PDF download ดาวน์โหลดบทความ PDF download ดาวน์โหลดบทความ

คุณอาจเคยถูกสอนมาว่าให้เคารพ มีเมตตา และคอยช่วยเหลือผู้อื่น อย่างไรก็ดี บางครั้งผู้อื่นกลับใช้ความใจกว้างและความใจดีของคุณ ในการเอาเปรียบคุณเอง และมักจะเรียกร้องจากคุณจนเกินงาม หรือขาดความยุติธรรมเสมอ ทั้งนี้ คนประเภทดังกล่าวอาจจะชอบขอความช่วยเหลือจากคุณซ้ำแล้วซ้ำเล่า โดยไม่เคยตอบแทนกลับคืน หรือให้เกียรติคุณบ้างเลยก็ได้ ดังนั้น หากมีการกระทำเกินเลยจากขอบเขตของคุณเช่นนี้ มันถือเป็นเรื่องท้าทายที่คุณจะต้องพูดอะไรออกมาเพื่อตัวเองบ้าง จากนั้น คุณจึงจะสามารถตีกรอบของการให้และการรับอย่างเหมาะสมได้ต่อไป หากคุณรู้สึกว่า มีใครในชีวิตที่เอาเปรียบหรือเห็นคุณเป็นของตายแล้วล่ะก็ คุณก็ควรรู้จักปกป้องตัวเองและตีกรอบในความสัมพันธ์เสียใหม่

วิธีการ 1
วิธีการ 1 ของ 3:

ทบทวนปัญหา

PDF download ดาวน์โหลดบทความ
  1. มันเป็นเรื่องสำคัญที่คุณจะต้องยอมรับกับตัวเองว่า คุณกำลังถูกเอาเปรียบ เพราะคุณจะไม่สามารถจัดการกับปัญหานี้ได้ จนกว่าคุณจะยอมรับว่า มันกำลังเกิดขึ้นจริง ผลการศึกษาได้พบว่า การแสดงออกและการวิเคราะห์อารมณ์ในทางลบของตัวเอง มีความเชื่อมโยงกับการมีสุขภาพจิตและสุขภาพกายที่ดีในหลายๆ แง่มุม ทั้งนี้ การเก็บกดความรู้สึกของตัวเองไว้ มีแต่จะทำให้มันเลวร้ายลงในระยะยาว [1]
    • การทำเรื่องดังกล่าวอาจจะยากสำหรับคุณ หากคุณเคยชินกับการถูกสอนว่า ให้ทำตัว “ดี” ในรูปแบบของการเก็บงำความรู้สึก ซึ่งเท่ากับเป็นการเปิดโอกาสให้ตัวเอง “ถูกเอาเปรียบ” และยังเป็นการปลูกฝังคุณว่า คุณไม่มีสิทธิ์ที่จะพูดเพื่อตัวเอง
    • ตัวอย่างเช่น คำพูดที่ว่า “จงทำดีโดยไม่หวังสิ่งตอบแทน” ถึงแม้ว่าโดยทั่วไปแล้วมันจะเป็นคำสอนที่ดี ในการที่จะมีน้ำใจต่อผู้อื่น โดยไม่ควรหวังรางวัลตอบแทนไปเสียทุกครั้ง แต่มันก็ไม่ได้หมายความว่า คุณควรให้คนที่ไม่รู้จักรับผิดชอบเรื่องเงินๆ ทองๆ มายืมเงินของคุณไป
    • โดยเฉพาะหากคุณเป็นผู้หญิง ซึ่งโดยทั่วไปเป็นเพศที่มักพยายามทำตัวดีกับผู้อื่น และหากพูดสิ่งใดออกมาเพื่อตนเอง ก็จะถูกมองว่าเป็นการกระทำที่ไม่ดีงาม
    • จำไว้ว่า “บางครั้ง เราอาจจะถูกเห็นเป็นของตาย” ตัวอย่างเช่น ผู้ปกครองที่มักจะรู้สึกว่าตนเองเป็นของตายสำหรับลูกๆ เพราะพัฒนาการของเด็กในแต่ละช่วงของชีวิต กว่าที่พวกเขาจะเติบโตขึ้นมา ในบางช่วงของกระบวนการดังกล่าว ย่อมอาจดูเหมือนพวกเขาเอาตนเองเป็นจุดศูนย์กลาง แต่ก็เป็นไปตามธรรมชาติและจำเป็นต่อการเติบโตทางอารมณ์ [2]
    • มีความแตกต่างระหว่างการ ตระหนัก ในความรู้สึกของตัวเอง กับการ หมกมุ่น อยู่กับมัน เพราะการโฟกัสอยู่กับความรู้สึกในทางลบ โดยไม่วิเคราะห์หรือทำบางอย่างเพื่อแก้ไขมัน อาจส่งผลให้คุณรู้สึกแย่กว่าเดิมก็ได้ [3]
  2. คุณมีสิทธิ์ที่จะได้รับความเคารพนับถือ.ความกดดันทางสังคมและขนบธรรมเนียมวัฒนธรรม อาจจะยิ่งส่งผลให้คุณเชื่อว่า การพูดว่า ”ไม่” เวลาที่ผู้อื่นร้องขอสิ่งใด จะถือเป็นความหยาบคาย คุณยังอาจจะถูกปลูกฝังมาให้รู้สึกว่า หน้าที่ของคุณมีค่าน้อยกว่าหน้าที่ของผู้อื่น และไม่คู่ควรกับการได้รับการกล่าวถึง (นี่เป็นเรื่องที่พบได้มากในหมู่ผู้หญิง โดยเฉพาะในบริบทของสถาบันครอบครัว) [4] สิ่งเหล่านี้อาจนำไปสู่ความรู้สึกว่า คุณกำลังถูกเอาเปรียบ ทั้งนี้ ทุกคนต่างมีสิทธิ์ที่จะได้รับความเคารพนับถือและเห็นคุณค่า มันไม่ใช่เรื่องผิด ในการที่คุณจะต้องการให้ผู้อื่นปฏิบัติต่อคุณเช่นนั้น
    • มันเป็นเรื่องธรรมชาติที่จะรู้สึกโกรธหรือเจ็บปวด และมันก็ง่ายที่จะปล่อยให้ความรู้สึกนั้นเข้าครอบงำตัวเรา คุณจึงควรที่จะโฟกัสไปที่การพยายามทำทุกสิ่งอย่างมีหลักการ แทนที่จะระเบิดความโกรธออกมาใส่ผู้อื่น
  3. การที่จะแก้ไขความรู้สึกที่ว่า ตัวเองถูกเอาเปรียบ คุณจำเป็นต้องทบทวนสถานการณ์ที่เกิดขึ้น ซึ่งส่งผลให้คุณรู้สึกเช่นนั้น โดยจดบันทึกพฤติกรรมหรือเหตุการณ์บางเหตุการณ์ซึ่งทำให้คุณรู้สึกถูกมองข้ามหัว ซึ่งคุณอาจจะพบว่า มีบางเรื่องที่คุณสามารถจะขอให้ผู้อื่นเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมได้ และคุณก็ยังอาจจะพบว่า บางครั้งมันขึ้นอยู่กับวิธีการสื่อสารของคุณด้วย และคุณจำเป็นต้องแก้ไขมันเอง ตัวอย่างเช่น คุณอาจจะต้องฝึกฝนในการสื่อสารให้ผู้อื่นรู้ถึงขอบเขตที่คุณวางไว้ ให้ชัดเจนกว่าเดิม [5]
    • ผลการวิจัยพบว่า ความรู้สึกของการถูกมองข้ามหัว เป็นสาเหตุหลักที่ทำให้พนักงานตามบริษัทลาออกจากงาน [6] ทั้งนี้ ลูกจ้างประมาณ 81% กล่าวว่า พวกเขารู้สึกมีแรงจูงใจในการทํางานมากขึ้น เวลาที่รู้สึกได้ว่าเจ้านายเห็นคุณค่าในงานของพวกเขา [7]
    • ผลการศึกษายังพบด้วยว่า คนที่มีความรู้สึกเหงาและอ้างว้างมักมีแนวโน้มที่จะยอมรับการถูกปฏิบัติอย่างไม่ยุติธรรม และยอมให้คนอื่นเอาเปรียบตนเอง [8] ดังนั้น หากคุณรู้สึกว่าตัวเองถูกเอาเปรียบหรือเห็นเป็นของตาย ก็อาจจะเป็นเพราะคุณกลัวว่า การปฏิเสธความต้องการของคนอื่น อาจจะส่งผลให้คุณยิ่งโดดเดี่ยวกว่าเดิม
    • จงระวังรูปแบบความคิดในเชิง "อ่านใจผู้อื่น" ของตัวเอง หรือการคาดเดาแรงจูงใจของผู้อื่นด้วย เพราะหากคุณสันนิษฐานเอาเองว่า คุณรู้สาเหตุที่ผู้อื่นกระทำสิ่งใดสิ่งหนึ่ง มักจะมีแนวโน้มในการคาดเดาผิด ซึ่งจะส่งผลให้คุณตัดสินใจผิดพลาดและไม่ยุติธรรม
      • ตัวอย่างเช่น คุณอาจรู้สึกว่า คุณกำลังถูกเห็นเป็นของตาย เพราะคุณมักจะเสนอตัวให้เพื่อนร่วมงานได้ติดรถคุณ เวลาไปไหนมาไหนด้วยกันเสมอ แต่พวกเขาไม่เคยตอบแทนคุณเลยตอนที่รถของคุณเสีย ในกรณีนี้ ถ้าคุณไม่พูดคุยกับเพื่อนของคุณตรงๆ คุณก็ไม่มีทางที่จะรู้ถึงสาเหตุที่แท้จริงได้เลย บางทีเขาหรือเธออาจจะเป็นคนอกตัญญูจริงๆ ก็ได้ หรือบางทีการที่คนๆ นั้นไม่ได้ตอบแทนคุณ อาจเป็นเพราะว่าเขาหรือเธอมีนัดไปหาหมอฟันในวันดังกล่าว หรืออาจเป็นเพียงแค่ว่า คุณไม่ยอมขอร้องพวกเขาโดยตรงเอง มัวแต่แสดงท่าทีอ้อมค้อมไปมา
  4. ค้นหาว่า มีสิ่งใดเปลี่ยนไปในความสัมพันธ์บ้าง. ถ้าคุณรู้สึกว่า ตัวเองกำลังถูกเอาเปรียบ บางทีอาจเป็นเพราะคุณเคยได้รับการมองเห็นคุณค่าจากอีกฝ่ายมาก่อน แต่พอมาตอนนี้ เขาหรือเธอกลับเห็นคุณเป็นของตายไปเสียแล้ว หรือมันอาจจะเกิดจากการที่คุณได้ยินได้ฟังมาว่า คนเรา ควรจะ ได้รับการมองเห็นคุณค่าบ้าง แต่คุณกลับไม่เคยได้รับสิ่งนั้นเลย ไม่ว่าจะเป็นสาเหตุใดก็ตาม การค้นหาสิ่งที่เปลี่ยนไปในปฏิสัมพันธ์ระหว่างคุณกับอีกฝ่ายหนึ่ง ก็สามารถจะช่วยให้คุณรู้สึกดีขึ้นได้ และยังอาจช่วยให้คุณมองเห็นทางออกในความสัมพันธ์ด้วย [9]
    • ลองนึกย้อนกลับไปในช่วงที่คุณกับอีกฝ่าย เริ่มมีปฏิสัมพันธ์กันในช่วงแรกๆ เขาหรือเธอเคยทำสิ่งใดที่ทำให้คุณรู้สึกว่า ตนเองได้รับการมองเห็นคุณค่า ตอนนี้มีสิ่งใดที่ หายไป ในความสัมพันธ์เมื่อเทียบกับตอนนั้น ตัวคุณเองมีอะไรเปลี่ยนแปลงไปบ้างหรือเปล่า [10]
    • หากคุณรู้สึกว่า ตัวเองถูกมองข้ามหัวในที่ทำงาน อาจจะเป็นเพราะคุณรู้สึกว่า ความพยายามของตัวเองไม่ได้รับรางวัลตอบแทน (เช่น คุณไม่ได้รับการขึ้นเงินเดือน หรือไม่ได้รับการกล่าวถึงในโครงการที่ทำสำเร็จ) มันยังอาจเป็นไปได้ว่า คุณไม่ได้ถูกเชื้อเชิญให้มีส่วนเกี่ยวข้องในการตัดสินใจด้วย [11] ลองนึกดูว่า มีสิ่งใดบ้างที่คุณเคยรู้สึกซาบซึ้งกับงานที่ทำ และตอนนี้มีอะไรที่เปลี่ยนแปลงไปบ้าง
  5. เวลาที่คุณรู้สึกว่า ไม่ได้รับความยุติธรรมในความสัมพันธ์ ไม่ว่าจะเป็นความสัมพันธ์กับเพื่อนร่วมงานหรือกับคนรักก็ตาม มันก็ยากที่จะมองสถานการณ์ในมุมของอีกฝ่าย ทั้งนี้ เมื่อคุณรู้สึกว่าตัวเองถูกทำโทษหรือไม่ได้รับการให้เกียรติ คุณจึงรู้สึกว่า ทำไมตัวเองถึงต้องพยายามทำความเข้าใจเหตุผลที่พวกเขาปฏิบัติเช่นนี้ด้วยล่ะ อย่างไรก็ตาม การพยายามทำความเข้าใจอีกฝ่ายว่า พวกเขากำลังรู้สึกอย่างไร อาจจะมีประโยชน์ในการที่จะเข้าใจได้ว่า มันกำลังเกิดอะไรขึ้นในความสัมพันธ์กันแน่ และอาจจะช่วยให้คุณหาทางออกร่วมกับอีกฝ่าย เกี่ยวกับปัญหาที่กำลังเกิดขึ้นได้ด้วย [12]
    • หากไม่มีความผิดปกติด้านบุคลิกภาพ หรือปัญหาใดใดแล้วปกติคนเราจะไม่ปฏิบัติต่อคนอื่นแย่ๆ หรอก ดังนั้น การกล่าวโทษคนอื่นว่า ทำตัวงี่เง่า แม้คุณอาจรู้สึกว่าความเห็นของคุณถูกต้อง มันก็รังแต่จะทำให้อีกฝ่ายตอบสนองด้วยความโกรธ และจ้องทำร้ายคุณกลับคืน เพราะเวลาที่คนเรารู้สึกว่า ตนเองกำลังถูกกล่าวหา พวกเขามักจะ “ปิดกั้น” ตัวเอง [13]
    • ลองคิดถึงความจำเป็นหรือความต้องการของอีกฝ่ายหนึ่งดูว่า มันมีสิ่งใดเปลี่ยนไปจากเดิมบ้าง [14] ผลการศึกษาพบว่า บางครั้งคนเราอาจจะใช้วิธี “ตีตัวออกห่าง” เช่น การไม่ทำสิ่งใดตอบแทนอีกฝ่าย และไม่แสดงความรู้สึกซาบซึ้งออกมาให้อีกฝ่ายรู้ ซึ่งเป็นพฤติกรรมในช่วงที่เขาหรือเธอหมดความสนใจในความสัมพันธ์ดังกล่าวแล้ว เพียงแต่ยังไม่รู้ว่า จะใช้ข้ออ้างใดในการขอแยกทาง [15]
    โฆษณา
วิธีการ 2
วิธีการ 2 ของ 3:

ทบทวนบทบาทของตนเอง

PDF download ดาวน์โหลดบทความ
  1. คุณไม่จำเป็นต้องรับผิดชอบต่อพฤติกรรมของผู้อื่น และก็ไม่ควรโทษตัวเองเวลาที่พวกเขาแล้งน้ำใจหรือปฏิบัติต่อคุณในทางลบ อย่างไรก็ตาม คุณสามารถควบคุมการกระทำของตัวเองได้ โดยหากคุณรู้สึกว่า ใครเพิกเฉยหรือไม่ให้เกียรติคุณ คุณก็อาจจะสามารถเปลี่ยนแปลงวิธีที่พวกเขาตอบสนองต่อคุณได้ ด้วยการเปลี่ยนวิธีปฏิบัติและสื่อสารกับพวกเขา ทั้งนี้ ตัวอย่างต่อไปนี้ เป็นทัศนคติหรือพฤติกรรมบางอย่าง ที่อาจส่งผลให้ผู้อื่นปฏิบัติต่อคุณอย่างไม่ยุติธรรมก็เป็นได้: [16]
    • คุณอาจยอมตอบตกลงในทุกเรื่องที่อีกฝ่าย (หรือใครก็ตาม) ขอให้คุณทำ แม้ว่าสิ่งนั้นจะไม่เหมาะสม หรือไม่ใช่เรื่องปกติทั่วไปก็ตาม
    • คุณไม่พยายามปฏิเสธ หรือบอกให้อีกฝ่ายปรับเปลี่ยนความคาดหวังในตัวคุณ เพียงเพราะคุณกลัวว่า เขาหรือเธอจะไม่ชอบคุณ หรืออาจมองมันเป็นข้อบกพร่องของคุณ
    • คุณไม่แสดงความรู้สึก ความคิด หรือความเชื่อที่แท้จริงของตัวเองออกมา
    • คุณมักขอขมาหรือพูดถ่อมตัวเกินเหตุ ในการแสดงความเห็น ความต้องการ หรือความรู้สึกของตัวเอง (เช่น “หากไม่เป็นการรบกวนมากจนเกินไป คุณพอที่จะ...” หรือ “ที่จริงแล้ว นี่เป็นแค่ความเห็นของผมนะ คือ ผมแค่อยากจะบอกว่า...”)
    • คุณคิดว่า ความรู้สึก ความจำเป็น และความคิดของผู้อื่น มีความสำคัญมากกว่าของคุณเอง
    • คุณตำหนิตัวเองต่อหน้าผู้อื่น (และบ่อยครั้งก็ทำเวลาอยู่คนเดียวด้วย)
    • คุณคิดว่า คนอื่นจะชอบหรือรักคุณ ก็ต่อเมื่อคุณทำตามความคาดหวังของพวกเขาเท่านั้น
  2. นักจิตวิทยาได้นิยามกลุ่มความเชื่อที่ไร้เหตุผล ซึ่งสามารถส่งผลให้เกิดความเจ็บปวดหรือความไม่พึงพอใจต่อตัวเอง ซึ่งความเชื่อเหล่านี้เป็นการเรียกร้องบางอย่างจากตัวเอง มากกว่าที่จะกระทำต่อผู้อื่น ส่วนใหญ่แล้ว มันมักจะมีคำว่า “ควร” อยู่ในความเชื่อดังกล่าวด้วย ดังนั้น ลองคิดดูว่า คุณมีความเชื่อเหล่านี้อยู่ในหัวหรือไม่ [17]
    • คุณเชื่อว่ามันเป็นเรื่องสำคัญมาก ในการที่คุณต้องได้รับความรักหรือความเห็นชอบ จากทุกๆ คนในชีวิตคุณ
    • หากคนอื่นมองไม่เห็นหัวคุณ คุณก็จะมองตัวเองว่า เป็นพวกขี้แพ้ ไร้ค่า ไร้ประโยชน์ หรือโง่เขลา
    • คุณใช้ประโยคที่มีคำว่า “ควร” บ่อยครั้ง เช่น “ฉันควรจะทำทุกสิ่งตามที่ใครๆ ขอร้องให้ฉันทำ” หรือ “ฉันควรจะเอาใจผู้อื่นตลอดเวลา”
  3. นอกเหนือจากการมีความเชื่อไร้เหตุผล เช่น ความเชื่อที่ว่า คุณควรที่จะทำสิ่งต่างๆ ที่ผู้อื่นร้องขอให้คุณทำอยู่ตลอดเวลา คุณยังอาจจะมีความคิดเห็นเกี่ยวกับตัวเองที่ไม่ตรงตามความเป็นจริงอีกด้วย ทั้งนี้ การที่จะแก้ไขความรู้สึกถูกเอาเปรียบ คุณจะต้องเผชิญหน้ากับความคิดที่บิดเบือนและไร้เหตุผล ที่คุณมีต่อตนเองและผู้อื่นด้วย [18]
    • ตัวอย่างเช่น คุณอาจจะเชื่อว่า คุณต้องรับผิดชอบต่อความรู้สึกของทุกคน ซึ่งถือเป็นความคิดที่บิดเบือนภายในตัวเอง อันเป็นสาเหตุหลักของความรู้สึกที่ว่า ตัวเองถูกเอาเปรียบ เพราะคุณกังวลที่จะไปทำร้ายจิตใจผู้อื่นหากคุณตอบว่า “ไม่” ดังนั้น คุณก็เลยตอบว่า “ได้” ทุกครั้งที่พวกเขาขอร้องอะไรก็ตาม ทั้งนี้ คุณไม่ได้ทำประโยชน์ให้ตัวเองหรือผู้อื่นเลย จากการที่คุณไม่ซื่อตรงต่อขอบเขตที่ตนเองวางไว้ การพูดว่า “ไม่” อาจเป็นการกระทำที่มีประโยชน์และส่งผลดีมากกว่า [19]
    • การเหมาเป็นเรื่องส่วนตัว ก็เป็นอีกหนึ่งในรูปแบบของความคิดบิดเบือน เวลาที่คุณมองบางสิ่งเป็นเรื่องส่วนตัว คุณย่อมจะเหมาว่าตัวเองเป็นต้นเหตุของเรื่องนั้น ทั้งที่คุณอาจไม่ได้มีส่วนเกี่ยวข้องเลย ตัวอย่างเช่น ลองนึกดูถึงตอนที่เพื่อนของคุณ ขอให้คุณช่วยดูแลเด็กให้ เพื่อที่เขาหรือเธอจะได้ไปคุยธุระสัมภาษณ์งาน ทั้งที่คุณเองก็มีเรื่องสำคัญที่จะต้องทำในช่วงเวลาดังกล่าวเหมือนกัน และไม่สามารถปรับเปลี่ยนตารางได้ด้วย จะเห็นได้ว่า การเหมารวมเป็นเรื่องส่วนตัวในบริบทนี้ ทำให้คุณรู้สึกต้องรับผิดชอบต่อสถานการณ์ของเพื่อน แม้ว่าตัวคุณเองก็มีเรื่องสำคัญที่จะต้องทำในช่วงเวลาเดียวกันนั้นก็ตาม และก็ไม่สามารถที่จะเลื่อนเวลาออกไปได้ด้วย แต่การชอบเหมารวมเป็นเรื่องส่วนตัว ทำให้คุณรู้สึกว่าต้องรับผิดชอบต่อปัญหาของเพื่อน แม้ว่าจะไม่จำเป็นต้องทำเช่นนั้นเลย หากคุณตอบว่า “ได้” ทั้งที่ใจจริงคุณอยากตอบว่า “ไม่” เมื่อนั้น มันก็จะนำไปสู่ความรู้สึกไม่พอใจ เพราะคุณไม่ได้ให้ความเคารพต่อความต้องการของตัวเองเลย
    • “การมโนหายนะ” ความคิดบิดเบือนแบบนี้ จะเกิดขึ้นเวลาที่คุณปล่อยให้มุมมองที่มีต่อสถานการณ์ มันเลยเถิดไปจนถึงขั้นที่คิดเอาเองว่า ผลลัพธ์เลวร้ายที่สุดจะต้องเกิดขึ้นแน่ๆ ตัวอย่างเช่น คุณอาจรู้สึกว่าตัวเองถูกมองข้ามหัว เพราะคุณมโนเอาเองว่า หากคุณไปเจรจากับหัวหน้าของคุณ เขาหรือเธอต้องไล่คุณออกแน่ๆ และเมื่อนั้นคุณก็จะต้องจบลงด้วยการไปนอนข้างถนน ซึ่งเป็นจินตนาการที่ส่วนใหญ่แล้ว มันไม่เคยเกิดขึ้นจริงเลย
    • หนึ่งในความเชื่อที่เป็นการทำร้ายตัวเอง ซึ่งมักก่อให้เกิดวังวน หรือกับดักของความรู้สึกเหมือนถูกเอาเปรียบ คือ ความเชื่อที่ว่า คุณไม่สมควรที่จะได้รับการปฏิบัติต่างไปจากเดิม การเชื่อว่าคนอื่นจะทอดทิ้งคุณทันทีที่คุณทำให้พวกเขาไม่พอใจ ย่อมนำไปสู่การที่คุณต้องพยายามทำทุกสิ่ง เพียงเพื่อจะรักษาพวกเขาเอาไว้ในชีวิตคุณ ซึ่งไม่ได้ส่งผลดีต่อความสุขและการเจริญเติบโตของคุณเลย [20]
  4. คุณอาจรู้ว่า คุณไม่ชอบให้ใครเอาเปรียบหรือมองข้ามคุณ แต่อะไรล่ะ ที่คุณ ต้องการ จริงๆ มันยากที่จะมองเห็นความเป็นไปได้ในการเปลี่ยนแปลงสถานการณ์ หากคุณรู้สึกไม่พอใจมัน แต่กลับไม่รู้ว่าจะต้องทำอย่างไรจึงจะพอใจได้ ดังนั้น คุณควรจดบันทึกสิ่งต่างๆ ที่คุณต้องการให้เกิดขึ้นในความสัมพันธ์ ซึ่งหลังจากที่คุณรู้ว่า ความสัมพันธ์ในอุดมคติต้องมีหน้าตาเป็นอย่างไรแล้ว คุณก็จะเริ่มสามารถเปลี่ยนแปลงการกระทำของตัวเองให้ดีขึ้น เพื่อทำให้สิ่งนั้นเป็นจริงขึ้นมาได้
    • ตัวอย่างเช่น หากคุณรู้สึกถูกเอาเปรียบ ในเรื่องที่ลูกๆ ของคุณ จะโทรหาคุณก็ต่อเมื่อพวกเขาต้องการใช้เงินเท่านั้น คุณก็ควรจะเริ่มคิดถึงลักษณะความสัมพันธ์กับพวกเขา ในแบบที่คุณ อยาก ให้เกิดขึ้นดูก่อน เช่น คุณอยากให้พวกเขาโทรหาคุณสัปดาห์ละครั้งหนึ่งใช่หรือไม่ หรือโทรหาเวลาที่พวกเขาเจอเรื่องดีๆ บ้าง คุณอยากให้เงินเวลาที่พวกเขาขอหรือเปล่า และคุณให้เงินพวกเขาเพราะคุณกังวลว่า ถ้าคุณปฏิเสธ พวกเขาอาจจะไม่โทรหาคุณอีกเลยใช่ไหม ทั้งนี้ คุณจำเป็นต้องทบทวนขอบเขตของตัวเอง เพื่อที่จะสื่อมันออกไปให้พวกเขารู้
  5. มีแต่คุณเท่านั้นที่จะกำหนดขอบเขตและรักษามันเอาไว้ได้ คุณอาจรู้สึกว่าไม่มีใครเห็นคุณค่า เพราะคุณไม่ได้สื่อสารความต้องการและความรู้สึกของตัวเองออกไปอย่างชัดเจนเพียงพอ หรืออาจเป็นไปได้ว่า คุณกำลังคบหากับคนที่ชอบครอบงำจิตใจผู้อื่น เรื่องน่าเศร้าในชีวิตคนเราก็คือ จะมีคนประเภทที่จ้องจะบงการผู้อื่นทุกครั้งที่พวกเขาเห็นโอกาส เพียงเพื่อที่จะให้ได้สิ่งที่ตนเองต้องการ [21] ไม่ว่าวิธีที่พวกเขาปฏิบัติต่อคุณ จะเกิดขึ้นจากความโง่เขลาหรือนิสัยชอบบงการก็ตาม คุณก็อย่าไปคาดหวังว่า สถานการณ์จะคลี่คลายลงในตัวของมันเองได้ เพราะคุณจำเป็นจะต้องทำอะไรบางอย่างเสียก่อน
  6. ท้าท้ายการตีความปฏิสัมพันธ์ที่คุณมีต่อผู้อื่น. คุณอาจรู้สึกว่าไม่มีใครเห็นคุณค่าของคุณ เพราะคุณปล่อยให้ตัวเองด่วนสรุปเร็วเกินไปเองว่า ความสัมพันธ์จะต้องเป็นไปในทิศทางหนึ่งๆ เท่านั้น ตัวอย่างเช่น คุณอาจจะเชื่อว่า อีกฝ่ายหนึ่งจะรู้สึกโมโหหรือเจ็บปวดมาก หากคุณตอบว่า “ไม่ได้” หรือคุณยังอาจจะเหมาเอาเองว่า การที่เขาหรือเธอลืมทำอะไรบางอย่างเพื่อคุณ แปลว่าพวกเขาไม่ได้สนใจคุณ ดังนั้น คุณต้องพยายามหยุดคิดสักนิด โดยใช้ตรรกะเหตุผลในแต่ละสถานการณ์
    • ตัวอย่างเช่น คุณอาจจะให้ของขวัญแก่คนรักของคุณ เพื่อแสดงความรักต่อเขาหรือเธอ แต่พวกเขาไม่เคยให้ของขวัญกลับคืนเลย ดังนั้น คุณจึงรู้สึกว่า พวกเขาไม่เห็นคุณค่า กล่าวคือ คุณนำความรักของผู้อื่นที่มีต่อคุณ ไปผูกติดกับการกระทำของตัวเอง อย่างไรก็ตาม คนรักของคุณอาจแคร์คุณมากก็ได้ เพียงแต่พวกเขาไม่ได้แสดงออกมาผ่านการกระทำในแบบที่คุณคาดหวังเท่านั้นเอง [22] ซึ่งการพูดคุยกับคนรักในกรณีนี้ ย่อมสามารถที่จะช่วยคลี่คลายความเข้าใจผิดต่อกันได้
    • คุณอาจลองสังเกตวิธีที่คนอื่นรับมือกับคำร้องขอจากใครบางคน เช่น หากคุณรู้สึกว่า ถูกหัวหน้างานเอาเปรียบ เพราะว่าเขาหรือเธอมักจะมอบหมายงานให้คุณทำในช่วงสุดสัปดาห์เสมอ คุณก็อาจจะลองไปพูดคุยกับเพื่อนร่วมงานดูว่า พวกเขาจัดการกับคำร้องขอจากหัวหน้ากันอย่างไร พวกเขารู้สึกในแง่ลบเหมือนเช่นที่คุณรู้สึกบ้างไหม มันอาจเป็นไปได้อย่างยิ่งว่า หน้าที่ต่างๆ ในที่ทำงาน มันโถมเข้ามาที่คุณคนเดียว เพียงเพราะคุณเป็นคนเดียวที่ไม่กล้ายืนหยัดเพื่อตัวเอง
  7. การสื่อสารเพื่อแสดงจุดยืนของตัวเองนั้น ไม่ได้หมายความว่า คุณจะต้องทำตัวยโสโอหังหรือก้าวร้าว แต่มันเป็นการแสดงความต้องการ ความคิด และความรู้สึกของตัวเองออกมาอย่างชัดเจน ให้ผู้อื่นได้รับรู้ เพราะหากผู้อื่นไม่รู้ว่าความต้องการและความรู้สึกของคุณเป็นอย่างไร พวกเขาก็อาจจะลงเอยด้วยการเอาเปรียบคุณโดยไม่รู้ตัว ผลการวิจัยพบว่า แม้แต่การแสดงอารมณ์ด้านลบของตัวเองออกมา ก็ยังทำได้โดยไม่จำเป็นต้องทำให้ใครเสียใจ ขอเพียงสื่อสารอย่างหนักแน่น แต่ไม่ก้าวร้าว [23]
    • สื่อสารความต้องการของคุณออกไปอย่างเปิดเผยและซื่อตรง โดยใช้สรรพนาม “บุรุษที่ 1” ในการพูดแต่ละประโยค เช่น “ฉันต้องการ...” หรือ “ฉันไม่ชอบที่จะ...” [24]
    • อย่าแสดงท่าทีขอขมาหรือตำหนิตัวเองมากเกินไป การปฏิเสธถือเป็นเรื่องปกติ คุณไม่จำเป็นต้องรู้สึกผิดในการปฏิเสธคำขอของใคร หากคุณรู้สึกว่าไม่สามารถทำให้ได้
  8. บางคนเลือกที่จะหลีกเลี่ยงความขัดแย้งในทุกกรณี ซึ่งอาจเป็นเพราะว่า พวกเขากลัวที่จะทำให้คนอื่นไม่พอใจ หรือมันอาจจะเป็นเหตุผลด้านค่านิยมทางวัฒนธรรมก็ได้ (เช่น คนที่นิยมวัฒนธรรมแบบรวมหมู่เหล่า พวกเขาอาจจะมองความขัดแย้งไปในแง่ลบ) [25] เมื่อความต้องการหลีกเลี่ยงความขัดแย้งของคุณ ทำให้คุณต้องปิดกั้นความต้องการและความรู้สึกของตัวเอง เมื่อนั้น มันก็จะกลายมาเป็นปัญหา [26]
    • การเปิดเผยความต้องการของตัวเอง อาจส่งผลให้เกิดการเผชิญหน้า แต่มันก็ไม่ได้เป็นในแง่ลบเสมอไป ผลการศึกษาพบว่า หากเราสามารถรับมือกับความขัดแย้งได้อย่างมีประสิทธิผล มันจะเป็นที่มาของการพัฒนาทักษะบางอย่างได้ เช่น ทักษะการประนีประนอม การเจรจาต่อรอง หรือการประสานความร่วมมือ [27]
    • การเข้าอบรมหรือฝึกวิธีแสดงจุดยืนของตัวเอง อาจช่วยให้คุณรับมือกับความขัดแย้งได้ดีขึ้น ทั้งนี้ การสื่อสารเพื่อแสดงจุดยืน ยังถูกเชื่อมโยงกับระดับความนับถือตัวเองที่เพิ่มขึ้นด้วย [28] การเชื่อว่า ความต้องการและความรู้สึกของคุณก็มีความสำคัญพอๆ กับของคนอื่น จะช่วยให้คุณสามารถรับมือความขัดแย้งได้ โดยไม่รู้สึกต้องปิดกั้นตัวเองหรือทำร้ายผู้อื่น
  9. มันอาจเป็นเรื่องยาก ที่จะเอาชนะความรู้สึกผิดและความสิ้นหวัง อันสะสมมาเป็นเวลานานได้ด้วยตัวคุณเอง เมื่อรูปแบบพฤติกรรมใดๆ เกิดขึ้นแล้ว มันก็ยากที่จะถูกทำลายลงโดยเฉพาะหากคุณมีพันธะผูกพันกับใครบางคนที่อยู่ในสถานะที่เหนือกว่าคุณ และทำให้คุณต้องจำใจเชื่อฟังพวกเขาตลอดเวลา อย่างไรก็ตาม จงอย่าโหดร้ายกับตัวเอง พฤติกรรมดังกล่าวถูกพัฒนาขึ้นมาเพื่อเป็นกลไกป้องกันตัวเอง จากอันตรายและภัยคุกคามต่างๆ แต่ปัญหาก็คือ ตอนนี้มันกลับกลายมาเป็นกลไก ที่ขัดขวางไม่ให้คุณลุกขึ้นมาเปลี่ยนแปลงตัวเองเป็นคนใหม่ หากคุณสามารถแก้ไขรูปแบบพฤติกรรมดังกล่าวได้ จะช่วยให้คุณรู้สึกมีความสุขและมั่นคงในจิตใจมากขึ้น
    • บางคนอาจตัดสินใจที่จะแก้ไขปมในใจของตัวเอง ได้โดยตัวคนเดียวลำพัง หรืออาจจะมีเพื่อนที่ดีและผู้ให้คำแนะนำคอยช่วยเหลือก็ได้ ในขณะที่บางคนมองว่า การไปปรึกษานักบำบัดหรือผู้ให้คำปรึกษา ก็ได้ผลดีเช่นเดียวกัน คุณควรจะเลือกทางที่ตนเองรู้สึกสบายใจที่สุด
    โฆษณา
วิธีการ 3
วิธีการ 3 ของ 3:

พัฒนาตนเองร่วมกับผู้อื่น

PDF download ดาวน์โหลดบทความ
  1. การฝึกสื่อสารความต้องการและแสดงจุดยืนของตัวเอง จะไม่สามารถทำได้สำเร็จภายในชั่วครามคืน คุณจำเป็นต้องฝึกฝนยืนหยัดเพื่อตัวเองในสถานการณ์ที่มีความเสี่ยงน้อยๆ ดูก่อน ก่อนที่จะยกระดับไปเผชิญหน้ากับใครบางคน ที่อาจอยู่ในสถานะมีอำนาจ หรือมีความสำคัญกับคุณมากๆ เช่น หัวหน้า หรือ คนรัก [29]
    • ตัวอย่างเช่น หากเพื่อนร่วมงานขอให้คุณกาแฟไปเสิร์ฟให้เขาหรือเธอ ตอนที่คุณผ่านร้านสตาร์บัค อย่างไรก็ตาม พวกเขาไม่เคยจ่ายเงินหรือซื้อคืนให้คุณเลย ดังนั้น คุณก็อาจจะย้ำเตือนกับเขาหรือเธอว่า มันมีค่าใช้จ่ายเท่าไหร่ ในครั้งต่อไปที่พวกเขาร้องขอคุณอีก คุณไม่จำเป็นต้องทำทีท่าเย้ยหยันหรือก้าวร้าวในการแสดงจุดยืนดังกล่าว เพียงแต่คุณสามารถพูดในลักษณะที่เป็นมิตรให้ชัดเจน เช่น “คุณออกเงินจ่ายในส่วนของคุณได้ไหม” หรือ “ผมรูดบัตรไปก่อนดีไหม และคุณค่อยซื้อให้ผมบ้างในครั้งต่อไป”
  2. หากคุณรู้สึกว่า ใครบางคนเอาเปรียบ คุณก็ควรที่จะสื่อสารให้พวกเขารับรู้ อย่างไรก็ตาม คุณไม่ควรที่จะเดินโพล่งออกไปและพูดต่อหน้าว่า "คุณเอาเปรียบฉัน" การพูดโจมตีและใช้สรรพนาม ”บุรุษที่ 2” กล่าวโทษเช่นนี้ จะเป็นการคว่ำบทสนทนาลง และยิ่งทำให้สถานการณ์เลวร้ายมากขึ้น [30] ดังนั้น พยายามใช้ประโยคแบบเรียบง่ายและเป็นจริง เพื่ออธิบายความรู้สึกอัดอั้นตันใจแทน
    • นิ่งเข้าไว้ คุณอาจรู้สึกขุ่นเคือง โมโห หรือคับข้องใจ แต่มันสำคัญมากที่จะเก็บกดอารมณ์เหล่านั้นไว้ก่อน แม้ว่าอาจจะมีอารมณ์ในทางลบมากมายคุกรุ่นอยู่ในใจ คุณก็ควรโฟกัสไปที่การแสดงออกด้วยท่าทีสงบนิ่ง และทำให้อีกฝ่ายได้รู้ว่า คุณสามารถควบคุมตัวเองได้ และไม่ได้ตั้งใจที่จะทำร้ายจิตใจเขาหรือเธอ คุณเพียงแค่ต้องการพูดให้ชัดเจนเท่านั้น
    • พยายามยึดหลักการใช้สรรพนาม "บุรุษที่ 1" ในการสื่อสาร มันง่ายที่จะตกหลุมพรางของการพูดในทำนองว่า "คุณทำให้ฉันรู้สึกเจ็บปวด" หรือ "นายมันงี่เง่า" แต่การกระทำเช่นนั้น รังแต่จะทำให้อีกฝ่ายอยากปกป้องตัวเอง ดังนั้น คุณควรยึดมั่นในหลักการอธิบายว่า เรื่องราวที่ผ่านมามันส่งผลต่อคุณอย่างไร โดยเริ่มต้นประโยคด้วยคำวลี เช่น "ฉันรู้สึก" "ฉันต้องการ" "ฉันจำเป็นต้อง" "ฉันกำลังจะ" และ "ต่อไปนี้ ฉันจะทำแบบนี้" [31]
    • หากคุณกังวลว่า การแสดงขอบเขตของตัวเองเช่นนี้ อาจดูเหมือนกับคุณเป็นคนแล้งน้ำใจ คุณก็สามารถอธิบายสถานการณ์ต่อไปได้ ตัวอย่างเช่น “ปกติแล้ว ฉันก็อยากจะช่วยเธอนะ แต่คืนนี้ลูกชายฉันมีงานเล่นดนตรี ฉันไม่อยากจะพลาดไปร่วมงานน่ะ” เห็นไหมว่า คุณสามารถแสดงความห่วงใยในตัวอีกฝ่ายได้ โดยไม่จำเป็นต้องยอมตามคำขอของเขาหรือเธอเสมอไป [32]
    • อย่าตอบสนองในทางบวกต่อพฤติกรรมชอบบงการ หรือเป็นปฏิปักษ์ต่อคุณ การใช้หลักการที่ว่า “หากใครตบแก้มซ้ายเรา ก็ยื่นอีกแก้มให้เขาตบด้วย” เวลาที่มีใครบางคนมาทำร้ายคุณ อาจยิ่งเป็นการส่งเสริมให้พวกเขาแสดงพฤติกรรมนั้นต่อไปอีก ดังนั้น คุณควรแสดงความไม่พอใจออกมาให้พวกเขารู้ [33]
  3. บางคนไม่รู้ด้วยซ้ำว่า พวกเขากำลังเอารัดเอาเปรียบคุณอยู่ และในกรณีส่วนใหญ่นั้น พวกเขาย่อมที่จะอยากแก้ไขสถานการณ์ให้ดีขึ้น ขอเพียงคุณกล้าที่จะอธิบายให้พวกเขารับฟัง เพียงแต่ที่ผ่านมา พวกเขาไม่รู้ว่าจะต้องทำอย่างไร ดังนั้น คุณควรเสนอทางเลือกอื่นให้อีกฝ่าย ในการแก้ไขปัญหาด้วย เพื่อที่คุณทั้งคู่ จะได้ยังรู้สึกดีต่อความสัมพันธ์ของกันและกันต่อไป
    • ตัวอย่างเช่น หากคุณรู้สึกว่าถูกเอาเปรียบ เพียงเพราะสิ่งที่คุณทำให้กับงานของกลุ่ม ไม่ได้รับการกล่าวถึงเลย คุณอาจลองพูดคุยกับหัวหน้าคุณว่า เขาหรือเธอพอจะแก้ไขอะไรให้คุณได้บ้าง คุณน่าจะบอกพวกเขาว่า “มีผมคนเดียวที่ไม่มีรายชื่อ ในฐานะทีมงานผู้ร่วมทำโครงการนั้น ซึ่งมันทำให้ผมรู้สึกถูกมองข้าม ดังนั้น งานถัดไป ผมอยากให้คุณระบุรายชื่อทีมงานให้ครบทุกคนด้วยนะ”
    • อีกตัวอย่างหนึ่ง คือ หากคุณรู้สึกว่า คนรักของคุณ กำลังเห็นความรักของคุณเป็นของตาย เพราะเขาหรือเธอไม่แสดงความรู้สึกออกมาอย่างชัดเจน คุณก็อาจจะเสนอวิธีในการให้พวกเขา ได้ลองทำให้คุณรู้สึกมีคุณค่าได้ เช่น คุณอาจบอกว่า “ฉันรู้ว่าคุณไม่ได้ให้ความสำคัญกับพวกดอกไม้หรือช็อกโกแลต แต่บางทีฉันก็อยากเห็นคุณแสดงความรู้สึกที่มีต่อฉัน ในแบบที่คุณสบายใจที่จะทำบ้าง แค่เพียงข้อความธรรมดาๆ ระหว่างวัน ที่คอยส่งมาหาฉัน ก็ทำให้ฉันรู้สึกมีคุณค่ามากพอแล้ว”
  4. ใช้ความเห็นอกเห็นใจ เมื่อมีปฏิสัมพันธ์กับผู้อื่น. คุณไม่จำเป็นต้องหาเรื่องใคร เพียงเพื่อที่จะแสดงความยืนหยัดเพื่อตัวเอง และในขณะเดียวกัน คุณก็ไม่จำเป็นต้องเสแสร้งทำเป็นไม่แยแส เพียงเพื่อที่จะตอบว่า “ไม่” กับใครๆ การแสดงความรู้สึกห่วงใยในตัวผู้อื่น สามารถช่วยลดความตึงเครียดในสถานการณ์อันตึงเครียดได้ และยังช่วยให้พวกเขาพร้อมเปิดใจรับฟังคุณมากขึ้นด้วย [34]
    • ตัวอย่างเช่น หากคนรักของคุณ มักจะทิ้งให้หน้าที่ล้างจานหรือซักรีดเป็นของคุณ คุณอาจเริ่มพูดคุยโดยใช้ประโยคแสดงความเห็นใจก่อน เช่น “"ฉันรู้ว่าคุณห่วงใยฉัน" แต่การที่ฉันต้องเป็นฝ่ายล้างจานหรือซักผ้าทุกครั้ง มันรู้สึกเหมือนตัวเองเป็นแม่บ้าน มากกว่าเป็นคนรักของเธอ ฉันอยากให้คุณช่วยฉันทำงานบ้านในวันพรุ่งนี้บ้าง เราอาจจะผลัดกัน หรือทำด้วยกันก็ได้”
  5. การฝึกซ้อมล่วงหน้า อาจจะช่วยได้ในกรณีที่คุณต้องการที่จะพูดคุยกับใครบางคน ลองเขียนสถานการณ์หรือพฤติกรรมที่ทำให้คุณไม่พอใจ และระบุด้วยว่า คุณต้องการที่จะเห็นการเปลี่ยนแปลงเช่นไร [35] คุณไม่จำเป็นต้องจดจำบทสนทนาทั้งหมด ขอแค่เพียงให้รู้สึกผ่อนคลายกับสิ่งที่คุณต้องการจะพูดออกไป เพื่อที่คุณจะได้สื่อสารอย่างชัดเจนกับอีกฝ่ายก็พอ [36]
    • ตัวอย่างเช่น ลองจินตนาการถึงสถานการณ์ที่เพื่อนของคุณ มักจะเป็นฝ่ายวางแผนทำกิจกรรมร่วมกับคุณ แต่กลับยกเลิกในนาทีสุดท้ายเสมอ ทำให้คุณเริ่มรู้สึกว่า เขาหรือเธอไม่เห็นคุณค่า เพราะพวกเขาไม่ให้ความเคารพในเวลาส่วนตัวของคุณ ซึ่งคุณอาจจะพูดคุยกับพวกเขาดังต่อไปนี้: [37] " นี่ อมร เราอยากคุยเรื่องที่มันรบกวนใจเรามานานแล้ว คือ เรื่องที่เรามักจะวางแผนไปทำกิจกรรมร่วมกันเสมอ แต่นายก็มักจะมายกเลิกเอาในนาทีสุดท้ายบ่อยๆ สาเหตุที่เรารู้สึกคับข้องใจกับเรื่องนี้ เพราะว่าเราไม่สามารถสลับเปลี่ยนตารางได้ทันเวลา และการที่นายชอบยกเลิกแบบกระทันหันฉัน มันยังทำให้เรารู้สึกว่า นายเห็นเวลาอันมีค่าของฉันเป็นของตาย เพียงเพราะเรามักตอบตกลงทุกครั้ง เวลานายชวนเราไปไหนมาไหน และบางครั้ง เรายังสงสัยเลยว่า นายอยากใช้เวลาร่วมกับฉันจริงหรือเปล่า ดังนั้นครั้งต่อไปที่เรามีนัดกัน เราอยากให้นายจดลงสมุดบันทึกด้วย เพื่อที่นายจะได้ไม่นัดใครซ้ำซ้อนอีก และถ้าจำเป็นต้องยกเลิกนัด เราก็อยากให้นายบอกล่วงหน้าแต่เนิ่นๆ ด้วยนะ "
    • อีกตัวอย่างหนึ่ง คือ " คุณอิ๋ว ฉันอยากจะพูดคุยกับคุณเรื่องการเลี้ยงเด็ก ที่คุณถามฉันเมื่อวันก่อนว่า ฉันจะสามารถช่วยคุณดูแลเด็กๆ แทนคุณในสัปดาห์หน้าได้ไหม ซึ่งฉันก็ตอบว่า ได้ และที่ฉันรับปาก ก็เพราะฉันเห็นแก่มิตรภาพของเรา และอยากให้คุณรู้ว่า ฉันสามารถทำเพื่อคุณได้เสมอ เวลาที่คุณต้องการ อย่างไรก็ตาม เดือนที่ผ่านมา ฉันดูแลเด็กแทนคุณมาหลายครั้งแล้ว จนเริ่มที่จะรู้สึกเหมือนกับว่าฉันถูกเรียกใช้ง่ายเหลือเกิน ฉันจึงอยากให้คุณขอร้องคนอื่นดูบ้าง แทนที่จะเอาแต่ขอร้องฉันคนเดียว "
  6. มันเป็นเรื่องสำคัญที่จะต้องแน่ใจว่า คำพูดและพฤติกรรมของคุณมันสอดคล้องกัน เพื่อที่จะไม่เป็นการส่งสาส์นให้อีกฝ่ายสับสน หากคุณต้องการที่จะปฏิเสธคำขอหรือแสดงจุดยืนของตัวเองล่ะก็ การใช้ภาษากายอย่างหนักแน่น ย่อมสามารถช่วยให้อีกฝ่ายเข้าใจได้ว่า คุณจริงจังกับเรื่องดังกล่าว [38]
    • ยืนให้มั่นคงและสบสายตาอีกฝ่าย ในขณะที่พูดกับเขาหรือเธอ
    • พูดด้วยน้ำเสียงสุภาพและหนักแน่น ไม่จำเป็นต้องตะโกนเพียงเพื่อจะให้อีกฝ่ายรับฟัง
    • อย่าหัวเราะคิกคัก ทำท่าทางลุกลี้ลุกลน หรือทำหน้าตาทะเล้น แม้ว่าท่าทีดังกล่าวอาจทำให้คุณรู้สึกว่า มันจะช่วยให้ “บัวไม่ให้ช้ำ น้ำไม่ให้ขุ่น” ในการปฏิเสธของคุณ แต่มันกลับจะทำให้อีกฝ่ายมองว่า คุณไม่ได้จริงจังกับเรื่องที่พูด [39]
  7. พยายามทำให้อีกฝ่ายเข้าใจอย่างแจ่มชัดว่า เวลาที่คุณพูดว่า "ไม่" คุณหมายความเช่นนั้นจริงๆ อย่ายอมแพ้ให้กับการพยายามหว่านล้อม หรือพยายามทำให้คุณรู้สึกผิด บางคนอาจจะพยายามทดสอบความหนักแน่นของคุณ โดยเฉพาะหากที่ผ่านมาคุณมักจะเป็นฝ่ายยอมพวกเขาทุกครั้ง ดังนั้น จงหนักแน่นและสุภาพในการยืนหยัด เพื่อแสดงขอบเขตของตัวเอง [40]
    • พยายามอย่าให้ตัวเองมีท่าทีโอหัง การอธิบายหรือพยายามคะยั้นคะยออีกฝ่ายมากเกินไป อาจทำให้คุณดูเหมือนเป็นคนทะนงตน แม้ว่าคุณไม่ได้ตั้งใจจะเป็นเช่นนั้นจะตาม [41]
    • ตัวอย่างเช่น หากเพื่อนบ้านของคุณ มักจะมาขอยืมเครื่องมือของคุณบ่อยๆ แต่ไม่เคยนำมาคืนเลย คุณก็ไม่จำเป็นต้องสาธยายเกี่ยวกับสิทธิส่วนบุคคลของคุณให้พวกเขาฟัง เพียงเพื่อที่จะปฏิเสธตอนที่พวกเขามายืมเครื่องมืออีกครั้ง เพราะคุณสามารถบอกกล่าวพวกเขาไปอย่างสุภาพว่า คุณไม่ต้องการให้พวกเขายืมอะไรอีกต่อไป จนกว่าจะได้รับของที่ถูกยืมไป กลับคืนมาเสียก่อน
    โฆษณา

เคล็ดลับ

  • จำไว้ว่า คุณต้องเคารพทั้งความต้องการของผู้อื่นและของตัวเองด้วย คุณไม่จำเป็นต้องเกเรกับใคร เพียงเพื่อที่จะแสดงจุดยืนของตัวเอง
  • พยายามอย่าเสียสละตัวเองเพื่อผู้อื่น เว้นเสียแต่ว่า คุณจะมีความพร้อมด้านเวลา เงินทอง ความทุ่มเท หรืออะไรก็ตาม มิฉะนั้น คุณจะต้องรู้สึกขุ่นเคืองคนเหล่านั้นในภายหลัง
  • จงมีท่าทีที่เป็นมิตรและหนักแน่นในเวลาเดียวกัน พยายามสุภาพเข้าไว้ เพราะความหยาบคาย รังแต่จะทำให้อีกฝ่ายรู้สึกเป็นปฏิปักษ์
  • การคิดด้วยตรรกะและการปลอบโยนตัวเอง จะเป็นประโยชน์มาก ในกรณีที่คุณรู้สึกว่า ต้องทำตามความต้องการของผู้อื่นอยู่เสมอ เพียงเพราะกลัวสูญเสียความสัมพันธ์นั้นไป ทั้งนี้ การคิดด้วยตรรกะเหตุผล จะช่วยให้คุณเลิกตัดสินใจบนพื้นฐานของความกลัว เกี่ยวกับท่าทีที่อาจเกิดขึ้นจากการตอบสนองของอีกฝ่าย
  • ลองถามคู่กรณีของคุณดูว่า เขาหรือเธอกำลังคิดหรือรู้สึกอย่างไร อย่าคาดเดาหรือสันนิษฐานเอาเอง
โฆษณา

คำเตือน

  • อย่าเผชิญหน้ากับคนที่คุณคิดว่า มีโอกาสก่อเหตุรุนแรงได้ หากคุณกลัวว่าอีกฝ่ายอาจจะตอบสนองอย่างรุนแรง และไม่สามารถหลีกเลี่ยงจากพวกเขาได้ จงร้องขอความช่วยเหลือจากผู้อื่น เช่น ศูนย์ลี้ภัยฯ ตำรวจ นักให้คำปรึกษา รวมถึงสมาชิกในครอบครัวและเพื่อนของคุณ ซึ่งไม่ได้มีความเกี่ยวข้องใดๆ กับคู่กรณีของคุณ
โฆษณา
  1. http://psycnet.apa.org/journals/pac/19/3/266/
  2. http://www.forbes.com/sites/jacquelynsmith/2013/11/13/how-to-show-appreciation-and-get-better-results-from-your-employees-this-holiday-season/
  3. http://www.tandfonline.com/doi/abs/10.1080/03637750128071?journalCode=rcmm20#.VQcU-Y7F-V4
  4. http://www.sciencedirect.com/science/article/pii/S0018506X12000098
  5. http://psycnet.apa.org/journals/pac/19/3/266/
  6. http://onlinelibrary.wiley.com/doi/10.1111/j.1468-2958.2000.tb00765.x/abstract
  7. http://socialwork.buffalo.edu/content/dam/socialwork/home/self-care-kit/exercises/assertiveness-and-nonassertiveness.pdf
  8. http://psychcentral.com/lib/rational-emotive-behavior-therapy/0001563
  9. http://psychcentral.com/lib/15-common-cognitive-distortions/0002153
  10. http://socialwork.buffalo.edu/content/dam/socialwork/home/self-care-kit/exercises/assertiveness-and-nonassertiveness.pdf
  11. http://socialwork.buffalo.edu/content/dam/socialwork/home/self-care-kit/exercises/assertiveness-and-nonassertiveness.pdf
  12. http://psycnet.apa.org/index.cfm?fa=buy.optionToBuy&id=1997-06343-015
  13. http://www.webmd.com/sex-relationships/features/the-five-love-languages-tested
  14. http://onlinelibrary.wiley.com/doi/10.1002/1098-2337(1992)18:5%3C337::AID-AB2480180503%3E3.0.CO;2-K/abstract
  15. http://www.cci.health.wa.gov.au/docs/Assertmodule%202.pdf
  16. http://www.emeraldinsight.com/doi/abs/10.1108/eb022872
  17. https://www.psychologytoday.com/blog/making-your-team-work/201310/4-tips-overcome-your-conflict-avoidance-issue
  18. http://www.amsciepub.com/doi/abs/10.2466/pr0.2001.88.1.227
  19. https://www.jstage.jst.go.jp/article/joh/46/4/46_4_296/_article
  20. http://www.mayoclinic.org/healthy-living/stress-management/in-depth/assertive/art-20044644?pg=2
  21. http://onlinelibrary.wiley.com/doi/10.1002/1098-2337(1992)18:5%3C337::AID-AB2480180503%3E3.0.CO;2-K/abstract
  22. http://www.usu.edu/arc/idea_sheets/pdf/assertive_communication.pdf
  23. http://psychcentral.com/lib/10-way-to-build-and-preserve-better-boundaries/0007498
  24. http://www.psychologytoday.com/blog/think-well/201109/are-you-teaching-people-treat-you-badly
  25. http://www.uwosh.edu/ccdet/caregiver/Documents/Gris/Handouts/gracasr.pdf
  26. http://psychcentral.com/blog/archives/2010/02/25/building-assertiveness-in-4-steps/
  27. http://www.mayoclinic.org/healthy-living/stress-management/in-depth/assertive/art-20044644?pg=2
  28. http://www.psychologicalselfhelp.org/Chapter13/chap13_21.html
  29. http://socialwork.buffalo.edu/content/dam/socialwork/home/self-care-kit/exercises/assertiveness-and-nonassertiveness.pdf
  30. http://www.cci.health.wa.gov.au/docs/Assertmodule%202.pdf
  31. http://socialwork.buffalo.edu/content/dam/socialwork/home/self-care-kit/exercises/assertiveness-and-nonassertiveness.pdf
  32. https://www.psychologytoday.com/blog/evolution-the-self/201209/how-and-how-not-stand-yourself

เกี่ยวกับวิกิฮาวนี้

มีการเข้าถึงหน้านี้ 16,140 ครั้ง

บทความนี้เป็นประโยชน์กับคุณไหม

โฆษณา