เอาออกจากโต๊ะไปเลยจะได้ไม่กระตุ้นให้คุณอยากเหยาะลงไปในอาหารในแต่ละมื้อ และเลี่ยงสารให้ความเค็มด้วยยกเว้นว่าแพทย์หรือนักกำหนดอาหารจะบอกว่าสามารถรับประทานได้
    • เลี่ยงอาหารรสเค็ม เช่น เพร็ตเซล มันฝรั่งแผ่น ป๊อปคอร์น เบคอน เนื้อสัตว์แปรรูป ฮอตดอก เนื้อสัตว์ที่ผ่านการหมัก เนื้อสัตว์กระป๋อง และปลากระป๋อง
    • เลี่ยงอาหารที่มีส่วนผสมของผงชูรส
    • รับประทานอาหารนอกบ้านให้น้อยลง เพราะอาหารในร้านมักจะมีโซเดียมมากกว่าอาหารที่คุณเตรียมเองที่บ้าน
  2. ถ้าคุณเป็นโรคไตเรื้อรัง ระดับฟอสฟอรัสในเลือดของคุณควรจะต่ำ ผลิตภัณฑ์จากนม เช่น นมและชีส โดยทั่วไปมักจะมีฟอสฟอรัสสูง คุณจึงควรรับประทานผลิตภัณฑ์นมให้น้อยลงหากคุณเป็นโรคไตเรื้อรัง [7]
    • เมื่อเป็นเรื่องของผลิตภัณฑ์นมแล้ว ให้ปฏิบัติตามแผนการรับประทานอาหารและอย่ารับประทานเกินจำนวนต่อหน่วยบริโภคตามที่กำหนด และคุณก็อาจจะเลือกผลิตภัณฑ์นมที่มีฟอสฟอรัสต่ำแทน เช่น ครีมชีส ริคอตต้าชีส มาร์การีน เนย วิปครีม เชอร์เบต บรีชีส และวิปทอปปิ้งที่ไม่มีนมแทน
    • อย่างที่คุณทราบว่าคุณต้องการแคลเซียมเพื่อให้กระดูกแข็งแรง คุณจึงต้องปรึกษาแพทย์เรื่องผลิตภัณฑ์เสริมแคลเซียม เพราะคนที่เป็นโรคไตเรื้อรังหลายคนต้องรับประทานผลิตภัณฑ์เสริมแคลเซียมเพื่อรักษาสุขภาพและความเป็นอยู่ที่ดี
    • นอกจากนี้คุณก็ควรจำกัดปริมาณถั่วเปลือกแข็ง เนยถั่ว เมล็ดพืช ถั่วเลนทิล ถั่วมีฝัก เครื่องในสัตว์ ปลาซาร์ดีน และเนื้อสัตว์ที่ผ่านการหมัก เช่น ไส้กรอก โบโลญญา และฮอตดอก
    • หลีกเลี่ยงน้ำอัดลมและน้ำหวานที่มีฟอสเฟตหรือกรดฟอสฟอริกเป็นส่วนประกอบ
    • เลี่ยงขนมปังและซีเรียลที่ทำจากรำข้าวสาลี
  3. ถ้าคุณเป็นโรคไต คุณควรเลี่ยงของทอดเพราะของทอดจะทำให้คุณได้รับแคลอรีและไขมันในปริมาณมากโดยไม่จำเป็น [8]
    • เวลาที่ออกไปรับประทานอาหารนอกบ้าน ให้เลี่ยงของทอดที่อยู่ในเมนู ถามพนักงานว่าสามารถเปลี่ยนวิธีการปรุงอาหารได้ไหม เช่น ลองดูว่าสามารถเปลี่ยนจากปลากระพงทอดน้ำปลาเป็นปลากระพงนึ่งน้ำปลาแทนได้ไหม
    • ถ้าเป็นการรับประทานอาหารร่วมกันในครอบครัว ให้เลี่ยงของทอดไปเลย เลือกรับประทานผักและผลไม้แทนไก่ทอด
    • เวลาทำอาหารที่บ้าน อย่าใช้วิธีการทอด ถ้าคุณมีเครื่องทอดแบบน้ำมันท่วมๆ ยกให้คนอื่นจะดีกว่า
    โฆษณา
วิธีการ 3
วิธีการ 3 ของ 3:

จำกัดปริมาณของเหลว

ดาวน์โหลดบทความ
  1. ปรึกษาแพทย์ว่าคุณสามารถดื่มแอลกอฮอล์ในปริมาณที่พอเหมาะได้หรือไม่. แอลกอฮอล์อาจเป็นอันตรายต่อไตอย่างมาก ถ้าไตของคุณทำงานไม่ปกติอยู่แล้ว คุณก็ไม่ควรดื่มแอลกอฮอล์มากเกินไป ถ้าโรคไตของคุณร้ายแรงในระดับหนึ่ง คุณก็อาจจะดื่มแอลกอฮอล์ไม่ได้เลย แต่คนที่เป็นโรคไตบางคนก็สามารถดื่มสัก 1 ดริงค์ได้ตามโอกาส แต่คุณควรปรึกษาแพทย์ก่อนเพื่อให้ได้ปริมาณเป๊ะๆ ว่าแอลกอฮอล์ปริมาณแค่ไหนที่ปลอดภัยสำหรับคุณ [9]
    • ถ้าแพทย์บอกว่าคุณสามารถดื่มได้ ก็อย่าดื่มเกินวันละ 1 ดริงค์และให้นับรวมเป็นปริมาณของเหลวที่คุณรับประทานในวันนั้นด้วย
    • ขอร้องให้เพื่อนๆ และคนในครอบครัวอย่าดื่มต่อหน้าคุณในงานสังคมต่างๆ ถ้าคุณรู้ว่างานนั้นมีการดื่มกันด้วย ให้เลี่ยงงานนั้นไปเลยหรือขอร้องให้เพื่อนหรือคนในครอบครัวไม่ดื่มเป็นเพื่อนคุณ
    • ถ้าคุณมีปัญหากับการเลิกเหล้า ให้ปรึกษานักบำบัดเรื่องการเลิกเหล้า และคุณอาจจะเข้าร่วมกลุ่มสนับสนุนต่างๆ เช่น ผู้ติดสุรานิรนามถ้าคุณคิดว่าคุณมีปัญหาเรื่องเหล้า
  2. คุณอาจจะไม่ต้องจำกัดปริมาณของเหลวตั้งแต่เนิ่นๆ แต่หลายคนที่เป็นโรคไตในระยะหลังๆ จะต้องลดการบริโภคของเหลวลง เพราะขณะที่คุณฟอกไตของเหลวจะก่อตัวในร่างกายระหว่างฟอก แพทย์อาจแนะนำให้คุณบริโภคของเหลวตลอดทั้งวันในปริมาณที่จำกัด คุณจึงต้องหาวิธีที่จะจัดการกับความกระหายน้ำของตัวเองโดยไม่ต้องดื่มน้ำมากเกินไป [10]
    • ระหว่างมื้ออาหารให้ดื่มน้ำจากแก้วใบเล็กๆ ถ้าคุณไปร้านอาหาร พอดื่มน้ำเสร็จแล้วให้คว่ำแก้วไว้ พนักงานเสิร์ฟจะรู้ว่าคุณไม่ต้องการเติมน้ำ ทำให้คุณไม่ถูกกระตุ้นให้ดื่มน้ำมากจนเกินไป
    • คุณอาจจะลองแช่น้ำผลไม้ไว้ในถาดน้ำแข็ง แล้วดูดน้ำผลไม้แช่แข็งแบบเดียวกับไอศกรีม ซึ่งจะช่วยบรรเทาอาการกระหายน้ำอย่างช้าๆ แค่อย่าลืมนับไอศกรีมน้ำผลไม้พวกนี้เข้าไปในปริมาณของเหลวทั้งหมดของวันนั้นด้วย
    • ถ้าคุณต้องจำกัดปริมาณของเหลว ลองใช้เหยือกน้ำในการเช็กปริมาณของเหลวที่คุณสามารถดื่มได้ในแต่ละวัน เติมน้ำลงไปในเหยือกและดื่มน้ำจากเหยือกนี้เท่านั้นตลอดทั้งวัน ถ้าคุณดื่มอย่างอื่นที่ถือว่าเป็นของเหลวด้วย เช่น กาแฟ นม เยลลี่ หรือไอศกรีม ก็ให้เทน้ำในปริมาณเท่ากับของเหลวที่คุณบริโภคเข้าไปออก และอย่าลืมนับของเหลวจากผลไม้กระป๋อง ผักกระป๋อง ซุป และของเหลวจากแหล่งอื่นๆ ด้วย
  3. โดยทั่วไปน้ำอัดลมเป็นสิ่งที่ควรหลีกเลี่ยงอยู่แล้วเพราะมีพลังงานกับน้ำตาลที่ไม่จำเป็นสูงมาก แต่ถ้าคุณอยากจะดื่มน้ำอัดลมบ้างเป็นครั้งคราว ให้เลือกน้ำอัดลมที่มีสีอ่อน น้ำอัดลมรสเลมอน เช่น สไปรท์ นั้นดีกว่าน้ำอัดลมสีเข้มอย่างโค้กกับเป็ปซี่ [11]
    • คุณต้องเลี่ยงน้ำอัดลมและน้ำหวานที่มีฟอสเฟตและกรดฟอสฟอริก น้ำอัดลมเองก็มีโซเดียมสูง และคุณก็ต้องลดปริมาณโซเดียม/เกลือด้วย
  4. น้ำส้มมีโพแทสเซียมสูง เพราะฉะนั้นถ้าคุณเป็นโรคไตเรื้อรังคุณก็ไม่ควรดื่มน้ำส้ม ลองเปลี่ยนจากน้ำส้มมาเป็นน้ำองุ่น น้ำแอปเปิล หรือน้ำแครนเบอร์รีแทน [12]
    โฆษณา

เคล็ดลับ

  • คิดบวกเข้าไว้ เพราะความเครียดจะทำให้โรคไตยิ่งแย่ลง
  • พยายามออกกำลังกายเป็นประจำด้วย เพราะการเคลื่อนไหวร่างกายอย่างสม่ำเสมอช่วยชะลอพัฒนาการของโรคไตได้ และคุณก็ควรปรับเปลี่ยนวิถีชีวิตด้วย เช่น เลิกสูบบุหรี่ เพื่อประคับประคองโรคไตไว้
  • อย่าอดอาหารบางมื้อหรือไม่รับประทานอะไรเลยเป็นเวลาหลายชั่วโมงเกินไป ถ้าคุณไม่หิว ก็พยายามรับประทาน 4 หรือ 5 มื้อเล็กๆ แทนการรับประทาน 1 หรือ 2 มื้อใหญ่ๆ
  • อย่ารับประทานวิตามินหรือแร่ธาตุ อาหารเสริม หรือผลิตภัณฑ์สมุนไพรโดยไม่ปรึกษาแพทย์ก่อน
  • จำไว้ว่าอาหารของคุณอาจจะต้องเปลี่ยนไปตามการเปลี่ยนแปลงของโรค เพราะฉะนั้นคุณต้องไปพบแพทย์เพื่อเข้ารับการตรวจอย่างสม่ำเสมอ และปรึกษานักกำหนดอาหารเพื่อปรับเปลี่ยนอาหารตามความจำเป็น
  • การเปลี่ยนรูปแบบการรับประทานอาหารอาจเป็นเรื่องยาก เพราะคุณอาจจะต้องเลิกรับประทานของชอบหลายอย่าง แต่คุณจำเป็นต้องเปลี่ยนตามที่แนะนำเพื่อที่คุณจะได้มีสุขภาพดีได้ตราบนานเท่านาน
โฆษณา

คำเตือน

  • ถ้าคุณไม่ลดปริมาณโซเดียม การทำงานของไตจะไม่ดีขึ้นเลย
โฆษณา

เกี่ยวกับวิกิฮาวนี้

มีการเข้าถึงหน้านี้ 1,965 ครั้ง

บทความนี้เป็นประโยชน์กับคุณไหม

โฆษณา